“สุรยุทธ์”ยึด”คิดดี พูดดี ทำดี” สร้างสมานฉันท์”3จว.ใต้-การเมือง”

“สุรยุทธ์”ยึด”คิดดี พูดดี ทำดี” สร้างสมานฉันท์”3จว.ใต้-การเมือง”


หมายเหตุ-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการปัจฉิมพิเศษเรื่อง “แนวทางการเสริมสร้างสมานฉันท์ในสังคมไทย” ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน

                (ข่าวลงใน นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 หน้าที่ 2)

               สวัสดีผู้ที่รักในความสมานฉันท์ทุกท่าน ตอนนี้ผมอาจเสียงไม่ดีนัก เพราะพูดตั้งแต่เช้าจรดเย็น ที่ผ่านมาไม่ได้พูด แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไป มีเวลาคิดน้อยลง เวลาในการปฏิบัติมากขึ้น ข้อสรุปที่เสนอในวันนี้นั้นเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ จะดูว่าอะไรที่เราสามารถนำไปดำเนินการได้ทันทีและอะไรที่ต้องใช้เวลา 

                แนวคิดในการทำงานของผมไม่มีอะไรซับซ้อน จะทำจากเรื่องง่าย-ยาก เล็ก-ใหญ่ เป็นวิธีที่ให้ดำเนินการมาตลอด เป็นอันว่ารับข้อเสนอไปดำเนินการ และเพื่อยึดตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ผมจำได้ชัดเจนคือ คิดดี พูดดี และทำดี เป็นคำง่ายๆ แต่ว่าทำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ยาก 

                ดังนั้นเรื่องที่ท่านเสนอมาเป็นเรื่องที่ยาก เมื่อผมรับไปแล้วจะได้นำไปคิดก่อนว่าอะไรทำได้ก่อน-หลัง หัวข้อที่ท่านเสนอมาทั้งหลาย ไม่ว่าเรื่องการสร้างสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมานฉันท์การเมือง สมานฉันท์สันติวิธี ซึ่งกลไกในการเสริมสร้างความสมานฉันท์นั้นเป็นกลไกสำคัญทั้งสิ้น

                สิ่งหนึ่งที่ผมอ่านดูจากข้อเสนอคือ เราต้องการความเป็นธรรม ซึ่งตรงกับที่ได้บอกมาตั้งแต่มารับงานว่า ความเป็นธรรมต้องมีในสังคมทั่วไป ไม่เฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนมาพูดก็มีผู้มายื่นหนังสือเรียกร้องเรื่องความไม่เป็นธรรม ซึ่งเรื่องความไม่เป็นธรรมนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดที่ไหนบ้าง แต่เรื่องความเป็นธรรมนั้นจะต้องเกิดขึ้นทั่วบ้านเมือง 

                ในข้อที่ 1.เรื่องสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้ว ในการชี้แจงนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมาก็พูดเรื่องนี้ เมื่อสักครู่ที่ผ่านมาได้บันทึกเทปเรื่องการทำงานของผมที่ผ่านมา และได้ยืนยันเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยกันแก้ เพราะเรื่องผลกระทบคงไม่ต้องพูดถึง ในด้านจิตใจนั้นได้รับผลกระทบมากมาย คนส่วนหนึ่งที่ได้รับทราบข้อมูลก็ได้รับผลกระทบ เพราะรู้สึกว่าเหตุใดเราถึงปล่อยให้เกิดขึ้น ทำไมไม่แก้กันตั้งแต่ต้น ผมคิดว่าเราต่างตกอยู่ในภาวะผลกระทบและมีความทุกข์ในเรื่องปัญหาภาคใต้

                เรื่องการแก้ไขนั้นผมจะรับข้อเสนอท่าน ทั้งเรื่องการทำความชัดเจนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ การสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยจะได้นำข้อเสนอต่างๆ เข้าพูดคุยกันในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ เพราะเรามีความตั้งใจในการบูรณาการการทำงานภาคราชการให้มีเอกภาพมากขึ้น เพราะเรื่องหลักที่เราจะแก้ไขคือเรื่องความเป็นเอกภาพในการทำงาน เรื่องที่ทำให้ช้าคือเรื่องงบประมาณ และเรื่องระเบียบราชการ

                ได้คุยใน ครม.เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าต้องเร่งแก้ไขเรื่องระเบียบวิธีการงบประมาณ ระเบียบการปฏิบัติราชการ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ระบบหลายอย่างช้า ดังนั้นถ้ามันมีเหตุที่ต้องพิจารณาที่มีความจำเป็นต้องใช้ระเบียบวิธีการงบประมาณและระเบียบบริหารราชการพิเศษ มันก็ต้องมี 

                เรามี พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่เรายังไม่มีระเบียบว่าข้าราชการจะปฏิบัติอย่างไรในภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นต้องทำให้ระบบราชการตอบสนองต่อปัญหาได้เร็วขึ้นและมีเอกภาพ 

                ในเรื่องผู้นำท้องถิ่น เราได้จัดองค์กรใหม่มี ศอ.บต. มีกระทรวงยุติธรรมเข้าไป ใน ครม.นัดพิเศษพรุ่งนี้ จะคุยกันว่ามีส่วนราชการอื่นต้องการเข้ามาร่วมอีกหรือไม่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเข้าไปร่วมในด้านไหนอีกได้หรือไม่ คงไม่ใช่เรื่องของกระทรวงมหาดไทยเพียงอย่างเดียว เราจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรให้มากขึ้น และพูดตั้งแต่ต้นว่าอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ทั้งการแก้ปัญหาการเมือง และปัญหาภาคใต้ จะเน้นเรื่องนี้ให้ชัดเจนมากขึ้นในโอกาสข้างหน้า

                ส่วนข้อเสนอด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการพัฒนาระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับที่เราได้ดำเนินการไว้ โดยเฉพาะเรื่องสันติวิธี คิดว่าเราสามารถให้ความรู้แก่เด็กได้ตั้งแต่เบื้องต้น เราเคยผ่านวัยเด็กกันมาแล้ว ผมก็เคยชกกับเพื่อน นั่นก็เพราะความหุนหันพลันแล่น อารมณ์ชั่วครู่ เรื่องไม่มีอะไรเลย แต่แย่งกันกินน้ำประปาโดยคิดว่าใครถึงก่อนถึงหลัง นั่นคือผม ทั้งที่เราควรจะคิดก่อนและไม่ใช้ความรุนแรง เรื่องนี้เราสอนเด็กได้ให้เกิดการปรับตั้งแต่ต้นด้วยการศึกษาทำให้เด็กเข้าใจว่า วิธีแก้มันมีหลายวิธี

                ส่วนเรื่องประเทศเพื่อนบ้านจะให้ท่านไปฟังสิ่งที่ผมพูดในการบันทึกเทป ว่ามีอะไรขาดตกบกพร่องในเรื่องความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเขามองเราว่าไม่ยืนอยู่บนหลักของความยุติธรรม และการแก้ปัญหาของเราไม่ได้อยู่ในวิถีทางประชาธิปไตย แต่ต้องเข้าใจว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราไม่สามารถแก้ปัญหาโดยวิถีทางประชาธิปไตยได้แล้ว มันก็ต้องแก้กันแบบนี้ และช่วงสุดท้ายก็เกิดการปะทะกันระหว่างคน 2 กลุ่ม ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ คมช.เสนอมาให้ ครม.พิจารณาวานนี้ (21 พฤศจิกายน)

                และเรื่องที่ยากเช่นเดียวกันคือ เรื่องสมานฉันท์การเมือง ยากมากที่จะสร้างความเข้าใจในส่วนนี้ให้กลุ่มพรรคการเมืองต่างๆ ได้เข้าใจว่า แนวทางสมานฉันท์ทางการเมืองนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ผมเพียงแต่มีความหวังเล็กๆ น้อยๆ ว่า อยากให้พรรคการเมืองมามีส่วนร่วมในการนำบ้านเมืองเราไปสู่บรรยากาศประชาธิปไตยที่ดีกว่านี้ บางคนบอกว่าไม่ควรให้พรรคการเมืองมามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ตรงนี้แก้ลำบาก เพราะยังไงพรรคการเมืองก็ต้องมามีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ดังนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะเขามีส่วนร่วมโดยตรง

                แต่ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองมีขั้นตอน มีหลักในการสรรหาสมาชิก สรรหาผู้นำพรรคการเมืองที่จะมาบริหารประเทศ คือแต่ละพรรคควรแถลงขั้นตอนเหล่านี้ให้ประชาชนรับทราบ ว่ามันมีความสอดคล้องกันแค่ไหน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะทำให้นอกจากเราจะเห็นนโยบายที่ดีแล้ว เราจะได้ผู้นำประเทศที่เหมาะสมด้วย นี่คือความคิดส่วนตัวของผม 

                รัฐบาลไม่มีหน้าที่โดยตรงในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่รัฐบาลอยากเข้าไปมีส่วนร่วมคือ ทำอย่างไรให้กระบวนการต่างๆ ขับเคลื่อนไปให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ผมได้พูดกับผู้นำประเทศเพื่อนบ้านว่า ทำยังไงจะสามารถขับเคลื่อนไปได้ให้เร็วที่สุด แล้วให้ประชาชนมีส่วนร่วม คือการทำประชามติ ว่าประชาชนพอใจในรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถือเป็นขั้นสุดท้าย เมื่อกระบวนการเคลื่อนไปแล้ว งานก็จะเหลือไม่มาก ทำงานได้ง่ายขึ้น

              ผมเข้าใจดีว่า เป็นรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง เรื่องการทำงานจึงยากกว่าเป็น 10 เท่า ดังนั้นการที่จะสื่อสารไปยังประชาชนทราบนั้นยาก เพราะผมเองก็ไม่มี ส.ส. ทราบดีว่าความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลนั้น อยากให้รัฐบาลทำงานเร็วๆ ตอนนี้กำลังหาวิธีการอยู่ที่จะทำให้การสื่อสารออกไปง่ายยิ่งขึ้น

                เรื่องที่ผ่านเสนอเรื่องการนำสถานีโทรทัศน์มาใช้ ก็อยู่ในใจผม คือ เราน่าจะมีสถานีที่สามารถสื่อข่าวของเราได้ อย่างในต่างประเทศเช่น NHK หรือ CNN จะทำให้เราได้รับทราบความชัดเจนจากมุมหลายมุม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่จะได้พิจารณาจากหลายทาง

                ส่วนเรื่องการสร้างเครือข่ายสมานฉันท์สันติวิธีในต่างจังหวัดที่เสนอนั้น ขอฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ด้วยเพื่อดำเนินการต่อ 

                ส่วนการสร้างกลไกสมานฉันท์แห่งชาติ จำเป็นต้องศึกษาอย่างลึกซึ้งทั้งในเรื่องกฎหมายและอื่นๆ ซึ่งผมคงไปศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้มากขึ้นด้วย และถ้าเรามีบุคลากรที่พร้อมอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่น่ากังวลใจมากนัก และถ้าประชาชนต้องการให้บ้านเมืองเราอยู่อย่างสันติวิธี ผมคิดว่าเรามีโอกาสทำเรื่องนี้ในความจำเป็นที่จะให้อยู่ในนโยบายแห่งชาติต่อไป

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

24 พ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/62866

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *