“วิสัยทัศน์” (VISION) อนาคตการศึกษาไทย
วารสาร “วงการครู” ได้มาสัมภาษณ์แล้วนำไปลงเป็น “เรื่องจากปก” ฉบับ เดือนพฤษภาคม 2549 โดยใช้หัวข้อและมีสาระดังต่อไปนี้
“ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กับ VISION อนาคตการศึกษาไทย”
ทีมงานกองบรรณาธิการวารสาร “วงการครู” ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม บุคคลที่เป็นทั้งนักปราชญ์ นักคิด นักปฏิบัติ เคยทำงานคลุกคลีมาแล้วหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน โดยเฉพาะด้านการศึกษาถือเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการร่วมร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ซึ่งท่านสะท้อนให้เห็นถึงอนาคตการศึกษาของไทย กับแนวทางที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายของสังคมที่คาดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในแวดวงการศึกษาน่าจะหยิบยกบางประเด็นไปประยุกต์ใช้ได้
ถาม หัวใจหลักของการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ในมุมมองของท่านมีแนวทางอย่างไรบ้าง
ตอบ ประเด็นหลักๆที่ต้องพิจารณาได้แก่ ประการแรก เน้นการเรียนการสอน ข้อสำคัญผู้เรียนจะต้องเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน ไม่ใช่ อาจารย์ หรือครู และการเรียนรู้นั้นจะต้องเป็นความรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้ในชีวิตจริง ซึ่งผู้เรียนต้องได้ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องด้วย เป้าหมายของการเรียนการสอนนั้นต้องได้ 3 อย่าง คือ 1. ความดี 2. ความสุข และ 3. ความสามารถ การเรียนการสอนหากเริ่มกันที่ความดีแล้ว เรื่องของความสุขจะตามมา เมื่อเกิดความสุข พลังที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถนั้นก็จะเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ซึ่งทั้ง 3 ตัวนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็สามารถที่จะทำได้ โดยแกนหลักคือรัฐบาลนั่นเอง ถ้ารัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาฯมองในเรื่องดังกล่าว ทุกกระบวนการจะเดินตามอย่างที่ว่าได้ แต่ในขณะนี้บอกว่า เก่ง ดี มีความสุขเหมือนเป็นการกระตุ้นถึงความเก่ง การเก่งคือการเอาชนะ ต้องยึดตัวเองเป็นหลัก เอารัดเอาเปรียบ เพื่อประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียว เมื่อใดก็ตามที่ไม่เก่ง ไม่เป็นผู้ชนะ ไม่มีสิ่งใดมาชดเชยชีวิตได้ ก็ลงเอยด้วยความทุกข์ เป็นความเลวร้ายที่ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าห่วงเช่นกัน
ประการที่2 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับครู การพัฒนาครูก็สำคัญยิ่ง การสร้างครู การดูแลครู ให้เป็นผู้ที่มีความดี ความสุข และความสามารถนั้น ต้องพิจารณา เพราะเมื่อครูมีทั้งความดี ความสุขและความสามารถแล้ว ครูก็สามารถทำหน้าที่ที่ดี รัฐบาลจึงควรจะทำให้ครูมีครบทั้ง 3 อย่างนี้ ดูตัวอย่างง่ายๆ เรื่องของหนี้สินครู ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับครูมาตลอดนั้น ทำให้ครูมีความทุกข์ แล้วการพัฒนาความรู้ความสามารถก็จะไม่เต็มที่
สำหรับประการสุดท้าย เป็นเรื่องของระบบบริหารการศึกษา ตรงนี้ต้องมองไปที่ ปรัชญา แนวคิด นโยบาย ก็คือ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติที่ทำโดยรัฐบาล รวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล คงต้องปฏิบัติหรือพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็เป็นเรื่องของเขตพื้นที่การศึกษา เรื่องของการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่น เรื่องของการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ในระดับอุดมศึกษา เป็นต้น ทั้งหมดนี้ต้องปฏิรูปการบริหารจัดการ เรื่องของคุณภาพ และความมีประสิทธิภาพ จะต้องสอดคล้องกับ ปรัชญา แนวคิด หลักการที่ดี ซึ่งปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินั่นเอง
ความจริง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติในปัจจุบันดีมาก แต่การนำไปปฏิบัติยังไม่สัมฤทธิ์ผล ล้วนแต่เกิดจากระบบการบริหารไม่เข้มแข็ง หรือการบริหารจัดการไม่ดีพอไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การเน้นปฏิรูปหรือให้ความสำคัญในเรื่องของการปรับโครงสร้าง ของกระทรวง หรือหน่วยงานภายในกระทรวงเอง นำสู่ปัญหาข้อขัดแย้งหลายอย่าง ดังนั้นทุกอย่างต้องเริ่มที่รัฐบาล กระทรวงศึกษาฯ สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่จะต้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
“หากจะปฏิรูปการศึกษา ต้องเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เพียงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเท่านั้น”
|
ถาม กรณีการกระจายอำนาจนำระบบการศึกษาไปให้ส่วนท้องถิ่นจัดการดูแล ท่านเห็นด้วยหรือไม่
ตอบ เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของการสร้างและพัฒนาคน ให้เป็นคนดี มีคุณภาพในอนาคต ดังนั้นทุกคนควรจะมีการร่วมมือกัน ลูกหลานก็เป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ โดยหลักการควรจะมีกลไกในการจัดการดูแลตนเอง นั่นก็คือท้องถิ่นน่าจะเป็นผู้ที่ดูแลจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะสมดีกว่าคนอื่นมาดูแลจัดการเพราะท้องถิ่นเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นเรื่องของประชาชนในท้องถิ่น และเป็นเรื่องของลูกหลานเขา ฉะนั้น ลูกหลานของคนในพื้นที่ ในชุมชน เขาต้องดูแลอย่างดีเพื่อพัฒนาลูกหลานเขาในอนาคต ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานกลางในระดับชาติ มีหน้าที่ในเชิงยุทธศาสตร์ นโยบาย สนับสนุน กำกับดูแลในเรื่องที่สำคัญๆเชื่อมโยงทุกส่วน ซึ่งบทบาทของท้องถิ่นกับกระทรวงศึกษาฯต้องประสานพลังเพื่อการพัฒนาบุคลากร เด็ก และเยาวชน ประเด็นอยู่ที่ว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาฯจัดการแบบรวมศูนย์ พอเปลี่ยนมาเป็นการกระจายอำนาจ ช่วงเปลี่ยนถ่ายนี้เองมันเป็นศิลปะและสำคัญมาก ที่มีปัญหาขึ้นมาเพราะใช้กระบวนการที่มีปัญหา จึงจัดการไม่ได้ ผมคิดว่าต้องมีการออกแบบวิธีการให้ดี โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านทรัพยากรต่างๆให้มีคุณภาพ เป็นเรื่องของการประสานบทบาทของแต่ละฝ่าย ส่วนกลางกำกับดูแลในเชิงยุทธศาสตร์ ส่วนท้องถิ่นให้ประชาชนดูแลกันเอง คิดว่าจะดีขึ้น ขณะนี้มีท้องถิ่นหลายแห่งที่มีการจัดการศึกษาเองได้ดีอยู่แล้ว
ถาม เรื่องหนี้สินครู ท่านใกล้ชิดปัญหามากสมัยเป็นผอ.ออมสิน มีแนวทางช่วยเหลือครูอย่างไร
ตอบ สมัยผมเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้เห็นปัญหาความทุกข์ของครูมาก โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินครู ผมเลยจัดตั้ง “โครงการพัฒนาชีวิตครู” โดยใช้เงินกองทุนของออมสินกว่า 40,000 ล้านบาท ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ในระดับหนึ่งประมาณ 50,000 – 60,000 คน และขณะนี้ก็ยังช่วยเหลือกันอยู่ หนี้สินครูเป็นปัญหาสั่งสมมานาน แต่ต้องสร้างกลไกในเรื่องของการพึ่งตนเอง และร่วมมือกัน ใช้หลักการคือเจ้าของปัญหาต้องเป็นคนแก้ปัญหา เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ศธ. ธนาคารออมสิน และครู ช่วงหลังมามีการประสานอีกหน่วยงานคือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมาร่วมด้วย ขณะนี้มี สกศค. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา) ดูแลอยู่ แต่ต้องสานต่อในเชิงพัฒนาให้มาก แล้วสิ่งต่างๆจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทัศนคติ ความร่วมมือ ความสามารถในการจัดการ ยังต้องแก้ไข โครงการนี้ไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่ใช้เงินธนาคารออมสินเป็นหลัก เรื่องหนี้สินครูขณะนี้กระทบหนักเหมือนกัน ครูที่เป็นหนี้มากเกินกำลังส่งคืนั้นมีจำนวนกว่าแสนคน นี่คือความทุกข์ของครู แต่จะคลี่คลายได้ถ้ารัฐรู้ปัญหา รู้วิธีการ มีความมุ่งมั่นที่ดี ก็น่าจะแก้ไขปัญหาได้
ถาม การศึกษาของบ้านเราเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแตกต่างกันแค่ไหน
ตอบ เท่าที่ทราบในต่างประเทศ อย่างเวียดนาม ให้ความสำคัญกับอาชีพครูมาก ซึ่งครูมีรายได้สูง เป็นอาชีพที่ได้รับการส่งเสริมและมีเกียรติ เมื่อมาดูบ้านเราในอดีต ข้าราชการครูจะเป็นผู้ที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างมาก คนเมื่อก่อนอยากเป็นครูเพราะได้รับการเชิดชูจากสังคม แต่เดี๋ยวนี้มันผิดแผกไปจากเดิม คนที่เคยเป็นครูก็ไม่อยากเป็นครู กลายสภาพเป็นอาชีพที่อยู่ในลำดับท้ายๆในสังคมไทยไป ตรงนี้ล้วนมาจากหลายๆ สาเหตุ แต่ข้อสำคัญคือเกิดจากระบบราชการที่อ่อนด้อยมายาวนาน เป็นผลให้เกิดความอ่อนด้อยของข้าราชการเอง ตัวข้าราชการเสื่อมถอย ความจริงในเรื่องการศึกษานั้นคนที่สำคัญคือตัวครู การที่ครูมีคุณภาพด้อยลงจึงมีผลกระทบมาก แต่การที่จะทำให้ครูมีศักยภาพสูงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อธิบดีเก่งหนึ่งคนไม่มีความหมาย เมื่อครูด้อยก็จะกระทบในเรื่องของการพัฒนาความรู้ความสามารถเมื่อสะสมนานๆ เข้าจึงน่าเป็นห่วง ดังนั้นเราต้องสร้างครูใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลา
ถาม ในอนาคตอยากเห็นการศึกษาไทยแบบไหน
ตอบ ต้องมองที่รัฐบาลว่าจะมีนโยบาย ยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะจุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือรัฐ เพราะเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ รัฐต้องมีนโยบายรวมถึงยุทธศาสตร์ที่ดี และต้องรวมพลังกับคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวครู และบุคลากรส่วนต่างๆล้วนเป็นพลังที่จะต้องพูดจากับรัฐบาล นอกจากนี้ก็มีผู้ปกครอง เยาวชน ซึ่งควรมีบทบาทสำคัญที่ต้องแสดงออกถึงความต้องการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เช่นกัน มีส่วนในการเข้ามาช่วย และ หลายๆ ฝ่ายต้องประสานเชื่อมโยงแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดขึ้น สิ่งที่ออกมาคือการกระทำน่าจะไปในทางที่ดีขึ้น กระทรวงศึกษาฯเอง มีคนเก่งเยอะมาก แต่ก็น่าฉงน ที่ไม่สามารถจัดการเรื่องการศึกษาให้ดีขึ้นได้ หรือจะเป็นเพราะฝ่ายการเมือง ผู้ที่มีอำนาจยังทำหน้าที่ไม่ดีพอ ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบเพราะประชาชนให้มาทำหน้าที่แล้วต้องทำไห้ดี หรือจะเป็นข้าราชการที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้ต้องมีการเกื้อกูลและถ่วงดุลกันด้วย การเมืองต้องทำหน้าที่ให้ดีขึ้นและทำให้ได้ผล ถือเป็นหน้าที่และภารกิจที่สังคมคาดหวัง
ถาม ทำไมรัฐบาลทุกยุคไม่เคยประกาศผลงานด้านการศึกษาตามที่สังคมคาดหวังเลย
ตอบ การจัดการด้านการศึกษานั้น เราเห็นเพียงแต่รูปแบบที่เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง แต่เนื้อหาสาระยังเดิมๆ อาจเป็นเพราะเรื่องการศึกษา เป็นเรื่องที่ใหญ่ ซับซ้อนและสะสมปัญหามานาน การแก้ไขอย่างที่สังคมความคาดหวังนั้นจึงยังไม่เห็นผลชัดเจน ประหนึ่งมีกำแพงใหญ่ขวางกั้นอยู่
อย่างไรก็ดี มีแนวคิดของนายแพทย์ประเวศ วะสี มาใช้พังทลายกำแพงนี้ได้ เรียกว่าแนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งประกอบด้วยพลัง 3 อย่าง พลังแรกเรียกว่า “พลังปัญญา” เป็นพลังที่มาจากความคิด การวิจัย การจัดการระบบความรู้ต่างๆ ทั้งหมดให้เข้าใจเหตุผล อย่างเจาะจง เจาะลึก พลังที่สอง คือ “พลังสังคม” มาจากสังคมในทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องมากมาย รวมถึง ครู อาจารย์ บุคคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง เยาวชน ซึ่งเกาะเกี่ยวผสมผสานแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด เชื่อมต่อพลังปัญญา จะเกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ ผลักดันไปสู่ผู้มีอำนาจ นั่นคือพลังที่สาม หรือ “พลังนโยบาย” เป็นเรื่องของอำนาจทางการเมือง ที่จะตัดสินใจบริหารจัดการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เรื่องที่ยากหากได้รับการดูแลทั้งทางลึกและกว้างเป็นพลวัตรจะสำเร็จ แนวคิดนี้ได้ทำมาแล้วกับเรื่องการปฏิรูปการเมืองและกำลังใช้อยู่ขณะนี้ใน เรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ต้องทำเป็นขบวนการและทำต่อเนื่องด้วย
จะเห็นว่าเรื่องการจัดการศึกษา เป็นเรื่องใหญ่ เป็นรากฐานของการปลูกฝังและพัฒนาคน ให้เป็นคนที่มีคุณภาพมีศักยภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับระบบ และกับคนทุกภาคส่วน ดังนั้น การแสวงหาความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงพลังความรู้ ความสามารถ และความพยายาม จึงน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษาสัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริง
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
6 ก.ค. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/37521