นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (4)
(คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม: นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน การผลักดันแนวคิดสู่นโยบายการพัฒนา” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 30 พ.ย. 50 หน้า 19)
ในสถานการณ์ที่ภาครัฐคือผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนา และแผนพัฒนาประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายนำพาประเทศสู่การพัฒนาที่ใช้เศรษฐกิจและเงินเป็นตัวตั้งมาอย่างต่อเนื่อง แบบแผนต่อแผน จึงทำให้กระแสแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนของภาคประชาชนเป็นเพียงแนวคิด “ชายขอบ” ที่ยากจะได้รับการสนใจจากทางการ
ดังนั้น การต่อสู้เพื่อผลักดันแนวคิดการพัฒนาที่มีสถานะอยู่ “ชายขอบ” ให้ขึ้นมาเป็นที่ยอมรับของภาครัฐและหน่วยราชการต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องฝ่าข้ามด่านความคิดความเชื่อและวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันอย่างมาก
แต่อย่างไรก็ตาม นักคิด นักพัฒนา และองค์กรพัฒนาเอกชนไทยได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาสามารถดำเนินการจนเป็นผลสำเร็จ โดยทำให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับทิศทางประเทศมาสู่การเอาสังคมเป็นตัวตั้งได้สำเร็ว นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 เป็นต้นมา และหน่วยราชการต่างๆ ให้การยอมรับต่อแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
เมื่อวิเคราะห์บทเรียนย้อนหลัง พบว่ากลยุทธ์สำคัญที่พวกเขาดำเนินการ อย่างน้อยประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ การสร้างองค์ความรู้ การสร้างเครือข่ายปฏิบัติการ และการประสานสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่
1. การสร้างองค์ความรู้
จากการศึกษาพัฒนาการ 3 ขั้นของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในประเทศไทย จะเห็นได้ชัดเจนถึงกระบวนการสร้างองค์ความรู้ของบรรดานักคิด นักพัฒนา และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง องค์ความรู้ของพวกเขาเป็นองค์ความรู้ที่มีรากฐานของการปฏิบัติจริงในพื้นที่ และมีการยกระดับขึ้นมาอย่างมีจังหวะก้าวที่มั่นคง จากแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะ “ทางเลือกของการพัฒนา” ผ่านกระบวนการพัฒนาเชิงวิชาการ มาสู่ฐานะ “แนวคิดเศรษฐกิจและสังคม” จนในที่สุดก็ยกระดับขึ้นเป็น “อุดมการณ์ของสังคม” ได้สำเร็จ
ทั้งหมดนี้มิใช่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ หากสะท้อนถึงการวางแผนและการดำเนินงานอย่างมีกลยุทธ์ของพวกเขาทีเดียว กระบวนการสร้างองค์ความรู้เช่นนี้มีทั้งการวิจัย การพัฒนา และการเคลื่อนไหวสังคมพร้อมกันไป ( Research & Development & Movement: R & D & M) จึงมีความสมบูรณ์อยู่ในตัว
2. การสร้างเครือข่ายปฏิบัติการ
เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)เป็นกลไกประสานงานกลาง และเครือข่ายองค์กรชุมชนที่มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นแกนประสาน นับเป็น ชุมชนปฏิบัติการ (Communities of Practice) ขนาดใหญ่ของขบวนการชุมชนไทยที่ขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนา “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ชุมชนปฏิบัติการเหล่านี้คือห้องปฏิบัติการทางสังคม และจุดแสดงสาธิตที่ขบวนการชุมชนไทยได้ใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่แนวคิด และผลักดันนโยบายอย่างทรงพลัง
3. การประสานสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่
การสร้างองค์ความรู้ และการสร้างเครือข่ายปฏิบัติการเป็นเรื่องสำคัญ แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ จำเป็นต้องมีการประสานร่วมมือกับสถาบันของทางราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการที่ผู้นำขบวนการชุมชนไทยอย่าง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มีสถานะทางสังคมที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มีบุคลิกสุภาพอ่อนโยน มีความเป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพอยู่ในตัว มีจุดยืนและแนวคิดที่มั่นคง มีความเป็นกลางทางการเมือง และมีวิถีการทำงานในแนวทางสายกลาง จึงทำให้เขาเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญที่สามารถทำให้แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเป็นที่เข้าใจและยอมรับจากหน่วยงานราชการ และผู้นำระดับสูงของภาครัฐตลอดจนผู้นำรัฐบาลมากขึ้นโดยลำดับ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพได้ในที่สุด
สถานภาพของ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ที่ถือว่ามีส่วนอย่างสำคัญในการต่อสู้ผลักดันแนวคิดการพัฒนาสังคมของเขานั้น แตกต่างหลากหลายกันไปในแต่ละช่วงเวลา อาทิ :-
ฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (2531 – 2540)
ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (2535 – 2538)
ฐานะกรรมการผู้จัดการ สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง การเคหะแห่งชาติ ( 2535 – 2540)
ฐานะสมาชิกวุฒิสภา (2539 – 2543)
ฐานะผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (2540 – 2543)
ฐานะรองประธานกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (2541 – 2543)
ฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2544 – 2548)
ฐานะประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (2543 – 2547)
ฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (2544 – 2549)
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/151119