จิตสำนึกและระบบคิดในการพัฒนาชุมชน
เมื่อปี 2547 มีชาวไทยคนหนึ่งได้รับรางวัลแม็กไซไซ คนๆ นี้ จบการศึกษาแค่ ป.4 เป็นชาวบ้านที่อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุที่ได้รับรางวัลเพราะเขาได้สั่งสมความรู้ ภูมิปัญญา ความสามารถ เกิดเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” ในตำบลที่เขาอยู่คือตำบลไม้เรียง “ชุมชนเข้มแข็ง” หมายถึงชุมชนที่คิดพึ่งตนเอง จัดการตนเอง ดูแลซึ่งกันและกัน ทำให้นักวิชาการและนักพัฒนาจำนวนหนึ่งซึ่งประทับใจและชื่นชม ได้ไปศึกษา ไปเรียนรู้ และนำมาเผยแพร่ ต่อมามีคนสนใจไปเยี่ยมเยือนและทำความเข้าใจมากขึ้น มาทดลองทำบ้าง เมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีโครงการชื่อว่า “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” ซึ่งผมมีส่วนในการยกร่างและเสนอรัฐบาลให้เห็นชอบ ได้รับอนุมัติเงินประมาณ 4,800 ล้านบาท ไปส่งเสริมเรื่องการฟื้นฟูชุมชนและการทำแผนชุมชนได้ผลระดับหนึ่ง
ต่อมาเมื่อโครงการนั้นเสร็จสิ้นก็มีหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งสภาพัฒน์และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนที่ผมเป็นประธานและเป็นผู้ช่วยก่อตั้งขึ้นมา ได้มาสานงานต่อจนถึงทุกวันนี้ คำว่า “แผนชุมชน” เป็นที่เข้าใจและยอมรับในวงกว้างรวมทั้งในภาครัฐบาล เมื่อรัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาความยากจน ตั้ง “ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน” หรือ ศตจ. ก็ได้เปิดโอกาสให้ขบวนการชุมชนสมทบเข้ามาชื่อว่า ศตจ.ปชช. หรือ “ศูนย์อำนวยการปฎิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน” เป็นเครือข่ายชุมชนที่ทำแผนแม่บทชุมชนเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาล ทำไปจนกระทั่งถึงระดับหนึ่งก็มีการบูรณาการงานของชาวบ้านเข้ากับงานของรัฐบาล ได้ทดลองทำใน 12 จังหวัดนำร่องในการบูรณาการงานพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน
ทางด้านในเมืองได้มีขบวนการคนจนในเมืองรวมกลุ่มเป็นชุมชนด้วยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้ร่วมกันทำโครงการที่ชื่อว่า “โครงการบ้านมั่นคง” เป็นโครงการที่ชาวบ้านมีบทบาทสำคัญมากในการคิด การวางแผน และการกำหนดเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้ทำโครงการบ้านมั่นคงขยายไปขณะนี้ประมาณ 200 เขตเทศบาลทั่วประเทศ รวมถึงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งหมดนี้คือวิวัฒนาการของคำว่า “การพัฒนาชุมชน” เมื่อผมเข้ามาทำงานในด้านนี้ก็ได้มีโอกาสร่วมงานกับชาวบ้านทั้งในชนบทและในเมือง ได้พบได้เห็นได้ซึมซับได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และได้รับเอาสิ่งที่ดี ๆ สิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาจากชาวบ้านมากมายจริงๆ สั่งสมผสมผสานกลายเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่า “ระบบคิด” และถ้าลึกลงไปเรียกว่า “จิตสำนึก” สิ่งเหล่านี้สั่งสมก่อรูปขึ้นมาในที่สุดก็เป็นตัวกำกับการคิดการพูดการทำของเรา
ฉะนั้น “จิตสำนึก” และ “ระบบคิด” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในความเห็นของผม โดยเฉพาะในงานพัฒนาชุมชน สิ่งที่ผมได้สั่งสมมาคือการได้เห็นศักยภาพ เห็นขีดความสามารถ เห็นภูมิปัญญา รับรู้ถึงคุณค่าศักดิ์ศรีของคนทุกคน ผมจะไม่ใช้คำว่า “ไปช่วยเหลือ”“ไปสงเคราะห์”“ไปสร้างอำนาจให้” แต่จะใช้คำว่า “ไปสนับสนุนให้เขาสร้างความสามารถขึ้นมา ให้เขาสร้างศักยภาพขึ้นมา ให้เขาสร้างอำนาจขึ้นมา” สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ผมได้คลุกคลีสัมผัสอยู่ในวงการพัฒนาชุมชนเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ผมหวังว่าในการทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนของท่านทั้งหลาย คงจะได้ตระหนักถึงมิติเหล่านี้ นั่นคือ การที่เราไปทำงานกับชุมชนก็เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนและชุมชนเขาได้จัดการตนเอง ได้พัฒนาตนเอง ได้เรียนรู้ ได้เพิ่มศักยภาพของเขาเอง และนั่นจะเป็นการพัฒนาที่แท้จริง เป็นการพัฒนาที่เรียกว่า “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” (People-centered Development) ซึ่งเป็นปรัชญาที่ปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทยอยู่แล้ว
สิ่งที่นำมาพูดในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โยงไปถึงสิ่งทีลึกอยู่ในใจที่เรียกว่า “จิตสำนึก” และรวมถึงเป็นสิ่งที่อยู่ในสมองที่เรียกว่า “ระบบคิด” หวังว่าท่านจะได้นำไปประกอบการคิดการพิจารณาของท่าน และนำไปสู่การทำกิจกรรมที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนนำมาซึ่งความสุขใจ ความอิ่มใจ ความภาคภูมิใจ รวมทั้งตัวท่านเองก็ได้เรียนรู้ ได้พัฒนาความคิด พัฒนาความสามารถของท่าน พร้อมกันไปด้วย
(สรุปคำบรรยายในฐานะวิทยากรพิเศษในวันเริ่มต้นปีโรตารี 2549-2550 ของสโมสรโรตารีบางรัก ณ โรงแรมตะวันนารามาดา เมื่อ 6 ก.ค. 49)
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
18 ก.ค. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/39512