ประกาศ 3 ยุทธศาสตร์ ชู “คุณธรรม” พื้นฐานสังคม

ประกาศ 3 ยุทธศาสตร์ ชู “คุณธรรม” พื้นฐานสังคม


  (ข่าวการจัดเวทีเสวนา “ยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ” ลงใน นสพ. มติชน ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 หน้าที่ 1)

                “ไพบูลย์”ประกาศ 3 ยุทธศาสตร์”สังคมเข้มแข็ง มีคุณธรรมไม่ทอดทิ้งกัน” ลุ้นอบต.-กำนันผู้ใหญ่บ้านดูแลผู้ถูกทอดทิ้งในท้องถิ่น ผลักดันชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม และชู”คุณธรรม”ให้เป็นพื้นฐานของสังคม

                กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านสังคม 3 ด้าน เพื่อให้สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน เกิดความเข้มแข็งและมีคุณธรรม ทั้งนี้ กระทรวงมีนโยบายเร่งด่วน 4 ข้อเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ฟื้นฟู และพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฟื้นฟูพัฒนาชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม 46 จังหวัด และสร้างสังคมคุณธรรม โดยตั้งเป้าให้เกิดผลภายในหนึ่งปี 

                เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่กรมประชาสงเคราะห์ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเวทีเสวนา “ยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ” โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมกับตัวแทนเครือข่ายต่างๆ ที่มีประสบการณ์กรณีทำความดีไม่ทอดทิ้งกันเข้าร่วมเสวนา 

                นโยบายและยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ รัฐบาลมีเจตจำนงและนโยบายในการบริหารประเทศที่ชัดเจน ภายใต้ระยะเวลาอันจำกัด เพื่อที่จะนำพาประเทศไปสู่ “สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เป็นสังคมที่เข้มแข็ง คนในชาติมีความสมานฉันท์อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันบนพื้นฐานคุณธรรม โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำหนดเป็น

                ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านสังคม 3 ประการ คือ 

                1.ยุทธศาสตร์ “สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน” ภาครัฐจะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประชาชนและองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในทุกตำบลร่วมกับภาคประชาชนดูแลผู้ถูกทอดทิ้งในตำบลของตนเองโดยในระยะสั้นช่วงเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 ถึงเดือนมีนาคม 2550 เพื่อถวายความดีเป็นปฏิบัติบูชาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครองราชย์ครบ 60 ปี และเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีต่อการร่วมกันสร้างสังคมเอื้ออาทร คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน 

                2.ยุทธศาสตร์ “สังคมเข้มแข็ง” จะส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันขององค์กรชุมชน ประชาสังคมและองค์กรท้องถิ่น เพื่อร่วมกันจัดทำแผนเพื่อพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็ง เพื่อให้คนในชุมชน พึ่งตนเองและจัดการปัญหาได้ในทุกเรื่อง ทุกระดับ เช่น การช่วยเหลือผู้ถูกทอดทิ้ง การสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม สุขภาพของคนในชุมชน ยุทธศาสตร์ “สังคมจะเข้มแข็ง” จะบรรลุผลได้ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เกิด พ.ร.บ. ที่จำเป็นต่อการพัฒนาของภาคประชาชน เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น 

                3.ยุทธศาสตร์ “สังคมคุณธรรม” ต้องทำให้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของผู้คนในสังคม ทำให้ความดีงามอยู่ทั้งในความรู้สึกนึกคิด และการปฏิบัติเป็นปกติของคนในสังคม 

                ในระยะแรก เริ่มจากการสร้างความสมานฉันท์ในพรรคการเมือง สร้างความสมานฉันท์ในชุมชนท้องถิ่น และสร้างความสมานฉันท์ 3 จังหวัดภาคใต้ โดยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั้ง 3 จังหวัด ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดทำแผนแม่บทชุมชนฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ รวมทั้งจะจัดตั้ง “คลินิคยุติธรรมจังหวัด” ขึ้น โดยศูนย์คุณธรรมร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และสถาบันพระปกเกล้า เพื่อเป็นหน่วยงานที่ช่วยจัดการคดีความต่างๆ เรื่องราวที่ไม่เป็นธรรมของคนในชุมชน ให้คนในชุมชนร่วมกันจัดการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เพื่อสร้างเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ส่วนในระยะยาวจะมีการจัดทำแผนแม่บทสังคมคุณธรรมเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

                เรื่องการส่งเสริมสังคมคุณธรรม จะมีการรณรงค์จัดโครงการหน่วยงานซื่อสัตย์ ใสสะอาด และโครงการจิตอาสาทำความดีของบุคลากรของกระทรวง โดยเริ่มต้นจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อาจจะกำหนดให้ข้าราชการสามารถไปปฏิบัติภารกิจเป็นอาสาสมัครได้ โดยไม่นับเป็นวันลาของราชการ จะกำหนดสัก 5 วันต่อปี รูปแบบการทำงานอาสาสมัครนั้น ต้องให้แต่ละหน่วยงานไปกำหนดรูปแบบที่เหมาะสนกันเอง โดยกระทรวง จะทำหน้าที่เพียงการสนับสนุนให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะ 

                การทำงานด้านสังคม จะจัดตั้งให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม ประมาณ 40 คน โดยคัดเลือกมาจากนักวิชาการ ข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน และตัวแทนภาคประชาชนจากทั่วทุกภาคของประเทศ ในการทำหน้าที่รายงานความคืบหน้าของการทำงาน ต่อคณะทำงานด้านนโยบาย ว่าการทำงานมีข้อติดขัดเรื่องใด เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงทิศทางการทำงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

                วันเดียวกัน นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงถึงการพัฒนาดัชนีชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยว่า สศช.จะใช้องค์ประกอบ 5 ประการ ในการศึกษา ประกอบด้วย 1.การที่คนไทยมีสุขภาวะที่ดี โดยวัดจากภาวะที่จิตใจ อารมณ์ ร่างกาย และสติปัญญาที่สมดุล เข้าถึงหลักศาสนา มีคุณธรรมนำความรอบรู้ มีจิตสำนึกต่อประโยชน์ส่วนรวม สามารถคิดและทำอย่างถูกต้องและมีเหตุผล 2.พิจารณาจากความสามารถในการประกอบสัมมาชีพ มีรายได้และหลักประกันความมั่นคงในชีวิต 

                3.ครอบครัวอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความอบอุ่นและมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน 4.อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 5.มีสิทธิเสรีภาพ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน โดยจะใช้การปรับปรุงเป็นรายปีต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมากที่สุด อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถระบุรายละเอียดของดัชนีที่นำมาใช้วัดอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดได้ภายในเดือนมกราคม 2550 

                “สิ่งสำคัญที่เราจะต้องเร่งเข้าไปดูคือ เรื่องการลดช่องว่างการกระจายรายได้ระหว่างผู้ที่มีรายได้มาก และผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะชาวบ้านในชนบทที่ประสบปัญหามาก เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการกระจายรายได้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10” นายอำพนกล่าว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

10 พ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/58512

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *