มาตรฐานบริการสาธารณสุข : ควรใช้ความพยายาม “5 ย.”

มาตรฐานบริการสาธารณสุข : ควรใช้ความพยายาม “5 ย.”


(บันทึกความคิดสำหรับการอภิปราย หัวข้อ “มุมมองต่อมาตรฐานบริการสาธารณสุข” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาวิชาการ “การพัฒนาคุณภาพสู่มาตรฐานบริการสาธารณสุข” 20-21 กรกฎาคม 2549 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร จัดโดย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (โดยสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ) กระทรวงสาธารณสุข ผู้ร่วมอภิปรายอื่น คือ นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ (ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสาธารณสุข สปสช.) ร้อยตรีสนธยา มโหทาน (ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขภาคกลาง) และนายคำเดื่อง ภาษี (ปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน) โดยมี นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ (ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย)

พัฒนาการเกี่ยวกับมาตรฐานบริการสาธารณสุข

  • การรักษา ป้องกัน ส่งเสริม/สร้างเสริม
  • การส่งเสริมคุณภาพ / มาตรฐาน ด้วยระบบต่างๆ

–          TQM (Total Quality Management)

–          ISO 9000: 2000

–          HA (Hospital Accreditation)

–          PHSS (Public Health Service Standard)

–          HNQA (Hospital Network Quality Andit)

–          HCQA (Hospital Care Quuality Award)

มาตรฐานบริการสาธารณสุข

  • การได้ตามมาตรฐาน = ผลที่เกิดขึ้นต่อผู้รับบริการ =  มิติเชิงเทคนิค
  • ความพยายามให้ได้ตามมาตรฐาน =มิติเชิงการจัดการ
  • การร่วมกันกำหนดมาตรฐานและดูแลให้ได้ตามมาตรฐาน =มิติเชิงสังคม

ความพยายาม “5 ย.” (5 มิติ) (ข้อเสนอแนะ)

  1. ยลให้ทั่ว :  ปรับปรุงเอกสารคู่มือ จัดหมวดหมู่ให้ดี คำนึงถึงมุมมองของประชาชนผู้รับบริการด้วย การใช้ภาษาให้เข้าใจง่าย รูปแบบให้น่าอ่านน่าสนใจ อาจมีแบบเป็นการ์ตูนด้วย
  2. หยั่งให้ลึก :  เข้าถึงมิติจิตใจ/จิตสำนึก/จิตวิญญาณ ของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
  3. โยงให้กว้าง :  ครอบคลุมถึงการสร้างเสริมสุขภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชนและฝ่ายต่างๆ การประสานพลังพหุภาคี การใช้หลักการพื้นที่เป็นตัวตั้งและประชาชนเป็นศูนย์กลาง การใช้ยุทธศาสตร์ “โรงพยาบาลชุมชนเข้มแข็ง” ผนวกกับ “ชุมชนเข้มแข็ง”
  4. ยกให้สูง :  สามารถอาศัย TQM, ISO 9000: 2000, HA, HNQA, ต่อด้วย PDCA (Plan, Do, Check, Action) และ KM (Knowledge Management) ฯลฯ
  5. ย่างเยื้องให้ไกล :  ดำเนินการอย่างมีพหุปฏิสัมพันธ์ อย่างมีพลวัต อย่างจริงจัง อย่างต่อเนื่อง (ย่างเยื้อง = เดินอย่างมีลีลา)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

8 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/43776

<<< กลับ

 

ข้อเสนอแนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย

ข้อเสนอแนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย


(นำเสนอในการอภิปรายเรื่อง “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่กับจริยธรรมตามแนวธรรมราชา” ร่วมกับ รศ.ดร.โคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการอภิปราย โดย ผศ.ดร. จุมพล พูลภัทรชีวิน ประธานคณะกรรมการกิจการบริหารมหาวิทยาลัย สภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 29 พ.ค. 2549 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ขอสวัสดีท่านอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่รักและเคารพทุกท่าน ผมวนเวียนเข้ามาในจุฬาฯ ทั้งในเชิงกายภาพ คือเข้ามาในสถานที่ และเข้ามาในเชิงจิตใจ เพราะความเกี่ยวพันต่างๆ ค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้เข้ามาอยู่ในเนื้อในเท่าไร คือ ไม่เคยได้มาสอนหรือมาเป็นศิษย์เป็นอาจารย์ หรือกรรมการใดๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ที่วนเวียนเข้ามาเยอะเพราะมาร่วมอภิปรายบ้างมาฟังการประชุมบ้าง มาร่วมกิจกรรมต่างๆ บ้าง ซึ่งหลายกรณีไม่ใช่กิจกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เป็นกิจกรรมขององค์กรอื่นๆ เช่น องค์กรด้านการพัฒนาสังคม หรือเป็นกิจกรรมอื่นๆ ที่องค์กรต่างๆ จัดขึ้นแล้วมาอาศัยบริเวณและสถานที่ของจุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย

ผมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อยู่ฟากโน้น เฝ้ามองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่  นึกว่าจะได้ข้ามฟากมาเรียน ผลสุดท้ายสอบได้เหมือนกันแต่เนื่องจากมีทางเลือก คือ อาจารย์สตางค์เปิดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นมาใหม่ สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ดูแล้วน่าสนใจ เลยขอไปทางโน้น แต่ผมก็ยังมีเพื่อนในจุฬาฯ หลายคนผมรุ่นเดียวกับอาจารย์ดร.สุจิต บุญบงการ ดร. โชคชัย อักษรนันท์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เอ่ยเพียงบางชื่อที่คงเป็นที่รู้จักกัน ฉะนั้น เวลาเข้าที่นี่ รู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง แต่อาจจะไม่รู้จักใครแบบใกล้ชิดมาก เห็นหน้าก็พอรู้จัก ได้พูดได้คุยกันบ้าง ท่านอาจารย์จุมพลก็เพิ่งได้รู้จักเมื่อไม่นานในกิจกรรมเกี่ยวกับทางด้านการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม โดยศูนย์คุณธรรมที่ผมเป็นประธานอยู่

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่กับจริยธรรมตามแนวธรรมราชา

วันนี้หัวข้อ คือ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่กับจริยธรรมตามแนวธรรมราชา ” หัวข้อชวนให้ฉงนว่ากำลังพยายามจะคิดอะไร ทำอะไร

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่” เข้าใจว่านึกถึงการแปลงรูปไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นรูปแบบใหม่หรือไม่ เพราะดูมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ มักจะมีคำถามเหมือนกันว่าเราต่างจากมหาวิทยาลัยของรัฐอย่างไร บางแห่งก็บอกว่าไม่ค่อยต่างเท่าไร ดูวิธีบริหารจัดการ วิธีคิด วิธีทำ ดูจะเดิมๆ เสียมากกว่าแต่อาจจะไม่เชิง 100% เพราะมหาวิทยาลัยในกำกับได้มีนวัตกรรม เช่น การคิดวิธีการบริหาร การจัดโครงสร้าง การจัดระบบงาน พยายามฉีกแนวไปและมีความเป็นอิสระมากขึ้น

ส่วนที่ 2 ของหัวข้อ คือ “จริยธรรมตามแนวธรรมราชา ” ต้องคิดต่อว่ากำลังพยายามจะมุ่งสู่อะไร ผมเองพอได้เห็นคำว่าธรรมราชา ราชาแห่งธรรม แน่นอนเราคงนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อโยงเรื่องธรรมะกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงต้องนึกถึงพระปฐมบรมราชโองการ ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” คำนี้เป็นพระราชปณิธานที่ทรงพลังและมีความหมายอย่างยิ่ง  แต่ความหมายนั้นไม่ใช่เพราะถ้อยคำ  แต่เพราะการปฏิบัติของพระองค์ท่านตลอด 60 ปีที่ผ่านมา  ปีนี้เป็นปีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ก็ยิ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะนึกถึงพระปฐมบรมราชโองการกับแนวทางปฏิบัติที่พระองค์ท่านได้ดำเนินมาอย่างสม่ำเสมอ อย่างแท้จริงอย่างมีความหมาย และเป็นการปฏิบัติที่น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีงามให้กับทั้งประชาชน องค์กร หน่วยงานทั้งหลาย รวมทั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูง

คำว่า “โดยธรรม” หมายถึงอะไร เป็นการประจวบเหมาะมากที่ปีนี้เป็นการครบ “100 ปีชาติกาลพระพุทธทาส” ท่านพุทธทาสได้ให้ความหมายคำว่าธรรมะไว้ 4 ประการ คือ

1. ธรรมชาติ

2. กฎธรรมชาติ

3. การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ

4. ผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ

เป็นความหมายของคำว่าธรรมะที่ผมคิดว่ากระจ่างแจ้ง ลึกซึ้ง และให้คุณค่ามากถ้าจะนำมาคิด นำมาปฏิบัติ ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ให้ความหมายธรรมะอีกข้อหนึ่ง ท่านบอกว่าธรรมะเป็นเทคนิค ท่านใช้ภาษาอังกฤษว่า technique แล้วบอกว่าไม่ใช่ technical และไม่ใช่เทคโนโลยี หมายถึงเป็นเครื่องมือต่างๆ  ผมไม่ถึงกับเข้าใจลึกซึ้งว่า ท่านพุทธทาสใช้คำว่า technique ความละเอียดเป็นอย่างไรแต่พอจะอนุมานได้ว่าหมายถึง “ศิลปะและวิทยาการในการคิด การพูด การทำ”และมีคำที่ท่านพุทธทาสใช้ คือ “technique สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ข้อความหลังนี้สำคัญ ท่านบอกว่า ธรรมะคือ technique หรือศิลปะและวิทยาการในการคิด การพูด การทำ วรรคหลังนี้เป็นของผมเอง แต่วรรคต่อไปเป็นของท่านพุทธทาส คือ สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ฉะนั้นคำว่า “โดยธรรม” จึงเป็นการครองแผ่นดินโดยอาศัยธรรมะเป็นฐาน เป็นแนวทาง เป็นแนวปฏิบัติ แต่ธรรมะนั้นถ้าตีความหมายตามท่านพุทธทาสคือธรรมชาติ กฎธรรมชาติ การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ และผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ หรือเป็น technique เป็นศิลปะและวิทยาการสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ธรรมะ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผมเองคิดง่ายๆ ซึ่งจะถูกต้องหรือไม่ไม่ทราบ  แต่หากเกิดประโยชน์ก็น่าจะใช้ได้ ผมคิดง่ายๆ ว่าธรรมะคือความถูกต้องดีงาม ฉะนั้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปณิธานว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ผมก็ตีความอย่างง่ายๆ ว่าท่านจะปฏิบัติหน้าที่โดยยึดความถูกต้องดีงามเป็นหลัก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม เป็นประโยชน์สุขของมหาชน ของคนทั้งหมด ของคนทั้งสังคม ไม่ใช่ของเฉพาะกลุ่มเฉพาะเหล่า นั่นเป็นสิ่งที่น่าจะอนุมานได้จากพระราชปณิธาน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ตรัสถึงธรรมะหลายต่อหลายครั้ง เป็นร้อยๆ ครั้ง แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงแนะนำคุณธรรมพื้นฐาน 4 ประการสำหรับประชาชนชาวไทย ซึ่งผมคิดว่าประยุกต์มาจากฆราวาสธรรม 4 ของพระพุทธเจ้า นั่นคือสัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ  แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประยุกต์และอธิบายความที่มีความหมายเจาะจงสำหรับสังคมไทยมากขึ้น

สัจจะ หมายถึง ความซื่อสัตย์ ความสุจริต ความจริงใจ

ทมะ  คือ การข่มใจ การที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความอ่อนแอหรือความกดดัน

ขันติ คือ ความอดทน พยายาม พากเพียร

จาคะ คือ การสละประโยชน์ส่วนตน คือ การให้ สละสิ่งที่ไม่ดี สละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

คุณธรรมพื้นฐาน 4 ประการ จึงเป็นธรรมะที่เป็นพื้นฐานและเป็นแนวทางแห่งการดำเนินภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เป็นไปตามพระราชปณิธานว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม”

“เศรษฐกิจพอเพียง”

ประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์มหาศาลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ท่านทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่างและทรงมีพระราชดำรัสเป็นครั้งคราว จนกระทั่งล่าสุดได้มีพระราชดำรัสว่าด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นสูตร เป็นรูปแบบ ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ก็เรียกว่าเป็น โมเดล (Model) แต่พูดถึงโมเดล ก็ไม่อยากจะนึกถึงเช่น “อาจสามารถโมเดล” ซึ่งก็เป็นโมเดลหนึ่ง แต่เป็นโมเดลที่ดีหรือไม่ดีขอให้ท่านพิจารณาเอาเองแล้วกัน

แต่โมเดลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสูตร เป็นรูปแบบ เป็นกระบวนการดำเนินชีวิตและประกอบภารกิจของบุคคล ของครอบครัว ของหน่วยงาน ของชุมชนและของสังคม

เศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีหลักใหญ่ ๆ 5 ประการ บางคนแบ่งเป็น 2 ส่วน บางคนแบ่งเป็น 3 ห่วง 2 เงื่อนไข  คือมีลักษณะ 3 ประการ และมีเงื่อนไข 2 ประการ ท่านองคมนตรี คุณหมอเกษม วัฒนชัย เป็นคนแยกแยะออกมาว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญ เป็น Prerequisite คือ 2 ส่วนหลัง แต่ 3 ส่วนแรกเรียกว่าเป็นลักษณะสำคัญ

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่ ดร. จิรายุ  อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธาน ได้ให้ความหมาย พูดง่ายๆ เขียนเป็น 3 ห่วงเกี่ยวโยงกัน และมี 2 เงื่อนไข

สามห่วงที่ว่านั้น คือ 1) ความพอประมาณ 2) ความมีเหตุผล 3) การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร พอประมาณ คงพอจะเข้าใจ คือไม่สุดโต่ง ไม่มากไป ถ้าแปลเป็นภาษาภาษาทางเศรษฐกิจ ต้องบอกว่าไม่โลภมาก  มีเหตุผลคือมีเหตุมีผล อธิบายได้ เป็นไปตามหลักการที่สมเหตุสมผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรหมายถึงมีกลไก มีเครื่องมือ มีวิธีการที่จะป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นหรือให้เกิดขึ้นแต่น้อย หรือเกิดขึ้นก็สามารถจะรองรับได้ พระองค์ท่านใช้คำว่าที่ดีพอสมควร หมายถึงว่าไม่ใช่จะป้องกันความเสี่ยงได้ 100% ความเสี่ยงย่อมมีอยู่ อันตรายย่อมมีอยู่ รวมทั้งภัยธรรมชาติย่อมมีอยู่ ภัยทางสังคมทางเศรษฐกิจจะมีตลอดเวลา จึงต้องป้องกันความเสี่ยง วิธีป้องกันความเสี่ยงคือความไม่โลภมากนั่นเอง ไม่ขยายจนมากเกินไป ไม่กู้เงินมากเกินไป ไม่ไปทำโครงการที่ยังไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบ คือไม่สมเหตุสมผลนั่นเอง จะเห็นว่า สามลักษณะนี้อธิบายได้ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร

สองเงื่อนไขหรือหลักการอีก 2 ข้อ คือ 1) เงื่อนไขความรู้ ความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง พระองค์ท่านบอกว่ารอบรู้หมายถึง ใช้ความรู้ แต่ผสมด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง คือใช้ความรู้อย่างระมัดระวัง แปลว่าต้องรู้ให้ถ้วนทั่ว รู้ให้ลึก รู้ให้จริง และใช้ความระมัดระวัง ใช้ความรอบคอบ 2) เงื่อนไขคุณธรรม มีจิตสำนึกในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความพากเพียร การใช้สติ ใช้ปัญญา ฉะนั้นคำว่าเงื่อนไขคุณธรรมมีความหมายกว้างและลึก รวมถึงจิตสำนึก คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต อดทน มีความเพียร มีสติ มีปัญญา ใช้สติใช้ปัญญา

นี่คือเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นรูปแบบในการดำเนินชีวิต ในการดำเนินกิจการ ในการประกอบภารกิจทั้งปวง ใช้ได้ตั้งแต่ระดับชุมชนฐานรากจนถึงระดับโลก ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ นั่นคือใช้ได้ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคม ประเทศ และโลก

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติได้ถวายรางวัลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นรางวัลที่เขาเรียกว่า Lifetime Achievement Award in Human Development หรือรางวัลความสำเร็จแห่งชีวิตในการพัฒนาคน เป็นรางวัลแรกที่สหประชาชาติให้แก่บุคคลที่อุทิศชีวิตเพื่อการพัฒนาคน โดยคำนึงว่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติมาเป็นคุณธรรม เป็นพระปรีชาสามารถและเป็นการให้แนวทางที่จะเป็นแนวทางสำหรับโลกในศตวรรษใหม่ แนวทางสำหรับการพัฒนาคนที่มากกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ นั่นคือการพัฒนาให้คนมีความมั่นคงปลอดภัย อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติภาพและสันติสุข และสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับปรัชญาหรือหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นหลักการที่จะเป็นแนวทางของโลกในอนาคต ฉะนั้น สิ่งต่างๆที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำมาและเสนอแนะต่อประชาชนชาวไทย จึงน่าจะถือว่ามีคุณค่ามหาศาล ไม่ใช่เฉพาะต่อสังคมไทยแต่รวมถึงต่อสังคมโลกด้วย

ภารกิจของมหาวิทยาลัยกับแนวทางการพัฒนา

คราวนี้มาดูว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าจะคิดทำอะไรที่อาศัยแรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะเป็นธรรมราชา อาจจะแถมด้วยแรงบันดาลใจจากพระเดชพระคุณท่านพุทธทาสที่มีชาติกาลครบ 100 ปีประกอบเข้ามาด้วย เพราะทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระพุทธทาสมีทั้งวัตรปฏิบัติและข้อคิดแนวทางที่สอดรับผสมกลมกลืนกันอย่างดียิ่ง

คำถามที่มหาวิทยาลัยคงต้องถามตัวเองที่เกี่ยวพันกับการประกอบภารกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าประกอบด้วย 1) การผลิตบัณฑิต  2) การวิจัย 3) การบริการสังคม และ 4) การทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม

อันที่จริงข้อ 4 ผมเห็นว่าน่าจะรวมอยู่ในข้อ 3 เพราะดูทั่วๆไป จริงๆ แล้วสำหรับมหาวิทยาลัยทั้งหลาย ข้อ 4 จะเป็นข้อปลีกย่อย หรือเป็นข้อท้ายๆ แต่ถ้ารวมอยู่ในข้อ 3 ดูจะมีความหมายดีขึ้นในความเห็นของผม เพราะศิลปะวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญของสังคม ถ้าไปคิดแยกออกมา อาจจะทำให้กลายเป็นเรื่องปลีกย่อยไปโดยไม่จำเป็น แต่ถ้ารวมอยู่ในเรื่องการบริการสังคม ไม่ใช่เฉพาะบริการวิชาการ บริการสังคมคือทำประโยชน์ให้แก่สังคม ก็น่าจะรวมถึงเรื่องศิลปะวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมในความหมายที่แท้จริง คือ วิถีชีวิต ไม่ใช่เรื่องของศิลปะ เช่น การร้องรำทำเพลง ดนตรีอย่างเดียว แต่รวมถึงการมีวิถีชีวิตอันดีงามร่วมกันของคนในสังคม

“ความเก่ง” กับ “ความดี” อะไรมาก่อน

เมื่อคำนึงถึงภารกิจของมหาวิทยาลัยดังที่กล่าวมา คำถามที่มักจะต้องถามกันและเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในภาวะที่บ้านเมืองเรากำลังมีปัญหาวุ่นวาย บางคนก็ว่าถึงวิกฤต คือ ปัญหาเรื่อง “ความเก่ง” กับ “ความดี” มหาวิทยาลัยต้องตอบคำถามนี้อยู่เนืองๆ ว่า เราจะผลิตนักศึกษาที่เก่งหรือดี หรือทั้งสองอย่าง และถ้าทั้งสองอย่าง อะไรมาก่อน อะไรมาหลัง

เมื่อเร็วๆนี้ คุณจรัล ภักดีธนากุล ได้ไปอภิปรายเรื่องการปฏิรูปการเมือง ข้อความตอนหนึ่งคุณจรัลได้พูดถึงเรื่องคนเก่งกับคนดีไว้อย่างน่าฟัง คุณจรัลบอกว่า “ถ้าคนเก่งอย่างเดียวจะเป็นมหาโจรได้ ถ้าคนดีอย่างเดียวก็ตกเป็นเหยื่อมหาโจรได้” ฉะนั้นต้องการทั้งเก่งทั้งดี แต่คุณจรัลไม่ได้ลำดับว่าอะไรก่อน อะไรหลัง

ผมเองอยากจะลำดับ ผมคิดเรื่องพวกนี้มานานพอสมควร เนื่องจากว่าอยู่ในแวดวงการศึกษาบ้าง ไม่ถึงกับข้างใน แต่อยู่รอบๆ ผมมีโอกาสเข้าร่วมกับอาจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้วในการขบคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ตอนนั้นเป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกสิกรไทย ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และอาจารย์ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้าไปร่วมและเป็นคนที่เขียนหนังสือออกมา ชื่อ “ความฝันของแผ่นดิน” ท่านอาจจะเคยอ่านหรือจำได้

ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่บางแห่ง เคยเป็นอยู่ 5 แห่งพร้อมกัน รู้สึกมากไปเลยลาออกเสียบ้าง ลาออกจากธรรมศาสตร์ด้วย ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่อยากจะอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ผมก็คิดเรื่องพวกนี้อยู่ หลังๆ ผมไปได้รับอิทธิพลเพิ่มเติมจากประสบการณ์การไปศึกษาดูงาน ไปเยี่ยมเยียนที่อื่น เช่น ไปที่เวียดนามเมื่อเร็วๆนี้ เวียดนามได้ชื่อว่ามีความพยายามพัฒนาการศึกษาได้ดี  เรียกว่าพยายามพัฒนา เขาอาจจะยังไม่เป็นการศึกษาที่ดีที่สุดแต่เขาพยายามพัฒนา และมีคนไปศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาของเวียดนาม ค่อนข้างจะออกมาในทางที่ชื่นชมความพยายามของเขา  ผมไปเยี่ยมชมโรงเรียนประถม และไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยด้วย

การจัดการศึกษาที่ประเทศเวียดนาม

สิ่งหนึ่งที่เขาพูดซึ่งผมก็ฟังหูไว้หู เขาบอกว่า เขาให้ความสำคัญคุณธรรมจริยธรรมมาก่อน เขาจะสอนเด็กให้เป็นคนดี ยกตัวอย่างเช่น ที่เวียดนามตอนกลาง ข้อนี้เอามาจากงานวิจัยของ ดร. นิติภูมิ นวรัตน์ ที่บอกว่าเขาจะตั้งคำถามเป็นโจทย์ให้เด็กทำการบ้านทุกวัน 5 ข้อ คือ

1) วันนี้หนูได้ทำความดีอะไรบ้าง

2) วันที่ผ่านมา หนูได้ช่วยพ่อแม่ทำอะไรบ้าง

3) ในชุมชนของหนูมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

4) ให้เล่าเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ในประเทศเวียดนาม  และ

5) ให้เล่าเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ในโลก

จะเห็นว่าเขาเริ่มจากการทำความดี ทำความดีในตัวเอง ทำความดีให้คนอื่น ให้พ่อแม่ และมีความรอบรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ไปดูโรงเรียนประถมที่ฮานอย จะเห็นว่าในห้องเรียนมีป้าย 2 ป้าย ซ้ายกับขวา ด้านหนึ่งจะมีปณิธานหรือคำขวัญ 5 ข้อของโฮจิมินห์ คือ

1) รักชาติ รักประชาชน

2) เรียนดี ทำงานดี

3) สามัคคี มีวินัย

4) รักษาอนามัยดี ข้อนี้น่าสนใจ คำนึงถึงเรื่องสุขภาพอนามัย แต่ที่จริงสุขภาพอนามัยคนเวียดนามยังไม่ดีเท่าคนไทย แต่ต้องเห็นใจ เขาผ่านภาวะสงครามมาไม่รู้เท่าไร ขณะนี้สุขภาพอนามัยยังไม่ดีแต่เขาให้ความสำคัญ  แต่ทั้งๆ ที่สุขภาพไม่ดี เขาก็รบชนะมหาอำนาจถึง 2 รอบ ด้วยความบึกบึนในจิตใจ และ

5) ถ่อมตน ซื่อสัตย์ กล้าหาญ

ข้อ 1 เขาถือว่าสำคัญมาก ตรงกับที่ธรรมศาสตร์ เคยมีอุดมการณ์ที่ว่าฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ขออนุญาตพูดถึงธรรมศาสตร์ เพราะถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยมิตรภาพเก่าแก่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อีกป้ายหนึ่ง เป็นคำพูดของโฮจิมินห์ว่า “ประเทศเวียดนามจะสวยงาม มีสถานะที่เทียบได้กับทวีป 5 ทวีปของโลก ขึ้นอยู่กับการเรียนของลูกหลาน” คณะที่ไปดูงานร่วมกับผมมีครูบาอาจารย์ไปด้วย เขาบอกว่าเขายอมรับว่าที่เวียดนามการศึกษาแข็งดี เทียบชั้นเดียวกันกับเมืองไทย ของเขาสอนมากกว่า นักเรียนทำได้ดีกว่า ถ้าเราถือเอารางวัลโอลิมปิกเป็นเกณฑ์ เวียดนามได้รางวัลโอลิมปิกหลายรางวัล โดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เหนือกว่าประเทศไทย

คณะเราที่ไปสนใจเรื่องคุณธรรมจริยธรรมด้วย ก็มีคนมาบอกว่าเวียดนามมีคอรัปชันเยอะ คนไม่ค่อยซื่อสัตย์ อาจจะจริง แต่ต้องไม่ลืมว่าเวียดนามผ่านภาวะสงครามมานาน และมีเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ คนเวียดนามตั้ง 80 ล้านคน แล้วแต่เราไปเจอใคร ทำให้ผมนึกถึงอีกประเทศหนึ่งที่จะเอามาเทียบเคียง คือประเทศไต้หวัน  

การพัฒนาคุณธรรมที่ประเทศไต้หวัน

ไต้หวัน ถ้าพูดขึ้น พวกเราจะนึกถึงการตีกันในสภา คนที่ทำธุรกิจจะนึกถึงนักธุรกิจไต้หวันที่เอาเปรียบแรงงาน แม้กระทั่งในไต้หวันเองก็เอาเปรียบแรงงานถึงขั้นที่แรงงานไทยประท้วง แต่ท่านทราบไหมว่าไต้หวันในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการฟื้นฟูพุทธศาสนาครั้งสำคัญ หลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายเรื่องการควบคุมต่างๆ ไต้หวันตกอยู่ภายใต้ความกดดันเยอะ คล้ายๆเวียดนาม มีภัยธรรมชาติมาก มีพายุ แผ่นดินไหว น้ำท่วม เพียงแต่ไม่มีภูเขาไฟเท่านั้น และที่สำคัญมีภัยทางการเมือง เขาต้องพยายามช่วยตัวเอง แต่ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยการผ่อนคลายทางด้านการควบคุมเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อต่างๆ ทำให้เกิดชาวพุทธเชิงปฏิบัติขึ้นมากมาย ข้อมูลหนึ่งบอกว่าจากเดิมนับแสนคนมาเป็นหลายล้านคน ที่เป็นชาวพุทธเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่ชาวพุทธแบบผิวเผิน อย่างคนไทยจำนวนมากบอกเป็นชาวพุทธ แต่อาจเป็นชา

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/43854

<<< กลับ

ข้อเสนอแนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย (ต่อ)

ข้อเสนอแนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย (ต่อ)


มหาวิทยาลัยที่เน้นการสร้างคนดี

เขามีมหาวิทยาลัย 1 แห่ง และใน 1 แห่งนี้มีคณะแพทย์ซึ่งมีชื่อเสียงมาก  มีคณะจากประเทศไทยไปดูงาน ที่ศูนย์คุณธรรมจัด 3 รุ่น รุ่นสุดท้ายเขาจัดกันเอง คุณหมอประเวศ วะสี นำคณะไป มีคณบดีคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล 2 คณะ คือศิริราชกับรามาฯ และจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และมีคนอื่นๆ อีก ได้รับความประทับใจในเรื่องการเรียนการสอน ที่มหาวิทยาลัยฉือจี้ เขาเน้นเรื่องคุณธรรมอย่างยิ่ง คุณธรรมคือการทำความดี คุณธรรมของเขาเป็นคุณธรรมที่ใครๆ ก็ทำได้ เด็กเล็กเก็บขยะ มาแยกขยะ ก็ทำความดี คนแก่หลังโกงเก็บขยะมา เข็นรถขยะไปโดยไม่เอาอะไรเข้าตัวเอง นำไปขายอาจจะได้วันละ 200-300 บาทก็นำรายได้เข้ากองกลาง แล้วเขาเก็บประณีตมาก ถือเป็นการปฏิบัติธรรมตลอด เหมือนกับที่ท่านพุทธทาสว่าธรรมะคือการทำหน้าที่ การทำหน้าที่และการทำการงานคือการปฏิบัติธรรม เหมือนกันเลย รายได้จากการเก็บขยะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ ได้ 1 /4 อีก 3/4 มาจากการบริจาค อาจจะขึ้นชื่อผู้บริจาคเป็นตัววิ่ง แต่ไม่มีโฆษณาสินค้า เป็นสถานีที่นำเสนอแต่เรื่องดีๆ เรื่องความดี เรื่องคุณธรรม และนำเสนออย่างมีศิลปะจนคนนิยมดู ที่เรียกว่าความดีขายได้ถ้าทำได้ดี คำนี้ผมฟังมาจากนักสื่อมวลชนไทย ที่ฉือจี้ เขาทำ เขาเอาเรื่องคนเล็กคนน้อย ใครต่อใครที่ทำดีมาเล่า แต่เล่าอย่างมีศิลปะ ทำให้เรื่องความดีขายได้

ทีนี้ในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะคณะแพทย์ เขาสอนแพทย์ให้มีจิตใจละเอียดอ่อน เช่น ในหลักสูตรจะมีวิชาการชงน้ำชา เป็นศิลปะที่ละเอียดอ่อน ต้องนึกถึงว่าชามาจากไหน ใครเป็นคนปลูก ใครเป็นคนทำ มีความเคารพ มีความกตัญญูต่อคนที่ปลูกชา แล้วเวลาจะเอาน้ำชาให้คนอื่นต้องให้ด้วยความเคารพ ให้ด้วยความนอบน้อม มีวิชาศิลปะการเขียนพู่กันจีน ศิลปะการจัดดอกไม้ ที่จริงหลักสูตรหรือวิชาเช่นนี้เขาทำมาตั้งแต่ในระดับโรงเรียน สอนกันมาอย่างนี้ พอถึงมหาวิทยาลัย เขาก็สอนอย่างนี้ต่อ แล้วปรากฏว่าคนที่มาเข้าเรียนที่คณะแพทย์ของเขา ตอนมาเข้าเป็นคนที่ได้คะแนนธรรมดา อาจจะต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยด้วยซ้ำไป แต่พอเรียนจบ คะแนนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยที่เขาเน้นเรื่องคุณธรรมเป็นพื้นฐาน รวมถึงความเป็นแพทย์ที่เขาเรียกว่า Humane doctor เป็นแพทย์ที่มีความเป็นมนุษย์ในหัวใจ ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ในการผลิตแพทย์ของประเทศไทยที่สมเด็จพระราชบิดาได้ตั้งต้นไว้ว่าแพทย์ต้องเป็นมนุษย์ที่ดี มนุษย์แปลว่าคนที่มีจิตใจสูง ซึ่งที่ไต้หวัน เขาทำได้จริงและทำเป็นรูปธรรม ที่โรงพยาบาลจะมีการบริการที่แพทย์เอาใจใส่คนไข้อย่างดีมาก ให้ความเคารพนับถือ อ่อนน้อมถ่อมตน และมีอาสาสมัครมาช่วยทำความสะอาด ช่วยเล่นดนตรี ช่วยดูแลคนไข้โดยไม่มีค่าตอบแทน นี่คือการทำความดี

                  จากที่ผมเล่าให้ฟังทั้งเรื่องเวียดนามและไต้หวัน ทำให้มั่นใจว่าการศึกษาของเราต้องเน้นความดีมาก่อน ความดี ความมีคุณธรรมต้องมาก่อน และพิสูจน์แล้วที่ไต้หวัน ที่เวียดนามผมไม่แน่ใจ แต่ที่ไต้หวันแน่ใจ

ความดีจะนำไปสู่ความเก่ง แม้ไม่ตั้งใจ เพราะอย่างที่ท่านพุทธทาสว่า ความดีคือการทำตามธรรมะ ทำตามหน้าที่ที่ดีสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ถ้าทำความดี ความดีจะช่วยให้มีความรับผิดชอบ มีความอดทน มีความขยัน มุ่งทำประโยชน์ให้คนอื่น มุ่งทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ถ้าจะทำประโยชน์ให้คนอื่นและส่วนรวมก็ต้องมีความสามารถ ไม่อย่างนั้นจะทำได้อย่างไร แต่ความสามารถมีเท่าไรก็ทำเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าต้องรอให้เก่งกาจมาก ทุกคนทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ คนแก่อายุ 80 ก็ยังทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ ช่วยเก็บขยะ ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ช่วยดูแลคนที่มารักษาพยาบาล ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมาก แต่ต้องมีใจ  ฉะนั้นผมว่าความดีจะเป็นต้นทาง และเป็นแหล่งที่จะไปสร้างความสามารถ

แนวทางการสร้างคนที่พึงปรารถนา

ในความเห็นของผม คนที่พึงปรารถนาน่าจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

ส่วนแรก การมุ่งมั่นทำความดีกับตนเอง หรือทำความดีให้ตนเอง  คำว่าทำความดีให้ตนเอง คือ พัฒนาตนเอง มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง พัฒนาทั้งจิตใจ ร่างกาย คุณธรรม ความสามารถ และอื่นๆ

ส่วนที่ 2 การมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้คนอื่น รวมทั้งเห็นคุณค่าคนอื่น ให้ความเคารพคนอื่น การทำประโยชน์ที่ง่ายที่สุดคือเคารพคนอื่น เห็นคุณค่าและความสำคัญของคนอื่น ก็ทำประโยชน์ได้แล้ว

ส่วนที่ 3 การมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ที่ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนหรือบุคคล ถ้าทำประโยชน์ให้คนอื่น เราอาจจะนึกถึงพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูง แต่ทำประโยชน์ให้คนอื่นตามนัยยะของธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นที่ไต้หวันหรือที่ประเทศไทย คือให้คนอื่นที่ไม่จำกัดว่าเป็นชนชาติใด นับถือศาสนาอะไร รู้จัก ไม่รู้จัก ก็ทำประโยชน์ให้ทั้งนั้น ส่วนคำว่าทำประโยชน์ให้ส่วนรวม จะมุ่งไปที่การอยู่ร่วมกัน ให้คนได้อยู่ร่วมกันอย่าง “สันติเจริญสุข” คือทั้งสันติ ทั้งเจริญ และทั้งสุข ร่วมกัน

สรุปอีกทีหนึ่ง คนที่พึงปรารถนาน่าจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1) มุ่งมั่นทำความดีให้ตนเองหรือพัฒนาตนเอง 2) มุ่งมั่นทำประโยชน์ให้คนอื่น และ 3) มุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ส่วนรวม

ทีนี้ การจะเป็นคนที่พึงปรารถนาได้ น่าจะต้องทำดังต่อไปนี้ คือ

1) ทำความดี ผมใช้คำว่าทำความดี ไม่ใช่เป็นคนดี ทำความดีสำคัญกว่าเป็นคนดี เพราะทำความดีนี้ทำได้ทุกวัน  ทำได้แค่ไหนก็ทำแค่นั้น แต่ถ้าเป็นคนดี บางทีคิดลำบาก เราเป็นคนดีหรือเปล่า คนดีต้องรวมหมดทุกอย่าง คนเราอาจจะมีจุดอ่อน อาจจะทำไม่ดีบ้าง ไม่เป็นไร ตราบใดที่เราคิดทำความดีอยู่เรื่อย ส่วนดีจะมากขึ้นๆ  ส่วนไม่ดีจะน้อยลงๆ

2) สร้างความสุข สุขคือสุขภาวะ ความเป็นสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุข ทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคมและทางปัญญาหรือทางจิตวิญญาณ นี่คือความหมายของคำว่าสุขภาพหรือสุขภาวะที่เป็นสากล คือ หนึ่ง สุขภาพทางกายคือร่างกายอนามัยดี สอง สุขภาพทางใจ จิตใจปลอดโปร่ง สบาย อารมณ์ดี สาม สุขภาพทางสังคม คือ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี และสี่ สุขภาพทางจิตวิญญาณ คือลึกเข้าไปในจิตสำนึก

3) พัฒนาความสามารถ เมื่อทำความดี สร้างความสุข แล้วก็พัฒนาความสามารถ เพื่อจะได้ไปทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ ให้ส่วนรวมได้

                เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่าในการผลิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย น่าจะเรียงลำดับดังนี้

1. ทำความดี ที่จริงไม่จำเป็นต้องรอจนเป็นบัณฑิต คือในระหว่างที่เป็นนักศึกษาให้เน้นทำความดี

2. สร้างความสุข คือ ความสุขนี้ต้องสร้าง ไม่ใช่รอให้มีความสุข รอให้คนอื่นมาทำความสุขให้ สร้างความสุขหมายถึงดูแลร่างกายให้ดีและดูแลจิตใจให้ดี อยู่ร่วมกับคนอื่นดี สุดท้ายคือพัฒนาทางจิตสำนึกหรือจิตวิญญาณ

3. พัฒนาความสามารถ

ถ้านักศึกษาพยายามสร้าง 3 อย่างอยู่ตลอดเวลา คือ 1) ทำความดี 2) สร้างความสุข 3) พัฒนาความสามารถ ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา

แนวทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย

มาถึงประเด็นที่ว่า ถ้าจุดมุ่งหมายเป็นอย่างนั้น ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยน่าจะทำอย่างไรที่เป็นองค์รวม ที่บูรณาการ  การที่จะได้บัณฑิตที่ทำความดี สร้างความสุข พัฒนาความสามารถ สู่การเป็นมนุษย์หรือเป็นคนที่พึงปรารถนา คือคนที่มุ่งมั่นพัฒนาความสามารถตนเอง มุ่งมั่นทำความดีให้คนอื่นหรือทำประโยชน์ให้คนอื่น และมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยคงจะต้องคิดเชิงบูรณาการ ซึ่งมากกว่าที่จะเน้นการผลิตนักศึกษาอย่างเดียว การบูรณาการที่ว่านั้นน่าจะประกอบด้วยอย่างน้อย 5 ประการ

ประการที่ 1       คงจะต้องเริ่มที่นโยบายของมหาวิทยาลัย เพราะนโยบายคือแนวทาง ทิศทางใหญ่ที่จะกำกับการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัย นโยบายน่าจะรวมถึงการมีวิสัยทัศน์ มีปรัชญา ที่ลึกเข้าไปถึงขั้นเป็นจิตวิญญาณและเป็นวัฒนธรรม ซึ่งจิตวิญญาณและวัฒนธรรมคงสร้างทันทีไม่ได้ แต่ค่อยๆสร้างได้ ถ้ามีนโยบายชัดเจนว่ามีวิสัยทัศน์ มีปรัชญาอย่างไร จะนำไปสู่การสร้างจิตวิญญาณและวัฒนธรรม

ประการที่ 2       เรื่องสภาพแวดล้อม ไปดูที่ไต้หวัน การจัดสภาพแวดล้อม ไม่ว่าอาคารสถานที่ มีภาพดีๆ มีประติมากรรมดีๆ เช่น รูปปั้นคนเก็บขยะ ให้เห็นคุณค่าของการเก็บขยะ รูปปั้นแสดงแพทย์ดูแลคนไข้อย่างไร อาสาสมัครมาช่วยอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น แม้กระทั่งทางเดินก็เอาใจใส่ ดูแลสภาพแวดล้อมดินให้มีโอกาสหายใจ ไม่ไปเทคอนกรีตเต็มไปหมด สภาพแวดล้อมเช่นนี้สำคัญและจะช่วยเป็นเครื่องสอนใจ หรือสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากที่เป็นความเรียบร้อยสวยงาม

ประการที่ 3       คุณภาพและบทบาทของบุคลากร รวมทั้งผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ต้องไปด้วยกัน จะผลิตบัณฑิตที่ดีโดยที่ผู้บริหาร อาจารย์ ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดี หรือสร้างบรรยากาศที่ดีนั้น ย่อมได้ผลน้อย ฉะนั้นจริงๆ แล้ว เรื่องการสร้างความดีในมหาวิทยาลัยต้องรวมถึงความดีของผู้บริหาร ของอาจารย์ ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะเป็นแม่แบบ เป็นตัวอย่างที่เห็นกันทุกนาทีให้แก่นักศึกษา ฉะนั้นคุณภาพและบทบาทของผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ จึงสำคัญ

                        ประการที่ 4       ตัวนักศึกษา ซึ่งจะต้องมีวิธีการในการจัดการเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยต่อการทำความดีของนักศึกษา เอื้ออำนวยต่อการที่นักศึกษาจะรู้จักสร้างความสุขที่แท้จริงและมีคุณค่า เอื้ออำนวยต่อการที่นักศึกษาจะพัฒนาความสามารถ และเอื้ออำนวยต่อการที่นักศึกษาจะพยายามเป็นคนที่สมบูรณ์ด้วยการพัฒนาตนเอง ช่วยคนอื่น ช่วยส่วนรวม  และคำว่า “นักศึกษา” นี้จะต้องรวมไปถึงครอบครัวนักศึกษา และผู้ปกครองด้วย ที่เวียดนามเขาเล่าให้ฟังว่า ระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองสัมพันธ์กันมาก ครูจะรู้จักผู้ปกครองและติดต่อสื่อสารกันเป็นประจำ ชุมชนเขาจะมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนมาสัมพันธ์กับโรงเรียน ดูแลช่วยเหลือทั้งโรงเรียนและครู ฉะนั้นผู้ปกครองก็สำคัญ

ประการที่ 5       ใช้แนวทางที่อาจจะสรุปได้ว่าเป็นการสร้างเครือข่ายและจัดการความรู้ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เครือข่ายของอาจารย์ เครือข่ายของนักศึกษา เครือข่ายใหญ่ เครือข่ายเล็ก เครือข่ายของเครือข่าย คือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ จะแยกไปตามคณะ ตามภาควิชา หรือตามความสนใจ และมีกิจกรรมที่ดี มีการจัดการความรู้ คือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่ม ระหว่างคณะ ทั้งในหมู่อาจารย์และนักศึกษา และสามารถจะคละกันได้หมดทั้งอาจารย์  นักศึกษา ผู้ปกครอง  การที่มีเครือข่าย มีการจัดการความรู้อยู่เนืองๆ และต่อเนื่อง จะช่วยทำให้สิ่งที่เป็นความดีความงามถูกค้นหา และปรากฏ เป็นการมาเปรียบเทียบแลกเปลี่ยน เก็บเป็นองค์ความรู้ ผสมผสาน ยกระดับให้เป็นความรู้ที่มีความหมายยิ่งขึ้น เอาไปประยุกต์ใช้ เอามาปรับปรุงหรือพัฒนาใหม่ อาจจะมีการศึกษาวิจัยตามมาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ฉะนั้น เรื่องความดี ความสามารถต่างๆ จะเป็นประเด็นที่เอามาพูดจากัน ค้นหา แลกเปลี่ยนและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

                        ผมคิดว่าทั้งหมดนี้น่าจะเป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยจะในหรือนอกระบบก็ตาม หรือจะเป็นสถาบันการศึกษาแบบอื่นที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยก็ตาม น่าจะนำไปปฏิบัติได้ เพื่อจะให้สอดคล้องกับแนวทางที่เน้นความดี ขณะเดียวกันก็ให้มีความสุขและมีความสามารถ และทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ชอบธรรมต่อตนเอง พร้อมทั้งเพื่อประโยชน์อันมีคุณค่าต่อผู้อื่น ประโยชน์อันมีคุณค่าต่อส่วนรวม และกว้างที่สุดคือประโยชน์อันมีคุณค่าต่อมวลมนุษย์

“เราจะใช้ชีวิตโดยธรรม เพื่อความสันติเจริญสุขร่วมกันของมวลมนุษย์”

ถ้าจะขอพระบรมราชานุญาตนำเอาพระราชปณิธาน “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” มาประยุกต์ เป็นคำพูดที่เป็นปณิธานแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปณิธานนี้น่าจะมีถ้อยคำทำนองนี้คือ

                        “เราจะใช้ชีวิตโดยธรรม เพื่อความสันติเจริญสุขร่วมกันของมวลมนุษย์”

                          “เราจะใช้ชีวิตโดยธรรม” โดยธรรมก็อย่างที่อธิบายแล้วว่าธรรมะคืออะไร “เพื่อความสันติเจริญสุข” คือเพื่อสันติภาพ ความเจริญ และความสุขร่วมกัน ขอเน้นคำว่า “ร่วมกันของมวลมนุษย์” ซึ่งถ้าเผื่อว่าจะพัฒนาก้าวหน้ากว่านี้ในอนาคตอันไกล อาจจะหมายความรวมถึงสรรพสิ่งในจักรวาลด้วย  นั่นแปลว่าจิตวิญญาณเราก้าวไปไกลมาก ถึงขั้นที่มองสรรพสิ่งในจักรวาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งถึงตอนนั้นคงเป็นในขั้นที่เราเรียกกันว่ายุคพระศรีอาริย์ แม้ว่าจะไปถึงหรือไม่ถึง แต่ถ้าเรามุ่งไปสู่ทิศนั้น คือ “เราจะใช้ชีวิตโดยธรรม เพื่อความสันติเจริญสุขร่วมกันของมวลมนุษย์” ผมคิดว่าน่าจะเป็นปณิธานที่ดี ที่อาศัยพระบรมราชปณิธาน “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” มาเป็นหลักให้ประยุกต์ใช้ ก็จะถือว่าเป็นการอาศัยคุณูปการจากความเป็นธรรมราชาและมหาราชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา   คิดอย่างไรกับ

“ธรรมัตตาธิปไตย”

(ตอบคำถามครั้งที่ 1) ขอแลกเปลี่ยนความเห็น คงไม่มีอะไรผิด อะไรถูก ที่อาจารย์ใช้คำว่า “ธรรมัตตาธิปไตย” ก็เหมาะสม มีคนบอกว่าคนที่ยึดถือตัวตนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งคือคนซึ่งอ้างว่าเป็นคนมีคุณธรรม มีศีล เลยคิดว่าถ้าศีลแบบอื่นไม่ถูก ต้องศีลแบบเรา หรือคุณธรรมแบบอื่นไม่ถูก ต้องคุณธรรมแบบเรา ก็เป็นความจริง แสดงว่าการเข้าถึงธรรมะยังไม่ถึงขั้น ถ้าตีความตามนัยยะที่ท่านพุทธทาสก็ดี ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโตก็ดี พูดถึง

ผมคิดง่ายๆ จากแนวทางที่ผมเสนอและอาจารย์จุมพลได้กรุณาพูดซ้ำ คือ ถ้าเรามาเน้นเรื่องทำความดี จะคลายตัวไปได้ ทำความดีหมายถึงการทำประโยชน์ให้คนอื่น ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม และพัฒนาตนเอง ถ้าเรามาเน้นตรงนี้ ก็ไม่ต้องไปพูดว่าเราดีกว่าใครหรือไม่ดีกว่าใคร มุ่งทำความดีไปเรื่อยๆ ทำประโยชน์ให้คนอื่น ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ถ้าเกี่ยวกับตนเองก็พัฒนาตนเอง การพัฒนาตนเองที่ผมกล่าวไปแล้วก็กลับมาเรื่องทำความดี และสร้างความสามารถ สร้างสุขภาวะ ทำให้ร่างกายจิตใจเข้มแข็งไปด้วย เราเน้นให้นักศึกษาทำอย่างนี้ และอาจารย์ด้วยทำอย่างนี้ ทำความดี แม้เป็นความดีเล็กๆก็ถือว่าดี

ที่ศูนย์คุณธรรม ปีที่แล้วเรารณรงค์ว่า “ทำดีได้ไม่ต้องเดี๋ยว” ก็ตรงกับขบวนการฉือจี้ที่ไต้หวัน เขาเริ่มต้นจากคน 20 กว่าคน เริ่มด้วยการบอกว่า ทำเลย ทำความดีเลย ไปช่วยคนอื่นเลย เห็นคนเขาเดือดร้อนไปช่วยเขาเลย และช่วยแบบเอาตัวเองไปช่วย ภิกษุณีที่เป็นผู้นำของฉือจี้เริ่มต้นด้วยการถือหลักว่าไม่รับบิณฑบาต ไม่รับความช่วยเหลือจากคนอื่น ถ้าคนอื่นจะช่วยเหลือ ก็เอาสิ่งที่คนอื่นช่วยเหลือไปช่วยคนอื่นต่อ ทั้งหมด 100 % ฉะนั้นการกินอยู่ต้องเลี้ยงตัวเอง มีคติว่า “ไม่ทำ ไม่กิน” ถ้าไม่ทำงานไม่กิน ฉะนั้น เขาก็ปั้นเทียนไขขาย ปลูกพืชต่างๆ ไว้กินเอง และกินอยู่เรียบง่ายมาก จึงสร้างศรัทธาได้มาก เพราะทำความดีอยู่เรื่อย เขาชวนสมาชิก 20 กว่าคนซึ่งเป็นแม่บ้าน ออมเงินวันละ 25 เซ็นต์ หรือประมาณวันละบาท เก็บใส่กระบอกไม้ไผ่เอาไว้คอยช่วยคนอื่น เล็กๆ น้อยๆ

ฉะนั้น ถ้าเราเน้นเรื่องทำความดี ผมคิดว่าความดีเป็นความหมายสากลได้ ไม่ต้องเป็นธรรมะศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เป็นความดีในวิถีชีวิต ทุกคนทำได้ และทำได้เลย ทำไปเรื่อยๆ ทำให้คนอื่นได้ประโยชน์ ให้ส่วนรวมได้ประโยชน์ ความติดตัวตนจะลดลง ถ้าได้มาปฏิบัติธรรมตามแนวทางพุทธธรรม จะทำให้การติดตัวตนคลายออกมากขึ้น จนกระทั่งเราไม่มีคำว่าธรรมัตตาธิปไตย จะหายไปเอง แต่ถ้าเรานึกว่าเราเป็นคนดี เราเริ่มติดตัวตนแล้ว และอาจคิดว่าคนอื่นไม่ดี หรือไม่ดีเท่าเรา

บทบาทของใคร และควรเริ่มต้นอย่างไร

                (ตอบคำถามครั้งที่ 2) พูดเรื่องอธิการบดี ผมกำลังได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีอยู่แห่งหนึ่ง มีใครแถวนี้น่าสนใจช่วยบอกผมด้วย ต้องไปอยู่ต่างจังหวัด

ผมคิดว่าที่ท่านอาจารย์ทั้งหลายให้ความคิดเห็น รวมทั้งตั้งคำถาม เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีคุณค่ามาก ที่จริงวันนี้คนที่สำคัญคือพวกท่าน มากกว่าเราสองคน เพราะอาจารย์โคทมแม้เป็นอดีตอาจารย์ที่นี่ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้เป็นแล้ว คนที่สำคัญที่สุดคือคนที่ยังทำหน้าที่อยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคนที่ยังมีกิจกรรมอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นี่คือเจ้าของเรื่องที่แท้จริง คือผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตนักศึกษา ผมคิดว่านี่เป็นประชาคมผสมผสานที่สำคัญยิ่ง ฉะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น จะดีไม่ดีอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับประชาคมนี้ ประชาคมนี้มีจำนวนมากมายหลากหลาย แต่ถ้าให้แคบลงมาคือท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ในที่นี้ เพราะพวกเรามานั่งคุยกันในเรื่องนี้ และพรุ่งนี้จะไปคุยกันต่อ ที่จริงสามารถจะนั่งสนทนากันได้อีกยาวนานและคงมีแง่มุมต่างๆ มากมาย

แต่เนื่องจากเวลาหมดแล้ว ผมขอให้ความคิดเห็นสั้นๆ ในเชิงแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิด หรือไม่ใช่ว่าสิ่งที่ผมพูดจะดีที่สุด ผมคิดว่าง่ายๆ เรื่องทั้งหลายถ้าเราคิดเชิงพัฒนา ผมก็อยู่ในกระบวนการพัฒนา พัฒนาสังคม พัฒนาต่างๆ ผมคิดว่าสิ่งที่น่าทำที่สุดคือเริ่มจากการทำความดี หรือทำสิ่งที่ดีๆ เริ่มตรงนี้ก่อนและเริ่มที่ตัวเอง เริ่มที่กลุ่มเรา เริ่มที่หน่วยงานเรา ถ้าทำความดีอะไรได้ ทำเรื่องดีๆ อะไรได้ ก็ทำเลย เมื่อทำอย่างนี้ และทุกแห่งทุกคนทำอย่างนี้ จะเปิดโอกาสให้เราทำสิ่งถัดไป ที่ขอใช้คำว่า “จัดการความรู้” รายละเอียดทั้งหลายท่านคงทราบอยู่แล้วหรือถ้าต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถศึกษาหรือลองทำกัน ผมไม่ทราบว่าที่นี่ทำเรื่องจัดการความรู้มากน้อยแค่ไหน

คำว่าจัดการความรู้ ย่อๆ คือการไปค้นหาความดี ค้นหาความสามารถ นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แล้วมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อจะได้มีมาตรฐาน หรือตัวชี้วัดความสามารถที่สำคัญ เราจะได้พัฒนาความสามารถขึ้นไปอีก พัฒนาความดีขึ้นไปอีก ฉะนั้นเมื่อลงมือทำความดี ทำเรื่องดีๆ จัดการความรู้ ค้นหาสิ่งที่ดี นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็จะพัฒนาทั้งความดี พัฒนาความสามารถ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต้องเน้นคำว่าทำไปเรื่อยๆ ทำต่อเนื่อง เรื่องการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคม พัฒนาชุมชน เป็นเรื่องต้องใช้เวลา แต่ไม่มีทางเลือกอื่น เราต้องทำไป คือ ทำไปเรื่อยๆ จะดีขึ้น ที่มีปัญหามากก็จะมีปัญหาน้อยลง ที่ท่านทั้งหลายพูดว่ามีอุปสรรคนานาประการ สะสมมายาวนาน จะให้หายไปในวันนี้พรุ่งนี้คงไม่ได้ ต้องค่อยๆเป็นไป ซึ่งมีข้อพิสูจน์แล้ว ว่าสามารถนำสู่ความสำเร็จได้จริง ที่จริงมีเรื่องดีๆ ในประเทศไทยมากมาย อาจารย์ท่านหนึ่งพูดถึงสันติอโศก เขาเริ่มจากคนๆเดียว แล้วทำไปใหม่ๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ต่อว่าต่อขานเยอะเลย แต่เขามุ่งมั่นทำความดีไปเรื่อย ถึงวันนี้ต้องถือว่าสันติอโศกเข้มแข็งมากและทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย โดยเขาไม่เรียกร้องอะไร ทั้งนี้ใช้เวลาหลายสิบปีเหมือนกันคิดว่าประมาณ 40-50ปี

ฉือจี้ที่ไต้หวัน ภิกษุณีที่เป็นคนเริ่มต้น ตั้งปณิธานไว้ว่าจะทำ 4 อย่าง อย่างละ 10 ปี ได้แก่

1. ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

2. รักษาพยาบาล

3. การศึกษา

4. มนุษยธรรมและวัฒนธรรม

เขาทำมา ปีนี้ครบ 40 ปีพอดี เขาทำครบทั้ง 4 อย่างภายใน 40 ปี จากเริ่มต้น 23 คน เดี๋ยวนี้มีคนหลายล้านคนทั่วโลก เป็นขบวนการที่คุณหมอประเวศบอกว่าเป็นขบวนการมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก พระที่ได้รับมอบหมายจากศูนย์คุณธรรมไปทำการวิจัย ใช้เวลา 6 เดือน แต่ใช้ชีวิตในไต้หวัน 5 ปีเป็นพระอยู่ที่นั่น ท่านบอกว่าเป็นบรรษัทข้ามชาติเชิงคุณธรรม ที่เรียกว่าบรรษัทข้ามชาติเพราะเกาะเกี่ยวโยงใยเหมือนบรรษัทข้ามชาติทางธุรกิจเลย เพียงแต่ทำเรื่องความดี เรื่องคุณธรรม แล้วใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการบริหารจัดการเทียบเท่าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะคนที่มาช่วยบริหารจัดการเป็น CEO ของมูลนิธิขณะนี้ เป็นนักธุรกิจชาวไต้หวันแต่ไปอยู่อเมริกา เป็นเจ้าของธนาคารแห่งหนึ่งแต่เลิกทำเอง ปล่อยให้ลูกหลานทำ แล้วมาบริหารงานเต็มเวลาในฐานะอาสาสมัคร นอกจากนั้นยังมีนักธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ มากมายมาเป็นอาสาสมัครช่วยกันทำงาน ช่วยให้กิจกรรมของขบวนการฉือจี้เป็นไปด้วยดีมากๆ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/43855

<<< กลับ

สิทธิมนุษยชนคือสิทธิที่จะปลอดจากความทุกข์อันไม่ชอบธรรม

สิทธิมนุษยชนคือสิทธิที่จะปลอดจากความทุกข์อันไม่ชอบธรรม


(ปัจฉิมกถา ในการประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ “เครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” 4 พฤษภาคม 2549 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ จัดโดย “โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อสุขภาวะของบุคคลและชุมชน (คสม.)” มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.))

โครงการนี้ได้ดำเนินงานมาโดยมีเนื้อหาสาระที่มีคุณประโยชน์เป็นอันมาก ได้ก่อให้เกิดทั้งกลไก เครือข่ายอาสาสมัคร ฐานข้อมูล และยังเกิดการสื่อสาร การจัดการความรู้ จนกระทั่งมีการนำเสนอสิ่งที่ควรจะเป็นนโยบายสาธารณะหรือมาตรการดำเนินการของหน่วยงานหลักๆทั้งในระดับชาติท้องถิ่น ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมและสถาบันการศึกษาต่างๆ ถือเป็นโครงการที่มีคุณประโยชน์ที่น่าจะคุ้มค่าใช้จ่าย เวลา และพลังงานที่ได้เสียไปโดยควรคำนึงไว้ว่าพลังงานจำนวนมาก เป็นพลังงานอาสาสมัคร ซึ่งถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความภาคภูมิใจและเป็นคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม

            คำถามที่จะต้องเกิดขึ้นในการสิ้นสุดโครงการแม้จะเป็นเพียงระยะที่หนึ่งก็คือ ใครควรจะทำอะไรต่อ

ก่อนอื่นต้องกล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นคำใหญ่ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญถึงขั้นมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ก็ได้ดำเนินงานจนใกล้จะครบวาระของคณะกรรมการชุดแรก

            หลายคนอาจจะมีคำถามว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร คนส่วนหนึ่งเข้าใจและตอบได้ แต่คนจำนวนมากในประเทศไทยรวมทั้งผู้ที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญๆ เช่น ผู้บริหารประเทศ นักการเมือง ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น อาจจะยังไม่เข้าใจ หรือไม่ซึ้งว่าเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของพวกเขาอย่างไร

คำว่า “สิทธิมนุษยชน” จะแปลให้ง่ายก็คือ สิทธิที่จะปลอดจากความทุกข์อันไม่ชอบธรรม โดยหวังว่าถ้ามีสิทธิที่ว่านี้ แล้วไม่มีใครไปละเมิด ก็น่าจะนำไปสู่ความสุขที่ชอบธรรม นั่นคือ เรากำลังพูดกันถึงเรื่องทุกขภาวะและสุขภาวะ ซึ่งน่าจะป็นประเด็นร่วมกันของทุกฝ่าย ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน กระทรวงต่างๆ องค์กกรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้ง สสส. ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนโครงการนี้ นี่คงเป็นเหตุที่ว่า ทำไม สสส. จึงสนับสนุนโครงการนี้

            ส่วนคำถามที่ว่าควรทำอะไรต่อนั้น คิดว่าสิ่งที่เริ่มมานี้ดีแล้ว เพราะมีประชาคมที่ดำเนินการในเรื่องสิทธิมนุษยชนภายใต้โครงการนี้ มีการร่วมมือ ศึกษา คิดค้น ดำเนินการ แก้ปัญหา เกาะเกี่ยวกันเป็นเครือข่ายและนำเสนอเรื่องราว ให้กับส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนภูมิภาค กระทรวง และหน่วยงานอื่นๆได้รับรู้

ส่วนคนที่จะดำเนินการต่อนั้น กลุ่มแรกที่มีความสำคัญมาก น่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ทั้งชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนนี้ต้องดำเนินการต่อไปได้เลยโดยไม่ต้องรอใคร โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ภายใต้โครงการ คสม. นี้ เนื่องจากทั้งแรงงาน กำลังสมอง งบประมาณ ล้วนอยู่ในวิสัยที่จะจัดหาจัดการได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

กลไกที่สอง ที่น่าจะทำอะไรต่อได้คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้จะไม่ได้มาฟังในเวทีนี้ ก็น่าจะพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่างๆได้ โดยนำข้อเสนอที่ได้ในเวทีนี้ไปร่วมพิจารณาดำเนินการ

กลไกที่สามคือ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจและอื่นๆ เพราะทุกหน่วยงานล้วนมีความเกี่ยวพันกับสุขภาวะ ทุกขภาวะ ของประชาชนทั้งสิ้น ยิ่งได้รับฟังความคิดเห็นเหล่านี้ยิ่งต้องพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

            อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเครือข่ายชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำงานจริง ดูแลคุ้มครองกันเองอย่างเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุด โดยขณะนี้มีหลายพันตำบลที่เริ่มสร้างแผนแม่บทชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง เป็นแผนที่รวมทุกอย่างที่เกี่ยวกับชีวิตคน ครอบครัว ชุมชน ซึ่งเรื่องสิทธิมนุษยชนก็น่าจะรวมอยู่ในแผนแม่บทเหล่านี้

คำว่า “แผน” หมายถึงการจัดการ ซึ่งแปลว่าต้องมีการศึกษาสถานการณ์ วิเคราะห์ ขบคิด กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ วิธีดำเนินการ ตลอดจนติดตามวัดผล สรุปบทเรียน แล้วนำมาพัฒนาต่อเนื่องในทุกเรื่อง และยิ่งสร้างเป็นเครือข่ายขึ้นมาเรียนรู้ร่วมกัน จัดการความรู้ร่วมกัน ก็จะมีความรู้ ความเข้าใจ มีพลังที่มากขึ้นและดีขึ้น รวมถึงความสามารถที่จะมีผลต่อหน่วยงานอื่นที่อยู่ในพื้นที่รอบๆ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะที่อาจจะมาร่วมด้วย และถ้าทำได้ดีก็ขยายวงไปในระดับชาติได้

หน่วยงานต่างๆถ้ามีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนก็จะกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ และหากในส่วนฐานรากทำได้ดีแม้เพียงบางส่วน แต่ถ้าสามารถนำขึ้นมาให้มีผลต่อการพิจารณาของหน่วยงานส่วนกลาง เมื่อหน่วยงานกำหนดนโยบายที่ดีก็จะมีผลไปทั่วประเทศ ด้วยระบบความสัมพันธ์เช่นนี้ หากเน้นที่ชุมชนท้องถิ่นให้เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง น่าจะสามารถทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนได้รับการส่งเสริม คุ้มครองตามที่ปรารถนากันอย่างบรรลุผลได้ดีขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ

ขออนุโมทนาให้ความพยายามนี้จงประสบผลสำเร็จ และหน่วยงานต่างๆได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และประสานความร่วมมือกันกับส่วนอื่นๆในสังคม เพื่อว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องความสุข ความทุกข์ของคน ครอบครัว ชุมชน สังคม จะได้บังเกิดผลดียิ่งขึ้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

11 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/44268

<<< กลับ

หลักการและวิธีการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวัฒนธรรมและสันติวิธี

หลักการและวิธีการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวัฒนธรรมและสันติวิธี


( Power Point ประกอบการบรรยายหัวข้อ “ทฤษฎีและแนวคิดด้านสังคมในการเข้าใจความขัดแย้ง” ให้กับนักศึกษา รุ่นที่ 1 ของหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการความขัดแย้งแบบบูรณาการ ของมหาวิทยาลัยราชฏัทรวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ เป็นผู้อำนวยการ หลักสูตร)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

11 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/44350

<<< กลับ

กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน

กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน


         (บทสัมภาษณ์ เพื่อทำเอกสารประกอบการประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง “กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน” เมื่อ 19 สิงหาคม 2548 จัดโดย “แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” ซึ่งดำเนินการภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.))

“ถ้าชุมชนอ่อนแอ ผู้มีอำนาจจะได้ประโยชน์”

การปกครองในประชาธิปไตยของไทยที่ก้าวมาจวนเจียนจะครบ 8 ทศวรรษ หากจะเทียบกับช่วงอายุของคนคนหนึ่งก็ต้องนับว่าชราภาพเต็มที่ แต่หากลองเทียบกับประเทศอื่นๆร่วมโลกใบเดียวกัน เวลาเกือบ 8 ทศวรรษก็นับว่าเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ซึ่งมักจะเป็นวาระแห่งการริเริ่มก่อเกิด

แม้จะจริงที่ว่าประชาธิปไตยของไทยอาจจะโตช้าไปเสียหน่อยในบริบทและวิวัฒนาการของเศรษฐกิจสังคมโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะหากจะนับเริ่มต้นที่การเกิดขึ้นของ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่มีอำนาจบริหารจัดการท้องถิ่นตามความต้องการของคนท้องถิ่น และโดยคนของท้องถิ่นเองที่เพิ่งจะมีขึ้นก็เพียงช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น

กล่าวเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยอายุที่ยังไม่ถึงรอบทศวรรษดี จึงต้องนับว่าเด็กอย่างยิ่ง กระนั้นอย่าไปคิดว่าเด็กคนนี้จะเติบโตเตาะแตะไปตามเวลาอย่างมนุษย์คนหนึ่ง แท้ที่จริงเราไม่อาจมองข้ามต้นทุนที่สะสมในท้องถิ่นมาหลายช่วงทศวรรษหรืออาจจะหลายศตวรรษก่อนหน้านี้ ทั้งภูมิปัญญา วัฒนธรรม บุคลากร ที่รวมอยู่ใน “ชุมชน”

แม้ว่าชุมชนในท้องถิ่นจะถูกทำให้อ่อนแอ อ่อนเปลี้ยและถึงกับแตกสลายไปก็มากตลอดช่วงการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา แต่ภายใต้การทำงานพัฒนาชุมชนของฝ่ายต่างๆ ในสังคมเพื่อตั้งยันรับการเปลี่ยนแปลง ชุมชนหลายชุมชนได้ฟื้นตื่นและเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง พร้อมๆไปกับการสร้างเครือข่ายโยงใยเป็นพลังทางสังคม และสิ่งเหล่านี้นี่เองจะผลักดันให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเข้มแข็งเพื่อสร้างนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนต่อไป

ปัญหามีอยู่ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่งเริ่มต้นจะสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างไร และอะไรเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จนั้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คนทำงานพัฒนาชุมชนที่คนไทยรู้จักในระดับต้นๆ มีบทเรียนและประสบการณ์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  

นโยบายสาธารณะในท้องถิ่น จริงๆมีไหม แล้วมันคืออะไรกันแน่ในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาดูจะมีแต่การพูดถึงนโยบายของรัฐบาลกลาง

ผมต้องตอบว่ามี เพราะผู้บริหาร อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) หรือเทศบาล หรือแม้แต่ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) ก็น่าจะมีแนวคิดมีนโยบายอยู่ อยากเห็นท้องถิ่นเป็นอย่างไร จะมีวิธีการแบบไหน อันนั้นแหละคือนโยบาย แต่จะประกาศเป็นทางการหรือไม่ ไม่รู้ ตอนหาเสียงก็น่าจะพูดนะว่า “เราจะให้ท้องถิ่นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้” สิ่งที่หาเสียง สิ่งนั้นก็อาจจะเทียบเท่านโยบายได้

เพราะฉะนั้นก็ต้องถือว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายสาธารณะ” ในระดับท้องถิ่นเพียงแต่รูปแบบอาจจะไม่ชัดเจน หรือไม่ได้พูดว่าเป็นนโยบาย หรือชาวบ้านไม่ได้คิดว่าเป็นนโยบาย แต่รู้ว่าคณะนี้จะทำแบบนี้ หรือรู้ว่าถ้าเรามีปัญหาอะไรในท้องถิ่น เขาจะแก้แบบนั้น

ในระดับท้องถิ่น การออกข้อบังคับหรือข้อบัญญัติก็คือวิธีหนึ่งที่จะแปลงนโยบายออกมาเป็นรูปธรรม หรือว่าเขาอาจจะคิดออกมาเป็นโครงการ เป็นมาตรการต่างๆซึ่งอาจจะคิดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคณะกรรมการหรือโดยผู้บริหาร หรืออาจจะร่วมกันกับชุมชน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นวิธีต่างๆที่เป็นการแสดงตัวตนของนโยบาย

  นโยบายสาธารณะของท้องถิ่นที่น่าจะเป็นควรมีหน้าตาอย่างไร

ถ้าจะเทียบกับการบริหารประเทศ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็คือประเทศเล็กๆ เขามีคณะกรรมการ หรือที่เขาเรียกว่า สภา ก็เหมือนกับรัฐสภา เดี่ยวนี้มีนายก อบจ. นายก อบต. นายกเทศบาลหรือนายกเทศมนตรี ก็เหมือนนายกรัฐมนตรีในระดับประเทศ หรือถ้าจะเทียบกับธุรกิจเป็นบริษัท สภาก็เหมือนคณะกรรมการ นายกฯก็เหมือนผู้จัดการใหญ่

ทั้งหมดนี้ มีวิธีการทั่วไปที่เรียกว่าการกำหนดนโยบาย วิธีการก็คือต้องสำรวจสถานการณ์ความเป็นจริง ดูว่าความเป็นจริงอย่างไร ถ้าเป็นประเทศ เราก็ดูว่าความเป็นจริงในประเทศเราเป็นอย่างไร เป็นบริษัทเราก็ดูว่า ความเป็นจริงของธุรกิจแขนงนี้ การแข่งขัน ผู้บริโภคเป็นอย่างไร พอดูสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องแล้วก็มากำหนดว่าเราอยากได้ผลอะไร ถ้าเป็นประเทศจะอยากให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนแค่ไหน เศรษฐกิจโตเท่าไร รายได้กระจายแค่ไหน สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร สุขภาพประชาชนดีอย่างไร การศึกษาควรจะได้แค่ไหน ซึ่งก็คือมาดูว่าต้องการอะไร ในท้องถิ่นก็น่าจะคล้ายกันไม่ว่าจะเป็นจังหวัด เทศบาล หรือตำบล

พอรู้ว่าอยากให้เป็นอย่างไรแล้ว ถ้าอย่างนั้นเราต้องทำอะไรกันบ้าง ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนมีช่องทางทำมาหากินได้เพียงพอ สุขภาพอนามัยดี เด็กๆได้เรียนหนังสือดี ศีลธรรมดี วัฒนธรรมดี อาชญากรรมน้อย อุบัติเหตุน้อย ก็กำหนดวิธีการให้บรรลุผลเหล่านั้น ทั้งหมดนี้คือนโยบาย

  ใครหรือกลุ่มคนไหนที่จะกำหนดเรื่องพวกนี้

ผู้บริหารนั่นแหละจะต้องเป็นตัวตั้งตัวตีในการกำหนด ใครบริหารท้องถิ่นไหนก็กำหนดให้ท้องถิ่นนั้น คนบริหารนั้นมี 2 ระดับ คือ สภากับผู้บริหาร สภามีหน้าที่ออกข้อบัญญัติ ซึ่งข้อบัญญัตินี่แหละสะท้อนนโยบาย ผู้บริหารต้องกำหนดมาตรการ โครงการ กิจกรรม ใช้งบประมาณให้สะท้อนนโยบาย ฉะนั้นเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นสภาหรือผู้บริหารก็ต้องคิด และควรจะคิดเชิงนโยบาย คือต้องดูความเป็นจริง ดูสถานการณ์ที่เป็นจริง กำหนดสภาพที่พึงปราถนา กำหนดวิธีการไปสู่สภาพที่พึงปรารถนา

ทีนี้การคิดเรื่องพวกนี้ หากไปคิดกันเองก็อาจจะได้สิ่งที่ไม่ดีพอ อาจจะอาศัยนักวิชาการมาช่วยวิเคราะห์ วิจัยสภาพความเป็นจริง ช่วยศึกษาถึงทางเลือก ทางเดินต่างๆที่จะนำไปสู่สภาพที่พึงปรารถนา แต่สภาพที่พึงปรารถนา ประชาชนต้องคิดเอง นักวิชาการจะมาคิดให้ไม่ได้ อาจจะยกตัวอย่างว่า ที่อื่นเขาทำอย่างไร แต่ผู้บริหารไม่ว่าจะเป็นสภาหรือคณะผู้บริหารซึ่งรวมถึงนายกเทศมนตรี นายก อบจ. หรือนายก อบต. ต้องเป็นคนคิดหรือกำหนดสภาพที่พึงปรารถนา

และถ้าให้ดีกว่านั้นก็คือกำหนดร่วมกับประชาชน ยิ่งในท้องถิ่นเล็กๆ สามารถเชิญประชาชนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังได้ ถ้าไม่ได้ 100 อาจจะสัก 90 หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถให้ประชาชนมาร่วมกำหนด แม้กระทั่งกำหนดแนวทางไปสู่สภาพที่พึงปรารถนา เพราะประชาชนก็สามารถคิดได้เหมือนกันว่า ถ้าเราต้องการให้เกิดสภาพแบบนี้ เราน่าจะใช้วิธีการแบบนี้ ประชาชนคิดได้ เพราะประชาชนเองจะมีนักคิด มีผู้นำ มีคนที่รู้เรื่องรวมอยู่ในหมู่ประชาชน คนทั่วไปอย่างน้อยเขาก็รู้ว่าขาอยากได้อะไร ทำอย่างไร เขาอาจจะคิดบางส่วน แต่พอรวมประชาชนทั้งหมด ความคิดจะดีขึ้น

ฉะนั้นถ้ารวมประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่น รวมผู้ที่อยู่ในสภา รวมผู้บริหารท้องถิ่น รวมการวิเคราะห์วิจัยของนักวิชาการ สิ่งที่ได้มาย่อมสมบูรณ์กว่า ครอบคลุมกว้างขวางลึกซึ้งกว่าจะให้คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปคิดเพียงลำพัง

สภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ท้องถิ่นมีอิสระแค่ไหนในการคิดเรื่องนี้

ขณะนี้ได้มีขบวนการเกิดขึ้นอย่างน้อย 2-3 แนวทางที่น่าจะถือว่าเป็นการพัฒนาในทางบวก ทางที่หนึ่งคือ ชุมชนท้องถิ่นมีการรวมตัวกันทำสิ่งที่เรียกว่า “แผนแม่บทชุมชน” หรือ “แผนชีวิตชุมชน” จะมีผู้นำในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำโดยธรรมชาติเป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนประชาชนให้มาวิเคราะห์สภาพของตนเอง เช่นดูว่า ในบรรดาครัวเรือนต่างๆในแต่ละหมู่บ้านมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง มีรายได้อะไรบ้าง เป็นหนี้สินเท่าไร ชุมชนที่ก้าวหน้าอาจจะสำรวจไปถึงว่าเขามีทรัพย์สินอะไร มีที่ดิน มีต้นไม้ มีบ้านเรือน มีเงินออม มีทุนทางปัญญา ทุนทางสังคมอะไร ชุมชนที่ก้าวหน้าอาจจะคิดไปได้ถึงขั้นนั้นเลย

พอสำรวจความเป็นจริงแล้ว เขาก็มากำหนดว่า เขาอยากได้อะไร อยากมีหนี้สินลดลง อยากทำมาหากินได้ดี ขึ้น อยากมีสวัสดิการดีขึ้น เจ็บไข้ได้ป่วยน้อยลง สภาพแวดล้อมดีขึ้น ทรัพยากรสมบูรณ์ขึ้น อย่างนี้เขาคิดได้ ต่อจากนั้นก็มาคิดวิธีการโครงการ มาตรการที่จะทำต่อไป ซึ่งชุมชนจำนวนมากทำได้

ไม่เท่านั้น ยังได้มีสิ่งที่เรียกว่า เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน 4 ภาคขึ้น ชื่อเต็มๆคือ “เครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค” มีผู้นำชุมชนที่ก้าวหน้าจนสามารถทำแผนแม่บทชุมชนได้แล้วรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโยงใยกันทั้งประเทศ เริ่มจากจำนวนตำบลที่ทำได้ดี รวมตัวเป็นเครือข่ายแล้วก็เผยแพร่ช่วยเป็นวิทยากรไปแนะนำชุมชนอื่นๆที่สนใจ ซึ่งผู้ที่ไปแนะนำก็คือผู้นำชาวบ้านด้วยกันเอง เป็นวิทยากรชาวบ้านเองที่ไปเป็นผู้แนะนำ หรือไม่ก็ชุมชนที่ทำได้ดีทำตัวคล้ายๆเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนใกล้เคียง หรือเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชนที่สนใจโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ไม่ไกล ขณะนี้จากชุมชนหรือตำบลที่ทำแผนชุมชนได้ดีไม่กี่สิบแห่ง ได้ขยายไปเป็นประมาณ 1,000 แห่ง หรือ 1,000 ตำบล

ที่บอกว่าทำได้ดีคือชุมชนร่วมกันทำ ชาวบ้านจากครัวเรือนจากทุกหมู่บ้านร่วมกันทำ ร่วมกันคิดแผนในหมู่บ้าน เอามารวมกันเป็นตำบล หรือจะคิดทีเดียวพร้อมกันทั้งตำบล แล้วยังไปคิดร่วมกันกับ อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็น 3 แกนหลักเป็นแกนสำคัญที่ร่วมกันทำแผนแม่บทชุมชน ตำบลที่ทำได้ดีจะรวม 3 แกนหลักนี้ ขณะนี้เขาได้ขยายไป บางแห่งทำไปแล้ว บางแห่งกำลังทำ รวมแล้วประมาณ 1,000 ตำบล คงจะขยายตัวต่อไปอีก

นี้คือหนึ่งกระบวนการที่เป็นการริเริ่มจากผู้นำชุมชน ผู้นำชุมชนบางคนเป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน บางคนเป็นนายกหรือกรรมการ อบต. ฉะนั้นจึงทำให้การประสาน 3 แกนหลัก คือผู้นำชุมชน อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ถึงกับยากนัก บางแห่งโชคดีที่ความสัมพันธ์ระหว่าง 3 แกนหลักดีอยู่แล้ว ทำให้การร่วมกันทำงานง่ายขึ้น บางแห่งอาจจะต้องใช้ความพยายามตอนต้น แต่เนื่องจากผลสำเร็จหรือผลประโยชน์มีร่วมกันเพราะถ้าทำได้ดี ท้องถิ่นดี ก็ถือเป็นผลดีของกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผลดีของ อบต. และเป็นผลดีของชุมชน เมื่อมีผลประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ร่วมกันเช่นนี้ทำให้การทำงานร่วมกันไม่ถึงกับยาก

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามีอีกหลายต่อหลายตำบลที่ 3 แกนหลักนี้ไปด้วยกันไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยดี เพราะว่าวิวัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นของเราเป็นมาอย่างลุ่มๆดอนๆ แล้วก็เป็นมาอย่างค่อนข้างแบ่งแยกมากกว่ารวมกำลัง ทั้งนี้เพราะสมัยหนึ่งมีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นหลัก ต่อมามี อบต. ก็หันมาให้ความสำคัญกับ อบต. แต่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านยังอยู่ ซึ่งอาจจะมีกองหนุนคนละกอง พี่เลี้ยงคนละชุด เลยทำให้แทนที่จะร่วมกันกลับมาแข่งกันเสียมากกว่า แต่คิดว่า ต่อไปข้างหน้าน่าจะค่อยๆดีขึ้น

ต้องเข้าใจด้วยว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเกิดขึ้นมาไม่นาน เทียบอายุแล้วต้องถือว่ายังเด็ก เทศบาลเองที่ใหม่ก็เยอะ อบต.เป็นเรื่องใหม่ อบจ. นี่ก็ปรับใหม่ ถึงแม้จะชื่อเก่า แต่โครงสร้างและสีสันเปลี่ยนใหม่ ยิ่งเดี๋ยวนี้ เลือกนายก อบจ. นายก อบต. นายกเทศมนตรี โดยตรง ทำให้การปกครองท้องถิ่นมีชีวิตชีวา มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น แต่ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งจะมีการเลือกโดยตรงกันมา 1-2 ปีนี่เอง บางแห่งเพิ่งจะเริ่ม ฉะนั้นต้องให้เวลา

                อย่างไรก็ตามแม้จะวิวัฒนาการมาแบบลุ่มๆดอนๆ ยังไม่ถึงกับเป็นปึกแผ่นมาก แต่แนวทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็ชัดเจนว่า ส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญ พูดในเรื่องการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้บริหารจัดการตนเองในเรื่องต่างๆ ค่อนข้างสมบูรณ์ และยังบอกด้วยว่า ถ้าท้องถิ่นไหนมีความพร้อม ควรจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ซึ่งนั่นหมายถึงว่าทั้งจังหวัดเป็นองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น

ขณะนี้จังหวัดต่างๆของเรามีการปกครอง 2 อย่างคู่ขนาน น้ำหนักยังอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งคือราชการส่วนภูมิภาค แล้วย่อยลงไปถึงจะเป็น อบจ. เทศบาล ซึ่งถ้าดูเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ น่าจะหมายถึงว่า ในอนาคต อบจ. น่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งจังหวัดแบบ กทม. ซึ่งน่าจะหมายถึงว่า อบจ.ก็คือกลไกที่จะดูแลจังหวัดทั้งจังหวัดแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดถ้าจะมีอยู่ ก็จะเป็นเหมือนกับตัวแทนรัฐบาลส่วนกลาง ดูแลในเรื่องนโยบายให้สอดคล้องหรือสอดรับกับนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของประเทศ หรืออาจจะมีการแบ่งสรรอำนาจหน้าที่กันอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่น้ำหนักน่าจะอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นี่พูดถึงในอนาคตนะ

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน แม้วิวัฒนาการยังเพิ่งเริ่มต้นเราก็ได้เห็นความเข้มแข็ง ความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทวีมากขึ้นเป็นลำดับ มีตัวอย่างหลายตำบล หลายเทศบาล และก็อาจจะหลาย อบจ. ได้มีบทบาทที่จะจัดการดูแลท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และหลายแห่งก็ได้พยายามจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะ อบต. ที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชนในความพยายามที่จะมีแผนแม่บทชุมชนหรือแผนชีวิตชุมชน ก็ถือว่าเป็นการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมที่ค่อนข้างกว้างขวาง อาจจะมากกว่ารัฐบาลส่วนกลางด้วยซ้ำ เพราะตำบลมันเล็ก ทำแผนแม่บทชุมชนนี่ก็แปลว่ามากันทั้งชุมชน

หลายแห่งทำได้ดีโดยเป็นการริเริ่มหรือมีบทบาทสำคัญมาจาก อบต. ยกตัวอย่างตำบลหนึ่งในจังหวัดชัยนาท นายก อบต. จะเที่ยวไปพบปะคนนั้นคนนี้ ปรึกษาหารือ จัดประชุมทุกฝ่ายร่วมกันเดือนละครั้ง ทุกฝ่ายจะมีทั้งผู้นำชุมชนจากทุกหมู่บ้าน มีตัวแทนประชาชนจำนวนมากมาร่วมประชุม มีกลุ่มมีองค์กรอะไรก็จะมีตัวแทนมาร่วมประชุม ข้าราชการของ อบต. ข้าราชการของราชการส่วนภูมิภาค จะเป็นทางด้านอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสวัสดิการต่างๆ ก็มาร่วมประชุมปรึกษาหารือกันทุกเดือน ทำให้สามารถคิดอะไรทำอะไรที่ดีๆให้กับท้องถิ่นได้มาก นี่ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างของ อบต. ที่มีความก้าวหน้า ทำงานแบบมีส่วนร่วมสูง

แต่ภาพที่ปรากฏในสื่อมักจะทำให้เห็นว่านักการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะโดนผลประโยชน์ครอบทำให้ที่สุดกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ไป

นั่นเป็นสภาพที่ย่อมเกิดขึ้นได้ เหมือนระดับประเทศ เราเลือกผู้แทน ผู้แทนไปเลือกรัฐบาล แทนที่จะทำงานเพื่อประชาชนด้วยความบริสุทธิ์ ก็อาจจะทำงานเพื่อตนเองเพื่อพรรคพวก เพื่อกลุ่มเพื่อเหล่า นั่นคือไม่ได้เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ อาจพยายามทำเหมือนกันแต่ในขณะเดียวกันก็เอาประโยชน์ส่วนตัวประโยชน์พรรคพวกไปด้วย

ในท้องถิ่นก็เหมือนกัน คนที่ได้รับเลือกเป็นผู้บริหารเป็นกรรมการ ก็จะมีทั้งประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์พวกพ้องและประโยชน์ส่วนรวม มันคู่กันไปอย่างนี้แหละ ถ้าเราเจริญมากก็แปลว่า ผู้นำที่ได้รับเลือกเข้าไปเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์พวกพ้องนี่ต้องไม่เอามาเป็นประเด็นสำคัญ หรือถ้าจะมีประโยชน์ส่วนตัวประโยชน์พวกพ้องก็จะมีอย่างที่พึงมีปกติ ไม่ใช่มีเป็นพิเศษ มีปกติก็คือว่า ทำมาหากินไป มีเบี้ยประชุม มีเงินเดือนที่เขาให้ก็รับไปแล้วก็ทำงานเพื่อส่วนรวม เพราะบทบาทของนักการเมืองคือ ทำงานเพื่อส่วนรวม นี่คือหลักการ

ผมเชื่อว่ามีผู้บริหารจำนวนมากเขาทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นหลัก ก็จะไปได้ดี แต่ที่เป็นข่าวบ้างก็เป็นธรรมดา เราพัฒนาประชาธิปไตยมาตั้ง 73 ปีเราก็ยังมีปัญหาทุจริตคอรัปชั่น มีปัญหาเรื่องประโยชน์ตนประโยชน์พวกมีอิทธิพลมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ท้องถิ่นก็เหมือนกันต้องให้เวลาพัฒนาไป สิ่งที่จะทำให้พัฒนาดีที่สุดก็คือประชาชน เมื่อประชาชนมีความรู้ความสามารถ มีความฉลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนจะเป็นฐานที่ดีที่สุด และเป็นเกราะที่ดีที่สุด เป็นฐานที่ดีที่สุดที่จะให้เกิดการปกครองที่ดี มีผู้บริหาร มีนักการเมืองที่ดี ขณะเดียวกันก็เป็นเกราะป้องกันสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลทั้งหลาย

ทีนี้การที่ประชาชนจะพัฒนาต้องใช้เวลา ค่อยๆพัฒนาไป ถ้าประชาชนยังไม่พร้อม ยังไม่ฉลาดพอ เช่นยังไม่รู้จักเลือกคนที่ดี หรือไปตัดสินใจโดยอามิสสินจ้าง หรือตัดสินใจโดยดูอะไรตื้นๆง่ายๆแล้วก็ไม่รู้จักวิธีที่จะกำกับดูแลคนที่เป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ถ้าประชาชนยังมีความสามารถไม่ถึงขั้น โอกาสที่จะมีนักการเมืองที่ไม่ดีก็สูง

โอกาสที่จะมีนักการเมืองดีๆทั้งๆที่ประชาชนยังไม่มีความสามารถพอนี่ต้องถือว่าโชคดีมากๆ และก็อาจจะอยู่ไม่ยั่งยืน เพราะความโลภและประโยชน์มันล่อใจคน เหมือนไก่กับไข่ ต้องหวังทั้ง 2 อย่าง หวังว่าจะมีผู้นำที่ดีขึ้น แล้วก็หวังว่าประชาชนมีความสามารถมากขึ้น

หมายความว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็ง มีผู้นำที่ดีจึงไม่พอ ต้องมีส่วนของชุมชนและประชาชนด้วย

ใช่ ต้อง 2 ส่วน เราหวังว่าจะเป็นเหมือนเท้าซ้ายเท้าขวา ซ้ายก้าวทีขวาก้าวที ต้องพยายามทั้งสองทาง พยายามที่จะหาทางทำอย่างไรให้ผู้นำท้องถิ่นก็คือนักการเมืองท้องถิ่นค่อยๆดีขึ้นพร้อมๆกับมีชุมชนและประชาชนที่เข้มแข็งสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้ทั้งสองทาง ซึ่งขณะนี้เราเห็นแนวโน้มว่าน่าจะดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลา  

การเมืองระดับชาติกับท้องถิ่นเท่าที่เห็นมีลักษณะทำงานแข่งกันไหม

ไม่ใช่แข่งกัน แต่อาจจะเป็นเรื่องที่ว่านักการเมืองระดับชาติยังไม่เข้าใจ หรืออาจจะยังไม่อยากให้อำนาจไปที่ท้องถิ่นมากนัก เพราะว่านั่นหมายถึงอำนาจและบทบาทของตนเองลดลง บางคนอาจจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ส่วนกลางทำดีกว่า แต่บางคนก็เป็นห่วงว่า เดี๋ยวประโยชน์จะได้น้อยลงเพราะอำนาจน้อยลงจึงหวงเอาไว้ ก็ต้องหวังว่ารัฐบาลส่วนกลางจะพัฒนาไปมากขึ้นด้วย คือพัฒนาไปถึงขั้นที่จะเห็นว่า บทบาทที่ดีของส่วนกลางก็คือบทบาทในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่เล็กๆ ตำบล อำเภอ จังหวัด น่าจะเป็นของถิ่นจะดีกว่า เราก็หวังว่านักการเมืองของเราจะค่อยๆเห็นแบบนั้นมากขึ้น ซึ่งตามรัฐธรรมนูญและตามกฏหมายกระจายอำนาจบ่งบอกไปในทิศทางนั้น แล้วถ้าท้องถิ่นแสดงตนให้เห็นว่าทำได้ดี ก็จะช่วยให้ส่วนกลางเห็นสัจธรรม เห็นคุณค่าของการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจนหนักแน่นมากขึ้น

เพราะฉะนั้นผมจึงต้องเติมอีกข้อ ทีแรกบอกว่านักการเมืองท้องถิ่น ประชาชนท้องถิ่น คงจะค่อยๆพัฒนาไปและเกื้อกูลเป็นแรงหนุนซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันเราหวังว่าการเมืองระดับชาติจะก้าวหน้าไปในทางที่เห็นความสำคัญและให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมากขึ้น ให้บทบาทท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งมีนโยบายและมาตรการที่จะส่งเสริมสนับสนุนท้องถิ่นและป้องกันแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น

ถ้าเราได้ 3 มุมแบบนี้ คือนักการเมืองท้องถิ่น ประชาชนในท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติพัฒนาแบบเกื้อกูลกันไปเรื่อยๆ เรื่องของท้องถิ่นย่อมจะดีขึ้น พร้อมๆกับสังคมโดยรวมก็จะดีขึ้นๆเรื่อยๆ เพราะถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง จัดการตนเองได้ดี หมายถึงสังคมทั้งสังคมจะมีฐานที่ดี ซึ่งท้องถิ่นก็คือฐานของสังคม

  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นมากมายและมีแนวโน้มเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนเองซึ่งเป็นตัวกำกับการเมืองท้องถิ่นจะเข้มแข็งได้ทันไหมครับ

ที่จริงแล้วกระแสชุมชนเข้มแข็งมาก่อนด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นไปได้ที่วันหนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีนโยบายมาครอบและกำหนดชุมชน ก็เหมือนกับที่เราพัฒนาประชาธิปไตยกันมา เกิดมีรัฐบาลที่ค่อนข้างเอาตัวเองเป็นหลักแล้วไปครอบประชาชน นี่ผมไม่ได้พูดถึงรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่พูดถึงรัฐบาลทั่วไป สิ่งเหล่านี้ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในท้องถิ่น ซึ่งถ้าประชาชนดีก็คงไม่เลือกผู้บริหารที่ไม่ดีเข้าไป สอง ถ้าไม่ดีเขาก็จะมีปฏิกิริยาตอบกลับไปในการกำกับดูแล มันขึ้นอยู่กับพลังถ่วงดุล คือประชาชนมีบทบาทได้ทั้งในทางเกื้อกูลและในทางถ่วงดุล ไม่ใช่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นง่ายๆ ในท้องถิ่นมี อบต. ตั้ง 7,000 แห่ง ย่อมไม่เหมือนกันทั้งหมด เกิดได้ต่างๆนานา

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

23 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/46035

<<< กลับ

กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน (ต่อ)

กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน (ต่อ)


สำหรับนักพัฒนาควรคิดอย่างไรกับสภาพเช่นนี้

สิ่งที่ควรทำ ใครที่มีหน้าที่หรือมีบทบาทในการส่งเสริมความเจริญในการพัฒนาสังคมก็ต้องพยายามค้นหาสิ่งที่ดี และส่งเสริมสิ่งที่ดีให้ได้ปรากฏตัว ไปเกื้อกูลหรือไปก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับส่วนอื่นๆมากขึ้น เช่นนี้ส่วนที่ดีจะมีฐานเข้มแข็งขึ้น ขยายตัวมากขึ้น นี่คือบทบาทของคนที่ทำงานเชิงพัฒนาสังคมหรือพัฒนาระบบ พยายามค้นหาสิ่งที่ดี คือไม่ใช่เที่ยวไปเจาะหาว่ามันเลวที่ไหนบ้างแล้วก็เอามาเป็นข่าว เพราะคนชอบอ่านเรื่องเลวๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์กันไป

คงไม่ผิดหรอก แต่ว่ามันเสียดุล เพราะว่าสิ่งที่ดีๆมีตั้งเยอะ เราเอาสิ่งที่ไม่ดีมาพูด คนก็จะบอกว่า ไม่เห็นดีเลยท้องถิ่นนี้ เพราะฉะนั้นต่อไปก็ไม่ควรส่งเสริมเลย คนก็เสียกำลังใจ ขณะที่สิ่งดีมีตั้งแยอะแต่กลับไม่ปรากฏ ถ้าเราเอาสิ่งที่ดีๆมาส่งเสริมกัน มาทำให้ปรากฏ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน คนที่ทำดีก็มีกำลังใจว่าเราทำดี มีคนเห็นคุณค่าจึงทำมากขึ้นหรือทำให้ดีขึ้นไปอีก คนอื่นๆได้เห็นหรือรู้ก็พยายามทำบ้าง ของดีๆก็จะมีมากขึ้นๆ คนในสังคมก็จะเห็น ว่าเขาทำได้ดี น่าจะส่งเสริมต่อ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลไปบอกว่า ท้องถิ่นยังไม่พร้อมหรอก มีแต่ทุจริตคอรัปชั่น คนก็จะไม่เชื่อ ขณะนี้เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ปรากฎ คนจึงเชื่อตามข้อมูลที่เป็นข่าวซึ่งเสนอโดยคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือคนที่อาจจะให้ข้อมูลโดยจงใจ เช่นไม่อยากให้ท้องถิ่นเติบโตเพราะต้องการรักษาอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง หรือต้องการรักษาอำนาจไว้ที่ราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นแขนขาของส่วนกลาง เช่นรักษาอำนาจไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และข้าราชการส่วนภูมิภาคอื่นๆ ถ้าต้องการอย่างนี้ก็พยายามไปค้นหาว่ามีท้องถิ่นไม่ดีที่ไหนบ้างแล้วเอามาโพนทะนาว่า เห็นไหมเขายังไม่พร้อมเลย ต้องให้ราชการส่วนภูมิภาคดูแลต่อไปหรือดูแลมากขึ้น

นี่คือสิ่งที่นักพัฒนาต้องเข้าใจ และในสิ่งที่รัฐส่วนกลางหรือหน่วยงานราชการต้องเข้าใจคืออะไร

หลักทั่วไปคือ สังคมที่เข้มแข็งต้องมีท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ท้องถิ่นเข้มแข็งมาจากการมีระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นทีดี หมายถึงมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดี และการจัดการส่วนท้องถิ่นนั้นก็จัดการได้ถนัดกว่าอำนาจหรือหน่วยงานที่ไปจากส่วนกลาง เพราะท้องถิ่นเขาเห็นตัวเห็นตน รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ใครเป็นอย่างไร จะทำให้ดีขึ้นต้องทำอย่างไร ให้ได้ผลขนาดไหน จะติดตามประเมินผลก็ชัดเจน ฉะนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นถือว่าเป็นหัวใจในการสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับสังคม ซึ่งจะดีด้วยกันทั้งหมด คือท้องถิ่นดี สังคมทั่วไปดี ประเทศโดยรวมก็จะดี ถ้าท้องถิ่นดี

ฉะนั้นจึงควรสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บอกเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนแล้วว่า ท้องถิ่นสำคัญ ต้องส่งเสริมให้ท้องถิ่นเป็นตัวของตัวเอง จัดการด้วยตัวของตัวเอง หน้าที่รัฐบาลกลางคือการส่งเสริมท้องถิ่น ไม่ใช่ไปทำแทนท้องถิ่นหรือกล่าวหาท้องถิ่น ถ้าเห็นว่าท้องถิ่นมีปัญหาอะไรก็ต้องเข้าไปช่วยแก้ไข หรือช่วยสนับสนุนให้เขาแก้ไข ไม่ใช่เอามาเป็นข้ออ้างในการเก็บอำนาจไว้ ถ้ายิ่งเก็บอำนาจไว้ท้องถิ่นก็จะยิ่งอ่อนแอ พอท้องถิ่นอ่อนแอก็ยิ่งเอามาอ้างว่าเห็นไหมท้องถิ่นอ่อนแอ เลยกลายเป็นวงจรอุบาทว์ ถ้าท้องถิ่นอ่อนแอ ฐานสังคมอ่อนแอ สังคมไทยก็อ่อนแอ จะเกิดประโยชน์ก็เฉพาะคนที่มีอำนาจ คนที่มีอำนาจจะหาประโยชน์โดยมิชอบได้ง่ายถ้าประชาชนอ่อนแอ หรือสังคมอ่อนแอ แต่ถ้าสังคมแข็งแรงคนมีอำนาจจะถูกกำกับดูแลให้ต้องพยายามสร้างและรักษาประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตนหรือของพรรคพวก

ท้องถิ่นเข้มแข็งนั้นมีอยู่แล้วและกำลังขยายมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นเพียงแต่ไปเชียร์คนที่เขาทำดีอยู่แล้ว เผยแพร่ให้มากขึ้นๆ ให้ความชื่นชมกับท้องถิ่นที่ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนดี ผู้นำดี หรือทั้งสองอย่าง ไปค้นหาเขา ไปเชียร์เขา สนับสนุนส่งเสริม ชื่นชม เผยแพร่ แล้วช่วยให้ท้องถิ่นเขาได้เป็นเครือข่ายกัน เพื่อที่เขาจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันจัดการในบางเรื่องที่เป็นประเด็นร่วม

หน่วยงานส่งเสริมต่างๆนี่เขาแยกไหมว่าจะส่งเสริมชุมชนหรือท้องถิ่น

ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนไปด้วยกัน เวลาส่งเสริมท้องถิ่นจะรวมทั้งชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้แยก คือถ้าส่งเสริมอย่างหนึ่งก็ไปช่วยอีกอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็ส่งเสริมควบไปเลย อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ที่เขาทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง เขาร่วมกันทั้ง 3 ส่วน คือชุมชน อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็คือส่วนของราชการส่วนภูมิภาค

หรือถ้ายกระดับขึ้นมาเป็นจังหวัด ขณะนี้มีหลายจังหวัดที่เขาเริ่มบริหารงานแบบบูรณาการ คือส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง มีแผนแม่บทอย่างที่ว่า ส่งเสริมให้ชุมชน อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทำงานร่วมกันแล้วมาบูรณาการกันถึงระดับจังหวัด หน่วยงานของจังหวัดก็ส่งเสริมหรือสนับสนุนหรือเชื่อมประสานนโยบายและมาตรการ หน่วยงานของจังหวัดคือหน่วยงานที่เป็นตัวแทนกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหลายที่ส่วนกลาง มีหลายจังหวัดที่เขาเริ่มทำแบบนี้ ส่วนหนึ่งทำภายใต้ ศตจ. หรือ ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน ที่ทำงานมาได้ 2 ปี มีการจดทะเบียนปัญหาความยากจน มีการแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน เรื่องหนี้สิน เรื่องการทำมาหากินต่างๆ แต่โดยรวมก็คือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

จังหวัดที่พยายามทำเช่นนี้ คือพยายามแก้ปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ โดยประชาชนมีบทบาทสำคัญ เขาได้ให้ความสำคัญกับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วนำมาบูรณาการกันทั้งจังหวัด นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำอยู่แล้วขณะนี้ 13 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค กำลังจะขยายไปให้ครบทุกจังหวัดในที่สุด นี่ก็เป็นเรื่องดีๆที่เกิดขึ้น เป็นการร่วมมือรวมพลังระหว่างประชาชน ราชการส่วนท้องถิ่น และราชการส่วนภูมิภาค

อยากให้อาจารย์ช่วยสรุปปัจจัยที่จะช่วยสร้างนโยบายสาธารณะของท้องถิ่น

นโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่น เริ่มจากการมีเป้าประสงค์ของท้องถิ่น ซึ่งอาจจะสรุปรวมอยู่ในคำว่า ท้องถิ่นอยู่เย็นเป็นสุข หรือท้องถิ่นมีสุขภาวะที่พึงปรารถนา นั่นคือเป้าประสงค์ของท้องถิ่น จากนั้นก็ต้องมีวิธีการที่จะบรรลุเป้าประสงค์ ซึ่งในการที่จะบรรลุเป้าประสงค์นี้ ปัจจัยสำคัญน่าจะได้แก่

ประการแรก ความเข้มแข็ง หรือความสามารถในการเรียนรู้และจัดการพัฒนาตนเองของชุมชนในท้องถิ่น

ประการที่ 2 การรวมตัวเป็นเครือข่ายของชุมชนต่างพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพึ่งพาอาศัยกัน หรือการจัดการร่วมกัน จะช่วยยกระดับความรู้ความสามารถขึ้นไป รวมทั้งแพร่ขยายให้กว้างขวาง

ประการที่ 3 การทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆฝ่ายในท้องถิ่น ได้แก่ ฝ่ายชุมชน ฝ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และฝ่ายราชการส่วนภูมิภาค เป็นสำคัญ การทำงานร่วมกันจะช่วยให้การที่จะตระหนักถึงเป้าประสงค์ คิดหาแนวทางไปสู่เป้าประสงค์ และร่วมกันจัดการไปสู่เป้าประสงค์ สามารถทำได้ดีขึ้นสะดวกขึ้น ซึ่งการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน และกำหนดวิธีการร่วมกัน ก็คือนโยบายสาธารณะของท้องถิ่นนั่นเอง แต่จะแปรรูปมาเป็นคำประกาศนโยบาย แปรรูปมาเป็นข้อบังคับหรือข้อกำหนดหรือข้อบัญญัติของท้องถิ่น หรือแปรรูปมาเป็นมาตรการหรือโครงการพัฒนาซึ่งรวมถึงการใช้งบประมาณต่างๆด้วย

ประการที่ 4 การมีนโยบายและมาตรการจากส่วนกลางที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดสภาพที่กล่าวมาข้างต้น เพราะถ้ามีนโยบายและมาตรการจากส่วนกลางที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เอื้ออำนวยต่อการจัดการพัฒนาตนเองของชุมชนในท้องถิ่น เอื้ออำนวยต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างชุมชนต่างพื้นที่ เอื้ออำนวยต่อการทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆฝ่ายในท้องถิ่น เหล่านี้จะช่วยท้องถิ่นทั้งสิ้น                ถ้ามีองค์ประกอบสำคัญ 4 อย่างนี้ น่าจะช่วยให้การกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่น และความสามารถในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลตามนโยบายเหล่านั้นสามารถทำได้ดีขึ้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

24 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/46105

<<< กลับ

นโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน

นโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน


     (คำอภิปรายในเวทีนโยบายสาธารณะ ว่าด้วยเรื่อง “นโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน” เมื่อ 26 กันยายน 2548 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร จัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ)

                มี 2 เรื่องใหญ่ที่เราได้พูดกัน เรื่องที่ 1 คือ วิธีสร้างชุมชนเข้มแข็ง เรื่องที่ 2 คือวิธีสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน

เรื่องชุมชนเข้มแข็งเป็นอย่างไร จะเกิดขึ้นได้อย่างไร จะไปช่วยกันทำให้มากขึ้นดีขึ้นได้อย่างไร เป็นเรื่องที่พูดกันมาเยอะ และทำกันมามากแล้ว ส่วนการสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน ผมคิดว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ผู้จัดให้ความสำคัญในเวทีนี้เพื่อที่จะนำไปพัฒนาต่อ

                การสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน ควรจะมีองค์ประกอบย่อยอย่างน้อย 4 องค์ประกอบ องค์ประกอบแรกคือ คำว่า “นโยบาย” เรานึกถึงอะไรบ้าง ส่วนที่ 2 ระดับของนโยบายมีแค่ไหน ส่วนที่ 3 วิธีสร้างนโยบายทำอย่างไร และส่วนที่ 4 วิธีบริหารนโยบายเพื่อให้ได้ผลดีอย่างต่อเนื่องควรเป็นอย่างไร

ส่วนแรก องค์ประกอบสำคัญๆของคำว่า นโยบายประกอบด้วยอะไรบ้าง ก็น่าจะมีตั้งแต่ปรัชญาและแนวคิด มีเรื่องทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนา จากนั้นก็เป็นเรื่องกฏหมายและข้อกำหนด มาตรการและโครงการต่างๆ แล้วมาถึงเรื่องการดำเนินการรวมถึงบทบาทของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นคำว่า “นโยบาย” น่าจะหมายถึงสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่เราจะได้ชัดเจน

ส่วนที่สอง ระดับของนโยบาย น่าจะมีทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมา นโยบายจะมาจากองค์กรที่มีอำนาจ องค์กรที่เป็นหลักท้องถิ่น คือ อบต. หรือ เทศบาล เป็นองค์กรที่มีอำนาจ เมื่อมีอำนาจก็ต้องมีนโยบาย

ระดับจังหวัด เป็นจุดที่เราเรียกว่า การบริหารราชการส่วนภูมิภาค มีผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันเรามี อบจ. ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลจังหวัด และในอนาคตเราคาดหมายว่า อบจ. จะเป็นองค์กรที่มีความสำคัญมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันหรืออนาคต อบจ. ต้องเป็นองค์กรที่มีบทบาทกำหนดนโยบาย

                กลุ่มจังหวัด เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สามารถมีนโยบายได้เพราะว่ารัฐบาลชุดนี้พยายามบริหารงานในเชิงกลุ่มจังหวัด และสุดท้ายคือ ระดับประเทศ

เรื่องชุมชนนั้น สมัยนี้ต้องถือว่าไม่ใช่เป็นประเด็นเฉพาะในประเทศ แต่เป็นเรื่องสากลด้วย ฉะนั้นถ้าสามารถมีนโยบายระดับโลกได้ก็ยิ่งดี นั่นคือนโยบายที่ผ่านกลไกขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ หรือองค์กรระดับโลกอื่นๆ อย่างธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก เป็นต้น เพราะนโยบายระดับโลกมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ ดังนั้นถ้านโยบายจะไปให้ถึงที่สุดก็ต้องไปถึงระดับโลกด้วย

จากองค์ประกอบของนโยบาย และระดับของนโยบาย ก็ต้องไปคิดว่า แล้วกระบวนการสร้างนโยบายที่ดีทำอย่างไร นี่คือส่วนที่สาม ในประเด็นนี้ผมเห็นว่าควรมีเวทีการมีส่วนร่วมคิดเห็นตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด ประเทศ และระดับโลก มีการพัฒนาร่วมกัน มีการเรียนรู้ร่วมกันของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อว่าเมื่อได้นโยบายที่ดีแล้ว เวลาปฏิบัติก็จะต้องมีการบริหารนโยบายที่ดี ซึ่งก็คือส่วนสุดท้ายหรือส่วนที่สี่ การบริหารนโยบายที่ดี คือ การทำไป มีการวัดผลไป พัฒนาไป โดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

สิ่งที่ผมได้นำเสนอมาน่าจะเป็นโครงร่างเพื่อให้โครงการพัฒนานโยบายสาธารณะนำไปพิจารณา ถ้าเป็นไปได้ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆที่มีความพยายามจะพัฒนานโยบายทำนองนี้ว่า มีแค่ไหนอย่างไร ซึ่งอาจจะมีความสมบูรณ์มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งถ้าเราได้ศึกษาวิจัยส่วนนั้นก็สามารถจะนำมาเสนอแนะต่อว่าจะเพิ่มเติมตรงไหน เน้นตรงไหน เพื่อที่จะได้นำข้อคิดนั้นๆไปปฏิบัติให้ได้จริงในทุกระดับของการพัฒนานโยบาย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/47072

<<< กลับ

อนาคตนโยบายสาธารณะ เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า

อนาคตนโยบายสาธารณะ เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า


(คำอภิปรายในการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “อนาคตนโยบายสาธารณะ เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” จัดโดย สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ (สพน.) หรือ Pubic Policy Development Office (PPDO) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 19 ธ.ค. 2548 ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพมหานคร)

                การพัฒนานโยบายสาธารณะ มีประเด็นให้พิจารณาได้หลากหลาย โดยปกติเราก็จะเริ่มจากสิ่งที่เห็นชัดๆอย่างน้อย 2 ส่วนคือ ส่วนของกระบวนการ กับ ส่วนของสาระ กล่าวคือ การพิจารณานโยบายสาธารณะไม่ได้สำคัญที่ตัวสาระเท่านั้น แต่สำคัญที่กระบวนการด้วย เช่น กระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการปรึกษาหารือ กระบวนการใช้ปัญญา ใช้ความรู้ เป็นต้น แต่การพัฒนานโยบายสาธารณะ เป็นเรื่องใหญ่และสลับซับซ้อน มีแง่มุมให้พิจารณาได้หลายอย่าง ซึ่งผมจำแนกได้เป็น 6 หมวดด้วยกัน ดังนี้

หมวดที่ 1 บริบทใหญ่ ในการคิดนโยบายสาธารณะ บริบทใหญ่มีความสำคัญ หมายถึงบรรดาปัจจัยทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมาย วัฒนธรรม ทัศนคติ ฝ่ายต่างๆในสังคม ฝ่ายการเมือง ฝ่ายรัฐบาล สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยราชการ กระทรวง กรม องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน นักวิชาการ นักคิด สื่อมวลชน และสื่อต่างประเทศ หรือนานาชาติ เป็นบริบทที่ต้องคำนึงถึงตั้งแต่ต้น แล้วบริบทเหล่านี้อะไรอยู่ตรงไหน มีความสำคัญอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร ทั้งในเชิงเหตุหรือในเชิงผลลัพธ์ กับเรื่องนโยบายสาธารณะ ถ้าได้คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ให้มากพอน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

หมวดที่ 2 การจัดการองค์กร องค์กรที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประดุจเสนาธิการในเรื่องของนโยบายสาธารณะก็คือ สพน. หรือสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ การจัดการองค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่องนโยบายสาธารณะ หน่วยงานนี้สังกัดที่ไหน มีบุคลากรอย่างไร ใช้งบประมาณจากไหน เป็นประเด็นสำคัญ ขณะเดียวกัน จะเกี่ยวกับการจัดการองค์กรที่กว้างออกไปด้วย เป็นต้นว่า เรามีคณะกรรมาธิการต่างๆในรัฐสภา ระบบรัฐสภาไทยยังไม่ค่อยได้มีบทบาทอย่างชัดเจนในเรื่องการกำหนดนโยบายสาธารณะ ต่างกับในบางประเทศที่ระบบรัฐสภามีบทบาทอย่างสำคัญ ตัวอย่างเช่นประเทศสวีเดน จะพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของประเทศ หรือ “สุขภาวะ” ของประชาชน รัฐสภาเขาก็ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น มีผู้แทนจากทุกพรรคการเมือง แล้วดำเนินการโดยให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมสูง ทั้งภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการศึกษาพิจารณาในรูปแบบต่างๆเป็นเวลาถึง 3 ปี หลังจาก 3 ปี จึงสรุปมาเป็นนโยบาย ส่วนหนึ่งของนโยบายคือการออกกฎหมาย และการตั้งหน่วยงาน ซึ่งก็ผ่านรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย จะเห็นได้ว่ากระบวนการของเขาต่างจากประเทศไทย มีระดับความสำคัญต่างกัน พอเขาออกกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพ เขากำหนดเป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพโดยเงื่อนไขสำคัญข้อที่ 1 ระบุว่า บรรดานโยบายสาธารณะทั้งหลายต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงจะช่วยให้ได้นโยบายที่เรียกว่า “Healthy Public Policy” หรือนโยบายที่เอื้อต่อสุขภาวะ ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องนโยบายสาธารณะมีความสลับซับซ้อน เกี่ยวพันในหลายมิติ หลายองค์ประกอบ

หมวดที่ 3 บรรยากาศในสังคม บรรยากาศที่เกี่ยวเนื่องกับบุคลิก ทัศนคติของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้นำ รัฐบาล ข้าราชการ นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน นักปฏิบัติการสังคม ทำให้เกิดบรรยากาศ เกิดความรู้สึก เกิดทัศนคติในสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง เหล่านี้มีความสำคัญต่อกระบวนการและสาระของการกำหนดนโยบายสาธารณะด้วย

หมวดที่ 4 กระบวนการของนโยบายสาธารณะ คุณหมอประเวศพูดถึงกระบวนการทางปัญญา ทางสังคม ทางศีลธรรม ผมเห็นว่าต้องมีกระบวนการทางการเมืองเข้าไปด้วย เพราะนั่นคือ กระบวนการในการตัดสินใจ และกระบวนการการบริหารจัดการหลังจากนั้น

เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจารย์บวรศักดิ์ พูดว่าต้องมีส่วนร่วมที่ดี ที่เหมาะสม ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของการใช้วิจารณญาณอีกเหมือนกันว่าอะไรดีอะไรเหมาะสม ประชาชนมีหลายสถานะ มีส่วนร่วมในฐานะอะไร ในฐานะเจ้าของหรือฐานะลูกค้า ในฐานะผู้ร่วมปฏิบัติหรือในฐานะผู้รับบริการ บางอย่างประชาชนรับบริการแต่บางอย่างร่วมปฏิบัติ บางอย่างอาจรู้สึกว่าเป็นเสมือนลูกค้า แต่โดยรวมแล้วควรถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของสังคม ซึ่งการมีส่วนร่วมในฐานะลูกค้ากับมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของจะต่างกัน ตรงนี้ก็ถือว่ามีความสำคัญคือเรื่องของกระบวนการ

หมวดที่ 5 สาระของนโยบาย ตัวสาระของนโยบายเป็นเรื่องกว้างขวางลึกซึ้ง และซับซ้อนมาก นโยบายมีเยอะไปหมด สาระจะเป็นอย่างไร การพิจารณาสาระควรจะเป็นอย่างไร มีเรื่องของการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า “EIA” ซึ่งเดี่ยวนี้ขยายความมาเป็น “Strategic environmental impact assessment” (SEIA) คือพิจารณาประเด็นที่กว้างมากขึ้น หรืออาจมีการทำ HIAได้แก่ “Health Impact Assessment” ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อความเป็นสุขหรือสุขภาวะของประชาชน ซึ่งถ้าทำแล้วก็จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “HPP” คือ “Healthy Public Policy” จะเห็นได้ว่า ตัวสาระนี้มีมากมายเหลือเกิน เพราะนโยบายนั้นมีหลายระดับด้วย

หมวดสุดท้ายคือ “การบริหารนโยบาย” ตรงนี้อาจรวมไปถึง สิ่งที่ควรเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนหรือทุกมิติ ของนโยบายสาธารณะ นั่นคือ เรามีแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐอยู่ในรัฐธรรมนูญ จะเข้ามาเป็นฐานของนโยบายอย่างไร เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการประกาศนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน มียุทธศาสตร์ที่รัฐบาลประกาศเป็นระยะๆ มีวาระแห่งชาติ และมีมาตรการอีกมากมาย ที่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเริ่มต้นของรัฐบาล และตามมาอีกในการประชุม ครม. ก็อาจมีนโยบายเพิ่มเติม

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดประเด็นในเรื่องของการบริหารนโยบาย จะบริหารอย่างไร จะเกี่ยวพันอย่างไร “สพน.” เข้าไปมีส่วนตรงไหน คงไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่จะเป็นจ้าวแห่งการกำหนดนโยบาย แต่เป็นกลไกหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วกลไกอื่นๆอย่างกระทรวงต่างๆ นี่ก็ควรต้องมีนโยบาย ซึ่งเขามีหน่วยเสนาธิการที่เรียกว่าสำนักนโยบายและแผน ควรมีบทบาทและดำเนินการอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ควรพิจารณา

                นอกจากการมองนโยบายสาธารณะภายใต้ 6 หมวดดังกล่าวมาแล้ว เรายังสามารถพิจารณาเรื่องนโยบายสาธารณะใน 4 มิติ ดังต่อไปนี้

                มิติที่ที่หนึ่ง การจัดหมวดหมู่ของนโยบายสาธารณะ ซึ่งสามารถจัดได้เป็น 4 หมวดใหญ่ ได้แก่

หมวดที่ 1 นโยบายเชิงเศรษฐกิจ เศรษฐกิจหมายความรวมถึงรายได้ การทำมาหากิน ความเป็นอยู่ ปัจจัย 4 การแก้ปัญหาความยากจน เฉพาะการแก้ปัญหาความยากจนก็ถือเป็นนโยบายใหญ่มาก กว้างขวางซับซ้อนมาก เกี่ยวข้องกับหน่วยงานแทบทุกหน่วยงาน และมีพลวัตสูง

หมวดที่ 2 นโยบายด้านสังคม ซึ่งรวมถึงเรื่อง ประชากร การศึกษา สุขภาวะ จิตใจ วัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม สำหรับคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรมจะแยกออกต่างหากไม่ได้ คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม แทรกเข้าไปทุกเรื่อง อยู่ในเรื่องสังคม ในเรื่องเศรษฐกิจ ในเรื่องการเมืองการปกครอง ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ฉะนั้นถ้าเราให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ก็ต้องดูด้วยว่าแทรกเข้าไปในเรื่องต่างๆอย่างไร

หมวดที่ 3 นโยบายด้านการเมืองการปกครอง รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า รัฐบาลต้องมีนโยบายพัฒนาการเมือง ต้องมีแผนพัฒนาการเมือง แต่เรายังไม่ค่อยเห็น คำว่าพัฒนาการเมืองต้องรวมถึงการพัฒนา “ระบบ” การเมืองการปกครอง รวมถึงเรื่องธรรมาภิบาล เรื่องความสุจริต ความโปร่งใส ตลอดจนความมั่นคงยั่งยืนพร้อมกับการ “อภิวัฒน์” ของระบบการเมืองการปกครอง

หมวดที่ 4 นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานคือที่คนสร้างขึ้น สิ่งแวดล้อมคือที่ธรรมชาติสร้าง แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ

มิติที่สอง ผมว่าสำคัญ คือ มิติว่าด้วยการก่อเกิดนโยบาย ในปัจจุบัน แม้ยังไม่คิดเรื่องใหม่ ก็มีนโยบายอยู่แล้วเยอะมาก ถ้า สพน. จะค้นมาดูว่ามีอะไรบ้าง จัดหมวดได้อย่างไร เกาะเกี่ยวกันอย่างไร ทำมาแล้วแบบไหน ได้ผลขนาดไหน แนวโน้มข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าจะพัฒนาหรือบริหารให้ดีขึ้นควรทำอย่างไร จะเห็นว่านโยบายที่มีอยู่อาจจะเพียงพอแล้ว ถ้าทำให้ดีขึ้น โดยไม่ต้องคิดนโยบายใหม่ แต่มุ่งทำนโยบายที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งต้องคิดว่าจะทำอย่างไร จะเปิดโอกาสให้หรือชวนคนมามีส่วนร่วมในนโยบายที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้นและดีขึ้นได้อย่างไร เช่นเรื่องความยากจนนี่นะครับชวนคนมามีส่วนร่วมได้เยอะเลย จะลงไปถึงรากแค่ไหนก็ได้ ฉะนั้นการก่อเกิดนโยบายซึ่งรวมถึงการใช้วิธีสานต่อจากนโยบายที่มีอยู่แล้วนี้ ผมว่าสำคัญมาก

ขณะนี้เราใช้คำว่าวาระแห่งชาติกันมาก ที่ท่านนายกฯหรือรัฐบาลนี้กำหนดไว้แล้วก็มีตั้งหลายเรื่อง วาระแห่งชาติคือ Superนโยบาย หรือนโยบายที่สำคัญมากนั่นเอง ดังนั้นวาระแห่งชาติที่มีอยู่แล้วจึงสำคัญ ขณะเดียวกันก็ยังมีนโยบายสำคัญที่กำลังจะเกิด ได้แก่ แผนฯ 10 เป็นต้น นอกจากนั้นยังอาจมีนโยบายที่คิดระยะยาวออกไป หรือที่คิดใหม่เลย คิดแบบฐานศูนย์ เช่น ต้องการให้ประเทศไทยในอีก 50 ปีเป็นอย่างไร แล้วคิดย้อนกลับมา เป็นนโยบายสำคัญที่จะนำไปสู่สภาพอันพึงปรารถนานั้น นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะมองเรื่องการก่อเกิดนโยบาย

มิติที่สามคือ ระดับของนโยบาย นโยบายไม่ใช่ว่าต้องเป็นระดับชาติอย่างเดียว แต่อาจมีทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น สำหรับประชาชนทั่วไป นโยบายระดับท้องถิ่นสำคัญมาก เราจะทำอย่างไรให้ทั้งกระบวนการและสาระของนโยบายทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ดีขึ้นด้วยประการทั้งปวง นี้เป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะนโยบายระดับท้องถิ่น ควรได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็นอันมากทีเดียว

มิติสุดท้าย มิติที่สี่ คือ การบูรณาการทั้งหมด ให้ผสมกลมกลืนและดำเนินไปได้อย่างดีที่สุด

สรุปแล้ว ที่ผมเสนอมา เป็นทั้งเชิงการตั้งประเด็นและเชิงข้อเสนอแนะบางประการให้กับทาง สพน. สำหรับประเด็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม คุณหมอประเวศได้ให้ความสำคัญมากถึงกระบวนการทางศีลธรรม ศีลธรรมจะเป็นทั้งกระบวนการ และเป็นทั้งเนื้อหาสาระ ถ้าใช้กระบวนการทางศีลธรรมแปลว่า ในกระบวนการเอง มีความโปร่งใส ความสุจริต ความเป็นธรรม ความเคารพในคุณค่าของมนุษย์ เป็นต้น การที่ให้คนเข้ามีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมและครบถ้วนกระบวนความในการกำหนดและบริหารนโยบายสาธารณะ ถือเป็นกระบวนการทางศีลธรรมด้วย เพราะบ่งบอกถึงว่า คนที่เป็นเจ้าของและเกี่ยวข้อง มามีส่วนร่วมกันทั้งหมด ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีบทบาท ได้รับการดูแลด้วยความโปร่งใส ด้วยความใจกว้างที่จะรับฟังทุกฝ่าย และในหลากหลายวิธี เช่น ให้โอกาสมีส่วนร่วมทั้งในห้องและนอกห้อง คือถ้าไม่เปิดโอกาสนอกห้องด้วย คนบางฝ่ายบางส่วนจะรู้สึกอึดอัด กระบวนการที่เป็นศีลธรรม คือ กระบวนการแห่งความถูกต้อง และการอยู่ร่วมกันด้วยดี กระบวนการนโยบายสาธารณะจึงควรเป็นกระบวนการทางศีลธรรมด้วยเสมอ ส่วนศีลธรรมในฐานะเป็นสาระของนโยบายนั้น นโยบายทุกนโยบาย จะมีมิติหรือองค์ประกอบที่ไปเกี่ยวพันกับศีลธรรมทั้งสิ้น เพราะนโยบายสาธารณะที่ดีจะต้องนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งต้องอาศัยศีลธรรมเป็นปัจจัยหลัก ฉะนั้นเรื่องศีลธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เห็นด้วยกับคุณหมอประเวศ

                สำหรับที่พาดพิงถึงศูนย์คุณธรรม ซึ่งผมเป็นประธานอยู่ ขอเรียนว่าศูนย์คุณธรรม หรือเรียกเต็มๆว่า “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม” เป็นหน่วยงานใหม่ เพิ่งเกิดขึ้น เราดำเนินงานโดยพยายามจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมเยอะๆ เช่น เมื่อเร็วๆนี้ได้จัดสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม คนมาร่วมมาก มีความเห็นค่อนข้างอิสระ สรุปเป็นแนวทาง 10 ข้อ ซึ่งได้นำเสนอต่อท่านนายกฯด้วย และท่านนายกฯก็กรุณารับแล้วบอกว่าขอให้ไปทำ Road map ให้ละเอียดขึ้น และถ้ามีอะไรให้ช่วยขอให้บอก ซึ่งต่อมาทางเราได้มีโอกาสเสนอขอให้ท่านนายกฯช่วยสนับสนุน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องสื่อ สื่อของรัฐควรจะมีส่วนช่วยในการสร้างคุณธรรมความดีในสังคม เรื่องที่สองคือ การส่งเสริมการเป็นอาสาสมัคร หรือ “จิตอาสา”ถ้าคนมีจิตอาสาจะคิดในทางดี คิดเพื่อผู้อื่นและเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะเราได้เสนอว่ารัฐบาลควรส่งเสริมให้ข้าราชการเป็นอาสาสมัคร เพราะบทบาทและพฤติกรรมของข้าราชการมีอิทธิพลต่อสังคมมาก ถ้าข้าราชการทำดีจะมีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของสังคมในวงกว้าง คนจะถือเป็นแบบอย่างและคิดดี พูดดี ทำดี กันมากขึ้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

12ก.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/49669

<<< กลับ

การมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย

การมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย


( Power Point ประกอบการบรรยายหัวข้อ “การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน” เมื่อ 1 ส.ค. 49 ณ สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร “ธรรมาภิบาลของผู้บริหารระดับกลาง” รุ่นที่ 4 จัดโดย สถาบันพระปกเกล้า )

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

14 ก.ย. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/50099

<<< กลับ