อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลกกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้โลกพ้นจากวิกฤตได้”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554
อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลก
กับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
(เรียบเรียงและเพิ่มเติมจากข้อคิดเห็นของนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ในการประชุมของคณะกรรมการ
เตรียมงานประชุมประจำปี 2554 ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของศรษฐกิจพอเพียง(มพพ.)
เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กรกฏาคม 2554 ณ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
ในขณะนี้โลกและประเทศไทยกำลังประสบสิ่งที่เรียกว่า “อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลก” ซึ่งอภิมหาอันตรายดังกล่าวสามารถสรุปได้ 3 ประเด็นดังนี้
1 การมีประชากรหนาแน่นเกินไป เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีประชากรไม่ถึง 20 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีถึง 67 ล้านคน ในขณะที่ทรัพยากรมีจำนวนเท่าเดิม คือ ที่ดินมีเท่าเดิม แต่ ป่าและน้ำจืด กลับมีจำนวนน้อยลงหรือสร้างปัญหามากขึ้น ในขณะที่ทั้งดิน น้ำ ป่า ทะเล อากาศ สิ่งแวดล้อม ถูกทำลายและทำให้เสื่อมโทรมไปเยอะมากและสั่งสมมากขึ้น ๆ มาตลอด แต่จำนวนคนกลับเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว จึงเป็นเหตุขั้นพื้นฐานให้เกิด กรณีวังน้ำเขียว กรณีการขุดแร่ตะกั่ว แร่ลิกไนต์ ที่ทำร้ายประชาชนให้ล้มตายและเป็นโรคกันมาก ตลอดจนกรณี มาบตาพุด เป็นต้น สาเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะความหนาแน่นของประชากร ทำให้ต้องแก่งแย่งแข่งขัน ช่วงชิงทรัพยากร นำทรัพยากรมาใช้มากขึ้น ๆ เป็นผลให้ทรัพยากรหมดไปเหลือน้อยลง ๆ เกิดเป็นความขาดแคลนซึ่งบางกรณีถึงขั้นวิกฤติ หรือทรัพยากรถูกทำให้เสื่อมโทรมจนเป็นอันตราย หรือเป็นผลเสียต่อประชากรจำนวนมากขึ้น ๆ และมีความรุนแรงมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ รวมถึงการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ปรากฏมากขึ้น ๆ ทั้งโดยธรรมชาติและอันเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ เรื่องประชากรหนาแน่นเกินไปกับผลที่ตามมานั้นไม่ได้เป็นสถานการณ์เฉพาะในประเทศไทย แต่
เป็นสถานการณ์และเป็นแนวโน้มร่วมกันทั้งโลก ทำให้ทั้งโลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤตซึ่งนับวันจะรุนแรงมากขึ้น ๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขร่วมกันโดยประชากรของโลก ซึ่งย่อมจะต้องใช้เวลากว่าจะแก้ไขได้สำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
2 วัตถุนิยมบริโภคนิยมมากเกินไป วัตถุนิยมเป็นกระแสโลกที่ทำให้เรามุ่งสะสมความร่ำรวย สะสมวัตถุต่าง ๆ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นอะไร แต่ในขณะเดียวกัน เรายังมีความยากจน ความอดอยาก การขาดอาหารอยู่ในประเทศไทยและในโลก โดยประชากรของโลกประมาณ 1,000 ล้านคน ยังมีอาหารไม่พอรับประทาน ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะประชากรที่รวยที่สุด 20 % บริโภคถึง 55 % ของการบริโภคทั้งหมด และคนที่จนที่สุด 20% บริโภคประมาณ 4 % นี่เป็นปัญหาที่ไปซ้ำเติมเพิ่มพูนปัญหาอันเกิดจากการที่เรามีประชากรหนาแน่นเกินไป ทำให้คนที่เก่งมีความสามารถที่จะครอบครอง ช่วงชิงเพื่อให้บริโภคได้มากกว่า ทั้งโดยวิธีการที่ถูกกฏหมายและโดยวิธีการที่ผิดกฏหมายหรือไม่ชอบธรรม ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ มากขึ้น ๆ บางกรณีนำไปสู่ความรุนแรง รวมถึงการใช้อาวุธประหัตประหารทำร้ายกัน ทำให้สังคมทั้งในประเทศและในโลกเกิดความแตกแยกและขาดความสันติสุขอย่างกว้างขวาง
3 คุณธรรมความดีน้อยเกินไป ด้วยสาเหตุมาจาก 2 ข้อแรก ถ้าของมีมากพอสำหรับทุกคน ก็จะไม่เกิดการแย่งชิงกันเท่าไร สมัยก่อนการแย่งชิงทรัพยากรมีน้อย เพราะมีทรัพยากรมากพอ มาปัจจุบันทรัพยากรเหลือน้อย แถมถูกทำให้เสื่อมโทรม บวกกับวัตถุนิยมบริโภคนิยมมากเกินขอบเขต ทำให้ต้องแก่งแย่งแข่งขันต่อสู้แย่งชิงกันมากขึ้น ผู้คนนำลักษณะนิสัยส่วนที่ไม่ดีในจิตใจออกใช้ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความเกลียด ความเห็นผิดเป็นชอบ ความยึดถือตัวตน ความเห็นแก่ตัว ความมีทิฏฐิมานะ และความไม่ดีอื่น ๆ แต่ส่วนที่เป็นคุณธรรมความดี ซึ่งเป็นพื้นฐานอยู่ในทุกคน ได้แก่ ความรัก ความเป็นมิตร ความมีเมตตาไมตรี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความรักความยุติธรรม การมุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ความมีกตัญญูรู้คุณ ความรู้จักพอดีพอประมาณ เป็นต้น กลับถูกลดทอนความสำคัญ ไม่ถูกนำออกมาใช้ ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนมากพอ คุณธรรมความดีในตัวคนและในสังคมจึงเสียดุลมากขึ้น ๆ เมื่อเทียบกับความไม่ดี
จาก “อภิมหาอันตราย” ของสังคมไทยและสังคมโลกนี้ ยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะช่วยได้คือ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสกับท่านองคมนตรี น.พ.เกษม วัฒนชัย และผู้เข้าเฝ้าฯอื่น ๆ จำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้โลกพ้นจากวิกฤตได้” ถ้าเราคิดในภาพใหญ่แบบนี้เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องสำคัญมากทุกระดับตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคม โลก และมนุษยชาติ การที่โลก
กำลังประสบปัญหาวิกฤตใหญ่ ในรูปมหันตภัยมากมายทั้งทางธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ ก็เป็นผลมาจากกิจกรรมทำร้ายตัวเองของมนุษย์นั่นเอง มีบทความในวารสาร The Economist เรียกยุคปัจจุบันว่าเป็น Anthropocene – The age of man กล่าวว่าโลกในหมื่นปีที่ผ่านมา เป็นยุคของความมีเสถียรภาพพอสมควร แต่จากนี้ไปจะเป็นยุคที่มนุษย์ครองโลก และมนุษย์ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดความเสียสมดุลอย่างแรงในโลก ถ้ามนุษย์ไม่แก้ไขมนุษย์จะต้องรับกรรม โดยมีการทำนายกันว่าภายใน 10 ถึง 20 ปี หรืออย่างน้อยภายในศตวรรษนี้ จะมีอันตรายร้ายแรงประเภทน้ำทะเลเอ่อท่วมพื้นที่ต่าง ๆ ในโลกอย่างกว้างขวาง เป็นต้น
ฉะนั้น “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ถ้าคิดให้กว้าง คิดให้ไกล ไม่ไปเข้มงวดกับความหมาย แต่เอาหัวใจของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน การใช้คุณธรรมความดี และการใช้ความรู้ความสามารถอย่างรอบคอบระมัดระวังและเหมาะสม ถ้าใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในความหมายเช่นนี้ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นยุทธศาสตร์และแผนงานในระดับประเทศและระดับโลก รวมทั้งทำให้เป็นขบวนการทางสังคม (Social Movement) ที่ทุกฝ่ายในสังคมรวมถึงฝ่ายการเมือง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนและชุมชน ตลอดจนนักการศาสนา นักวิชาการ นักวิชาชีพ ศิลปิน ฯลฯ มาร่วมกันขับเคลื่อน “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”โดยอาจดัดแปลง รูปแบบ การบวนการ วิธีการ ฯลฯ ให้เหมาะกับบริบทและสถานการณ์ในแต่ละกรณีด้วยก็ได้ เชื่อได้ว่าจะสามารถช่วยบรรเทาและแก้ปัญหา “อภิมหาอันตรายของประเทศไทยและของโลก” ได้แม้จะต้องใช้เวลาและความมานะพยายามอย่างยิ่งยวด เนื่องจากเป็นปัญหาที่มนุษย์ ประเทศ และโลก ได้ปล่อยปละละเลยให้ปัญหาสั่งสมมาเป็นเวลานานนับศตวรรษแล้ว
ในการดำเนินการส่งเสริมขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหน่วยจัดการที่สำคัญ 2 ระดับที่ควรพิจารณา คือ :-
- ระดับฐานราก ซึ่งประกอบด้วย ท้องถิ่นและองค์กร คนในชนบทที่อยู่ในท้องถิ่น มีปฏิสัมพันธ์ มีการจัดการ เช่น มีการจัดการในรูปแบบของคณะกรรมการท้องถิ่น องค์กรชุมชน อบต. เทศบาล อบจ. ซึ่งเป็นหน่วยจัดการที่เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง คลุมทั่วประเทศ แต่ยังมีประชาชนอีกประมาณ 50% ที่อาจจะไม่ผูกพันกับท้องถิ่นมากนัก แต่ผูกพันกับองค์กรที่เขาทำงานด้วย คือ คนที่ทำงานในโรงงาน ในสถานประกอบการ ในหน่วยงานของรัฐ ในหน่วยงานภาคประชาสังคม องค์การมหาชน มูลนิธิ สมาคมต่าง ๆ เป็นต้น เหล่านี้เป็นหน่วยจัดการระดับฐานราก ซึ่งจำนวนมากได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจไปประยุกต์ใช้และเกิดผลดีอย่างน่าพอใจ
- ระดับประเทศทั้งประเทศ เป็นหน่วยจัดการที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าหน่วยจัดการในระดับฐานรากอย่างมาก เพราะต้องรวมถึงสถาบันระดับชาติ องค์กรระดับชาติ เช่น สถาบันฝ่ายนิติบัญญัติ สถาบันฝ่ายบริหาร สถาบันฝ่ายตุลาการ หน่วยงานของรัฐระดับชาติ หน่วยงานพิเศษต่าง ๆ ที่เป็นหน่วยงานระดับชาติ สถาบันภาคธุรกิจและภาคประชาชน ที่รวมตัวกันเป็นระดับชาติ สำหรับหน่วยจัดการระดับประเทศทั้งประเทศนี้ การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่ชัดเจน ยังไม่หนักแน่น ดังนั้น จะดีที่สุดหากรัฐบาลประกาศว่าจะเป็น “รัฐบาลเศรษฐกิจพอเพียง” หรือมีการประกาศนโยบายสำคัญว่า “ประเทศไทยจะเป็นประเทศเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปทั้งด้านวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ วิธีทำ วัฒนธรรม ระบบ โครงสร้าง กลไก กระบวนการ ฯลฯ ครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ก่อนที่จะพิจารณาไปนำเสนอต่อสหประชาชาติ ให้พิจารณาประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับโลก เพราะ องค์การสหประชาชาติได้เริ่มเห็นแล้วว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเป็นทางออกของโลกที่กำลังวิกฤต ได้
ดังได้กล่าวแล้วว่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต้องทำให้เป็น Social Movement ได้แก่การเป็น “ขบวนการทางสังคม” ดังนั้นต้องมีอุดมการณ์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และต้องมีตัวชี้วัดเพื่อช่วย ให้สามารถจัดการขบวนการได้อย่างมีคุณภาพมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย
องค์ประกอบสำคัญในการสร้างขบวนการทางสังคม ประกอบด้วย
- ความรู้ ถ้ามีตัวชี้วัดจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ การจัดการความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
- การสร้างเครือข่าย จะเป็นกลไกช่วยให้เกิดขบวนการที่ขยายและมีพลังเพิ่มขึ้นทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
- การสื่อสาร ควรมีการใช้รูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย มีคุณภาพและเหมาะสมทั้งภายในขบวนการเองและระหว่างขบวนการกับสังคม
- นโยบายสาธารณะ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมถึงการมีนโยบาย กฏหมาย ข้อบังคับ การจัดสรรงบประมาณ ที่ดีและเหมาะสมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
- การจัดการ คือ การจัดการขบวนการ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการ ฝ่ายเลขานุการ คณะทำงานและผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องจัดการให้สามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ และยังหมายความรวมถึงการจัดการของทุกหน่วยที่ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้วย
- การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการวัดผล ประเมินผล พิจารณาทบทวน หาทางปรับปรุงพัฒนาสร้างนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ นำมาวางแผนและดำเนินการใหม่ ฯลฯ ทำเช่นนี้ให้เป็นวงจรต่อเนื่องไม่รู้จบ เพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ และควรมีการใช้กระบวนการนี้เป็นระยะ ๆ อย่างน้อยปีละครั้ง
16 สิงหาคม 2554
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/453867