การจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนานักศึกษาให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์”

การจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนานักศึกษาให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์”


ในยุค “ปฏิรูปการศึกษา” คงต้องมีการ “ปฏิรูป” การจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยด้วย  การจัดการเรียนการสอนที่ดี ควรมุ่งพัฒนานักศึกษาให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” นั่นคือไม่ใช่มีแต่ความชำนาญเฉพาะด้าน แต่ว่ามีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เท่าที่จะพึงเป็นไปได้ มนุษย์ที่สมบูรณ์สามารถสรุปได้ดังนี้ คือ :-

  1.  ต้องมีความดี  เป็นพื้นฐาน  ข้อนี้สำคัญที่สุด ความดี  หมายถึง คุณธรรม จริยธรรม  การทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม สิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม ไม่ทำในสิ่งที่เป็นโทษทั้งต่อผู้อื่นและส่วนรวม
  2.  ต้องมีความสามารถ ในการคิด การพูด การทำ การจัดการ ตลอดจนความสามารถในการทำงานหรืออยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างสร้างสรรค์
  3. ต้องมีความสุข  ความสุข หมายถึง ความสุขทางกาย  ทางใจ ทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ   และทางสังคมหรือในการอยู่ร่วมกัน นี่คือความหมายของความสุข เป็นความหมายเดียวกับคำว่า “สุขภาพ” หรือ “สุขภาวะ” เป็นความหมายทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล  เรื่องของความงามเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความสุขทางจิตใจ ที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พูดถึง  ความจริง ความงาม และความดี  ฉะนั้นการผลิตนักศึกษาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  ก็ต้องทำให้การศึกษาเป็นแบบองค์รวม ไม่ใช่การศึกษาแบบแยกส่วน แต่รวมหลาย ๆมิติของความเป็นมนุษย์ เช่นบรรจุหลักสูตรในเรื่องกีฬา ดนตรี  ความงามต่าง ๆ ด้วย เป็นต้น

ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยที่ผลิตแพทย์ให้เป็นแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ คือที่ประเทศไต้หวัน มีองค์กรพุทธศาสนาองค์กรหนึ่งใหญ่มากเป็นเจ้าของและผู้บริหาร นักศึกษาแพทย์ปีหนึ่งเรียนวิชาจัดดอกไม้ วิธีชงชา วิธีเขียนพู่กันแบบจีน เพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้มีสมาธิและความละเอียดอ่อน  ผมก็หวังว่า มหาวิทยาลัยทั้งหลายซึ่งได้เจริญก้าวหน้ามาและกำลังปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัย  ไม่ใช่ทางศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งเท่านั้น แต่ให้ทันยุคสมัยที่โลกกำลังต้องการความสันติสุขอย่างถ้วนทั่วและในทุกระดับของสังคม มีความดี ความงาม พร้อม ๆ กับความสามารถที่สร้างสรรค์นำสู่ความเจริญที่แท้จริง มั่นคงและยั่งยืน

ปัจจุบันโลกมีปัญหามากเพราะว่ามีคุณธรรมความดีน้อยเกินไป  เมื่อเทียบกับความสามารถ ในขณะที่  ความสามารถกลายเป็นตัวทำลายเพราะตั้งอยู่บนฐานของความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความอยากมีอำนาจ บริโภคนิยมและวัตถุนิยม ผสมกับเรื่องประชากรที่ล้นโลกไปประมาณ 3.5 เท่า ของประชากรที่ควรจะมีประมาณ 2,000 ล้านคน ซึ่งจะสมดุลกับทรัพยากรที่โลกมีอยู่  แต่เรามีประชากรทั้งโลกประมาณ 7,000 ล้านคน  ประเทศไทยก็เหมือนกัน เราควรมีประชากรประมาณ 20 ล้านคนดังเช่นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว   แต่ปัจจุบันเรามี 67 ล้านคน  ต้องแก่งแย่งแข่งขัน แย่งชิงทรัพยากร และใช้ทรัพยากรมาก บริโภคมาก ผสมกับความโลภ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น  เห็นแก่ตัว  อยากมีอำนาจ ก็ไปทับถมการใช้ทรัพยากรที่มีน้อยอยู่แล้วให้หมดไปหรือเกิดความเสื่อมโทรมมากขึ้น ๆ  ซึ่งเรื่องนี้  E.F.Schumacher  ที่เขียนเรื่อง Small is Beautiful พูดและเขียนไว้เมื่อ 40 ปีมาแล้ว พูดเรื่องปัญหาประชากรล้นโลก ทรัพยากรจะไม่เพียงพอ  จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากร และจะมีปัญหาเรื่องน้ำมัน พูดไว้ตั้งแต่ปี 1970 แม้กระทั่งปัญหานิวเคลียร์ที่เอามาทำไฟฟ้า Schumacher  ก็พูดไว้แล้วว่าพลังงานนิวเคลียร์จะมีปัญหา

ฉะนั้น  ทางออกของโลกในระยะยาว ส่วนที่คิดว่าไม่ยากนักคือการเพิ่มคุณธรรมความดี เพราะคุณธรรมความดีมีอยู่แล้วในทุกคนและในทุกหนทุกแห่ง แต่มักถูกละเลยหรือมองข้ามไป ที่ยากกว่าคือการลดความโลภ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ความเห็นแก่ตัว  การลดวัตถุนิยม บริโภคนิยม  ข้อนี้ยากกว่าเพราะกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมโลก และของสังคมไทยมาเป็นเวลานาน  ส่วนที่ยากที่สุดคือการชะลอและลดจำนวนประชากรเพื่อให้สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่  อย่างไรก็ตามผมเองคิดว่าการแก้ปัญหาพื้นฐานทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นไปได้

เรื่องแรก     การเพิ่มคุณธรรมความดี อาจจะทำได้เร็วหน่อย

เรื่องที่สอง  การลดความโลภ ความเห็นแก่ตัว บริโภคนิยม วัตถุนิยม  คงทำได้ช้าหน่อย

                เรื่องที่สาม  การชะลอและลดจำนวนประชากรต้องช้าที่สุด เพราะเป็นเรื่องยาก เหมือนกับเราถลำมามากแล้ว และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีเรื่องวัฒนธรรมและศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง  รวมทั้งเรื่องชาตินิยม เรื่องอำนาจนิยม เข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องเป็นความร่วมมือกัน ภายในประเทศ ในระดับกลุ่มประเทศ แล้วขยายเป็นทั้งโลก

 

ประเทศไทยและโลกจะประสบปัญหาแน่ ๆ เพราะปัญหาเหล่านี้ เรากำลังเผชิญอยู่แล้วเพียงแต่ยังไม่วิกฤตสุด ๆ  ทุกวันนี้ถ้าเราทดสอบกลับไปว่าปัญหาความขัดแย้งรุนแรง ปัญหาความยากจนยากลำบาก ปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นอันตราย และปัญหาภัยพิบัติที่มากขึ้นเหล่านี้มีสาเหตุพื้นฐานมาจากไหน จะได้มาจากปัญหาพื้นฐานที่ผมกล่าวไป คือ (1)ประชากรหนาแน่นมากไป  (2) ความโลภ ความเห็นแก่ตัว  บริโภคนิยม วัตถุนิยม  มากเกินไป และ (3) คุณธรรมความดีน้อยเกินไป

ถ้ามหาวิทยาลัยทั้งหลายจะมีส่วนแม้เพียงน้อยนิดในการช่วยให้ทั้งสามปัญหาพื้นฐานที่กล่าวมานั้นดีขึ้น  อย่างน้อยการผลิตนักศึกษาให้เป็นมนุษย์ที่ดีที่สมบูรณ์  แล้วออกไปช่วยกันสร้างครอบครัวที่ดีที่สมบูรณ์ สร้างชุมชนที่ดีที่สมบูรณ์ สร้างองค์กรที่ดีที่สมบูรณ์ สร้างสังคมที่ดีที่สมบูรณ์ นั่นก็คือครอบครัว องค์กร ชุมชน สังคม ที่มีทั้งความดี ความสามารถ และความสุข  ที่มากพอและสมดุลกัน ถ้ามหาวิทยาลัยจะร่วมมือประสานงานกันทั้งหมดก็ยิ่งดี ซึ่งขณะนี้เรามีกระบวนการในการปฏิรูปประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยทั้งหลายมีบทบาทอยู่ด้วย เช่น โครงการ “หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด”  จึงควรที่มหาวิทยาลัยทั้งหลายจะได้พิจารณาดำเนินการทั้งในเรื่อง “การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน” ของมหาวิทยาลัยตนเอง  และในเรื่อง “การปฏิรูปการศึกษา”  ในภาพรวม ให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/453870

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *