ไพบูลย์เสนอ “4เสาหลัก” สมานฉันท์สังคมไทย
(บทสัมภาษณ์ ลงในนสพ.มติชนรายวัน วันที่ 7 ตุลาคม 2549)
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม และประธานคณะที่ปรึกษาด้านการเสริมสร้างสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคม คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้ความเห็นถึงแนวทางการสร้างสมานฉันท์ หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน เป็นต้นมา
สถานการณ์สังคมปัจจุบันแนวทางสมานฉันท์ควรเป็นอย่างไร
สมานฉันท์เป็นสิ่งใครๆ ก็อยากได้ แต่ในสังคมไทยเรามีแต่ความไม่สมานฉันท์ อย่างน้อยในสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.ความเกี่ยวเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย และเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน 3.ความขัดแย้งที่เกี่ยวกับนโยบายและโครงการสาธารณต่างๆ รวมถึงที่โยงกับทรัพยากรธรรมชาติ
สมานฉันท์หมายถึงความเห็นพ้องต้องกันหรือความพอใจร่วมกัน ความไม่สมานฉันท์หมายถึงความไม่พอใจ ความไม่ตกลง ขัดแย้ง เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แต่จะว่าไปสังคมย่อมมีความขัดแย้ง ทั้งความขัดแย้งที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาและความขัดแย้งที่รุนแรงมากเกินกว่าความเป็นปกติธรรมดา บางครั้งนำไปสู่การสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หรือความรู้สึกบาดหมาง กดดัน เป็นทุกข์ ไม่เป็นสุข ถ้าถึงขั้นดังกล่าวนี้ไม่น่าจะเป็นสภาพอันพึงปรารถนา ต้องหาทางทำให้คลี่คลาย เกิดเป็นความสมานฉันท์หรืออย่างน้อยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติพอสมควร หากมีความขัดแย้งก็เป็นเพียงตามธรรมดาตามธรรมชาติ อย่างนั้นน่าจะถือว่าเป็นสภาพที่พึงปรารถนา
ขณะนี้ของไทยเรามีความขัดแย้งที่เกินกว่าสภาพปกติใน 3 กรณี ที่กล่าวมาแล้ว เรื่องแต่ละเรื่องมีที่มาแตกต่างกัน เรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้มีที่มาค่อนข้างซับซ้อน สืบทอดมายาวนาน
คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. แสดงบทวิเคราะห์ไว้ดีมากที่แยกปัจจัยความขัดแย้งไว้ 3 ระดับ คือ ระดับบุคลที่เห็นได้ง่าย ระดับโครงสร้างที่สำคัญ เห็นยากขึ้นแต่ยังพอเห็นได้ ในระดับที่สามเรียกว่าระดับวัฒนธรรมมองเห็นได้ยาก แต่มีอยู่และลึก ฉะนั้น การที่จะแก้ไขจึงทำได้ยากเพราะเหตุของความขัดแย้งที่มีความซับซ้อนมีเงื่อนงำ ลึกซึ้งกว้างขวาง
ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะวิเคราะห์เหตุได้ง่ายกว่าในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือคนกลุ่มหนึ่งหรือฝ่ายหนึ่ง มีอำนาจ มีอิทธิพล และใช้อำนาจใช้อิทธิพล ใช้กลวิธีต่างๆ ซึ่งทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง เริ่มจะไม่เห็นด้วย สงสัยข้องใจยกระดับไปจนถึงการต่อต้านรุนแรง แม้กระทั่งนำสู่ความรู้สึกเกลียดชังซึ่งไม่ดีในสังคม ในสังคมอาจจะเห็นต่าง โต้แย้ง ขัดแย้ง เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าถึงขั้นเกลียดชังกัน ถือว่าไม่ดี ที่ผ่านมาได้เกิดความตึงเครียดเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้ง ขยายวงมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องทีไม่น่าพึงปรารถนา
ความขัดแย้งที่เกี่ยวกับโครงการสาธารณะและทรัพยากรธรรมชาตินั้น ในแง่หนึ่งก็ไม่ถึงกับผิดปกติมาก ที่ไม่ดีคือได้นำไปสู่ความเป็นปฏิปักษ์ถึงขั้นเสียชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรนิ่งนอนใจ ควรต้องหาทางแก้ไขสิ่งที่เกิดแล้วและป้องกันไม่ให้เกิดใหม่
ความขัดแย้งหรือความไม่สมานฉันท์ทั้งสามประเภทมีความเกี่ยวพันกันอยู่ สิ่งที่เป็นปัจจัยร่วมคืออำนาจรัฐ เรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับอำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐ ความขัดแย้งทางการเมืองก็เกี่ยวกับอำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐ ความขัดแย้งอันเนื่องจากนโยบายสาธารณะ หรือโครงการสาธารณะและทรัพยากรธรรมชาติ ก็เช่นเดียวกัน คือเกี่ยวกับอำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐ เป็นปัจจัยร่วม
การใช้อำนาจรัฐจึงเป็นเรื่องสำคัญ การใช้อำนาจรัฐหรือการบริหารจัดการบ้านเมืองโยงไปถึงการใช้กฎหมาย การใช้เครื่องมือต่างๆ ในการปฏิบัติตามกฎหมายและใช้นโยบาย ทัศนคติ ท่าที วิธีการ ของผู้ใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นระดับสูง ระดับนโยบาย หรือระดับปฏิบัติ ย่อมมีความสำคัญต่อการมีความขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์ หรือการมีความสมานฉันท์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
การแก้ไขปัญหาในปัจจุบันควรไปควบคู่กันหรือไปเฉพาะหน้า หรือเลือกแก้ปัญหาใดก่อน
ถ้าพูดถึงความเร่งด่วน เรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะเร่งด่วนมากเพราะสะสมมานานโดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาหลังการยึดอำนาจโดยกองทัพ ข้ออ้างข้อหนึ่งคือ เพราะมีความขัดแย้งรุนแรง ฉะนั้น จึงมีภารกิจต้องทำให้ความขัดแย้งรุนแรงนี้คลี่คลายลง ทั้งในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้และกรณีความขัดแย้งทางการเมือง สำหรับกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเร่งด่วน เพราะจะเป็นสัญญาณสำคัญว่ารัฐบาลใหม่นี้สามารถทำได้ดีกว่ารัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจไปหรือไม่ ส่วนเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองในแง่หนึ่งการยึดอำนาจทำให้เกิดการคลายตัวไป แต่ก็มีการตึงเครียดแบบอื่นเข้ามาแทน
เดิมผู้ที่เป็นเป้าหมายหรือเป็นแกนของความขัดแย้งคือรัฐบาลเดิม ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีรัฐบาลเดิมแล้ว ทำให้ความขัดแย้งตึงเครียดคลายลงไป เพราะว่าคนที่เป็นแกนของความขัดแย้งไม่อยู่แล้ว แต่ความรู้สึกที่สนับสนุนส่วนหนึ่ง คัดค้านส่วนหนึ่ง ย่อมยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นเชื้อของการเป็นคนละฝ่ายหรือความคิดเห็นตรงกันข้ามยังไม่ได้หมดไปทีเดียว แต่สถานการณ์ถือว่าคลายตัว เนื่องจากว่าคนที่เป็นแกนในการเป็นปฏิปักษ์นี้ไม่อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าหมดสิ้นไปนะ เพราะระบบกลไกหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องยังอยู่เยอะ แต่ขณะเดียวกันที่คณะทหารยึดอำนาจ ก็กลายเป็นแกนของการที่จะสนับสนุนหรือคัดค้าน กลายเป็นแกนใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังบอกไห้ชัดไม่ได้ว่า สนับสนุนเท่าไร คัดค้านเท่าไร ถึงแม้โดยทั่วไปจะรู้สึกว่าสนับสนุนมาก คัดค้านน้อย แต่ก็ต้องถือว่ามีส่วนเป็นแกนของความขัดแย้ง แต่ทั้งแกนเก่าหรือแกนใหม่พอมองเห็นได้ เทียบกับเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งบุคคลที่กระทำการต่างๆ อยู่ไม่ปรากฏตัวให้เห็น ใครอยู่เบื้องหลังอย่างไรก็ยากที่จะค้นหา
ฉะนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะอยู่ในวิสัยที่ดูแลจัดการได้ ไม่ยากเกินไปถ้าเทียบกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องนี้เราหวังว่านายกและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะสามารถดำเนินการได้ถูกวิธีในทั้งสองกรณี คือ จังหวัดชายแดนภาคใต้และความขัดแย้งทางการเมือง เพราะทั้งสองคณะนี้ดูมีบุคลิกและท่าทีตลอดจนทัศนคติน่าจะเอื้อต่อการคลี่คลายความขัดแย้งและเสริมสร้างความสมานฉันท์ ทัศนคตินั้นเป็นทั้งของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
ทางออกของสังคมความขัดแย้งทั้ง 3 อย่างคืออะไร
หลักใหญ่ๆ ที่ช่วยได้น่าจะประกอบด้วย ข้อ 1.หลักความจริง คือจะจัดการทั้งหลายทั้งปวงต้องมีฐานจากความจริง ต้องรู้ความจริง ต้องทำให้ความจริงปรากฏว่าอะไรเป็นอะไร จะแก้ปัญหาได้ต้องรู้ความจริงและอยู่บนฐานความจริง หรือจะหาข้อตกลงหาความสมานฉันท์ได้ก็ต้องอยู่บนฐานความจริง จะไปอยู่บนฐานความไม่จริงหรือการสมมุติหรือการเข้าใจที่ไม่ถูกต้องย่อมไม่ได้ เช่น ถ้าสงสัยว่าทุจริตหรือเปล่าต้องค้นหาให้ได้ว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ไม่ใช่สมมุติหรือกล่าวหากัน
ข้อ 2.คือหลักความเป็นธรรม รวมถึงความยุติธรรมและความชอบธรรม
ข้อที่ 3. คือ หลักความรัก รวมถึงความเป็นมิตร ความเมตตา ความปรารถนาดี เป็นเรื่องของมนุษย์ที่อยู่ด้วยกัน มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่เห็นคนอื่นเป็นเพื่อนมนุษย์ เป็นญาติ เป็นมิตร มีความรักความเอื้ออาทร ความเกื้อกูล ความประสงค์ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและอย่างเป็นสุข นี่คือเรื่องของความรัก อย่างเช่นที่มหาตมคานธีพูดว่า ชนทั้งผองเป็นพี่น้องกัน
ความคิดทำนองนี้เป็นเรื่องความรัก คือมองว่าคนทั้งหมดในประเทศล้วนเป็นพี่น้องกัน ถ้าเราเป็นพี่น้องกันเป็นครอบครัวเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะขับไล่ใครออกจากครอบครัว หรือไปตราหน้าว่าไม่ใช่พี่น้องเรา
ส่วนหลักข้อที่ 4. คือ หลักความดี รวมถึง ความมีคุณธรรม มีจริยธรรม ความอดทน ความอดกลั้น การให้อภัย การทำประโยชน์ให้ การช่วยเหลือเกื้อกูล การเสียสละ นี่แหละคือความดี
รวมแล้ว หลักความจริง หลักความเป็นธรรม หลักความรัก หลักความดี ผมคิดว่าเป็น 4 เสาหลักของความสมานฉันท์ และเพื่อให้บรรลุผล ดีที่สุดต้องการเชือกเส้นหนึ่งมาร้อยหลักทั้ง 4 ให้เข้มแข็งมั่นคง และเป็นฐานที่ดีแก่ความสมานฉันท์
เชือกเส้นนั้นเรียกว่า “กระบวนการที่ดี” ซึ่งเป็นเทคนิค เป็นวิธีการ เป็นศิลปะในการดำเนินการ ในการจัดการที่เรื่องขัดแย้งกินหรือปฏิปักษ์ต่อกัน ให้คลี่คลายไปสู่ความสมานฉันท์ ความตกลงกันได้ความเห็นพ้องต้องกันได้ การอยู่ด้วยกันได้ การยอมรับกันได้ เชือกที่เรียกว่ากระบวนการนี้สำคัญ เป็นเทคนิคเป็นศิลปะที่ต้องมีการเรียนรู้ มีการปฏิบัติฝึกฝน สะสมความชำนาญ
เช่น ที่เขาจัดให้คนที่มีความขัดแย้งมาคุยกัน แต่อาจต้องมีกระบวนการหลายชั้นหลายขั้นตอน โดยเฉพาะถ้าความขัดแย้งนั้นซับซ้อนสะสมมานาน หรือความขัดแย้งนั้นรุนแรงถึงขั้นต่อสู้กันด้วยอาวุธ การจัดกระบวนการให้ผู้เกี่ยวข้อง ค่อยๆ เข้ามาหากัน พูดจากัน หาข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ เป็นเทคนิคที่ไม่ง่าย แต่ว่าทำได้ฝึกฝนได้ สะสมความชำนาญได้
หลักที่ผมว่ากับกระบวนการที่ดีจะช่วยได้ ให้คนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคนที่มีอำนาจ ขณะนี้เราต้องถือว่ากลุ่มคนที่มีอำนาจเปลี่ยนไป จากรัฐบาลชุดก่อนมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ฉะนั้น ความคิด หลักการ การกระทำ ของผู้มีอำนาจจึงสำคัญ ขณะนี้ภาระตกอยู่ที่รัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ที่จะต้องสำรวจความคิด หลักการและวิธีการ ว่าควรจะเป็นอย่างไรถึงจะดี ผมได้กล่าวไปแล้วว่ามีความหวังค่อนข้างสูงกับนายกรัฐมนตรีและประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ว่ามีความคิดมีหลักการและมีวิธีการที่น่าจะเอื้อต่อการคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ โดยสามารถใช้หลักการทั้ง 4 และกระบวนการที่ผมกล่าวถึงได้
คณะที่ปรึกษาด้านการเสริมสร้างสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคมมีบทบาทอย่างไร
คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ คมช. ผมเห็นว่าคณะที่ปรึกษาเป็นกลไกเสริม ไม่ใช่กลไกหลัก กลไกหลักคือตัวรัฐบาลกับตัว คมช. ซึ่งผมเชื่อว่าเขามีแนวทางหรือวิธีการอยู่แล้ว คณะที่ปรึกษาน่าจะเป็นกลไกเสริมเป็นเพื่อนเพิ่มเข้ามา เป็นเพื่อนที่ไปหาข้อมูล และระดมความคิดเห็น นำมาเพิ่มให้
เราคิดว่าเรื่องที่สำคัญ 2 เรื่อง แรกน่าจะเป็นเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับเรื่องการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ในชาติ โดยในเรื่องหลังนี้เราเห็นว่า การเสริมสร้างสมานฉันท์มีหลายแง่หลายมุมมาก ยิ่งเติมว่าความเป็นธรรมเข้าไปอีก ก็ยิ่งมีหลายมิติ หลายองค์ประกอบ แต่เราเห็นว่าที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือเรื่องการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารจากรัฐบาล จากผู้มีอำนาจ ไปสู่สาธารณะ การสื่อสารระหว่างกัน การสื่อสารผ่านสื่อ บทบาทของสื่อเหล่านี้เป็นต้น ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการเพิ่มความขัดแย้งหรือเพิ่มความสมานฉันท์ คณะที่ปรึกษาจึงจะพิจารณา 2 ประเด็นนี้ เป็นอันดับแรก
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
24 ต.ค. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/55561