สดุดี เอนก นาคะบุตร

สดุดี เอนก นาคะบุตร


เอนก นาคะบุตร เป็นเพื่อนร่วมงานพัฒนาที่ผมรัก นับถือ เชื่อมั่น และไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง

          ผมมีโอกาสรู้จักกับเอนกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530 ขณะที่เอนกเป็นผู้อำนวยการ LDAP (Local Development Assistance Program) ซึ่งสถานฑูตแคนาดาสนับสนุนอยู่ และผมเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง โดยได้ใช้เวลาไม่น้อยช่วยงานของสมาคมธนาคารไทย ซึ่งมีส่วนเข้ามามีความร่วมมือกับสถานฑูตแคนาดา ในงานพัฒนาสังคมทางด้านธุรกิจ พร้อมกันนั้นผมก็มีกิจกรรมเสริมเป็นประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย  และได้ตัดสินใจไว้แล้วว่าจะลาออกจากธนาคารพาณิชย์ไปรับหน้าที่บริหารงานของมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ แบบเต็มเวลาในตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ในปี 2531 ด้วยเหตุนี้ผมจึงสนใจเรื่องของการพัฒนาชนบท การพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาชุมชน และการพัฒนาสังคม เมื่อมีโอกาสได้รู้จักกับเอนกผู้มีความรู้และประสบการณ์มากในเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น และมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ผมจึงใช้โอกาสนั้นเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ จากเอนก  ซึ่งให้ประโยชน์ต่อผมเป็นอันมาก

ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่ LDAP  กำลังจะแปรรูปเป็น LDI (Local Development Institute หรือ “สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา”)  ซึ่งผมได้เข้าร่วมในกระบวนการนี้ด้วย ในปี 2531 โดยมีส่วนช่วยศึกษาความเป็นไปได้ด้านการเงินและความยั่งยืน (Sustainability) ของ LDI เมื่อ LDI  ถือกำเนิดเป็นรูปธรรมแล้ว  โดยมีเอนกเป็นผู้อำนวยการ  ผมได้เข้าไปมีส่วนในการดำเนินงานของ LDI อยู่พอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง  ซึ่งช่วยให้ผมได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชนและสังคม โดยเฉพาะจากปฏิสัมพันธ์กับเอนก  ซึ่งบัดนี้มีความสนิทสนมกันมากขึ้นเป็นลำดับ

ปี 2540  เกิดวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งใหญ่ ที่เรียกกันว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง”  รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เข้าบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ  มีคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็น รมว.กระทรวงการคลัง ได้ติดต่อหารือกับธนาคารโลกเกี่ยวกับการมี “กองทุนฟื้นฟูสังคม”  ขึ้น โดยธนาคารโลกจะให้เงินกู้เพื่อจัดตั้งและดำเนินการกองทุนนี้ประมาณ 4,300 ล้านบาท คุณธารินทร์ ได้ขอให้ผม และคุณโสภณ สุภาพงษ์ เป็นผู้ทำหน้าที่หารือจัดทำข้อตกลงกับธนาคารโลก โดยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังให้การสนับสนุนอยู่ด้วย  ผมได้ขอให้เอนก นาคะบุตร เข้ามาช่วยอีกแรงหนึ่งด้วยความ “เชื่อมือ” และเชื่อถือในตัวเอนก คณะเจรจาหลักฝ่ายไทยจึงมี 3 คน ส่วนฝ่ายธนาคารโลกมีประมาณ 2-3 คน  เราเจรจากันอย่างจริงจังเข้มข้น และเป็นเวลานาน ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากว่าความคิดพื้นฐานหรือ “กระบวนทัศน์” (Paradigm) ของฝ่ายเรานั้นถือ “ประชาชน” เป็นตัวตั้ง หรือเป็น “แกนหลัก” ในการพัฒนา ส่วนฝ่ายธนาคารโลกยังคงถือ “หน่วยงาน” เป็นตัวตั้ง ที่จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์  เงื่อนไข วิธีการ ฯลฯ ให้ประชาชนปฏิบัติ ซึ่งเขาได้ทำเช่นนี้ในหลายประเทศที่ประสบภาวะวิกฤตมาแล้ว  มีอยู่ระยะหนึ่งที่ฝ่ายเราบอกว่า ถ้าไม่สามารถทำอย่างที่เราเสนอได้ก็ขอไม่กู้เงินดีกว่า  ทำเอาฝ่ายธนาคารโลกสะดุ้ง  เพราะเขาก็อยากให้เรากู้เพื่อเขาจะมีผลงาน  ในที่สุดจึงพบกันครึ่งทางแล้วทำข้อตกลงได้  พร้อมคู่มือปฏิบัติงาน (Manual) และอื่น ๆ  ซึ่งกว่าจะตกลงกันได้ก็ต้องใช้เวลานานทีเดียว และสามารถเริ่มดำเนินงานได้ในปี 2541  ในรูป “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” หรือ “Social Investment Fund” หรือ “SIF” (ซิฟ) ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูสังคม (ข้อนี้เป็นความคิดหลักของธนาคารโลก) พร้อมกับเป็นการเสริมสร้าง “ทุนทางสังคม” (Social capital)  ให้เกิดมีมากขึ้นด้วย (ข้อนี้เป็นส่วนเสริมที่ฝ่ายไทยเน้นและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และถือเป็น “นวัตกรรม” ที่กองทุนเช่นนี้ของธนาคารโลกยังไม่เคยทำมาก่อน)

“กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” หรือ “SIF” (ซิฟ) ดำเนินงานโดยตั้งเป็น “หน่วยงานพิเศษ”  ในธนาคารออมสิน  ซึ่งขณะนั้นผมเป็นผู้อำนวยการอยู่  มีข้อบังคับของธนาคารจัดตั้งขึ้น  ให้ต่างจากหน่วยงานปกติของธนาคารออมสิน  มีคณะกรรมการซึ่งธนาคารออมสินแต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยประธานที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก (ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา)  และกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก รวมถึงผู้นำชุมชนหลายคน ส่วนฝ่ายธนาคารออมสินมีผู้อำนวยการเป็นรองประธาน และมีผู้แทนธนาคารออมสินอีกเพียง 1 คน เป็นกรรมการ  คณะกรรมการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคมได้จัดให้มีกระบวนการสรรหา “ผู้อำนวยการ”  ซึ่งมีบุคคลให้เลือกหลายคน รวมถึงเอนก นาคะบุตร แต่ในที่สุด กรรมการสรรหาได้เลือก เอนก นาคะบุตร  ให้เป็นผู้อำนวยการ “SIF” เพราะเห็นว่าเหมาะสมที่สุด

ผมกับเอนกจึงได้ร่วมงานกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 3 ปี  ช่วงเวลานี้เองที่ศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถ ศิลปะ และวิธีการทำงานพัฒนา ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหาข้อขัดข้องที่จะได้ผลดี ได้ออกมาจากตัวตนของเอนกอย่างเต็มที่ เป็นที่ประจักษ์ในหมู่คณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพราะเป็นโครงการที่ใหญ่มาก ใช้เงินจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับประชาชนฐานราก  รวมถึงผู้ยากลำบากจำนวนมากทั่วประเทศ ผมประทับใจและชื่นชมในตัวเอนกมาก  ถือเป็นโชคดีที่ได้เอนกมาเป็นผู้อำนวยการกองทุน “SIF”   ซึ่งอยู่ในความดูแลของธนาคารออมสินผู้ต้องรับผิดชอบต่อผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นโดยรับผิดชอบต่อกระทรวงการคลังอีกทอดหนึ่ง เพราะกระทรวงการคลังได้มอบหมายภารกิจการบริหารกองทุนนี้ให้กับธนาคารออมสิน

เมื่อโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) ถึงวาระสิ้นสุดลงในปี  2545  (ขณะนั้นผมไม่ได้เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินแล้ว เพราะได้ลาออกในปลายปี 2543 เพื่อไปดำรงตำแหน่งประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ พอช.)  ทางธนาคารโลกได้แสดงความชื่นชมว่า “SIF” เป็นโครงการกองทุนฟื้นฟูสังคมที่ดีที่สุดเท่าที่ธนาคารโลกได้เคยทำมา   ซึ่งความดีส่วนใหญ่ต้องยกให้เป็นของเอนก   เพราะเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดแบบเต็มเวลาโดยต้องจัดการดูแล รวมทั้งแก้ไขสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปด้วยดี  ซึ่งผมเห็นว่า เอนก ทำได้ในเกณฑ์ A+  ทีเดียว

เอนกกับผมได้เข้ามาร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อผมได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)  ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549   โดยเอนกได้เข้ามาเป็น “ที่ปรึกษารัฐมนตรี”  ซึ่งเป็นตำแหน่งการเมือง  เอนกได้ใช้ความรู้ความสามารถศิลปะและประสบการณ์อันยาวนาน มาประยุกต์ใช้ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีอย่างเต็มที่ รวมถึงการลงปฏิบัติงานในภาคสนามเพื่อแปลงนโยบายเป็นปฏิบัติให้เป็นจริงได้ดีที่สุด  ซึ่งช่วยงานผมได้มากทีเดียว  คู่กับหมอพลเดช ปิ่นประทีป ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรี   เรา 3 คน (เอนก หมอพลเดช และผม) ร่วมงานกันอย่างเต็มที่และอย่างพี่น้อง  อย่างไรก็ดี  ในเดือนมีนาคม 2550  ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็น “รองนายกรัฐมนตรี  ดูแลด้านสังคม” อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยผมได้ขอให้มีการแต่งตั้งหมอพลเดช  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ และผมพยายามมอบอำนาจให้หมอพลเดชในฐานะ รมช. เป็นผู้ดำเนินการแทนให้มากที่สุดเพื่อผมจะได้มีเวลาทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านสังคมได้อย่างเต็มที่ จากจุดนี้เองทำให้บทบาทของเอนกเริ่มไม่ชัดเจน  เอนกจึงขอลาออกเพื่อไปทำงานที่ถนัดตามแนวของตนเอง ผมรู้สึกเสียดายมากที่เอนกจะจากไป แต่สถานการณ์นำพาให้ต้องเป็นเช่นนั้น  เราจึงทำใจยอมรับกันได้

จากนั้นเอนกกับผมก็ได้ติดต่อพบปะกันเป็นครั้งคราวเรื่อยมาตามที่โอกาสอำนวย  โดยยังคงมีความรู้สึกเป็นเพื่อนและเป็นพี่เป็นน้องร่วมงานพัฒนาชุมชนและสังคม ที่อาจจะทำคนละสถานที่ คนละสถานการณ์    แต่อุดมการณ์  ความเชื่อ แนวความคิด รูปแบบ วิธีการทำงาน  และอื่น ๆ ของเราสองคนมี  จุดร่วมกันอยู่มาก ทั้งเราเป็นชาวอยุธยาด้วยกัน มีพื้นเพชีวิตคล้าย ๆ กัน ทำให้ความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้อง  ความเป็นเพื่อนร่วมงานพัฒนา ตลอดจนความรู้สึกผูกพันต่อกันยังคงมีอยู่ไม่เสื่อมคลายจนกระทั่งทุกวันนี้

เอนกเป็นนักพัฒนาด้วยหัวใจและปัญญา  เป็นผู้ทุ่มเทชีวิตการทำงานให้กับงานพัฒนาท้องถิ่นชุมชนและสังคมอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยไม่ยอมว่างเว้น จวบจนปัจจุบัน  โดยทำในหลายต่อหลายโครงการ ในหลายต่อหลายสถานการณ์   ทั้งต้องเผชิญกับโจทย์และการท้าทายหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเอนกได้จัดการให้ผ่านไปได้ด้วยดีเสมอ พร้อมกับได้เรียนรู้และพัฒนาเทคนิควิธีการเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ ณ วันนี้ถือได้ว่า  เอนก นาคะบุตร  คือบุคลากร ผู้มีคุณค่ายิ่งต่อสังคมและประเทศ  ผู้ควรได้รับยกย่องสรรเสริญและถือเป็นตัวอย่างในการศึกษาเรียนรู้ของนักพัฒนารุ่นหลัง ๆ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป

ในโอกาสที่ เอนก  นาคะบุตร  มีอายุครบ 5 รอบ หรือ 60 ปี  ผมขออวยพรให้เอนกมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ทั้งทางกาย ทางใจ ทางปัญญา และทางสังคม  มีครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคง  มีชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุขพร้อมกับการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นและส่วนรวมในรูปแบบของโครงการพัฒนาต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะควรไปอีกนานเท่านาน

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

กันยายน  2554

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/463800

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *