นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (3)
(คอลัมน์ “วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม: นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน ขบวนการชุมชนไทยที่กำลังเติบโต ” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 27 พ.ย. 50 หน้า 18)
ท่ามกลางกระแสการต่อสู้ทางด้านแนวคิดต่อทิศทางการพัฒนาในระดับชาตินั้น การก่อตัวขององค์กรชุมชนตามแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนได้เริ่มขึ้นจากการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในจุดเล็กๆ ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ในช่วงแรกที่กองทุน LDAP (Local Development Assistance Program) และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI – Local Development Institute) ที่ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ร่วมบริหารอยู่ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณโดยผ่านกลไกระดับภูมิภาคของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2528 – 2541 นั้น ถือได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ขบวนการชุมชนไทยสามารถตั้งมั่นได้สำเร็จ
ยิ่งกว่านั้นในฐานะที่เขาเป็นผู้นำแบบประสานเชื่อมโยง ( Bridging Leadership) ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เขาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนไปผลักดันสู่การสนับสนุนทางนโยบายที่สูงขึ้นจากภาครัฐ และในการขยายเครือข่ายปฏิบัติการของชาวบ้านที่กว้างขวางออกไปตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศต่อขบวนการชุมชนไทยอย่างน้อยใน 3 ช่วงเหตุการณ์ ได้แก่
1) ช่วงที่เขาเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ในปี 2535 – 2538 เขาทำหน้าที่ประสานสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนในการส่งเสริมสนับสนุนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ
2) ช่วงที่เขาได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้เป็นผู้จัดกระบวนการระดมความคิดของสังคมเพื่อยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ซึ่งเขามีส่วนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในทิศทางการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่จากเดิมที่เคยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง มาสู่การใช้สังคมเป็นตัวตั้ง
3) ช่วงที่เขาเป็นกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ ในปี 2541 – 2543 อันสืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมในวงกว้าง รัฐบาลชวน หลีกภัย จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติขึ้นมาดูแลปัญหาสังคมในช่วงนี้ และ เขามีส่วนผลักดันให้เกิดโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ( SIF) ซึ่งได้สร้างผลสะเทือนต่อขบวนการชุมชนอย่างก้าวกระโดด
ขบวนการชุมชนไทย 5 ขบวนหลัก
ขบวนการชุมชนไทยมีการเคลื่อนไหวและพัฒนาตนเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีรูปแบบที่หลากหลายไปตามความสนใจและสภาพปัญหาของแต่ละชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันขบวนการชุมชนไทยประกอบขึ้นด้วยขบวนการชุมชนเข้มแข็งที่มีความเข้มแข็งโดดเด่นอย่างน้อย 5 ขบวนการ มีองค์กรชุมชนประเภทต่างๆ กว่าแสนองค์กร ทั้งส่วนที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งตนเองของชาวบ้าน ทั้งที่ได้รับการสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชน และที่ส่วนที่เกิดจากการจัดตั้งตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่ง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสถาบันในเครือข่ายของเขามีบทบาทประสานสนับสนุนอย่างใกล้ชิด
1) ขบวนการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการชุมชน
เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการชุมชนเป็นการเคลื่อนไหวที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพึ่งตนเอง และพึ่งพากันเองในหมู่ชาวบ้าน มีหลักคิดแบบสหกรณ์ของชาวบ้าน เริ่มก่อตัวจากกลุ่มเครดิตยูเนียนที่องค์กรพัฒนาเอกชนนำแนวคิดมาจากต่างประเทศ และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่หน่วยราชการไปส่งเสริม ต่อมาได้ถูกพัฒนารูปแบบโดยชาวบ้านเองเกิดเป็นรูปแบบ “สัจจะออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการครบวงจรชีวิต” “สัจจะสะสมทรัพย์” และ “ธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริ” ขบวนเหล่านี้มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้อย่างรวดเร็ว
2) ขบวนการเกษตรผสมผสานในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
เครือข่ายเกษตรผสมผสานในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นผลของการปรับตัวของชาวบ้านในชนบทเพื่อดิ้นรนให้หลุดพ้นจากภาวะหนี้สิน และภาวการณ์การเกษตรเชิงเดี่ยวที่เสี่ยงต่อสุขภาพจากสารเคมี และเสี่ยงต่อการขาดทุนจากการถูกกำหนดราคาจากตลาดภายนอก รูปแบบที่พวกเขาดำเนินการมีหลากหลาย อาทิ :- “วนเกษตร” “เกษตรผสมผสาน” “เกษตรทฤษฎีใหม่” “เกษตรธรรมชาติ” “เกษตรอินทรีย์” “เกษตรประณีต” ฯลฯ ซึ่งขบวนการเหล่านี้กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ชุมชนหมู่บ้านในชนบททั่วประเทศ
3) ขบวนการสภาผู้นำชุมชน
เครือข่ายสภาผู้นำชุมชนเป็นพัฒนาการของรูปแบบชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมในระดับฐานรากอันต่อเนื่องมาจากกระบวนการขับเคลื่อนองค์กรชุมชน สภาผู้นำชุมชน คือ เวทีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปรึกษาหารือกันระหว่างผู้นำองค์กรชุมชน ซึ่งปราชญ์ชาวบ้านในภูมิภาคต่างๆ ได้ค้นพบตรงกันว่าเป็นกระบวนการที่สร้างความเข้มแข็งในระดับเครือข่ายของพวกเขาได้เป็นอย่างดี และขบวนการนี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
4) ขบวนการบ้านมั่นคง
เครือข่ายบ้านมั่นคงเป็นผลสะเทือนจากนวัตกรรมที่ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้ค้นพบในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนในสลัมตามเมืองต่างๆ ในรูปแบบที่เกิดความร่วมมืออย่างลงตัวระหว่างชุมชน องค์กรท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเจ้าของที่ดินที่ถูกบุกรุก ขบวนการนี้ได้รับความสนใจจากนายกเทศมนตรีทั้งเมืองใหญ่ และเมืองขนาดกลางทั่วประเทศ จนเกิดการขยายตัวอย่างกว้างขวาง
5) ขบวนการแผนแม่บทชุมชน
กระบวนการแผนแม่บทชุมชนเป็นเทคนิคกระบวนการในการสร้างการเรียนรู้และกระตุ้นความตื่นตัวของชุมชนที่ได้รับความนิยมของชาวบ้านกันเป็นอย่างมาก และเป็นที่ยอมรับของหน่วยราชการอย่างกว้างขวาง รูปแบบนี้เริ่มจากนวัตกรรมของ ประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งนครศรีธรรมราช กับ เสรี พงศ์พิศ แห่งมูลนิธิหมู่บ้าน และต่อมาได้รับการเผยแพร่ขยายตัวไปโดยกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ( SIF) ที่มี ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้ดูแล จนเป็นที่แพร่หลาย และเกิดเครือข่ายปฏิบัติการในเกือบทุกตำบลทั่วประเทศแล้ว
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/150551