แกะรอยเส้นทางความสุข “ภูฏาน” : สัมผัสคมคิดวิถีสร้างสุขมนุษยชาติ(บทสัมภาษณ์)
(บทสัมภาษณ์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เรียบเรียงโดย เอื้อมพร สิงหกาญจน์ ซึ่งได้ตัดแต่งให้กระชับมากขึ้นและนำไปลงเป็นบทความใน นสพ. ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 7 – 10 ก.ย. 49 หน้า 44)
วันนี้ “ภูฏาน”กลายเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นน่าสนใจ เป็นสถานที่ที่หลายคนอยากไปเยือน อยากไปสัมผัสมากที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะนอกจากทัศนียภาพและภูมิประเทศที่สวยงามแล้ว ภูฏานยังเป็นประเทศที่ได้รับการกล่าวขานว่าประชาชนอยู่กันอย่างมีความสุข
หลังจากมกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ได้เดินทางมาร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คนไทยจำนวนไม่น้อยก็หันมาให้ความสนใจ คำว่า GNH (Gross National Happiness) หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ อันเป็นหลักการบริหารประเทศของภูฏาน หลายภาคส่วนอาศัยกระแสหลักนี้ผลักดันเรื่องของความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือสังคมอยู่เย็นเป็นสุข เป็นวาระแห่งชาติสำหรับประเทศไทยด้วย
ตามล่าหาความจริงเกี่ยวกับ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ”
ล่าสุดระหว่าง 25 – 29 สิงหาคม 2549 “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม หรือที่รู้จักกันในนามศูนย์คุณธรรม ได้พาคณะคนไทยรวม 16 ชีวิต จาก 11 องค์กร อันประกอบไปด้วยพระ 1 รูป ปราชญ์ชาวบ้าน 1 คน ตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 1 คน ตัวแทนจากสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) 1 คน ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) 1 คน รองเลขาธิการสภาพัฒน์ 1 คน อาจารย์จากมหาวิทยาลัย 1 คน นักวิชาการจากสถาบันการบริหารและจิตวิทยา 1 คน ผู้บริหารจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 2 คน และผู้บริหารศูนย์คุณธรรม 4 คน บินลัดฟ้าข้ามผ่านโลกทุนนิยมเสรี ไปทำความเข้าใจ ศึกษาความเป็นมาของธงชัยในเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติของราชอาณาจักรภูฏาน ว่าเขาพัฒนากันอย่างไร ปฏิบัติกันอย่างไร ได้ผลอย่างไร
ประเทศภูฏานได้นำหลักการที่เรียกว่าความสุขมวลรวมประชาติ หรือ GNH มาเป็นธงชัยในการบริหารบ้านเมือง เป็นทั้งเป้าหมาย หลักคิด และแนวดำเนินการ มาตั้งแต่ประมาณปี 2517
ปฐมบทเรื่องนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน ซึ่งมีพระนามว่า จิกมี ซิงเย วังชุก เสด็จขึ้นครองราชย์ ในปี 2515 จากนั้นไม่นาน ก็ประกาศธงชัยเรื่อง GNH เน้นไปที่ 4 เสาหลัก คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ 2.การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และ 4.การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
ผู้ใหญ่ในภูฏานท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เดิมทีเดียว GNH เป็นเพียงพระราโชบายของพระราชาธิบดี ต่อมาได้ปรับมาเป็นนโยบายรัฐบาล โดยให้เป็นเป้าหมายและหลักการสำคัญเพื่อกำกับนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินให้เอื้ออำนวยต่อการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการพยายามทำให้เกิดความสุขรายบุคคล แต่มุ่งมั่นในการบริหารประเทศให้อยู่บนฐานและทิศทางการสร้างความสุขโดยรวมของประชาชนเป็นสำคัญ และเป็นการผสมผสานให้เกิดความพอดีระหว่างการพัฒนาและผลลัพธ์ทางวัตถุ กับการพัฒนาและผลลัพธ์ทางจิตใจ
รัฐบาลจะต้องคิดและพยายามในเรื่องของการสร้างความสุขมากกว่าการสร้างความร่ำรวย เพราะถ้าฝ่ายรัฐเน้นเรื่องความร่ำรวย ก็จะไปสร้างสิ่งต่างๆในลักษณะที่ก่อให้เกิดแต่ความร่ำรวยแก่คนบางกลุ่ม แต่อาจไปทำลายธรรมชาติ ทำลายวัฒนธรรม ทำลายสังคม หนุนนำความโลภ และสร้างความสุขแบบวัตถุนิยมที่ไม่ยั่งยืน
เรื่อง GNH ในภูฏานแม้ว่าจะเริ่มมานาน แต่เพิ่งมีการับรู้ ศึกษา วิเคราะห์ วิจารณ์ กันอย่างกว้างขวางในช่วง ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง
แนวคิดเกี่ยวกับ “ความสุข” ในประเทศไทย
ซึ่งหากย้อนกลับมาดูประเทศไทย จะเห็นว่าเริ่มได้ยินเรื่องในแนวเดียวกันนี้มาประปรายบ้างเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน แต่มาเริ่มเข้มข้นจนเป็นกระแสชัดเจนของสังคมในช่วงที่มีการฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในปีนี้ โดยเป็นการผสมอุดมการณ์ความอยู่เย็นเป็นสุข หรือสุขภาวะ เข้ากับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา
“ด้วยความเป็นหนุ่มรูปหล่อ มีพระจริยวัตรงดงาม ของมกุฎราชกุมาร จิกมี่ เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ประกอบกับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศภูฏานกับประเทศไทย ทำให้ประเทศภูฏานโดดเด่นขึ้นมาพร้อมๆ กับแนวคิดว่าด้วยความสุขมวลรวมประชาชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยสนใจพัฒนาประเทศโดยเน้นความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนมาตั้งแต่แผนฯ 8 ถึงแผนฯ 9 แต่ยังไม่มีรูปธรรมในเรื่องการพัฒนาที่ชัดเจน ดังนั้นในแผนฯ 10 ที่จะเริ่มประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2549 นี้ จึงมีการชูธงไปที่การพัฒนาอันจะก่อให้เกิด “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”ในสังคมไทย โดยมี “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญานำทาง
GNH หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ จึงไม่ถึงกับเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่คนไทยให้ความสนใจอยู่แล้ว และที่ผ่านมาได้มีความพยายามสร้างตัวชี้วัด เพื่อบ่งบอกถึงสภาวะความอยู่เย็นเป็นสุขในหลายรูปหลายแบบ มีขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือบางทีเรียกว่าสุขภาวะ คือ ภาวะความเป็นสุข และอื่นๆ
กล่าวได้ว่า คำว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน มีลักษณะคล้ายๆกับ “ความอยู่เย็นเป็นสุข” หรือ “สุขภาวะ” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของประเทศไทยนั่นเอง คณะของเราจึงอยากไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกับบุคคลต่างๆของประเทศภูฏาน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้”
สู่ “ดินแดนแห่งมังกรผู้รักสันติ”
“ไพบูลย์” เล่าว่า สิ่งแรกที่กระทบสายตา ทันทีที่เท้าเหยียบผืนแผ่นดินภูฏาน คือความงดงามตระการตาของภูมิประเทศ ทัศนียภาพโดยรอบ ที่มีลักษณะเป็นภูเขาลูกใหญ่ ลูกน้อย สลับกันไปอย่างดูเหมือนไม่รู้จบ
“ภูฏาน” แปลว่าดินแดนบนที่สูง หรืออาณาจักรบนฟ้า แต่ชาวภูฏานเรียกประเทศตนเองว่า “ดรุกยุล” หรือ “ดินแดนแห่งมังกรผู้รักสันติ” และเรียกเผ่าพันธุ์ตนเองว่า “ดรุกปา” หรือ “ชาวมังกรสันติ”
“ก่อนเดินทางได้อ่านเอกสาร ศึกษาจากคำบอกเล่าของผู้รู้ ก็เห็นว่าภูฏานเป็นประเทศที่เป็นภูเขาทั้งสิ้น แทบจะไม่มีพื้นที่ราบเลย ขนาดสนามบินยังต้องตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงถึง 70 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินถึงเมืองหลวงประมาณชั่วโมงครึ่ง ไต่ไหล่เขาไปเรื่อยๆ
พอไปสัมผัสจริงๆ ภาพก็ชัดขึ้น สนามบินของภูฏานจะมีรูปแบบคล้ายๆ กับสนามบินในจังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย เครื่องบินขึ้นลงค่อนข้างลำบาก ต้องใช้ความระมัดระวังสูง เครื่องบินขนาดใหญ่มากก็ใช้ไม่ได้ เพราะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาลูกใหญ่สลับซับซ้อนมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือภูฏานสามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ภูมิประเทศโดยรวมจึงสวยสดงดงามมาก
“ไพบูลย์” เล่าด้วยความชื่นชมว่า ประเทศภูฏานนั้น นอกจากเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต วิถีการอยู่ร่วมกัน จะน่าสนใจแล้ว ระบบและวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองก็ยังน่าสนใจมาก
ประเทศภูฏานมีประชากรประมาณ 700,000 คน มีเนื้อที่ของประเทศประมาณ 47,000 ตารางกิโลเมตร หรือพอๆกับจังหวัดแม่ฮองสอน เชียงราย เชียงใหม่ และลำพูนรวมกัน ได้แบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 20 จังหวัด จังหวัดหนึ่งจะมีศูนย์กลาง เรียกว่า DZONG (ซอง) เป็นศาสนสถาน และศูนย์กลางของพระ ในขณะเดียวกันก็เป็นป้อมปราการ และเป็นศูนย์การบริหารจังหวัดสำหรับจังหวัดนั้นๆ ด้วย
ศูนย์การบริหารแต่ละจังหวัดนั้น ดั้งเดิมมีพระเป็นผู้บริหารดูแล เนื่องจากในประวัติศาสตร์ประเทศภูฏานนั้นได้ก่อตัวขึ้นมาจากการที่พระไปรวบรวมผู้คน รวบรวมจังหวัดต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน แล้วมีการบริหารปกครองกันต่อๆมา เพราะฉะนั้น พระจึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารกิจการบ้านเมือง วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางอยู่แล้วจึงกลายเป็นที่ทำการสำหรับการบริหารไปด้วย
ต่อมาเมื่อมีพระราชาธิบดีเกิดขึ้น เมื่อเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา พระราชาธิบดีก็เข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศควบคู่ไปกับบทบาทของพระสงฆ์
DZONG (ซอง) จึงเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ เป็นศูนย์กลางการประกอบภารกิจของสงฆ์ ไปพร้อมๆ กับการเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นป้อมปราการ
DZONG (ซอง) ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม บางจังหวัดอาจจะอยู่ใกล้กับแม่น้ำในหุบเขา บางจังหวัดอาจจะอยู่บนภูผาที่สูงชัน
วิถีชีวิตชาวภูฏาน
“วิถีชีวิตของชาวภูฏาน โดยทั่วไปค่อนข้างเรียบง่าย ปลูกบ้านหลังไม่เล็กไม่ใหญ่ กระจายไปตามภูเขา อยู่กันแบบพออยู่พอกิน เน้นกิจกรรมทางด้านศาสนา เช่น การสวดมนต์ การประกอบพิธีกรรมต่างๆยังมีอยู่มาก
และประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวภูฏานยังคงอนุรักษ์ไว้จนถึงยุคปัจจุบัน คือ ทุกครอบครัวจะให้ลูกชายคนเล็กไปอยู่กับพระเพื่อเรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 8 ขวบจนถึงอายุ 20 ปี จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเป็นพระต่อไปหรือจะออกมาใช้ชีวิตเป็นฆราวาส ซึ่งเด็กชายจำนวนมากก็เลือกที่จะเป็นพระไปตลอดชีวิต
ด้วยเหตุนี้ ความใกล้ชิดระหว่างประชาชนชาวภูฏานกับศาสนาจึงมีมาก”
“ประธานศูนย์คุณธรรม” เล่าต่อว่า ด้วยความที่ภูฏานมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาลูกใหญ่ ลูกน้อย สลับกันไป ประชากรส่วนใหญ่จึงยึดอาชีพเกษตรกรรมในการเลี้ยงชีพ ซึ่งบางส่วนทำในลักษณะขั้นบันได เน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก เนื่องจากการติดต่อคมนาคมยังค่อนข้างลำบากอยู่มาก ผลไม้ที่เห็นปลูกกันมากคือ แอปเปิ้ล แต่ในยุคปัจจุบันได้มีอาชีพอื่นๆ ผสมผสานเข้ามาด้วย
หากดูโดยรวม ภาคเกษตรน่าจะเป็นภาคที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศภูฏาน แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น “ประธานศูนย์คุณธรรม” บอกว่า แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของภูฏานจะมีอาชีพเกษตรกรรม แต่ผลผลิตทางด้านการเกษตรก็ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับภูฏานมากนัก เพราะเป็นการเกษตรแบบพึ่งตนเอง ส่วนใหญ่จึงผลิตแล้วบริโภคกันภายในประเทศเสียมากกว่า ส่วนรายได้หลักของภูฏานจริงๆ มาจากพลังงานน้ำ เพราะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับกับหุบเขา ทำให้ภูฏานมีน้ำที่อุดมสมบูรณ์ สามารถกั้นเขื่อนผลิตไฟฟ้าไปขายให้กับประเทศอินเดียและสร้างรายได้เข้าประเทศมากถึงระดับเป็นรายได้หลักทีเดียว
ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวถือว่ายังค่อนข้างน้อย เนื่องจากในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปที่ภูฏานเป็นหลักพันเท่านั้น ยกเว้นปีล่าสุดที่นักท่องเที่ยวมีจำนวนมากที่สุดถึงประมาณ 13,000 คน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่ว่าภูฏานไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว แต่เป็นเพราะว่ารัฐบาลภูฏานจำกัดในเรื่องของการท่องเที่ยว เกรงว่าจะไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงวัฒนธรรมประเพณีต่างๆที่มีอยู่ ซึ่งหากเทียบกับประเทศไทยเฉพาะภูเก็ตจังหวัดเดียวปีหนึ่งมีคนมาเที่ยวไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ซึ่งนำรายได้เข้ามามากแต่สิ่งที่สูญเสียไปก็มีมากด้วย
แนวปฏิบัติตาม “สี่เสาหลัก” ของ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ”
“ประธานศูนย์คุณธรรม” เล่าว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่ได้เห็นในภูฏาน ทำให้สัมผัสได้ถึงความสุขแบบเรียบง่ายที่กระจายไปทุกพื้นที่ แต่นั่นยังไม่ใช่แก่นของ GNH ที่คณะจากประเทศไทยต้องการไปทำความเข้าใจ
สิ่งที่อยากรู้ คือ 4 เสาหลักของความสุขมวลรวมประชาชาติ ซึ่งได้แก่ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่าง ยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ 2.การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และ 4.การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี นั้น ภูฏานได้สร้างระบบอย่างไร มีแนวปฏิบัติอย่างไร แล้วผลลัพท์ที่ออกมาเป็นอย่างไร เหล่านี้ต่างหากที่คณะผู้เดินทางอยากไปเห็นของจริง
จากการได้สนทนากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงหลักๆในภูฏาน เช่น กระทรวงมหาดไทย และวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ก็เริ่มเห็นภาพชัดขึ้น เห็นแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน เพราะทุกกระทรวงได้ยึดเรื่อง GNH เป็นหลักในการดำเนินงาน มีการปลูกฝังเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติเข้าไปในสถานศึกษาและอื่นๆ
นอกจากการทัศนศึกษา DZONG (ซอง) รวม 4 แห่งแล้ว คณะผู้เดินทางได้ไปเยี่ยมโรงเรียนระดับประถมศึกษา 1 แห่ง และระดับมัธยมศึกษา 1 แห่ง กับไปดูความเป็นอยู่ของชาวบ้าน 1 หมู่บ้าน ได้เห็นวิถีชีวิตที่แท้จริงของชาวภูฏานส่วนหนึ่ง รวมทั้งได้พูดคุยกับชาวบ้านทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเด็กเยาวชนหลายคน
“เรามีโอกาสเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านเล็กๆที่ไปเยี่ยมโดยไม่มีการวางแผนไว้ก่อนบ้านหลังนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของสตรีสูงวัยพร้อมทั้งลูกหลานรวม 10 คน เป็นบ้าน 2 ชั้น มี 2 ห้องนอน กับ 1 ห้องพระด้วยซึ่งใช้เป็นห้องนอน
สังเกตว่าเขาจะนอนกางมุ้งกับพื้นเป็นหลัก นอกจากห้องนอนแล้วจะมีห้องพระหรือห้องสวดมนต์ ซึ่งอาจใช้เป็นห้องนอนด้วย มีรูปพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์และอาจมีรูปพระเจ้าแผ่นดินด้วยสำหรับกราบไหว้บูชา นอกนั้นก็มีห้องครัวและห้องเก็บสิ่งของแล้วแต่อาชีพของเจ้าของบ้าน เช่นเก็บเครื่องมือการเกษตรและวัสดุกับผลผลิตการเกษตร
ห้องพระหรือห้องสวดมนต์นั้นถือว่าเป็นห้องที่มีความสำคัญมาก ทุกบ้านจะต้องมี ไม่ว่ายากดีมีจนก็จะต้องมีห้องพระ เป็นห้องประกอบกิจกรรมทางศาสนารวมทั้งสวดมนต์ บางบ้านใช้นอนด้วย หากเป็นบ้านของผู้มีศักดิ์สูงหน่อยก็จะเก็บห้องนี้ไว้เป็นพิเศษสำหรับต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ หรือพระที่เดินทางมาจากที่ไกลๆ ให้เข้ามาพักที่ห้องพระ
ชาวภูฏานจะสวดมนต์ทุกวัน เราได้รับการบอกเล่าว่า พระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดินสวดมนต์เป็นประจำทุกคืน และกราบแบบภูฏานคืนละ 108 ครั้ง
บริเวณฝาผนังของบ้านที่เราได้เข้าไปดู มีการวาดภาพตกแต่งสวยงาม เป็นวัฒนธรรมของชาวภูฏานที่น่าชื่นชม กล่าวคือ มีจิตรกรรมฝาผนังแทนวอลเปเปอร์ แม้ในบ้านของชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านธรรมดาๆ ”
บ้านเรือนและความเป็นอยู่
“โรงแรมที่เราเข้าไปพักในคืนสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทย เคยเป็นบ้านของเจ้าเมืองเก่า ที่ฝาผนังห้องเต็มไปด้วยภาพวาดและลวดลายสวยงามตระการตา มีภาพสัญลักษณ์มงคล 8 ประการ เป็นต้น นับเป็นวัฒนธรรมที่งดงามมาก
บ้านเรือนเท่าที่เห็นทั้งในเมืองและในชนบทล้วนปลูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของภูฏาน เข้าใจว่าเป็นเช่นนี้ทั้งประเทศ เพราะมีกฏหมายกำหนดให้บ้านทุกหลังที่ก่อสร้างจะต้องเป็นแบบภูฏาน ไม่ให้เป็นแบบอื่นๆ มองไปทางไหนจึงดูสวยงามไม่ระเกะระกะ สีสันอาจแตกต่างกันไปบ้างแต่รูปทรงจะคล้ายๆกัน ขนาดของบ้านส่วนมากดูค่อนข้างใหญ่ ผนังของบ้านค่อนข้างหนาโดยเฉพาะที่เป็นบ้านเก่า โดยสร้างจากดินที่นำมาอัดให้ติดกันคล้ายๆ กับเป็นซีเมนต์เพื่อความแข็งแรงและกันความหนาวเย็นเพราะภูฏานเป็นเมืองหนาว
เท่าที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นบ้านผู้ที่มีศักดิ์สูง หรือบ้านชาวบ้านธรรมดาต่างมีห้องพระเหมือนกัน แต่ห้องพระของชาวบ้านจะไม่มีการตกแต่งสวยงามเท่ากับบ้านของผู้ที่มีฐานะทางการเงินดีกว่า ”
“ประชาชนชาวภูฏานดูจะใช้ชีวิตอย่างพออยู่ พอกิน เราไม่เห็นความฟุ่มเฟื่อย หรือความหรูหรา และก็ไม่ได้เห็นความยากจนข้นแค้นอะไรนัก เดิมทีได้รับข้อมูลว่าประเทศภูฏานไม่มีขอทาน แต่ช่วงที่เราไปเดินตลาดสดได้พบขอทาน 2 คน เป็นคนแก่
เรื่องอบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนัน นัยว่าเริ่มมีเพิ่มขึ้นเพราะโลกาภิวัตน์ที่คืบคลานเข้ามา แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่เล็ก ซึ่งรัฐบาลภูฏานก็ดูกังวลอยู่ไม่ใช่น้อยและพยายามที่จะหาหนทางป้องกันอยู่
สิ่งไหนที่เป็นอบายมุขหรือเป็นสิ่งไร้ประโยชน์หรือเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม รัฐบาลภูฏานจะจำกัดการขยายตัว เช่น แต่ก่อนรายการมวยปล้ำที่ถ่ายทอดผ่านทีวีจะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่เมื่อรัฐบาลเห็นว่าการนำเสนอกิจกรรมลักษณะนี้จะเป็นการส่งเสริมความรุนแรงก็ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการถ่ายทอดรายการมวยปล้ำทางทีวี
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
28 ก.ย. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/52358