สังขารก็เป็นเช่นนี้

สังขารก็เป็นเช่นนี้


(จากคอลัมน์ “ซูม” เหะหะพาที ในไทยรัฐ ฉบับวันที่ 11 ต.ค. 50 หน้า 5)

ก่อนที่ผมจะนั่งรถเข้าโรงพิมพ์เพื่อที่จะมาเขียนคอลัมน์วันนี้ เปิดอินเตอร์เน็ต ไทยรัฐดอตคอมเช็กข่าว ทำให้ทราบว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เกิดอาการวูบในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี จนต้องออกมานั่งพักแล้วก็ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะลงมาขึ้นรถเพื่อเดินทางไปโรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น ท่านรองฯไพบูลย์มีอาการเหนื่อยอ่อนอย่างเห็นได้ชัด

แต่ยังยิ้มสู้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ ยังไหว ”

คุณหมอ มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ ออกมาส่งรองฯไพบูลย์ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ท่านรองฯทำงานหนักติดต่อ กันหลายวัน ทำให้มีอาการความดันโลหิตต่ำ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่ทำงานหนัก

บอกตรงๆว่า ขณะนั่งอ่านข่าวอินเตอร์เน็ตนั้น ผมใจระทึกอยู่ตลอด เพราะทราบดีว่าคนอายุปูนนี้แล้ว เวลาเกิดอาการวูบขึ้นมาเนี่ยมันสาหัส สากรรจ์จริงๆ

เห็นเดือนเห็นดาว หมดแรงข้าวต้มอย่างที่โบราณเขาว่าไว้

พอเข้าถึงโรงพิมพ์ ผมก็รีบไปตรวจสอบข่าวคืบหน้าที่โต๊ะข่าว และพบว่า อาการของท่านอยู่ในเกณฑ์หนักหนาพอสมควรทีเดียว

ดูเหมือนเส้นเลือดที่เข้าไปเลี้ยงหัวใจจะตีบถึง 3 เส้น

ดังนั้น เมื่อต้องทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ จึงเกิดอาการแน่นหน้าอก และหน้ามืดดังที่เป็นข่าว

ล่าสุด คณะแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีต้องรับตัวไว้รักษา และ อาจจะต้องอยู่ที่โรงพยาบาลอีกระยะหนึ่ง

ก็ขอให้ท่านรองฯรักษาเนื้อรักษาตัวและพักผ่อนให้สบายใจเถอะครับ ตัดอะไรได้ก็ตัดทิ้งไปเสียบ้าง…โดยเฉพาะเรื่องงานต่างๆ

ผมยังจำได้ว่า ท่านรองฯเป็นคนขยันขันแข็ง มุ่งมั่นทุ่มเทมาโดยตลอด…มีอยู่ช่วงหนึ่งผมกับท่านมักไปร่วมงานสัมมนากันเป็นประจำ

บางครั้งเวลาไปต่างจังหวัด เรานั่งถกกันตั้งแต่เช้ายันเย็น แถมด้วยภาคค่ำไปจนดึกดื่นเที่ยงคืนยังไม่ยอมหยุดพัก

แต่ตอนโน้นน่ะท่านอายุ 50 กว่าๆนิดๆ ถือว่ายังหนุ่มยังแน่น เรื่อง นอนดึกเรื่องทำงานหนักไม่ต้องห่วง

มาถึงวันนี้ อายุท่านคงจะราวๆ 65 หรือ 66 ปีแล้ว จะโหมเหมือน สมัยก่อนคงจะไม่ไหว

ผมก็ได้แต่หวังว่า หลังจากนี้ไปท่านคงจะหย่อนมือลงบ้าง… อะไรที่ผ่องให้ท่านรัฐมนตรีช่วยหรือท่านปลัดกระทรวงได้ ก็ผ่องไปเยอะๆนะครับ อย่าแบกเอาไว้เลย

ส่วนงานของรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นพิธีการ หรือการตรวจเยี่ยมต่างๆ อาจจะขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีท่านฝากรองนายกฯท่านใหม่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ช่วยทำแทนบ้างก็ได้

แม้งานหลักของรองฯสนธิจะเป็นเรื่องมั่นคง แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ หากจะช่วยดูแลอย่างอื่นด้วยก็คงจะช่วยผ่อนแรงท่านไพบูลย์ขณะรักษาตัวได้เยอะ

พล.อ.สนธิท่านยังหนุ่มกว่า เพราะอายุ 60 กว่านิดๆ ยังแบกงานหนัก ได้มากกว่า ว่างั้นเถอะ

สรุปว่าออกจากโรงพยาบาลแล้วก็ขอให้ทำงานเบาๆลงอย่างที่ผมเสนอ นะครับท่านรองฯไพบูลย์

อย่าถึงขั้นลาออกเลย เพราะช่วงนี้ออกไปหลายคนแล้ว ถ้าท่านรองฯลาออกเสียอีกคน แม้จะด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ก็จะยิ่งทำให้ ครม.เหลือน้อย ลงไปอีก

จะตั้งเพิ่มก็คงไม่เหมาะสมนัก เพราะอีกไม่นาน เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมา รัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลรักษาการแล้ว

อึดใจประคองๆให้อยู่จนครบวาระ แล้วค่อยอำลาตำแหน่งไปพร้อมๆกันน่าจะเหมาะที่สุด

สำหรับท่านรัฐมนตรีอื่นๆก็อย่าประมาท หมั่นตรวจสุขภาพกันบ่อยๆนะครับ

คนเราพออายุใกล้ 65 หรือเกิน 65 แล้ว สังขารชักเริ่มไม่เที่ยง และความเจ็บป่วยมักจะถามหาอย่างนี้แหละ

ผมเองพอยุท่านรัฐมนตรีเสร็จสรรพ ก็คงต้องแวะไปหาหมอเหมือนกัน…เฮ้อ! พูดไปทำไมมี ก็อายุอานามพอๆกันแหละ ผมกับ รมต.ส่วนใหญ่ใน ครม.ชุดนี้น่ะ…

ท่านเป็นขิงแก่ระดับรัฐบาล ส่วนผมก็ขิงแก่ของวงการหนังสือพิมพ์… มีคำว่าแก่ห้อยท้ายคล้ายๆกันครับ.

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/141326

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *