กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน

กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน


         (บทสัมภาษณ์ เพื่อทำเอกสารประกอบการประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง “กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน” เมื่อ 19 สิงหาคม 2548 จัดโดย “แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” ซึ่งดำเนินการภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.))

“ถ้าชุมชนอ่อนแอ ผู้มีอำนาจจะได้ประโยชน์”

การปกครองในประชาธิปไตยของไทยที่ก้าวมาจวนเจียนจะครบ 8 ทศวรรษ หากจะเทียบกับช่วงอายุของคนคนหนึ่งก็ต้องนับว่าชราภาพเต็มที่ แต่หากลองเทียบกับประเทศอื่นๆร่วมโลกใบเดียวกัน เวลาเกือบ 8 ทศวรรษก็นับว่าเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ซึ่งมักจะเป็นวาระแห่งการริเริ่มก่อเกิด

แม้จะจริงที่ว่าประชาธิปไตยของไทยอาจจะโตช้าไปเสียหน่อยในบริบทและวิวัฒนาการของเศรษฐกิจสังคมโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะหากจะนับเริ่มต้นที่การเกิดขึ้นของ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่มีอำนาจบริหารจัดการท้องถิ่นตามความต้องการของคนท้องถิ่น และโดยคนของท้องถิ่นเองที่เพิ่งจะมีขึ้นก็เพียงช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น

กล่าวเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยอายุที่ยังไม่ถึงรอบทศวรรษดี จึงต้องนับว่าเด็กอย่างยิ่ง กระนั้นอย่าไปคิดว่าเด็กคนนี้จะเติบโตเตาะแตะไปตามเวลาอย่างมนุษย์คนหนึ่ง แท้ที่จริงเราไม่อาจมองข้ามต้นทุนที่สะสมในท้องถิ่นมาหลายช่วงทศวรรษหรืออาจจะหลายศตวรรษก่อนหน้านี้ ทั้งภูมิปัญญา วัฒนธรรม บุคลากร ที่รวมอยู่ใน “ชุมชน”

แม้ว่าชุมชนในท้องถิ่นจะถูกทำให้อ่อนแอ อ่อนเปลี้ยและถึงกับแตกสลายไปก็มากตลอดช่วงการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา แต่ภายใต้การทำงานพัฒนาชุมชนของฝ่ายต่างๆ ในสังคมเพื่อตั้งยันรับการเปลี่ยนแปลง ชุมชนหลายชุมชนได้ฟื้นตื่นและเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง พร้อมๆไปกับการสร้างเครือข่ายโยงใยเป็นพลังทางสังคม และสิ่งเหล่านี้นี่เองจะผลักดันให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเข้มแข็งเพื่อสร้างนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนต่อไป

ปัญหามีอยู่ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่งเริ่มต้นจะสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างไร และอะไรเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จนั้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คนทำงานพัฒนาชุมชนที่คนไทยรู้จักในระดับต้นๆ มีบทเรียนและประสบการณ์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  

นโยบายสาธารณะในท้องถิ่น จริงๆมีไหม แล้วมันคืออะไรกันแน่ในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาดูจะมีแต่การพูดถึงนโยบายของรัฐบาลกลาง

ผมต้องตอบว่ามี เพราะผู้บริหาร อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) หรือเทศบาล หรือแม้แต่ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) ก็น่าจะมีแนวคิดมีนโยบายอยู่ อยากเห็นท้องถิ่นเป็นอย่างไร จะมีวิธีการแบบไหน อันนั้นแหละคือนโยบาย แต่จะประกาศเป็นทางการหรือไม่ ไม่รู้ ตอนหาเสียงก็น่าจะพูดนะว่า “เราจะให้ท้องถิ่นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้” สิ่งที่หาเสียง สิ่งนั้นก็อาจจะเทียบเท่านโยบายได้

เพราะฉะนั้นก็ต้องถือว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายสาธารณะ” ในระดับท้องถิ่นเพียงแต่รูปแบบอาจจะไม่ชัดเจน หรือไม่ได้พูดว่าเป็นนโยบาย หรือชาวบ้านไม่ได้คิดว่าเป็นนโยบาย แต่รู้ว่าคณะนี้จะทำแบบนี้ หรือรู้ว่าถ้าเรามีปัญหาอะไรในท้องถิ่น เขาจะแก้แบบนั้น

ในระดับท้องถิ่น การออกข้อบังคับหรือข้อบัญญัติก็คือวิธีหนึ่งที่จะแปลงนโยบายออกมาเป็นรูปธรรม หรือว่าเขาอาจจะคิดออกมาเป็นโครงการ เป็นมาตรการต่างๆซึ่งอาจจะคิดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคณะกรรมการหรือโดยผู้บริหาร หรืออาจจะร่วมกันกับชุมชน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นวิธีต่างๆที่เป็นการแสดงตัวตนของนโยบาย

  นโยบายสาธารณะของท้องถิ่นที่น่าจะเป็นควรมีหน้าตาอย่างไร

ถ้าจะเทียบกับการบริหารประเทศ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็คือประเทศเล็กๆ เขามีคณะกรรมการ หรือที่เขาเรียกว่า สภา ก็เหมือนกับรัฐสภา เดี่ยวนี้มีนายก อบจ. นายก อบต. นายกเทศบาลหรือนายกเทศมนตรี ก็เหมือนนายกรัฐมนตรีในระดับประเทศ หรือถ้าจะเทียบกับธุรกิจเป็นบริษัท สภาก็เหมือนคณะกรรมการ นายกฯก็เหมือนผู้จัดการใหญ่

ทั้งหมดนี้ มีวิธีการทั่วไปที่เรียกว่าการกำหนดนโยบาย วิธีการก็คือต้องสำรวจสถานการณ์ความเป็นจริง ดูว่าความเป็นจริงอย่างไร ถ้าเป็นประเทศ เราก็ดูว่าความเป็นจริงในประเทศเราเป็นอย่างไร เป็นบริษัทเราก็ดูว่า ความเป็นจริงของธุรกิจแขนงนี้ การแข่งขัน ผู้บริโภคเป็นอย่างไร พอดูสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องแล้วก็มากำหนดว่าเราอยากได้ผลอะไร ถ้าเป็นประเทศจะอยากให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนแค่ไหน เศรษฐกิจโตเท่าไร รายได้กระจายแค่ไหน สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร สุขภาพประชาชนดีอย่างไร การศึกษาควรจะได้แค่ไหน ซึ่งก็คือมาดูว่าต้องการอะไร ในท้องถิ่นก็น่าจะคล้ายกันไม่ว่าจะเป็นจังหวัด เทศบาล หรือตำบล

พอรู้ว่าอยากให้เป็นอย่างไรแล้ว ถ้าอย่างนั้นเราต้องทำอะไรกันบ้าง ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนมีช่องทางทำมาหากินได้เพียงพอ สุขภาพอนามัยดี เด็กๆได้เรียนหนังสือดี ศีลธรรมดี วัฒนธรรมดี อาชญากรรมน้อย อุบัติเหตุน้อย ก็กำหนดวิธีการให้บรรลุผลเหล่านั้น ทั้งหมดนี้คือนโยบาย

  ใครหรือกลุ่มคนไหนที่จะกำหนดเรื่องพวกนี้

ผู้บริหารนั่นแหละจะต้องเป็นตัวตั้งตัวตีในการกำหนด ใครบริหารท้องถิ่นไหนก็กำหนดให้ท้องถิ่นนั้น คนบริหารนั้นมี 2 ระดับ คือ สภากับผู้บริหาร สภามีหน้าที่ออกข้อบัญญัติ ซึ่งข้อบัญญัตินี่แหละสะท้อนนโยบาย ผู้บริหารต้องกำหนดมาตรการ โครงการ กิจกรรม ใช้งบประมาณให้สะท้อนนโยบาย ฉะนั้นเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นสภาหรือผู้บริหารก็ต้องคิด และควรจะคิดเชิงนโยบาย คือต้องดูความเป็นจริง ดูสถานการณ์ที่เป็นจริง กำหนดสภาพที่พึงปราถนา กำหนดวิธีการไปสู่สภาพที่พึงปรารถนา

ทีนี้การคิดเรื่องพวกนี้ หากไปคิดกันเองก็อาจจะได้สิ่งที่ไม่ดีพอ อาจจะอาศัยนักวิชาการมาช่วยวิเคราะห์ วิจัยสภาพความเป็นจริง ช่วยศึกษาถึงทางเลือก ทางเดินต่างๆที่จะนำไปสู่สภาพที่พึงปรารถนา แต่สภาพที่พึงปรารถนา ประชาชนต้องคิดเอง นักวิชาการจะมาคิดให้ไม่ได้ อาจจะยกตัวอย่างว่า ที่อื่นเขาทำอย่างไร แต่ผู้บริหารไม่ว่าจะเป็นสภาหรือคณะผู้บริหารซึ่งรวมถึงนายกเทศมนตรี นายก อบจ. หรือนายก อบต. ต้องเป็นคนคิดหรือกำหนดสภาพที่พึงปรารถนา

และถ้าให้ดีกว่านั้นก็คือกำหนดร่วมกับประชาชน ยิ่งในท้องถิ่นเล็กๆ สามารถเชิญประชาชนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังได้ ถ้าไม่ได้ 100 อาจจะสัก 90 หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถให้ประชาชนมาร่วมกำหนด แม้กระทั่งกำหนดแนวทางไปสู่สภาพที่พึงปรารถนา เพราะประชาชนก็สามารถคิดได้เหมือนกันว่า ถ้าเราต้องการให้เกิดสภาพแบบนี้ เราน่าจะใช้วิธีการแบบนี้ ประชาชนคิดได้ เพราะประชาชนเองจะมีนักคิด มีผู้นำ มีคนที่รู้เรื่องรวมอยู่ในหมู่ประชาชน คนทั่วไปอย่างน้อยเขาก็รู้ว่าขาอยากได้อะไร ทำอย่างไร เขาอาจจะคิดบางส่วน แต่พอรวมประชาชนทั้งหมด ความคิดจะดีขึ้น

ฉะนั้นถ้ารวมประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่น รวมผู้ที่อยู่ในสภา รวมผู้บริหารท้องถิ่น รวมการวิเคราะห์วิจัยของนักวิชาการ สิ่งที่ได้มาย่อมสมบูรณ์กว่า ครอบคลุมกว้างขวางลึกซึ้งกว่าจะให้คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปคิดเพียงลำพัง

สภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ท้องถิ่นมีอิสระแค่ไหนในการคิดเรื่องนี้

ขณะนี้ได้มีขบวนการเกิดขึ้นอย่างน้อย 2-3 แนวทางที่น่าจะถือว่าเป็นการพัฒนาในทางบวก ทางที่หนึ่งคือ ชุมชนท้องถิ่นมีการรวมตัวกันทำสิ่งที่เรียกว่า “แผนแม่บทชุมชน” หรือ “แผนชีวิตชุมชน” จะมีผู้นำในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำโดยธรรมชาติเป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนประชาชนให้มาวิเคราะห์สภาพของตนเอง เช่นดูว่า ในบรรดาครัวเรือนต่างๆในแต่ละหมู่บ้านมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง มีรายได้อะไรบ้าง เป็นหนี้สินเท่าไร ชุมชนที่ก้าวหน้าอาจจะสำรวจไปถึงว่าเขามีทรัพย์สินอะไร มีที่ดิน มีต้นไม้ มีบ้านเรือน มีเงินออม มีทุนทางปัญญา ทุนทางสังคมอะไร ชุมชนที่ก้าวหน้าอาจจะคิดไปได้ถึงขั้นนั้นเลย

พอสำรวจความเป็นจริงแล้ว เขาก็มากำหนดว่า เขาอยากได้อะไร อยากมีหนี้สินลดลง อยากทำมาหากินได้ดี ขึ้น อยากมีสวัสดิการดีขึ้น เจ็บไข้ได้ป่วยน้อยลง สภาพแวดล้อมดีขึ้น ทรัพยากรสมบูรณ์ขึ้น อย่างนี้เขาคิดได้ ต่อจากนั้นก็มาคิดวิธีการโครงการ มาตรการที่จะทำต่อไป ซึ่งชุมชนจำนวนมากทำได้

ไม่เท่านั้น ยังได้มีสิ่งที่เรียกว่า เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน 4 ภาคขึ้น ชื่อเต็มๆคือ “เครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค” มีผู้นำชุมชนที่ก้าวหน้าจนสามารถทำแผนแม่บทชุมชนได้แล้วรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโยงใยกันทั้งประเทศ เริ่มจากจำนวนตำบลที่ทำได้ดี รวมตัวเป็นเครือข่ายแล้วก็เผยแพร่ช่วยเป็นวิทยากรไปแนะนำชุมชนอื่นๆที่สนใจ ซึ่งผู้ที่ไปแนะนำก็คือผู้นำชาวบ้านด้วยกันเอง เป็นวิทยากรชาวบ้านเองที่ไปเป็นผู้แนะนำ หรือไม่ก็ชุมชนที่ทำได้ดีทำตัวคล้ายๆเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนใกล้เคียง หรือเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชนที่สนใจโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ไม่ไกล ขณะนี้จากชุมชนหรือตำบลที่ทำแผนชุมชนได้ดีไม่กี่สิบแห่ง ได้ขยายไปเป็นประมาณ 1,000 แห่ง หรือ 1,000 ตำบล

ที่บอกว่าทำได้ดีคือชุมชนร่วมกันทำ ชาวบ้านจากครัวเรือนจากทุกหมู่บ้านร่วมกันทำ ร่วมกันคิดแผนในหมู่บ้าน เอามารวมกันเป็นตำบล หรือจะคิดทีเดียวพร้อมกันทั้งตำบล แล้วยังไปคิดร่วมกันกับ อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็น 3 แกนหลักเป็นแกนสำคัญที่ร่วมกันทำแผนแม่บทชุมชน ตำบลที่ทำได้ดีจะรวม 3 แกนหลักนี้ ขณะนี้เขาได้ขยายไป บางแห่งทำไปแล้ว บางแห่งกำลังทำ รวมแล้วประมาณ 1,000 ตำบล คงจะขยายตัวต่อไปอีก

นี้คือหนึ่งกระบวนการที่เป็นการริเริ่มจากผู้นำชุมชน ผู้นำชุมชนบางคนเป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน บางคนเป็นนายกหรือกรรมการ อบต. ฉะนั้นจึงทำให้การประสาน 3 แกนหลัก คือผู้นำชุมชน อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ถึงกับยากนัก บางแห่งโชคดีที่ความสัมพันธ์ระหว่าง 3 แกนหลักดีอยู่แล้ว ทำให้การร่วมกันทำงานง่ายขึ้น บางแห่งอาจจะต้องใช้ความพยายามตอนต้น แต่เนื่องจากผลสำเร็จหรือผลประโยชน์มีร่วมกันเพราะถ้าทำได้ดี ท้องถิ่นดี ก็ถือเป็นผลดีของกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผลดีของ อบต. และเป็นผลดีของชุมชน เมื่อมีผลประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ร่วมกันเช่นนี้ทำให้การทำงานร่วมกันไม่ถึงกับยาก

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามีอีกหลายต่อหลายตำบลที่ 3 แกนหลักนี้ไปด้วยกันไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยดี เพราะว่าวิวัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นของเราเป็นมาอย่างลุ่มๆดอนๆ แล้วก็เป็นมาอย่างค่อนข้างแบ่งแยกมากกว่ารวมกำลัง ทั้งนี้เพราะสมัยหนึ่งมีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นหลัก ต่อมามี อบต. ก็หันมาให้ความสำคัญกับ อบต. แต่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านยังอยู่ ซึ่งอาจจะมีกองหนุนคนละกอง พี่เลี้ยงคนละชุด เลยทำให้แทนที่จะร่วมกันกลับมาแข่งกันเสียมากกว่า แต่คิดว่า ต่อไปข้างหน้าน่าจะค่อยๆดีขึ้น

ต้องเข้าใจด้วยว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเกิดขึ้นมาไม่นาน เทียบอายุแล้วต้องถือว่ายังเด็ก เทศบาลเองที่ใหม่ก็เยอะ อบต.เป็นเรื่องใหม่ อบจ. นี่ก็ปรับใหม่ ถึงแม้จะชื่อเก่า แต่โครงสร้างและสีสันเปลี่ยนใหม่ ยิ่งเดี๋ยวนี้ เลือกนายก อบจ. นายก อบต. นายกเทศมนตรี โดยตรง ทำให้การปกครองท้องถิ่นมีชีวิตชีวา มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น แต่ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งจะมีการเลือกโดยตรงกันมา 1-2 ปีนี่เอง บางแห่งเพิ่งจะเริ่ม ฉะนั้นต้องให้เวลา

                อย่างไรก็ตามแม้จะวิวัฒนาการมาแบบลุ่มๆดอนๆ ยังไม่ถึงกับเป็นปึกแผ่นมาก แต่แนวทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็ชัดเจนว่า ส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญ พูดในเรื่องการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้บริหารจัดการตนเองในเรื่องต่างๆ ค่อนข้างสมบูรณ์ และยังบอกด้วยว่า ถ้าท้องถิ่นไหนมีความพร้อม ควรจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ซึ่งนั่นหมายถึงว่าทั้งจังหวัดเป็นองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น

ขณะนี้จังหวัดต่างๆของเรามีการปกครอง 2 อย่างคู่ขนาน น้ำหนักยังอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งคือราชการส่วนภูมิภาค แล้วย่อยลงไปถึงจะเป็น อบจ. เทศบาล ซึ่งถ้าดูเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ น่าจะหมายถึงว่า ในอนาคต อบจ. น่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งจังหวัดแบบ กทม. ซึ่งน่าจะหมายถึงว่า อบจ.ก็คือกลไกที่จะดูแลจังหวัดทั้งจังหวัดแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดถ้าจะมีอยู่ ก็จะเป็นเหมือนกับตัวแทนรัฐบาลส่วนกลาง ดูแลในเรื่องนโยบายให้สอดคล้องหรือสอดรับกับนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของประเทศ หรืออาจจะมีการแบ่งสรรอำนาจหน้าที่กันอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่น้ำหนักน่าจะอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นี่พูดถึงในอนาคตนะ

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน แม้วิวัฒนาการยังเพิ่งเริ่มต้นเราก็ได้เห็นความเข้มแข็ง ความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทวีมากขึ้นเป็นลำดับ มีตัวอย่างหลายตำบล หลายเทศบาล และก็อาจจะหลาย อบจ. ได้มีบทบาทที่จะจัดการดูแลท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และหลายแห่งก็ได้พยายามจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะ อบต. ที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชนในความพยายามที่จะมีแผนแม่บทชุมชนหรือแผนชีวิตชุมชน ก็ถือว่าเป็นการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมที่ค่อนข้างกว้างขวาง อาจจะมากกว่ารัฐบาลส่วนกลางด้วยซ้ำ เพราะตำบลมันเล็ก ทำแผนแม่บทชุมชนนี่ก็แปลว่ามากันทั้งชุมชน

หลายแห่งทำได้ดีโดยเป็นการริเริ่มหรือมีบทบาทสำคัญมาจาก อบต. ยกตัวอย่างตำบลหนึ่งในจังหวัดชัยนาท นายก อบต. จะเที่ยวไปพบปะคนนั้นคนนี้ ปรึกษาหารือ จัดประชุมทุกฝ่ายร่วมกันเดือนละครั้ง ทุกฝ่ายจะมีทั้งผู้นำชุมชนจากทุกหมู่บ้าน มีตัวแทนประชาชนจำนวนมากมาร่วมประชุม มีกลุ่มมีองค์กรอะไรก็จะมีตัวแทนมาร่วมประชุม ข้าราชการของ อบต. ข้าราชการของราชการส่วนภูมิภาค จะเป็นทางด้านอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสวัสดิการต่างๆ ก็มาร่วมประชุมปรึกษาหารือกันทุกเดือน ทำให้สามารถคิดอะไรทำอะไรที่ดีๆให้กับท้องถิ่นได้มาก นี่ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างของ อบต. ที่มีความก้าวหน้า ทำงานแบบมีส่วนร่วมสูง

แต่ภาพที่ปรากฏในสื่อมักจะทำให้เห็นว่านักการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะโดนผลประโยชน์ครอบทำให้ที่สุดกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ไป

นั่นเป็นสภาพที่ย่อมเกิดขึ้นได้ เหมือนระดับประเทศ เราเลือกผู้แทน ผู้แทนไปเลือกรัฐบาล แทนที่จะทำงานเพื่อประชาชนด้วยความบริสุทธิ์ ก็อาจจะทำงานเพื่อตนเองเพื่อพรรคพวก เพื่อกลุ่มเพื่อเหล่า นั่นคือไม่ได้เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ อาจพยายามทำเหมือนกันแต่ในขณะเดียวกันก็เอาประโยชน์ส่วนตัวประโยชน์พรรคพวกไปด้วย

ในท้องถิ่นก็เหมือนกัน คนที่ได้รับเลือกเป็นผู้บริหารเป็นกรรมการ ก็จะมีทั้งประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์พวกพ้องและประโยชน์ส่วนรวม มันคู่กันไปอย่างนี้แหละ ถ้าเราเจริญมากก็แปลว่า ผู้นำที่ได้รับเลือกเข้าไปเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์พวกพ้องนี่ต้องไม่เอามาเป็นประเด็นสำคัญ หรือถ้าจะมีประโยชน์ส่วนตัวประโยชน์พวกพ้องก็จะมีอย่างที่พึงมีปกติ ไม่ใช่มีเป็นพิเศษ มีปกติก็คือว่า ทำมาหากินไป มีเบี้ยประชุม มีเงินเดือนที่เขาให้ก็รับไปแล้วก็ทำงานเพื่อส่วนรวม เพราะบทบาทของนักการเมืองคือ ทำงานเพื่อส่วนรวม นี่คือหลักการ

ผมเชื่อว่ามีผู้บริหารจำนวนมากเขาทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นหลัก ก็จะไปได้ดี แต่ที่เป็นข่าวบ้างก็เป็นธรรมดา เราพัฒนาประชาธิปไตยมาตั้ง 73 ปีเราก็ยังมีปัญหาทุจริตคอรัปชั่น มีปัญหาเรื่องประโยชน์ตนประโยชน์พวกมีอิทธิพลมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ท้องถิ่นก็เหมือนกันต้องให้เวลาพัฒนาไป สิ่งที่จะทำให้พัฒนาดีที่สุดก็คือประชาชน เมื่อประชาชนมีความรู้ความสามารถ มีความฉลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนจะเป็นฐานที่ดีที่สุด และเป็นเกราะที่ดีที่สุด เป็นฐานที่ดีที่สุดที่จะให้เกิดการปกครองที่ดี มีผู้บริหาร มีนักการเมืองที่ดี ขณะเดียวกันก็เป็นเกราะป้องกันสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลทั้งหลาย

ทีนี้การที่ประชาชนจะพัฒนาต้องใช้เวลา ค่อยๆพัฒนาไป ถ้าประชาชนยังไม่พร้อม ยังไม่ฉลาดพอ เช่นยังไม่รู้จักเลือกคนที่ดี หรือไปตัดสินใจโดยอามิสสินจ้าง หรือตัดสินใจโดยดูอะไรตื้นๆง่ายๆแล้วก็ไม่รู้จักวิธีที่จะกำกับดูแลคนที่เป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ถ้าประชาชนยังมีความสามารถไม่ถึงขั้น โอกาสที่จะมีนักการเมืองที่ไม่ดีก็สูง

โอกาสที่จะมีนักการเมืองดีๆทั้งๆที่ประชาชนยังไม่มีความสามารถพอนี่ต้องถือว่าโชคดีมากๆ และก็อาจจะอยู่ไม่ยั่งยืน เพราะความโลภและประโยชน์มันล่อใจคน เหมือนไก่กับไข่ ต้องหวังทั้ง 2 อย่าง หวังว่าจะมีผู้นำที่ดีขึ้น แล้วก็หวังว่าประชาชนมีความสามารถมากขึ้น

หมายความว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็ง มีผู้นำที่ดีจึงไม่พอ ต้องมีส่วนของชุมชนและประชาชนด้วย

ใช่ ต้อง 2 ส่วน เราหวังว่าจะเป็นเหมือนเท้าซ้ายเท้าขวา ซ้ายก้าวทีขวาก้าวที ต้องพยายามทั้งสองทาง พยายามที่จะหาทางทำอย่างไรให้ผู้นำท้องถิ่นก็คือนักการเมืองท้องถิ่นค่อยๆดีขึ้นพร้อมๆกับมีชุมชนและประชาชนที่เข้มแข็งสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้ทั้งสองทาง ซึ่งขณะนี้เราเห็นแนวโน้มว่าน่าจะดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลา  

การเมืองระดับชาติกับท้องถิ่นเท่าที่เห็นมีลักษณะทำงานแข่งกันไหม

ไม่ใช่แข่งกัน แต่อาจจะเป็นเรื่องที่ว่านักการเมืองระดับชาติยังไม่เข้าใจ หรืออาจจะยังไม่อยากให้อำนาจไปที่ท้องถิ่นมากนัก เพราะว่านั่นหมายถึงอำนาจและบทบาทของตนเองลดลง บางคนอาจจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ส่วนกลางทำดีกว่า แต่บางคนก็เป็นห่วงว่า เดี๋ยวประโยชน์จะได้น้อยลงเพราะอำนาจน้อยลงจึงหวงเอาไว้ ก็ต้องหวังว่ารัฐบาลส่วนกลางจะพัฒนาไปมากขึ้นด้วย คือพัฒนาไปถึงขั้นที่จะเห็นว่า บทบาทที่ดีของส่วนกลางก็คือบทบาทในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่เล็กๆ ตำบล อำเภอ จังหวัด น่าจะเป็นของถิ่นจะดีกว่า เราก็หวังว่านักการเมืองของเราจะค่อยๆเห็นแบบนั้นมากขึ้น ซึ่งตามรัฐธรรมนูญและตามกฏหมายกระจายอำนาจบ่งบอกไปในทิศทางนั้น แล้วถ้าท้องถิ่นแสดงตนให้เห็นว่าทำได้ดี ก็จะช่วยให้ส่วนกลางเห็นสัจธรรม เห็นคุณค่าของการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจนหนักแน่นมากขึ้น

เพราะฉะนั้นผมจึงต้องเติมอีกข้อ ทีแรกบอกว่านักการเมืองท้องถิ่น ประชาชนท้องถิ่น คงจะค่อยๆพัฒนาไปและเกื้อกูลเป็นแรงหนุนซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันเราหวังว่าการเมืองระดับชาติจะก้าวหน้าไปในทางที่เห็นความสำคัญและให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมากขึ้น ให้บทบาทท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งมีนโยบายและมาตรการที่จะส่งเสริมสนับสนุนท้องถิ่นและป้องกันแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น

ถ้าเราได้ 3 มุมแบบนี้ คือนักการเมืองท้องถิ่น ประชาชนในท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติพัฒนาแบบเกื้อกูลกันไปเรื่อยๆ เรื่องของท้องถิ่นย่อมจะดีขึ้น พร้อมๆกับสังคมโดยรวมก็จะดีขึ้นๆเรื่อยๆ เพราะถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง จัดการตนเองได้ดี หมายถึงสังคมทั้งสังคมจะมีฐานที่ดี ซึ่งท้องถิ่นก็คือฐานของสังคม

  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นมากมายและมีแนวโน้มเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนเองซึ่งเป็นตัวกำกับการเมืองท้องถิ่นจะเข้มแข็งได้ทันไหมครับ

ที่จริงแล้วกระแสชุมชนเข้มแข็งมาก่อนด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นไปได้ที่วันหนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีนโยบายมาครอบและกำหนดชุมชน ก็เหมือนกับที่เราพัฒนาประชาธิปไตยกันมา เกิดมีรัฐบาลที่ค่อนข้างเอาตัวเองเป็นหลักแล้วไปครอบประชาชน นี่ผมไม่ได้พูดถึงรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่พูดถึงรัฐบาลทั่วไป สิ่งเหล่านี้ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในท้องถิ่น ซึ่งถ้าประชาชนดีก็คงไม่เลือกผู้บริหารที่ไม่ดีเข้าไป สอง ถ้าไม่ดีเขาก็จะมีปฏิกิริยาตอบกลับไปในการกำกับดูแล มันขึ้นอยู่กับพลังถ่วงดุล คือประชาชนมีบทบาทได้ทั้งในทางเกื้อกูลและในทางถ่วงดุล ไม่ใช่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นง่ายๆ ในท้องถิ่นมี อบต. ตั้ง 7,000 แห่ง ย่อมไม่เหมือนกันทั้งหมด เกิดได้ต่างๆนานา

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

23 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/46035

<<< กลับ

กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน (ต่อ)

กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน (ต่อ)


สำหรับนักพัฒนาควรคิดอย่างไรกับสภาพเช่นนี้

สิ่งที่ควรทำ ใครที่มีหน้าที่หรือมีบทบาทในการส่งเสริมความเจริญในการพัฒนาสังคมก็ต้องพยายามค้นหาสิ่งที่ดี และส่งเสริมสิ่งที่ดีให้ได้ปรากฏตัว ไปเกื้อกูลหรือไปก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับส่วนอื่นๆมากขึ้น เช่นนี้ส่วนที่ดีจะมีฐานเข้มแข็งขึ้น ขยายตัวมากขึ้น นี่คือบทบาทของคนที่ทำงานเชิงพัฒนาสังคมหรือพัฒนาระบบ พยายามค้นหาสิ่งที่ดี คือไม่ใช่เที่ยวไปเจาะหาว่ามันเลวที่ไหนบ้างแล้วก็เอามาเป็นข่าว เพราะคนชอบอ่านเรื่องเลวๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์กันไป

คงไม่ผิดหรอก แต่ว่ามันเสียดุล เพราะว่าสิ่งที่ดีๆมีตั้งเยอะ เราเอาสิ่งที่ไม่ดีมาพูด คนก็จะบอกว่า ไม่เห็นดีเลยท้องถิ่นนี้ เพราะฉะนั้นต่อไปก็ไม่ควรส่งเสริมเลย คนก็เสียกำลังใจ ขณะที่สิ่งดีมีตั้งแยอะแต่กลับไม่ปรากฏ ถ้าเราเอาสิ่งที่ดีๆมาส่งเสริมกัน มาทำให้ปรากฏ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน คนที่ทำดีก็มีกำลังใจว่าเราทำดี มีคนเห็นคุณค่าจึงทำมากขึ้นหรือทำให้ดีขึ้นไปอีก คนอื่นๆได้เห็นหรือรู้ก็พยายามทำบ้าง ของดีๆก็จะมีมากขึ้นๆ คนในสังคมก็จะเห็น ว่าเขาทำได้ดี น่าจะส่งเสริมต่อ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลไปบอกว่า ท้องถิ่นยังไม่พร้อมหรอก มีแต่ทุจริตคอรัปชั่น คนก็จะไม่เชื่อ ขณะนี้เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ปรากฎ คนจึงเชื่อตามข้อมูลที่เป็นข่าวซึ่งเสนอโดยคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือคนที่อาจจะให้ข้อมูลโดยจงใจ เช่นไม่อยากให้ท้องถิ่นเติบโตเพราะต้องการรักษาอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง หรือต้องการรักษาอำนาจไว้ที่ราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นแขนขาของส่วนกลาง เช่นรักษาอำนาจไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และข้าราชการส่วนภูมิภาคอื่นๆ ถ้าต้องการอย่างนี้ก็พยายามไปค้นหาว่ามีท้องถิ่นไม่ดีที่ไหนบ้างแล้วเอามาโพนทะนาว่า เห็นไหมเขายังไม่พร้อมเลย ต้องให้ราชการส่วนภูมิภาคดูแลต่อไปหรือดูแลมากขึ้น

นี่คือสิ่งที่นักพัฒนาต้องเข้าใจ และในสิ่งที่รัฐส่วนกลางหรือหน่วยงานราชการต้องเข้าใจคืออะไร

หลักทั่วไปคือ สังคมที่เข้มแข็งต้องมีท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ท้องถิ่นเข้มแข็งมาจากการมีระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นทีดี หมายถึงมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดี และการจัดการส่วนท้องถิ่นนั้นก็จัดการได้ถนัดกว่าอำนาจหรือหน่วยงานที่ไปจากส่วนกลาง เพราะท้องถิ่นเขาเห็นตัวเห็นตน รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ใครเป็นอย่างไร จะทำให้ดีขึ้นต้องทำอย่างไร ให้ได้ผลขนาดไหน จะติดตามประเมินผลก็ชัดเจน ฉะนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นถือว่าเป็นหัวใจในการสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับสังคม ซึ่งจะดีด้วยกันทั้งหมด คือท้องถิ่นดี สังคมทั่วไปดี ประเทศโดยรวมก็จะดี ถ้าท้องถิ่นดี

ฉะนั้นจึงควรสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บอกเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนแล้วว่า ท้องถิ่นสำคัญ ต้องส่งเสริมให้ท้องถิ่นเป็นตัวของตัวเอง จัดการด้วยตัวของตัวเอง หน้าที่รัฐบาลกลางคือการส่งเสริมท้องถิ่น ไม่ใช่ไปทำแทนท้องถิ่นหรือกล่าวหาท้องถิ่น ถ้าเห็นว่าท้องถิ่นมีปัญหาอะไรก็ต้องเข้าไปช่วยแก้ไข หรือช่วยสนับสนุนให้เขาแก้ไข ไม่ใช่เอามาเป็นข้ออ้างในการเก็บอำนาจไว้ ถ้ายิ่งเก็บอำนาจไว้ท้องถิ่นก็จะยิ่งอ่อนแอ พอท้องถิ่นอ่อนแอก็ยิ่งเอามาอ้างว่าเห็นไหมท้องถิ่นอ่อนแอ เลยกลายเป็นวงจรอุบาทว์ ถ้าท้องถิ่นอ่อนแอ ฐานสังคมอ่อนแอ สังคมไทยก็อ่อนแอ จะเกิดประโยชน์ก็เฉพาะคนที่มีอำนาจ คนที่มีอำนาจจะหาประโยชน์โดยมิชอบได้ง่ายถ้าประชาชนอ่อนแอ หรือสังคมอ่อนแอ แต่ถ้าสังคมแข็งแรงคนมีอำนาจจะถูกกำกับดูแลให้ต้องพยายามสร้างและรักษาประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตนหรือของพรรคพวก

ท้องถิ่นเข้มแข็งนั้นมีอยู่แล้วและกำลังขยายมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นเพียงแต่ไปเชียร์คนที่เขาทำดีอยู่แล้ว เผยแพร่ให้มากขึ้นๆ ให้ความชื่นชมกับท้องถิ่นที่ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนดี ผู้นำดี หรือทั้งสองอย่าง ไปค้นหาเขา ไปเชียร์เขา สนับสนุนส่งเสริม ชื่นชม เผยแพร่ แล้วช่วยให้ท้องถิ่นเขาได้เป็นเครือข่ายกัน เพื่อที่เขาจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันจัดการในบางเรื่องที่เป็นประเด็นร่วม

หน่วยงานส่งเสริมต่างๆนี่เขาแยกไหมว่าจะส่งเสริมชุมชนหรือท้องถิ่น

ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนไปด้วยกัน เวลาส่งเสริมท้องถิ่นจะรวมทั้งชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้แยก คือถ้าส่งเสริมอย่างหนึ่งก็ไปช่วยอีกอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็ส่งเสริมควบไปเลย อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ที่เขาทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง เขาร่วมกันทั้ง 3 ส่วน คือชุมชน อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็คือส่วนของราชการส่วนภูมิภาค

หรือถ้ายกระดับขึ้นมาเป็นจังหวัด ขณะนี้มีหลายจังหวัดที่เขาเริ่มบริหารงานแบบบูรณาการ คือส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง มีแผนแม่บทอย่างที่ว่า ส่งเสริมให้ชุมชน อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทำงานร่วมกันแล้วมาบูรณาการกันถึงระดับจังหวัด หน่วยงานของจังหวัดก็ส่งเสริมหรือสนับสนุนหรือเชื่อมประสานนโยบายและมาตรการ หน่วยงานของจังหวัดคือหน่วยงานที่เป็นตัวแทนกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหลายที่ส่วนกลาง มีหลายจังหวัดที่เขาเริ่มทำแบบนี้ ส่วนหนึ่งทำภายใต้ ศตจ. หรือ ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน ที่ทำงานมาได้ 2 ปี มีการจดทะเบียนปัญหาความยากจน มีการแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน เรื่องหนี้สิน เรื่องการทำมาหากินต่างๆ แต่โดยรวมก็คือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

จังหวัดที่พยายามทำเช่นนี้ คือพยายามแก้ปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ โดยประชาชนมีบทบาทสำคัญ เขาได้ให้ความสำคัญกับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วนำมาบูรณาการกันทั้งจังหวัด นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำอยู่แล้วขณะนี้ 13 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค กำลังจะขยายไปให้ครบทุกจังหวัดในที่สุด นี่ก็เป็นเรื่องดีๆที่เกิดขึ้น เป็นการร่วมมือรวมพลังระหว่างประชาชน ราชการส่วนท้องถิ่น และราชการส่วนภูมิภาค

อยากให้อาจารย์ช่วยสรุปปัจจัยที่จะช่วยสร้างนโยบายสาธารณะของท้องถิ่น

นโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่น เริ่มจากการมีเป้าประสงค์ของท้องถิ่น ซึ่งอาจจะสรุปรวมอยู่ในคำว่า ท้องถิ่นอยู่เย็นเป็นสุข หรือท้องถิ่นมีสุขภาวะที่พึงปรารถนา นั่นคือเป้าประสงค์ของท้องถิ่น จากนั้นก็ต้องมีวิธีการที่จะบรรลุเป้าประสงค์ ซึ่งในการที่จะบรรลุเป้าประสงค์นี้ ปัจจัยสำคัญน่าจะได้แก่

ประการแรก ความเข้มแข็ง หรือความสามารถในการเรียนรู้และจัดการพัฒนาตนเองของชุมชนในท้องถิ่น

ประการที่ 2 การรวมตัวเป็นเครือข่ายของชุมชนต่างพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพึ่งพาอาศัยกัน หรือการจัดการร่วมกัน จะช่วยยกระดับความรู้ความสามารถขึ้นไป รวมทั้งแพร่ขยายให้กว้างขวาง

ประการที่ 3 การทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆฝ่ายในท้องถิ่น ได้แก่ ฝ่ายชุมชน ฝ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และฝ่ายราชการส่วนภูมิภาค เป็นสำคัญ การทำงานร่วมกันจะช่วยให้การที่จะตระหนักถึงเป้าประสงค์ คิดหาแนวทางไปสู่เป้าประสงค์ และร่วมกันจัดการไปสู่เป้าประสงค์ สามารถทำได้ดีขึ้นสะดวกขึ้น ซึ่งการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน และกำหนดวิธีการร่วมกัน ก็คือนโยบายสาธารณะของท้องถิ่นนั่นเอง แต่จะแปรรูปมาเป็นคำประกาศนโยบาย แปรรูปมาเป็นข้อบังคับหรือข้อกำหนดหรือข้อบัญญัติของท้องถิ่น หรือแปรรูปมาเป็นมาตรการหรือโครงการพัฒนาซึ่งรวมถึงการใช้งบประมาณต่างๆด้วย

ประการที่ 4 การมีนโยบายและมาตรการจากส่วนกลางที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดสภาพที่กล่าวมาข้างต้น เพราะถ้ามีนโยบายและมาตรการจากส่วนกลางที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เอื้ออำนวยต่อการจัดการพัฒนาตนเองของชุมชนในท้องถิ่น เอื้ออำนวยต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างชุมชนต่างพื้นที่ เอื้ออำนวยต่อการทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆฝ่ายในท้องถิ่น เหล่านี้จะช่วยท้องถิ่นทั้งสิ้น                ถ้ามีองค์ประกอบสำคัญ 4 อย่างนี้ น่าจะช่วยให้การกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่น และความสามารถในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลตามนโยบายเหล่านั้นสามารถทำได้ดีขึ้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

24 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/46105

<<< กลับ

นโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน

นโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน


     (คำอภิปรายในเวทีนโยบายสาธารณะ ว่าด้วยเรื่อง “นโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน” เมื่อ 26 กันยายน 2548 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร จัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ)

                มี 2 เรื่องใหญ่ที่เราได้พูดกัน เรื่องที่ 1 คือ วิธีสร้างชุมชนเข้มแข็ง เรื่องที่ 2 คือวิธีสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน

เรื่องชุมชนเข้มแข็งเป็นอย่างไร จะเกิดขึ้นได้อย่างไร จะไปช่วยกันทำให้มากขึ้นดีขึ้นได้อย่างไร เป็นเรื่องที่พูดกันมาเยอะ และทำกันมามากแล้ว ส่วนการสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน ผมคิดว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ผู้จัดให้ความสำคัญในเวทีนี้เพื่อที่จะนำไปพัฒนาต่อ

                การสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน ควรจะมีองค์ประกอบย่อยอย่างน้อย 4 องค์ประกอบ องค์ประกอบแรกคือ คำว่า “นโยบาย” เรานึกถึงอะไรบ้าง ส่วนที่ 2 ระดับของนโยบายมีแค่ไหน ส่วนที่ 3 วิธีสร้างนโยบายทำอย่างไร และส่วนที่ 4 วิธีบริหารนโยบายเพื่อให้ได้ผลดีอย่างต่อเนื่องควรเป็นอย่างไร

ส่วนแรก องค์ประกอบสำคัญๆของคำว่า นโยบายประกอบด้วยอะไรบ้าง ก็น่าจะมีตั้งแต่ปรัชญาและแนวคิด มีเรื่องทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนา จากนั้นก็เป็นเรื่องกฏหมายและข้อกำหนด มาตรการและโครงการต่างๆ แล้วมาถึงเรื่องการดำเนินการรวมถึงบทบาทของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นคำว่า “นโยบาย” น่าจะหมายถึงสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่เราจะได้ชัดเจน

ส่วนที่สอง ระดับของนโยบาย น่าจะมีทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมา นโยบายจะมาจากองค์กรที่มีอำนาจ องค์กรที่เป็นหลักท้องถิ่น คือ อบต. หรือ เทศบาล เป็นองค์กรที่มีอำนาจ เมื่อมีอำนาจก็ต้องมีนโยบาย

ระดับจังหวัด เป็นจุดที่เราเรียกว่า การบริหารราชการส่วนภูมิภาค มีผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันเรามี อบจ. ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลจังหวัด และในอนาคตเราคาดหมายว่า อบจ. จะเป็นองค์กรที่มีความสำคัญมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันหรืออนาคต อบจ. ต้องเป็นองค์กรที่มีบทบาทกำหนดนโยบาย

                กลุ่มจังหวัด เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สามารถมีนโยบายได้เพราะว่ารัฐบาลชุดนี้พยายามบริหารงานในเชิงกลุ่มจังหวัด และสุดท้ายคือ ระดับประเทศ

เรื่องชุมชนนั้น สมัยนี้ต้องถือว่าไม่ใช่เป็นประเด็นเฉพาะในประเทศ แต่เป็นเรื่องสากลด้วย ฉะนั้นถ้าสามารถมีนโยบายระดับโลกได้ก็ยิ่งดี นั่นคือนโยบายที่ผ่านกลไกขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ หรือองค์กรระดับโลกอื่นๆ อย่างธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก เป็นต้น เพราะนโยบายระดับโลกมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ ดังนั้นถ้านโยบายจะไปให้ถึงที่สุดก็ต้องไปถึงระดับโลกด้วย

จากองค์ประกอบของนโยบาย และระดับของนโยบาย ก็ต้องไปคิดว่า แล้วกระบวนการสร้างนโยบายที่ดีทำอย่างไร นี่คือส่วนที่สาม ในประเด็นนี้ผมเห็นว่าควรมีเวทีการมีส่วนร่วมคิดเห็นตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด ประเทศ และระดับโลก มีการพัฒนาร่วมกัน มีการเรียนรู้ร่วมกันของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อว่าเมื่อได้นโยบายที่ดีแล้ว เวลาปฏิบัติก็จะต้องมีการบริหารนโยบายที่ดี ซึ่งก็คือส่วนสุดท้ายหรือส่วนที่สี่ การบริหารนโยบายที่ดี คือ การทำไป มีการวัดผลไป พัฒนาไป โดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

สิ่งที่ผมได้นำเสนอมาน่าจะเป็นโครงร่างเพื่อให้โครงการพัฒนานโยบายสาธารณะนำไปพิจารณา ถ้าเป็นไปได้ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆที่มีความพยายามจะพัฒนานโยบายทำนองนี้ว่า มีแค่ไหนอย่างไร ซึ่งอาจจะมีความสมบูรณ์มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งถ้าเราได้ศึกษาวิจัยส่วนนั้นก็สามารถจะนำมาเสนอแนะต่อว่าจะเพิ่มเติมตรงไหน เน้นตรงไหน เพื่อที่จะได้นำข้อคิดนั้นๆไปปฏิบัติให้ได้จริงในทุกระดับของการพัฒนานโยบาย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/47072

<<< กลับ

อนาคตนโยบายสาธารณะ เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า

อนาคตนโยบายสาธารณะ เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า


(คำอภิปรายในการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “อนาคตนโยบายสาธารณะ เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” จัดโดย สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ (สพน.) หรือ Pubic Policy Development Office (PPDO) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 19 ธ.ค. 2548 ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพมหานคร)

                การพัฒนานโยบายสาธารณะ มีประเด็นให้พิจารณาได้หลากหลาย โดยปกติเราก็จะเริ่มจากสิ่งที่เห็นชัดๆอย่างน้อย 2 ส่วนคือ ส่วนของกระบวนการ กับ ส่วนของสาระ กล่าวคือ การพิจารณานโยบายสาธารณะไม่ได้สำคัญที่ตัวสาระเท่านั้น แต่สำคัญที่กระบวนการด้วย เช่น กระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการปรึกษาหารือ กระบวนการใช้ปัญญา ใช้ความรู้ เป็นต้น แต่การพัฒนานโยบายสาธารณะ เป็นเรื่องใหญ่และสลับซับซ้อน มีแง่มุมให้พิจารณาได้หลายอย่าง ซึ่งผมจำแนกได้เป็น 6 หมวดด้วยกัน ดังนี้

หมวดที่ 1 บริบทใหญ่ ในการคิดนโยบายสาธารณะ บริบทใหญ่มีความสำคัญ หมายถึงบรรดาปัจจัยทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมาย วัฒนธรรม ทัศนคติ ฝ่ายต่างๆในสังคม ฝ่ายการเมือง ฝ่ายรัฐบาล สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยราชการ กระทรวง กรม องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน นักวิชาการ นักคิด สื่อมวลชน และสื่อต่างประเทศ หรือนานาชาติ เป็นบริบทที่ต้องคำนึงถึงตั้งแต่ต้น แล้วบริบทเหล่านี้อะไรอยู่ตรงไหน มีความสำคัญอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร ทั้งในเชิงเหตุหรือในเชิงผลลัพธ์ กับเรื่องนโยบายสาธารณะ ถ้าได้คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ให้มากพอน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

หมวดที่ 2 การจัดการองค์กร องค์กรที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประดุจเสนาธิการในเรื่องของนโยบายสาธารณะก็คือ สพน. หรือสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ การจัดการองค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่องนโยบายสาธารณะ หน่วยงานนี้สังกัดที่ไหน มีบุคลากรอย่างไร ใช้งบประมาณจากไหน เป็นประเด็นสำคัญ ขณะเดียวกัน จะเกี่ยวกับการจัดการองค์กรที่กว้างออกไปด้วย เป็นต้นว่า เรามีคณะกรรมาธิการต่างๆในรัฐสภา ระบบรัฐสภาไทยยังไม่ค่อยได้มีบทบาทอย่างชัดเจนในเรื่องการกำหนดนโยบายสาธารณะ ต่างกับในบางประเทศที่ระบบรัฐสภามีบทบาทอย่างสำคัญ ตัวอย่างเช่นประเทศสวีเดน จะพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของประเทศ หรือ “สุขภาวะ” ของประชาชน รัฐสภาเขาก็ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น มีผู้แทนจากทุกพรรคการเมือง แล้วดำเนินการโดยให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมสูง ทั้งภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการศึกษาพิจารณาในรูปแบบต่างๆเป็นเวลาถึง 3 ปี หลังจาก 3 ปี จึงสรุปมาเป็นนโยบาย ส่วนหนึ่งของนโยบายคือการออกกฎหมาย และการตั้งหน่วยงาน ซึ่งก็ผ่านรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย จะเห็นได้ว่ากระบวนการของเขาต่างจากประเทศไทย มีระดับความสำคัญต่างกัน พอเขาออกกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพ เขากำหนดเป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพโดยเงื่อนไขสำคัญข้อที่ 1 ระบุว่า บรรดานโยบายสาธารณะทั้งหลายต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงจะช่วยให้ได้นโยบายที่เรียกว่า “Healthy Public Policy” หรือนโยบายที่เอื้อต่อสุขภาวะ ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องนโยบายสาธารณะมีความสลับซับซ้อน เกี่ยวพันในหลายมิติ หลายองค์ประกอบ

หมวดที่ 3 บรรยากาศในสังคม บรรยากาศที่เกี่ยวเนื่องกับบุคลิก ทัศนคติของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้นำ รัฐบาล ข้าราชการ นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน นักปฏิบัติการสังคม ทำให้เกิดบรรยากาศ เกิดความรู้สึก เกิดทัศนคติในสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง เหล่านี้มีความสำคัญต่อกระบวนการและสาระของการกำหนดนโยบายสาธารณะด้วย

หมวดที่ 4 กระบวนการของนโยบายสาธารณะ คุณหมอประเวศพูดถึงกระบวนการทางปัญญา ทางสังคม ทางศีลธรรม ผมเห็นว่าต้องมีกระบวนการทางการเมืองเข้าไปด้วย เพราะนั่นคือ กระบวนการในการตัดสินใจ และกระบวนการการบริหารจัดการหลังจากนั้น

เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจารย์บวรศักดิ์ พูดว่าต้องมีส่วนร่วมที่ดี ที่เหมาะสม ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของการใช้วิจารณญาณอีกเหมือนกันว่าอะไรดีอะไรเหมาะสม ประชาชนมีหลายสถานะ มีส่วนร่วมในฐานะอะไร ในฐานะเจ้าของหรือฐานะลูกค้า ในฐานะผู้ร่วมปฏิบัติหรือในฐานะผู้รับบริการ บางอย่างประชาชนรับบริการแต่บางอย่างร่วมปฏิบัติ บางอย่างอาจรู้สึกว่าเป็นเสมือนลูกค้า แต่โดยรวมแล้วควรถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของสังคม ซึ่งการมีส่วนร่วมในฐานะลูกค้ากับมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของจะต่างกัน ตรงนี้ก็ถือว่ามีความสำคัญคือเรื่องของกระบวนการ

หมวดที่ 5 สาระของนโยบาย ตัวสาระของนโยบายเป็นเรื่องกว้างขวางลึกซึ้ง และซับซ้อนมาก นโยบายมีเยอะไปหมด สาระจะเป็นอย่างไร การพิจารณาสาระควรจะเป็นอย่างไร มีเรื่องของการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า “EIA” ซึ่งเดี่ยวนี้ขยายความมาเป็น “Strategic environmental impact assessment” (SEIA) คือพิจารณาประเด็นที่กว้างมากขึ้น หรืออาจมีการทำ HIAได้แก่ “Health Impact Assessment” ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อความเป็นสุขหรือสุขภาวะของประชาชน ซึ่งถ้าทำแล้วก็จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “HPP” คือ “Healthy Public Policy” จะเห็นได้ว่า ตัวสาระนี้มีมากมายเหลือเกิน เพราะนโยบายนั้นมีหลายระดับด้วย

หมวดสุดท้ายคือ “การบริหารนโยบาย” ตรงนี้อาจรวมไปถึง สิ่งที่ควรเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนหรือทุกมิติ ของนโยบายสาธารณะ นั่นคือ เรามีแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐอยู่ในรัฐธรรมนูญ จะเข้ามาเป็นฐานของนโยบายอย่างไร เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการประกาศนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน มียุทธศาสตร์ที่รัฐบาลประกาศเป็นระยะๆ มีวาระแห่งชาติ และมีมาตรการอีกมากมาย ที่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเริ่มต้นของรัฐบาล และตามมาอีกในการประชุม ครม. ก็อาจมีนโยบายเพิ่มเติม

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดประเด็นในเรื่องของการบริหารนโยบาย จะบริหารอย่างไร จะเกี่ยวพันอย่างไร “สพน.” เข้าไปมีส่วนตรงไหน คงไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่จะเป็นจ้าวแห่งการกำหนดนโยบาย แต่เป็นกลไกหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วกลไกอื่นๆอย่างกระทรวงต่างๆ นี่ก็ควรต้องมีนโยบาย ซึ่งเขามีหน่วยเสนาธิการที่เรียกว่าสำนักนโยบายและแผน ควรมีบทบาทและดำเนินการอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ควรพิจารณา

                นอกจากการมองนโยบายสาธารณะภายใต้ 6 หมวดดังกล่าวมาแล้ว เรายังสามารถพิจารณาเรื่องนโยบายสาธารณะใน 4 มิติ ดังต่อไปนี้

                มิติที่ที่หนึ่ง การจัดหมวดหมู่ของนโยบายสาธารณะ ซึ่งสามารถจัดได้เป็น 4 หมวดใหญ่ ได้แก่

หมวดที่ 1 นโยบายเชิงเศรษฐกิจ เศรษฐกิจหมายความรวมถึงรายได้ การทำมาหากิน ความเป็นอยู่ ปัจจัย 4 การแก้ปัญหาความยากจน เฉพาะการแก้ปัญหาความยากจนก็ถือเป็นนโยบายใหญ่มาก กว้างขวางซับซ้อนมาก เกี่ยวข้องกับหน่วยงานแทบทุกหน่วยงาน และมีพลวัตสูง

หมวดที่ 2 นโยบายด้านสังคม ซึ่งรวมถึงเรื่อง ประชากร การศึกษา สุขภาวะ จิตใจ วัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม สำหรับคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรมจะแยกออกต่างหากไม่ได้ คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม แทรกเข้าไปทุกเรื่อง อยู่ในเรื่องสังคม ในเรื่องเศรษฐกิจ ในเรื่องการเมืองการปกครอง ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ฉะนั้นถ้าเราให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ก็ต้องดูด้วยว่าแทรกเข้าไปในเรื่องต่างๆอย่างไร

หมวดที่ 3 นโยบายด้านการเมืองการปกครอง รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า รัฐบาลต้องมีนโยบายพัฒนาการเมือง ต้องมีแผนพัฒนาการเมือง แต่เรายังไม่ค่อยเห็น คำว่าพัฒนาการเมืองต้องรวมถึงการพัฒนา “ระบบ” การเมืองการปกครอง รวมถึงเรื่องธรรมาภิบาล เรื่องความสุจริต ความโปร่งใส ตลอดจนความมั่นคงยั่งยืนพร้อมกับการ “อภิวัฒน์” ของระบบการเมืองการปกครอง

หมวดที่ 4 นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานคือที่คนสร้างขึ้น สิ่งแวดล้อมคือที่ธรรมชาติสร้าง แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ

มิติที่สอง ผมว่าสำคัญ คือ มิติว่าด้วยการก่อเกิดนโยบาย ในปัจจุบัน แม้ยังไม่คิดเรื่องใหม่ ก็มีนโยบายอยู่แล้วเยอะมาก ถ้า สพน. จะค้นมาดูว่ามีอะไรบ้าง จัดหมวดได้อย่างไร เกาะเกี่ยวกันอย่างไร ทำมาแล้วแบบไหน ได้ผลขนาดไหน แนวโน้มข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าจะพัฒนาหรือบริหารให้ดีขึ้นควรทำอย่างไร จะเห็นว่านโยบายที่มีอยู่อาจจะเพียงพอแล้ว ถ้าทำให้ดีขึ้น โดยไม่ต้องคิดนโยบายใหม่ แต่มุ่งทำนโยบายที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งต้องคิดว่าจะทำอย่างไร จะเปิดโอกาสให้หรือชวนคนมามีส่วนร่วมในนโยบายที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้นและดีขึ้นได้อย่างไร เช่นเรื่องความยากจนนี่นะครับชวนคนมามีส่วนร่วมได้เยอะเลย จะลงไปถึงรากแค่ไหนก็ได้ ฉะนั้นการก่อเกิดนโยบายซึ่งรวมถึงการใช้วิธีสานต่อจากนโยบายที่มีอยู่แล้วนี้ ผมว่าสำคัญมาก

ขณะนี้เราใช้คำว่าวาระแห่งชาติกันมาก ที่ท่านนายกฯหรือรัฐบาลนี้กำหนดไว้แล้วก็มีตั้งหลายเรื่อง วาระแห่งชาติคือ Superนโยบาย หรือนโยบายที่สำคัญมากนั่นเอง ดังนั้นวาระแห่งชาติที่มีอยู่แล้วจึงสำคัญ ขณะเดียวกันก็ยังมีนโยบายสำคัญที่กำลังจะเกิด ได้แก่ แผนฯ 10 เป็นต้น นอกจากนั้นยังอาจมีนโยบายที่คิดระยะยาวออกไป หรือที่คิดใหม่เลย คิดแบบฐานศูนย์ เช่น ต้องการให้ประเทศไทยในอีก 50 ปีเป็นอย่างไร แล้วคิดย้อนกลับมา เป็นนโยบายสำคัญที่จะนำไปสู่สภาพอันพึงปรารถนานั้น นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะมองเรื่องการก่อเกิดนโยบาย

มิติที่สามคือ ระดับของนโยบาย นโยบายไม่ใช่ว่าต้องเป็นระดับชาติอย่างเดียว แต่อาจมีทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น สำหรับประชาชนทั่วไป นโยบายระดับท้องถิ่นสำคัญมาก เราจะทำอย่างไรให้ทั้งกระบวนการและสาระของนโยบายทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ดีขึ้นด้วยประการทั้งปวง นี้เป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะนโยบายระดับท้องถิ่น ควรได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็นอันมากทีเดียว

มิติสุดท้าย มิติที่สี่ คือ การบูรณาการทั้งหมด ให้ผสมกลมกลืนและดำเนินไปได้อย่างดีที่สุด

สรุปแล้ว ที่ผมเสนอมา เป็นทั้งเชิงการตั้งประเด็นและเชิงข้อเสนอแนะบางประการให้กับทาง สพน. สำหรับประเด็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม คุณหมอประเวศได้ให้ความสำคัญมากถึงกระบวนการทางศีลธรรม ศีลธรรมจะเป็นทั้งกระบวนการ และเป็นทั้งเนื้อหาสาระ ถ้าใช้กระบวนการทางศีลธรรมแปลว่า ในกระบวนการเอง มีความโปร่งใส ความสุจริต ความเป็นธรรม ความเคารพในคุณค่าของมนุษย์ เป็นต้น การที่ให้คนเข้ามีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมและครบถ้วนกระบวนความในการกำหนดและบริหารนโยบายสาธารณะ ถือเป็นกระบวนการทางศีลธรรมด้วย เพราะบ่งบอกถึงว่า คนที่เป็นเจ้าของและเกี่ยวข้อง มามีส่วนร่วมกันทั้งหมด ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีบทบาท ได้รับการดูแลด้วยความโปร่งใส ด้วยความใจกว้างที่จะรับฟังทุกฝ่าย และในหลากหลายวิธี เช่น ให้โอกาสมีส่วนร่วมทั้งในห้องและนอกห้อง คือถ้าไม่เปิดโอกาสนอกห้องด้วย คนบางฝ่ายบางส่วนจะรู้สึกอึดอัด กระบวนการที่เป็นศีลธรรม คือ กระบวนการแห่งความถูกต้อง และการอยู่ร่วมกันด้วยดี กระบวนการนโยบายสาธารณะจึงควรเป็นกระบวนการทางศีลธรรมด้วยเสมอ ส่วนศีลธรรมในฐานะเป็นสาระของนโยบายนั้น นโยบายทุกนโยบาย จะมีมิติหรือองค์ประกอบที่ไปเกี่ยวพันกับศีลธรรมทั้งสิ้น เพราะนโยบายสาธารณะที่ดีจะต้องนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งต้องอาศัยศีลธรรมเป็นปัจจัยหลัก ฉะนั้นเรื่องศีลธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เห็นด้วยกับคุณหมอประเวศ

                สำหรับที่พาดพิงถึงศูนย์คุณธรรม ซึ่งผมเป็นประธานอยู่ ขอเรียนว่าศูนย์คุณธรรม หรือเรียกเต็มๆว่า “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม” เป็นหน่วยงานใหม่ เพิ่งเกิดขึ้น เราดำเนินงานโดยพยายามจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมเยอะๆ เช่น เมื่อเร็วๆนี้ได้จัดสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม คนมาร่วมมาก มีความเห็นค่อนข้างอิสระ สรุปเป็นแนวทาง 10 ข้อ ซึ่งได้นำเสนอต่อท่านนายกฯด้วย และท่านนายกฯก็กรุณารับแล้วบอกว่าขอให้ไปทำ Road map ให้ละเอียดขึ้น และถ้ามีอะไรให้ช่วยขอให้บอก ซึ่งต่อมาทางเราได้มีโอกาสเสนอขอให้ท่านนายกฯช่วยสนับสนุน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องสื่อ สื่อของรัฐควรจะมีส่วนช่วยในการสร้างคุณธรรมความดีในสังคม เรื่องที่สองคือ การส่งเสริมการเป็นอาสาสมัคร หรือ “จิตอาสา”ถ้าคนมีจิตอาสาจะคิดในทางดี คิดเพื่อผู้อื่นและเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะเราได้เสนอว่ารัฐบาลควรส่งเสริมให้ข้าราชการเป็นอาสาสมัคร เพราะบทบาทและพฤติกรรมของข้าราชการมีอิทธิพลต่อสังคมมาก ถ้าข้าราชการทำดีจะมีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของสังคมในวงกว้าง คนจะถือเป็นแบบอย่างและคิดดี พูดดี ทำดี กันมากขึ้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

12ก.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/49669

<<< กลับ

การบริการวิชาการแก่ชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง

การบริการวิชาการแก่ชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง


(ปาฐกถาพิเศษ วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2549 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารวิจัยและการศึกษาต่อเนื่องฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

                  เรียนท่านอธิการบดี ท่านคณาจารย์ นักศึกษา ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน ผมควรจะเริ่มด้วยอย่างนี้นะครับ (ตุ๊กตาหัวเราะ) จะเป็นครั้งแรกรึเปล่าไม่ทราบที่ประเทศไทยมีกิจกรรมหัวเราะเพื่อสุขภาพ ในต่างประเทศเขามีมาสักพักหนึ่งแล้ว มีการนัดกันไปในที่กลางแจ้งแล้วก็หัวเราะกันเป็นการใหญ่ สารพัดเทคนิควิธีการในการหัวเราะ ซึ่งสร้างสุขภาพทั้งทางกาย ทางใจ ทางจิตวิญญาณ เพราะการหัวเราะนั้นทำให้ร่างกายเกิดการสูบฉีดโลหิต หลั่งสารที่เรียกว่าสารความสุขออกมา ต้องขอชื่นชมในความริเริ่มที่ดีของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยเฉพาะความริเริ่มในการให้บริการแก่ชุมชน รวมทั้งความมุ่งประสงค์ที่จะให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน หรือในที่นี้ใช้คำว่าชุมชนแข็งแรง

วันนี้เป็นการมานำเสนอผลการดำเนินงานของโครงการต่างๆ ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้ทบทวนประสบการณ์ที่ทำมาแล้วเพื่อเรียนรู้ สรุปบทเรียน ข้อคิด ทั้งในเชิงที่เป็นกำลังใจให้เราทำในสิ่งที่ดีต่อไป และในเชิงการค้นพบสิ่งที่สามารถจะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในปีต่อๆไป นั่นคือเข้าหลักการพัฒนาที่เป็นวงจร อาจจะใช้สูตรที่เรียกว่า PDCA ท่านคงคุ้นอยู่ Plan Do Check Action คือเมื่อได้คิดแล้วนำมาปฏิบัติ ปฏิบัติแล้ววัดผล ประเมินผล จากนั้นนำไปสู่การคิดใหม่เพื่อปรับปรุงพัฒนา อภิวัฒน์ให้ดีขึ้นไปอีก

การเข้าไปสู่พื้นที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

การให้บริการแก่ชุมชนเป็นการเดินเข้าไปสู่พื้นที่ใหม่ที่ท่านคณาจารย์และนักศึกษาอาจจะยังไม่คุ้นเคย สิ่งที่ท่านคุ้นเคยคือการเรียนการสอน การวิจัย แต่การให้บริการวิชาการแก่สังคมหรือแก่ชุมชนเทียบกับการเรียนการสอนและการวิจัย น่าจะถือเป็นพื้นที่ใหม่ ผมจงใจใช้คำว่าพื้นที่ใหม่เพราะนึกไปถึงเรื่องซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ เมื่อวันที่ 4 กันยายน ในที่นี้หลายท่านคงจะรู้จัก Mr.Steve Irwin ที่มีสมญานามว่านักล่าจระเข้ Crocodile Hunter มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เขาเป็นคนที่คุ้นเคยมากกับเรื่องบนบก หรือกึ่งบกกึ่งน้ำก็คือเรื่องของจระเข้ งู สัตว์เลื้อยคลานนี้เขาชำนาญมาก เขาสามารถไปจับจระเข้ ไปจับงู เขาไปให้อาหารจระเข้ตัวใหญ่ด้วยมือข้างหนึ่ง และมืออีกข้างหนึ่งอุ้มลูกอายุไม่ถึงปี แสดงถึงความมั่นใจและต้องการให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องสัตว์เลื้อยคลาย สัตว์ที่ดุร้าย ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้ แต่ครั้งนั้นก็ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางว่าเอาเด็กเล็กๆ ไปเสี่ยงโดยเขาไม่รู้เรื่องด้วย เมื่อวันที่ 4 กันยายน Mr.Steve Irwinเข้าไปในถิ่นที่เขาไม่คุ้นเคย หรือคุ้นเคยน้อยกว่า ก็คือลงไปใต้น้ำ จะไปถ่ายทำสารคดีกับปลากระเบน ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Stingrayด้วยเหตุผลที่อาจจะอธิบายชัดเจนไม่ได้ ปรากฏว่าปลากระเบนซึ่งปกติไม่ทำร้ายใคร เว้นแต่คับขัน ได้เอาเงี่ยงที่ปลายหางแทงเข้าไปที่หน้าอกของ นาย Steve Irwinทะลุถึงหัวใจ Steveดึงออกมา ทำให้บาดแผลเจ็บปวดรุนแรงมาก แล้วก็ทนความเจ็บปวดไม่ไหว เสียชีวิตไป เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ว่าเป็นอุทาหรณ์ว่าเวลาเราเข้าไปในถิ่นที่ไม่คุ้นเคย ไม่ควรประมาท ควรต้องศึกษาสถานการณ์ให้ถ่องแท้ รวมทั้งมีความเคารพยำเกรงในสิ่งที่เราอาจจะไม่รู้ หรือรู้ไม่ถ้วนทั่ว ด้วยความไม่ประมาท เมื่อได้ศึกษาได้เรียนรู้ให้ถ่องแท้ มีความยำเกรงตามสมควรแก่สิ่งที่เราอาจจะยังไม่รู้ มีความไม่ประมาท สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือ การให้ความรัก ความปรารถนาดีต่อสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง พยายามเห็นถึงคุณค่าสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ ทำให้เกิดความชื่นชม ความนับถือ และความเคารพ หรืออย่างน้อยที่สุดก็พึงเคารพในสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นมนุษย์ คน สัตว์ หรือพืช จากนั้นการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง จะเป็นการให้บริการ จะเป็นการเรียนรู้ด้วยกัน วางแผนด้วยกัน จะเป็นการพัฒนาในทางใดทางหนึ่ง จึงจะเกิดขึ้นด้วยความเหมาะสม  ปลอดภัยและเกิดความเจริญวัฒนาร่วมกัน

อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ผมพูดมาถึงหลักการในการที่เข้าไปในถิ่นที่เราไม่คุ้นเคย หรือแม้แต่ในถิ่นซึ่งเราอาจจะคิดว่าเราคุ้นเคย แต่ความรู้นั้นเท่าไหร่ก็ไม่หมด ฉะนั้นการที่มีความยำเกรง มีความไม่ประมาท เอาใจใส่ที่จะศึกษาเรียนรู้ให้ถ่องแท้ ก็คือ การเข้าใจ หรือความ พยายามจะเข้าใจ การมีความรักความปรารถนาดี การเห็นคุณค่า การเคารพ การนับถือ ก็คือ การเข้าถึง และการให้บริการ หรือการมีปฏิสัมพันธ์ ร่วมเรียนรู้ ร่วมพัฒนาด้วยกัน คือการพัฒนา กระผมได้ขออนุญาตนำพระราชดำรัส หรือพระบรมราโชวาทที่ใช้ถ้อยคำว่า “เข้าใจ  เข้าถึง  และพัฒนา”  มาประยุกต์ใช้ทั้งกรณีศึกษาเรื่องของ Mr.Steve Irwin และโยงเข้าสู่เรื่องที่เราจะพูดกันในวันนี้ คือ “การบริการวิชาการแก่ชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง”

  การจัดการดูแลตนเองของชุมชน

ผมอาจจะมีความรู้ไม่มากในเรื่องหลายเรื่องที่ท่านทั้งหลายไปให้บริการ ตามรายการโครงการต่างๆ ที่ท่านทำ หลายโครงการเป็นโครงการที่อาศัยความรู้พิเศษ ความชำนาญพิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเรียนการสอนและการวิจัยของมหาวิทยาลัย แต่ก็มีบางโครงการที่เข้าไปเพื่อให้บริการแก่ชุมชนเป็นการทั่วไปและในภาพรวม เช่นที่อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนในภาพรวม การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนหรือความแข็งแรงของชุมชน เป็นเรื่องที่ผมพอจะมีความรู้ความเข้าใจอยู่พอสมควร เนื่องจากได้เกี่ยวข้องมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี มากบ้างน้อยบ้างไม่ได้เข้มข้นตลอด ในชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้มีพัฒนาการในเรื่องของการดูแลตนเอง จัดการตนเอง พัฒนาตนเอง โดยมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและที่ไม่ใช่ของรัฐเป็นผู้สนับสนุน นับว่ามีเป็นอันมาก ในบทบรรยายที่ผมได้ให้เอกสารแก่ท่านทั้งหลายไปเกี่ยวกับเรื่องจิตสำนึกและระบบคิดในการพัฒนาชุมชน ซึ่งผมได้ไปพูดที่สโมสรโรตารีบางรักเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้พูดถึง คุณประยงค์  รณรงค์ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ซึ่งได้รับรางวัลแม็กไซไซเมื่อ 2 ปีมาแล้ว เป็นผู้นำชุมชนคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลแม็กไซไซ ก่อนหน้านั้นจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับชาติ คุณประยงค์ รณรงค์ เป็นระดับชาวบ้านคนแรก วุฒิการศึกษาเพียง ป.4 แต่ถ้าถามถึงความรู้ความสามารถ ผมคิดว่าเทียบเท่าปริญญาเอกได้ ซึ่งคุณประยงค์ก็ได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์จากหลายมหาวิทยาลัยหลังจากที่ได้รับรางวัลแม็กไซไซ

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วผมได้ร่วมในคณะไปเยี่ยมประเทศภูฏาน ไม่ได้ไปตามเจ้าชายจิ๊กมี แต่ไปตามล่าแนวคิดเรื่อง GNH  Gross National Happiness ความสุขมวลรวมประชาชาติ มีคุณประยงค์ รณรงค์ ไปด้วย ก็ได้เห็นถึงความรู้ความสามารถของคุณประยงค์ และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภูฏาน ในเรื่องการพัฒนาชุมชน โดยให้คุณประยงค์เป็นผู้นำเสนอ และระหว่างเดินทางคุณประยงค์ก็ได้พูดหลายสิ่งหลายอย่างให้คณะได้ฟัง ซึ่งคณะที่ไปมีทั้งแพทย์ ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ จบปริญญาเอกปริญญาโทมากมาย ต่างประทับใจในความรู้ความสามารถของคุณประยงค์ รณรงค์ นั่นเป็นสิ่งสะท้อนอย่างหนึ่งว่าสิ่งที่เรานึกว่าเป็นชาวบ้านหรือว่าเป็นคนท้องถิ่นที่อาจจะมีความรู้น้อยในความหมายของการเรียนรู้แบบตามระบบ แต่ความรู้ความเข้าใจที่เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีบุคคลจำนวนมากที่ได้รับการขนานชื่อว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ได้สะท้อนถึงความรู้ความสามารถของชุมชน หลายชุมชนนับร้อยนับพันขณะนี้ที่สามารถทำแผนพัฒนาชุมชน นั่นคือระบบการจัดการตนเองของชุมชน สามารถเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล จัดระบบข้อมูล นำมาสะท้อนให้เห็นปัญหา โอกาส ศักยภาพในการพัฒนา แล้วทำโครงการพัฒนาโดยเน้นการพึ่งตนเอง ไม่หวังพึ่งคนอื่น แต่ถ้าจะมีการสนับสนุนจากที่อื่นก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่จะพยายามประสานการสนับสนุนให้สอดคล้องต้องกัน

ความเข้มแข็งของชุมชนในชนบทและในเมือง

ชุมชนบางตำบลเขาสามารถที่จะบอกกับหน่วยราชการทั้งหลาย รวมทั้งหน่วยงานวิชาการ หรือหน่วยงานเอกชนว่า ถ้าจะไปสนับสนุนเขาขอให้ไปถามเขาก่อน ให้เขาเห็นชอบก่อน ถ้าจะเอาป้ายไปปัก เขาจะปักให้ แต่เขาจะเลือกว่าปักที่ไหน ถ้าจะไปพบเขา เขาจะนัดวันให้ไปพบ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไป เช่นเดือนหนึ่งเขาจะกำหนดไว้ 2 วัน ใครจะมาให้มาใน 2 วันนี้ หรือให้มาพร้อมกัน นี่คือความสามารถของชุมชนในการจัดการตนเอง เกิดสิ่งที่เรียกว่าแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง หรือแผนชีวิตชุมชน ที่ทำกันเป็นขบวนการ และผู้นำชุมชนขับเคลื่อนขบวนการกันเอง ไม่ใช่หน่วยงานไปขับเคลื่อน ชาวบ้านขับเคลื่อนกันเอง เกิดขึ้นมาในรอบประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา แต่มาทำเข้มข้นประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา คุณประยงค์ รณรงค์ เป็นผู้ริเริ่มที่สำคัญ ซึ่งทำมากว่า 10 ปี มีคนไปค้นพบแล้วนำมาเผยแพร่ ทำให้เกิดการขยายผล แต่ที่สำคัญและขยายผลมากๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ก็คือในช่วงที่ขยายผลด้วยพลังของชุมชนเอง ก่อนหน้านั้นมีความพยายามของหน่วยราชการที่จะไปขยายผลแบบครอบคลุมทั่วประเทศ มีหน่วยงาน 5 หน่วยงานร่วมกัน ส่งวิทยากรไปทั่วประเทศขยายผลครบหมดทุกตำบลทั่วประเทศ ได้ผลเชิงปริมาณแต่ไม่ได้ผลเชิงคุณภาพ อย่างไรก็ตามไม่ได้ถือว่าเสียหายไปหมด ชุมชนที่ฉลาดที่เข้าใจได้นำเอาสิ่งที่ดีมาปะติดปะต่อ ร่วมกำลังกันเป็นเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค และขับเคลื่อนขบวนการกันมาได้ 4 – 5 ปีแล้ว ขณะนี้ได้สามารถทำไปถึงขั้นที่ไปประสานกับทางจังหวัดให้กลายเป็นแผนบูรณาการระดับจังหวัด โดยชุมชนมีบทบาทสำคัญ ได้เริ่มไป 12 จังหวัดเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ขยายไปอีก 30 จังหวัด และคงจะขยายต่อไป

สำหรับในเมืองได้มีขบวนการบ้านมั่นคง เป็นสภาพชุมชนเข้มแข็งแบบคนจนในเมือง ในเมืองนั้น คำว่า “ชุมชน” จะมีความหมายค่อนข้างหลากหลาย การรวมตัวกันเพื่อเป็นขบวนการที่จัดการเรื่องที่อยู่อาศัยให้เรียบร้อย  เรียกว่า บ้านมั่นคง แต่พร้อมๆ กับการจัดการเรื่องที่อยู่อาศัย ได้จัดการเรื่องการใช้ชีวิต การออมทรัพย์ การจัดสวัสดิการ การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และอื่นๆ เรียกว่าเป็นขบวนการชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมือง โดยอาศัยโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พ.อ.ช. เป็นผู้ดำเนินการ  โดยได้งบประมาณจากรัฐ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องจัดงบประมาณอยู่แล้วในการที่จะดูแลชุมชนรายได้น้อยต่างๆ เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะสนับสนุนในเรื่องของสาธารณูปโภค  สาธารณูปการ เช่นเดียวกับที่ทำให้กับประชาชนทั่วไป รวมถึงเช่นคนที่ไปซื้อบ้านเอื้ออาทรที่การเคหะแห่งชาติจัดอยู่ จะได้รับบริการสาธารณูปโภค   สาธารณูปการจากรัฐบาล  ส่วนค่าบ้านนั้นก็ต้องซื้อ  ต้องผ่อนส่ง  เช่นเดียวกัน ชุมชนแออัดในเมือง ชุมชนรายได้น้อย ในส่วนของตัวบ้าน ซึ่งต้องสร้าง ต้องผ่อนส่งเหมือนกัน เพียงแต่มีแหล่งเงินที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้ผ่อนระยะยาว ทำให้เขาสามารถที่จะมีบ้าน มีที่อยู่อาศัยเล็กๆที่พออยู่ได้ สำหรับคนที่ถือว่ารายได้น้อย แต่มิได้แปลว่าเขาได้รับฟรีนะ เขาซื้อ  เขาผ่อนส่ง เขาลงทุน  เหตุนี้เขาจึงต้องมีการออมทรัพย์และจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เพื่อจะทำโครงการให้สหกรณ์เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย  และสมาชิกผ่อนส่งกับสหกรณ์  ถ้าสมาชิกไม่อยู่   ทรัพย์สินนั้นยังเป็นของสหกรณ์ สามารถที่จะจัดการดูแลกันต่อไปได้   นั่นคือเรื่องของการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง ที่ชุมชนจัดการกันเอง  ดูแลกันเอง จะกล่าวว่าสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจหรือยัง คงยัง ยังจะต้องพัฒนาไปอีกมาก แต่ถือว่าได้เริ่มมาอย่างดี และเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม น่าภูมิใจ  ที่ผู้คนที่เราถือว่ามีรายได้น้อย อาจจะเรียกว่ายากจนหรือด้อยโอกาส สามารถที่จะจัดการตนเอง ขับเคลื่อนตนเองได้ดีเช่นนี้

การพัฒนาที่ชุมชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ

วิธีการทำนองนี้สอดคล้องกับแนวทางที่องค์การระหว่างประเทศคือธนาคารโลก พยายามสนับสนุนอยู่ เขาเรียกว่า Community-Driven Development (CDD)ซึ่งต่างจากคำว่า Community-Based Development จะเห็นว่าคำพูดมีความหมาย ทำไมเขาจึงจงใจประดิษฐ์คำพูดนี้ขึ้นมา เพราะเขาเห็นว่าที่แล้วมานั้น เวลามีการพัฒนาชุมชน เริ่มต้นรัฐจะเป็นคนไปจัดการให้ คือชุมชนเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว ปรากฏว่าไม่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนไม่เข้มแข็ง

ต่อมาอีกขั้นหนึ่งเรียกว่า Community-Based Developmentก็คือการพัฒนาที่มีฐานอยู่ที่ชุมชน ถึงแม้จะไปเกี่ยวเอาชุมชนเข้ามาเป็นฐาน เรียกว่า Community-basedก็พบว่ายังโน้มไปในทางที่ชุมชนไม่ได้มีบทบาทสำคัญเพียงพอ ฝ่ายรัฐหรือฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชน หรือในบางกรณีอาจจะเป็นสถาบันการศึกษา ยังมีบทบาทสำคัญ ทำให้การพัฒนาของชุมชนก็ยังไม่ยั่งยืน ไม่แท้จริงและไม่ยั่งยืน เหมือนกับลูกที่เลี้ยงไม่โตทำนองนั้น พ่อแม่ยังดูแลอยู่เรื่อย ต่อมาวิวัฒนาการล่าสุดจึงได้พบว่าถ้าจะให้ชุมชนเข้มแข็ง แข็งแรงจริงๆ เกิดการพัฒนายั่งยืน ต้องให้ชุมชนมีบทบาทสำคัญ เป็นคนคิด เป็นคนศึกษา เป็นคนเรียนรู้ เป็นคนตัดสินใจ เป็นคนทำ รับผลของการทำ ถ้าทำไม่ถูก ทำไม่ดี ก็รับผลไม่ดี แล้วเรียนรู้จากผลที่ไม่ดี นี่คือวิธีที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ถ้าจะเปรียบเทียบก็ไม่ต่างอะไรกับการเลี้ยงลูกที่ต้องให้ล้มบ้าง ต้องให้พบความผิดพลาด แล้วเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือใกล้เข้ามา การจัดการเรียนการสอนที่เราเรียกว่า Child-centered บ้าง Student-centered บ้าง คือการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่มีคนไปแผลงเป็น ควาย Center เป็นการพูดตลกๆ แต่ว่าสะท้อนถึงความไม่เข้าใจของคนจำนวนมากในเรื่องการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่จริงที่นี่เป็นสถาบันการศึกษา คงจะมีความเข้าใจในเรื้องนี้ดี แต่ผมคิดว่าในประเทศไทยโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย  การเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ถ้าจะมีบ้างก็คงเป็นการเริ่มต้น ยังไม่ได้พัฒนาไปมากจนน่าพึงพอใจ แต่เชื่อว่าท่านที่อยู่ในทีนี้คงเข้าใจและพยายามอยู่ เพียงแต่การที่จะเปลี่ยนจากระบบเดิมที่เป็นการเรียนการสอนที่ผู้สอนเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนมาเป็นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ง่าย  เพราะว่าไปติดกับระบบต่างๆ เช่นเดียวกับการพัฒนาชุมชนที่จะเปลี่ยนจากการพัฒนาชุมชนที่ผู้พัฒนาก็คือ หน่วยงานรัฐ หรือว่าหน่วยงานภายนอกเป็นศูนย์กลาง จะเปลี่ยนไปเป็นการพัฒนาที่ประชาชนหรือชุมชนเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนไม่ง่าย แต่ที่ผมเล่าให้ฟังนั้นชี้ให้เห็นว่าในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนไปแล้วอย่างสำคัญ คำว่าอย่างสำคัญแปลว่าทำมาเป็นเวลาพอสมควร อย่างน้อย 4-5 ปี และได้ผลที่สามารถชี้ให้เห็นได้ พาไปดูได้ เขียนออกมาเป็นรายงานได้ และมีรายงานอยู่มากพอสมควร ถ้าท่านสนใจ อย่างน้อยที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีเอกสาร มีเว็บไซต์ มีซีดี ดีวีดีอยู่เยอะมาก ที่จะไปศึกษาเรียนรู้

การให้บริการเพื่อชุมชนแข็งแรง

เมื่อคำนึงถึงความเป็นจริงเช่นนี้ผมคิดว่าการที่จะไปให้บริการแก่ชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง ต้องเน้นคำหลังนี้ว่าเพื่อชุมชนแข็งแรง ถ้าเราจะให้บริการแบบให้พอใจ ให้ชอบใจ เหมือนกับไปลูบหลัง ไปโอบกอด เอาของไปให้ เอาขนมไปให้ เอาเงินไปให้ อย่างนี้ไม่ยาก อย่างนี้เรียกว่าให้บริการที่ผู้ให้แข็งแรง เหมือนอย่างเราเอาเงินไปแจกใคร คนแจกมีความสุขเพราะได้แจก คนรับก็จะมีความสุขตอนรับแจก แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วผู้รับอาจไม่มีความสุขเหลืออยู่ ในขณะที่คนให้ให้แล้วมีความสุขไปเรื่อยๆ เพราะเป็นคนให้ การให้ทำให้มีความสุขซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและควรได้รับการส่งเสริม แต่ผู้รับจะมีความสุขตอนรับ หลังจากนั้นไม่นานความสุขอาจจะหายไป อาจจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาแทน เพราะยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ จัดการตนเองไม่ได้ ก็ต้องมาขอรับใหม่ เพื่อจะมีความสุขใหม่ กลายเป็นเสมือนเสพสิ่งเสพติด ฉะนั้นถ้าเราเน้นพยางค์หลังคือเพื่อชุมชนแข็งแรง การให้บริการแก่ชุมชนจึงต้องใช้หลักเดียวกับที่ท่านใช้ในกรณีการเรียนการสอน ก็คือต้องผู้ให้รับบริการเป็นศูนย์กลาง ผมเชื่อว่าในโครงการที่ท่านทำท่านมีความพยายามอย่างนั้นอยู่แล้ว เป็นต้นว่าไปศึกษาไปเรียนรู้เรื่องของชุมชนในท้องถิ่นที่ท่านจะไปให้บริการ แต่ผมไม่ทราบละเอียดพอว่า ความละเอียดลออ ความแน่วแน่ ความมุ่งมั่นในการที่จะให้ประชาชนหรือชุมชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ถึงกับง่ายนักจากประสบการณ์ที่ผมพบ คือคนให้มีแนวโน้มที่ว่าอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา การที่จะให้ความละเอียดลออและอดทน อดทนที่จะให้ผู้รับบริการได้คิด ได้ไตร่ตรอง ได้ศึกษา ได้พิจารณา แล้วก็มีเวลาที่จะพัฒนาตนเอง อาจจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง ผิดบ้าง เรียนรู้จากความผิด มันใช้เวลา คนให้บริการอาจจะรู้สึกไม่ทันใจ อาจจะถูกกดดันจากการทำโครงการที่มีเงื่อนเวลา จะต้องใช้เงินเมื่อนั้น ต้องทำเวลานี้ ไม่เช่นนั้นโครงการจะล่าช้า จะถือว่าโครงการไม่ดีไม่มีประสิทธิภาพ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับหน่วยราชการเป็นอันมาก เพราะหน่วยราชการจะถูกระบบงบประมาณกดทับอยู่ คุณต้องใช้ คุณต้องทำให้ทันเมื่อนั้นเมื่อนี้ ยิ่งสมัยนี้มีการให้คะแนน เพื่อจะดูว่าผลงานดีแค่ไหน เพื่อจะมาให้รางวัลตอนครึ่งปีหรือปลายปี ต่างๆ นานา ทำให้มีความกดดัน ฉะนั้นโอกาสที่ผู้ให้บริการจะใจร้อนเกินไป เร่งรีบเกินไป รวบรัดเกินไป มีอยู่เสมอ ทั้งๆที่อยากจะพยายามทำในหลักการที่ให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง แม้เชื่อในหลักการ ที่ผมประสบมา เวลาทำจริงโอกาสจะเบี่ยงเบนไปจากหลักการมีอยู่เสมอ ด้วยความบีบคั้นของปัจจัยต่างๆ เช่น ปัจจัยเรื่องแผนงาน ปัจจัยเรื่องงบประมาณ ปัจจัยผู้บังคับบัญชา หรือบางครั้งก็จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตนเอง มีอยู่เหมือนกัน

สามเสาหลักของชุมชนเข้มแข็ง

โดยทั่วไปชุมชนจะแข็งแรง ชุมชนจะเข้มแข็ง ผมคิดว่ามีเสาหลักหรือฐานหลักอยู่ใหญ่ๆ 3 ประการ

                เสาหลักประการแรก ได้แก่ ความดี ความดีนี้รวมถึงความมีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต คิดดี พูดดี ทำดี ถ้าใช้คำของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์  พลเอกเปรมบอกว่า สี่คำ ซื่อสัตย์ สุจริต คุณธรรม จริยธรรม  พลเอกเปรมจะพูดอยู่เรื่อย พูดเสียจนถูกมองว่าไม่เป็นกลาง พูดถึงความดีมากไปไม่เป็นกลาง เป็นกลางนี่ต้องอยู่ตรงกลางระหว่างความดีกับความเลว ซึ่งคุณอานันท์ก็บอกว่าผมไม่เป็นกลาง ผมจะไม่อยู่ตรงกลางระหว่างความดีกับความเลว ผมต้องอยู่ข้างความดี ฉะนั้นพลเอกเปรมจึงบอกว่าต้องซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม จริยธรรม แต่ความดีก็รวมถึงความรัก ความเมตตา กรุณา ความชื่นชมยินดีเวลาคนอื่นเขาทำดี ถ้าถามคนว่าความดีคืออะไร ผมคิดว่าคนจะรู้ จะตอบได้ อย่างน้อยเขาก็รู้ว่ารอบๆ ตัวเขาอะไรดี อะไรไม่ดี เขาบอกได้  ฉะนั้นเสาหลักข้อที่ 1 คือความดี

                เสาหลักข้อที่ 2 การเรียนรู้ ชุมชนจะเข้มแข็งต้องเรียนรู้ เรียนรู้หมายถึงสามารถวิเคราะห์ ศึกษา ค้นหา สรุปความรู้ จัดหมวดหมู่  นำมาคิดพิจารณา ไตร่ตรอง สรุปเป็นข้อคิด สรุปเป็นข้อพึงกระทำ หรือสรุปเป็นแผนงาน นี่คือการเรียนรู้  ที่ชาวบ้านทำแผนแม่บทชุมชน มีการเรียนรู้สูงมาก เพราะเขาไปเก็บข้อมูลเอง ข้อมูลรายได้ ข้อมูลรายจ่าย ข้อมูลทรัพย์สิน หนี้สิน ข้อมูลทรัพยากร  บางครั้งบางแห่งไปไกลถึงทุนทางสังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ เขามีนะ บางแห่งไปไกลถึงขนาดนั้น การไปเก็บข้อมูลแล้วมาคิดวิเคราะห์กัน คือการเรียนรู้ทั้งสิ้น จากการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ แล้วทำเป็นแผนงาน จากนั้นลงมือทำ ทำเสร็จมาปรึกษากันเป็นระยะๆ ว่าเป็นอย่างไรเป็นการเรียนรู้  ที่ตำบลของคุณประยงค์ รณรงค์ จะมีโรงเรียนมังคุด โรงเรียนเงาะ โรงเรียนยาง เขาจะเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และเป็นการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยต้องไปเรียนจากชาวบ้าน เขาทำได้จริง ที่สุพรรณบุรีก็มีโรงเรียนชาวนา มาเรียนกันทุกสัปดาห์ ใครปลูกข้าวแบบไหน  ใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ใช้วิธีการต่างๆ เช่น ปลูกข้าวโดยไม่ต้องไถ หรือว่านำเอาหอยเชอร์รี่มาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ หรือการทดลองปลูกข้าวด้วยวิธีต่างๆ ชาวบ้านเรียนรู้ที่นครสวรรค์ก็มี และบางครั้งชาวบ้านทำแล้วได้ผลดีมาก ขนาดนักวิชาการจากกระทรวงเกษตรบอกไม่เชื่อ แต่พอไปดูแล้วเขาเชื่อ ว่าชาวบ้านทำได้ สรุปได้ว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในระดับชุมชนมีเยอะมาก

                เสาหลักข้อที่ 3 คือการจัดการ การจัดการหมายถึงการที่รู้จักนำเอาปัจจัยต่างๆ กระบวนการต่างๆ มาเข้าระบบ เข้าวิธีการ แล้วทำให้เกิดผลที่พึงปรารถนา การจัดการกับการเรียนรู้จะไปด้วยกัน การจัดการที่ดีต้องมีการเรียนรู้ แต่การจัดการจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงได้ นอกจากเรียนรู้แล้วต้องอาศัยความดีด้วย                 ฉะนั้น 3 เสาหลักนี้  ความดี  การเรียนรู้  และการจัดการ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ชุมชนได้พัฒนาความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นต้นว่า ขาดเรื่องความดี ชุมชนจะไปได้ไม่ไกล ความเสื่อมถอยจะเข้ามา ความยั่งยืนจะไม่เกิด ซึ่งเราได้พบเห็นมากมาย ฉะนั้น ความดี คุณธรรม จริยธรรม ความดีงาม ความมีน้ำใจ ความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดีต่อกัน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จริงไม่ใช่เฉพาะในระดับชุมชน ในระดับสังคมก็เป็นเช่นนั้น สังคมคือชุมชนใหญ่นั่นเอง เราต้องการทั้ง 3 อย่าง คือความดี การเรียนรู้ และการจัดการ ทั้งในสังคมและในกรณีของชุมชน

ชุมชนต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในการไปให้บริการกับชุมชน ผมเองจะระมัดระวังเรื่องถ้อยคำ เพราะว่าถ้อยคำจะสื่อความคิด เช่น คำว่าไปสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ผมจะไม่ใช้ เพราะถ้าเราบอกว่าเราไปสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ก็เหมือนกับว่า อย่างผมจะไปสร้างความเข้มแข็งให้สุขภาพของท่าน ผมทำไม่ได้หรอก ท่านทั้งหลายต้องสร้างสุขภาพขึ้นมาเอง ฉันใด ชุมชนก็ต้องสร้างความเข้มแข็งของเขาขึ้นมาฉันนั้น ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำได้คือไปให้บริการ ไปสนับสนุน ไปอำนวยความสะดวก ไปเอื้ออำนวย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า facilitation ให้ชุมชนได้มีการเรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวเขาเอง นั่นถึงจะเป็นการทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน ฉะนั้นความคิดตรงนี้สำคัญ ในบทบรรยายที่ผมได้ให้ข้อเขียนกับท่านไป ได้พูดถึงจิตสำนึกและระบบคิด ถ้าเรามีจิตสำนึกและระบบคิดอย่างหนึ่ง การคิด การพูด การทำ จะเป็นแบบหนึ่ง ถ้าเรามีจิตสำนึกและระบบคิดในเชิงที่เอาตัวเราเป็นตัวตั้ง นึกว่าชุมชนอ่อนแอ เราจะต้องไปช่วยให้แข็งแรง เวลาเราคิด เราพูด เราทำเป็นโครงการ จะออกมาในแนวสงเคราะห์เป็นหลัก แต่ถ้าจิตสำนึกและระบบคิดของเรามีความลึกซึ้งในเรื่องของความเข้มแข็งของชุมชน  ตามแนวที่ผมได้พูดถึง เวลาเราไปพูดกับชาวบ้าน เราจะมุ่งให้ชาวบ้านได้คิดที่จะพัฒนาตนเองเป็นสำคัญ

ฉะนั้นหวังว่าท่านทั้งหลายที่ไปให้บริการกับชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง จะได้คำนึงถึงปัจจัยสำคัญๆ ที่ผมได้กล่าวมา ที่จะเป็นฐานของความแข็งแรงของชุมชน และความสำคัญของการที่ชุมชนต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ถ้าจะให้บริการ ก็ให้บริการที่ชุมชนเป็นศูนย์กลาง แม้ในกรณีที่ท่านมีความชำนาญพิเศษไป ก็ไม่ได้แปลว่าความชำนาญพิเศษของท่านจะเป็นที่ต้องการทันที หรือกระบวนการที่ชุมชนจะต้องการ อาจจะไม่เหมือนกัน จังหวะเวลาจะต่างๆ ไป หรือการประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตของเขา ที่จะให้เกิดประโยชน์

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/55338

<<< กลับ

ปฏิรูปการคัดหาและแต่งตั้ง กรรมการรัฐวิสาหกิจ

ปฏิรูปการคัดหาและแต่งตั้ง กรรมการรัฐวิสาหกิจ


      (บทความ จาก นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม 2549 เขียนโดย นวพร เรืองสกุล)

คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจถูกยกขึ้นมาทบทวนทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง

กระแสการเปลี่ยนแปลงมักเกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจที่มีข่าวกระเส็นกระสายมาก่อนว่า กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในครั้งที่ผ่านมา เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจที่เพิ่งผ่านพ้นอย่างชัดเจน (เมื่อกล่าวถึงรัฐวิสาหกิจในที่นี้ ใช้คำในความหมายกว้างที่รวมถึงกิจการอื่นๆ ที่ตั้งโดยเงินภาษีอากรของประเทศด้วย)

แต่ไม่ใช่ว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลที่ผ่านพ้นทุกรัฐบาล จะถูกตั้งข้อสงสัย หรือร้อนๆ หนาวๆ กับการเปลี่ยนแปลงกันทุกคน บางคนอยู่ต่อมาด้วยดี ซึ่งก็มักเป็นคนที่มีคุณสมบัติและการวางตัวรวมทั้งได้แสดงบทบาทกรรมการจนเป็นที่ยอมรับของบุคคลที่เกี่ยวข้องในรัฐวิสาหกิจนั้นๆ (อาจจะมีคนที่ปรับเปลี่ยนท่าทีเก่ง สามารถกลมกลืนไปได้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงปนอยู่บ้าง)

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจยกแผง ไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องมีกรรมการรัฐวิสาหกิจบางแห่งต้องถูก “บีบ” ให้ลาออก เมื่อมีการเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง เพราะเมื่อมีความปั่นป่วนในระดับยอดสุดขององค์กร นโยบายภายในของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จะขาดความต่อเนื่อง และบางครั้งทำให้การดำเนินธุรกิจต้องชะงักไปชั่วคราว

แต่ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยกับการรักษาคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีอยู่ในเวลานี้

การตั้งกรรมการแบบพวกใครพวกมัน จะมีความสามารถและความเหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหา และทำให้เกิดการเปลี่ยนล้างบางบ่อยๆ

การตั้งคนรู้จักเป็นกรรมการไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าคนๆ นั้นมีความสามารถจริง ความรู้สึกเป็นคะแนนบวกเสียอีก แต่ถ้าตั้งคนรู้จักที่ไม่มีความรู้ และไม่ใช่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่องานของรัฐบาลที่ไปเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ หรือไม่รู้ว่าจะทำงานให้รัฐวิสาหกิจที่ตั้งเข้าไปได้หรือไม่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนทั่วไปมองเห็นว่าการตั้งนั้นๆ ไม่เหมาะสม

ในเมื่อรัฐบาลกำลังมีความตั้งใจและปฏิรูปการเมือง สังคม และวิธีบริหารเศรษฐกิจกันแล้วใคร่ขอเสนอให้ช่วยกันปฏิรูปวิธีการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเสียด้วย เพื่อให้ได้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบขึ้น และเพื่อให้ไม่ต้องรื้อคณะกรรมการทั้งคณะทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผู้กุมอำนาจการเมือง

ในการคัดหากรรมการในกิจการทั่วไป ต้องคำนึงถึงจำนวนกรรมการที่มาของกรรมการและคุณสมบัติของกรรมการ ประเด็นสำคัญที่แฝงอยู่เบื้องต้นก็คือการจัดส่วนให้ลงตัวระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จึงจะได้การทำงานที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันพอสมควร

คุณสมบัติเบื้องต้นของกรรมการคือ มีความเป็นอิสระจากการครอบงำ โดยที่คณะกรรมการเข้าใจตรงกันว่า ผลงานที่ต้องรับผิดชอบคือ ความเจริญก้าวหน้าของกิจการที่ตนเป็นกรรมการอยู่ กรรมการทุกคนมีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานตามหน้าที่ มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจอย่างดี และมีเวลาเพียงพอในการดูแลการดำเนินธุรกิจ และติดตามการดำเนินงานของบริษัทได้

ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอว่า เราควรจะคิดแบ่งสรรกรรมการในแต่ละรัฐวิสาหกิจเสียใหม่ให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป

จำนวนกรรมการ ปกติจะมีกำหนดไว้ชัดเจน โดยส่วนมากมักจะต้องระวังไม่ให้มากเกินไป (เกินไปมักหมายถึงเกิน 12-15 คน)

ที่มาของกรรมการ กรรมการรัฐวิสาหกิจน่าจะแบ่งที่มาออกเป็นส่วนต่างๆ ได้ ดังนี้

ก. กรรมการที่มาโดยตำแหน่ง ควรจำกัดจำนวนไว้ให้เป็นข้างน้อยมากๆ

ข. กรรมการที่มาโดยการแต่งตั้ง แบ่งเป็นการแต่งตั้งของหัวหน้ารัฐบาล (หรือผู้ที่รัฐบาลมอบหมาย) การแต่งตั้งของรัฐสภา ของพรรคฝ่ายค้าน ฯลฯ ตามแต่จะกำหนด (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้สมาชิกเท่านั้นได้สิทธิเป็นกรรมการ แต่หมายถึงการให้โควต้าสิทธิในการแต่งตั้งกรรมการ) ในการกำหนดส่วนของรัฐบาลนั้น อาจจะเลือกได้อีกหลายวิธี เช่น

(1) การแต่งตั้งบุคคล โดยระบุให้ต้องคัดเลือกมาจากสถาบัน สมาคม หรือองค์กรที่กำหนด ซึ่งผู้แต่งตั้งอาจจะคัดเลือกเอง หรือให้สมาคมต่างๆ เป็นผู้เสนอชื่อมาให้พิจารณาก่อนก็ได้

(2) การแต่งตั้งบุคคลโดยไม่ระบุที่มา แต่ระบุอาชีพ

(3) การแต่งตั้งบุคคลตามความพอใจ

ใน 3 วิธีนี้จะเลือกใช้บางวิธีหรือใช้ทั้ง 3 วิธีก็ได้

ค. การให้บุคคลกลุ่มต่างๆ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภายนอกและภายในองค์กร ได้มีโอกาสเลือกผู้เข้ามาเป็นตัวแทนโดยตรง หรือให้องค์กรเฉพาะด้าน เช่น สมาคมวิชาชีพต่างๆ คัดเลือกแล้วเสนอชื่อตัวแทน

การแต่งตั้งในลักษณะตามข้อ ข.ข้างต้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านเคยทำเมื่อท่านได้รับมอบหมายจากคณะรัฐบาลให้คุมงานการเคหะแห่งชาติ

ท่านเล่าว่าท่านกำหนดเองว่าต้องการ สถาปนิก วิศวกร นักกฎหมาย และนักการเงินอย่างละคน

ท่านได้ขอชื่อมาจากแหล่งชำนาญการเฉพาะ คือสมาคมสถาปนิกสยาม สมาคมวิศวกรรมสถานฯเสนอชื่อสถาปนิกและวิศวกรมา นักกฎหมายขอความร่วมมือไปทางศาล และทางด้านการเงินได้ติดต่อกับธนาคารกรุงเทพฯ ซึ่งท่านรู้จักให้ส่งผู้ชำนาญด้านการเงินไปเป็นกรรมการ

ในการแต่งตั้งครั้งนั้นท่านไม่ได้เลือกตัวบุคคลด้วยตนเองเลยแม้แต่คนเดียว นับว่าเป็นวิธีการแต่งตั้งที่เป็นระบบและพึ่งตัวบุคคลน้อยลง (แม้จะยังพึ่งบ้างคือพึ่งให้เป็นแหล่งให้หาบุคคลให้ ไม่ได้เป็นการวางระบบอย่างเป็นทางการเต็มร้อย)

ที่สำคัญคือได้สร้างวิธีการเลือกที่ไม่ยึดบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นตัวตั้ง

การจัดสัดส่วนที่มาของกรรมการอย่างดี จะสร้างสมดุลด้านอาชีพ ความชำนาญและได้กลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายเข้ามาอยู่ร่วมกัน เป็นการสะท้อนภาพใหญ่ของสังคมได้ดีขึ้น

อายุของกรรมการแต่ละคน กรรมการที่มาโดยตำแหน่ง

(ก) มีวาระตามตำแหน่งที่ตนครองอยู่ กรรมการที่มาจากการแต่งตั้ง

(ข) ควรกำหนดให้เป็นไปตามอายุของผู้แต่งตั้งเข้ามา เช่น ถ้ารัฐบาลเป็นผู้ตั้ง เมื่อพ้น 3 เดือนจากอายุของรัฐบาลชุดนั้น กรรมการที่มาตามโควต้านี้ก็หมดวาระโดยอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างฐานอำนาจข้ามเวลา และไม่ให้ผู้ที่รับช่วงการบริหารงานการเมืองคณะต่อไปเกิดความลำบากใจหรือทำงานไม่ได้ ต้องเกิดการบีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ลาออก หรือเปลี่ยนนอกวาระ สร้างความปั่นป่วนโดยใช่เหตุ ส่วนกรรมการที่มาจากากรเลือกตั้ง

(ค) อยู่ตามวาระที่กำหนด เว้นแต่ที่มาตามการเลือกของคณะกรรมการที่บริหารสมาคมหรือองค์กรใด ให้มาตามวาระของคณะกรรมการสมาคมนั้นๆ

อาจจะเป็นที่น่าเสียดายอยู่บ้าง ถ้ากรรมการที่มาจากการแต่งตั้งตาม (ข) และมาจากสายอาชีพที่ทำงานได้ดีมีประโยชน์ต่อรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริงที่จะต้องหมดวาระไปด้วยตามรัฐบาลที่แต่งตั้งตนเข้ามา แต่ต้องถือว่าเป็นต้นทุนที่ต้องยอมรับ และถ้าหากว่าทำงานได้ผลจริงก็อาจจะได้รับการแต่งตั้งใหม่ก็ได้

อาจจะมีผู้แย้งว่า รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบผลงานทั้งปวง ก็ต้องมีอำนาจเต็มในการตั้งกรรมการทั้งคณะของรัฐวิสาหกิจ ไม่เช่นนั้นก็ทำงานตามนโยบายไม่ได้

การคิดเช่นนั้นเป็นการคิดแบบ “ใครชนะ ก็รวบหัวรวบหางได้ไปหมด” ทั้งๆ ที่บางครั้งรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม และประเทศที่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยากที่จะเกิดกรณีที่คณะรัฐบาลได้เสียงจากประชาชนเพียงพรรคเดียวทั้งประเทศ ระบบประชาธิปไตยคือการบริหารโดยผู้มีเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องดูแลรับฟังเสียงข้างน้อย

การให้ใครก็ตามที่เป็นฝ่ายคุมอำนาจรัฐ ได้คุมรัฐวิสาหกิจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นการสร้างอำนาจเผด็จการที่ขาดการตรวจสอบขึ้นมา

อีกประการหนึ่ง ก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอน และไม่ต่อเนื่องในรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์กรที่มีชีวิตยืนยาวกว่าคณะบุคคลหนึ่งคณะบุคคลใดที่ได้อำนาจรัฐ ซึ่งเปลี่ยนแปลงบ่อยกว่า

ประการสุดท้าย ถ้าฝ่ายใดเข้ามายึดครองอำนาจการเมืองยาวนาน ถ้าไม่มีฝ่ายอื่นๆ เข้าร่วมรับรู้การบริหารด้วย การครอบครองตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจไว้ทั้งหมด ทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ ขาดการเรียนรู้ พรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลครั้งแรกหรือเว้นวรรคการเป็นรัฐบาลมานานต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นผลเสียต่อรัฐวิสาหกิจเอง

เพราะจะต้องมีช่องของการเรียนรู้และตั้งต้นใหม่

การใช้แนวทางตามที่นำเสนอมาโดยย่อๆ ข้างต้น น่าจะทำให้การเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจการเมือง การเทือนถึงรัฐวิสาหกิจแค่ 2 ประเด็นคือ กระเทือนกรรมการตัวแทนฝ่ายการเมือง และกระเทือนนโยบายหลักของรัฐวิสาหกิจเฉพาะส่วน ซึ่งต้องดำเนินไปให้สอดคล้องกับนโยบายใหญ่ของรัฐบาล

ผู้เขียนได้เคยเขียนบางประเด็นไว้ในหนังสือชื่อ “บรรษัทภิบาล เรื่องที่นักลงทุนและกรรมการต้องรู้” เมื่อปี 2545 ขอนำเรื่องเกี่ยวกับสัดส่วนกรรมการของกองทุน CaIPERS ซึ่งเป็นกองทุนบำนาญภาครัฐของมลรัฐแคลิฟอร์เนียมาอ้างอิง ณ ที่นี้

CaIPERS มีกรรมการ 13 คน แยกเป็น 3 กลุ่มคือ (ก) มาโดยตำแหน่ง (ข) มาจากการแต่งตั้ง และ (ค) มาโดยการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือมาจากการเลือกตั้ง มีการกำหนดที่มาอย่างชัดเจนตัวอย่างเช่น

มาโดยตำแหน่งก็คือ ผู้ทำงานด้านการเงิน การคลัง และงานบุคคลของมลรัฐ

มาโดยการแต่งตั้ง จะมีการระบุผู้แต่งตั้งไว้ชัดเจน และระบุด้วยว่าจะต้องตั้งจากองค์กรไหนแปลได้ว่า มีอิสระที่จะแต่งตั้ง แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่กำหนด กรณีข้างต้นระบุให้ผู้ว่าการมลรัฐแต่งตั้งได้ 2 คน จากองค์กรที่กำหนดและจากอาชีพที่กำหนด และให้ประธานสภาผู้แทนร่วมกันอนุกรรมการกฎหมายของรัฐ แต่งตั้งได้ 1 คน

ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก โดยซอยแยกลงไปเพื่อให้ได้ตัวแทนสมาชิกครบทุกกลุ่มที่ผลประโยชน์และความสนใจอาจจะไม่ตรงกัน เพื่อให้ทุกกลุ่มมีส่วนมีเสียงอยู่ในคณะกรรมการ

กรรมการคนที่ 13 มาโดยการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งกึ่งโดยตำแหน่ง เพราะเลือกมาจากคณะกรรมการข้ารัฐการ (เข้าใจว่าคณะกรรมการนี้เป็นส่วนหนึ่งในข้ารัฐการระดับบริหารของมลรัฐ)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการเสนอเบื้องต้นเพื่อให้มีทางเลือกอีกทางหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาที่เผชิญหน้ารัฐวิสาหกิจทุกยุคทุกสมัย

โดยหวังว่าจะเป็นการจุดประกายความคิดเพื่อการถกเถียงและหารูปแบบที่เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป

เมื่อจะนำไปใช้ก็ต้องไม่หวังผลเลิศว่าระบบจะแก้ทุกปัญหาได้ เพราะไม่ว่าคนจะออกแบบระบบดีเพียงใด ก็คนอีกนั่นแหละที่จะเป็นตัวการทำให้ระบบยุ่งเหยิงผิดรูปไปได้

แต่เชื่อว่าการมีแบบแผนน่าจะดีกว่าไม่มี เพราะทำให้บิดเบี้ยวได้น้อยลงและถ้าบิดเบี้ยวไปก็เห็นได้ชัดขึ้น

ไพบูลย์ วั ฒนศิริธรรม

30 ต.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/56474

<<< กลับ

7 ปี..โครงการพัฒนาครูฯ “ให้ชีวิตใหม่..แม่พิมพ์”

7 ปี..โครงการพัฒนาครูฯ “ให้ชีวิตใหม่..แม่พิมพ์”


(บทสัมภาษณ์ของหลายคน เกี่ยวกับโครงการพัฒนาชีวิตครู โดย จุไรรัตน์ พงศาภิชาติ ลงในนสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 3 ธันวาคม 2549 หน้า 7)

“โครงการพัฒนาชีวิตครูฯ เริ่มต้นเมื่อปี 2541 ในสมัยที่นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เนื่องจากขณะนั้นครูมีปัญหาหนี้สินมาก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงเสนอโครงการไปที่รัฐบาลเพื่อหาช่องทางให้ครูที่มีหนี้สินมากมีแหล่งเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และหนี้นอกระบบ ซึ่งเดิมสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) เป็นผู้ดูแล ในฐานะที่ดูแลสวัสดิการครู ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มารับช่วงต่อ”

นายบุญรัตน์ วงศ์ใหญ่ รองปลัด ศธ. ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ปัญหาหนี้สินครู บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการพัฒนาชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษา ศธ. หลังจากธนาคารออมสิน ได้ควักเงินก้อนหนึ่ง เป็นรางวัลสำหรับพาคณะกรรมการโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ, ประธานเครือข่ายภาคต่างๆ, คณะครู, ผู้บริหาร สกสค., และผู้บริหาร ศธ.กว่า 60 ชีวิต ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเร็วๆ นี้

นายบุญรัตน์แจกแจงว่า เดิมรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยส่วนหนึ่งจัดสรรงบประมาณผ่าน ก.ค. ประมาณ 500 ล้านบาทปล่อยกู้ให้ครู แต่ ศธ.มองว่าคงช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูไม่ได้ เพราะมีหนี้สินเป็นแสนล้านบาท จึงเจรจากับธนาคารออมสิน เนื่องจากนายไพบูลย์เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เพื่อให้มั่นคงและยั่งยืน จึงให้เป็นโครงการระยะยาว แต่ก็มองว่าถ้าปล่อยให้ครูกู้เดี่ยว ครูบางส่วนจะไม่มีวินัยทางการเงิน และไม่มั่นใจว่าจะติดตามหนี้ได้ เพราะออมสินต้องได้ดอกเบี้ยและเงินคืนโดยมีหนี้สูญน้อยที่สุด”

ในที่สุด โครงการพัฒนาชีวิตครูฯจึงเกิดขึ้น โดยให้ครู “กู้ร่วม” และมีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1.ครูต้องดูแลกันเองได้ในระดับหนึ่ง 2.ครูต้องรับผิดชอบร่วมกันอย่างน้อย 5 คนขึ้นไปถึงจะเข้าโครงการได้ เดิมให้ครูกู้ได้ 3 แสนบาท ดอกเบี้ย MLR-1 แต่ถ้ารวมกลุ่มครูที่มี 5 คนขึ้นไป จะกู้ได้คนละ 7 แสนบาท โดยครูในกลุ่มจะค้ำประกันกันเอง เหมือนเป็นการประกันว่าครูที่รวมกลุ่มกันเป็นคนดี รู้แหล่งที่อยู่ รู้ความเป็นมาของครูที่รวมกลุ่ม ไม่มีพฤติกรรมการเล่นการพนัน แต่หากกลุ่มครูเอาหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะกู้ได้คนละ 2 ล้านบาท

“2 ปีที่ผ่านมา ออมสินเห็นว่าครูมีวินัยทางการเงิน หนี้เสียน้อยมาก จึงเห็นว่าน่าจะให้รางวัลกับกลุ่มครู โดยคืนเงินให้ 1% จากยอดหนี้ที่ส่ง ปีที่ผ่านมายอดหนี้ที่ครูส่งคืนถึง 4 หมื่นล้าน ออมสินจึงคืนกลับมา 400 ล้านบาท เพื่อให้รางวัล และเป็นกำลังใจ โดยให้ครูบริหารเงินนี้ แต่ขณะนี้ข้อบังคับยังไม่เรียบร้อย แต่แนวทางที่วางไว้เบื้องต้นคือ จะแบ่ง 70 : 30 โดย 70% จะให้กลุ่มครูไปเลยโดยเอาจำนวนกลุ่มหาร ใครส่งหนี้มากได้สัดส่วนมาก ส่งน้อยได้น้อย โดยเอาเงินไปพัฒนากลุ่ม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กลุ่มร่วมกันคิด อีก 30% จะจัดสรรให้แต่ละจังหวัดซึ่งมีการรวมกลุ่มอำเภอและกลุ่มจังหวัด โดยกลุ่มอำเภอจะจัดสรรให้ 20% ส่วนกลุ่มจังหวัด 5% และให้กับส่วนกลางคือกรุงเทพฯ เพื่อใช้บริหารโครงการอีก 5% แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน”

ปัจจุบันมีครูที่เข้าโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ 8.5 หมื่นคน จากครูที่มีหนี้สินทั้งหมด 1.2 แสนคน มีหนี้รวม 2 แสนล้านบาท เฉลี่ยคนละ 2 ล้านบาท ขณะนี้จะเปิดรับรอบ 2 โดยตั้งแต่เริ่มโครงการมา 7 ปี หนี้สินครูในภาพรวมลดลงประมาณ 30% สภาพครอบครัวครูดีขึ้น จากเดิมที่ครูแต่ละคนถูกหักหนี้ และมีเงินเดือนเหลือ 2-5 พันบาท ขณะนี้หักหนี้แล้วยังมีมากกว่า 1 หมื่นบาทขึ้นไป ส่วนหนี้นอกระบบไม่มีแล้ว เหลือแค่หนี้หลักๆ เฉพาะหนี้ธนาคารออมสิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยเงินกู้จากโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ จะถูกนำไปใช้ 2 ประเภท คือ ปรับโครงสร้างหนี้ และลงทุน

ทั้งนี้ทั้งนั้น จากการสำรวจพบว่า ชีวิตครูมี 3 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงตั้งเนื้อตั้งตัว อายุประมาณ 25-40 ปี จะมีหนี้สินค่อนข้างมาก เพราะครูมักมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน เป็นลูกชาวนา หรือมาจากชนบท ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่มีปัจจัยพื้นฐาน จะซื้อรถจักรยานยนต์ วิทยุ โทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ ไม่มีวินัยในตัวเอง วุฒิภาวะยังไม่ดีเท่าที่ควร และยังมีภาษีสังคม 2.ช่วงอายุ 40-50 ปี เริ่มมีวุฒิภาวะ รู้จักแก้ปัญหาชีวิต ดูแลตัวเองดีขึ้น คือเริ่มเข้าที่เข้าทาง กลุ่มนี้ปัญหาหนี้สินจะดีกว่ากลุ่มแรก และ 3.ช่วงอายุ 50-60 ปี กลุ่มนี้จะดีที่สุด เงินเดือนสูงขึ้น ส่วนหนึ่งลูกเรียนจบ ปัญหาหนี้สินก็ผ่อนคลาย การบริหารจัดการดี จะวางแผนชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ

“ที่ผ่านมา กลุ่ม 2 และ 3 จะเข้าโครงการพัฒนาชีวิตครูฯมากที่สุด แต่เมื่อขยายโครงการรอบ 2 คาดว่าจะมีครูที่มีปัญหาหนี้สินเข้าโครงการอีกมากเพราะเห็นความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ที่ครูบางส่วนไม่เข้าระบบเพราะหนี้เยอะ และไม่มีใครเอาเข้ากลุ่ม เพราะพฤติกรรมไม่ดี ไม่มีวินัยในตัวเอง เล่นการพนัน หรือดื่มเหล้าเป็นประจำ หรืออย่างครูบางคนมีบัตรเครดิต 9-10 ใบ แล้วกดวนคล้ายๆ แชร์แม่ชม้อย กลุ่มครูเหล่านี้จะไม่ได้เข้าโครงการ” ประธานคณะทำงานแก้ปัญหาหนี้สินครูกล่าว

สำหรับปัญหาอุปสรรคในช่วง 7 ปีที่ทำโครงการนั้น นายบุญรัตน์เล่าว่า “มีปัญหาการส่งเงินบ้าง แต่เพื่อนครูในกลุ่มต้องช่วยกันรับผิดชอบ เพราะครูบางคนย้ายที่อยู่ ติดต่อไม่ได้ หรือเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) บางครั้งไม่ส่งเงินตามเวลา ส่งเงินไม่ครบ แต่รวมๆ แล้วก็เป็นเพียงส่วนน้อย ประมาณ 10% เท่านั้น และในปี 2550 ออมสินได้เตรียมเงินให้ครูกู้ในโครงการนี้อีก 4 หมื่นล้านบาท สำหรับครู 1.2 แสนคน”

ส่วนหลักการของโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ เป็นอย่างไรนั้น ลองมาฟัง นางบุษบา ฤทธิ์เรืองนาม ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สายกิจกรรมชุมชน ธนาคารออมสิน บอกว่า หลักการคือให้ครูรวมกลุ่มช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยออมสินมีเงื่อนไขว่าครูต้องมีเงินออม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะตกลงกันเอง เพื่อฝึกนิสัยการออม และต้องออมอย่างสม่ำเสมอ เช่น ถ้าตกลงกันว่าจะออมคนละ 100 บาทต่อเดือน ก็จะต้องออมไม่ต่ำกว่า 100 บาท นอกจากนี้ ต้องปรับพฤติกรรม ลด ละ เลิก อบายมุขทั้งหลาย ก็จะมีเงินออมเหลือ โดยออมสินจะติดตามดูว่าในช่วง 6 เดือนหลัง สามารถทำตามเงื่อนไขได้หรือไม่ ถ้าทำได้ ก็ยื่นเงื่อนไขขอกู้เงิน โดยเพื่อนครูจะรับเข้ากลุ่ม แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่มีใครรับเข้ากลุ่ม โดยออมสินและ สกสค.จะเข้าไปดูด้วยว่ากลุ่มเข้มแข็ง แข็งแรง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันหรือไม่

“ครูที่จะกู้เงินในโครงการนี้ ต้องผ่านการรับรองจากผู้บังคับบัญชาว่าเป็นหนี้จริง โดยธนาคารจะให้กู้ตามจริง เงื่อนไขการกู้คือ กู้ได้ 50 เท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 7 แสนบาท ผ่อนชำระเป็นเวลา 10 ปี แต่ถ้ามีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้กู้คนละ 2 ล้านบาท ผ่อนไม่เกิน 30 ปี แต่อายุต้องไม่เกิน 65 ปี”

สำหรับเงินที่หมุนเวียนอยู่ในโครงการพัฒนาชีวิตครูฯนั้น ผู้แทนธนาคารออมสินบอกว่า “ปัจจุบันมีถึง 5 หมื่นล้านบาท ได้รับชำระหนี้ประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีหนี้สงสัยจะสูญ 0.5% ซึ่งน้อยมาก ส่วนใหญ่เกิดจากครูย้ายที่อยู่ เออร์ลี่รีไทร์ เป็นต้น ซึ่งเพื่อนครูในกลุ่มก็จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยแทน และถ้าปีไหนมีเงินออม ไม่มีหนี้ค้าง ออมสินจะลดให้ 1% สำหรับกลุ่มที่ไม่มีหนี้ค้างและไม่มีปัญหา เพื่อนำเงินไปพัฒนา”

หลังจากฟังที่มาที่ไปของโครงการ รวมทั้งหลักการและเงื่อนไขที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้แล้ว คราวนี้ลองมาฟังฝ่ายปฏิบัติกันดูบ้าง เริ่มจาก นายมานพ ดีมี ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต 1 แจกแจงว่า

“จ.แพร่ นำร่องโครงการพัฒนาชีวิตครูฯมาหลายปี ประสบความสำเร็จอย่างดี ครูบางกลุ่มนำเงินไปทำอาชีพเสริมจึงไม่มีปัญหา โดยเขตพื้นที่ฯมีหน้าที่หักเงิน และแก้ปัญหาให้กับกลุ่มต่างๆ ปัญหาที่ผ่านมาคือ ครูบางคนมีเงินไม่พอหักค่าหนี้ จะขอจ่ายที่หลัง ทางเขตพื้นที่ฯก็ประสานกับออมสินให้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในการบริหารจัดการกันในกลุ่ม เนื่องจากสมาชิกไม่ถูกกัน เช่น การบริหารจัดการเงิน 1% ที่ธนาคารส่งคืน และการจัดสรรปันส่วน ซึ่งครูจะเอาเงินไปกองไว้ และใช้แก้ปัญหากรณีที่ครูบางคนไม่ยอมจ่ายหนี้ ก็เลยเป็นปัญหาต่อ”

ส่วน นายมานิจ สุวรรณจันทร์ ประธานกลุ่มเครือข่ายจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ใน จ.เชียงใหม่ มีทั้งหมด 27 กลุ่ม กลุ่มละ 1 อำเภอ มีครูเข้าโครงการกว่า 3,500 คน ยอดกู้ประมาณ 1.5 พันล้านบาท โดยเครือข่ายฯจะดูแลระบบการกู้ และดูแลด้านนโยบาย ขณะนี้ทั้งจังหวัดมีเงินออมประมาณ 20 ล้านบาท จะออมเดือนละ 100 บาทต่อคน และอีกส่วนเป็นเงินที่ธนาคารคืนให้ถ้าไม่มีเงินค้างชำระ ส่วนหนึ่งจะบริหารในระดับอำเภอ จังหวัด และภาค ซึ่งให้แต่ละกลุ่มดูแลกันเอง โดยมีคณะกรรมการดูแลเงินออม เมื่อใครใช้หนี้หมด ก็จะได้เงินก้อนใหญ่คืน สิ้นปีจะมีเงินปันผลคืนให้ อีกส่วนกันไว้สำหรับข้าราชการที่เออร์ลี่รีไทร์ เพราะ 3 เดือนแรกหลังเออร์ลี่รีไทร์ จะเอาเงินส่วนนี้จ่ายหนี้ให้ก่อน นอกจากนี้ ยังซื้อสลากออมสินเป็นเงิน 8 ล้านบาท เมื่อครบ 3 ปี จะได้ปันผล 8 แสนบาท

“ปัญหาที่เจอคือครูลาออก จึงต้องควบคุมกลไกการลาออก โดยประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะมีข้าราชการส่วนหนึ่งเออร์ลี่ฯ จากเงินเดือน 3 หมื่นบาท จะเหลือ 1.5-1.8 หมื่นบาท ซึ่งไม่พอส่งหนี้ ถ้าไม่ปรับโครงสร้างก่อนจะไม่พอจ่าย ก็ให้เอาเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มาจ่ายเพื่อปรับโครงสร้างก่อน แต่ครูบางคนไม่ยอม จึงเกิดปัญหากับสมาชิกในกลุ่ม”

ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ ธีระวรรณสาร ประธานกลุ่มเครือข่ายจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า เป็นโชคดีที่สมุทรปราการเป็นจังหวัดเดียวในประเทศที่ทำเรื่องการจัดการความรู้ในโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ ทำให้ได้แนวทางในการปฏิบัติในโครงการที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ 1.ปรับวิถีชีวิตตัวเอง 2.มีวินัยทางการเงิน 3.ขยัน 4.เอื้ออาทรในกลุ่ม และ 5.ใช้พลังกลุ่มอย่างสร้างสรรค์ โดยนำแนวปฏิบัติใน 5 เรื่องมาจัดการความรู้อีกครั้ง โดยเชิญ 5 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน มาจัดการความรู้ ได้ 3 แนวทาง คือ 1.ลดรายจ่าย 2.เพิ่มรายได้ และ 3.ขยายโอกาส จากนั้น นำความรู้เผยแพร่ให้คณะครู จัดตลาดนัดโครงการพัฒนาชีวิตครู ซึ่งครูใน จ.สมุทรปราการ ได้รับทราบแนวทางและนำไปพัฒนาในแต่ละกลุ่ม โดยทบทวนกับประธานกลุ่มทุกกลุ่ม

“อุปสรรคที่พบคือ บางคนที่เข้าโครงการไม่ยึดแนวทางปฏิบัติ ขอแต่ให้ได้เงิน จึงพยายามสร้างความเข้าใจให้ครูทุกคน อย่างไรก็ตาม หลังทำโครงการนี้ ครูหลายคนจากที่มีปัญหาหนี้สินอย่างมาก หลังใช้ 5 แนวปฏิบัติ 3 แนวทาง ทุกอย่างพัฒนาขึ้น บางคนจากที่เข้าโรงเรียนไม่ได้เพราะมีเจ้าหนี้มารออยู่ ก็เข้าโรงเรียนได้ กระบวนการเรียนการสอนที่เคยมีปัญหาก็ดีขึ้น และจากสมาชิกครูที่เข้าโครงการ 1,500 กว่าคน ขณะนี้เป็นจังหวัดแรกที่ขยายให้ครูเอกชนเข้าโครงการ โดยมีครูเอกชนประมาณ 200 คนเข้าร่วม เพราะผู้บริหารโรงเรียนเอกชนเห็นว่าโครงการนี้แก้ปัญหาหนี้ครูได้จริง

“ส่วนปัญหาที่พบ อาทิ ครูเออร์ลี่รีไทร์ ก็จะดึงลูกของครูคนนั้นมาร่วมกู้ แจ้งให้ทราบถึงปัญหา และเข้าร่วมแก้ปัญหา หรือครูบางคนหนีไปเลยเพราะมีหนี้สินมาก และเป็นครูเด็กๆ เพิ่งเข้ามาได้ปีกว่าๆ สมาชิกในกลุ่มก็ต้องช่วยกันรับผิดชอบ”

ทั้งนี้ นายพงษ์ศักดิ์ฝากทิ้งท้ายไปยังผู้บริหาร ศธ.ว่า อยากให้ “การจัดการความรู้” ทำกันอย่างจริงจัง ถ้า ศธ.เห็นว่าสามารถพัฒนาชีวิตครูได้ ก็ควรถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบุคลากร

ก็ได้แต่หวังว่าโครงการดีๆ อย่างโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ จะช่วยปลดเปลื้องปัญหา “หนี้สินครู” ทำให้แม่พิมพ์ของชาตินับแสนคน มีชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ซึ่งประโยชน์ก็จะตกแก่เยาวชนตาดำๆ นั่นเอง!!

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

7 ธ.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/65735

<<< กลับ

เงินการพนันหวย เพื่อพัฒนาสังคม?

เงินการพนันหวย เพื่อพัฒนาสังคม?


(ข่าวลงในคอลัมน์ “กวนน้ำให้ใส เมื่อน้ำขุ่น ‘สารส้ม’ จึงมากวนให้ใส” ของนสพ.แนวหน้า วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 หน้า 5)

                คุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จะเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาสังคม โดยดึงเอาเงินกำไรจากการขายหวย 2 ตัว 3 ตัว ของสำนักงานกองสลากฯ ซึ่งเป็นการพนัน นำมาช่วยดูแลสังคม เช่นเครื่องอำนวยความสะดวก คนพิการ ผู้สูงอายุ ดูแลปัญหาเด็กและเยาวชน

                ประเมิณว่า กำไรจากการขายหวยบนดิน ปีละมากกว่า 10,000 ล้านบาท น่าจะได้มาใส่กองทุนฯ ปีละสัก 5,000 ล้านบาท

                แนวคิดนี้ เทียบเคียงมาจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริสุขภาพ (สสส.) ที่นำเงินจากภาษีเหล้าและบุหรี่มาตั้งเป็นกองทุนดำเนินการด้านสุขภาพ

                วิธีคิด คือ เมื่อเหล้ากับบุหรี่เป็นตัวทำลายสุขภาพ ก็เลยต้องเอารายได้ที่ได้มาจากเหล้ากับบุหรี่นั่นแหละ มาช่วยในด้านการเสริมสร้างสุขภาพ เช่นเดียวกัน เมื่อหวยเป็นการทำลายความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาสังคม ก็เลยจะต้องนำเงินรายได้จากหวยนั่นเองมาช่วยในการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                ถามว่า วิธีคิดแบบนี้ ผิดหรือไม่ ?

                ตอบว่า ไม่ผิด

                ถามว่า เห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่อยากจะให้กองทุนเพื่อการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาตร์ทางสังคม

                ตอบว่า เห็นด้วยเพียงครึ่งเดียว เพราะเห็นว่าบ้านเราได้ละเลยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มานานแล้ว

                ยิ่งกว่านั้น ในขบวนการพัฒนาสังคม คนที่เข้าอกเข้าใจดีที่สุดและทำงานมาต่อเนื่องยาวนาน ก็คือคุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม นี่แหละ ท่านย่อมเข้าใจดีว่า งานพัฒนาสังคมมีหลายมิติ ซึ่งบางอย่าง หากดำเนินการผ่านกลไกที่เป็นกองทุนในลักษณะดังกล่าว ก็จะเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลดี ยิ่งกว่าการดำเนินการผ่านกลไกราชการปกติ

                ทั้งนี้ กองทุนที่จะตั้ง ก็จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามอย่างแนวคิดที่รัฐมนตรีนำเสนอไว้

                แต่…ยังมีข้อคิดที่ควรพิจารณากันสักหน่อย

               ทำอย่างไรไม่ให้เหมือนยุครัฐบาลทักษิณ ที่เอาเงินหวยบนดินไปให้เป็นทุนการศึกษาเด็กๆ

               ทำให้เกิดค่านิยมสับสน เพราะการศึกษาเป็นของดี ส่วนการเล่นพนันหวยเป็นของไม่ดี แต่การพนันหวยกลับเป็นผู้มีพระคุณต่อการศึกษา คนเล่นหวยและเจ้ามือหวยก็ทวงบุญคุณเอากับสังคมได้ว่า เป็นการพนันหวยบนดินที่มีประโยชน์ต่อสังคม

                เด็กที่ได้รับทุนการศึกษา ก็สับสน เพราะโดยจิตสำนึกและการอบรมคุณธรรม ศีลธรรม ก็ได้รับการปลูกฝังว่าการพนันเป็นของไม่ดี เป็นอบายมุขอันเป็นหนทางสู่หายนะ แต่ในชีวิตจริงตนเองกลับเป็นหนี้บุญคุณกับหวยบนดิน !

                จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดภาพที่ว่า การเล่นพนันหวยบนดิน หรือคนเล่นพนันหวยบนดิน หรือสำนักงานกองสลากฯ เป็นผู้มีพระคุณต่องานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ?

                ไม่ให้เกิดภาพว่า ประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนพัฒนาสังคมฯ ต้องเป็นหนี้บุญคุณของหวยบนดิน ?

                แม้การจะออกกฎหมายฯ ผ่านสภานิติบัญญัติ ในลักษณะคล้าย ๆ กับกองทุน สสส. ก็ช่วยให้เกิดความละมุนละม่อมส่วนหนึ่ง เพราะสามารถอธิบายได้ว่าเป็นกฎหมายที่ผ่านจากฝ่ายนิติบัญญัติ อุปโลกน์ว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ถือว่าการเอาเงินหวยบนดินมาใช้เป็นเงินกองทุนฯ เป็นการทำตามกฎหมายบ้านเมือง ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมือง หรือนโยบายของพรรคการเมือง

                แต่ก็ยังไม่อาจหลบเลี่ยงข้อเท็จจริงได้อยู่ดีว่า เงินที่จะเอามาตั้งเป็นกองทุนพัฒนาสังคมฯ นั้น นำมาจากเงินการพนันหวยบนดิน ที่ถือว่าเป็น “เงินบาป”

                “หวยบนดิน” ก็เอาไปคุยเป็นบุญคุณได้ว่า ถ้าไม่มีฉัน ก็ไม่มีกองทุนพัฒนาสังคมฯ !

                วิธีที่ดีที่สุด งดงามที่สุด แนบเนียนที่สุด มีอยู่แล้ว และใช้กันมายาวนาน คือ วิธีการงบประมาณแผ่นดินตามปกติ นั่นเอง

                หากเห็นว่า กองทุนพัฒนาสังคมฯ เป็นเรื่องที่ดี ควรจะทำ  รัฐบาลก็น่าจะจัดสรรเงินให้ผ่านกระบวนการงบประมาณแผ่นดินรายปี โดยเงินที่จัดสรรให้กองทุนดังกล่าว  ก็คือเงินภาษีอากรของคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้  ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตร ฯลฯ  และรายได้ของรัฐจากกิจการต่าง ๆ รวมถึงเงินรายได้จากหวยบนดินด้วย

                วิธีนี้ “หวยบนดิน” จะไม่มีความชอบธรรมใดๆ ไม่สามารถทวงบุญคุณเอาจากการทำงานพัฒนาสังคมดังกล่าวได้เลย เพราะเงินทุนที่นำมาใช้ในกองทุนฯ ไม่ใช่เงินหวยบนดินโดยตรง แต่เป็นเงินของประชาชนทั้งประเทศ ที่ผ่านการคลุกเคล้าผสมผสานเงินภาษีอากรและรายได้ของรัฐจากิการต่างๆ เข้าด้วยกัน

                ในอนาคต ต่อให้ไม่มี “หวยบนดิน” ซึ่งเป็นการพนัน เป็นอบายมุขแต่ก็ยังจะมี “กองทุนพัฒนาสังคม”  ซึ่งเป็นการทำเรื่องดี ๆ เป็นหนทางของการพัฒนาสังคม ได้ต่อไป

                “หวยบนดิน” จะอ้างไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีฉัน ก็ไม่มีกองทุนพัฒนาสังคมฯ ตรงกันข้าม เราคนไทยจะได้พูดได้เต็มปากว่า ถึงไม่มีหวย ไม่มีอบายมุข ไม่มีสิ่งเสื่อมทรามทั้งหลาย เราก็ยังสามารถทำสิ่งที่ดีงามขึ้นมาได้ในสังคมของเรา

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 ธ.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/68729

<<< กลับ

‘อเนก นาคะบุตร’ กับภารกิจสลาย คลื่นใต้น้ำ ภาคสังคม

‘อเนก นาคะบุตร’ กับภารกิจสลาย คลื่นใต้น้ำ ภาคสังคม


“สังคมไทยกำลังอยู่ใน ภาวะเสี้ยนยา ยาตัวนี้ก็คือนโยบายประชานิยม ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่ให้ อนาคตจะเกิดการเรียกร้องครั้งใหญ่หรือคลื่นใต้น้ำ ภาคสังคม เป็นระเบิดที่รัฐบาลชุดที่แล้ววางไว้ ซึ่งอาจระเบิดขึ้นในเร็วๆ นี้

(ข่าวลงใน นสพ.โพสต์ทูเดย์ โดย นันทยา วรเพชรายุทธ ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 หน้า 9)

การปฏิรูปสังคมไทยนับว่าหนึ่งในวาระสำคัญของรัฐบาลที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปฏิรูประบบการเมือง  โดยเฉพาะการจัดการให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่สังคมที่สามารถอยู่เย็นเป็นสุดร่วมกัน  และเพื่อไม่ให้การกำหนดทิศทางของสังคมเกิดจากคนในเมืองหลวงหรือรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (พม.)  ที่จะขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวไปสู่ความสำเร็จ  โพสต์ทูเดย์  จึงขอนำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษของ  อเนก  นาคะบุตร  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ  พม.  ที่จะมาให้ทัศนะว่า  พม.จะเดินไปอย่างไรบนเส้นทางปฏิรูปสังคมอันท้าทายต่อจากนี้

พม.จะเดินหน้าปฏิรูปสังคมอย่างไร

ในอดีตพื้นที่ความคิดอยู่ที่กรุงเทพฯ  ขณะที่  76  จังหวัด  เป็นเพียงพื้นที่รับคำสั่ง  ดังนั้น  พม.จะทำหน้าที่เปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนมาเป็นผู้กำหนดแผนแม่บทพัฒนาสังคม  เช่น  เวทีเสวนาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมที่เชิญตัวแทนจากทุก  76  จังหวัดมาร่วม  โดยมีเนื้อหาคือ  การแสดงเจตจำนงที่ต้องการให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ  และทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ  ที่นำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง

การปฏิรูปสังคมครั้งนี้คือการที่มีปัญหาแล้วทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหา  โดยเราจะสร้างพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนเรียนรู้ร่วมกันและส่งเสริมให้เกิดการจัดการพัฒนาคนในชุมชน  การทำให้สังคมเข้มแข็งของ  พม.  จึงเป็นการผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างเจตนารมณ์ของบ้านเมือง  ไม่ใช่รอความคาดหวังจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว  เช่นให้ร่วมกันคิดว่า  สังคมอยู่เย็นเป็นสุขในอีก  5-10  ปี  ข้างหน้าเป็นอย่างไร

ใน  1  ปีนี้จะเห็นอะไรบ้าง

2-3  เดือนนี้จะมีแผนแม่บทการพัฒนาสังคมระดับประเทศที่เกิดจากการระดมความเห็นจากแต่ละจังหวัด  คาดว่าจะเสร็จในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์  รวมทั้งจะส่งเสริมให้สังคมหันมาดูแลผู้ถูกทอดทิ้งให้มากขึ้นในทุกชุมชน  นอกจากนี้ต้องจัดระบบวางแผนเศรษฐกิจพอเพียงในทุกชุมชนทั่วประเทศ  โดยมีแผนการเงินการคลังร่วมกัน  ระหว่าง  ท้องถิ่น  ภาคธุรกิจ  รัฐบาลกลาง  เพื่อไปปรับระบบเศรษฐกิจและวิธีคิดเรื่องการบริโภคและแนวทางการผลิต  หวังว่าจะลดคลื่นใต้น้ำได้จำนวนหนึ่งด้วยการทำให้สังคมแข็งแรง

จากนั้นในเดือนเมษายนจะเริ่มเสนอ  พ.ร.บ.ชุมชนท้องถิ่นเข้าสภารวมถึง  พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม  พ.ร.บ.เศรษฐกิจพอเพียง  และ  พ.ร.บ.ส่งเสริมเด็ก  ครอบครัว  และเยาวชน  โดยอาจมีการต้องกองทุนช่วยเหลือสังคมต่างๆ  ซึ่งมีความคิดที่จะนำเงินสลากกินแบ่งมาช่วยและสุดท้าย  คาดว่า  ใน  1  ปี  น่าจะสามารถปรับโครงสร้างทางสังคมได้ ประมาณ  20  จังหวัด

เมื่อประชาชนได้เงินหรือสิ่งของมาง่ายๆ  จึงเกิดภาวการณ์ติดค่านิยมบริโภคแบบใหม่ที่เลิกยาก  เช่น  ค่านิยม  ขาวสวยหมวยอึ๋ม  ถ้าไม่ขาวก็ไม่สวย  สังคมถูกล้างสมองด้วยการบริโภคขนานใหญ่  และเป็นการพึ่งพิงแนวคิดของตะวันตก  จึงเกิดความรู้สึกปฏิเสธสิ่งที่ตนเองมีอยู่และขอบเขตที่ตนเองสามารถหาได้เองจริงๆ  กลายเป็นต้องพึ่งงบประมาณขนานใหญ่ที่รัฐบาลจัดให้  จึงนำสู่ความขัดแย้งว่า  ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่ให้  อีก  3  เดือนหรืออนาคตข้างหน้าก็จะเกิดการเรียกร้องครั้งใหญ่  หรือคลื่นใต้น้ำภาคสังคมตามมา  เป็นระเบิดที่รัฐบาลชุดที่แล้ววางไว้  ซึ่งอาจระเบิดขึ้นในเร็วๆ  นี้

สังคมไทยกำลังอยู่ใน  ภาวะเสี้ยนยา  ยาตัวนี้ก็คือนโยบายประชานิยม  เช่น  เมื่อเด็กติดโทรศัพท์  มือถือ  พ่อแม่ต้องคอยเติมเงินบัตรโทรศัพท์ให้ลูกเช่นเดียวกับรัฐบาลต้องเติมเงินลงในนโยบายประชานิยมเพื่อให้เงินไหล  เพราะถ้าเงินไม่ไหลก็จะเกิดอาการพ่อแม่ไม่รักหนู  เกิดการต่อรองหนักจนกลายเป็นปัญหา  ตอนนี้รัฐบาลกำลังเจอภาวะเสี้ยนยา  ถ้ารัฐบาลไม่ให้ก็เจอเกิดภาวะแตกแยกในสังคม  ซึ่งไม่ใช่จากการเมือง  แต่เป็นภาวะติดการบริโภคนิยม

ที่ผ่านมาการจัดการทุนถูกบิดเบือนให้ผิดวัตถุประสงค์ไป  เนื่องจากชุมชนและองค์กรที่กำกับนโยบายประชานิยมอ่อนแอ  ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบ  ได้ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินผิดเพี้ยน  ตรงนี้ไม่อยากโทษรัฐบาลเก่าฝ่ายเดียว  ประชาชนก็มีส่วนทำให้เกิดความเพี้ยนเช่นกัน

ส่วนต่อมาคือ  ความรู้สึกติดพรรคการเมืองที่นำไปสู่ความขัดแย้ง  ใครอยู่พรรคเสียงข้างมากอย่างพรรคไทยรักไทยจะรู้สึกว่าพรรคนี้สุดยอด  ส่วนพรรคอื่นไม่ดี  ทำให้เกิดระบบเมมเบอร์ชิปของความจงรักภักดีแบบลดแลกแจกแถม  โดยขึ้นอยู่กับผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง  เทียบได้กับการขายตรงที่เจาะลงไปถึงชุมชนฐานราก  ซึ่งทำให้การรวมกลุ่มทางชุมชนอ่อนแอ  เพราะชุมชนอาศัยพึ่งพิงระบบเมมเบอร์ชิปแทนการรวมกลุ่ม

เรียกว่าสภาพรุนแรงถึงขั้นวิกฤต

วิกฤตวันนี้คือวิกฤตสังคม  ข้าราการอ่อนแอเกิดการแปรรูป  (Privatize)  คล้ายกับรัฐวิสาหกิจภายในระบบข้าราชการ  คนที่อยู่ไม่มีแรงจูงใจ  ส่วนหนึ่งคือรัฐบาลชุดที่แล้วบริหารงานแบบไม่ผ่านระบบข้าราชการ  ส่งนโยบายไปถึงผู้รับโดยตรง  เป็นการบริหารแบบซีอีโอ  แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นการดีเพราะข้ามความล่าช้าไป  แต่ก็ทำให้บทบาทของข้าราชการหายไป  ข้าราชการจึงอ่อนแอ

ธรรมชาติของสังคม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ผมคิดว่าไม่พร้อม  แต่เราก็ต้องทำถึงที่สุด  เราพยายามช่วยเหลือคนที่ถูกทอดทิ้งในสังคมก่อน  ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถูกทอดทิ้งเดิม  ผู้ที่ประสบความเดือดร้อน  ผู้ที่ผิดหวังหรือถูกหลอกให้เชื่อในนโยบายประชานิยมที่ผ่านมา  ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจถูกหลอกใช้ให้เป็นคลื่นใต้น้ำ  ให้เกิดความเคลื่อนไหวรุนแรงขึ้นในสังคม  ซึ่งเราต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งความเข้าใจไปที่คนกลุ่มนี้  เรียกว่าเป็นเรื่องบังคับที่ต้องทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากสื่อรวมถึงทุกภาคส่วน

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 ธ.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/68731

<<< กลับ

“หน่ายความมืดมนการเมืองเวทีใหญ่ เสาะหาความหวังใหม่จากชุมชน”

“หน่ายความมืดมนการเมืองเวทีใหญ่ เสาะหาความหวังใหม่จากชุมชน”


(บทความ โดย ภาสกร จำลองราช จากการสัมภาษณ์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ลงในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน 25 ก.พ. 50 หน้า 9)

            สถานการณ์สับสนบ้านเมืองยามนี้ หลายคนรู้สึกเบื่อหน่าย หลายคนรู้สึกพลังในตัวถูกบั่นทอนลงทุกวัน จนแทบไร้ความหวังกับอนาคตของประเทศไทย ยิ่งเห็นบรรดานักการเมืองสารพัดก๊วนขยับตัวกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะพวกหัวหน้าก๊วนสอพลอ (ส.+พ.) ที่ทำท่าจับขั้วมุ่งหน้าแสวงหาอำนาจเพื่อวันข้างหน้า ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านี้เพิ่งร่วมกันกัดกินประเทศจนผุกร่อน แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจ คนพวกนี้ก็ยังกระโดดหาขั้วใหม่อย่างหน้าชื่นตาบาน

            ภาพอนาคตของประเทศไทยเริ่มแจ่มแจ๋วว่าถึงอย่างไรก็คงหนีไม่พ้นนักการเมืองพวกนี้อีกตามเคย ต่อให้ปฏิวัติหรือปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญอีกกี่ครั้ง นักการเมืองเหล่านี้ก็ไม่มีวันตาย

            แล้วประเทศชาติจะสิ้นหวังอย่างนั้นเชียวหรือ???

            นานนับสิบๆ ปีมาแล้ว ผู้อาวุโสซึ่งเป็นที่นับถือของคนในแผ่นดินจำนวนหนึ่ง อาทิ นพ.ประเวศ วะสี ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ศ.เสน่ห์ จามริก ศ.ระพี สาคริก อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ฯลฯ ได้ลงไปเพาะกล้าในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง เพราะต่างเชื่อว่าทางออกของประเทศไม่ได้อยู่ที่นักการเมืองหรือนักบริหารประเทศเพียงไม่กี่คน แต่เป็นเรื่องของชาวบ้านและชุมชนซึ่งเป็นฐานรากที่แท้จริงของแผ่นดิน แม้ประชาชนในเมืองอาจยังมองไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนี้นัก แต่ในกลุ่มคนที่คลุกคลีงานภาคประชาสังคมต่างเห็นถึงความงดงามที่เจริญเติบโต

            “ผมทำงานด้านนี้มานานประมาณ 20 ปี ผมเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ในฐานะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอต้องเข้าไปทำงานที่จังหวัด เมื่อก่อนนายอำเภอจะไม่พอใจ เขาถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ แม้กระทั่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การทำงานของเอ็นจีโออาจจะมองราชการไม่ดีนัก ส่วนราชการก็มองเอ็นจีโอไม่ดีเช่นกัน มองเป็นปฏิปักษ์กัน แต่ตอนนี้การมองแบบไม่เป็นมิตรลดไปเยอะมาก หลายแห่งที่พวกเขาร่วมมือกันดีมาก” อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม หัวเรือใหญ่ของคนทำงานภาคประชาสังคม สะท้อนสถานการณ์ของท้องถิ่น แม้วันนี้ อ.ไพบูลย์จะนั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อีกเก้าอี้หนึ่ง แต่งานที่มุ่งสู่การสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นยังคงเดินหน้าต่อไป

            “หลายจังหวัดส่งเสริมการจัดการความรู้ให้ชาวบ้าน ตั้งแต่หมู่บ้านทำแผนชุมชน รวมกันเป็นแผนตำบลและแผนอำเภอจนกลายเป็นแผนจังหวัด หลายจังหวัดที่ได้ลงพื้นที่ เทศบาลก้าวหน้าขึ้นเยอะมาก”

            แผนชุมชนที่ อ.ไพบูลย์พูดถึง เริ่มขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีก่อน โดยประชาคมในหมู่บ้านต่างร่วมกันคิดร่วมกันวางเป้าหมายด้านต่างๆ ของชุมชนตัวเอง ซึ่งแรกทีเดียวงานด้านนี้เป็นงานใหม่ ทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ แต่เมื่อมีการเรียนรู้ร่วมกัน และได้เห็นประโยชน์ ทำให้ตอนนี้มีการทำแผนชุมชนไปแล้วมากกว่า 2,000 ตำบล

            “คุณหมอประเวศเรียกว่าการปฏิวัติเงียบ ที่ชุมชนท้องถิ่นจัดการกันเองและร่วมกันทำแผนชุมชน ทั้ง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน ไม่ได้กันใครออก แต่ใช้หลักร่วมกันทั้งหมด ซึ่งแนวทางเช่นนี้เกิดมากขึ้น ผมเคยให้เขาไปนำเสนอกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผลออกมาดีมาก” อ.ไพบูลย์พอใจในความตื่นตัวของชุมชน ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมาต่างมีแผนที่จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่ทุกอย่างก็เป็นเพียงแค่แผน เพราะพอเอาเข้าจริงๆ กลับอ้างนู่นอ้างนี่ ผลสุดท้ายอำนาจต่างๆ ยังคงกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลาง

            “ที่เริ่มใช้คำว่ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นอำนาจสำคัญมากอย่างหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว เพียงแต่เรานำเสนอเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ และต้องให้ท้องถิ่นจัดการกันเอง ท้องถิ่นต้องหมายถึง 1.ประชาชน 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขาเป็นกลไกลที่ใกล้ตัวประชาชนที่สุด และเป็นของประชาชนและควบคุมโดยประชาชน ถ้าไม่ดีประชาชนต้องรับผลกรรมเพราะเขาเป็นคนเลือกเองว่าใครไม่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลกลางไปบั่นทอนท้องถิ่นถือว่าเป็นการทำให้เขาอ่อนแอ หรือไปมีอคติกับท้องถิ่น ไม่เชื่อเขาก็เลยไม่สนับสนุน ทำให้เขาอ่อนแอ ผมเชื่อว่าในสามัญสำนึกเขาต้องการทำให้ดี”

            ปัจจุบันมีชุมชนท้องถิ่นหลายแห่ง สามารถเลือกคนที่ตัวเองไว้ใจเข้าไปบริหารงานในองค์กรปกครองที่ใกล้ตัวชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น อบต.หรือเทศบาล เมื่อชาวบ้านมีตัวแทนที่แท้จริงเข้าไปบริหารเชื่อมต่อกับอำนาจรัฐ ทำให้เกิดความคล่องตัวเป็นอย่างมาก เพราะสามารถสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของชุมชนได้

            “ประชาชนท้องถิ่นเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาที่จะให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขเพราะเขาจะดูแลตัวเขาเอง ถ้ามีปัญหาอะไรก็รีบจัดการโดยเร็ว แต่ถ้าคนจัดการอยู่ข้างนอก กว่าจะรู้เรื่องมันนานเกินไป แม้กระทั่งอยู่ที่จังหวัด หรืออยู่ที่กรุงเทพฯ”

            อ.ไพบูลย์บอกว่า เดี๋ยวนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากได้เข้ามาร่วมมือกับภาคสังคมมากขึ้น เพราะเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน เขาทำแล้วได้คะแนนด้วย ยกตัวอย่างเทศบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่ร่วมมือกับภาคประชาสังคม ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการจัดสวัสดิการชุมชน 

            “เทศบาลขอนแก่นก็ก้าวหน้า เขาเปิดโอกาสให้ประชาชนรวมตัวกัน มีสิ่งที่เรียกว่าสภาเมือง เช่นเดียวกับอีกหลายตำบลก็มีสภาประชาชน บางแห่งก็มีสภาหมู่บ้าน พอประชาชนได้ร่วมคิดร่วมทำได้เปิดกว้างออกไป ความคิดดีๆ การกระทำดีๆ เกิดขึ้น เขาเรียกว่าการเมืองสมานฉันท์”

            เมื่อได้มาดูแลกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อ.ไพบูลย์พยายามเชื่อมต่อระหว่างงานท้องถิ่นและกลไกลของกระทรวง โดยประกาศยุทธศาสตร์ 3 ประการคือ 1.สังคมไม่ทอดทิ้งกัน คือช่วยเหลือเกื้อกูลเอื้ออาทรกัน 2.สังคมเข้มแข็งแปลว่าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง 3.สังคมคุณธรรม 

            “ถ้า 3 อย่างนี้ เราส่งเสริมให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น จะช่วยแก้ปัญหาได้มาก กระทรวงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล แต่เราสนับสนุนทุกฝ่ายให้ทำงานร่วมกัน ที่สำคัญต้องให้ประชาชนเป็นคนจัดการ และมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ”

            หลายคนที่กำลังสิ้นหวังและเหม็นเบื่อการเมืองในเวทีใหญ่ ลองเปลี่ยนมุมมองไปหาชุมชนหลายแห่งที่กำลังเจริญงอกงามโดยฝีมือชาวบ้าน เผื่อจะเป็นความหวังและมีแรงใจที่จะช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมือง ซึ่ง “คติชน” จะนำเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเหล่านี้มานำเสนอต่อไป

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

27 ก.พ. 50

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/80945

<<< กลับ