แนวทางในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชน
(1 ก.ค. 49) ไปร่วม “มหกรรมจัดการความรู้ เรื่อง สถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน” จัดโดย “หน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ร่วมกับ “มูลนิธิดร.ครูชบ–ปราณี ยอดแก็ว” และ “สมาคมสวัสดิการภาคประชาชนสงขลา” โดยการสนับสนุนของ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) และ ศตจ. (ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ) โดยจัดที่ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และที่ห้องประชุมโรงแรมกรีนเวิลด์พาเลซ อำภอเมือง จังหวัดสงขลา (ผมไปร่วมเฉพาะที่ตำบลน้ำขาว)
มหกรรมนี้เกี่ยวข้องกับการทำกรณีศึกษาและการจัดการความรู้จากประสบการณ์การสร้างสถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชนรวม 5 กรณีใน 5 จังหวัด คือ
1. สงขลา (เครือข่ายสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาททำสวัสดิการภาคประชาชนแก้จนอย่างยั่งยืน)
2. ลำปาง (เครือข่ายออมทรัพย์เพื่อสร้างสวัสดิการวันละบาท)
3. ตราด (เครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต)
4. สมุทรปราการ (เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลในคลองบางปลากด)
5. นครศรีธรรมราช (เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลกะหรอ กึ่งอำเภอนบพิตำ)
ผู้เป็นหลักในการทำการศึกษา คือ อาจารย์ภีม ภคเมธาวี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นการศึกษาที่มีคุณค่าน่าชื่นชม ควรนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี โดยหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบองค์กรการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน ทั้งในฐานะองค์กรการเงินชุมชนเอง ในฐานะผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในฐานะหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือสนใจในการพัฒนาระบบสถบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน ในเวทีกลางแจ้งที่ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ ผมได้เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “แนวทางในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชน” โดยให้ความเห็นว่าในอนาคต ขบวนองค์กรการเงินชุมชนอาจได้รับการขับเคลื่อนไปภายใต้แนวทางใดแนวทางหนึ่งดังนี้
1. แนวทางแบบ “รัฐโน้มนำ” ซึ่งจะเกิดขึ้นหากรัฐบาลใช้ “กองทุนหมู่บ้าน” เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชน
2. แนวทางแบบ “รัฐหนุนแนว” ซึ่งจะเกิดขึ้นถ้ารัฐบาลดำเนินการตามข้อเสนอใน “ร่างแผนแม่บทองค์กรการเงินชุมชน” ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นแม่งานและอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงขั้นสุดท้าย
3. แนวทางแบบ “ประชาชนนำน้าว” ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินโดยรัฐบาลให้การรับรู้และสนับสนุนตามที่ประชาชนเสนอแนะหรือตามที่เห็นว่าเหมาะสมสอดรับกับแนวทางของภาคประชาชน
ผมให้ความเห็นว่า ทั้ง 3 แนวทางมีความเป็นไปได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ผมเองเห็นว่าแนวทางแบบที่ 2 และ 3 น่าจะดีกว่าแนวทางแบบที่ 1 และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร สิ่งที่มีคุณค่าแน่นอนและควรดำเนินการให้บังเกิดผลดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ได้แก่
1. การให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา หรือ “การพัฒนาที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และ 9
2. การประสานความร่วมมือและสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะที่เป็นหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน
3. การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศที่ดีพอและมากพอ
4. การจัดการความรู้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง รวมถึงการจัดการความรู้ภายในองค์กร การจัดการความรู้ระหว่างองค์กร การจัดการความรู้ภายในเครือข่ายและระหว่างเครือข่าย การจัดการความรู้ภายประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนควรมีการศึกษาวิจัยที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ประกอบด้วย
5. การพัฒนาความสามารถในการจัดการ รวมถึง การจัดการองค์กรตนเอง การจัดการเครือข่าย การจัดการสนับสนุน (จากแหล่งต่างๆ) ให้ได้ทั้งคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความราบรื่นเรียบร้อย ฯลฯ
ไพบุลย์ วัฒนศิริธรรม
13 ก.ค. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/38472