ธุรกิจ กับความรับผิดชอบต่อสังคม และ “เศรษฐกิจพอเพียง”

ธุรกิจ กับความรับผิดชอบต่อสังคม และ “เศรษฐกิจพอเพียง”


( “บทนำ” ในวารสาร “ธุรกิจกับสังคม” ฉบับ 9 กรกฎาคม 2549)

ธุรกิจสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะสร้างคุณค่าให้แก่สังคมแล้ว ยังจะเพิ่มคุณภาพที่พึงประสงค์ให้กับธุรกิจเองด้วย

ธุรกิจ คือ “พลเมือง” ของสังคม พลเมืองที่ดีย่อมต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมฉันใด ธุรกิจที่ดีก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมฉันนั้น

ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ หรือ “CSR” (Corporate Social Responsibility) อาจสรุปได้ดังนี้ คือ (1) ไม่ทำสิ่งที่เป็นผลเสียต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม (2) ทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม (3) พัฒนาตัวเองให้มีคุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ อย่างดีที่สุด

“เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำ และได้รับการสดุดีโดยองค์การสหประชาชาติ ว่าเหมาะสมที่จะนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาของโลกในอนาคตนั้นเป็นหลักการที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกระดับและในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งในภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจด้วย

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักการว่าด้วย (1) ความพอประมาณ (2) ความมีเหตุผล (3) ความมีภูมิคุ้มกัน  (4) การใช้ความรู้ และ (5) การมีคุณธรรม

เป็นหลักการที่เน้นความพอดี ความสมดุลย์ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคง ความยั่งยืน และเป็นหลักการที่รวมถึงความรอบคอบระมัดระวัง ความไม่สุ่มเสี่ยง ความไม่สุดโต่ง และความไม่โลภอย่างมาก

หลักการดังกล่าวข้างต้น จึงน่าจะเหมาะสม ที่จะประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจทุกประเภทและทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่

ธุรกิจที่ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมมีแนวโน้มสูงที่จะอยู่รอดอย่างมั่นคง แม้ในสถานการณ์ยากลำบาก ทั้งเป็นธุรกิจที่ ย่อมให้ความสำคัญต่อคุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ ไปพร้อมกัน

คุณธรรม คือ ความดี ความสุจริต เป็นธรรม ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ก่อความเสียหายต่อผู้อื่นหรือต่อส่วนรวม แต่มุ่งสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้อื่น ให้กับส่วนรวม และให้กับสังคม ในฐานะเป็น “พลเมือง” ที่ดีของสังคม

นั่นคือ ธุรกิจที่ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอพียง จะเป็นธุรกิจที่มี “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ “CSR” (Corporate Social Responsibility) ไปด้วยนั่นเอง

                สรุปแล้ว ธุรกิจสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะสร้างคุณค่าให้แก่สังคมแล้ว ยังจะเพิ่มคุณภาพที่พึงประสงค์ให้กับธุรกิจเองด้วย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 มิ.ย. 2549

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/35978

<<< กลับ

บทกลอนจากอีสาน : วันนี้…..ไม่มีเสียง “กะลอ”

บทกลอนจากอีสาน : วันนี้…..ไม่มีเสียง “กะลอ”


   (13 มิ.ย. 49) ไปบรรยาย หัวข้อ “กระบวนการนโยบายสาธารณะของไทยในปัจจุบันและการมีส่วนร่วมของประชาชน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร “นักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 50” จัดโดย “สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” (สำนักงาน กพร.) ร่วมกับ “สถาบันดำรงราชานุภาพ” (กระทรวงมหาดไทย) ที่ “วิทยาลัยมหาดไทย” อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

ผู้เข้าร่วมหลักสูตรคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนายอำเภอ ได้นำบทกลอนหนึ่งมาอ่านในระหว่างการอภิปราย แล้วมอบบทกลอนนี้ให้ผมไว้ ผมเห็นว่าดีมาก จึงขอนำมาลงบันทึกใน blog นี้ เพื่อผู้สนใจอื่นๆจะมีโอกาสได้อ่านด้วย

วันนี้….ไม่มีเสียง “กะลอ”

·       นั่นต่างคน  ต่างมา  ศาลาวัด                   เข้ามาร่วม  กันจัด  ชุมชนใหม่

ออกระเบียบ  เงินล้าน  บ้านห่างไกล                  จากกองทุน  ที่รัฐให้  กู้ทำกิน

·       นั่นเขาทำ  อะไร  ในหมู่บ้าน                  อบต.  ทำโครงการ  ของท้องถิ่น

ซ่อมถนน  ลงลูกลัง  ทั้งถมดิน                           กลบโคนต้น  กระถิน  บ้านกำนัน

·       เขาประชุม  อะไร  ในหมู่บ้าน                เหล่าลูกหลาน  เยาวชน  ช่างคิดฝัน

รวมกลุ่ม  สร้างเครือข่าย  สายสัมพันธ์               กองทุน “ซิฟ”  จัดสรร  มาทันที

·       เขาเข้าแถว  กลุ่มใหญ่  ทำไมหนอ          กกต.  จัดเลือกตั้ง  ครั้งที่สี่

ป้ายศาลา  กลางบ้าน  ในวันนี้                            เป็นป้ายศูนย์ฯ  เทคโนโลยี  เกษตรกร

·       เกิดพหุ  ภาคี  ที่หลายหลาก                    เปลี่ยนยุคจาก  ผู้ใหญ่ลี  หลายปีก่อน

ทางการสั่ง  ให้เลี้ยงเป็ด  และสุกร                     จะประชุม  ราษฎร  ตีกะลอ

·       พ่อกำนัน  พ่อผู้ใหญ่  พาหายหน้า           กลายเป็นสิงห์  ที่เหนื่อยล้า  หรือเปล่าหนอ

คนเก่า  ในยุคใหม่  ไม่ดีพอ                                 เสียงกะลอ   แหบพร่า  มาเนิ่นนาน

·       พอเสร็จสิ้น  หน้านา  ฆ่าโคถึก               พอเสร็จศึก  ก็จะฆ่า  ขุนทหาร

ธุรกิจ  จะรุกฆาต  ราชการ                                 ในหมู่บ้าน  ไม่มีแล้ว …… เสียง“กะลอ”

โดย  นายณรงค์ศักดิ์  พลศักดิ์

                                                            นายอำเภอยางชุมน้อย     จังหวัดศรีสะเกษ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

27 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/35848

<<< กลับ

การประชุม “เครือข่ายสร้างสังคมคุณธรรม ครั้งที่ 1”

การประชุม “เครือข่ายสร้างสังคมคุณธรรม ครั้งที่ 1”


(7 มิ.ย. 49) ร่วมไปกับคณะที่ประสานงานโดย “ศูนย์คุณธรรม” ไปร่วมประชุมกับตัวแทนประชาคมและคนทำงานพัฒนาจากภาคเหนือ ภายใต้หัวข้อ “การประชุมเครือข่ายสร้างสังคมคุณธรรม ครั้งที่ 1” ผู้ที่ไปจากส่วนกลางประกอบด้วยผู้แทนจาก สปรส. พอช. สทพ. (LDI) สสส. และ ศูนย์คุณธรรม ซึ่งเมื่อรวมกับผู้แทนประชาคมและคนทำงานพัฒนาจากพื้นที่ภาคเหนือแล้วเป็นจำนวนผู้เข้าประชุมประมาณ 50 คน

ผู้เข้าร่วมประชุมต่างให้ข้อมูล เล่าเรื่องราว และแสดงความคิดเห็น ที่มีความหลากหลาย น่าสนใจ และมีคุณค่ามากทีเดียว และเรื่องทั้งหมด มาจากฐานการได้ลงมือปฏิบัติจริงในท้องถิ่นต่างๆและในบริบทต่างๆ

ผมมีหน้าที่กล่าวปิดการประชุม ได้ให้ความเห็นว่า การขับเคลื่อนสร้างสังคมคุณธรรม หรือการขับเคลื่อนขบวนการคุณธรรม ควรเป็นเรื่องของประชาชน ของชุมชน ของท้องถิ่น และของกลไกทั้งหลายในท้องถิ่น (ซึ่งถือเป็นเจ้าของเรื่องที่แท้จริง) ในอันที่จะร่วมกันดำเนินการ ซึ่งรวมถึงการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้ และร่วมปรับปรุงพัฒนา โดยบูรณาการเรื่องของคุณธรรมเข้ากับวิถีชีวิต และเรื่องอื่นๆทั้งหมด (การทำมาหากิน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง ฯลฯ) อย่างเป็นธรรมชาติ

ขณะเดียวกัน ก็ควรส่งเสริมเพิ่มพลังให้กับ การจัดการตนเองและการจัดการกันเองหรือการจัดการร่วมกัน (โดยถักทอเป็นเครือข่ายที่เรียนรู้และพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง) รวมถึงการจัดการเชื่อม ประสานกับภายนอก ให้เกิดการผสมกลมกลืนและบูรณาการได้อย่างดีที่สุดโดยมีคุณภาพพร้อมประสิทธิภาพอยู่เสมอ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

26 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/35690

<<< กลับ

“เศรษฐกิจพอเพียง” กับการจัดสวัสดิการสำหรับข้าราชการ

“เศรษฐกิจพอเพียง” กับการจัดสวัสดิการสำหรับข้าราชการ


(30 พ.ค. 49) ไปบรรยาย เรื่อง “การส่งเสริมการจัดสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประชุมสัมมนาเรื่อง “การส่งเสริมการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ” (รายการครึ่งวัน) จัดโดยสำนักงาน ก.พ. สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการในหน่วยงานภาครัฐต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆนำแนวทางไปใช้ประโยชน์ในการจัดกิจกรรมสวัสดิการสำหรับข้าราชการในสังกัดได้อาศัย  Power point ต่อไปนี้ประกอบการบรรยายและอภิปราย

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/34158

<<< กลับ

 

อภิมหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 กับ คุณธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อภิมหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 กับ คุณธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


“อภิมหาอุทกภัย  พ.ศ. 2554”  ถือเป็นสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้ง “ร้ายแรง” ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย  ย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์อาจมีน้ำท่วมใหญ่ที่มีมวลน้ำมากกว่าปี 2554  เช่น น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2485  แต่ในปี 2485 ประชากรไทยมีไม่ถึง 20 ล้านคน (อาจจะประมาณ 15-16 ล้านคน)  มีป่าไม้ที่สมบูรณ์ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ทรัพยากรดิน  ทรัพยากรน้ำ ระบบทางเดินน้ำ (แม่น้ำ ลำคลอง ฯลฯ)  และอื่น  ๆ อยู่ในสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการเผชิญและจัดการกับสภาวะน้ำท่วมโดยมีความเดือดร้อนน้อยกว่าในปี 2554 หลายต่อหลายเท่า  ในขณะที่ปี 2554 ประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน   มีระบบถนน มีสิ่งปลูกสร้างประเภทอาคารใหญ่โตมากมาย มีหมู่บ้านและบ้านเรือนใหญ่ กลาง เล็ก  ซึ่งสร้างขึ้นใหม่นับแสนนับล้านหน่วย มีนิคมอุตสาหกรรมกว่าสิบแห่งเฉพาะในบริเวณกรุงเทพฯ และใกล้เคียง  มีศูนย์การค้าใหญ่เล็กนับไม่ถ้วน  และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลสำคัญที่แสดงว่าเหตุใดสภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “อภิมหาอุทกภัย พ.ศ.2554”  จึงจัดการได้ยากมากและมีความ “ร้ายแรง”  มากกว่าน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2485 มากมายหลายเท่านัก

หากจะถอดบทเรียนจากกรณี “อภิมหาอุทกภัย พ.ศ.2554” โดยอิงกับ “คุณธรรม” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติด้วยพระองค์เองพร้อมทั้งทรงสาธิตและให้คำแนะนำ    แก่ประชาชนชาวไทยผ่านโครงการตามแนวพระราชดำริ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ฯลฯ จะเห็นได้  ว่า สถานการณ์ในปี 2554 เป็นผลมาจากการที่ประชาชนชาวไทยโดยรวม และโดยเฉพาะรัฐบาลไทย ไม่ได้นำ “คุณธรรม” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้อย่างดีพอและมากพอ ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี

“คุณธรรม” หรือ “การปฏิบัติที่เป็นคุณ“ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติและทรงแนะนำมีอยู่มากมาย  ที่สำคัญและควรกล่าวถืง คือ “การพัฒนาต้องระเบิดจากข้างใน”   “การพัฒนาต้องเริ่มที่ฐานราก”   “เกษตรทฤษฏีใหม่ ที่เน้นการพึ่งตนเอง การร่วมมือกัน และความสัมพันธ์กับภายนอก เป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ“   ”การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมซึ่งรวมถึงป่าไม้ สภาพดิน สภาพน้ำ การจัดการน้ำ ฯลฯ ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค”   “ การรู้รักสามัคคี” “การมีไมตรีธรรม” และที่สำคัญมากซึ่งพระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสครั้งแรกในปี 2540 คือเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”  และทรงมีพระราชดำรัสซ้ำในปี  2541 และ 2542 เป็นผลให้มีการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้แพร่ขยายมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังไม่ดีพอและมากพอโดยเฉพาะในระดับประเทศ จนท้ายสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส    กับคณะผู้เข้าเฝ้าจำนวนหนึ่งว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้โลกพ้นจากวิกฤตได้” ซึ่งสามารถขยายความได้ว่ารวมถึงวิกฤตของประเทศไทยด้วย  ซึ่งวิกฤตของประเทศไทย ประกอบด้วย วิกฤตการ เมือง วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสังคม และวิกฤตภัยธรรมชาติรวมอยู่ด้วยกัน ทำให้มีความยากเป็นทวีคูณ

“คุณธรรม” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนเป็น “ธรรมะ อันเป็นคุณ” “ธรรมะ” คือความเป็นจริงตามธรรมชาติ  ความเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ และการที่มนุษย์พึงปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฏของธรรมชาติ คือ ไม่ไปทำลาย ทำร้าย ต่อต้าน ขัดขืนธรรมชาติ อย่างไม่เหมาะสม เพราะจะไม่บังเกิดผลดี หรือเกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อมนุษย์เช่น กรณี “อภิมหาอุทกภัย พ.ศ.2554”

แต่สิ่งที่คนไทยโดยรวม และรัฐบาลไทยโดยทั่วไป ได้ทำมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี คือการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศตามแนวคิดวัตถุนิยม บริโภคนิยม เน้นการเจริญเติบโตทางวัตถุ  ละเลย  การให้ความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข การพัฒนาทางจิตใจ ทางศิลปะ วัฒนธรรม คุณธรรม ความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ได้เน้นความพอเหมาะพอควรพอประมาณและความสมดุล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ทำให้ประเทศไทย มีจำนวนประชากรมากเกินไป (เกินความสมดุลกับทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อากาศ ไปไม่น้อยกว่า 3 เท่าหรือมากกว่า) มีการใช้ชีวิตแบบบริโภคนิยม วัตถุนิยมมากเกิน “ความพอประมาณ” ไปหลายเท่า มีความเห็นแก่ตัว ยึดตนเองและพวกพ้องเป็นสำคัญมากกว่าการยึดประโยชน์ต่อผู้อื่นและต่อส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก  คุณธรรมความดีที่มีอยู่โดยธรรมชาติในคนทุกคนถูกกดทับลิดรอน ทำให้เสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ ความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในหมู่คนไทยด้วยกันขยายตัวมากขึ้น ๆ   สำทับด้วยระบบการเมืองการปกครองของไทยที่ยังไม่พัฒนาดีพอและยังเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจการบริหารจัดการไว้ที่ภาครัฐส่วนกลางเป็นหลัก ซึ่งทำให้เกิดความอ่อนด้อยและผลเสียนานาประการทั้งในด้านการพัฒนาประชาธิปไตยที่ดี การพัฒนาเศรษฐกิจที่เหมาะสม การพัฒนาสังคม ฯลฯ  นอกจากนั้นคนไทยยังมีความขัดแย้งแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายในหลายส่วนหลายระดับของสังคม

สรุปได้ว่าประเทศไทยปัจจุบัน (พ.ศ. 2554) ประสบภาวะวิกฤตทั้งด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านภัยพิบัติไปพร้อมๆ กัน

หากคนไทย สังคมไทย จะร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตทั้ง 4 ด้านไปด้วยกัน ก็น่าจะยังเป็นไปได้  ด้วยการน้อมนำ “คุณธรรม” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวข้างต้นมาประยุกต์ใช้ให้ได้อย่างเหมาะสม จริงจัง ต่อเนื่อง และด้วยการมี “วิสัยทัศน์” ที่ดีร่วมกัน มี “ยุทธศาสตร์” ที่ดีร่วมกัน และมี”แผนปฏิบัติการ” ที่มีความเหมาะสมทั้งด้าน วิธีการ บุคลากรผู้ดำเนินการ  งบประมาณ และระบบการจัดการที่มีธรรมาภิบาล มีคุณภาพพร้อมประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้  และที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งคือ ต้องมี “กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน” ที่ดีพอและมากพอตลอดทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้น  คือตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนด “วิสัยทัศน์” การกำหนด  “ยุทธศาสตร์”  การกำหนด “แผนปฏิบัติการ”  “การตรวจสอบและติดตามประเมินผล”  “การเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติจริง” และ “การปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีก” เป็นวงจรไม่รู้จบ  ซึ่งการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและต่อเนื่องก็เป็น “คุณธรรม” สำคัญประการหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติและทรงแนะนำอยู่เสมอ

ขอให้คนไทยทั้งหลายรวมถึงผู้เขียนเองด้วย ตั้งปณิธานร่วมกันที่จะใช้ความพยายามอย่างเข้มแข็งเอาจริงเอาจังและอย่างต่อเนื่อง  ร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตประเทศไทย ที่รวมถึง “อภิมหาอุทกภัย พ.ศ. 2554“  ให้ผ่านพ้นไปได้อย่างน่าพอใจร่วมกันได้ ด้วยการประยุกต์ใช้ “คุณธรรม” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าคนไทยจะสามารถ “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส” ให้สำเร็จได้  นำพาให้สังคมไทยมี “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”  ในระดับที่น่าพอใจได้ในเวลาที่ไม่นานเกินไป

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/470026

<<< กลับ

“วิธีคิด” ของในหลวง กับการฟื้นฟูประเทศอันเนื่องจาก “มหาพิบัติภัย”

“วิธีคิด” ของในหลวง กับการฟื้นฟูประเทศอันเนื่องจาก “มหาพิบัติภัย”


“มหาพิบัติภัย” ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2554  กำลังเคลื่อนเข้าสู่ขั้นตอนของการ “ฟื้นฟู” และ “พัฒนา” หรือ “อภิวัฒน์”

รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 2 คณะ  ขึ้นเป็นพิเศษเพื่อกำหนดแนวทางในการฟื้นฟูประเทศและจัดการภัยพิบัติ คณะที่หนึ่งมีหน้าที่ฟื้นฟูความเชื่อมั่นในประเทศไทย พร้อมกับกำหนดอนาคตของประเทศไทยที่จะพัฒนาก้าวหน้าได้ดีกว่าเดิม  คณะที่สองมีหน้าที่ศึกษาทบทวนและกำหนดวิธีการจัดการน้ำใหม่ทั้งระบบ

ทั้ง 2 คณะต้องพิจารณาและกำหนดยุทธศาสตร์ที่ประสานสอดรับกัน ซึ่งในกรณีคณะที่สองอาจจะพิจารณาเรื่อง “การจัดการน้ำ” ให้เชื่อมโยงกว้างขึ้นไปถึง “การจัดการภัยพิบัติ” ก็น่าจะมีเหตุผลที่สมควร เพราะวิธี “จัดการน้ำ” กับวิธี “จัดการภัยพิบัติ” มีความทับซ้อนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอยู่มาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้ใช้เวลากว่า 60 ปี ศึกษาคิดค้นทดลอง ลงมือปฏิบัติ  จัดพื้นที่สาธิต ให้คำปรึกษาแนะนำ ขยายผล สรุปเป็น “หลักการ” หรือ “ปรัชญา” หรือ “ยุทธศาสตร์” และเผยแพร่สิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำหรือสรุปเป็นหลักการ ฯลฯ ผ่านพระราชดำรัสในโอกาสต่าง ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์จวบจนปัจจุบัน

“หลักการ” หรือ “ปรัชญา” หรือ “ยุทธศาสตร์” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สมควรนำมาประยุกต์ใช้กับการพิจารณาฟื้นฟูประเทศอันเนื่องจากมหาพิบัติภัย ที่สำคัญ ๆ และเข้าประเด็นได้ดี น่าจะรวมถึง

0  พระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ข้อนี้ควรเป็นกรอบความคิดใหญ่สำหรับการกำหนดวิธีคิด และวิธีทำของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทั้ง 2 คณะ ได้เป็นอย่างดี  เพราะการฟื้นฟูประเทศควรต้องเป็นไป “โดยธรรม” หรืออย่างมีธรรมาภิบาล และ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” หรือเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของปวงชนชาวไทย

 

0 การพัฒนาต้องให้ระเบิดจากภายใน

            การฟื้นฟูประเทศก็คือ “ การพัฒนาใหม่” ของ “หน่วยจัดการ” ที่ประกอบด้วยคนไทย ครอบครัวไทย ชุมชนไทย องค์กรไทย  (รวมถึง องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ และองค์กรภาคประชาชน/ประชาสังคม) สถาบันไทย (ซึ่งรวมถึง สถาบันนิติบัญญัติ  สถาบันบริหาร สถาบันตุลาการ สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา  สถาบันศิลปะวัฒนธรรม)  ตลอดจนสังคมโดยรวม ซึ่ง “หน่วยจัดการ” เหล่านี้  ควรมีส่วนร่วมอย่างสำคัญและอย่างมีความหมาย กับทั้ง  “กระบวนการ” (Process)  และ “สาระ (Content) ของมาตรการฟื้นฟูประเทศภายหลังมหาพิบัติภัย รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการริเริ่ม พิจารณา ตัดสินใจ ดำเนินการ ติดตามประเมินผล และคิดค้นหาทางปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือมีผลดีผลเสียต่อ “หน่วยจัดการ” เหล่านั้นโดยตรงหรือโดยอ้อม

0 การพัฒนาต้องคำนึงถึง “ภูมิสังคม” ของแหล่งที่จะพัฒนาด้วยเสมอ

            นั่นคือ ไม่ควรมี “สูตรสำเร็จ” หรือ “ยามาตรฐาน” สำหรับทุกพื้นที่หรือทุกกลุ่มคนหรือทุกภาคส่วน โดยบุคคลภายนอก (แม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิสูง) เป็นผู้กำหนด แต่ควรให้แต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มคน แต่ละภาคส่วน เป็นผู้กำหนดวิธีการเอง หรือมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและต่อเนื่องในการพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ที่เขาเกี่ยวข้อง เพราะเขาจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ภูมิสังคม” ของเขาเองได้ดีกว่าบุคคลภายนอก โดยเขาสามารถขอให้บุคคลภายนอกมาร่วมเสริมเติมความรู้ความเข้าใจ เหล่านั้นให้ดีขึ้นสมบูรณ์ขึ้นได้ด้วย เช่น จากการช่วยทำข้อมูลให้เป็นระบบ จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และทางสังคม จากการมองให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับระบบที่ใหญ่กว่า เป็นต้น

0  “ทฤษฏีใหม่” 3 ขั้นตอน ได้แก่ การพึ่งตนเอง การร่วมมือกัน และการมีความสัมพันธ์แบบสร้างสรรค์กับภายนอก

การฟื้นฟูชุมชน ธุรกิจและประเทศภายหลังมหาพิบัติภัย เป็นงานใหญ่ งานยาก งานสลับซับซ้อน เป็นการยากอย่างยิ่งและไม่สมควรอย่างยิ่งที่รัฐบาล แม้จะมีผู้ทรงคุณวุฒิสูง 2 คณะ หรือผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายมาช่วยกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงาน ซึ่งอาจดูดีตามที่ปรากฏในเอกสาร แต่เมื่อปฏิบัติจริงจะมีปัญหานานัปการ ซึ่งในที่สุดแล้วไม่ทำให้ประเทศไทยและสังคมไทยดีขึ้นหรืออาจกลับเสื่อมลง ด้วยเหตุนี้  “วิธีคิด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง “การพึ่งตนเอง การร่วมมือกัน และการมีความสัมพันธ์แบบสร้างสรรค์กับภายนอก” จึงควรได้รับการประยุกต์ใช้ให้มากพอ  ควบคู่ผสมผสานไปกับการศึกษาพิจารณาและการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน มาตรการ ฯลฯ ของรัฐบาลจากคำแนะนำของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 2 คณะ และจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญหรือกลไกอื่น ๆ ที่รัฐบาลมีอยู่

เราอาจขยายความ “วิธีคิด” ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวข้างต้นได้ว่า รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐตลอดจนองค์กรปกครองท้องถิ่น  ควรส่งเสริมสนับสนุนประชาชนที่เข้าลักษณะเป็น     “หน่วยจัดการ”  (บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ฯลฯ)  ให้ใช้หลัก “การพึ่งตนเอง” (หรือการจัดการตนเอง) “การร่วมมือกัน”  (เช่นการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ฯลฯ) และ “การมีความสัมพันธ์แบบสร้างสรรค์กับภายนอก”   (เช่น การร่วมมือประสานกับองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ องค์กรภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันศิลปะวัฒนธรรม ฯลฯ  ในรูปแบบและวิธีการที่เห็นพ้องต้องกันว่าเหมาะสมและสร้างสรรค์ดีที่สุด)

0 “ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

              เป็น “วิธีคิด” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในรูปแบบพระราชดำรัส ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยยังไม่ได้ใช้คำว่า  “เศรษฐกิจพอเพียง” มาตั้งแต่พ.ศ.2517  และได้เริ่มใช้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างชัด ๆ ในปี พ.ศ.2540  (ภายหลัง “วิกฤตเศรษฐกิจไทย” ที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกและชาวต่างชาติเรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ) ซึ่งต่อมาได้มีการทำคำอธิบายให้เป็นลายลักษณ์อักษรและใช้คำว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงพิจารณาและแก้ไขขัดเกลาจนถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงให้ความเห็นชอบแล้วในปี พ.ศ.2542

“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มีสาระสำคัญคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี การมีความรอบรู้  รอบคอบ ระมัดระวัง และมีคุณธรรมความดีที่รวมถึง ความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันอดทน การใช้สติปัญญา การแบ่งปัน ฯลฯ ซึ่งในการฟื้นฟูประเทศภายหลังมหาพิบัติภัย สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องยังคงใช้ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”  เป็นปรัชญานำทาง ดังที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9,10,และ11  แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริงหรือดีพอและมากพอ

การประสบ “มหาภัยพิบัติ”  ในปี 2554 ควรจะเป็นแรงกระตุ้นครั้งสำคัญ และอย่างแรงให้คนไทย ชุมชนไทย องค์กรไทย สถาบันไทย โดยเฉพาะรัฐบาลและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 2 คณะ ได้ตระหนักถึงความหมายอันลึกซึ้งและทรงคุณค่าของ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และน้อมนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งในการกำหนด ยุทธศาสตร์ แผนงาน มาตรการ งบประมาณ และในการดำเนินการ การติดตามประเมินผล และการปรับปรุงพัฒนา  ที่ควรทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สานต่อจากรัฐบาลชุดปัจจุบันสู่รัฐบาลชุดต่อ ๆ ไป  โดยอาจใช้เวลา 5 ปี 10 ปี 20 ปี หรือมากกว่า  แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะเกิดเป็น “ประโยชน์สุข” หรือ “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของปวงชนชาวไทย ดียิ่ง ๆ ขึ้นและมากยิ่ง ๆ ขึ้น  ด้วยนโยบายและการดำเนินการทุกขั้นตอนที่เป็นไป “โดยธรรม” หรือ “อย่างมีธรรมาภิบาล” ซึ่งทั้งเรื่อง “ประโยชน์สุข” และเรื่อง “โดยธรรม”  หรือ “อย่างมีธรรมาภิบาล” นั้น เป็นส่วนหนึ่งของ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยปริยายอยู่แล้ว

ในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา หรือครบ 7 รอบ  ประกอบกับประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการฟื้นฟู พัฒนา และอภิวัฒน์ ระบบการจัดการน้ำ ระบบการจัดการภัยพิบัติ ระบบการบริหารจัดการประเทศ (ซึ่งรวมถึงองค์ประกอบย่อยต่าง ๆ ตั้งแต่ รัฐสภา คณะรัฐบาล  ระบบศาลยุติธรรม หน่วยงานของรัฐ องค์กรภาคธุรกิจ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรภาคประชาชน สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันศิลปะวัฒนธรรม และอื่น ๆ)  จึงเป็นเวลาอันสมควรที่ปวงชนชาวไทยรวมถึง สถาบัน หน่วยงาน องค์กร ต่าง ๆ จะได้ร่วมกันตั้งปณิธานและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  เพื่อฟื้นฟู พัฒนา และอภิวัฒน์ ประเทศไทยของเรา  โดยเราโชคดีที่สามารถน้อมนำ    “วิธีคิด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวข้างต้น มาเป็นเครื่องช่วย วิธีคิด วิธีทำ และวิธีพัฒนา ของพวกเราทั้งหลายได้โดยไม่ยากนัก

ขอให้พวกเราชาวไทยรวมพลังอย่างมุ่งมั่นและ “รู้รักสามัคคี”  พลิก “วิกฤต” เป็น “โอกาส” ให้จงได้ เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีและถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อประโยชน์อันสมควรต่อประเทศไทยของเรา เพื่อสังคม ชุมชน และองค์กร ของเรา และเพื่อตัวของเราเองพร้อมครอบครัวกับลูกหลานเหลนโหลนของเราในอนาคต ไปพร้อม ๆ กัน

 

(ลงใน น.ส.พ.เดลินิวส์ ฉบับ 5 ธันวาคม 2554 หน้าพิเศษ)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/470845

<<< กลับ