อภิมหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 กับ คุณธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“อภิมหาอุทกภัย พ.ศ. 2554” ถือเป็นสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้ง “ร้ายแรง” ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์อาจมีน้ำท่วมใหญ่ที่มีมวลน้ำมากกว่าปี 2554 เช่น น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2485 แต่ในปี 2485 ประชากรไทยมีไม่ถึง 20 ล้านคน (อาจจะประมาณ 15-16 ล้านคน) มีป่าไม้ที่สมบูรณ์ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ระบบทางเดินน้ำ (แม่น้ำ ลำคลอง ฯลฯ) และอื่น ๆ อยู่ในสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการเผชิญและจัดการกับสภาวะน้ำท่วมโดยมีความเดือดร้อนน้อยกว่าในปี 2554 หลายต่อหลายเท่า ในขณะที่ปี 2554 ประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน มีระบบถนน มีสิ่งปลูกสร้างประเภทอาคารใหญ่โตมากมาย มีหมู่บ้านและบ้านเรือนใหญ่ กลาง เล็ก ซึ่งสร้างขึ้นใหม่นับแสนนับล้านหน่วย มีนิคมอุตสาหกรรมกว่าสิบแห่งเฉพาะในบริเวณกรุงเทพฯ และใกล้เคียง มีศูนย์การค้าใหญ่เล็กนับไม่ถ้วน และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลสำคัญที่แสดงว่าเหตุใดสภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “อภิมหาอุทกภัย พ.ศ.2554” จึงจัดการได้ยากมากและมีความ “ร้ายแรง” มากกว่าน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2485 มากมายหลายเท่านัก
หากจะถอดบทเรียนจากกรณี “อภิมหาอุทกภัย พ.ศ.2554” โดยอิงกับ “คุณธรรม” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติด้วยพระองค์เองพร้อมทั้งทรงสาธิตและให้คำแนะนำ แก่ประชาชนชาวไทยผ่านโครงการตามแนวพระราชดำริ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ฯลฯ จะเห็นได้ ว่า สถานการณ์ในปี 2554 เป็นผลมาจากการที่ประชาชนชาวไทยโดยรวม และโดยเฉพาะรัฐบาลไทย ไม่ได้นำ “คุณธรรม” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้อย่างดีพอและมากพอ ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี
“คุณธรรม” หรือ “การปฏิบัติที่เป็นคุณ“ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติและทรงแนะนำมีอยู่มากมาย ที่สำคัญและควรกล่าวถืง คือ “การพัฒนาต้องระเบิดจากข้างใน” “การพัฒนาต้องเริ่มที่ฐานราก” “เกษตรทฤษฏีใหม่ ที่เน้นการพึ่งตนเอง การร่วมมือกัน และความสัมพันธ์กับภายนอก เป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ“ ”การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมซึ่งรวมถึงป่าไม้ สภาพดิน สภาพน้ำ การจัดการน้ำ ฯลฯ ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค” “ การรู้รักสามัคคี” “การมีไมตรีธรรม” และที่สำคัญมากซึ่งพระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสครั้งแรกในปี 2540 คือเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และทรงมีพระราชดำรัสซ้ำในปี 2541 และ 2542 เป็นผลให้มีการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้แพร่ขยายมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังไม่ดีพอและมากพอโดยเฉพาะในระดับประเทศ จนท้ายสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส กับคณะผู้เข้าเฝ้าจำนวนหนึ่งว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้โลกพ้นจากวิกฤตได้” ซึ่งสามารถขยายความได้ว่ารวมถึงวิกฤตของประเทศไทยด้วย ซึ่งวิกฤตของประเทศไทย ประกอบด้วย วิกฤตการ เมือง วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสังคม และวิกฤตภัยธรรมชาติรวมอยู่ด้วยกัน ทำให้มีความยากเป็นทวีคูณ
“คุณธรรม” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนเป็น “ธรรมะ อันเป็นคุณ” “ธรรมะ” คือความเป็นจริงตามธรรมชาติ ความเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ และการที่มนุษย์พึงปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฏของธรรมชาติ คือ ไม่ไปทำลาย ทำร้าย ต่อต้าน ขัดขืนธรรมชาติ อย่างไม่เหมาะสม เพราะจะไม่บังเกิดผลดี หรือเกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อมนุษย์เช่น กรณี “อภิมหาอุทกภัย พ.ศ.2554”
แต่สิ่งที่คนไทยโดยรวม และรัฐบาลไทยโดยทั่วไป ได้ทำมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี คือการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศตามแนวคิดวัตถุนิยม บริโภคนิยม เน้นการเจริญเติบโตทางวัตถุ ละเลย การให้ความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข การพัฒนาทางจิตใจ ทางศิลปะ วัฒนธรรม คุณธรรม ความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ได้เน้นความพอเหมาะพอควรพอประมาณและความสมดุล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ทำให้ประเทศไทย มีจำนวนประชากรมากเกินไป (เกินความสมดุลกับทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อากาศ ไปไม่น้อยกว่า 3 เท่าหรือมากกว่า) มีการใช้ชีวิตแบบบริโภคนิยม วัตถุนิยมมากเกิน “ความพอประมาณ” ไปหลายเท่า มีความเห็นแก่ตัว ยึดตนเองและพวกพ้องเป็นสำคัญมากกว่าการยึดประโยชน์ต่อผู้อื่นและต่อส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก คุณธรรมความดีที่มีอยู่โดยธรรมชาติในคนทุกคนถูกกดทับลิดรอน ทำให้เสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ ความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในหมู่คนไทยด้วยกันขยายตัวมากขึ้น ๆ สำทับด้วยระบบการเมืองการปกครองของไทยที่ยังไม่พัฒนาดีพอและยังเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจการบริหารจัดการไว้ที่ภาครัฐส่วนกลางเป็นหลัก ซึ่งทำให้เกิดความอ่อนด้อยและผลเสียนานาประการทั้งในด้านการพัฒนาประชาธิปไตยที่ดี การพัฒนาเศรษฐกิจที่เหมาะสม การพัฒนาสังคม ฯลฯ นอกจากนั้นคนไทยยังมีความขัดแย้งแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายในหลายส่วนหลายระดับของสังคม
สรุปได้ว่าประเทศไทยปัจจุบัน (พ.ศ. 2554) ประสบภาวะวิกฤตทั้งด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านภัยพิบัติไปพร้อมๆ กัน
หากคนไทย สังคมไทย จะร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตทั้ง 4 ด้านไปด้วยกัน ก็น่าจะยังเป็นไปได้ ด้วยการน้อมนำ “คุณธรรม” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวข้างต้นมาประยุกต์ใช้ให้ได้อย่างเหมาะสม จริงจัง ต่อเนื่อง และด้วยการมี “วิสัยทัศน์” ที่ดีร่วมกัน มี “ยุทธศาสตร์” ที่ดีร่วมกัน และมี”แผนปฏิบัติการ” ที่มีความเหมาะสมทั้งด้าน วิธีการ บุคลากรผู้ดำเนินการ งบประมาณ และระบบการจัดการที่มีธรรมาภิบาล มีคุณภาพพร้อมประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งคือ ต้องมี “กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน” ที่ดีพอและมากพอตลอดทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้น คือตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนด “วิสัยทัศน์” การกำหนด “ยุทธศาสตร์” การกำหนด “แผนปฏิบัติการ” “การตรวจสอบและติดตามประเมินผล” “การเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติจริง” และ “การปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีก” เป็นวงจรไม่รู้จบ ซึ่งการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและต่อเนื่องก็เป็น “คุณธรรม” สำคัญประการหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติและทรงแนะนำอยู่เสมอ
ขอให้คนไทยทั้งหลายรวมถึงผู้เขียนเองด้วย ตั้งปณิธานร่วมกันที่จะใช้ความพยายามอย่างเข้มแข็งเอาจริงเอาจังและอย่างต่อเนื่อง ร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตประเทศไทย ที่รวมถึง “อภิมหาอุทกภัย พ.ศ. 2554“ ให้ผ่านพ้นไปได้อย่างน่าพอใจร่วมกันได้ ด้วยการประยุกต์ใช้ “คุณธรรม” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าคนไทยจะสามารถ “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส” ให้สำเร็จได้ นำพาให้สังคมไทยมี “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ในระดับที่น่าพอใจได้ในเวลาที่ไม่นานเกินไป
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/470026