สิทธิมนุษยชนคือสิทธิที่จะปลอดจากความทุกข์อันไม่ชอบธรรม
(ปัจฉิมกถา ในการประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ “เครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” 4 พฤษภาคม 2549 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ จัดโดย “โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อสุขภาวะของบุคคลและชุมชน (คสม.)” มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.))
โครงการนี้ได้ดำเนินงานมาโดยมีเนื้อหาสาระที่มีคุณประโยชน์เป็นอันมาก ได้ก่อให้เกิดทั้งกลไก เครือข่ายอาสาสมัคร ฐานข้อมูล และยังเกิดการสื่อสาร การจัดการความรู้ จนกระทั่งมีการนำเสนอสิ่งที่ควรจะเป็นนโยบายสาธารณะหรือมาตรการดำเนินการของหน่วยงานหลักๆทั้งในระดับชาติท้องถิ่น ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมและสถาบันการศึกษาต่างๆ ถือเป็นโครงการที่มีคุณประโยชน์ที่น่าจะคุ้มค่าใช้จ่าย เวลา และพลังงานที่ได้เสียไปโดยควรคำนึงไว้ว่าพลังงานจำนวนมาก เป็นพลังงานอาสาสมัคร ซึ่งถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความภาคภูมิใจและเป็นคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม
คำถามที่จะต้องเกิดขึ้นในการสิ้นสุดโครงการแม้จะเป็นเพียงระยะที่หนึ่งก็คือ ใครควรจะทำอะไรต่อ
ก่อนอื่นต้องกล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นคำใหญ่ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญถึงขั้นมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ก็ได้ดำเนินงานจนใกล้จะครบวาระของคณะกรรมการชุดแรก
หลายคนอาจจะมีคำถามว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร คนส่วนหนึ่งเข้าใจและตอบได้ แต่คนจำนวนมากในประเทศไทยรวมทั้งผู้ที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญๆ เช่น ผู้บริหารประเทศ นักการเมือง ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น อาจจะยังไม่เข้าใจ หรือไม่ซึ้งว่าเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของพวกเขาอย่างไร
คำว่า “สิทธิมนุษยชน” จะแปลให้ง่ายก็คือ สิทธิที่จะปลอดจากความทุกข์อันไม่ชอบธรรม โดยหวังว่าถ้ามีสิทธิที่ว่านี้ แล้วไม่มีใครไปละเมิด ก็น่าจะนำไปสู่ความสุขที่ชอบธรรม นั่นคือ เรากำลังพูดกันถึงเรื่องทุกขภาวะและสุขภาวะ ซึ่งน่าจะป็นประเด็นร่วมกันของทุกฝ่าย ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน กระทรวงต่างๆ องค์กกรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้ง สสส. ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนโครงการนี้ นี่คงเป็นเหตุที่ว่า ทำไม สสส. จึงสนับสนุนโครงการนี้
ส่วนคำถามที่ว่าควรทำอะไรต่อนั้น คิดว่าสิ่งที่เริ่มมานี้ดีแล้ว เพราะมีประชาคมที่ดำเนินการในเรื่องสิทธิมนุษยชนภายใต้โครงการนี้ มีการร่วมมือ ศึกษา คิดค้น ดำเนินการ แก้ปัญหา เกาะเกี่ยวกันเป็นเครือข่ายและนำเสนอเรื่องราว ให้กับส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนภูมิภาค กระทรวง และหน่วยงานอื่นๆได้รับรู้
ส่วนคนที่จะดำเนินการต่อนั้น กลุ่มแรกที่มีความสำคัญมาก น่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ทั้งชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนนี้ต้องดำเนินการต่อไปได้เลยโดยไม่ต้องรอใคร โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ภายใต้โครงการ คสม. นี้ เนื่องจากทั้งแรงงาน กำลังสมอง งบประมาณ ล้วนอยู่ในวิสัยที่จะจัดหาจัดการได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
กลไกที่สอง ที่น่าจะทำอะไรต่อได้คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้จะไม่ได้มาฟังในเวทีนี้ ก็น่าจะพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่างๆได้ โดยนำข้อเสนอที่ได้ในเวทีนี้ไปร่วมพิจารณาดำเนินการ
กลไกที่สามคือ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจและอื่นๆ เพราะทุกหน่วยงานล้วนมีความเกี่ยวพันกับสุขภาวะ ทุกขภาวะ ของประชาชนทั้งสิ้น ยิ่งได้รับฟังความคิดเห็นเหล่านี้ยิ่งต้องพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเครือข่ายชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำงานจริง ดูแลคุ้มครองกันเองอย่างเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุด โดยขณะนี้มีหลายพันตำบลที่เริ่มสร้างแผนแม่บทชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง เป็นแผนที่รวมทุกอย่างที่เกี่ยวกับชีวิตคน ครอบครัว ชุมชน ซึ่งเรื่องสิทธิมนุษยชนก็น่าจะรวมอยู่ในแผนแม่บทเหล่านี้
คำว่า “แผน” หมายถึงการจัดการ ซึ่งแปลว่าต้องมีการศึกษาสถานการณ์ วิเคราะห์ ขบคิด กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ วิธีดำเนินการ ตลอดจนติดตามวัดผล สรุปบทเรียน แล้วนำมาพัฒนาต่อเนื่องในทุกเรื่อง และยิ่งสร้างเป็นเครือข่ายขึ้นมาเรียนรู้ร่วมกัน จัดการความรู้ร่วมกัน ก็จะมีความรู้ ความเข้าใจ มีพลังที่มากขึ้นและดีขึ้น รวมถึงความสามารถที่จะมีผลต่อหน่วยงานอื่นที่อยู่ในพื้นที่รอบๆ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะที่อาจจะมาร่วมด้วย และถ้าทำได้ดีก็ขยายวงไปในระดับชาติได้
หน่วยงานต่างๆถ้ามีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนก็จะกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ และหากในส่วนฐานรากทำได้ดีแม้เพียงบางส่วน แต่ถ้าสามารถนำขึ้นมาให้มีผลต่อการพิจารณาของหน่วยงานส่วนกลาง เมื่อหน่วยงานกำหนดนโยบายที่ดีก็จะมีผลไปทั่วประเทศ ด้วยระบบความสัมพันธ์เช่นนี้ หากเน้นที่ชุมชนท้องถิ่นให้เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง น่าจะสามารถทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนได้รับการส่งเสริม คุ้มครองตามที่ปรารถนากันอย่างบรรลุผลได้ดีขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ
ขออนุโมทนาให้ความพยายามนี้จงประสบผลสำเร็จ และหน่วยงานต่างๆได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และประสานความร่วมมือกันกับส่วนอื่นๆในสังคม เพื่อว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องความสุข ความทุกข์ของคน ครอบครัว ชุมชน สังคม จะได้บังเกิดผลดียิ่งขึ้น
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
11 ส.ค. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/44268