สรุปผลการสานเสวนา “การปฏิรูปการจัดการน้ำในประเทศไทย”

สรุปผลการสานเสวนา “การปฏิรูปการจัดการน้ำในประเทศไทย”


เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา มูลนิธิหัวใจอาสา ได้จัดเวทีสานเสวนาเรื่อง “การปฏิรูปการจัดการน้ำในประเทศไทย” ซี่งเป็นการประชุมกลุ่มเล็กระหว่างกัลยาณมิตร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่องระบบการบริหารจัดการน้ำ 15 คนเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และปรึกษาหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปการการจัดการน้ำในประเทศไทย  เพื่อป้องกันมิให้เกิดอุทกภัยร้ายแรงขึ้นอีกในอนาคต  รวมถึงเพื่อสังเคราะห์ข้อมูลและองค์ความรู้สำหรับการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวม

 

การจัดการน้ำ” คือ “การจัดความสัมพันธ์กับธรรมชาติ”  

การสานเสวนาในครั้งนี้ เริ่มจากการเกริ่นนำ โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา  ซึ่งได้เคยใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ เป็นการอยู่กับธรรมชาติ  และพบว่าเป็นชีวิตที่มีความสุข  ดังนั้น คนกับน้ำจึงเป็นเรื่องที่เอื้ออำนวยกัน  แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องมี การจัดการน้ำ  ซึ่งก็คือ การจัดความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ทั้งน้ำ ดิน ป่า อากาศ พฤติกรรมของธรรมชาติ เชื่อมโยงกับความเชื่อ วัฒนธรรม กระบวนทัศน์ ทัศนคติ ความคิด พฤติกรรม การปฏิบัติ ฯลฯ  ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น องค์กร สถาบัน กลุ่ม เครือข่าย ฯลฯ นั่นเอง

การจะปฏิรูประบบการจัดการน้ำ จึงไม่ใช่เพียงการจัดการน้ำ  แต่เป็นการจัดการความสัมพันธ์กับธรรมชาติ เชื่อมโยงกับมนุษย์ ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เพราะคนมีจำนวนมากขึ้น ใช้ชีวิตอยู่แบบไม่สมดุล อีกทั้งยังต้องเชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วม ทั้งการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ โดย “ประชาชน” มีบทบาทสำคัญ  เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายของการจัดการ นั่นก็คือ ความอยู่เย็นป็นสุขร่วมกันเรื่องทั้งหมดเกี่ยวข้องทั้งระดับ Micro และ Macro  เชื่อมโยงถึงระดับนานาชาติ เช่น ลุ่มแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงประเทศไทย ลาว และกัมพูชา ฯลฯ  เนื่องจากธรรมชาติเชื่อมโยงกันทั้งโลก

 

เหตุปัจจัยแห่งการเกิดอุทกภัยครั้งที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์

                หากจะวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดอุทกภัยครั้งที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และมีผลกระทบต่อคนเป็นจำนวนมาก ผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้ร่วมกันวิเคราะห์ว่าปริมาณน้ำในปีนี้ มากเกินกว่าปริมาณน้ำในปี 2538 หรือไม่  สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น จึงอาจเกิดจากปัญหาในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงเกิดจาก

  • Ø นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในประเทศไทย  ยังไม่มีการกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนเหมือนนโยบายอื่น เช่น นโยบายการจัดการป่า ฯลฯ  ไม่มีกติกาในการจัดสรรน้ำ  รวมถึงไม่มีการกำหนดนโยบายเรื่องการจัดการน้ำท่วม  ที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงการสงเคราะห์  เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วม หน่วยงานก็ให้ความช่วยเหลือ  ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำประมาณ 30 ฉบับ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำกว่า 40 แห่ง  แต่ยังไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Ø ปริมาณน้ำจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง  อันเนื่องมาจากพายุที่เกิดขึ้นจำนวน 5 ลูก ซึ่งมากกว่าปี 2538 ที่มีเพียง 3 ลูก  ส่งผลให้ปริมาณน้ำมากกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาประมาณถึง 40%  ประกอบกับน้ำและฝนมาเร็วกว่าช่วงเวลาปกติ  เกิดเป็น “ภูเขาน้ำ” ซึ่งมีระดับมวลน้ำสูงกว่าปี 2538
  • Ø ระบบการผันน้ำให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมมากกว่าภาคอุตสาหกรรม  และเมื่อไม่ได้มีการโรยน้ำ ทำให้กระแสน้ำที่กักเก็บไว้มีความแรงมาก ไม่สามารถควบคุมทิศทางการไหลของน้ำได้  เกิดการพังทลายของคันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำหลายแห่งต่อเนื่องกัน จุดวิกฤติเกิดตั้งแต่การพังทลายของประตูระบายน้ำบางโฉมศรี
  • Ø โครงสร้างพื้นฐานของระบบการจัดเก็บและการระบายน้ำ  เป็นการออกแบบเพื่อการเกษตร ไม่ได้ออกแบบสำหรับการป้องกันและจัดการกับปัญหาน้ำท่วม

กุญแจสำคัญสู่การปฏิรูประบบการจัดการน้ำ

เมื่อถามถึงกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิรูประบบการจัดการน้ำ  ได้มีการเสนอแนวทางปฏิรูประบบการจัดการน้ำที่หลากหลาย อาทิเช่น การปฏิรูประบบการพยากรณ์อากาศให้มีความแม่นยำ และทันสมัย เพื่อช่วยในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม  กำหนดมาตรการ/ผังการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยการวิเคราะห์ระดับความสูง ต่ำของพื้นที่  การใช้วิกฤตเรื่องน้ำท่วมควบคู่ไปกับการจัดการที่ดิน  เพื่อให้เกิดระบบการจัดการอย่างสมดุล  จัดระบบการจัดการที่ดิน Land Use Management ก่อนที่จะออกแบบระบบจัดการน้ำที่เหมาะสม  กำหนดมาตรฐานการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม  สร้างระบบการจูงใจ การชดเชยที่เป็นธรรมกับคนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำท่วม โดยการจัดเก็บภาษีในการบริหารจัดการน้ำ หรือเก็บภาษีน้ำท่วม จากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากระบบป้องกันน้ำท่วม เพื่อนำไปจ่ายชดเชยให้กับผู้ที่เสียหายจากการอยู่ในพื้นที่ที่รับน้ำท่วม  การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  โดยนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องการสร้างทางเลือก รูปแบบในการบริหารจัดการน้ำ ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สร้างความยินยอมพร้อมใจ  การจัดระบบองค์กรใหม่ โดยการยุบรวมหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำเข้าด้วยกัน เป็นหน่วยงานที่จะรับผิดชอบบริหารระบบน้ำในภาพรวม  นอกจากนี้ยังได้มีการเสนอแนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนท้องถิ่น ด้วยการวางผังการจัดการน้ำในพื้นที่ โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์พื้นที่ วิเคราะห์ศักยภาพ เพื่อนำมาวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในระดับชุมชน ตำบล เชื่อมโยงเป็นภูมินิเวศน์

 

แก้มลิงทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำ

แนวทางรูปธรรมหนึ่ง ซึ่งผู้เข้าร่วมการสานเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง คือ การสร้างแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามน้ำแล้ง และรองรับน้ำในช่วงน้ำมาก  หลักการสำคัญของการทำแก้มลิง คือ ทำแล้วทุกฝ่ายต้องพอใจ  ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนของผู้เข้าร่วมการสานเสวนา ทำให้ทราบถึงรายละเอียดวิธีการสร้างแก้มลิง  โดยการเลือกพื้นที่ ต้องศึกษาลักษณะของพื้นที่ การไหลของน้ำ ปริมาณฝนที่จะตกในพื้นที่  จำนวนผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่และได้รับผลกระทบ  เพื่อนำมาออกแบบขนาดของแก้มลิงที่มีความเหมาะสม   ขนาดของแก้มลิงสามารถทำได้ทั้งในขนาดใหญ่และขนาดเล็ก  การทำแก้มลิงอาจจะเริ่มจากพื้นที่ของส่วนราชการที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่  โครงสร้างของแก้มลิง อาจทำได้ทั้งการขุด และการยกคันดิน  นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการสานเสวนายังได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการสร้างแก้มลิงว่า ควรสัมพันธ์กับระบบน้ำและนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร  ทั้งนี้ หากจะเสนอทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำโดยการสร้างแก้มลิง  มีข้อเสนอว่าควรดำเนินการในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากมีพื้นที่ว่างอยู่มาก  รวมถึงเป็นที่ที่จะช่วยกักเก็บน้ำเพื่อนำมาใช้ในการผลิตอาหาร สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกได้ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริม “แก้มลิงชุมชน” ว่าน่าจะเป็นสิ่งที่สามารถขับเคลื่อนได้  โดยไม่จำเป็นต้องรอการศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสม  โดยอาจสร้างเป็นลักษณะรังผึ้งกระจายเต็มพื้นที่   ซึ่งในการส่งเสริมแก้มลิงชุมชน รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการและดูแลรักษาแก้มลิงชุมชนดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งประเด็นคำถามว่า “ชุมชนจะสามารถดูแลแก้มลิงได้อย่างไรซึ่งผู้เข้าร่วมการสานเสวนาเสนอว่า ควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม โดยนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องช่วยในการสร้างทางเลือก เสนอรูปแบบในการบริหารจัดการน้ำในระบบแก้มลิง  จากนั้นเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สร้างความยินยอมพร้อมใจ รวมถึงมีระบบการชดเชยที่เป็นธรรม โดยอาจเก็บภาษีจากพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วม เพื่อจ่ายให้พื้นที่ที่ต้องดูแลรับผิดชอบแก้มลิง

 

ยุทธศาสตร์เพื่อการเดินหน้าสู่การปฏิรูประบบการบริหารจัดการน้ำ  

เพื่อให้ข้อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบการจัดการน้ำสามารถขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง  ผู้เข้าร่วมการสานสนทนา ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน โดยการทำคู่ขนานใน 2 ระดับ คือ

  • Ø การแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้างในภาพรวมของประเทศ  ด้วยการกำหนดกฎหมาย นโยบายเกี่ยวกับน้ำอย่างชัดเจน  ปฏิรูประบบการบริหารจัดการน้ำโดยสร้างการมีส่วนร่วม  การวางผังเมืองและออกแบบการก่อสร้างที่สัมพันธ์กับระบบการจัดการน้ำ  จัดระบบข้อมูลวิชาการที่มีความแม่นยำ ทันสมัย  ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะเป็นแกนในการประสานหารือกับองค์กรพันธมิตร และภาคีวิชาการที่เกี่ยวข้อง
  • Ø การแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่โดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการจัดการ  โดยการจัดขบวนภาคประชาชน ชุมชนท้องถิ่น ภาคสังคม เข้าร่วมปฏิบัติการเรื่องการบริหารจัดการน้ำ  สร้างพื้นที่รูปธรรมและพัฒนาองค์ความรู้จากการปฏิบัติการ  พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายจากพื้นที่รูปธรรม โดยมีภาควิชาการเข้าร่วมหนุนเสริม  ให้ความรู้กับสังคมผ่านช่องทางสื่อสารควบคู่กับการขับเคลื่อนระดับนโยบายจากระดับชุมชนถึงระดับประเทศ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จะเป็นแกนร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน ในการประสานภาควิชาการ และภาคี เข้าร่วมสนับสนุน

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/476260

<<< กลับ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *