จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การนำสันติสุขและความปลอดภัยกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้”
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ด้วยสังคมไทยมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย แต่ความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดเกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) โดยในช่วงเวลากว่าเจ็ดปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตกว่าสี่พันคนแล้วนั้น ข้าพเจ้า คณะบุคคลตามรายชื่อข้างท้ายนี้ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับนโยบายการเร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล และเพื่อให้การดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ข้าพเจ้าจึงมีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
- ในการจัดการความขัดแย้งใน จชต. ที่ซับซ้อนมากนั้น ควรมีการจำแนกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กระบวนการที่จะร่วมกันพิจารณา เนื้อหาสาระ จังหวะเวลาและขั้นตอน และการตัดสินใจทางการเมือง ปัจจุบันมีโอกาสที่ดีที่จะขับเคลื่อน ด้วยรัฐบาลได้แสดงวิสัยทัศน์และปณิธานทางการเมือง และประชาชนมีความตื่นตัวในทางการเมืองและความยุติธรรมมากขึ้น ในเบื้องต้นรัฐบาลจึงควรสนับสนุนกระบวนการที่ดี ที่ทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมพิจารณาเนื้อหาสาระ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมือง และการดำเนินงานในจังหวะเวลาที่เหมาะสม มากกว่าที่รัฐบาลจะตัดสินใจและดำเนินการฝ่ายเดียว
- ในการส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลควรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องการจัดการตนเองของจังหวัด ซึ่งแม้จะเน้น จชต. แต่ก็รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ด้วย โดยคณะกรรมการฯ ควรเสนอรูปแบบทางเลือกหลายรูปแบบเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาในลำดับต่อไป
- ในการมีส่วนร่วมตามข้อ 2. นั้น รัฐบาลควรสนับสนุนกระบวนการสานเสวนาในแนวกว้างและแนวลึก ในพื้นที่และนอกพื้นที่ และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยที่ภาคประชาสังคมอาจทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ และสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นของรัฐ ช่วยนำเสนอการใช้เหตุผลของฝ่ายต่าง ๆ สู่การพิจารณาของสาธารณชน
- ในการนำสันติสุขกลับคืนมาและลดการใช้ความรุนแรงนั้น รัฐบาลควรสนับสนุนการพูดคุยกับผู้เห็นต่าง โดยให้ความสำคัญแก่การพูดคุยนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง และใช้หลาย ๆ ช่องทางเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและนอกภาครัฐ และรวมถึงการขอความร่วมมือจากมิตรประเทศ แต่ควรใช้กระบวนการที่คล้ายการทูตแบบเงียบ ๆ และใช้ความระมัดระวัง มิให้มีการใช้ประโยชน์ในการยกระดับความขัดแย้งสู่สากล
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการต่อไปด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
นายโคทม อารียา อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการแก้ปัญหาความขัดแย้ง สถาบันพระปกเกล้า
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา
และในนามของ
- นายจอม เพชรประดับ สื่อมวลชน
- นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช International Crisis Group
- นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
- นายกรรชิต สุขใจมิตร มูลนิธิกองทุนไทย
- นางสาวราณี หัสสรังสี คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นางสาวประทับจิต นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
- นายเอกราช ซาบูร์ มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย
- พันเอกเอื้อชาติ หนุนภักดี นักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข สถาบันพระปกเกล้า
- นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
- นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
- นางสาวใจสิริ วรธรรมเนียม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
- นายพลธรรม์ จันทร์คำ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
- นางสาวศิริพร เพ็งจันทร์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/476482