ออมสินรับกระแส “สังคมคุณธรรม จริยธรรม”

ออมสินรับกระแส “สังคมคุณธรรม จริยธรรม”


สกู๊ปข่าวลงในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 3 เมษายน 50 โดย คุณกนกวรรณ บุญประเสริฐ

ท่ามกลางการบริหารงานของรัฐบาลขิงแก่ ซึ่งมี การปลุกกระแสเรื่องสังคมคุณธรรมให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อล้างวิธีการทำงานของรัฐบาลเก่า ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ชักนำระบอบทุนนิยมเข้ามาครอบงำ

ครอบจิต ครอบใจ จนทำให้คนให้ความสำคัญที่เรื่องของวัตถุ มากกว่าคุณธรรม จริยธรรม

คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ได้ยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมธรรมาภิบาลภาครัฐ และกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานตามวาระแห่งชาติถึง 7 ยุทธศาสตร์

เริ่มจาก การสร้างกลุ่มผู้นำและรูปแบบองค์การแห่งสุจริตธรรม

การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม ค่านิยม และการพัฒนาข้าราชการ

การให้คำปรึกษา แนะนำ และการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล

การปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลให้เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม

การพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล

การวัดผลและตรวจสอบด้านจริยธรรม

และการวางระบบสนับสนุนและปัจจัยพื้นฐานด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล

ถือเป็นกรอบในการปลุกคนในบ้านเมืองให้ตื่นจาก “กิเลส” หันมาเน้นเรื่อง “คุณธรรมนำชีวิต”

พอปี่กลองเชิดปุ๊บ ธนาคารออมสิน เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่ขานรับนโยบายดังกล่าวแบบฮิตาชิ

แบงก์เด็กงัดโครงการจริยธรรมและจรรยาบรรณดีเด่น เพื่อปลูกฝังให้พนักงานนับตั้งแต่ ระดับผู้บริหาร พนักงาน ไปจนถึงลูกจ้างของธนาคารให้มีทัศนคติที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่องาน และต่อสังคม เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ

ครบครันตามวัตถุประสงค์เปี๊ยบ

พร้อมกับมีการแจกรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจถึง 10 รางวัล แยกเป็น รางวัลระดับผู้บริหาร 1 รางวัล (ระดับผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไป)

รางวัลระดับสายกิจการสาขา 7 รางวัล และรางวัลส่วนกลาง 2 รางวัล มีของรางวัลที่น่าสนใจได้แก่ เข็มกลัดรูปวัชรทองคำฝังเพชร พร้อมสลักชื่อผู้ที่ได้รางวัล มูลค่ารางวัลละ 3 หมื่นบาท

โล่ประกาศเกียรติคุณ และได้รับการบันทึกลงในทะเบียนประวัติพนักงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ ธนาคารได้เปิดให้ลูกจ้าง พนักงาน และ ผู้บริหารที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยกรอกแบบฟอร์มเสนอชื่อตนเองและบุคคลอื่นที่เห็นว่าเหมาะสม เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่แสดงถึงความเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณ

งานนี้หมดเขตสิ้นเดือนธันวาคมปีนี้ และมอบรางวัลในวันที่ 1 เมษายน 2551 โน่น

เรียกว่าเปิดทางให้พนักงานเสนอคนดีเข้าประกวด ขณะเดียวกันก็เป็นการ “เชิดชู” คนดีให้ได้รับ “ผลแห่งการทำความดี” แทนที่มุ่งเน้นที่ “การทำเงิน”

พร้อมกันนี้ ธนาคารออมสิน ได้เชิญ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้ซึ่งเคยวาง รากฐานในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมมาปาฐกถาพิเศษเรื่องการสร้างองค์กรแห่งคุณธรรม จริยธรรม เรียก “ต่อมน้ำย่อย” ของการทำความดีให้พนักงานให้ประจักษ์

“ไพบูลย์” ผู้ซึ่งดำเนินวิถีพออยู่ พอกิน พอดี มีคุณธรรมนำทาง จุดพลุว่า การสร้างองค์กรแห่ง จริยธรรม และคุณธรรม ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่หลายคนพยายามตีความให้เข้าใจได้ยาก

เพราะการสร้างคุณธรรมและจริยธรรม ประกอบด้วย 3 เรื่องคือ

หนึ่ง การทำความดี ซึ่งเราจะรู้เองว่าอะไรดี ไม่ดี อะไรควร ไม่ควร ถ้าเราทำสิ่งที่ดี สิ่งที่ควร อันนี้เรียกว่า การทำความดี

สอง ทำในสิ่งที่เกิดความถูกต้อง เป็นเรื่องที่คล้ายกับศีล มีข้อห้าม ข้อต้องทำ ซึ่งเราต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเราอยู่ในสังคม ซึ่งความถูกต้องในเชิงจรรยาบรรณ เป็นข้อตกลงภายในองค์กร เช่น การทุจริต คดโกง การลักขโมย เป็นสิ่งที่ต้องละเว้น เหมือนกรณีของพนักงานที่ประพฤติมิชอบ ซึ่งมีกันทุกองค์กร ไม่เว้นแม้ธนาคารออมสิน แต่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ เพราะอาจเป็นไปได้ที่เขาอาจเป็นคนดีแต่มีจุดอ่อน หรือมีสถานการณ์ที่บีบคั้นให้ทำ เช่น การรับ ผลประโยชน์จากลูกค้าเงินกู้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้เงินกู้โดยไม่ผ่านกติกานั่นคือ ความไม่ถูกต้อง

สาม สร้างความเป็นธรรม อยู่ระหว่างความดี กับความถูกต้อง ความเป็นธรรมคือความเท่าเทียม

เช่น ธนาคารออมสิน ต้องดูแลลูกค้าอย่างเท่าเทียมเสมอภาค มิใช่ลูกค้ารายใหญ่ต้องดูแลมากหน่อย

ส่วนลูกค้ารายเล็กต้องดูแลน้อย อันนี้เรียกว่าไม่เป็นธรรม

สิ่งสำคัญของการสร้างคุณธรรม จริยธรรม ในสังคม คือการเอาหลักปรัชญาในหนังสือเอามาประยุกต์ให้เกิดเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

และเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ผู้นำองค์กร คือหัวใจสำคัญของการนำพาองค์กรไปในทางใดทางหนึ่ง

อย่าง ธนาคารออมสิน คือ ผู้อำนวยการธนาคาร ซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กร ถ้าระดับประเทศ ต้องยกให้นายกรัฐมนตรี ถ้าระดับจังหวัดต้องยกให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าระดับอำเภอ ต้องเป็นนายอำเภอ เป็นต้น

รองลงมา ได้แก่ คณะกรรมการ คือ คณะบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากสังคม ผ่านกลไกโดยให้รัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการเข้ามากำกับ

“แต่ที่ผมจะขอเน้นย้ำ และให้น้ำหนักมากที่สุด คือ ผู้อำนวยการ เป็นสำคัญ เพราะต้องทำหน้าที่ดูแลองค์กรตลอด 24 ชั่วโมง แม้ท่านจะเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ยังเขียนหนังสือพนักงานนำมารวมเล่มขายได้เงินอีก” ทำเอาคนในแบงก์เด็กยิ้มแฉ่ง

แต่คณะกรรมการมาประชุมเดือนละครั้ง ถ้า 2 ฝ่ายสามารถทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญ และมุ่งมั่นเรื่องการสร้างคุณธรรมและจริยธรรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากในการดำเนินการโดยสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆที่รับแนวคิดไปทำต่อต้องรู้จักการคิดเองและทำเอง ว่าอะไรคือความดี ความถูกต้องเมื่อให้พนักงานคิดแล้วตกลงกันแล้วทำตามแนวคิดนั้น แล้วสร้างระบบการประเมินผลไปด้วยวิธีการแบบนี้เรียกว่า การเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือ AFTER ACTION REVIEW(ARR)ซึ่งเป็นระบบที่นำมาจากกองทัพอเมริกา ใช้ในการทำสงคราม แล้วภายหลังภาคธุรกิจนำมาปรับใช้กันอย่างแพร่หลายคือ การเรียนรู้จากการกระทำ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจดการความรู้

การนำสิ่งที่มาพินิจพิจารณาแล้วนำเอาสิ่งนั้นมาประมวลผลเป็นความรู้ แล้วเอาไปแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ให้เกิดจริยธรรมในหน่วยงาน

สำหรับโครงการที่เริ่มขึ้นนี้ เชื่อว่าจะทำให้ธนาคารออมสินเป็นองค์กรชั้นนำที่มีผลต่อการขยายหรือสร้างเครือข่ายในอนาคตทั้งภาครัฐ และเชื่อมต่อไปจนถึงภาคเอกชน หากมีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กร

นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการสนับสนุนโครงการลักษณะดังกล่าวร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยบริษัทจดทะเบียน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย เพื่อสร้างสภาธุรกิจเพื่อสังคมคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนเมษายนนี้

“ไพบูลย์” ยังกล่าวอีกว่า อยากให้ธนาคารออมสินสร้างตัวชี้วัดความสุขของพนักงาน แล้วจะเห็นว่าความสุขขององค์กร คือการมีคูณธรรม จริยธรรม และเป็นธุรกิจที่ควรช่วยเหลือสังคม เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกต้องการความช่วยเหลือธุรกิจที่มีการช่วยเหลือสังคม เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญทีทำให้ลูกค้ารู้สึกต้องการความช่วยเหลือธุรกิจที่มีการช่วยเหลือสังคม

ในประเทศไทยมีตัวอย่างให้เห็น เช่น กรณีของบริษัท บางจาก และบริษัท มติชน เพราะบริษัทเหล่านี้ทำประโยชน์เพื่อสังคม และเมื่อบริษัทมีปัญหาจะมีสังคมเข้าไปช่วย และพนักงานที่ทำงานในบริษัทที่ทำความผูกพัน จนทำให้พนักงานยอมอุทิศตนในการทำงาน มีความภูมิใจที่ทำงานในบริษัทเหล่านี้มากกว่าการได้รับเงินเดือนสูงๆ

ความสุขที่เกิดจากการมีคุณธรรม จริยธรรม ถือเป็นความสุขที่อยู่ในใจ

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังสนับสนุนเรื่ององค์กรภาครัฐเป็นองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม คือการให้พนักงานและข้าราชการ คิดหาแนวทางในการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การสร้างธรรมาภิบาลในภาครัฐต่อไป

กล่อมเสร็จสรรพบรรดาผู้ร่วมงานปราบมือให้ “อดีตผู้อำนวยการ” ลั่น

แม้วิธีคิด วิธีพูด วิธีการนำเสนอของไพบูลย์จะเรียบง่ายตามสไตล์คนเรียบๆ แบบผ้าพื้น แต่หัวจิตหัวใจในการต้องการเห็น “คุณธรรมนำไทย” ของนักปฏิบัติที่ไพบูลย์ยึดถือมาเป็นแสงส่องทางในชีวิตนั้น

เสมือนประหนึ่ง “ไฟฉายเล็กๆ” ที่ทำให้คนในสังคมที่มองเห็นแต่ตัวเงิน วัดผลที่กำรี้กำไร เปลี่ยนมา “มองเห็นแสงสว่างในชีวิต”

ระยะเวลาเกือบปี ยังพอมีเวลาให้คนในองค์กรนี้ได้ปรับตัว ปรับวิธีคิด วิธีการทำงาน

ส่วนจะได้ผลมากแค่ไหนต้องรอลุ้น

เพราะ “นามธรรมที่ยิ่งใหญ่อย่าง คุณธรรม จริยธรรม” นั้น มิใช่ผู้ที่ประพฤติแล้วจะได้รับและบอกกล่าวว่าตัวเองมีจริยธรรม มีคุณธรรม

หากแต่เกิดจากผู้รับ ผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกค้าคนข้างเคียงต่างหากที่จะเป็นกระจกส่องแล้วบอกว่า “ดีเลิศในปฐพี”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

9 เม.ย. 50

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/89288

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *