ภาคประชาชนกับการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ

ภาคประชาชนกับการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ


(2 ก.ค. 49) ไปปาฐกถาปิด “งานสร้างสุข ภาคใต้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “4 ปี 4 ภาค พลังสร้างสุขทั่วไทย” และได้มีการจัดงานไปแล้ว 3 ภาค ภาคใต้เป็นภาคสุดท้าย จัดที่อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ระหว่าง 30 มิ.ย. –1 ก.ค. 49 สรุปสาระสำคัญของปาฐกถาได้ดังนี้

แนวทางการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ควรมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ

1. เป็นการขับเคลื่อนของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของประเด็น เป็นเจ้าของปัญหา เป็นผู้แก้ปัญหา  เป็นผู้พัฒนา ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุผลสุดท้ายที่พึงปรารถนา อันได้แก่ “ความอยู่เย็นเป็นสุข อย่างบูรณาการ” ของประชาชน

2. เป็นการขับเคลื่อนโดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือ ขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ผนวกด้วยการขับเคลื่อนเชิงประเด็น ทั้งนี้ โดยประชาชนและองค์ประกอบในพื้นที่มีบทบาทสำคัญ ในขณะที่บุคคล องค์กร หน่วยงาน และโครงการจากภายนอกพื้นที่เป็นฝ่ายสนับสนุน ไม่ใช่ฝ่ายเจ้าของเรื่อง

3. ประชาชนในพื้นที่ควรเป็นผู้บูรณาการการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งภายในพื้นที่ด้วยกันและจากภายนอกพื้นที่ ทั้งการบูรณาการเชิงประเด็นและการบูรณาการเชิงหน่วยงาน ทั้งนี้ คำว่า “ประชาชนในพื้นที่” หมายความรวมถึงองค์กรและกลไกทั้งหลาย ที่อยู่ในพื้นที่ และ บุคคล องค์กร หน่วยงาน โครงการจากภายนอกพื้นที่ ควรเชื่อมประสานความร่วมมือกันให้ดีที่สุดด้วย

4. ควรมีระบบข้อมูล สารสนเทศ และตัวชี้วัด ที่ทุกฝ่ายใช้ร่วมกัน โดยประชาชนในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเนื้อหาพร้อมกระบวนการในการจัดเก็บ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการใช้ประโยชน์และแก้ไขปรับปรุงเป็นระยะๆ ในการนี้สมควรมีโครงการสนับสนุนที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความต่อเนื่อง รองรับด้วย

5. ควรมีการจัดการความรู้ทั้งภายในพื้นที่และข้ามพื้นที่ ทั้งภายในเครือข่ายและข้ามเครือข่าย ทั้งภายในประเด็นและข้ามประเด็น ทั้งภายในประเทศและข้ามประเทศ

6. ควรเชื่อมโยงงานสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการความรู้เข้ากับ การสื่อสารสาธารณะ และการเสนอแนะนโยบายสาธารณะ ทั้งที่เป็นนโยบายสาธารณะ ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับประเทศ รวมทั้งอาจให้ถึงระดับข้ามประเทศ ในการนี้อาจมีกระบวนการ “ประชาพิจารณ์” หรือ “การปรึกษาสาธารณะ” ที่เหมาะสมด้วยก็ได้

7. ควรมีการพัฒนาคุณภาพในการจัดการ ทั้งในเชิงคุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ ทั้งที่เป็นการจัดการตนเอง (ภายในองค์กร ภายในท้องถิ่น) การจัดการเครือข่าย (ความร่วมมือ การเชื่อมประสาน การขับเคลื่อนขบวนการ ฯลฯ) และการจัดการการสนับสนุนจากภายนอก ทั้งนี้ คำว่า “การจัดการ” รวมถึงการจัดการงาน/กิจกรรม เงิน/ทรัพยากร คน/กลุ่มคน และ “การจัดการทางสังคม” (Social management)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

17 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/39290

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *