สรุปการสานเสวนา “การทำและใช้ EM Ball ที่จะได้ผลดีอย่างแท้จริงและข้อพึงระวัง

สรุปการสานเสวนา “การทำและใช้ EM Ball ที่จะได้ผลดีอย่างแท้จริงและข้อพึงระวัง


นที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔  ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ

 

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นำการเสวนาเรื่อง “การทำและใช้ EM Ball ที่จะได้ผลดีอย่างแท้จริงและข้อพึงระวัง” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่เกิดประโยชน์  และสร้างให้เกิดกัลยาณมิตรในการพูดคุยไม่ให้เกิดความขัดแย้งจากการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์  เกิดการสังเคราะห์ข้อมูลและองค์ความรู้ให้แก่สังคมไทยร่วมกัน  มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นักวิชาการ, ผู้ผลิต, ผู้ใช้, ปราชญ์ชาวบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องสำคัญในการเสวนาดังนี้

 

แนวคิดและการก่อเกิด EM Ball

มูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คิวเซ) ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ EM Ball และการนำไปใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นมานานแล้วจากแนวคิดของ ดร.เทรูโอะ ฮิหงะ แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว  โดย EM ย่อมาจาก Effective Microorganism มีทั้งแบบก้อน (EM Ball) และแบบน้ำ (EM Liquid)  แนวคิดนี้เริ่มเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยภายหลังจากการที่มีการใช้สารเคมีในการเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับดินและน้ำและส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร  จึงได้หาแนวทางในการจัดการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักการทำงานของจุลินทรีย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ  ชนิดก่อโรค  ชนิดมีประโยชน์  และชนิดไม่เกิดประโยชน์และโทษ (กลาง)  หลักการสำคัญของ EM คือไม่ใช่การบำบัดน้ำเสียโดยตรง แต่ใช้หลักการนำจุลินทรีย์ชนิดมีประโยชน์ไปแย่งอาหารจากจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่เป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสีย โดยได้มีการส่งเสริมให้ใช้ในเกษตรกรรมและประมงมาแล้วกว่า ๑๕ ปี  มีองค์กรสนับสนุนให้นำไปใช้อย่างแพร่หลาย  เริ่มจากใช้น้ำจุลินทรีย์เพื่อปรับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่มีน้ำเน่าเสียเป็นเวลานาน  และได้พัฒนาจากชนิดน้ำให้เป็นแบบก้อนลูกบอลล์  เนื่องจากเมื่อใช้แบบน้ำได้ระยะหนึ่งพบว่า ไม่สามารถปรับสภาพน้ำเสียที่ลึกลงไปบริเวณก้นน้ำได้ จึงได้แปรสภาพการผลิตให้เป็นแบบก้อน  ซึ่งภายหลังจากการนำไปใช้พบว่ามีการเพิ่มอ๊อกซิเจน (O2) และลดก๊าซมีเทนในน้ำได้เป็นอย่างดี

 

เรียนรู้ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การปฏิบัติ

ภายหลังจากที่มีการแพร่หลายของกลุ่มเกษตรกรรมธรรมชาติ และปัญหามลภาวะจากการใช้สารเคมีจำนวนมาก ทำให้มีกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านที่สนใจในการใช้วิถีธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิตมากขึ้น  ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชลบุรี ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เริ่มสนใจการใช้วิถีธรรมชาติ เนื่องจากมีการใช้สารเคมีในพื้นที่อย่างแพร่หลาย ทำให้มีสารพิษตกค้างและส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน เกิดความเสียหายอย่างมาก  จึงได้เรียนรู้วิธีการผลิตจากกสิกรรมธรรมชาติและนำมาใช้ในพื้นที่ชุมชนเกาะจันทร์ และชาวบ้านผลิต EM Ball กันเอง ใช้การพึ่งพาธรรมชาติให้มากที่สุด โดยใช้ข้าวเหนียวเป็นหัวเชื้อสร้างจุลินทรีย์จากดินในป่าไผ่ และสังเกตลักษณะภายนอกของเชื้อจุลินทรีย์ว่าสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ หากมีสีขาวก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  นอกจากนี้มีการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ที่มีอยู่ในชุมชน เช่น มะนาว มะม่วง มะกรูด เพื่อใช้รักษาโรคผิวหนัง น้ำกัดเท้า เป็นต้น  จากการผลิตและใช้ในพื้นที่มาระยะหนึ่ง พบว่าพื้นที่ที่ใช้ EM Ball น้ำจะมีลักษณะใสสะอาด และผลผลิตทางการเกษตรจะดีกว่าพื้นที่ที่ไม่ใช้  เป็นผลจากการใช้ธรรมชาติดูแลซึ่งกันและกัน  ทำให้สามารถควบคุมผลผลิต น้ำ และสภาพอากาศได้

ขณะเดียวกัน ชาวชุมชนหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร ก็ประสบปัญหาน้ำเสียใกล้แหล่งชุมชนที่ระบายออกมาทุกวัน ทำให้ต้องหาวิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำ  จึงได้เรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ และเรียนรู้การทำ “ดังโงะ” เป็นชื่อเรียก EM Ball ในภาษาญี่ปุ่น โดยใช้เปลือกของสัปปะรดเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้อย่างดี  หรืออาจใช้เปลือกผลไม้ที่มีสารเคมีน้อยที่สุดนำมาหมักกับน้ำเชื้อจุลินทรีย์ ต้องมีการล้างทำความสะอาด และไม่ควรนำผักมาใช้เพราะมีสารเคมีอยู่มากและไม่เหมาะสม  ในการผลิต EM Ball มีกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างออกไปบ้าง แต่ก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน  คือ ใช้ดินเหนียว รำหยาบ แป้งข้าวเหนียวที่มีเชื้อจุลินทรีย์อยู่ มาคลุกเคล้าและเก็บอยู่ในอุณหภูมิห้อง  กระบวนการผลิตต้องมีระยะเวลาในการเพาะเชื้อที่พอเหมาะ ห้ามตากแดด ประมาณ ๑๕ วันถึง ๑ เดือน  นำไปใช้ปรับสภาพน้ำเสียให้ดีขึ้นได้  สิ่งที่ต้องระวังคือเพลี้ยแป้งและเพลี้ยกระโดด ที่อาจส่งผลต่อการทำให้เกิดการเน่าเสีย หลังจากที่ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์แล้ว ก็สามารถนำไปใช้ทำน้ำยาซักผ้าน้ำยาสระผมได้อีกด้วย  ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านผลิตใช้กันในครัวเรือนเท่านั้น  แต่ก็มีชุมชนบ้านไร่ จ.อุบลราชธานี นำสูตรนี้ไปใช้ในพื้นที่ได้ผลดีเช่นกัน  ประเด็นสำคัญของการทำให้คุณภาพ EM มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ ระยะเวลาการเพาะเชื้อที่พอเหมาะพอควร และใช้ให้เหมาะสมกับสภาพน้ำด้วย  มีตัวอย่างพื้นที่ที่นำไปใช้และได้ผลดี เช่น ชุมชนวัดกลางเคยมีขยะและน้ำเน่าเสียจำนวนมาก หลังจากได้มีการนำจุลินทรีย์มาใช้ก็ทำให้ปัญหาน้ำเน่าเสียลดลงได้ หรือบางพื้นที่ใช้ระบบน้ำหยดเพื่อบำบัดน้ำเสียได้ผลอย่างดีเช่นกัน

อีกพื้นที่หนึ่งที่มีตัวอย่างการใช้ EM Ball ได้ผลดี คือ ชุมชนบางบัว กรุงเทพฯ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ตลอดแนวคลองบางบัวซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมต่อมาจากคลองรังสิต ไหลผ่านไปคลองลาดพร้าว และเชื่อมต่อไปคลองแสนแสบต่อไป  ชุมชนบางบัวมีการเรียนรู้และผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อบรรเทาน้ำเน่าเสียในคลองมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เห็นผลชัดเจนในพื้นที่ตนเอง เพราะลักษณะน้ำในคลองไหลอยู่ตลอดเวลา จึงต้องไปใช้ในบริเวณน้ำนิ่ง  เช่นเดียวกับชุมชนร่วมใจพัฒนาเหนือ (คลองบางบัวเหนือ) เขตสายไหม ได้ทดลองทำและใช้ด้วยตัวเองผ่านการเรียนรู้จากอาจารย์ผู้รู้ต่างๆ  โดยวิธีการผลิตใช้การหมักเปลือกผลไม้ เช่น ส้ม สัปปะรด เป็นต้น  อัตราส่วนเปลือกส้มต่อกากน้ำตาลต่อน้ำเป็น ๓:๑:๑๒  หมักในถังทึบแสงประมาณ ๔๕ วันถึง ๓ เดือน  และการนำไปใช้ให้เอาน้ำหมัก ๑ ลิตรผสมน้ำ ๒๐ ลิตรนำไปเทราดหรือรดในบริเวณที่มีน้ำเน่าเสีย พบว่ากลิ่นน้ำขยะเน่าเสียไม่มี  ซึ่งจากการใช้มาระยะหนึ่งมีข้อสังเกตว่า การใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ต้องใช้บริเวณน้ำนิ่งไม่ลึกมาก  แต่การใช้ EM Ball ใช้สำหรับน้ำนิ่งและลึกเท่านั้น  นอกจากนี้ยังมีผลการนำไปใช้กับสัตว์ เช่น สุกร  โดยนำน้ำผสมน้ำหมักให้สุกรดื่ม พบว่ากลิ่นมูลสุกรมีน้อยลงอีกด้วย

นอกจากการผลิตและใช้ภายในกลุ่มชาวบ้านหรือชุมชนต่างๆ แล้ว หน่วยงานอย่างการเคหะแห่งชาติได้นำแนวคิดนี้มาใช้กับโครงการบ้านเอื้ออาทร  เนื่องจากการทำระบบบำบัดน้ำเสียโดยทั่วไปต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงได้หาทางเลือกอื่นเพื่อบำบัดน้ำเสียในชุมชน  โดยได้ร่วมมือกับมูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คิวเซ) นำ EM ทั้งแบบก้อนและแบบน้ำมาใช้  ซึ่งพบว่าค่า BOD ใกล้เคียงกับค่าที่เกณฑ์มาตรฐานรับรอง  นอกจากนี้ชุมชนได้มีการแปรรูป EM แบบน้ำ ผลิตเป็นน้ำยาต่างๆ ในครัวเรือนอีกด้วย   เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้งาน การเคหะแห่งชาติได้ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาวิจัยการใช้ EM  ซึ่งผลการวิจัยพบว่า หากใช้ในอัตราส่วนน้ำ EM ๑ ลิตรต่อน้ำเปล่า ๘๐๐ ลิตร สามารถลดกลิ่นน้ำเน่าเสียลงได้ และน้ำใสขึ้น แต่ค่า BOD ไม่เปลี่ยนแปลง  ซึ่งได้มีการนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ เช่น ลพบุรี อุทัยธานี สามารถช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสียลงได้เช่นกัน  หรือในชุมชนวัดตึก กรุงเทพมหานคร ซึ่งประสบปัญหาน้ำเน่าเสียจากขยะในบริเวณรอบๆ ชุมชน ได้ทดลองใช้ EM พบว่านอกจากจะลดกลิ่นน้ำเน่าเสียได้แล้ว ยังสามารถลดการเจริญเติบโตของยุงได้อีกด้วย

ความคิดเห็นของชาวบ้านต่อข้อถกเถียงเกี่ยวกับการนำ EM Ball ไปใช้ก็คือ ชาวบ้านอยากรู้ว่า “การนำไปใช้จริง” กับ “ผลการทดลองทางวิชาการ” ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ตรงกันหรือไม่ ?  เพราะจากที่ทดสอบและทดลองด้วยตัวเอง ก็ยังไม่เห็นว่าเกิดผลเสียอย่างไร  จึงอยากให้มีหน่วยงานทดสอบหรือทดลองว่า EM สามารถบำบัดน้ำเสียได้จริงหรือไม่ ?

มุมมองนักวิชาการ: จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติจริง

ในมุมของนักวิชาการได้เสนอข้อคิดเห็นหลากหลาย  เริ่มจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่กล่าวถึงว่า ต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องเท้ในระบบที่จะใช้จุลินทรีย์ในการแก้ปัญหา  ตัวอย่างเช่น ในอดีตพบปัญหาน้ำเสียจากโรงงานแป้งมัน จึงต้องการลดค่า COD, BOD และกระตุ้นการเกิดก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์  ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยจนสามารถควบคุมระบบบำบัดให้สร้างก๊าซชีวภาพได้   การที่จะใช้จุลินทรีย์ให้เป็นประโยชน์ในการบำบัดน้ำเสียจากภาวะน้ำท่วมขังในปัจุบันนั้น ต้องคำนึงถึงเป้าหมายที่ต้องการใช้ เช่น น้ำท่วมขังในที่จำกัด ในห้องน้ำ น้ำขังใต้ถุนบ้าน และต้องทราบ ชนิด ปริมาณ และสัดส่วน จุลินทรีย์ ที่จะนำไปใช้ให้ได้ผล

ที่ผ่านมา การพยายามใช้จุลินทรีย์แก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย มีหลายหน่วยงานที่พัฒนาการผลิต EM Ball และจุลินทรีย์เดี่ยวบำบัดน้ำเสีย  เช่น องค์การเภสัชกรรม กรมพัฒนาที่ดิน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (DASTA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นต้น  ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้มีการนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ในวงกว้างในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา  ทางสำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์จึงได้จัดประชุมหน่วยงานของรัฐฯ ที่มีการผลิต EM และจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย เพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน และดูแลให้มีคำแนะนำการใช้ที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพตามความต้องการของหน่วยงานที่แนะนำการใช้

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในการผลิต EM หรือ EM Ball  และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียในการใช้ EM และจุลินทรีย์สำหรับบำบัดน้ำท่วมขังในพื้นที่กว้าง ยังไม่ชัดเจน

บางทัศนะได้ตั้งข้อสังเกตว่า EM Ball อาจมีจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ปนเปื้อนอยู่ได้  ในการผลิตต้องทำด้วยความระมัดระวัง และต้องป้องกันร่างกายจากการสัมผัส  นอกจากนี้ การนำจุลินทรีย์จาก EM หรือ EM ball ใส่ลงในน้ำ อาจทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงได้ และอาจส่งผลเสียในระยะยาว

 

สรุปส่งท้าย

ขณะนี้ มีหลายหน่วยงานพยายามเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูผลจากภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ  ซึ่งสิ่งที่ต้องทำในลำดับแรกๆ คือการบรรเทาน้ำเน่าเสีย  เพื่อให้พื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติ   ซึ่งยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการใช้ EM Ball ว่าสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ ?  และยังขาดการประสานงานเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างชัดเจน   จึงมีข้อเสนอให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นหน่วยงานเชื่อมประสานในด้านข้อมูล ทั้งที่ได้จากภูมิปัญญาชาวบ้านและหน่วยงานที่มีการผลิตและใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย และที่ได้จากนักวิชาการ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่แท้จริง

ถึงแม้ขณะนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปของการนำ EM Ball ไปใช้ ว่าเกิดประโยชน์ได้จริงหรือไม่ ?  แต่ประเด็นนี้ได้นำไปสู่แนวทางแรกเริ่ม ในการจัดการกับข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่จำนวนมากแต่ยังขาดการจัดการอย่างเหมาะสม และการเชื่อมโยงข้อมูลความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้อย่างผิดๆ  เพราะผลเสียที่ได้รับ อาจหมายถึงความเชื่อมั่นของคนในสังคมลดลง และอาจแผ่ขยายนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาก็เป็นได้

ปัญหาความไม่สมดุลในการใช้ทรัพยากรทั้งหลาย นำไปสู่ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย และส่งผลเสียต่อการดำรงชีวิตของคนจำนวนมาก   ปัญหาการจัดการผังเมืองที่มีการรุกล้ำพื้นที่น้ำท่วมผ่าน (Flood Way) นำไปสู่หายนะของประเทศครั้งใหญ่  ผลที่ตามมาก็คือ การเกิดน้ำเน่าเสียเป็นวงกว้าง   ดังนั้น ประชาชนส่วนหนึ่งใช้ EM Ball เป็นทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น  แต่จะได้ประโยชน์จริงหรือไม่นั้น ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเก็บข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์  และเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ

 

วรนาฏ  เวนุอาธร     เรียบเรียง/สังเคราะห์

ดร.กัญญวิมว์  กีรติกร     ตรวจทาน/แก้ไข

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/476393

<<< กลับ

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อเสนอเพื่อสร้างความปรองดองที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี สันติวัฒนธรรภม และการมีส่วนร่วม

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อเสนอเพื่อสร้างความปรองดองที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี สันติวัฒนธรรภม และการมีส่วนร่วม


วันที่  20  มกราคม  2555

 

เรียน    นายกรัฐมนตรี

 

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและพื้นฟูประชาธิปไตยนั้น  คณะบุคคลและองค์กรตามรายชื่อข้างท้ายนี้เห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ   และเพื่อให้การดำเนินนโยบายสามารถบรรลุผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริงและยั่งยืน  จึงขอเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการส่งเสริมกระบวนการสันติวิธี สันติวัฒนธรรม และการมีส่วนร่วม ดังต่อไปนี้

  1. ส่งเสริมกระบวนการสานเสวนาในการจัดการความขัดแย้งต่างๆ  ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาพูดคุยกันอย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์  โดยใช้การฟังอย่างตั้งใจและไม่ด่วนสรุปตัดสินผู้อื่น  เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ไตร่ตรองและปรับเปลี่ยนตนเอง  อันจะนำไปสู่ทางออกของปัญหาร่วมกัน
  2. สนับสนุนการปฏิบัติใช้กระบวนการสันติวิธี สันติวัฒนธรรม และการมีส่วนร่วม รวมทั้งการเผยแพร่รูปธรรมของกระบวนการสานเสวนาในการจัดการความขัดแย้ง ที่ประสบผลสำเร็จแล้วในหลายกรณี  โดยผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้สังคมรับรู้  เห็นทางออกในการแก้ไขความขัดแย้ง  และสร้างความปรองดองในสังคมไทย
  3. จัดให้มีกลไกเพื่อดำเนินการตามข้อ 1. และ 2. ให้บรรลุผล  รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมกระบวนการสันติวิธี สันติวัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ  ทั้งนี้กลไกและมาตรการดังกล่าวต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมโดยตลอด

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 

ขอแสดงความนับถือ

นายโคทม  อารียา                    อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.นพ.วันชัย  วัฒนศัพท์           ผู้อำนวยการหลักสูตรการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
สถาบันพระปกเกล้า

นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม      ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา

สำนักงานปฏิรูป

สภาพัฒนาการเมือง

สำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทย            สภาเครือข่ายพลเมือง

สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

มูลนิธิกองทุนไทย

ประสานงาน     กรรชิต สุขใจมิตร   โทรศัพท์ 02-318-3959   มือถือ  082  3650432

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/476396

<<< กลับ

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การนำสันติสุขและความปลอดภัยกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การนำสันติสุขและความปลอดภัยกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้”


กราบเรียน            ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ด้วยสังคมไทยมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย  แต่ความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดเกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) โดยในช่วงเวลากว่าเจ็ดปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตกว่าสี่พันคนแล้วนั้น  ข้าพเจ้า คณะบุคคลตามรายชื่อข้างท้ายนี้ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับนโยบายการเร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล  และเพื่อให้การดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ข้าพเจ้าจึงมีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

  1. ในการจัดการความขัดแย้งใน จชต. ที่ซับซ้อนมากนั้น ควรมีการจำแนกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กระบวนการที่จะร่วมกันพิจารณา เนื้อหาสาระ จังหวะเวลาและขั้นตอน และการตัดสินใจทางการเมือง ปัจจุบันมีโอกาสที่ดีที่จะขับเคลื่อน  ด้วยรัฐบาลได้แสดงวิสัยทัศน์และปณิธานทางการเมือง และประชาชนมีความตื่นตัวในทางการเมืองและความยุติธรรมมากขึ้น  ในเบื้องต้นรัฐบาลจึงควรสนับสนุนกระบวนการที่ดี ที่ทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมพิจารณาเนื้อหาสาระ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมือง และการดำเนินงานในจังหวะเวลาที่เหมาะสม มากกว่าที่รัฐบาลจะตัดสินใจและดำเนินการฝ่ายเดียว
  2. ในการส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น  รัฐบาลควรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องการจัดการตนเองของจังหวัด ซึ่งแม้จะเน้น จชต. แต่ก็รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ด้วย  โดยคณะกรรมการฯ ควรเสนอรูปแบบทางเลือกหลายรูปแบบเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาในลำดับต่อไป
  3. ในการมีส่วนร่วมตามข้อ 2. นั้น รัฐบาลควรสนับสนุนกระบวนการสานเสวนาในแนวกว้างและแนวลึก ในพื้นที่และนอกพื้นที่ และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยที่ภาคประชาสังคมอาจทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ และสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นของรัฐ ช่วยนำเสนอการใช้เหตุผลของฝ่ายต่าง ๆ สู่การพิจารณาของสาธารณชน
  4. ในการนำสันติสุขกลับคืนมาและลดการใช้ความรุนแรงนั้น รัฐบาลควรสนับสนุนการพูดคุยกับผู้เห็นต่าง โดยให้ความสำคัญแก่การพูดคุยนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง และใช้หลาย ๆ ช่องทางเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและนอกภาครัฐ และรวมถึงการขอความร่วมมือจากมิตรประเทศ แต่ควรใช้กระบวนการที่คล้ายการทูตแบบเงียบ ๆ และใช้ความระมัดระวัง มิให้มีการใช้ประโยชน์ในการยกระดับความขัดแย้งสู่สากล

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการต่อไปด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

นายโคทม  อารียา                              อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

นายแพทย์วันชัย  วัฒนศัพท์            ผู้อำนวยการหลักสูตรการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  สถาบันพระปกเกล้า

นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม              ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา

 

และในนามของ

  1. นายจอม  เพชรประดับ                              สื่อมวลชน
  2. นางสาวรุ่งรวี  เฉลิมศรีภิญโญรัช            International Crisis Group
  3. นางสาวพรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ                 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  4. นายกรรชิต  สุขใจมิตร                               มูลนิธิกองทุนไทย
  5. นางสาวราณี  หัสสรังสี                              คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  6. นางสาวประทับจิต  นีละไพจิตร             มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
  7. นายเอกราช  ซาบูร์                                      มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย
  8. พันเอกเอื้อชาติ  หนุนภักดี                        นักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข   สถาบันพระปกเกล้า
  9. นายเพิ่มศักดิ์  มกราภิรมย์                         สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  10. นายเอกพันธุ์  ปิณฑวณิช                          สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  11. นางสาวใจสิริ  วรธรรมเนียม                    สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  12. นายพลธรรม์  จันทร์คำ                              สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  13. นางสาวศิริพร  เพ็งจันทร์                          สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/476482

<<< กลับ

 

ทำอย่างไรจึงจะได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง

ทำอย่างไรจึงจะได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง


ผู้ปกครองบ้านเมือง” น่าจะหมายถึง “นักการเมือง” ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น

การจะได้ “นักการเมือง” ดีแค่ไหน น่าจะขึ้นอยู่กับ “ปัจจัยหลัก 3 เส้า” ได้แก่ (1) คุณภาพของประชาชนและสังคม (2) คุณภาพของระบบเกี่ยวกับการเมือง และ (3) คุณภาพของนักการเมือง ซึ่งแสดงเป็นภาพได้ดังนี้

แต่ละปัจจัยหลักจาก “ปัจจัยหลัก 3 เส้า” จะมีผลต่ออีก 2 ปัจจัยหลัก ดังนั้นจึงควรใช้ความพยายามอย่างจริงจังและอย่างต่อเนื่อง ในวันที่จะทำให้แต่ละปัจจัยหลัก คือ (1) คุณภาพของประชาชนและสังคม (2) คุณภาพของระบบเกี่ยวกับการเมือง และ (3) คุณภาพของนักการเมือง ดีขึ้นและดีขึ้นอยู่เสมอเท่าที่สามารถทำได้

ทั้งนี้ควรเป็นการดำเนินการในทุกระดับของการเมืองการปกครอง ตั้งแต่ระดับฐานรากคือระดับท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ โดยเฉพาะท้องถิ่นมักถูกละเลย จึงควรให้ความสำคัญกับระดับท้องถิ่นให้มากพอ ถ้ามีการพัฒนาที่ดีในระดับท้องถิ่น จะเกิดผลดีต่อประชาชนฐานรากโดยตรงและในทันที พร้อมกับจะส่งผลดีและเป็นรากฐานมั่นคงให้กับการพัฒนาในระดับชาติด้วย

ในแผนการและมาตรการพัฒนาประชาชนและสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ควรเน้นการพัฒนา “คุณธรรมความดี” ให้มากเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนและสังคมมีคุณภาพดี ช่วยนำสู่การมีระบบเกี่ยวกับการเมืองที่มีคุณภาพดี และช่วยเพิ่มโอกาสที่จะมีนักการเมืองคุณภาพดี หรือเพิ่มโอกาสที่จะได้คนดีมาปกครองบ้านเมืองนั่นเอง

              ในกรณีที่มีปัญหา “คนไม่ดี” มาปกครองบ้านเมือง และเป็นกรณีที่มีความชัดเจนพอ ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ วิธีแก้ปัญหานี้ทางหนึ่งที่อาจนำมาปฏิบัติได้ คือ “ไม่สมาคมด้วย” เช่น ไม่รับตำแหน่งที่นักการไม่ดีเป็นผู้แต่งตั้งไม่ทำงานให้กับนักการเมืองที่ไม่ดี หรือถ้าดำรงตำแหน่งซึ่งนักการเมืองที่ไม่เป็นผู้แต่งตั้งก็ลาออกเสีย เป็นต้น

(บันทึกความคิดสำหรับการอภิปรายหัวข้อ “ทำอย่างไรจึงจะได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง” ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปรายอีก 2 ท่าน คือ คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ และผศ.ปิยะ กิจถาวร โดยมีดร.พิมล หรือตระกูล เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย การอภิปรายนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการบรรยายพิเศษ ครั้งที่ 3/2549 เรื่อง “ตามแนวพระบรมราโชวาทส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมือง” จัดโดย สถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 ณ โรงแรมเจบี หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

26 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ : https://www.gotoknow.org/posts/40977

<<< กลับ

งานพระราชทานเพลิงศพ

งานพระราชทานเพลิงศพ


ผู้ร่วมงานสามารถจอดรถห้างสรรพสินค้าฝั่งตรงข้ามวัดธาตุทองได้ทั้ง2วัน

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/494491

<<< กลับ

ข่าวการเสียชีวิตของ อ.ไพบูลย์

ข่าวการเสียชีวิตของ อ.ไพบูลย์


ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกฯ เสียชีวิตแล้ว วันนี้ (9 เมษายน) ด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน ในวัย 71 ปี

วันนี้ (9 เมษายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลชั่วคราวของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน ด้วยวัย 71 ปี เมื่อเวลา 13.43 น. ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังป่วยมาเป็นระยะเวลานาน และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนานประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนจะสิ้นใจอย่างสงบ ซึ่งจะมีการตั้งศพที่วัดธาตุทอง และอยู่ระหว่างการประสานงานขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เกิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2484 ที่บ้านนาคู ตำบลนาคู อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้สมรสกับ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ มีบุตร-ธิดา ด้วยกัน 2 คน คือ นายพิชา วัฒนศิริธรรม และ นางชมพรรณ กุลนิเทศ

สำหรับประวัติการทำงานด้านการเมืองของ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลชั่วคราวของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกตำแหน่ง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 ต่อมา นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 ยุติลง โดยเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูล รับฟังความคิดเห็น และนำไปสู่นโยบายในการปฏิรูปประเทศไทย

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/484703

<<< กลับ

ประวัติไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม (ภาษาไทยฉบับเติม)

ประวัติไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม (ภาษาไทยฉบับเติม)


คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นนักกิจกรรมพัฒนาสังคมอิสระ ซึ่งเน้นการพัฒนาสังคมแบบบูรณาการและเป็นองค์รวม (Integrative and Holistic Societal Development) และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการสร้างเสริมพลังชุมชนท้องถิ่น (Local Community Empowerment) เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความดีงามเข้มแข็งเป็นสุข, การพัฒนาองค์กรรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ให้มีความดี ความสามารถ และความสุข อย่างเพียงพอและได้สมดุล, การกระจายอำนาจการปกครองให้ชุมชนท้องถิ่นทุกระดับ (ระดับ อบต. ระดับเทศบาล และระดับจังหวัด) สามารถจัดการตนเองได้อย่างมากที่สุด, การพัฒนาประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมคิดร่วมทำอย่างจริงจังและกว้างขวาง (Deliberative Democracy), การพัฒนาสันติวัฒนธรรม(Culture of Peace) และกระบวนการสันติวิธี (Peacebuilding Processes), การสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวม (Holistic Health Promotion) และการส่งเสริมคุณธรรมความดี (Goodness, Virtues, Morality and Ethics) ในทุกส่วนและทุกระดับของสังคม

ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 ถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2551 คุณไพบูลย์ได้ร่วมในรัฐบาลที่มี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และต่อมา (ตั้งแต่มีนาคม 2550) ได้ดำรงตำแหน่งรองนายก-รัฐมนตรีดูแลด้านสังคมเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง

ประสบการณ์ชีวิตการทำงานของคุณไพบูลย์ มีความผันแปรและหลากหลายค่อนข้างมาก เริ่มจากการเป็นเจ้าหน้าที่และผู้บริหารในธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2510-2523) ได้รับการยืมตัวไปเป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (พ.ศ.2523-2525) ออกไปเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทั่วไปธนาคารไทยทนุ จำกัด (พ.ศ.2526-2531) จากนั้นผันตนเองออกจากวงการธุรกิจเข้าสู่ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน โดยเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ.2531-2540) เป็นกรรมการผู้จัดการสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) ซึ่งทำงานพัฒนาชุมชนแออัดทั่วประเทศโดยมีกองทุนเริ่มต้น 1,250 ล้านบาท ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (พ.ศ.2540-2543) โดยมีพันธกิจที่จะทำให้ธนาคารออมสินเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ท้ายสุดก่อนถึงวัยเกษียณอายุเล็กน้อยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) (พ.ศ. 2543-2547) และในช่วงหลังวัยเกษียณอายุนี้ คุณไพบูลย์ได้เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมพัฒนาสังคมในหลากหลายประเด็น และกับหลากหลายสถาบัน โดยมีการแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เป็นระยะ ๆ จวบจนปัจจุบัน

ในทางการเมืองหรือกึ่งการเมือง คุณไพบูลย์เป็นสมาชิกวุฒิสภา (พ.ศ.2539-2543) เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (พ.ศ.2544-2548) และเป็นประธานสภาผู้ชมผู้ฟังรายการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) (พ.ศ. 2551-2552)

คุณไพบูลย์เป็นนักเรียนทุนรุ่นที่ 1 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ ( B.Sc. (Econ.)) จากมหาวิทยาลัยฮัลล์ (University of Hull) ประเทศอังกฤษ และได้รับดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณไพบูลย์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2484 ที่ ตำบลนาคู อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมรสกับคุณหญิงชฏา วัฒนศิริธรรม (อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)) มีบุตร 1 คน ธิดา 1 คน และมีหลานปู่ 1 คน หลานตา 2 คน
กรกฏาคม 2554

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/450613

<<< กลับ

หนทางสู่ความสุข

หนทางสู่ความสุข


( PowerPoint และเอกสารประกอบการเสวนา หัวข้อ “หนทางสู่ความสุข” เมื่อ 3 ธ.ค. 53 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวเรื่อง “ความสุขกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของมนุษย์” วันที่ 2 – 3 ธันวาคม 2553 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร จัดโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/413903

<<< กลับ

ประวัติย่อของนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เดือน กรกฎาคม 2553

ประวัติย่อของนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เดือน กรกฎาคม 2553


ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ประธานกรรมการ มูลนิธิหัวใจอาสา

อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ตำแหน่งงานที่สำคัญในอดีต

: เจ้าหน้าที่และผู้บริหารในธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2510 – 2523)

: กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (พ.ศ.2523 – 2525)

: ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) (พ.ศ.2526 – 2531)

: ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ.2531 – 2540)

: กรรมการผู้จัดการ สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง การเคหะแห่งชาติ (พ.ศ.2535 – 2540)

: สมาชิกวุฒิสภา (มีนาคม 2539 – มีนาคม 2543)

: ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (ธันวาคม 2540 – ตุลาคม 2543)

: ประธานกรรมการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พ.ศ.2543 – 2547)

: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (8 ตุลาคม 2549 – 5 กุมภาพันธ์ 2551)

: รองนายกรัฐมนตรี (7 มีนาคม 2550 – 5 กุมภาพันธ์ 2551)

ตำแหน่งภารกิจปัจจุบัน

: ประธานกรรมการ มูลนิธิหัวใจอาสา (ตั้งแต่ 28 เมษายน 2551)

: ประธานคณะที่ปรึกษา สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตั้งแต่ มกราคม 2550)

: กรรมการ หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน สถาบันพระปกเกล้า (ตั้งแต่ ปี 2550)

: กรรมการอำนวยการศึกษา วิทยาลัยสมานฉันท์สันติสุข สถาบันพระปกเกล้า (ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2550)

: กรรมการ สภามหาวิทยาลัยมหิดล (ตั้งแต่ปี 2551)

: กรรมการ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ตั้งแต่ปี 2551)

: กรรมการ สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ตั้งแต่ปี 2551)

: กรรมการ สภาสถาบันอาศรมศิลป์ (ตั้งแต่ปี 2551)

: กรรมการ กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง (ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2551)

: ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) (ตั้งแต่ ตุลาคม 2551)

: กรรมการ คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม (ตั้งแต่ 5 พฤศจิกายน 2552)

: กรรมการ คณะกรรมการส่งเสริมจิตสำนึกด้านจริยธรรม สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (ตั้งแต่ พฤษภาคม 2553)

: กรรมการ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (ตั้งแต่ กรกฎาคม 2553)

มูลนิธิหัวใจอาสา

มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ ให้คำปรึกษา จัดกระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมหรือดำเนินการ เกี่ยวกับการจัดการเชิงระบบและอย่างเป็นขบวนการ ในงานพัฒนาสังคม ที่รวมถึงการพัฒนางานอาสาสมัคร การส่งเสริมการทำความดี การสร้างเสริมสุขภาพ การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาประชาสังคม และอื่นๆ

ปัจจุบัน มูลนิธิฯ มีแผนงานสำคัญที่ดำเนินงานอยู่ 3 แผนงาน โดยมี “กองทุน” สนับสนุนแผนงานด้วย ได้แก่ (1) แผนงาน/กองทุนส่งเสริมสันติวิธีเพื่อสังคม (2) แผนงาน/กองทุนส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งเป็นสุข (3) แผนงาน/กองทุนส่งเสริมการแบ่งปันในสังคม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/377675

<<< กลับ

ประวัติของนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เดือน กรกฎาคม 2553

ประวัติของนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เดือน กรกฎาคม 2553


เกิด : 24 มีนาคม พ.ศ. 2484

สถานที่เกิด : บ้านนาคู ต.นาคู อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา

การศึกษา : B.Sc. (Econ), มหาวิทยาลัย Hull ประเทศอังกฤษ (พ.ศ. 2510)

: ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาเศรษฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (พ.ศ. 2545)

: ปรัชญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาการพัฒนาชุมชน) มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช (พ.ศ. 2548)

: พัฒนาชุมชนดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2552)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ :ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (พ.ศ. 2541)

: ประถมาภรณ์มงกุฏไทย (พ.ศ. 2546)

: มหาวชิรมงกุฎ (พ.ศ. 2550)

การฝึกอบรมที่สำคัญ :SEANZA Central Banking Course(พ.ศ. 2517)

: Australian Management College Mount Eliza : Advanced Management Course (พ.ศ. 2521)

: Wharton School of Finance – Philadelphia National Bank : Advanced Management Program for Overseas Bankers (พ.ศ. 2528)

: Institute of Development Research : Asian NGO Leadership Fellows Program
(พ.ศ. 2534)

: สถาบันพระปกเกล้า : การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับ
นักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 1 (พ.ศ. 2539)

ประวัติการทำงาน

ตำแหน่งงานที่สำคัญในอดีต

: เจ้าหน้าที่และผู้บริหารในธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2510-2523)

: กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2523-2525)

: ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) (พ.ศ. 2526-2531)

: ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(พ.ศ. 2531 – 2540)

: กรรมการผู้จัดการ สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง การเคหะแห่งชาติ
(พ.ศ. 2535-2540)

: สมาชิกวุฒิสภา (มีนาคม 2539-มีนาคม 2543)

: ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (ธันวาคม 2540-ตุลาคม 2543)

: ประธานกรรมการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พ.ศ. 2543-2547)

: สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สิงหาคม 2544- สิงหาคม 2548)

: ประธานกรรมการ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม)(กรกฎาคม 2548-2549) (เป็นกรรมการ กรกฎาคม 2547 – 2548)

: ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 (แผนสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (มีนาคม 2548 – 2549) (เป็นกรรมการ 2543 – 2547)

: ประธานที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (กันยายน 2548 – 2549) (เป็นประธาน 2543 – 2547)

: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (8 ตุลาคม 2549 – 5 กุมภาพันธ์ 2551)

: รองนายกรัฐมนตรี(7 มีนาคม 2550 – 5 กุมภาพันธ์ 2551)

กิจกรรมอื่นๆในอดีต

ด้านองค์กรภาครัฐ : ประธาน คณะกรรมการโครงการพัฒนาชีวิตครู กระทรวงศึกษาธิการ (2544 – 2545)(เป็นที่ปรึกษา 2546 – 2549)

: กรรมการ คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมาย (2547-2548)

: กรรมการ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (2541-2549)

: กรรมการนโยบาย สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) (2547-2549)

: ที่ปรึกษา คณะกรรมการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) (2548) (เป็นประธาน 2546-2547)

: อนุกรรมการ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง (2546-2549)

: ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) (2546-2549)

: กรรมการ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) (2544-2549)

: กรรมการ คณะกรรมการศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) (2546-2549)

: ที่ปรึกษา ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน (ศตจ.ปชช.) (2549 – 2549)

: กรรมการ คณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (2545-2549, 2551-2553)

: ประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) (2551-2552)

ด้านองค์กรพัฒนาเอกชน

: ประธานกรรมการ มูลนิธิกองทุนไทย (2543-2549)

: ประธานกรรมการ มูลนิธิมิตรภาพสู่ท้องถิ่น (2548) (เป็นกรรมการ 2546-2549)

: กรรมการ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) (2539 – 2549)

: กรรมการ สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิอาจารณ์ป๋วย (2543-2549)

:ประธานคณะกรรมการอำนวยการ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (2545 – 2547) (เป็นที่ปรึกษา 2548 – 2549) (เป็นกรรมการ 2528 – 2545)

ด้านสถาบันการศึกษา : กรรมการ สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (2541-2549)

: กรรมการ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (2545-2549)

: กรรมการ สภามหาวิทยาลัยมหิดล (2545-2549)

: กรรมการ สภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (2547-2549)

ตำแหน่งภารกิจปัจจุบัน

: ประธานกรรมการ มูลนิธิหัวใจอาสา (ตั้งแต่ 28 เมษายน 2551)

: กรรมการ สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ตั้งแต่ 2551)

: กรรมการ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ตั้งแต่ 2551)

: กรรมการ สภามหาวิทยาลัยมหิดล (ตั้งแต่ 2551)

: กรรมการ สภาสถาบันอาศรมศิลป์ (ตั้งแต่ 2551)

: ประธานคณะที่ปรึกษา สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตั้งแต่ มกราคม 2550)

: กรรมการ หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน สถาบันพระปกเกล้า (ตั้งแต่ ปี 2550)

: กรรมการอำนวยการศึกษา วิทยาลัยสมานฉันท์สันติสุข สถาบันพระปกเกล้า (ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2550)

: กรรมการ สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิอาจารณ์ป๋วย (ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2551)

: ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ตั้งแต่ เมษายน 2551)

: ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2551)

: กรรมการ กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง (ตั้งแต่ 6 พฤศจิกายน 2551)

: กรรมการ คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม (ตั้งแต่ 5 พฤศจิกายน 2552)

: ประธาน คณะอนุกรรมการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) (ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2552)

: กรรมการ คณะกรรมการส่งเสริมจิตสำนึกด้านจริยธรรม สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (ตั้งแต่ พฤษภาคม 2553)

: กรรมการ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (ตั้งแต่ กรกฎาคม 2553)

รางวัลที่ได้รับ

: ศิษย์เก่าดีเด่น มอบโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2537

: ครอบครัวประชาธิปไตยตัวอย่าง มอบโดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ พ.ศ. 2542

: นักบริหารดีเด่น สาขานักบริหาร-นักพัฒนาสังคม มอบโดย นสพ. เส้นทางเศรษฐกิจ สนับสนุนโดยมูลนิธิเพื่อสังคมไทย พ.ศ. 2545

: โล่ประกาศเกียรติคุณ ผู้ให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาความมั่นคงในการดำรงชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา มอบโดยสำนักคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2548

: พ่อดีเด่นแห่งปีของกรุงเทพมหานคร มอบโดยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/377673

<<< กลับ