‘อเนก นาคะบุตร’ กับภารกิจสลาย คลื่นใต้น้ำ ภาคสังคม

‘อเนก นาคะบุตร’ กับภารกิจสลาย คลื่นใต้น้ำ ภาคสังคม


“สังคมไทยกำลังอยู่ใน ภาวะเสี้ยนยา ยาตัวนี้ก็คือนโยบายประชานิยม ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่ให้ อนาคตจะเกิดการเรียกร้องครั้งใหญ่หรือคลื่นใต้น้ำ ภาคสังคม เป็นระเบิดที่รัฐบาลชุดที่แล้ววางไว้ ซึ่งอาจระเบิดขึ้นในเร็วๆ นี้

(ข่าวลงใน นสพ.โพสต์ทูเดย์ โดย นันทยา วรเพชรายุทธ ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 หน้า 9)

การปฏิรูปสังคมไทยนับว่าหนึ่งในวาระสำคัญของรัฐบาลที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปฏิรูประบบการเมือง  โดยเฉพาะการจัดการให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่สังคมที่สามารถอยู่เย็นเป็นสุดร่วมกัน  และเพื่อไม่ให้การกำหนดทิศทางของสังคมเกิดจากคนในเมืองหลวงหรือรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (พม.)  ที่จะขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวไปสู่ความสำเร็จ  โพสต์ทูเดย์  จึงขอนำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษของ  อเนก  นาคะบุตร  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ  พม.  ที่จะมาให้ทัศนะว่า  พม.จะเดินไปอย่างไรบนเส้นทางปฏิรูปสังคมอันท้าทายต่อจากนี้

พม.จะเดินหน้าปฏิรูปสังคมอย่างไร

ในอดีตพื้นที่ความคิดอยู่ที่กรุงเทพฯ  ขณะที่  76  จังหวัด  เป็นเพียงพื้นที่รับคำสั่ง  ดังนั้น  พม.จะทำหน้าที่เปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนมาเป็นผู้กำหนดแผนแม่บทพัฒนาสังคม  เช่น  เวทีเสวนาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมที่เชิญตัวแทนจากทุก  76  จังหวัดมาร่วม  โดยมีเนื้อหาคือ  การแสดงเจตจำนงที่ต้องการให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ  และทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ  ที่นำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง

การปฏิรูปสังคมครั้งนี้คือการที่มีปัญหาแล้วทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหา  โดยเราจะสร้างพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนเรียนรู้ร่วมกันและส่งเสริมให้เกิดการจัดการพัฒนาคนในชุมชน  การทำให้สังคมเข้มแข็งของ  พม.  จึงเป็นการผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างเจตนารมณ์ของบ้านเมือง  ไม่ใช่รอความคาดหวังจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว  เช่นให้ร่วมกันคิดว่า  สังคมอยู่เย็นเป็นสุขในอีก  5-10  ปี  ข้างหน้าเป็นอย่างไร

ใน  1  ปีนี้จะเห็นอะไรบ้าง

2-3  เดือนนี้จะมีแผนแม่บทการพัฒนาสังคมระดับประเทศที่เกิดจากการระดมความเห็นจากแต่ละจังหวัด  คาดว่าจะเสร็จในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์  รวมทั้งจะส่งเสริมให้สังคมหันมาดูแลผู้ถูกทอดทิ้งให้มากขึ้นในทุกชุมชน  นอกจากนี้ต้องจัดระบบวางแผนเศรษฐกิจพอเพียงในทุกชุมชนทั่วประเทศ  โดยมีแผนการเงินการคลังร่วมกัน  ระหว่าง  ท้องถิ่น  ภาคธุรกิจ  รัฐบาลกลาง  เพื่อไปปรับระบบเศรษฐกิจและวิธีคิดเรื่องการบริโภคและแนวทางการผลิต  หวังว่าจะลดคลื่นใต้น้ำได้จำนวนหนึ่งด้วยการทำให้สังคมแข็งแรง

จากนั้นในเดือนเมษายนจะเริ่มเสนอ  พ.ร.บ.ชุมชนท้องถิ่นเข้าสภารวมถึง  พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม  พ.ร.บ.เศรษฐกิจพอเพียง  และ  พ.ร.บ.ส่งเสริมเด็ก  ครอบครัว  และเยาวชน  โดยอาจมีการต้องกองทุนช่วยเหลือสังคมต่างๆ  ซึ่งมีความคิดที่จะนำเงินสลากกินแบ่งมาช่วยและสุดท้าย  คาดว่า  ใน  1  ปี  น่าจะสามารถปรับโครงสร้างทางสังคมได้ ประมาณ  20  จังหวัด

เมื่อประชาชนได้เงินหรือสิ่งของมาง่ายๆ  จึงเกิดภาวการณ์ติดค่านิยมบริโภคแบบใหม่ที่เลิกยาก  เช่น  ค่านิยม  ขาวสวยหมวยอึ๋ม  ถ้าไม่ขาวก็ไม่สวย  สังคมถูกล้างสมองด้วยการบริโภคขนานใหญ่  และเป็นการพึ่งพิงแนวคิดของตะวันตก  จึงเกิดความรู้สึกปฏิเสธสิ่งที่ตนเองมีอยู่และขอบเขตที่ตนเองสามารถหาได้เองจริงๆ  กลายเป็นต้องพึ่งงบประมาณขนานใหญ่ที่รัฐบาลจัดให้  จึงนำสู่ความขัดแย้งว่า  ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่ให้  อีก  3  เดือนหรืออนาคตข้างหน้าก็จะเกิดการเรียกร้องครั้งใหญ่  หรือคลื่นใต้น้ำภาคสังคมตามมา  เป็นระเบิดที่รัฐบาลชุดที่แล้ววางไว้  ซึ่งอาจระเบิดขึ้นในเร็วๆ  นี้

สังคมไทยกำลังอยู่ใน  ภาวะเสี้ยนยา  ยาตัวนี้ก็คือนโยบายประชานิยม  เช่น  เมื่อเด็กติดโทรศัพท์  มือถือ  พ่อแม่ต้องคอยเติมเงินบัตรโทรศัพท์ให้ลูกเช่นเดียวกับรัฐบาลต้องเติมเงินลงในนโยบายประชานิยมเพื่อให้เงินไหล  เพราะถ้าเงินไม่ไหลก็จะเกิดอาการพ่อแม่ไม่รักหนู  เกิดการต่อรองหนักจนกลายเป็นปัญหา  ตอนนี้รัฐบาลกำลังเจอภาวะเสี้ยนยา  ถ้ารัฐบาลไม่ให้ก็เจอเกิดภาวะแตกแยกในสังคม  ซึ่งไม่ใช่จากการเมือง  แต่เป็นภาวะติดการบริโภคนิยม

ที่ผ่านมาการจัดการทุนถูกบิดเบือนให้ผิดวัตถุประสงค์ไป  เนื่องจากชุมชนและองค์กรที่กำกับนโยบายประชานิยมอ่อนแอ  ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบ  ได้ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินผิดเพี้ยน  ตรงนี้ไม่อยากโทษรัฐบาลเก่าฝ่ายเดียว  ประชาชนก็มีส่วนทำให้เกิดความเพี้ยนเช่นกัน

ส่วนต่อมาคือ  ความรู้สึกติดพรรคการเมืองที่นำไปสู่ความขัดแย้ง  ใครอยู่พรรคเสียงข้างมากอย่างพรรคไทยรักไทยจะรู้สึกว่าพรรคนี้สุดยอด  ส่วนพรรคอื่นไม่ดี  ทำให้เกิดระบบเมมเบอร์ชิปของความจงรักภักดีแบบลดแลกแจกแถม  โดยขึ้นอยู่กับผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง  เทียบได้กับการขายตรงที่เจาะลงไปถึงชุมชนฐานราก  ซึ่งทำให้การรวมกลุ่มทางชุมชนอ่อนแอ  เพราะชุมชนอาศัยพึ่งพิงระบบเมมเบอร์ชิปแทนการรวมกลุ่ม

เรียกว่าสภาพรุนแรงถึงขั้นวิกฤต

วิกฤตวันนี้คือวิกฤตสังคม  ข้าราการอ่อนแอเกิดการแปรรูป  (Privatize)  คล้ายกับรัฐวิสาหกิจภายในระบบข้าราชการ  คนที่อยู่ไม่มีแรงจูงใจ  ส่วนหนึ่งคือรัฐบาลชุดที่แล้วบริหารงานแบบไม่ผ่านระบบข้าราชการ  ส่งนโยบายไปถึงผู้รับโดยตรง  เป็นการบริหารแบบซีอีโอ  แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นการดีเพราะข้ามความล่าช้าไป  แต่ก็ทำให้บทบาทของข้าราชการหายไป  ข้าราชการจึงอ่อนแอ

ธรรมชาติของสังคม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ผมคิดว่าไม่พร้อม  แต่เราก็ต้องทำถึงที่สุด  เราพยายามช่วยเหลือคนที่ถูกทอดทิ้งในสังคมก่อน  ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถูกทอดทิ้งเดิม  ผู้ที่ประสบความเดือดร้อน  ผู้ที่ผิดหวังหรือถูกหลอกให้เชื่อในนโยบายประชานิยมที่ผ่านมา  ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจถูกหลอกใช้ให้เป็นคลื่นใต้น้ำ  ให้เกิดความเคลื่อนไหวรุนแรงขึ้นในสังคม  ซึ่งเราต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งความเข้าใจไปที่คนกลุ่มนี้  เรียกว่าเป็นเรื่องบังคับที่ต้องทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากสื่อรวมถึงทุกภาคส่วน

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 ธ.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/68731

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *