“ไพบูลย์” แนะผนึกเบญจภาคี ฟื้นฟูชุมชนลุ่มน้ำภาคกลาง

“ไพบูลย์” แนะผนึกเบญจภาคี ฟื้นฟูชุมชนลุ่มน้ำภาคกลาง


(บทสัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ วันที่ 19 พ.ค. 50  หน้า 10)

                รองนายกฯ ชี้หนทางฟื้นฟูวิถีชุมชนให้สำเร็จต้องผนึกพลังจากผู้เกี่ยวข้อง 5 ส่วน ทั้งภาคประชาชน-ประชาสังคม-องค์กรท้องถิ่น-ราชการ-รัฐบาล มาร่วมคิด ร่วมทำด้านเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำภาคกลางยื่นข้อเสนอให้รัฐกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม จัดทำแนวเขตป่าแก้ไขปัญหาเขตทับซ้อน คุมการใช้สารเคมีเกษตร จัดตั้งองค์กรอิสระบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

                        นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวในงาน “มหกรรมฟื้นฟูวิถีชุมชนคนลุ่มน้ำภาคกลาง” ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์วัฒนธรรมเสาไห้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 ถึงแนวทางการสนับสนุนให้ชุมชนได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าการดำเนินงานจะสำเร็จลุล่วงไปได้จะต้องผนึกจากผู้เกี่ยวข้อง 5 ส่วนมาทำงานร่วมกัน คือ

                        1) ภาคประชาชนต้องสร้างองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นมาร่วมคิดร่วมทำเพื่อให้พึ่งตนเองได้ 2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ อบต.., เทศบาล, อบจ., ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด จะต้องเข้ามาหนุนเสริมให้ภาคประชาชนสามารถทำงานพัฒนาได้อย่างสะดวก ทั้งด้านงบประมาณ ข้อมูล และเทคนิคต่างๆ 3) ราชการส่วนภูมิภาคทั้งกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, อำเภอ, จังหวัด ซึ่งเป็นส่วนราชการที่ทำหน้าที่ด้านการปกครอง จะต้อง เดินเข้าหาประชาชน และใช้อำนาจไปในทางด้านหนุนเสริมองค์กรชุมชนมากกว่าการเข้าไปสั่งการ

                4) ภาคประชาชนสังคมต่างๆ ทั้งหน่วยงานธุรกิจ นักพัฒนาเอกชน และผู้รู้ต่างๆ ก็สามารถเข้าไปมีบทบาทในการหนุนเสริมองค์กรชุมชนได้ และ5) รัฐบาลหรือภาคนโยบายที่จะต้องเข้ามาดำเนินนโยบาย และจัดสรรงบประมาณลงไปหนุนเสริมสนับสนุนให้องค์กรชุมชนนำไปพัฒนาความเข้มแข็งได้

                รองนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า หากสามารถผนึกพลังเบญจภาคีดังกล่าวได้ ก็ให้นำหลักไตรสิกขาไปใช้ในการทำงาน ซึ่งหลักไตรสิกขานั้นประกอบด้วย 1) หลักร่วมคิด ร่วมทำ กล่าวคือ ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ต้องให้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา เป็นหลักในการพัฒนาโดยมีภาคีอีก 4 ฝ่ายดังกล่าวทำหน้าที่สนับสนุนและร่วมกันคิดร่วมกันทำ เป็นหลักแห่งความสามัคคี สมานฉันท์ ซึ่งจะทำให้งานบรรลุเป้าหมายไปได้

                2) หลักของการจัดการความรู้ การเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ นำความรู้ไปพัฒนาพัฒนางานให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ และ3) คือ หลักของการสนับสนุนด้านนโยบาย ที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเขาไปสนับสนุนในทุกระดับ นโยบายระดับท้องถิ่นก็เป็นหน้าที่ของ อบต., เทศบาล, อบจ. นโยบายระดับสูงก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยอาจทำได้ทั้งการปรับปรุงหรือการออกกฎหมายใหม่ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชน

                ในการจัดงานครั้งนี้มีองค์กรชุมชนที่ทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน 9 จังหวัดภาคกลาง เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน เพื่อร่วมกันคิดค้นแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาคกลาง พร้อมกับได้จัดทำข้อเสนอทางนโยบายเสนอนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี เช่น นโยบายด้านที่ดินของรัฐจะต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมการจัดทำแนวที่ดินอย่างเป็นธรรม การจัดทำแนวที่ดินเขตป่า เขตชุมชนให้มีความชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน และเร่งผ่าน พรบ.ป่าชุมชนฉบับชาวบ้าน

                นโยบายด้านเกษตรกรรมยั่งยืนรัฐควรควบคุมการนำเข้าปุ๋ยและสารเคมี ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและควบคุมสื่อโฆษณาที่ส่งเสริมการใช้สารเคมี และนโยบายการจัดการน้ำรัฐควรตั้งองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนในการจัดการน้ำ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

25 พ.ค. 50

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/98680

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *