“ไพบูลย์” สารภาพ ครม. เครื่องรวน
(บทสัมภาษณ์โดย ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว ลงในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หน้าที่ A4 ฉบับวันที่ 17 เม.ย. 50)
หลากหลายปัจจัยทางการเมืองที่มะรุมมะตุ้มจนมองไม่เห็นอนาคตว่าบ้านเมืองจะเข้าสู่ภาวะปกติสุขเมื่อใด ดังนั้น กระแสการปรับคณะรัฐมนตรีจึงเป็นหนึ่งในหนทางที่จะลดกระแสความร้อนแรงลงได้บ้าง ยิ่งถ้านำบุคคลที่สังคมยอมรับได้เข้าไปเป็นรัฐมนตรี จะทำให้ขิงแก่เดินหน้าทำงานได้อย่างฉลุย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม”รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเคยเสนอนายกฯ ล้างไพ่ในช่วง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “โพสต์ทูเดย์” ซึ่งมีสาระน่าสนใจดังนี้
ตอนนั้นหลายฝ่ายเสนอว่าน่าจะเป็นโอกาสปรับปรุงครั้งสำคัญ ซึ่งผมไม่ได้เสนอว่าล้างไพ่นะ เพียงแต่เกิดเป็นโจทก์ขึ้นมาน่าจะทบทวนใหม่ ทั้งองค์ประกอบและวิธีทำงาน เพราะว่า ม.ร.ว.ปรีดียาธร ลาออก ต้องถือว่าชิ้นส่วนสำคัญหายไปก็อาจเป็นโอกาสให้ลองดูกันใหม่ แต่นายกฯพิจารณาแล้ว เห็นว่าปรับเท่าที่ท่านปรับ ก็ปรับเล็ก
· แสดงว่า ท่านสัมผัสได้ ว่า ครม.มีปัญหาการทำงานขึ้นแล้ว
คิดว่ารัฐมนตรีทุกคนอยากทำงานให้ดีที่สุด แต่ถ้าเราวิเคราะห์ให้ละเอียดไม่ใช่เรื่องง่าย และอุปสรรคข้อขัดข้องมีอยู่ไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก บรรยากาศทางการเมือง ความขัดแย้ง การกดดัน พยายามบั่นทอนยังมีอยู่ ซึ่งส่งผลมายังการทำงานไม่ราบรื่นเท่าที่ควร
“เหมือนรถกำลังวิ่ง แต่สภาพถนน ดินฟ้าอากาศ ฝนตก พายุมา ถึงแม้เครื่องยนต์รถดีแต่ไปลำบาก นี่คือสภาพภายนอก คือว่า สภาพการเมืองไม่ลงตัว สร้างปัญหาจริงในการทำงานของรัฐบาล”
ส่วนสภาพภายใน คือระบบกลไกต่างๆของราชการ ก็ยังทำให้การทำงานไม่เคลื่อนตัวได้เท่าที่เราอยากเห็น ไม่ใช่ความผิดของใคร เช่นตัวระบบ งบประมาณ ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ราชการมีอยู่แล้วต้องเดินไปตามนั้น ก็เป็นอุปสรรคอยู่ในระดับหนึ่งและรัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่ถึงกับคุ้น อย่างผมจะไม่คุ้น ไม่เคยอยู่ในราชการ แต่รัฐมนตรีที่เคยอยู่ในราชการ อาจคุ้นหน่อย แต่คุ้นโดยที่รู้ว่าเป็นอุปสรรคและไม่สามารถแก้ปัญหาได้
เพราะว่าเราไม่ใช่รัฐบาลเข้ามาปฏิรูป เราเป็นรัฐบาลชั่วคราว เราจะมาปฏิรูปราชการคงไม่ใช่ภารกิจของเรา ถ้ารัฐบาลที่มาในระบบ และอยู่ยาว เขาปฏิรูปราชการได้ แต่หน้าที่รัฐบาลนี้คงไม่ได้มาปฏิรูประบบ หรือการจะปรับเปลี่ยนข้อบังคับ เปลี่ยนวิธีงบประมาณ คงลำบาก ต้องยอมรับระบบที่เป็นอยู่ และพยายามทำภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด ต้องยอมรับว่าระบบภายในเป็นปัญหาสะสมมา ไม่ใช่ความผิดของใคร บางส่วนได้ปรับปรุงไปแล้ว แต่มีบางส่วนเป็นปัญหาอยู่ทำให้เกิดความล่าช้า ขัดข้อง อันนี้ผมประสบด้วยตัวเอง ว่าความจริงมันน่าจะเร็วกว่านี้ ทำไมไม่เร็วนะ น่าจะได้ ทำไมไม่ได้ ทั้งที่นโยบายมีแล้ว แต่ต้องผ่านขั้นตอนนั้นขั้นตอนนี้
· ด้วยคำว่ารัฐบาลเฉพาะกาลหรือเปล่า ทำให้รัฐบาลขาดความกล้าหาญ
ไม่ใช่ โดยหน้าที่ ไม่คิดว่าเรามีหน้าที่มาผ่าตัดระบบราชการ ที่เราไม่ทำคือเราไม่บีบบังคับหรือรังแกข้าราชการ อย่างน้อยผมคิดว่า ผมไม่ได้ทำ ที่จะบอกว่าเราได้มอบหมายประชาชนจะเปลี่ยนระบบอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำ แต่ถ้าจะให้กำลังใจข้าราชการ พัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งผมทำ เช่น การมอบอำนาจ กระจายอำนาจ หรือว่าพัฒนาความโปร่งใสสุจริตมากขึ้น ผมก็ทำ ปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้นผมก็ทำ
· เพราะระบบมีปัญหาใช่ไหม ทำให้หลายฝ่ายให้คะแนนรัฐบาลสอบตก ผลงานไม่เข้าถึงความรู้สึกประชาชน
รัฐมนตรีแต่ละคนพยายาม ในทางหนึ่งทำงานกับระบบ เพราะจะเลี่ยงระบบก็ไม่ได้ รวมทั้งระบบในครม. ก็เป็นระบบราชการก็มี เราก็ต้องทำงานกับระบบ ขณะเดียวกันเราก็พยายามทำอะไรใหม่ๆ เช่น เมื่อผมมารับหน้าที่รองนายกฯก็มาดูว่า เรื่องอะไรเป็นเรื่องสำคัญ ริเริ่มทำขึ้นมา โดยไม่ใช่รอให้หน่วยงานเสนอมา ผมเริ่มจากกรณีหมอกควัน สภาพเห็นชัด แล้วมาจับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาสะสมมา และโรคเอดส์ ก็เช่นเดียวกัน ประเทศไทยเคยดีแล้วมาล้าหลัง เพราะไม่ได้ป้องกันก็จะมาเพิ่มแนวทางป้องกัน อย่างนี้เราทำโดยไม่รอให้เสนอเรื่องขึ้นมา ตรงนี้ไม่ได้เลี่ยงระบบแต่เสริมเข้าไป หรือแม้แต่เรื่องหนี้สินเกษตรกร เมื่อมารับหน้าที่ดูแลมากขึ้น และมีคนมาช่วยมากขึ้น ลงไปปรึกษาคนในท้องถิ่นมากขึ้น ลงไปถึงปัญหาพบเจ้าของปัญหา ก็รีบแก้ไข เป็นเชิงรุก
“ผมว่ารัฐมนตรีแต่ละคนพยายามทำแบบนี้ คือ ทำกับระบบ และเสริมเข้าไป ก็ได้ผลออกมา อันนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว แม้จะทำดีที่สุดก็ต้องให้สังคมติดตามผล และใช้วิจารณญาณเองได้เห็นเองว่ารัฐบาลทำดีไม่ดี ทำมากทำน้อย คือตัวเองเองจะบอกว่าทำดีและตัดสินว่าทำดีคงไม่ได้ การทำดี ไม่ดี ต้องให้คนอื่นเขาดู ในเมื่อทำงานเพื่อประชาชนและเพื่อสังคมก็ต้องให้เขาดู”
· มีการมองว่าท่านเป็นผู้ประสานสิบทิศ
ทำไปตามธรรมชาติ ตามหน้าที่มากกว่า อย่างกรณีที่ผมเดินทางไปพบอดีตนายกฯ ท่านอานันท์ ปันยารชุน ท่านบรรหาร ศิลปอาชา ก็ด้วยความรู้สึกว่า ผมเข้ามาอยู่ในตำแหน่งถือว่าค่อนข้างสูงในการบริหารประเทศ ในขณะที่อดีตนายกฯทุกท่าน ผมเคยร่วมงานด้วย เพราะผมทำงานภาคสังคมเกือบ 20 ปี ให้ความร่วมมือกับทุกรัฐบาล แม้แต่ อดีตนายกฯพ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขอข้อแนะนำการทำงานมากกว่าเรื่องอื่นๆ
· จะหาวิธีลดความแตกแยกทางการเมืองขณะนี้อย่างไร
ถ้าถามว่าคุณอยากเห็นสังคมเป็นอย่างไร ทุกคนบอกว่าอยากเห็นสังคมเป็นปึกแผ่น มีความเจริญก้าวหน้า ถ้าเห็นตรงกันอย่างนี้แล้ว ถามว่าแล้วเราทำอย่างไรจะไปถึงตรงนั้นได้ มีทางขยับคนละนิดคนละหน่อยไหม อย่างตอนนี้ เราบอกว่า สิ่งที่เราต้องการร่วมกันคือ มีการเลือกตั้งใช่ไหม เราคงไม่อยากอยู่ในสภาพนี้ไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันความคาดหวังจากการเลือกตั้งเราก็อยากให้ดีพอสมควร เราจะได้กลับมาสู่ระบบประชาธิปไตยที่เราพอใจ
ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนจะบริหารงานดีไม่ดีอีกเรื่อง แต่อย่างน้อยเป็นกติกาที่เรารับร่วมกัน ก็น่าจะตั้งคำถามว่าแล้วเราจะทำอย่างไร ให้เราได้เลือกตั้งอันรวดเร็ว ซึ่งตอนนี้กำหนดแล้วเดือนธันวาคม พอรับได้ไหม ในเมื่อรับได้เพราะไม่ได้นานเกิน ไป ทีนี้ทำไงให้เราเดินจากปัจจุบันไปสู่การเลือกตั้ง ตรงนี้ต้องมานั่งคิดกันสิ อาจจะเสนอกันคนละอย่างสองอย่าง บางคนอาจเสนอว่า เอาหล่ะผมยินดีทำอย่างนี้นะ แต่คุณควรจะปรับอย่างนั้น ก็เป็นการเสนอและสนองในเวลาเดียวกัน ค่อยพูดจากันน่าจะได้
“ ผมคิดว่า ควรเชิญทุกฝ่ายที่มีปัญหาความขัดแย้งมาพูดคุยกัน ถ้าจะให้ผมเป็นเจ้าภาพยุติความขัดแย้ง ผมไม่ขัดข้อง มีเงื่อนไขข้อเดียว ต้องเป็นที่ยอมรับร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าผู้เกี่ยวข้องบอกว่าเอาคนนี้เป็นคนกลาง ผมก็ยินดี ในสมัยรัฐบาลที่แล้วมีความขัดแย้งกัน ได้พยายามประสานอยู่หน่อย โดยมีคนขอให้ผมทำ ครั้งนั้นเชิญคู่ขัดแย้งมาคุย ซึ่งเป็นระดับเกือบสูงสุด ผลการพูดคุยเป็นไปด้วยดี มีการเสนอเงื่อนไขว่าอย่างนี้พอรับได้ไหม ส่วนที่รับได้ ก็ได้มาหน่อย ส่วนที่เป็นปัญหาก็คิดจะทำอย่างไร แต่ว่าเหตุการณ์คราวนั้นผันผวนเร็วมาก คุยไปรอบหนึ่ง จะคุยอีกก็เกิดเหตุความวุ่นวายซะก่อน กู่ไม่กลับแล้ว”
· แต่สถานการณ์ขณะนี้ มีหลายกลุ่มด้วยกันโดยเฉพาะกลุ่มอำนาจเก่ามีเป้าหมายล้มกระดานการตรวจสอบ แล้วจะคุยกันรู้เรื่องหรือ
อย่างไรคุยกันดีกว่าไม่คุย ระหว่างคุยกันกับสู้กัน คุยกันต้องดีกว่าสู้กันเพราะสู้กันย่อมมีแพ้มีชนะ ถ้าชนะไป อีกฝ่ายแพ้ คงไม่เลิก ต้องหาทางกลับมาชนะบ้าง แต่การพูดคุยกันจะหาทางให้ชนะหรือพอใจร่วมกันได้ เรื่องก็จบเราก็เดินหน้าไปด้วยกัน ช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ แต่ถ้าทะเลาะกันฝ่ายหนึ่งชนะฝ่ายหนึ่งแพ้ สังคมไม่ดีขึ้น อาจเลวลงด้วยซ้ำ
· คิดอย่างไรกับเสียงวิจารณ์รัฐบาลทำงานไม่เป็น รัฐบาลทำงานช้า
ผมพูดได้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจริง มุ่งมั่น ดูแลการบริหารจัดการกิจการงานต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี และคิดว่ารัฐมนตรีทุกท่านมีความรู้มีประสบการณ์ ก็เห็นว่ามีการประสานงาน มีการริเริ่มของใหม่ๆ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงวิธีการทำงานใหม่ๆ เสนอโครงการใหม่ กฎหมายใหม่ แต่ยอมรับว่า บางเรื่องอาจผ่านไปด้วยความราบรื่นไม่มีปัญหา แต่อาจไม่ได้รับรู้โดยกว้างขวาง
อย่างเรื่องที่ผมเกี่ยวข้อง เช่น เราได้ปรับปรุงยุทธศาสตร์สังคม เราทำในสองสัปดาห์แรก ได้กำหนดวิสัยทัศน์ กำหนดทิศทางชัดเจน ซึ่งขับเคลื่อนไปด้วยดี แต่งานไปอยู่จังหวัดต่างๆ ถ้ามองในแง่สังคมรับรู้แค่ไหนอาจรับรู้ไม่มาก เป็นข่าวหน่อยหนึ่ง แต่ขณะที่ไม่เป็นข่าว เขาทำงานกันทุกจังหวัด เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
กระทรวงอื่นๆก็คล้ายกัน แต่ยอมรับ ว่า บางเรื่อง เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเห็นแตกต่าง เช่น การควบคุมการโฆษณาแอลกอฮอล์ ร่างกม.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ถือว่าเป็นความริเริ่มกล้าหาญของรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่มีคนบางกลุ่มรู้สึกถูกกระทบกระเทือน ซึ่งในสภาพที่เป็นอุดมคติ น่าจะมาพูดกันหาข้อสรุปได้
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
23 เม.ย.50
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/91912