“วิธีคิด” ของในหลวง กับการฟื้นฟูประเทศอันเนื่องจาก “มหาพิบัติภัย”
“มหาพิบัติภัย” ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2554 กำลังเคลื่อนเข้าสู่ขั้นตอนของการ “ฟื้นฟู” และ “พัฒนา” หรือ “อภิวัฒน์”
รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 2 คณะ ขึ้นเป็นพิเศษเพื่อกำหนดแนวทางในการฟื้นฟูประเทศและจัดการภัยพิบัติ คณะที่หนึ่งมีหน้าที่ฟื้นฟูความเชื่อมั่นในประเทศไทย พร้อมกับกำหนดอนาคตของประเทศไทยที่จะพัฒนาก้าวหน้าได้ดีกว่าเดิม คณะที่สองมีหน้าที่ศึกษาทบทวนและกำหนดวิธีการจัดการน้ำใหม่ทั้งระบบ
ทั้ง 2 คณะต้องพิจารณาและกำหนดยุทธศาสตร์ที่ประสานสอดรับกัน ซึ่งในกรณีคณะที่สองอาจจะพิจารณาเรื่อง “การจัดการน้ำ” ให้เชื่อมโยงกว้างขึ้นไปถึง “การจัดการภัยพิบัติ” ก็น่าจะมีเหตุผลที่สมควร เพราะวิธี “จัดการน้ำ” กับวิธี “จัดการภัยพิบัติ” มีความทับซ้อนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอยู่มาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้ใช้เวลากว่า 60 ปี ศึกษาคิดค้นทดลอง ลงมือปฏิบัติ จัดพื้นที่สาธิต ให้คำปรึกษาแนะนำ ขยายผล สรุปเป็น “หลักการ” หรือ “ปรัชญา” หรือ “ยุทธศาสตร์” และเผยแพร่สิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำหรือสรุปเป็นหลักการ ฯลฯ ผ่านพระราชดำรัสในโอกาสต่าง ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์จวบจนปัจจุบัน
“หลักการ” หรือ “ปรัชญา” หรือ “ยุทธศาสตร์” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สมควรนำมาประยุกต์ใช้กับการพิจารณาฟื้นฟูประเทศอันเนื่องจากมหาพิบัติภัย ที่สำคัญ ๆ และเข้าประเด็นได้ดี น่าจะรวมถึง
0 พระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
ข้อนี้ควรเป็นกรอบความคิดใหญ่สำหรับการกำหนดวิธีคิด และวิธีทำของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทั้ง 2 คณะ ได้เป็นอย่างดี เพราะการฟื้นฟูประเทศควรต้องเป็นไป “โดยธรรม” หรืออย่างมีธรรมาภิบาล และ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” หรือเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของปวงชนชาวไทย
0 การพัฒนาต้องให้ระเบิดจากภายใน
การฟื้นฟูประเทศก็คือ “ การพัฒนาใหม่” ของ “หน่วยจัดการ” ที่ประกอบด้วยคนไทย ครอบครัวไทย ชุมชนไทย องค์กรไทย (รวมถึง องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ และองค์กรภาคประชาชน/ประชาสังคม) สถาบันไทย (ซึ่งรวมถึง สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหาร สถาบันตุลาการ สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันศิลปะวัฒนธรรม) ตลอดจนสังคมโดยรวม ซึ่ง “หน่วยจัดการ” เหล่านี้ ควรมีส่วนร่วมอย่างสำคัญและอย่างมีความหมาย กับทั้ง “กระบวนการ” (Process) และ “สาระ (Content) ของมาตรการฟื้นฟูประเทศภายหลังมหาพิบัติภัย รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการริเริ่ม พิจารณา ตัดสินใจ ดำเนินการ ติดตามประเมินผล และคิดค้นหาทางปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือมีผลดีผลเสียต่อ “หน่วยจัดการ” เหล่านั้นโดยตรงหรือโดยอ้อม
0 การพัฒนาต้องคำนึงถึง “ภูมิสังคม” ของแหล่งที่จะพัฒนาด้วยเสมอ
นั่นคือ ไม่ควรมี “สูตรสำเร็จ” หรือ “ยามาตรฐาน” สำหรับทุกพื้นที่หรือทุกกลุ่มคนหรือทุกภาคส่วน โดยบุคคลภายนอก (แม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิสูง) เป็นผู้กำหนด แต่ควรให้แต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มคน แต่ละภาคส่วน เป็นผู้กำหนดวิธีการเอง หรือมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและต่อเนื่องในการพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ที่เขาเกี่ยวข้อง เพราะเขาจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ภูมิสังคม” ของเขาเองได้ดีกว่าบุคคลภายนอก โดยเขาสามารถขอให้บุคคลภายนอกมาร่วมเสริมเติมความรู้ความเข้าใจ เหล่านั้นให้ดีขึ้นสมบูรณ์ขึ้นได้ด้วย เช่น จากการช่วยทำข้อมูลให้เป็นระบบ จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และทางสังคม จากการมองให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับระบบที่ใหญ่กว่า เป็นต้น
0 “ทฤษฏีใหม่” 3 ขั้นตอน ได้แก่ การพึ่งตนเอง การร่วมมือกัน และการมีความสัมพันธ์แบบสร้างสรรค์กับภายนอก
การฟื้นฟูชุมชน ธุรกิจและประเทศภายหลังมหาพิบัติภัย เป็นงานใหญ่ งานยาก งานสลับซับซ้อน เป็นการยากอย่างยิ่งและไม่สมควรอย่างยิ่งที่รัฐบาล แม้จะมีผู้ทรงคุณวุฒิสูง 2 คณะ หรือผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายมาช่วยกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงาน ซึ่งอาจดูดีตามที่ปรากฏในเอกสาร แต่เมื่อปฏิบัติจริงจะมีปัญหานานัปการ ซึ่งในที่สุดแล้วไม่ทำให้ประเทศไทยและสังคมไทยดีขึ้นหรืออาจกลับเสื่อมลง ด้วยเหตุนี้ “วิธีคิด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง “การพึ่งตนเอง การร่วมมือกัน และการมีความสัมพันธ์แบบสร้างสรรค์กับภายนอก” จึงควรได้รับการประยุกต์ใช้ให้มากพอ ควบคู่ผสมผสานไปกับการศึกษาพิจารณาและการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน มาตรการ ฯลฯ ของรัฐบาลจากคำแนะนำของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 2 คณะ และจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญหรือกลไกอื่น ๆ ที่รัฐบาลมีอยู่
เราอาจขยายความ “วิธีคิด” ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวข้างต้นได้ว่า รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐตลอดจนองค์กรปกครองท้องถิ่น ควรส่งเสริมสนับสนุนประชาชนที่เข้าลักษณะเป็น “หน่วยจัดการ” (บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ฯลฯ) ให้ใช้หลัก “การพึ่งตนเอง” (หรือการจัดการตนเอง) “การร่วมมือกัน” (เช่นการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ฯลฯ) และ “การมีความสัมพันธ์แบบสร้างสรรค์กับภายนอก” (เช่น การร่วมมือประสานกับองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ องค์กรภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันศิลปะวัฒนธรรม ฯลฯ ในรูปแบบและวิธีการที่เห็นพ้องต้องกันว่าเหมาะสมและสร้างสรรค์ดีที่สุด)
0 “ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
เป็น “วิธีคิด” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในรูปแบบพระราชดำรัส ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยยังไม่ได้ใช้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” มาตั้งแต่พ.ศ.2517 และได้เริ่มใช้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างชัด ๆ ในปี พ.ศ.2540 (ภายหลัง “วิกฤตเศรษฐกิจไทย” ที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกและชาวต่างชาติเรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ) ซึ่งต่อมาได้มีการทำคำอธิบายให้เป็นลายลักษณ์อักษรและใช้คำว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงพิจารณาและแก้ไขขัดเกลาจนถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงให้ความเห็นชอบแล้วในปี พ.ศ.2542
“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มีสาระสำคัญคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี การมีความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และมีคุณธรรมความดีที่รวมถึง ความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันอดทน การใช้สติปัญญา การแบ่งปัน ฯลฯ ซึ่งในการฟื้นฟูประเทศภายหลังมหาพิบัติภัย สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องยังคงใช้ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญานำทาง ดังที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9,10,และ11 แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริงหรือดีพอและมากพอ
การประสบ “มหาภัยพิบัติ” ในปี 2554 ควรจะเป็นแรงกระตุ้นครั้งสำคัญ และอย่างแรงให้คนไทย ชุมชนไทย องค์กรไทย สถาบันไทย โดยเฉพาะรัฐบาลและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 2 คณะ ได้ตระหนักถึงความหมายอันลึกซึ้งและทรงคุณค่าของ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และน้อมนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งในการกำหนด ยุทธศาสตร์ แผนงาน มาตรการ งบประมาณ และในการดำเนินการ การติดตามประเมินผล และการปรับปรุงพัฒนา ที่ควรทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สานต่อจากรัฐบาลชุดปัจจุบันสู่รัฐบาลชุดต่อ ๆ ไป โดยอาจใช้เวลา 5 ปี 10 ปี 20 ปี หรือมากกว่า แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะเกิดเป็น “ประโยชน์สุข” หรือ “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของปวงชนชาวไทย ดียิ่ง ๆ ขึ้นและมากยิ่ง ๆ ขึ้น ด้วยนโยบายและการดำเนินการทุกขั้นตอนที่เป็นไป “โดยธรรม” หรือ “อย่างมีธรรมาภิบาล” ซึ่งทั้งเรื่อง “ประโยชน์สุข” และเรื่อง “โดยธรรม” หรือ “อย่างมีธรรมาภิบาล” นั้น เป็นส่วนหนึ่งของ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยปริยายอยู่แล้ว
ในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา หรือครบ 7 รอบ ประกอบกับประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการฟื้นฟู พัฒนา และอภิวัฒน์ ระบบการจัดการน้ำ ระบบการจัดการภัยพิบัติ ระบบการบริหารจัดการประเทศ (ซึ่งรวมถึงองค์ประกอบย่อยต่าง ๆ ตั้งแต่ รัฐสภา คณะรัฐบาล ระบบศาลยุติธรรม หน่วยงานของรัฐ องค์กรภาคธุรกิจ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรภาคประชาชน สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันศิลปะวัฒนธรรม และอื่น ๆ) จึงเป็นเวลาอันสมควรที่ปวงชนชาวไทยรวมถึง สถาบัน หน่วยงาน องค์กร ต่าง ๆ จะได้ร่วมกันตั้งปณิธานและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟู พัฒนา และอภิวัฒน์ ประเทศไทยของเรา โดยเราโชคดีที่สามารถน้อมนำ “วิธีคิด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวข้างต้น มาเป็นเครื่องช่วย วิธีคิด วิธีทำ และวิธีพัฒนา ของพวกเราทั้งหลายได้โดยไม่ยากนัก
ขอให้พวกเราชาวไทยรวมพลังอย่างมุ่งมั่นและ “รู้รักสามัคคี” พลิก “วิกฤต” เป็น “โอกาส” ให้จงได้ เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีและถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อประโยชน์อันสมควรต่อประเทศไทยของเรา เพื่อสังคม ชุมชน และองค์กร ของเรา และเพื่อตัวของเราเองพร้อมครอบครัวกับลูกหลานเหลนโหลนของเราในอนาคต ไปพร้อม ๆ กัน
(ลงใน น.ส.พ.เดลินิวส์ ฉบับ 5 ธันวาคม 2554 หน้าพิเศษ)
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/470845