นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (6,7)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (6,7)


“คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม: นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน กองทุนเพื่อสังคมกับจุดก้าวกระโดด และตอน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนเครือข่าย” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 7 และ 11 ธ.ค. 50

กองทุนเพื่อสังคมกับจุดก้าวกระโดด

ขบวนการชุมชนไทยเป็นผลผลิตจากแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่ค่อยๆ ฟูมฟักตัวขึ้นมาระหว่างพุทธทศวรรษ 2520 – 2530 ซึ่งในช่วงแรกนั้นไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และเครือข่ายของเขาได้อาศัยกองทุน LDAP และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาที่มีแหล่งทุนจากรัฐบาลแคนาดา เป็นกลไกสนับสนุนการทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) องค์ความรู้ ทักษะประสบการณ์ และเครือข่ายชุมชนปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวนับเป็นทุนทางภูมิปัญญาที่สำคัญของขบวนการชุมชนไทยทั่วประเทศในระยะหลัง

ต่อมาเมื่อรัฐบาลชวน หลีกภัย (1) ได้มีมติเมื่อ 12 พฤษภาคม 2541 ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการใน 2 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 เน้นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นผ่านโครงการของภาครัฐต่างๆ

แนวทางที่ 2 เน้นการแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อสร้างฐานการพัฒนาแบบยั่งยืน และปรับโครงสร้างของสังคมโดยกระจายอำนาจและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ( Social Investment Fund- SIF) ขึ้นในวงเงิน 120 ล้าน USD หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท และตั้งกองทุนพัฒนาเมืองในภูมิภาค (Regional Urban Development Fund – RUDF) ในวงเงิน 30 ล้าน USD หรือประมาณ 1,350 ล้านบาท และมอบหมายให้ธนาคารออมสินรับผิดชอบในการบริหารจัดการกองทุนทั้งสอง มีระยะเวลาดำเนินการ 40 เดือน

ผลจากมติ ครม.ครั้งนั้น ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งเป็นอดีตประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กับ เอนก นาคะบุตร ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารกองทุน LDAP และอดีตเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคมนี้โดยตรง นี่ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่ทำให้แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในประเทศไทยมาถึงจุดก้าวกระโดดครั้งใหญ่

ในขั้นตอนการดำเนินงานของกองทุน SIF ภายใต้ข้อกำหนดต่างๆ ตามสัญญากู้เงินและบันทึกข้อตกลง สำนักงานกองทุนเพื่อสังคมยังได้ระดมการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมรวมถึงผู้นำชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางของกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคมให้นำไปสู่เป้าหมายหลัก คือ การสร้างชุมชนเข้มแข็งให้เกิดได้จริง ซึ่งสรุปออกมาเป็นหลักการและวัตถุประสงค์ ตลอดจนหลักเกณฑ์เงื่อนไขการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

1. หลักการสำคัญในการดำเนินงาน

1.1 หลักการ “ทุนทางสังคม” และการลงทุน / เพิ่มทุนทางสังคม

1.2 หลักการแบ่งปันทรัพยากรที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อการลงทุน / เพิ่มทุนทางสังคม

1.3 หลักการความเข้มแข็งมั่นคงของชุมชน

1.4 หลักการองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา

1.5 หลักการพึ่งตนเองและร่วมมือกัน

1.6 หลักการความร่วมมือหลายฝ่าย (พหุภาคี)

1.7 หลักการประชาคมร่วมเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง

1.8 หลักการเครือข่ายประชาสังคม (เพื่อความเข้มแข็งมั่นคงของสังคม)

2 วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อให้มีการฟื้นฟูสังคมฐานล่างให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองด้วยกระบวนการกระจายอำนาจ โดยเน้นที่ชุมชนฐานล่างและองค์กรที่รวมตัวกันมาก่อน และมีศักยภาพในการจัดการ เพื่อให้เกิดกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ และร่วมตรวจสอบระหว่างองค์กรชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและภาคีต่างๆ ในท้องถิ่น

2.2 เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการขององค์กรชุมชนและองค์กรท้องถิ่น ให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาวและสามารถขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นขบวนการที่เข้มแข็ง มีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

2.3 เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง โดยจัดตั้งองค์กรธุรกิจของชุมชนระดับท้องถิ่น ที่ชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของธุรกิจ ชุมชนบริหารจัดการและเป็นภูมิคุ้มกันระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงของท้องถิ่น

2.4 เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชน

2.5 เพื่อกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมอย่างกว้างขวาง โดยสนับสนุนให้เกิดประชาสังคมและธรรมรัฐในระยะยาว โดยร่วมมือเป็นพหุภาคีระหว่างองค์กรชุมชน หน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน และสถาบันวิชาการ

2.6 เพื่อสนับสนุนการลงทุนในด้านทรัพย์สินชุมชน โดยสนับสนุนการดำเนินการโครงการด้านโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน โดยการพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ และทุนทางสังคม

3. ยุทธศาสตร์หลัก

3.1 การฟื้นฟูทุนทางสังคมที่เป็นคุณค่าเดิมของแต่ละท้องถิ่น และนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

3.2 กระตุ้นจิตสำนึกสาธารณะ และการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

3.3 ระดมการมีส่วนร่วม โดยใช้หลัก 5 ร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ และร่วมรับประโยชน์

3.4 ปรับแนวคิดในการพัฒนาจากบนลงล่าง มาเป็นการพัฒนาที่ประชาชนมีส่วนในการกำหนดตนเองมากขึ้น หรือเรียกว่าเป็นการพัฒนาจากล่างขึ้นบน

3.5 การช่วยเหลือคนด้อยโอกาสหรือคนชายขอบให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

4. เป้าหมายการดำเนินงาน

4.1 การพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน และการพึ่งตนเองของท้องถิ่นให้ชุมชนมีกลไกการร่วมมือกันเพื่อร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

4.2 ให้ความช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ กลุ่มคนยากจน กลุ่มผู้หญิง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยการพัฒนาขีดความสามารถในการเสริมสร้างรายได้แก่กลุ่มต่างๆ ในชุมชน

5. วิธีการดำเนินงาน

กองทุน SIF สนับสนุนเงินให้เปล่ากับโครงการที่เสนอโดยองค์กรชุมชนและสมทบกับองค์กรท้องถิ่นที่จะต้องรับผิดชอบดำเนินการเองตามเกณฑ์สนับสนุนของกองทุนฯ โดยมีโครงการ 5 ประเภทได้แก่

ประเภทที่ 1 โครงการพัฒนาความสามารถและการเรียนรู้ในการพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน

ประเภทที่ 2 โครงการจัดสวัสดิการและความปลอดภัยของชุมชน

ประเภทที่ 3 โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

ประเภทที่ 4 โครงการพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถและการสร้างเครือข่าย

ประเภทที่ 5 โครงการจัดสวัสดิการชุมชนเร่งด่วนเพื่อผู้ยากลำบาก โดยเครือข่ายองค์กรชุมชน

6. ผลการดำเนินงาน

ในการดำเนินงานจริงของกองทุน ระหว่างพฤศจิกายน 2541 – มกราคม 2546 รวม 49 เดือน กองทุน SIF ได้ให้การสนับสนุนโครงการแก่องค์กรชุมชนต่างๆ รวม 7,874 โครงการ ในวงเงิน 4,401 ล้านบาท มีจำนวนผู้รับประโยชน์จากโครงการรวม 13.0 ล้านคน ซึ่งนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนผ่านการเรียนรู้ และขยายผลภารกิจของกองทุนฯ จากจุดเริ่มต้นภายใต้สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ มีการพัฒนาแนวคิดยกระดับสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในเรื่องพลังทางสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยชุมชนและทุนทางสังคม

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนเครือข่าย

จากความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงานกองทุน LDAP, LDI และ SIF ล่วงหน้ามาเกือบ 20 ปีก่อน มีส่วนทำให้ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และเครือข่ายของเขามองเห็นถึงความจำเป็นในการมีกลไกขับเคลื่อนขบวนการชุมชนไทยที่มีลักษณะถาวรยิ่งขึ้น จึงได้ผลักดันให้มีการรวม หน่วยงานเฉพาะกิจของรัฐ 2 หน่วยงานเข้าด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาชุมชนเมืองในการเคหะแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนพัฒนาชนบท ในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ซึ่งในที่สุดวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 รัฐบาลชวน หลีกภัย (2) ก็ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน” ขึ้น โดยกำหนดให้เป็นองค์การของรัฐประเภท “องค์การมหาชน” เพื่อดำเนินภารกิจสนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกชุมชน ทั้งในเมืองและชนบท และเพื่อให้มีการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเดิมอยู่ในกำกับของกระทรวงการคลัง ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ในกำกับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสถาบันคนแรกที่มีบทบาทวางรากฐานขององค์กรทั้งในด้านแนวคิด หลักการ การบริหารจัดการ และวัฒนธรรมองค์กร

วิสัยทัศน์

สร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานราก ด้วยพลังองค์กรชุมชนและประชาสังคม

พันธกิจ

สนับสนุนการพัฒนาขบวนการองค์กรชุมชนและประชาสังคมโดยประสานพลังจากทุกภาคส่วน

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในการจัดการตนเองและพัฒนาทุนของท้องถิ่นได้อย่างบูรณาการและยั่งยืน

2. เพื่อสร้างคุณภาพความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนอย่างเป็นขบวนการ

3. เพื่อพัฒนาระบบการเงินชุมชนและเกิดการบูรณาการกองทุนชุมชน

4. เพื่อประสานกลไกความร่วมมือในการทำงานร่วมขององค์กรชุมชน ภาคีพัฒนาในระดับนโยบาย และท้องถิ่น

5. เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการองค์กรภายใต้หลักธรรมาภิบาล

กลยุทธ์

1) การฟื้นฟูชุมชนและท้องถิ่น

2) การพัฒนาที่อยู่อาศัยและความมั่นคงของชุมชน (โครงการบ้านมั่นคง)

3) การสร้างการยอมรับและรับรองสถานภาพองค์กรชุมชน

4) การพัฒนาระบบข้อมูลและการจัดการความรู้

5) การพัฒนาระบบการเงิน ทุน และระบบสวัสดิการชุมชน

6) การสร้างเครือข่ายการพึ่งตนเองของชุมชน

7) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กรชุมชน

การตอบสนองนโยบายของรัฐบาล

1) การแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนอย่างบูรณาการของคนจนในเมืองและชนบท

2) การสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้คนในชุมชนเมืองและชนบท

ทุนดำเนินการ

จากการก่อตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเมื่อปี 2543 โดยได้รับทุนประเดิมและรายได้จากกองทุน 2 แหล่ง และงบสนับสนุนจากรัฐบาล รวม 3,399.73 ล้านบาท ดังนี้

1) สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง 2,156.69 ล้านบาท

2) กองทุนพัฒนาชนบท 743.34 ล้านบาท

3) งบสนับสนุนจากรัฐบาล 500 ล้านบาท

จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2549 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนมีเงินกองทุน 3,744.01 ล้านบาท

ผลการดำเนินงาน

ในปี 2550 พอช. ได้ดำเนินงานตามภารกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานที่น่าสนใจซึ่งสามารถสะท้อนบทบาทและศักยภาพในการเป็นกลไกถาวรในการขับเคลื่อนขบวนการชุมชนไทย ดังนี้

1. การพัฒนากลไกและขบวนการชุมชน

ในช่วงเริ่มต้นก่อตั้งสถาบันฯ (2543) พอช. ได้ประสานรวบรวมข้อมูลองค์กรชุมชนจากหน่วยงานพัฒนาต่างๆ พบว่ามีองค์กรชุมชนที่มีขบวนการพัฒนาจำนวน 63,796 องค์กร มีสมาชิกประมาณ 4.6 ล้านคน โดยแยกเป็นประเด็นการพัฒนา 5 ประเด็น ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย 2) สวัสดิการชาวบ้าน 3) แผนชีวิตชุมชน 4) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืน 5) การแก้ไขที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในชนบท

2. การพัฒนาองค์กรชุมชน

สนับสนุนส่งเสริม “โครงการพัฒนาสวัสดิการชาวบ้าน” จำนวน 586 กองทุน สมาชิก 222,316 ราย

สนับสนุนการขับเคลื่อนกระบวนการแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 2,000 ตำบล โดยในจำนวนนี้มีตำบลที่เป็นพื้นที่ต้นแบบจำนวน 114 แห่ง

สนับสนุนโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืน รวม 237 เครือข่าย 1,780 องค์กร สมาชิกประมาณ 70,000 คน มีทั้งโครงการป่าชุมชน โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชายฝั่ง โครงการวิจัยชุมชนเรื่องการจัดการที่ดิน และโครงการเกษตรกรรมยั่งยืน

สนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในชุมชน 13 พื้นที่ มีคนจนได้รับประโยชน์จากโครงการ 1,500 ครอบครัว และกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินระดับอำเภอ 244 อำเภอ

สนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นในทุกมิติ รวม 342 ตำบลใน 71 จังหวัดทั่วประเทศ

3. การรับรองสถานภาพองค์กรชุมชน

ดำเนินกระบวนการประเมินสถานภาพองค์กรชุมชน โดยมีชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญ และได้ให้การรับรองสถานภาพไปแล้วจำนวน 35,317 องค์กร

4. การสนับสนุนสินเชื่อแก่องค์กรชุมชน

พอช. ได้สนับสนุนสินเชื่อแก่องค์กรชุมชนเป็นยอดสะสมรวม 588 องค์กร จำนวน 3,080.7 ล้านบาท โดยมีผู้รับประโยชน์ใน 3,930 ชุมชน จำนวน 373,406 ครอบครัว ประกอบด้วยสินเชื่อหมุนเวียน สินเชื่อพัฒนาธุรกิจชุมชน สินเชื่อพัฒนาแบบองค์รวม สินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บ้านมั่นคง)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/153259

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *