ภารกิจ “ไพบูลย์” ฟื้นรากแก้ว – สมานแผลสังคม
(บทสัมภาษณ์พิเศษโดย อิทธิกร เถกิงมหาโชค ลงใน นสพ.โพสทูเดย์ ฉบับวันที่ 23 ตุลคม 2549)
การเปลี่ยนแปลงนโยบายบริหารประเทศไทยครั้งสำคัญในรัฐบาล ‘สุรยุทธ์ 1’ ก็คือ ความพยายามที่จะพัฒนาประเทศโดยยึดเอาความผาสุกของประชาชนมากกว่าการยึดเอาตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแปลความหมายได้ว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี อยากปรับเป้าหมายเศรษฐกิจจากเดิมคือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวม” หรือ Gross Domestic Product เปลี่ยนเป็น “Gross Domestic Happiness” หรือ GDH ซึ่งหมายถึง “ความสุขมวลรวม” นั่นเอง
แน่นอนที่สุดว่า ความต้องการความสงบสุขของสังคมนั้น ควรอยู่ใต้หลักการของ “สังคมศาสตร์” ไม่ใช่หลักเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าในหลักเศรษฐศาสตร์จะได้ให้ความสำคัญถึงการดำรงชีวิต (Life Style) เอาไว้ก็ตาม ภารกิจที่ว่านี้จึงตกมาอยู่บนบ่าของเจ้ากระทรวงกรุงเกษมคนใหม่ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อย่างไม่ต้องสงสัย ในฐานะ “แม่ทัพใหญ่” ที่ต้องบุกตะลุยแก้ไขปัญหาสังคมทั้งหลายแหล่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม สร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับชีวิตในรูปแบบที่สัมผัสได้
ไม่ใช่เป็นเพียงแค่นามธรรมเท่านั้น !!
นายไพบูลย์ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “โพสต์ทูเดย์” ถึงทิศทางการทำงานว่า แม้จะเพิ่งเข้ามานั่งเก้าอี้ได้เพียง 1 สัปดาห์ก็ตาม แต่วาระเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการนั้นมีอยู่ 4 เรื่องหลักใหญ่ ประกอบด้วย 1. การเตรียมฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ให้ผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด 2. การเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 3. การสร้างความสมานฉันท์ในสังคม และ 4. การเร่งกู้คุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งเหมือนรากแก้วที่เสื่อมโทรมของประชาชนให้กลับมีบทบาทในการพัฒนาสังคมได้อีกครั้ง
บทสะท้อนของแนวคิดนี้มองดูแล้วไม่ต่างจากอุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 –54) ที่กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยไว้ว่า ต้องมุ่งพัฒนาสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ซึ่งต่อยอดมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545–49) ก็ได้สานต่อแนวคิดข้างต้น และน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และความอยู่ดีมีสุขของคนไทย บนพื้นฐานของการอนุรักษ์วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายปัญหาในสังคมไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น เรื่องความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน ปัญหาชุมชน หรือแม้แต่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ นายไพบูลย์ เรียกว่า “ความทุกข์ยากแบบพิเศษ” ซึ่งล้วนแต่อยู่ในขอบข่ายการดูแลของ พม. ทั้งสิ้น ซึ่งเขาไม่ปฏิเสธในความพยายามที่จะคลี่คลายเงื่อนปมเหล่านั้นตลอดมาตั้งแต่สมัยลุยงานด้านเอ็นจีโออยู่ แต่ดูเหมือนแต่ละปัญหาจะมีความซับซ้อนอยู่ในตัว และทำให้ต้องมีการบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยทาง พม. เป็นผู้กำกับด้านนโนบายเป็นสำคัญ แต่ในเรื่องกระบวนการดำเนินงานนั้นต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งตรงเป้าหมายในการแก้ไขมากกว่า
“ต้องเข้าใจด้วยว่า สังคมไทยชอบที่จะ “รวมศูนย์” ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีมีแค่ 26 คน แต่จะรู้ปัญหาหมดทุกเรื่องของประเทศเป็นไปไม่ได้ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างหากที่ใกล้ชิดกับปัญหามากที่สุด และรู้ทางออกดี เช่น เรื่องที่อยู่อาศัย การเคหะฯ ต้องดูแล เรื่องน้ำท่วมถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ทาง กทม.ต้องเข้าไปจัดการ เพราะมีนโยบายหรือมาตรการกันอยู่แล้ว ส่วน พม.จะคอยดูแลเรื่องนโยบายและเป็นตัวเชื่อมให้แต่ละหน่วยงานขับเคลื่อนได้อย่างมีศักยภาพ เป็นไปไม่ได้ที่คนนอกพื้นที่จะรู้ดีไปกว่าคนพื้นที่
ทั้งนี้ พม. เป็นกระทรวงที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นกระทรวงภาคสังคมในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัวและชุมชน โดยรวมส่วนราชการด้านนโยบายและการปฏิบัติ และถือเป็นกระทรวง “น้องใหม่” ที่แบกภาระรับผิดชอบไว้หนักอึ้งทีเดียว
นายไพบูลย์ ผู้คร่ำหวอดอยู่กับงานพัฒนาองค์กรชุมชนนานกว่า 10 ปี ยอมรับว่า ได้รับโทรศัพท์ทาบทามจาก พล.อ.สรุยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้มาดูแลงานด้านสังคม ซึ่งค่อนข้างยากที่จะปฏิเสธหน้าที่นี้ในภาวะที่มีสถานการณ์พิเศษ จึงยอมตอบรับเข้ามาทำงาน อย่างไรก็ตาม ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมาเป็นรัฐมนตรี เพราะส่วนตัวไม่ชอบงานด้านการเมือง และถนัดในงานพัฒนาสังคมที่ทำอยู่มากกว่า และไม่อยากให้ประชาชนคิดว่าเป็นรัฐมนตรี แต่อยากจะเรียกว่าเป็น “ผู้บริหาร” งานเพื่อพัฒนาสังคมจะเหมาะสมกว่า
หลายฝ่ายมองว่าอายุของรัฐบาลชุดนี้สั้นเพียงแค่ 1 ปี 5 เดือนเท่านั้น ซึ่งการขับเคลื่อนในด้านต่างๆ จึงอาจยังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจนนัก แต่ นายไพบูลย์ กลับมองสวนอย่างอย่างสิ้นเชิง โดยให้ทรรศนะว่า ยิ่งมีทำงานสั้นจะยิ่งช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะแก้ไขปรับปรุงงานกันอย่างไร ซึ่งกลายเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย พร้อมกับตั้งใจด้วยว่าจะต้องสะสางปัญหาต่างให้ดีที่สุด
“ยุทธศาสตร์สำคัญของ พม. ก็คือการเสริมสร้างกลไกการคุ้มครองทางสังคม เพื่อจัดการกับระบบที่ส่งผลต่อความเป็นธรรม โดยเฉพาะการกระจายทรัพยากรให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ และกลุ่มด้อยโอกาส แน่นอนที่สุดว่าต้องเร่งสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ซึ่งจะส่งผลให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง เมื่อชุมชนเข้มแข็งจะส่งผลกระทบที่ยั่งยืนต่อสภาพแวดล้อม ครอบครัว และคน” นายไพบูลย์ กล่าว
กรณีที่สร้างความเจ็บปวดให้กับประเทศไทย เช่น ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็เกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปแก้ไขโดยยึดหลัก “นิติศาสตร์” มากกว่า “รัฐศาสตร์” เพราะหน่วยงานที่ดูแลเป็นเป็นอยู่ของประชาชนไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของอยู่ภายใต้การปกครอง ปัญหาจึงบานปลายตลอด
ในส่วนของ พม. เองในรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ต่างกัน เพราะไม่เข้าใจความรู้สึกและความจริงของปัญหา นายไพบูลย์ กล่าวย้ำด้วยว่า ทุกปัญหาต้องหาคำตอบร่วมกัน ไม่ควรให้รัฐมนตรีหรือกระทรวงมาตัดสินใจ ต้องปรึกษาหารือกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย และดูว่าทำอย่างไรดีที่สุด การทำสิ่งที่ดีที่สุดจะมีเงื่อนไขประกอบหลายอย่าง ฉะนั้น ข้อสรุปหรือข้อคิดเห็นจะมีหลายข้อที่จะทำให้การดำเนินการบรรลุผลด้วยดี
ขณะเดียวกันในฐานะที่ นายไพบูลย์ เคยทำงานด้านองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ มาก่อน ก็ย่อมได้เปรียบ เพราะเคยได้สัมผัสปัญหาอย่างแท้จริงมาแล้ว ย่อมรู้ซึ้งและเข้าใจแนวทางการผ่อนคลายวิกฤตของแต่ละปัญหาได้เป็นอย่างดี ประเด็นนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะเขากล่าวว่า จะใช้ พม. เป็นเครื่องมือเร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วยิ่งขึ้น โดยการรวมเครือข่าย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ภาคประชาชน ซึ่งหมายรวมถึงบุคคล ครอบครัว ชุมชน และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาประสานแรงงกับ องค์กรสนับสนุนภาคประชาชน ที่มีอยู่มากมายทั้งในประเทศและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เอ็นจีโอด้านชุมชน องค์กรประชาสังคม สถาบันวิชาการ
รวมทั้งองค์กรภาคธุรกิจต่างๆ ที่หันมามีบทบาทด้านสังคม รวมทั้ง กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ ทั้งนี้ พม. จะเป็นตัวเชื่อมในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมทั้งระบบ และยึด “ประชาชน” เป็นศูนย์กลาง เพื่อส่งเสริมการทำงานภาคประชาชนเพื่อประชาชน จะมีศักยภาพและพลังในการปรับเปลี่ยนสภาพสังคมให้ดีขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่
นอกเหนือจากแนวทางในการก้าวไปข้างหน้าแล้ว นายไพบูลย์ ก็ไม่ลืมที่จะสะสางปัญหาในระบบบริหารงานของ พม. ให้ชัดเจนขึ้นด้วย ประเด็นที่สังคมจับตา พม. ขณะนี้ก็คงหนีไม่พ้นการทุจริตใน “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ที่ถูกทิ้งให้เป็น “มรดกบาป” จากรัฐบาลชุดก่อน กำลังอยู่ในกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งสาวเข้าไปพบถึงความไม่ชอบมาพากลของผู้บริหารโครงการบางคน พัวพันไปถึงนักการเมืองใหญ่อีกหลายราย และพร้อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของระบบบริหาร พม. แต่เดิมนั้น นายไพบูลย์ ก็ไม่ปฏิเสธที่จะเลือกใช้ใน “ข้อดี” นำมาส่งเสริมทิศทางการก้าวครั้งใหม่พ่วงไปด้วย เขากล่าวว่า โครงการหน่วยงานใสสะอาด ซึ่งริเริ่มโดยความคิดของคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตเลขาธิการ ก.พ. เป็นเรื่องดีที่สมควรนำมาใช้ช่วยให้ประเทศไทยใสสะอาดยิ่งขึ้น ส่วนการขับเคลื่อนนั้น พม.จะตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสข้าราชการ พม.โดยตรง เพื่อศึกษาจุดอ่อนของระบบบริหารแบบเดิมๆ ที่เอื้อให้มีการทุจริตได้ง่าย พร้อมกับปรับเปลี่ยนทัศนคติและวัฒนธรรมการทำงานเสียใหม่เร่งปลูกฝังความสุจริต
“พม.ยุคใหม่จะเน้นกระบวนการจัดการความรู้ สร้างความตื่นตัว และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติจะต้องปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ปูพื้นฐานการทำงานสุจริต เพื่อการทำงานอย่างโปร่งใส ถูกต้อง และยึดคุณธรรมเป็นหลัก แต่ถ้าเรื่องไหนร้ายแรงถึงขึ้นจะต้องโยกย้ายก็ต้องทำ” รัฐมนตรี พม. คนใหม่ กล่าวทิ้งท้ายถึงความท้าทายที่พร้อมจะเผชิญโดยไม่หวั่นใจ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
30 ต.ค. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/56470