เทคนิคการรวมพลังสร้างอนาคต (AIC)
การประชุมระดมความคิด แบบมีส่วนร่วมสูง ( Highly Participative ) ของผู้เกี่ยวข้องทุก ฝ่าย โดยใช้กระบวนการ เทคนิคการรวมพลังสร้างอนาคต ( AIC : Appreciation , Influence , Control ) ผสมผสานร่วมกับ เทคนิคการรวบรวมความคิดเชิงสร้างสรรค์
( TCT : Total Creative Thinking )
———————————————————
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
วิเชียร ศรีลูกหว้า
มีนาคม ๒๕๕๒
การที่จะส่งเสริมให้คนมีความร่วมมือกัน รักกัน และ มีการเรียนรู้ร่วมกันได้นั้น ได้มีคนพยายามค้นคว้าวิธีการโดยการพัฒนา และ วิจัยมาแล้วมากกว่า ๕๐ ปี จนกลายเป็นเครื่องมือที่เรียกว่า A – I – C ( โดย William E. Smith และ Turid Sato แห่งสถาบัน ODII สหรัฐอเมริกา ) ซึ่งได้ผ่านการวิจัย และทดลองใช้รวมทั้งได้มีการพัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ ผู้เขียนเองเป็นผู้หนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการทดลอง และนำมาประยุกต์ใช้กับงานพัฒนาแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยได้ปรับประยุกต์กระบวนการ ขั้นตอน ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม วัฒนธรรมแบบไทย ๆ อย่างได้ผล
A – I – C เป็นกระบวนการ และ เทคนิคในการนำคนที่ต้องการทำงานร่วมกันทั้งหมดในระบบใดระบบหนึ่ง หรือ เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เข้ามา ประชุมเชิงปฏิบัติการ ( Workshop ) ร่วมกัน ซึ่งมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการนำมาใช้ในการ จัดทำแผนพัฒนาองค์กร ชุมชน และ สังคม เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวจะช่วยก่อให้เกิด พลังแห่งความร่วมมือ ได้อย่างดียิ่ง โดยมีขั้นตอน / กระบวนการดำเนินการตามลำดับ รวม ๓ ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ ๑ A : APPRECIATION ( การสร้างพลังเมตตา )
คือ กระบวนการที่ทำให้ทุกคนให้การยอมรับและชื่นชม ( APPRECIATION ) คนอื่น โดยที่ไม่รู้สึกที่ไม่ดี หรือ แสดงการต่อต้าน หรือ วิพากษ์วิจารณ์
กระบวนการในชั้นนี้ ทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมจะมีโอกาสในการแสดงออกได้อย่างทัดเทียมกัน ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้ทั้ง ข้อเท็จจริง เหตุผล และ ความรู้สึกของตน ตลอดจนการแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง เมื่อทุกคนได้แสดงออกโดยได้รับการยอมรับจากคนอื่นๆ จะทำให้ทุกคนมีความรู้สึกที่ดี มีความสุข มีความอบอุ่น และ จะเกิด พลังร่วม ขึ้นในระหว่างคนที่มาประชุมร่วมกัน
ขั้นที่ ๒ I : INFLUENCE ( การสร้างพลังปัญญา )
คือ การใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่แต่ละคนมีอยู่ มาช่วยกันกำหนด วิธีการสำคัญ หรือ “ ยุทธศาสตร์ ” ( STRATEGY ) ที่จะทำให้บรรลุ วิสัยทัศน์ร่วม ( SHARED VISION ) หรือ อุดมการณ์ร่วม ( SHARED IDEAL ) ของกลุ่มที่มาประชุมร่วมกันได้อย่างดีที่สุด
กระบวนการในชั้นนี้ ทุกคนยังมีโอกาสทัดเทียมกัน ให้เกียรติ ให้โอกาส ซึ่งกันและกัน รับฟังข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน โต้เถียงกันด้วยเหตุและผล ยอมรับกัน จะทำให้เกิด พลังร่วมของสติปัญญา ที่แต่ละคนมี และ นำออกมาร่วมกันกำหนด วิธีการสำคัญที่จะทำให้บรรลุ วิสัยทัศน์ร่วม หรือ อุดมการณ์ร่วม ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะมี ปฏิสัมพันธ์ ( INFLUENCE หรือ INTERACTION) ซึ่งกันและกันสูงมาก เพื่อให้ได้ วิธีการสำคัญ ที่กลุ่มเห็นว่าดีที่สุดนั่นเอง
ขั้นที่ ๓ C : CONTROL ( การสร้างพลังพัฒนา )
คือ การนำเอา วิธีการสำคัญ มากำหนดเป็น แผนปฏิบัติการ ( ACTION PLAN ) อย่างละเอียดว่า จะทำอะไร อย่างไร มีหลักการและเหตุผลอย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ใครจะต้องให้ความร่วมมือ จะต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายเท่าไร จะได้จากแหล่งใดบ้าง กลุ่ม / องค์กร / หน่วยงาน ฯลฯ ของตนเอง มีงบประมาณ และ ทรัพยากรอะไรสนับสนุนบ้าง เหล่านี้เป็นต้น
กระบวนการในชั้นนี้ สมาชิกของกลุ่มแต่ละคนจะตัดสินใจเลือกเองด้วยความสมัครใจว่า แต่ละคนจะรับอาสาที่จะรับผิดชอบในเรื่องใด หรือ จะให้ความร่วมมือในเรื่องใด หรือ จะเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องใด เป็นการกำหนด ข้อผูกพัน ( COMMITMENT ) ให้กับตนเอง เพื่อ ควบคุม ( CONTROL ) ให้เกิดการกระทำอันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย หรือ อุดมการณ์ร่วมกัน ในที่สุด ซึ่งก็ คือ การก่อเกิด พลังร่วมของการพัฒนา นั่นเอง
สรุป A – I – C คือ กระบวนการรวมพลังสร้างอนาคต เป็นการสร้างพลังร่วมในการทำงานร่วมกันของคนหลายฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะเกิดประสิทธิผลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกระบวนการ ที่ช่วยในการดึงพลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้วในกลุ่ม / องค์กร / หน่วยงาน / ตัวบุคคล ฯลฯ ซึ่งต้องการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันด้วยการยึดหลักของ ความเมตตา ซึ่งถือว่าเป็น ธรรมะอย่างสูง เพราะคนที่จะมี หรือ ให้ความรักความเมตตาคนอื่น ได้นั้น ต้องรับฟังคนอื่นด้วยความอดทน ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกับตน เพราะฉะนั้น ตัว A ( เอ ) จะทำให้เกิดพลังแห่งความดี ถ้าใครมีมาก หรือฝึกได้ถึงขั้นจะถือได้ว่าเป็นผู้ที่บรรลุ การพัฒนาทางจิตวิญญาณ ( SPIRITUAL DEVELOPMENT ) และคน ๆ นั้นจะมีความสุขมาก ซึ่งเมื่อคนที่เข้ามาร่วมกันทำกิจกรรมโดยมีความรักความเมตตาต่อกันแล้ว ก็จะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากการทำงานด้วยกัน ซึ่งก็ คือ ตัว I ( ไอ ) จะทำให้เกิดพลังร่วมของสติปัญญา เพราะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง ( INTERACTIVE LEARNING THROUGH ACTION ) ซึ่งกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนได้นั้น ต้องการการเรียนรู้ร่วมกันของคนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้ทุกคนตระหนักในความรับผิดชอบ และ ควบคุมตนเอง ซึ่งก็ คือ ตัว C ( ซี ) ไปสู่การกระทำที่เป็นความต้องการร่วมกัน นั่นเอง
อาจสรุปได้ว่าเทคนิค AIC จะช่วยก่อให้เกิด พลังของความร่วมมือ แบบไทย ๆ ว่า…………
A คือ รู้ รัก สามัคคี I คือ ร่วมกันคิด C คือ ร่วมกันทำ
การรวมความคิดเชิงสร้างสรรค์ ( TCT : Total Creative Thinking ) เป็นเทคนิคอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการจัดประชุมระดมความคิด เพื่อการพัฒนาองค์กร โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมใช้ ความคิดเชิงบวก มากกว่า ความคิดเชิงลบ กล่าวคือ
- ความคิดเชิงบวก ( positive thinking ) คือ การมองอะไรในทัศนะของความเป็นไปได้ เป็นการคิดเพื่อมองหาช่องทางของความสำเร็จ และ มีความเชื่อว่าทุกอย่างทำสำเร็จได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือ ไม่ช้าก็เร็ว
- ความคิดเชิงลบ ( negative thinking ) คือ การมองอะไรในทัศนะของความเป็นไปไม่ได้ เป็นการคิดแบบปิดกั้นความคิดตัวเอง ไม่พยายามมองหาช่องทางของความสำเร็จ และ มักจะมีความเชื่อว่าทำไปก็ไม่สำเร็จ หรือ ทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากนี้ ยังพยายามฉุดรั้งความคิดของคนอื่นอีกต่างหาก ( คุณเคยพูด หรือ เคยได้ยินคำพูดอย่างนี้บ้างไหม เช่น “เรื่องนี้ไม่มีทางทำได้สำเร็จหรอก” “อย่าไปเสียเวลาคิดเลย คนมีอำนาจเขาคงไม่เห็นด้วย” ถ้าเคยพูด หรือ เคยได้ยินมาบ้าง ก็ให้รับรู้ไว้ด้วยว่า ตัวคุณ หรือ คนที่พูด นั้น เป็นคนประเภทนี้แหละ )
ขั้นตอนและกระบวนการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการโดยผสมผสานเทคนิค AIC + TCT
ขั้นที่ ๑ ตัวเอง ( SELF )
- ผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคน คิดคนเดียวตามลำพัง โดยการนำสิ่งที่ตนเองรับรู้หรือ ประสบการณ์ตรงของตนเองที่ได้มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องผสมกับความคิดของตนเองที่มีอยู่ โดยการจดบันทึกไว้ในกระดาษสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น
ขั้นที่ ๒ คนอื่น ( OTHERS )
- นำข้อสรุปความคิดเห็นของตนเอง ( แต่ละคน) มาเสนอ และ แลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ในกลุ่มย่อย โดยทุกคนที่เสนอ หรือ แสดงความคิดเห็นอยู่บนพื้นฐานของ หลักการ Appreciation คือ การนำ พลังเมตตา ที่มีอยู่ในตัวเองออกมาใช้ โดยการชื่นชมยินดีต่อความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม รับรู้ด้วยความเข้าใจ เห็นใจ และ มองเห็นคุณค่าต่อสิ่งที่แต่ละคนนำเสนอ
- รวบรวมความคิดเห็นของแต่ละคนเป็น ความคิดเห็นรวบยอดของกลุ่ม โดยการรวมประเด็นที่เหมือนๆ กันเข้าด้วยกัน และ แยกแยะประเด็นที่แตกต่างกันออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ หาข้อ สรุปร่วมกันเป็นประเด็นใหม่ ที่สมาชิกในกลุ่มมีความพอใจและเห็นชอบร่วมกัน โดยสมาชิกทุกคนร่วมกันเสนอหรือแสดงความคิดเห็นอยู่บนพื้นฐานของ หลักการ Influence คือ การนำ พลังปัญญา ที่มีอยู่ในตัวเองออกมาใช้ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกันแบบมีปฏิสัมพันธ์ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกและช่วยกันหล่อหลอมความคิดของทุกคนเข้าด้วยกันให้เป็นความคิดและข้อสรุปของกลุ่มโดยไม่มีการขัดแย้ง
ขั้นที่ ๓ องค์รวม ( THE WHOLE )
- นำข้อสรุปของกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มตามขั้นตอนที่ ๒ มาเสนอในที่ประชุมกลุ่มใหญ่ (รวมทุกกลุ่ม)
- สมาชิกในที่ประชุมกลุ่มใหญ่ ร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เสนอแนะเพิ่มเติมความสมบูรณ์ โดยสมาชิกทุกคนยังคงร่วมกันเสนอ หรือ แสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของ หลักการ A และ I
- สรุปรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็น ความคิดรวบยอดองค์รวม ของที่ประชุม
โดยสมาชิกทุกคนตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของ หลักการ TCT คือ การรวบรวมความคิดเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้น ข้อเสนอหรือความคิดใดๆที่เป็น เชิงลบ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ในที่ประชุม ผู้เสนอจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือ ไม่ควรนำเสนอ - เมื่อได้ความคิดรวบยอดองค์รวม ที่ตกผลึก ตามความต้องการร่วมกันแล้ว จึงนำมากำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ หรือ แผนกลยุทธ์ เพื่อดำเนินการให้บรรลุผลตามเป้าหมาย และ ความต้องการร่วมกัน โดยสมาชิกทุกคนแสดงตนในการเข้าร่วมบนพื้นฐานของ หลักการ Control คือ การนำพลังพัฒนามาควบคุมตนเองสู่การ
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/260442