สำนึกไทยที่พึงปรารถนา
(ตัดตอนและดัดแปลงเล็กน้อยจากหนังสือ “สำนึกไทยที่พึงปรารถนา” โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสังคม สัญจร จัดพิมพ์โดย มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2543)
คำนิยม
สำนึกหรือจิตสำนึก (Consciousness) กำหนดการรับรู้ ความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ หากสำนึกแคบ การรับรู้ ความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมก็แคบ ถ้าสังคมใหญ่แต่สำนึกเล็กก็จะเกิดความขัดแย้ง ทำให้ไม่สามารถรักษาความเป็นปรกติของสังคมไทย การยกระดับสำนึกของคนในชาติจึงควรเป็นแกนกลางของยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ
คนไทยต้องมีจิตใหญ่ จึงจะสามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆที่กำลังเผชิญอยู่ได้ “สำนึกไทยที่พึงปรารถนา” ที่ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสังคม สัญจร นำเสนอนี้ คือมารดาแห่งการปฏิรูปทั้งปวง (Mother of all reforms) เพราะจิตสำนึกคือส่วนที่ลึกและทรงพลังที่สุด ถ้าจิตสำนึกเปลี่ยนทุกอย่างก็เปลี่ยน หวังว่า “สำนึกไทยที่พึงปรารถนา” จะช่วยให้เกิดพลังสร้างสรรค์มหาศาลในการนำชีวิต และสังคมไทยไปสู่สิ่งที่ดีที่สุด
ประเวศ วะสี
20 พฤศจิกายน 2543
1. คำปรารถ
สำนึกเป็นสิ่งที่อยู่ลึกในจิตใจของคน เป็นตัวชี้นำ กำกับ กลั่นกรองพฤติกรรมของคน ตลอดจนองค์ประกอบทั้งหลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว กลุ่มคน องค์กร ชุมชน หรือสังคมโดยรวม ล้วนได้รับอิทธิพลจาก “สำนึก” ของคนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
จะเห็นได้ว่าความดี ความเลว ความเจริญ ความเสื่อม ตลอดจนพิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรม ในแต่ละสังคมก็ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจาก “สำนึก” ของคนเช่นกัน ดังนั้น “สำนึก” จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จับต้องยาก มองเห็นยาก และพัฒนายาก
2. สำนึกที่พึงปราถนา
สำนึกที่พึงปรารถนาคือ สำนึกร่วมของผู้คนในสังคม เพื่อก่อให้เกิดแบบอย่างอันดีในการนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมของคน กลุ่ม สังคม ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข ทั้งนี้สำนึกดังกล่าวจะเป็นเช่นใดย่อมขึ้นอยู่กับคนในสังคมนั้นว่าต้องการให้เป็นแบบใดไม่ว่าจะเป็นแบบสนุกสนาน แบบตื่นเต้น แบบเสี่ยงหรือเกื้อกูลกันโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติและมีความยั่งยืน เมื่อมีความปรารถนาเช่นใดผู้คนภายในสังคมย่อมต้องสร้างสำนึกให้สอดคล้องกับความต้องการนั้น ดังนั้นสำนึกที่พึงปรารถนาก็คือสำนึกที่จะนำไปสู่สภาพที่สังคมต้องการ
2.1 ลักษณะสำนึกไทยที่พึงปรารถนา
สังคมโดยรวมยอมรับกันว่า “สังคมสันติสุข” คือสังคมที่คนส่วนใหญ่ต้องการ ทั้งนี้วิวัฒนาการของแต่ละสังคมอาจจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแรงผลักทางสำนึกของทุกๆส่วนในสังคมนั้น ในส่วนของสำนึกไทยที่พึงปราถนาที่พิจารณาจากความมีสันติสุข น่าจะมีภาพลักษณ์ดังนี้
ต้นจากความหมายของ “สังคมดี”
สังคมที่ดีคือ “สังคมแห่งความสุข” เป็นสังคมที่มีผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น มีสันติ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายพอสมควร มีจิตใจสงบสุข สามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนกัน ไม่เบียดเบียนธรรมชาติจนส่งผลกระทบต่อตัวเองและลูกหลานในภายหลัง ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าสังคมแห่งความสุข เป็นความสุขของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ใช่สังคมที่คนส่วนน้อยมีความสุข แต่คนส่วนใหญ่มีความทุกข์ ดังนั้นสังคมดีจึงหมายรวมถึงการลดความทุกข์ให้คนส่วนใหญ่ด้วย
2.1.2 สังคมที่เน้นสันติสุข
สังคมสันติสุขเป็นสังคมที่เน้นความเรียบง่าย ความประหยัด การอดออม เน้นการพัฒนาทางจิตใจและปัญญามากกว่าวัตถุ เน้นการรวมกลุ่มคนมากกว่าให้มีบุคคลที่โดดเด่นโดยลำพังตัว ซึ่งจะก่อให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันในลักษณะใครดีใครอยู่
อย่างไรก็ดี ถ้าเราชอบสังคมที่ตื่นเต้นมีความเป็นเลิศ ยอดเยี่ยม มีวีรบุรุษวีรสตรี มีวัตถุแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ตลอดจนมีทัศนคติว่าถ้ามีการบริโภคมากย่อมแสดงถึงความสามารถที่เหนือกว่าผู้อื่น ก็ต้องมีกระบวนการสร้างสำนึกอีกแบบหนึ่ง คือสร้างสำนึกให้เป็นแบบเน้นการพัฒนาศักยภาพจนสุดความสามารถ ต้องคิดสร้างวัตถุที่ยิ่งใหญ่ ต้องมีการแข่งขันตลอดเวลาว่าใครจะเก่งที่สุด แต่ความสงบสุขหรือสันติสุขจะลดน้อยลง ซึ่งสำนึกดังกล่าวอาจเหมาะกับสังคมบางแห่งแต่ไม่น่าเหมาะกับสังคมไทย
2.1.3 สังคมที่ตกลงร่วมกัน
สังคมที่พึงปรารถนาย่อมมีลักษณะของการตกลงร่วมของผู้คนภายในสังคมว่าประสงค์ให้สังคมเป็นแบบใด ตัวอย่างของการตกลงร่วมกันที่เป็นรูปธรรมเด่นชัด คือการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) ถึงแม้จะไม่สามารถระดมผู้คนทั้งสังคมได้หมดทุกคน แต่ถือได้ว่ามีคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับที่ 7
การตกลงร่วมกันอีกครั้งหนึ่งคือ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันของคนในสังคมมากที่สุด บทเรียนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าไม่ยากเกินไปในการสร้างกระบวนการให้คนในสังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดข้อตกลงตามความต้องการของทั้งสังคม
2.2 รูปธรรมของสำนึกไทยที่พึงปรารถนา
การนำคนส่วนใหญ่ในสังคมมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ อาจพิจารณาจากประสบการณ์ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และฉบับที่ 9 ควบคู่กับการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งสร้างกลไกในการร่วมคิดร่วมระดมความเห็นจนสรุปได้ว่าต้องการให้สังคมไทยเป็นอย่างไร และคิดต่อไปด้วยว่าจะสร้างสำนึกแบบใด จะเห็นได้ว่าการใช้กระบวนการสร้างสำนึกแบบใหม่ที่พึงปราถนา สามารถทำได้ง่ายขึ้นเพราะผ่านกระบวนการคิดร่วมกันตกลงร่วมกัน ทั้งนี้อาจโยงไปถึงเรื่องยุทธศาสตร์หรือวิธีการสร้างสำนึกที่พึงปรารถนาให้บังเกิดผลด้วย เป็นกระบวนการที่คนในสังคมร่วมกันคิด ร่วมกันดำเนินการ โดยมีรูปธรรมที่จะนำพาการต่อยอดทางความคิด ดังนี้
2.2.1 ส่งเสริมให้มีเวทีสร้างสำนึกที่พึงปรารถนา
ควรส่งเสริมการสร้างเวทีขนาดเล็กและใหญ่เพื่อระดมความคิดเห็นต่อการสร้างสังคมที่พึงปรารถนาและคิดต่อไปถึงวิธีการ โดยส่วนหนึ่งของวิธีการก็คือ “การมีสำนึกที่ดี” เพราะสำนึกเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันหรือในการกำหนดพฤติกรรม เมื่อตกลงได้ว่าสำนึกที่ดีเป็นอย่างไร ก็ต้องคิดต่อว่าวิธีการดำเนินการต่อไปควรจะเป็นอย่างไรด้วย ทั้งนี้อาจใช้เวทีโฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างแบบอย่างที่ดี เผยแพร่แบบอย่างที่ดีหรืออาจจะใช้กระบวนการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนหรือนอกโรงเรียนก็ได้ แล้วแต่วิธีการที่สังคมจะคิดและเลือกสรร
2.2.2 สำนึกที่พึงปรารถนาในมิติของศาสนา
ด้วยศาสนาเป็นกรอบของการกำหนดสำนึกและพิธีกรรม โดยมากเป้าหมายของศาสนาคือการสร้างสำนึกที่ดี พฤติกรรมที่ดี แต่ความเข้าใจศาสนาที่ผิวเผินบอกได้เพียงว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ซึ่งก็ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นต้องลงลึกไปถึงการสร้างสำนึกที่ดี ทั้งนี้พุทธศาสนามีความลึกซึ้งมาก สามารถลงลึกไปถึงจิตใต้สำนึกได้
อย่างไรก็ดี หากมีการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนและไม่เหมาะสม แต่ไปยอมรับกันว่าเป็นหลักการของศาสนา ศาสนาก็เป็นเหตุให้เกิดสำนึกที่ไม่พึงปรารถนา และเป็นผลเสียต่อการพัฒนาสังคม แต่ถ้าใช้กรอบของศาสนาที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่ควรทำ ก็กลายเป็นปัจจัยในการสร้างสำนึกที่ดี และศาสนาก็เป็นส่วนหนึ่งในหลายกลไกที่ช่วยสร้างสังคมให้ดีขึ้น
เนื่องจากศาสนามีผู้ปฏิบัติหรือผู้ที่อ้างว่านับถือศาสนากระทำอย่างผิดเพี้ยนอยู่มิใช่น้อย ฉะนั้นจำเป็นต้องปรับปรุงการปฏิบัติตามศาสนาเพื่อให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเป็นเครื่องมือที่ดีให้กับสังคมอย่างที่ศาสนาควรจะเป็น เพราะแรกเริ่มนั้นศาสนาคือปัจจัยช่วยให้สังคมดี ศาสนาเกิดขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้สังคม และช่วยรักษาความดีให้สังคม แต่พอนานไปผู้ปฏิบัติตามศาสนาจำนวนมากขึ้นๆ ก็ค่อยๆ ผิดเพี้ยนไปจากหลักการที่ถูกต้อง กลายเป็นตัวปัญหาให้สังคม หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาสังคมอย่างที่ควรจะเป็น
พุทธธรรมมีคุณภาพสูงมาก เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นศาสตร์ในแง่ที่เป็นหลักวิชา มีความเป็นระบบ มีขั้นตอน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทำนองเดียวกับวิทยาศาสตร์ ส่วนเป็นศิลป์เพราะมีวิธีปฏิบัติ มีการนำไปใช้ในรูปแบบที่หลากหลายในสถานการณ์ต่างๆ ฉะนั้นเป็นเครื่องมือให้คน กลุ่มคน ชุมชนและสังคมนำมาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าหากได้คิดร่วมกันว่าจะนำพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์อย่างไร ควรเริ่มต้นจากคนที่อยู่ใกล้ที่สุดคือพระสงฆ์ ซี่งท่านคือผู้ปฏิบัติคือผู้ที่เป็นแบบอย่างให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ว่าพุทธธรรมมีคุณประโยชน์อย่างไร สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือให้ผู้ปฏิบัติพุทธธรรมหรือขบวนการสงฆ์นั้นได้พัฒนาเพื่อให้เกิดความเสื่อมใส เพราะถ้าผู้ปฏิบัติคือพระสงฆ์ที่เปรียบเสมือนครูทำไม่ดีเสียเองแล้วความเลื่อมใสก็จะไม่เกิด จะไปโน้มนำประชาชนว่าอย่าเชื่อถือเครื่องรางของขลังก็คงบอกไม่ได้ แต่ประชาชนก็มีส่วนทำให้พระไขว้เขวเช่นกัน เช่นไปนิมนต์ให้ทำในสิ่งที่พระไม่ควรทำ หรือในขณะที่พระพยายามลดวัตถุ ประชาชนก็พยายามเอาวัตถุไปให้ ดังนั้นพระสงฆ์จึงต้องมีความเข้มแข็งและแสดงออกให้ประชาชนทั่วไปเห็นเป็นตัวอย่าง จึงจะสามารถสอนและให้คำแนะนำคนอื่นได้ ถือเป็นการเริ่มที่วงการสงฆ์
การใช้ประโยชน์จากพุทธธรรมบางครั้งต้องใช้ศิลปะ เช่น พระสุบินที่จังหวัดตราด ท่านนำเรื่องการออมทรัพย์มาเป็นเครื่องมือในการสร้างศีลธรรมในชุมชน อีกทั้งยังใช้ศิลปะในการรวมกลุ่มของประชาชน มีกิจกรรมการออมทรัพย์ การปล่อยกู้ การสร้างวินัย การสร้างคุณธรรม ทำให้การอยู่ร่วมกันดีขึ้น และท่านเองก็วางตัวได้ดี ปราศจากข้อตำหนิ มีชีวิตเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่หลงไปกับวัตถุ ไม่เรี่ยไร เมื่อมีคนมานิมนต์ไปเทศนาได้เงินมาก็ใช้ในกิจกรรมส่งเสริมกลุ่มออมทรัพย์ แนะนำให้คนออมทรัพย์ นี่คือตัวอย่างที่ดีของการประยุกต์พุทธธรรมให้ผู้คนปฏิบัติตามอย่างชาญฉลาดและมีศิลปะ
2.2.3 เครือข่ายสำนึกที่พึงปรารถนา
เมื่อเรารู้ว่าอะไรคือสำนึกที่พึงปรารถนาแล้ว ก็ต้องขยายวงออกไป โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายโดยชุมชนในระดับหมู่บ้าน เมื่อรวมกันหลายหมู่บ้านก็กลายเป็นเครือข่ายตำบล เครือข่ายอำเภอ เครือข่ายจังหวัด ซึ่งการสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันและกันเป็นความเข้มแข็งร่วมกัน ในขณะที่การใช้ความชำนาญเฉพาะด้านที่เป็นสายสัมพันธ์เชิงดิ่งจากส่วนกลางก็ยังสามารถมีได้ แต่ต้องเน้นในเชิงวิชาการหรือการดูแลเฉพาะกิจเฉพาะด้าน เมื่อผนวกกับสายสัมพันธ์เชิงราบระหว่างชุมชนด้วยกันจะทำให้เกิดพลังและการพัฒนาที่ผสมผสานได้ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
3. พลังขับเคลื่อนสู่สำนึกที่พึงปรารถนา
การที่สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด จำเป็นที่คนในสังคมจะต้องเห็นว่าสังคมนั้นมีปัญหา เข้าใจปัญหา และมีความประสงค์ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้จำเป็นต้องใช้พลังของคนในสังคมเป็นหลัก แต่การใช้พลังเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องกลไกอื่นประกอบด้วย ด้งนั้นอาจใช้สำนึกเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมได้ดังนี้
3.1 เส้นทางสังคมสู่สำนึกที่พึงปรารถนา
เส้นทางสู่สำนึกที่พึงปรารถนาหมายถึง การขับเคลื่อนของคนในสังคมเพื่อสร้างจิตสำนึกอันดีงามร่วมกัน จะไม่ใช่เรื่องของ “ผู้นำทางสังคม” เพียงลำพัง แต่เป็นเรื่องร่วมกันของทุกผู้คนในสังคม ซึ่งในส่วนของผู้นำทางสังคม นักวิชาการ ในฐานะที่ผ่านโลกมามาก พบเห็นลักษณะอันดีงามมากมายจากหลายแห่ง อาจช่วยชี้นำ หรือช่วยเสนอทางเลือกได้ว่าสำนึกที่พึงปรารถนาควรเป็นเช่นใด แต่การตัดสินใจควรเป็นมิติของคนทั้งสังคม โดยต้องพิจารณาให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับชุมชนและสังคมของเรา ดังนั้น สำนึกที่ดีควรเป็นการเลือกสรรภายในชุมชนและสังคมของเราเอง ไม่ใช่การนำเอาสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเข้ามายึดถือปฏิบัติตามโดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลที่แท้จริง
3.1.1 การได้มาซึ่งสำนึกไทยที่พึงปรารถนา
เมื่อสังคมไทยมีความปรารถนาในการสร้างสำนึกร่วมกันในทางที่ถูกต้อง จำเป็นต้องนำเสนอลักษณะของสำนึกเพื่อให้คนในสังคมร่วมกันพิจารณา แต่ไม่ได้หมายความว่าภายในสังคมหนึ่งต้องมีสำนึกเพียงประการเดียว อาจมีได้หลากหลายแต่ไม่ควรขัดแย้งกัน ควรส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่นสำนึกที่ว่า “ทำดีได้ดี” ย่อมสัมพันธ์กับสำนึกที่ “คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน” หรือสอดคล้องกับการกล้ายืนหยัดทำให้สิ่งที่ถูกต้อง การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง มีความมุ่งมั่นในผลสำเร็จของงาน ยึดมั่นในระบบคุณธรรม ดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าแม้จะมีสำนึกหลากหลายแต่สอดรับไปในทิศทางเดียวกัน
3.1.2 การกำหนดสัญลักษณ์ของสังคมที่ดีและพึงปรารถนา
ลักษณะของสัญลักษณ์ทางสังคมที่ดี คือ การที่สมาชิกของสังคมแต่ละคนสามารถใช้ศักยภาพของตนในทางที่ถูกต้อง แล้วได้รับการส่งเสริม มีการรับรู้ผลของการกระทำและจะส่งผลถึงตนอย่างไรบ้าง เช่น “ถ้ากระทำดีย่อมได้รับผลดีตอบแทนและหากทำไม่ดีย่อมได้รับการลงโทษ” ซึ่งสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนาที่ว่า “ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว” หรือ “กรรมเป็นผลของการกระทำ”
3.1.3 อุดมคติของสังคมที่ดี
การจะสร้างสังคมที่ดีได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนในสังคม การร่วมกันสร้างสังคมนั้นต้องใช้กระบวนการในระดับชาติ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกาะกินสังคมร่วมกันตัดสินใจเลือกแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม ร่วมกันดำเนินการอย่างขันแข็ง และผลสุดท้ายประชาชนก็จะได้รับประโยชน์จากการะทำดังกล่าว ดังนั้นต้องมีการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคมจึงจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประเพณี มาตรฐานทางสังคมเพื่อให้เป็นสังคมที่ดีงามได้ ตัวอย่างรูปธรรมที่ควรระลึกถึงในเชิงอุดมคติคือ หลักศีลธรรมประจำตัว ที่ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ บรรยายไว้เมื่อปี พ.ศ. 2512 ดังนี้
1) “ความจริง” หรือที่ทางพุทธธรรมเรียกว่า “สัจจะ” เป็นธรรมะที่ควรใฝ่หาทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จะเห็นได้ว่า “สัจจะ” จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
2) “ความงาม” เป็นศิลปะทางจิตใจของมนุษยชาติ เพราะมนุษย์แตกต่างจากสัตว์ที่เราไม่ได้อยู่ด้วยวัตถุเพียงอย่างเดียว เราต้องการความพึงพอใจลึกซึ้งเข้าไปในศิลปะอันงดงาม รวมถึงภูมิประเทศที่ตรึงตา ดอกไม้สีสันสวยงาม คำพูดที่จับใจ ดนตรีไพเราะ จินตกวีนิพนธ์ วีรกรรมและการเสียสละของมนุษย์ สิ่งที่มีความงามเหล่านี้ทำความเจริญให้ก่อเกิดในจิตใจ นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาของมนุษยชาติ
3) “ความดี” เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและกำกับโลก ถ้าโลกเรามีแต่ความชั่วเป็นเกณฑ์ มนุษย์จะเบียดเบียนกันและกัน แทนที่จะบำรุงหมู่คณะให้เจริญ สำนึกด้านความดีจะทำให้รู้จักการแยกแยะว่าอะไรดีอะไรไม่ดี มีหิริโอตตัปปะ คือการละอายและเกรงกลัวที่จะทำสิ่งไม่ดี มีความตั้งใจ พยายามที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นและส่วนรวมเป็นต้น
การมีอุดมคติจะเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจและเตือนตนให้อยู่ในกรอบของการดำรงชีวิตที่ดี
3.2 กลไกและกระบวนการสร้างสำนึกที่พึงปรารถนา
กลไกและกระบวนการสร้างสำนึกที่พึงปรารถนาขึ้นอยู่กับการถ่วงดุลที่เหมาะสม มีกระบวนการเรียนรู้และรวมศูนย์การสื่อสาร เพื่อเป็นแรงผลักดันสู่ทิศทางที่พึงปรารถนา
3.2.1บทบาทของผู้นำและของประชาชน
ทุกสังคมต้องมีผู้นำไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ แต่การมีผู้นำแบบใดแบบหนึ่งไม่ได้แปลว่าไม่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน เพราะประชาชนก็ต้องเกื้อกูลผู้นำ ถ้าประชาชนไม่เข้มแข็ง ผู้นำจะต้องทำงานหนักและเหน็ดเหนื่อยโดยอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต้ถ้าประชาชนเข้มแข็งผู้นำจะทำงานได้ผลโดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยมาก ผู้นำริเริ่มดำเนินการเพียงเล็กน้อย ประชาชนก็สานต่อไปได้ หรือถ้าผู้นำทำท่าว่าจะซวนเซบ้างประชาชนก็สามารถถ่วงดุล และผลักดันการขับเคลื่อนในทางที่ดีให้เดินต่อไปได้
ผู้นำมีหลายระดับเช่น ในระดับประเทศมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ปลัดกระทรวง อธิบดี ในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในระดับอำเภอ มีนายอำเภอ ในระดับตำบลและหมู่บ้านมีประธานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ที่กล่าวมานั้นคือผู้นำที่เป็นทางการ ส่วนผู้นำที่ไม่เป็นทางการได้แก่ ผู้นำในสังคม ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กร นักธุรกิจชั้นนำ ศิลปินชั้นนำ ผู้นำแรงงาน ผู้นำเกษตรกร นักวิชาการแนวหน้า นักกิจกรรมสังคมที่สำคัญ พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของทุกศาสนาและอื่น ๆ ผู้นำในสังคมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเหล่านี้ล้วนมีหรือสามารถมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มสร้างสรรค์ โน้มนำ หล่อหลอม พัฒนาสำนึกที่ดีต่างๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
3.2.2. การสื่อสารด้านสำนึกต้องรวมศูนย์
ปัจจุบันการสื่อสารมีความรวดเร็วมาก ต่างจากในอดีตที่การติดต่อสื่อสารแต่ละครั้งยืดยาวและเนิ่นนาน ทางด้านสำนึกที่พึงปรารถนาจำเป็นต้องมีการเน้นหนักเรื่องการควบคุมโดยศูนย์กลางโดยเผยแพร่ในสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าดีหรือเป็นกลไกให้ผู้อื่นร่วมเผยแพร่ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ
ทั้งนี้ต้องมีผู้นำที่เข้าใจกระบวนการสื่อสาร เพื่อสร้างสำนึกที่ดีและควรมีอำนาจในการกำกับดูแลคนได้ ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลักษณะของการปกครองที่จะต้องควบคุมกำกับดูแล แต่เป็นการประสานพลังกันระหว่างผู้นำกับประชาชน เพราะพลังที่แท้จริงมาจากประชาชน และผู้นำควรมองการสื่อสารอย่างเป็นองค์รวม ถึงเสมือนเป็นการสื่อสารเพื่อประชาชนนั่นเอง
3.2.3 กระบวนการศึกษาเรียนรู้ สร้างสำนึก สร้างชาติ
ระบบการศึกษาเรียนรู้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสำนึก สร้างชาติ สร้างสังคม สร้างคน ทั้งนี้ระบบการศึกษาที่คนโดยทั่วไปเข้าใจก็คือ “ระบบการศึกษาที่เป็นทางการ” แต่ความหมายที่แท้จริงรวมถึงระบบการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร และสังคม ซึ่งเรียกว่า “ระบบการศึกษาที่สมบูรณ์” ความสำคัญจึงอยู่ที่การผลักดันสำนึกที่พึงปรารถนาเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้
ดังที่กล่าวไว้ว่า การสร้างสำนึกมาจากตัวเองและจากปัจจัยภายนอก หรือกระบวนการเรียนรู้โดยระบบหรือกลไกที่สร้างขึ้นมาอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ลักษณะที่เป็นทางการก็คือระบบโรงเรียน สถาบันการศึกษา และที่ไม่เป็นทางการก็คือการเรียนรู้ภายใน องค์กร ชุมชน สังคม การเรียนรู้ผ่านสื่อมวลชน ผ่านปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ภายในสังคม ถ้ามองอย่างนี้ก็อาจกล่าวว่า ระบบการศึกษาทั้งหมดคือ กระบวนการที่สามารถสร้างสำนึกที่พึงปรารถนา
3.3 สื่อมวลชนที่มีสำนึกและนำพาสำนึกที่ดีสู่สาธารณชน
การสร้างสำนึกโดยอาศัยบทบาทของสื่อมวลชนสามารถมองในแง่ของ “เครื่องมือ” หรือ “ทางผ่าน” ของข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ผลิตผู้สร้างโดยส่งข่าวสารไปยังผู้รับสื่อโดยทั่วไป แต่ต้องรับรู้ว่าวัฒนธรรม ค่านิยม ความคิด และสำนึกของผู้ผลิตและผู้สร้างได้แฝงเร้นเข้าไปในสื่อและสื่อก็มีอานุภาพมากพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมวงกว้าง ดังนั้นต้องมีกระบวนการสร้างสำนึกที่ดีให้กับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนเพราะสื่อมีอิทธิพลมากในการขยายสำนึกที่พึงปรารถนา
3.3.1 สื่อมวลชนกับบทบาทในการนำพาสำนึกที่พึงปรารถนา
บทบาทนำพาสำนึกที่พึงปรารถนาจะเริ่มต้นจากการรับรู้ว่าลักษณะของสำนึกไทยที่พึงปรารถนาเป็นเช่นใด ซึ่งวิธีการพิจารณาอย่างง่ายที่สุดคือใช้ความรู้สึกแทนตนเองว่าเป็นสาธารณะและคิดว่า “สำนึกที่พึงปรารถนาควรเป็นเช่นใด” ที่เมื่อสร้างขึ้นแล้วจะนำพาสังคมสู่ความสันติสุขและความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ที่กล่าวมาคือความเชื่อพื้นฐานว่า สื่อมวลชนมีสำนึกที่ดีเปี่ยมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และสามารถเผยแพร่สำนึกดังกล่าวสู่สาธารณชนได้อย่างกว้างขวาง
3.3.2 สื่อมวลชนกับบทบาทต่อต้านสำนึกที่ผิดเพี้ยน
นอกจาการเสนอลักษณะของสำนึกที่ดีแล้ว อีกบทบาทหนึ่งคือการต่อต้านสำนึกที่ผิดเพี้ยน แม้ว่าบางสำนึกจะเป็นสำนึกหลักของประเทศชาติไปแล้ว เช่น สำนึกเรื่องการห้อมล้อมอำนาจ สำนึกในเรื่องความไม่เรียบง่าย สำนึกเรื่องความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย สำนึกด้านการอุปถัมภ์ค้ำชู ฯลฯ ซึ่งการต่อต้านสำนึกที่ผิดเพี้ยนอาจเป็นเรื่องของการไม่ให้ความร่วมมือ หรืออาจเป็นเรื่องของการนำเสนอข่าวสารในเชิงคัดค้านโต้แย้ง และพยายามชี้ให้เห็นว่าสำนึกที่ไม่ดีดังกล่าวส่งผลในแง่ร้ายต่อสังคมไทยอย่างไร ดังนั้นการให้การเรียนรู้เกี่ยวกับสำนึกที่ผิดเพี้ยนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการฟื้นฟูสำนึกที่พึงปรารถนา
3.3.3 สื่อมวลชนกับบทบาทการสร้างการเรียนรู้
สื่อมวลชนนอกจากจะทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสารแล้วยังสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ช่องว่างระหว่างการสื่อสารลดน้อยลง การสร้างการเรียนรู้อาจกระทำได้จากการนำเสนอ “สิ่งดีเปรียบเทียบกับสิ่งไม่ดี” และให้สาธารณชนเป็นผู้เลือกสรร ซึ่งไม่ใช่กระบวนการยัดเยียดที่จะทำให้ผู้รับเกิดการปฏิเสธ ในทางกลับกันการได้เลือกเองทำให้สิ่งที่เลือกนั้นจะดำรงอยู่กับผู้เลือกได้นานว่าถูกเสนอให้เลือกหรือถูกเสนอให้ดำเนินการ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
29 พ.ค. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/31748