ออกแบบประเทศไทย 2562 เพื่ออนาคตหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : ประเด็นสังคมและชุมชน

ออกแบบประเทศไทย 2562 เพื่ออนาคตหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : ประเด็นสังคมและชุมชน


(บทสัมภาษณ์  นำลงในเอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง  “ออกแบบประเทศไทย  2562  :  หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก”  วันที่  28 ก.พ. – 1  มี.ค.  2552  ณ  โรงแรมโรสการ์เด้น  ริเวอร์ไซค์  สวนสามพราน  จ.นครปฐม)

สถานการณ์ปัจจุบัน

                สถานการณ์ปัจจุบันน่าจะเรียกได้ว่าเป็นทวิวิกฤตกล่าวคือ การเมืองมีความสับสนวุ่นวาย ไม่มั่นคง และมีการเผชิญหน้าระหว่างกัน การปกครองแม้จะมีความพยายามกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นแต่ยังคงบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่มีความไม่สมดุลโดยพื้นฐานจึงถือว่าอยู่ในสภาวะวิกฤต  ในขณะที่ความสัมพันธ์ของประชาชนในสังคมถูกแบ่งข้างทางความคิดกระทบต่อสุขภาพทั้งทางจิตใจและทางร่างกาย  การศึกษาและการเรียนรู้ไม่สามารถแสดงบทบาทในการเกื้อหนุนสังคมได้  วัฒนธรรมและจิตสำนึกที่สั่งสมมาตามกระแสทุนนิยมของสังคมโลกทำให้ประชาชนมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นหรือเข้าลักษณะบริโภคนิยม โดยรวมสังคมไทยยังคงมีปัญหาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลกปัจจุบัน ซึ่งการจัดการสังคมที่ดีนั้นควรเป็นการจัดการแบบองค์รวม เชิงระบบ อย่างมีพลวัต และอย่างเป็นขบวนการ โดยมีเป้าหมายให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และมีกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและธุรกิจ สังคมและสุขภาพการศึกษาและการเรียนรู้ วัฒนธรรมและจิตสำนึก

อนาคตและการรับมือ

                การพัฒนาด้านการเมืองการปกครองสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการระบบทางสังคม  โดยกลุ่มผู้มีบทบาทในการผลักดันและขับเคลื่อนที่สำคัญคือ นักการเมือง (ทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น) ข้าราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการ นักจริยธรรม ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนองค์กร และประชาสังคม ซึ่งมาตรการนำทางในระยะ 10 ปีข้างหน้าที่จะนำสังคมไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันคือ

  1. ปฏิรูปคุณภาพและปฏิบัติการทางการเมือง ให้เป็นการเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน  และมุ่งพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยแบบสันติ อารยะ สามัคคี
  2. กระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นและ “ชุมชนท้องถิ่น” ให้ได้อย่างแท้จริง   พร้อมกับเพิ่มศักยภาพของท้องถิ่นและ “ชุมชนท้องถิ่น” ในการพัฒนาตนเองให้มีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างบูรณาการและมั่นคงยั่งยืน
  3. พัฒนา “ชุมชนองค์กร”และ “ภาคประชาสังคม”ให้มีความเข้มแข็งและอยู่เย็นเป็นสุข  พร้อมกับเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมที่เข้มแข็งและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน 
  4. พัฒนาภาคธุรกิจและภาควิชาการให้มีขีดความสามารถในการสร้างความเจริญแบบพอเพียง สมดุลย์ และมั่นคงยั่งยืน  
  5. ปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ ให้เป็นการพัฒนาชีวิตและสังคมอย่างบูรณาการ  พร้อมทั้งมีวิธีการบริหารจัดการที่ดีในระบบการจัดการศึกษาเรียนรู้ทุกระดับ
  6. ขับเคลื่อนขบวนการทางสังคมเพื่อพัฒนาสุขภาวะ วัฒนธรรมและจิตสำนึก ที่มุ่งสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/244925

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *