จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 5 (15 ม.ค. 2550)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 5 (15 ม.ค. 2550)


กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ทำอะไรใน 3 เดือน ?

กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) ได้ดำเนินงานมาครบ 3 เดือน ภายใต้รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์ โดยมีผมเป็นรัฐมนตรีว่าการ

ได้มีการประมวลผลงาน 3 เดือน และจะมีการแถลงข่าวในวันพุธที่ 17 ม.ค. นี้

เค้าโครงของการประมวลผลงาน จะประกอบด้วย (1) ผลงานที่เป็นการร่วมสนับสนุนภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล อันได้แก่ การแก้ปัญหาอุทกภัย การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสร้างความสมานฉันท์ และการสร้างธรรมาภิบาล (2) ผลงานตามยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน อันได้แก่ การสร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน การสร้างสังคมเข้มแข็ง และการสร้างสังคมคุณธรรม และ (3) ผลงานในการเสนอแก้ไขปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาสังคม และเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์

            พร้อมกันนี้ ผมเองก็เลยถือโอกาสทบทวนตัวเองด้วยว่า ได้พยายามทำอะไร ทำได้ผลขนาดไหน ได้เรียนรู้อะไร และจะกำหนดแนวทางในอนาคตอย่างไร

ได้พยายามทำอะไร ?

ผมคิดว่า ผมได้พยายามทำให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มี “เป้าหมายใหญ่” และมี “ยุทธศาสตร์ใหญ่” (หรือ ”แนวทางใหญ่” ) ชัดเจนเป็นอันดับต้น

ได้ผลออกมาคือ “สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เป็น “เป้าหมายใหญ่” ร่วมกันของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และภาคีพันธมิตรที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย และถือเป็น “เป้าหมายใหญ่ในนโยบายด้านสังคมของรัฐบาล” ไปด้วยโดยปริยาย

สอดคล้องกับ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550 – 54) ที่มุ่งให้เกิด “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา

ส่วน “ยุทธศาสตร์ใหญ่” หรือ “แนวทางใหญ่” ที่ได้กำหนดชัดเจน คือ “ยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน” ดังได้กล่าวข้างต้น ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม

เมื่อได้ “เป้าหมายใหญ่” และ “ยุทธศาสตร์ใหญ่” หรือ “แนวทางใหญ่” แล้ว สิ่งสำคัญที่กระทรวง พม.ได้พยายามทำ ซึ่งน่าจะถือเป็น “นวัตกรรม” ได้ คือ การสร้าง “ระบบจัดการ” ภายใต้ 3 บริบท อันได้แก่ (1) บริบทพื้นที่ (2) บริบทกลุ่มคน และ (3) บริบทประเด็น

นั่นคือ ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์นั้น มิใช่นำยุทธศาสตร์แต่ละส่วนมาดำเนินการแยกจากกัน แต่เป็นการนำยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ส่วนมาดำเนินการร่วมกัน ภายใต้การจัดการในแต่ละบริบท

และการจัดการที่สำคัญมากที่สุด คือ “การจัดการในบริบทพื้นที่” ซึ่งเป็นการจัดการบนหลักการพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ (1) พื้นที่เป็นตัวตั้ง (2) ประชาชนมีบทบาทสำคัญ และ (3) ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ

นอกจาก “นวัตกรรมในเรื่องระบบจัดการ” ดังกล่าวแล้ว “นวัตกรรม” อีกอย่างหนึ่งที่กระทรวง พม.ได้ดำเนินการ คือ การนำ “การจัดความรู้” ( Knowledge Management หรือ KM) มาเป็น “กระบวนการสนับสนุน” ที่สำคัญ ให้กับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ใหญ่ 3 ส่วน ภายใต้ระบบจัดการใน 3 บริบท

ได้ผลขนาดไหน ?

กล่าวได้ว่า ใน 3 เดือนแรก ผมได้พยายามจับภาพใหญ่ กำหนดเป้าหมายใหญ่ แนวทางใหม่ และระบบจัดการหลักรวมถึง ระบบสนับสนุนสำคัญ ให้ลงตัว คิดว่าได้ผลพอสมควร ซึ่งน่าจะทำให้การดำเนินการต่อไปมีโอกาสสูงที่จะบรรลุผลตามนโยบายได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

ในส่วนของการปฏิบัติจริง ได้มีการ “ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์” เริ่มจาก “ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” โดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง กระจายไปทั่วประเทศ คือทุกจังหวัด โดยในแต่ละจังหวัดได้เน้นให้มีการใช้ “ตำบล” และ “เทศบาล” เป็นตัวตั้ง ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

จังหวัดที่ได้ทำชัดเจนหน่อย คือ จังหวัดที่ประสบอุทกภัย 47 จังหวัด ซึ่งนอกจากจะมีการช่วยเหลือประชาชนที่บ้านพังทั้งหลังหรือบางส่วน ด้วยเงินชดเชยประมาณ 1,200 ล้านบาทแล้ว ที่สำคัญคือจะมี “โครงการฟื้นฟูชุมชน” โดยมีงบประมาณสนับสนุน 150 ล้านบาท อีกด้วย

โครงการฟื้นฟูชุมชนนี้ ใช้หลักการ (1) พื้นที่เป็นตัวตั้ง (2) ประชาชนมีบทบาทสำคัญ และ (3) ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ นั่นเอง

นอกจากการดำเนินการตามแนวยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ในบริบทพื้นที่แล้ว ก็ได้มีการดำเนินการใน “บริบทกลุ่มคน” และ “บริบทประเด็น” ควบคู่กันไป

ใน “บริบทกลุ่มคน” กระทรวง พม.มี “กลุ่มเป้าหมาย” ชัดเจนอยู่แล้ว ได้แก่ (1) เด็ก (2) เยาวชน (3) ผู้ด้อยโอกาส (4) คนพิการ (5) ผู้สูงอายุ (6) สตรี (7) ครอบครัว

การดำเนินการในส่วนนี้ จึงไม่สู้ยากนัก กระทรวงฯ เองมีฐานงานค่อนข้างดีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จึงเป็นการสานต่องานที่กระทรวงทำอยู่ โดยนำยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน มาประยุกต์ใช้ให้หนักแน่นขึ้น กับมีการประสานความร่วมมือ รวมพลังสร้างสรรค์ จากหลายๆ ฝ่ายในสังคม ทั้งในภาครัฐและนอกภาครัฐ ให้เข้มข้นกว้างขวางยิ่งขึ้น

โดยรวมๆ คิดว่า งานด้านกลุ่มคนนี้ ได้ก้าวหน้าเป็นรูปธรรมเป็นลำดับ แม้ว่าจะยังคงมีข้อท้าทายอยู่เป็นอันมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการต่อไป

ส่วนการดำเนินการใน “บริบทประเด็น” ได้มีการกำหนดประเด็น และเริ่มลงมือปฏิบัติไปในเบื้องต้นแล้ว ได้แก่ (1) การส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม โดยมีการจัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม” หรือ ศกอส.) ขึ้นภายในกระทรวงฯ (2) การส่งเสริมความสมานฉันท์ในสังคมด้วยสันติวิธี (3) การส่งเสริมชีวิตมั่งคงปลอดอบายมุข (4) การส่งเสริมการแก้ปัญหาความยากจนโดยประชาชน

ทั้งนี้ รวมถึงการสานต่อการดำเนินการที่กระทรวงฯ ทำอยู่แล้ว ได้แก่ (1) การส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (2) การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (3) การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรชุมชนในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยากจน (ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.) (4) การพัฒนาที่อยู่อาศัยและการอยู่อาศัยโดยทั่วไป (ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติ หรือ กคช.)

ล่าสุด กระทรวงฯ ได้จัดตั้ง “ศูนย์สนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง” หรือ “ศปลร.” ขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการดำเนินการภายใต้ประเด็น “การส่งเสริมความสมานฉันท์ในสังคมด้วยสันติวิธี” ด้วย

การดำเนินการภายใต้ “บริบทประเด็น” ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือ การศึกษาพิจารณายกร่างกฎหมายที่จะมีผลต่อการพัฒนาสังคม และเป็นไปตามยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ประกอบด้วย (1) กฎหมายสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น (2) กฎหมายสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของประชาสังคม (ซึ่งชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง และประชาสังคมเข้มแข็ง เป็นส่วนประกอบสำคัญของ “สังคมเข้มแข็ง”) (3) กฎหมายสนับสนุนการสร้างสังคมคุณธรรม และ (4) กฎหมายสนับสนุนการพัฒนาสื่อสาธารณะเพื่อสังคม

            สรุปแล้ว ผมคิดว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการไปไม่น้อยทีเดียวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตามแนวยุทธศาสตร์สังคม 3 ส่วน ภายใต้ระบบจัดการ 3 บริบท

ได้เรียนรู้อะไร ?

ผมคิดว่า 3 เดือนที่ผ่านมาทำให้ผมได้เรียนรู้มากเลย ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นรัฐบาล และการบริหารรัฐบาล เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นรัฐมนตรี และการบริหารกระทรวง เรียนรู้เกี่ยวกับความยากในการจัดสรรเวลาและพลังงานเพื่อจัดการกับ (1) งานยุทธศาสตร์ (2) งานแก้ปัญหา (3) งานเฉพาะกิจ และ (4) งานประจำ ซึ่งผมอาจจะยังจัดได้ไม่ดีเต็มที่ เรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพหรือโอกาสและข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการพัฒนานโยบาย และในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ และเรียนรู้เรื่องอื่นๆ อีกมาก

ผมเองถือว่า “ชีวิตคือการเรียนรู้” อยู่แล้ว และคำว่า “เรียนรู้” ผมหมายความรวมถึง “การปฏิบัติ” ด้วย ดังนั้น ผมจึงพอใจที่มีโอกาสได้ “เรียนรู้” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่หลากหลายและเข้มข้นทีเดียว

จะกำหนดแนวทางในอนาคตอย่างไร ?

โดยที่ผมนิยม “การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม” ค่อนข้างมาก ดังนั้น ผมจึงจะไม่สรุปเอาเองคนเดียวว่า จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต่อไปอย่างไร แต่จะปรึกษาหารือร่วมกันกับผู้ร่วมงาน ซึ่งจัดได้เป็น 3 ส่วน (1) ทีมงานของรัฐมนตรี (2) ผู้บริหารของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด และ (3) ภาคีพันธมิตรนอกสังกัดกระทรวงฯ ทั้งที่อยู่ในภาครัฐและนอกภาครัฐ

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า ผมไม่มีความคิดของตนเอง ผมมีแน่นอน และมีมากด้วย เพียงแต่ผมเชื่อในเรื่องการผสมผสานความคิด และการรวมพลังสร้างสรรค์ ซึ่งผมเห็นว่าจะมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงกว่า และยั่งยืนกว่าการคิดและทำ โดยให้ผู้นำเป็นศูนย์กลางผลักดันและตัดสินใจแต่ผู้เดียว

อย่างไรก็ดี มีอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่า จะพยายามปรับปรุง คือ การจัดสรรเวลาและพลังงานให้กับ (1) งานยุทธศาสตร์ (2) งานแก้ปัญหา (3) งานเฉพาะกิจ และ (4) งานประจำ ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้  ก็อยากได้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ทั้งหลาย เกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตลอดจนการดำเนินงานของรัฐมนตรี พม. (คือผมนั่นแหละ) เพื่อผมจะได้รับทราบมุมมองของผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในสถานะต่างๆ แล้วนำมาประกอบการพิจารณาในการพัฒนางานของกระทรวงฯ ต่อไป

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/72744

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *