สารจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

สารจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์


(สารจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม  ลงในหนังสือรายงานประจำปี พ.ศ. 2552)

“ศูนย์คุณธรรม”  ได้ดำเนินงานมาเป็นเวลากว่า 5 ปี  ได้ใช้กระบวนการ  “ขับเคลื่อนขบวนการคุณธรรม”  เป็นหลักในการส่งเสริมคุณธรรมความดีในสังคมไทย รวมถึงในการดำเนินชีวิต ในครอบครัว ในชุมชน ในองค์กร และในสังคมโดยรวม  ปรากฏเป็นผลงานที่น่าพึงพอใจและเป็นรูปธรรมกระจายไปอย่างกว้างขวางในชุมชน องค์กร สถาบัน และอื่นๆ  ทั่วประเทศและในหลายรูปแบบ  โดยที่ยังมีข้อบกพร่อง ความไม่สมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ และความขัดข้องต่างๆอยู่ด้วย  ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของงานที่ใหญ่ สำคัญ สลับซับซ้อน และมีความยาก  เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ  เช่น การส่งเสริมสุขภาพ  การส่งเสริมประชาธิปไตย การส่งเสริมธรรมาภิบาล เป็นต้น

ขณะนี้ “ศูนย์คุณธรรม” กำลังอยู่ในสภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือสภาวะเปลี่ยนผ่าน  โดยได้เปลี่ยนจากองค์กรที่มีความเป็นอิสระและมีความคล่องตัวพอสมควร ภายใต้การกับกับดูแลห่างๆจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้  (สบร.)  ซึ่งเป็นองค์การมหาชน  มาเป็นหน่วยงานภายในของ สบร. ซึ่งมีความเป็นอิสระและความคล่องตัวลดลงจากเดิมมาก  ขณะเดียวกันก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้  “ศูนย์คุณธรรม”  เป็นองค์การมหาชนอีกองค์การหนึ่งทำนองเดียวกับตัว สบร. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนและมีความเป็นอิสระคล่องตัวตามเจตนารมณ์ของ  พรบ. องค์การมหาชนอยู่แล้ว

ในสภาวะของการ “เปลี่ยนผ่าน” ดังกล่าว  ผมจึงมีข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในความพยายามที่จะให้ “ศูนย์คุณธรรม” สามารถดำเนินภารกิจได้อย่างประสบความสำเร็จดีที่สุด  ดังต่อไปนี้

1.  สถานภาพขององค์กร  ศูนย์คุณธรรมควรมีสถานภาพที่มีความเป็นอิสระและมีความคล่องตัวเทียบเท่าองค์การมหาชน  เช่น สบร. พอช. สสส. ฯลฯ  ด้วยเหตุผลซึ่งควรชัดเจนอยู่ในเจตนารมณ์ของ พรบ.องค์การมหาชน  และเป็นเหตุผลเดียวกันกับในการจัดตั้ง สบร. พอช. สสส. ฯลฯ เป็นองค์การมหาชน

2.  ประธานและคณะกรรมการ  ควรมีระบบการสรรหาประธานและคณะกรรมการ  “ศูนย์คุณธรรม” อย่างพิถีพิถัน  เพื่อให้มีบุคคลที่จะเป็นเสาหลักที่มั่นคงพร้อมกับสามารถชี้ทิศทางสำคัญควบคู่กับการกำกับดูแลอย่างแข็งขันให้กับการดำเนินงานของศูนย์ฯได้อย่างต่อเนื่อง

3.  ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่  มีความสำคัญมาก  โดยเฉพาะผู้บริหารสูงสุด  จึงควรมีกระบวนการสรรหาที่พิถีพิถันเช่นเดียวกับการสรรหาประธานและคณะกรรมการ  รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการทำงานที่เหมาะสมด้วย

4.  เป้าหมายขององค์กร  ควรมีเป้าหมายที่เข้าใจง่ายและชัดเจน  ซึ่งเรื่อง  “การส่งเสริมคุณธรรม” คือการ “ส่งเสริมความดี” และ “ความดี” อาจอธิบายง่ายๆว่าประกอบด้วย  (1) การทำสิ่งที่เป็นคุณ  (2) การไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษ  (3) การสร้างศักยภาพที่จะทำดี  (4) การสร้างทัศนคติละเว้นสิ่งที่ไม่ดี

5.  วิธีดำเนินงาน  ข้อนี้สำคัญมากหรือมากที่สุด  จะต้องมีวิธีดำเนินงานซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่จะสร้างพลังขับเคลื่อนสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมและอย่างกว้างขวาง  ยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อการนี้อาจประกอบด้วย

5.1  ยุทธศาสตร์หลัก  ได้แก่การขับเคลื่อน  “ขบวนการส่งเสริมความดี” ใน “องค์กร” และใน “ชุมชน”  ซึ่ง “องค์กร” หมายถึงกลไกที่บุคคลมารวมตัวกันประกอบการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง  ได้แก่ องค์กรธุรกิจ องค์กรภาครัฐ องค์กรศาสนา สถาบันการศึกษา องค์กรสาธารณประโยชน์ ฯลฯ  ส่วน “ชุมชน” คือ พื้นที่หรือกลไกที่กลุ่มคนมีวิถีชีวิตและหรือมีกิจกรรมร่วมกันอยู่เป็นประจำ  มีความผูกพันเกี่ยวข้อง  ตลอดจนมีผลประโยชน์เชื่อมโยงกระทบต่อกันและกัน  โดยทั่วไปได้แก่  (1) “ชุมชนท้องถิ่น” ซึ่งมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง เช่น หมู่บ้าน ตำบล ย่าน กลุ่มบ้าน กลุ่มท้องถิ่น เขต อบต.  เขตเทศบาล เขตจังหวัด ฯลฯ  และ (2) “ชุมชนกิจกรรม” ซึ่งมีกิจกรรมเป็นตัวตั้ง  เช่น ชุมชนกลุ่มข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ชุมชนศิลปวัฒนธรรม ชุมชนเครือข่ายอาสาสมัคร เป็นต้น  และในระหว่าง “ชุมชน” 2 ประเภท นี้ “ชุมชนท้องถิ่น” ถือว่าสำคัญที่สุดเพราะกระจายครอบคลุมพื้นที่และประชากรทั่วประเทศ

5.2  ยุทธศาสตร์สนับสนุน  ควรประกอบด้วยพลังและปัจจัยที่จะหนุนนำและหนุนเนื่องให้ “ยุทธศาสตร์หลัก” ประสบความสำเร็จด้วยดี  ยุทธศาสตร์สนับสนุนที่สำคัญได้แก่  (1) นโยบายรวมถึงการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลแห่งชาติ ขององค์กรภาครัฐ และขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานของ “ศูนย์คุณธรรม”  (2) การสื่อสารสาธารณะที่มีพลังและมีประสิทธิภาพทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น  (3) การวิจัยและการจัดการความรู้ที่เหมาะสมและเพียงพอ  (4)  การสร้างเครือข่ายเชื่อมประสาน “องค์กร” “ชุมชน” และขบบวนการต่างๆในสังคมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรมความดีให้เกิดพลังร่วมและพลังหนุนเสริมซึ่งกันและกันอย่างมีคุณภาพและอย่างต่อเนื่อง  และ (5) การพัฒนาองค์กร “ศูนย์คุณธรรม” ให้มีครบทั้ง “ความดี” “ความสามารถ” และ “ความสุข” อย่างเพียงพอ สมดุล และบูรณาการ

ผมเชื่อว่า หากสามารถนำข้อคิดเห็นดังกล่าวข้างต้นไปประยุกต์ใช้ในการจัดตั้ง “ศูนย์คุณธรรม” ในฐานะองค์กรที่มีสถานภาพแบบใหม่  หรือแม้แต่ในสถานภาพการดังเช่นปัจจุบันก็ตาม  น่าจะช่วยให้การดำเนินภารกิจอันสำคัญและทรงคุณค่าของ “ศูนย์คุณธรรม” มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จดีขึ้นอย่างแน่นอน

ในโอกาสนี้ ใคร่ขอให้กำลังใจคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ของ “ศูนย์คุณธรรม”  ว่าที่ได้พยายามทำมาในอดีตนั้น ถือว่าได้ทำดีมี่สุดแล้ว และหวังว่าจะสามารถทำได้ดียิ่งๆขึ้นต่อไปในอนาคต  ดัวยการพินิจพิจารณาให้ถ่องแท้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ สร้างความเห็นที่เป็นฉันทามติร่วมกัน  แล้วใช้ความ “รู้ รัก สามัคคี”  เป็นพลังขับเคลื่อนงานของ “ศูนย์คุณธรรม” ไปสู่ความสำเร็จที่มีคุณค่าและน่าภาคภูมิใจได้ในที่สุด

 

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ธันวาคม  2552

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/319589

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *