ไพบูลย์..ชี้ปฏิรูปต้องทำร่วมหลายส่วน

ไพบูลย์..ชี้ปฏิรูปต้องทำร่วมหลายส่วน


(สรุปปาฐกถาพิเศษลงใน  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันที่  8  กรกฎาคม  2553  จากการสัมมนา “ธุรกิจเพื่อสังคม : พลังขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย”  จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ณ  โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์พาร์ค  เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2553)

 

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม  ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา  กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ธุรกิจเพื่อสังคม”  ประเทศชาติไม่ติดหล่ม สังคมไม่ติดลบ  ว่า  การปฏิรูปประเทศจำเป็นและควรทำแต่ต้องทำหลายส่วนและหลายมิติของประเทศ  โดยประชาชนถือว่าเป็นส่วนใหญ่ที่สุด  ภาคธุรกิจทุกกิจการที่เป็นธุรกิจถือว่ามหาศาลทั่วประเทศ ทุกประเภท  ทุกขนาดทุกพื้นที่  และภาครัฐที่ได้รับอำนาจมาจากประชาชนและมีหน้าที่บริหารจัดการสังคม  ทั้งสามฝ่ายจะปฏิรูปประเทศต้องร่วมมือกันและช่วยกันคิด  และการจะปฏิรูปอะไรควรเริ่มจากตัวเองก่อน

                วันนี้โฟกัสการปฏิรูปไปอยู่ที่ภาคธุรกิจและภาคอื่นๆ  คือธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งต้องปฏิรูปทั้งวิธีคิดและวิธีทำ การมองต้องแบบมองกว้าง  คิดไกล  ใฝ่สูงส่ง  มองทุกอย่างให้เป็นระบบ  คิดในเชิงบวกเชิงรุก  และคิดในทางสร้างสรรค์  เป็นการปฏิรูปวิธีคิด  ไม่ง่ายแต่ทำได้  คิดโดยเห็นความเป็นระบบและความเป็นพลวัตของสรรพสิ่ง  ในสังคมและในโลก

การปฏิรูปประเทศไทย  ภาคสังคม เศรษฐกิจ  และการเมือง  ทั้ง  3  ฝ่ายจะต้องร่วมกันคิดจากตัวเองว่าจะช่วยกันปฏิรูปได้อย่างไร  และควรแสวงหาแนวร่วมกับภาคอื่นๆ  ด้วยการรวบรวมพลังสร้างสรรค์เข้ามาร่วมมือ  เป็นหุ้นส่วนซึ่งกันและกัน  โดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องปฏิรูปทั้งวิธีคิดและวิธีทำ  จากมองแคบ  คิดใกล้  ใฝ่ต่ำเตี้ย  เป็นมองกว้าง คิดไกล  ใฝ่สูงส่ง  จากมองแบบแยกส่วนเฉพาะจุด  เฉพาะเรื่องมา  เป็นมองสังคมทั้งหมดแบบองค์รวมหรือบูรณาการ  จากการคิดธุรกิจเพื่อธุรกิจ  เป็นการคิดธุรกิจเพื่อสังคม

การปฏิรูปวิธีทำ ต้องเปลี่ยนความคิดจากที่ว่าการทำธุรกิจเป็นของธุรกิจ โดยธุรกิจ  เพื่อธุรกิจ แต่ให้เปลี่ยนเป็นการทำธุรกิจเพื่อสังคม ทำธุรกิจที่มีคุณภาพคือ

1. เป็นการทำธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล  มีความถูกต้อง เหมาะสม  มีคุณธรรมความดี

2. เป็นการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ  ซึ่งหมายถึง  มีความถูกต้องชอบธรรมดีงามในทุกกระบวนการของธุรกิจ  ตั้งแต่เริ่มการตั้งโรงงาน  การเลือกคน  การผลิตสินค้า  การบริการทุกขั้นตอนและอื่น ๆ

3. เป็นการทำธุรกิจที่มีหรือเป็น  “กิจการเพื่อสังคม”  (Social  enterprise)  ซึ่งมีความสำคัญขนาดที่  รัฐบาลตั้ง  “คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม”  ขึ้นมาโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเอง  ทั้งนี้บางธุรกิจได้มีการดำเนินการไปแล้วเกี่ยวกับมีหรือเป็น  “กิจการเพื่อสังคม”  เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำ

 

การปฏิรูปความคิดจากเดิมศูนย์รวมอยู่ กทม.  เป็นการกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ  ทั่วประเทศ  ให้สร้างความร่วมมือและเอาพื้นที่จังหวัดเป็นตัวตั้ง  เริ่มจาก  ภาคประชาชน  และมีแต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องมาเป็นตัวแทน  เป็น  “เครือข่ายพหุภาคีเพื่อขับเคลื่อนจังหวัด”  โดยให้ชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานรากที่แท้จริงของสังคม  เป็นเจ้าของเรื่องหลัก  และมีบทบาทสำคัญ  ทั้งนี้ในปัจจุบัน  ชุมชนท้องถิ่นได้พัฒนาก้าวหน้าไปมากพอสมควร  มีเครือข่ายทั่วประเทศ

การปฏิรูปจากฐานรากขึ้นมาเป็นไปได้โดยกลไกที่จังหวัดทุกจังหวัด  นอกจากนี้ต้องปฏิรูปการทำงานและวิธีคิดคือ

1.  ให้เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง  โดยชุมชนและประชาชนในพื้นที่เป็นแกนหลักและมีบทบาทสำคัญ

2.  ให้ประชาชนในพื้นที่เป็นเจ้าของเรื่องและเจ้าของประเด็นเป็นสำคัญ  เพราะเรื่องและประเด็นในจังหวัดเป็นเรื่องของประชาชน  ประชาชนจะรู้ดีว่าสภาพเป็นอย่างไร  ปัญหาเป็นอย่างไร  ความต้องการเป็นอย่างไร  ฯลฯ

3.  ทุกฝ่ายทั้งที่อยู่ในพื้นที่และมาจากนอกพื้นที่ต้องประสานความร่วมมือ  เป็นความสัมพันธ์ในแนวราบ  ทุกคนทุกฝ่ายร่วมมืออย่างเสมอกัน

 

                “การปฏิรูปฐานรากที่ท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้ต้องมีกลไกที่เอื้ออำนวยไปในทุกจังหวัด  ต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากเอาหน่วยงานเป็นตัวตั้งเป็นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง  ให้ชุมชน ประชาชนในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ  โดยมีหน่วยงานต่างๆ  ไปส่งเสริมสนับสนุน  ขณะเดียวกันทุกฝ่ายทั้งภาครัฐภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม  ต้องประสานความร่วมมือให้เป็นความสัมพันธ์แนวราบ  ไม่คิดว่าใครเหนือกว่าใคร”

นั่นคือเอาทั้งสามส่วนมาประสานความร่วมมือกัน ให้ประชาชนเป็นเจ้าของเรื่องและส่วนอื่น ๆ เป็นส่วนสนับสนุน และถือว่าภาคธุรกิจมีความสำคัญและเชื่อว่า เป็นหนึ่งในภาคที่มีความสำคัญและมีพลังสูง  ซึ่งสามารถจะมีบทบาทมากในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมที่น่าอยู่และเจริญสันติสุขอย่างแท้จริงและอย่างยั่งยืน

(ปรับปรุง  1  มี.ค.  54)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/380881

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *