แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู

แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู


โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

(จากหนังสือ “ลูกชาวบ้าน : ความเรียงที่แม่ไม่เคยอ่าน” โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ “ขอคิดด้วยคน” โทร. 0-2663-4064 พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ธันวาคม 2549)

คำนำสำนักพิมพ์

“ลูกชาวบ้าน” ได้รวมเอาข้อเขียน 2 เรื่อง ของลูกชาวบ้าน 2 คน ต่างเขียนบันทึกความทรงจำ บอกเล่าประสบการณ์ชีวิต การเรียนรู้ และสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก “แม่” ซึ่งเป็นลูกชาวบ้านธรรมดาๆ

แม่ชาวบ้านสอนลูกอย่างไร … จึงทำให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นคนอย่าง “คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ “ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้ดำเนินรายการชื่อดัง

แม่ชาวบ้านสอนลูกอย่างไร … จึงทำให้ลูกเรียนรู้ชีวิต ชุมชนท้องถิ่น วัฒนธรรมสังคมพื้นฐาน การบ้านการเมืองรอบตัว รวมไปถึงวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ได้อย่างฝังลึก เข้าใจ และสอดผสานกับชีวิตจริง

เป็น “ลูกชาวบ้าน” ที่เข้าใจชีวิต เข้าใจชาวบ้าน และรู้ทันเหตุบ้านการเมือง

“แม่” คือครูที่สำคัญที่สุดในชีวิตของลูกทุกคน

“แม่ผมเป็นคนบ้านนาคู” ของคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และ “เพราะแม่สอนไว้” ของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แม้จะเขียนกันคนละช่วงเวลาต่างกรรม ต่างสถานที่ แต่เป็นการเขียนในห้วงยามที่คิดถึงแม่อย่างที่สุดเหมือนกัน คือ ในช่วงที่ทั้ง 2 ท่านต้องจัดงานศพให้คุณแม่

เป็นความเรียงบันทึกชีวิตและการเรียนรู้ถึงแม่ ที่แม่ของผู้เขียนไม่มีโอกาสได้อ่าน

สำนักพิมพ์เชื่อว่า สำหรับคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ หากใครเป็น “แม่ชาวบ้าน” จะมีกำลังใจและแนวคิดในการเลี้ยงลูกมากยิ่งขึ้น และหากใครเป็น “ลูกชาวบ้าน” ก็จะรักแม่ของท่านมากยิ่งขึ้น

เปิดอ่านทุกครั้ง จะคิดถึงแม่ รักของแม่ และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากแม่…

ขอบพระคุณแม่

สำนักพิมพ์ ขอคิดด้วยคน

ต้นฤดูหนาว พฤศจิกายน 2549

แม่ผมเป็นบ้านนาคู

โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

1. นำเรื่อง : ดวงใจแม่

เช้าตรู่ วันที่ 23 มิถุนายน 2534

ผมและพี่ๆ ยืนอยู่ข้างเตียงของแม่ มือกอดบางส่วนของร่างกายแม่ไว้

ดวงใจแม่อ่อนแรงมากแล้ว

แม่ได้เดินทางชีวิตมา 89 ปี

เวลา 6.29 น.

ดวงใจของพวกเรา แทบหยุดตามไปด้วย เมื่อแม่สูดลมหายใจครั้งสุดท้ายอย่างแผ่วเบา แต่สงบ

ชีวิตของแม่จากพวกเราไปแล้ว ตามวิถีอันเป็นธรรมชาติ

แต่ดวงใจของแม่หาได้จากไปไม่

ดวงใจแม่ที่บริสุทธิ์ ยังอยู่กับพวกเราลูกๆ เป็นศูนย์รวมความยึดเหนี่ยวและเกลียวสัมพันธ์ของพวกเรา

ดวงใจดวงนี้ ได้ติดตามแม่ไปตามเส้นทางแห่งชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ ณ ถิ่นกำเนิด แล้วไปๆมาๆ ระหว่างถิ่นกำเนิดกับกรุงเทพมหานคร จวบจนวาระสุดท้าย ในกรุงเทพมหานคร

แม่เกิดที่ตำบลนาคู หรือบ้านนาคู อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2445

แม่เติบโตที่บ้านนาคู พร้อมด้วยพี่น้องอีก 6 คน เป็นชาย 3 หญิง 3

แต่งงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2467 กับพ่อซึ่งเป็นจีนย้ายถิ่น

ตามพ่อไปอยู่ตลาดที่อำเภอผักไห่ เพื่อทำการค้า แต่พออยู่ได้ไม่นานคิดถึงบ้าน จึงชวนพ่อย้ายกลับมาอยู่บ้านนาคู

ใช้ชีวิตช่วยพ่อค้าขายและทำนาด้วย อยู่ที่บ้านนาคูเป็นเวลานาน

มีลูกกับพ่อรวม 11 คน เสียชีวิตเมื่อยังเป็นเด็กเสีย 3 คน อยู่จนโตมีครอบครัวอยู่แปดคน ผมเป็นคนเล็กสุดใน 8 คนนี้

ลูกที่เสียชีวิตแต่เด็ก เป็นหญิงทั้งสิ้น ส่วนที่อยู่อีก 8 คน เป็นชาย 5 หญิง 3

ลูกทุกคนใช้ชีวิตวัยเด็กที่บ้านนาคู เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมแล้ว ก็อยู่ช่วยพ่อแม่ทำงานที่บ้านนาคู ยกเว้นพี่ชายคนโต ซึ่งย้ายไปอยู่กับลุงเพื่อเรียนต่อที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

แม่เลี้ยงดูลูกๆ ด้วยความรักตามธรรมชาติ มีวินัยตามสมควร เรามีความเป็นอยู่อย่างธรรมดาๆ เยี่ยงชาวบ้านทั่วไป

แม่กับพ่อ ช่วยกันทำหากิน เลี้ยงดูครอบครัว อยู่ที่บ้านนาคูเป็นเวลาหลายปี โดยเปิดเป็นร้านค้าขึ้นในหมู่บ้าน ขายของกินของใช้ ตัดเย็บเสื้อผ้า และทำนาบ้าง

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 พ่อย้ายมาทำการค้าในกรุงเทพฯ โดยเช่าแผงขายเสื้อผ้าที่ตลาดโบ๊เบ๊ ถนนกรุงเกษม ใกล้วัดบรมนิวาส

แม่อยู่ต่อที่บ้านนาคู เพื่อดูแลยายที่อายุมากแล้ว รวมทั้งดูแลบ้านและลูกเล็กอีก 4 คน รวมทั้งผม ส่วนพี่คนอื่นๆได้แต่งงานแยกเรือนไป 1 คน อยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ 1 คน อีก 2 คน ย้ายไปช่วยพ่อค้าขาย

แม่จึงขึ้นๆ ล่องๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับบ้านนาคูเป็นประจำ

ต่อมาเมื่อพี่ชายคนถัดไปของผมจบชั้นประถมปีที่ 4 ได้ย้ายไปอยู่กับลุงที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เพื่อเรียนต่อชั้นมัธยม

ช่วงนั้น ผมจึงเป็นลูกคนเดียวที่ยังอยู่กับแม่ที่บ้านนาคู

สองปีต่อมา พ.ศ. 2496 ผมจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้ว ก็ย้ายมาอยู่กับพ่อที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อชั้นมัธยม

แม่ยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพกับบ้านนาคู เพราะยายยิ่งอายุมากขึ้นไปอีก และต้องการการดูแลมากขึ้น

พ่อเสียชีวิตก่อนยายที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2505 อายุได้ 65 ปี

ส่วนยายเสียชีวิตที่บ้านนาคูนี่เอง เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2509 ขณะมีอายุ 96 ปี

ในด้านลูกๆ ของแม่ ได้แต่งงานตั้งรกรากอยู่กรุงเทพฯ กันทุกคน ยกเว้นพี่สาวคนโต ซึ่งแรกเริ่มก็สร้างครอบครัวอยู่ที่บ้านนาคู แต่ต่อมาได้ย้ายตามลูกๆ ของตนเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน

เมื่อไม่มียายที่บ้านนาคู และลูกๆ อยู่กรุงเทพฯ กันหมด แม่จึงมาอยู่กับลูกที่กรุงเทพฯ บ้านนั้นบ้าง บ้านนี้บ้าง

แต่ยังคงหาโอกาสไปเยี่ยมบ้านนาคูอยู่เนืองๆ

แม้เมื่ออายุแม่มากแล้ว ขาก็ประสบอุบัติเหตุ เดินแทบไม่ได้ แม่ยังขอให้พาไปบ้านนาคู เพื่อเยี่ยมบ้านญาติ และคนรู้จักที่ยังอยู่

แม่ทำบุญให้วัดและช่วยคนบ้านนาคูอยู่เสมอๆ เท่าที่มีกำลังทรัพย์ทำได้

ใจของแม่ คิดถึงบ้านนาคูอยู่เนืองๆ มักถามถึง บางครั้งละเมอถึงขณะหลับ

แม่เป็นคนบ้านนาคูโดยแท้ทีเดียว

2. ความเป็นอยู่ : ลำบากบริสุทธ์

ในสายตาคนกรุง ชีวิตบ้านนอกดูลำบาก

เพราะเปรียบเทียบกับในกรุงแล้ว ความเป็นอยู่ในชนบท ไม่สู้สะดวกสบายเอาเลย

น้ำกิน น้ำใช้ ไฟฟ้า ประปา ห้องน้ำ ห้องส้วม การหุงหาอาหาร บ้านเรือน การเดินทาง การติดต่อสื่อสาร ล้วนแล้วแต่ยากลำบากกว่าในกรุงทั้งสิ้น

แต่แปลก ผมไม่เคยรู้สึกเช่นนั้นเลย ในสมัยที่ผมมีชีวิตอยู่ที่บ้านนาคู

และไม่เคยได้ยินแม่บ่นถึงความลำบากเหล่านั้นแม้แต่น้อย

บ้านนาคู แม้จะอยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ ในแง่ระยะทาง คือประมาณ 100 กิโลเมตร แต่เป็นตำบลสุดท้ายของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถัดจากบ้านนาคูไปนิดเดียวทางทิศเหนือก็ถึงเขตจังหวัดอ่างทอง และถัดไปเล็กน้อยทางทิศตะวันตกคือเขตจังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านนาคู จึงอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของจังหวัดมาก ไปถึงลำบาก

สมัยผมยังเด็ก และแม่อายุ 40 เศษ ต้องใช้เวลาเดินทาง 1 วัน จากกรุงเทพฯ โดยนั่งเรือ 2 ต่อ แล้วเดินเท้าอีกประมาณ 4 กิโลเมตร หรือนั่งเรือ 3 ต่อ ถ้าเป็นฤดูน้ำหลาก

แม้เดี๋ยวนี้ มีถนนไปถึง ก็ยังเป็นถนนลูกรังที่ขรุขระมาก และยังต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพฯ

ช่วงสุดท้ายก่อนเข้าบ้านผม เป็นถนนดินเหนียว ประมาณ 1.5 กิโลเมตร หน้าฝน หรือเวลาฝนตกหนัก จะใช้ไม่ได้ ต้องรอให้ฝนหายและดินถนนนั้นแห้งก่อน

ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านนั้น ลำบากอยู่เป็นปกติ

แม่ผมใช้ชีวิตลำบากมาตั้งแต่เกิด จึงเคยชิน และไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าหนักอกหนักใจอะไร

ผมเองก็รู้สึกเช่นนั้นในสมัยนั้น เพราะไม่เคยได้สัมผัสชีวิตที่สบายกว่า

เขาถึงมีคำพูดว่า ถ้าไม่เคยสัมผัส ก็ไม่รู้สึกคิดถึง

แม่จะตื่นแต่เช้าตรู่เสมอ เพื่อเตรียมอาหารให้ลูกๆ และครอบครัว ดูแลบ้านช่องให้เรียบร้อย ทำภารกิจต่างๆ ที่ควรทำ เช่น ปล่อยเป็ดไปหาอาหาร เก็บผัก รดน้ำพืชผัก เลี้ยงหมา ขุนหมู ทำความสะอาดโรงควาย แล้วแต่ว่ามีอะไรให้ทำ แม่จะทำอย่างขะมักเขม้น เหมือนไม่รู้จักเหนื่อย

ผมได้ช่วยแม่บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วงที่พี่ๆ ไม่ได้อยู่ที่บ้านนาคูแล้ว และมีแต่ผมกับแม่กับลูกพี่ลูกน้องอายุไล่เลี่ยกับผมอีก 1 คน แต่เนื่องจากผมยังเด็กมาก จึงช่วยได้เฉพาะงานเบาๆ

งานหนักๆ แม่เป็นคนทำ ผมก็ได้แต่ดูและอยู่เป็นเพื่อนบ้าง

ผมเห็นแม่เกี่ยวข้าวได้อย่างรวดเร็ว มัดข้าวเป็นฟ่อนใหญ่ๆ ยกฟ่อนข้าวใหญ่ๆ นั้นขึ้นล้อลากข้าวเพื่อลากมาบ้าน ดูแม่เป็นคนแข็งแรงมาก

ข้าวที่เกี่ยวมาแล้วต้องใช้ควายนวด แยกเม็ดข้าวออกจากฟาง เมล็ดก็ขนเข้าเก็บในยุ้งรอการขาย หรือนำไปสีเป็นข้าวสาร ส่วนฟางนำไปสุมเป็นกอง เก็บไว้ให้ควายกิน

งานเหล่านี้ ก็แม่นั้นแหละเป็นคนทำ

ในช่วงที่น้ำยังท่วมพื้นดินอยู่ไม่สามารถใช้ควายนวดข้าวได้ ถ้าจะรีบนวดข้าว เช่น ข้าวเหนียวที่จะใช้ทำขนม ต้องใช้วิธีเอารวงข้าวมามัดเป็นกำเล็กๆ ฟาดกับของแข็งให้เมล็ดหลุดออกบ้างแล้วใช้เท้าคนนวดอีกชั้นหนึ่ง

ผมเห็นแม่และผู้ใหญ่อื่นๆ เอาเท้าเปล่านวดข้าว เคยอาสาช่วยนวดด้วยวิธีนั้นบ้าง ปรากฏว่านวดได้ไม่นานเท้าก็พอง ต้องไปหารองเท้าผ้าใบมาใส่นวด ยังความขบขันให้ผู้ที่ได้เห็นมิใช่น้อย

บ้านนาคูเป็นที่ราบลุ่มมาก น้ำท่วมสูง 2-3 เมตรทุกปีและน้ำจะท่วมท้องนารวมทั้งพื้นดินบริเวณบ้านเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ใน 1 ปี

ผลประการหนึ่ง คือ จะหาผลไม้จากบ้านนาคูได้ยากมาก แม้แต่กล้วย

เพื่อให้ลูกๆได้มีผลไม้และอาหารอย่างอื่นรับประทานนอกจากปลา ไข่และผักที่หาได้หรือปลูกได้เอง แม่จะเดินด้วยเท้าไปตลาดซึ่งอยู่ไกลออกไป 4-5 กิโลเมตร ซื้ออาหารใส่กระจาดแล้วหาบด้วยคานหาบสาแหรกเดินมาคนเดียวท่ามกลางแดดที่ร้อนระอุ

ลูกที่โตหน่อย ซึ่งมักจะเป็นพี่สาวของผม จะคอยดูอยู่ที่บ้าน ว่าแม่เข้ามาใกล้พอมองเห็นหรือยัง เมื่อมองเห็นแม่หาบของมาก็จะออกไปรับหาบ พอช่วยแบ่งเบาความเหนื่อยยากของแม่ได้บ้าง

ผมเห็นแม่หาบของหนักเป็นระยะทางไกลกลางแดดที่ร้อนแรงแล้วรู้สึกเหนื่อยแทนจริงๆ

แต่ก็ดูแม่เต็มใจทำ และทำอยู่เนืองๆ เป็นเรื่องปกติ

การดำเนินชีวิตของแม่ คละเคล้าอยู่กับความยากลำบากนานาประการอีกหลายแบบ หลายอย่าง

ที่ยังประทับความทรงจำผมอยู่มากๆ เรื่องหนึ่งคือ การเดินทางโดยอาศัยเรือแจวหรือเรือพายเป็นพาหนะ

ถ้ามีน้ำมาก ก็ค่อนข้างสะดวก เพียงแต่ต้องแจวหรือพายนานหน่อยเท่านั้น

แต่บ่อยครั้งน้ำในคลองจะเหลือน้อย แจวหรือพายไม่ได้ คนต้องเดินลงมาที่คันคลอง ใช้เชือกโยงหรือลากเรือไปตามคลอง ส่วนใหญ่อาศัยผู้ใหญ่ 2 คนขึ้นไป เดินคนละฝั่งคลอง ก็พอจะลากเรือไปได้ไม่ลำบากนัก

ผมเห็นแม่ทำเช่นนี้หลายครั้ง ดูเป็นเรื่องปกติอีกเช่นกัน

แต่มีครั้งหนึ่ง ที่ผมรู้สึกสงสารแม่เป็นพิเศษ

ครั้งนั้นแม่กับผมไปกันสองคน เรือบรรทุกของหนักพอควร เจอน้ำตื้น แม่ต้องลงมาลากเรือเพียงคนเดียว เพราะผมก็ยังเด็กมาก

แม่ใช้เชือกสองเส้น เส้นหนึ่งโยงกับหัวเรือ อีกเส้นหนึ่งโยงกับท้ายเรือ เพื่อบังคับเรือให้ไปตามทิศที่ต้องการได้

แต่มันเป็นวิธีที่ผู้ลากต้องเหนื่อยและลำบากมากจริงๆ แถมต้องมีความชำนาญในการบังคับเรือด้วย

แม่ต้องลากเรืออยู่นานทีเดียวในครั้งนั้น จวนเจียนจะไม่ไหวก็หลายช่วง

ผมจำได้ว่า ผมรู้สึกอยากร้องไห้ด้วยความสงสารแม่

แต่ไม่ได้เห็นแม่แสดงความย่อท้อ หรือปริปากบ่นอะไรเลย

นี่แหละครับ ความลำบากของชนบท

มันเป็นความลำบากที่บริสุทธิ์จริงๆ

<มีต่อ>

อ้างอิง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/76312

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *