ธุรกิจ กับความรับผิดชอบต่อสังคม และ “เศรษฐกิจพอเพียง”
( “บทนำ” ในวารสาร “ธุรกิจกับสังคม” ฉบับ 9 กรกฎาคม 2549)
ธุรกิจสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะสร้างคุณค่าให้แก่สังคมแล้ว ยังจะเพิ่มคุณภาพที่พึงประสงค์ให้กับธุรกิจเองด้วย
|
ธุรกิจ คือ “พลเมือง” ของสังคม พลเมืองที่ดีย่อมต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมฉันใด ธุรกิจที่ดีก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมฉันนั้น
ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ หรือ “CSR” (Corporate Social Responsibility) อาจสรุปได้ดังนี้ คือ (1) ไม่ทำสิ่งที่เป็นผลเสียต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม (2) ทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม (3) พัฒนาตัวเองให้มีคุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ อย่างดีที่สุด
“เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำ และได้รับการสดุดีโดยองค์การสหประชาชาติ ว่าเหมาะสมที่จะนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาของโลกในอนาคตนั้นเป็นหลักการที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกระดับและในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งในภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจด้วย
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักการว่าด้วย (1) ความพอประมาณ (2) ความมีเหตุผล (3) ความมีภูมิคุ้มกัน (4) การใช้ความรู้ และ (5) การมีคุณธรรม
เป็นหลักการที่เน้นความพอดี ความสมดุลย์ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคง ความยั่งยืน และเป็นหลักการที่รวมถึงความรอบคอบระมัดระวัง ความไม่สุ่มเสี่ยง ความไม่สุดโต่ง และความไม่โลภอย่างมาก
หลักการดังกล่าวข้างต้น จึงน่าจะเหมาะสม ที่จะประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจทุกประเภทและทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่
ธุรกิจที่ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมมีแนวโน้มสูงที่จะอยู่รอดอย่างมั่นคง แม้ในสถานการณ์ยากลำบาก ทั้งเป็นธุรกิจที่ ย่อมให้ความสำคัญต่อคุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ ไปพร้อมกัน
คุณธรรม คือ ความดี ความสุจริต เป็นธรรม ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ก่อความเสียหายต่อผู้อื่นหรือต่อส่วนรวม แต่มุ่งสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้อื่น ให้กับส่วนรวม และให้กับสังคม ในฐานะเป็น “พลเมือง” ที่ดีของสังคม
นั่นคือ ธุรกิจที่ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอพียง จะเป็นธุรกิจที่มี “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ “CSR” (Corporate Social Responsibility) ไปด้วยนั่นเอง
สรุปแล้ว ธุรกิจสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะสร้างคุณค่าให้แก่สังคมแล้ว ยังจะเพิ่มคุณภาพที่พึงประสงค์ให้กับธุรกิจเองด้วย
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
28 มิ.ย. 2549
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/35978