จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 7 (5 ก.พ. 50)
ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมกำลังเคลื่อนตัวไป
การขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม” โดยกระทรวง พม. ดูว่ากำลังเคลื่อนตัวไปอย่างเป็นรูปธรรม มีความก้าวหน้าในพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง ในขณะที่การขับเคลื่อนเชิงกลุ่มเป้าหมายและเชิงประเด็นทางสังคมก็ดำเนินควบคู่กันไป
ขอทวนความจำว่า “ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม” ประกอบยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง (ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง และประชาสังคมเข้มแข็ง) และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม โดยในการนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัตินั้น จะดำเนินการใน 3 บริบทหลัก คือบริบทพื้นที่ บริบทกลุ่มเป้าหมาย และบริบทประเด็นทางสังคม
ตัวอย่างรูปธรรมที่เกิดขึ้น ในรอบประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ซึ่งผมได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ได้แก่การไปเปิดโครงการ “บ้านมั่นคงชนบท” และร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “สังคมไม่ทอดทิ้งกันด้วยขบวนการสวัสดิการชุมชน” ที่ตำบลดอนยอ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เมื่อ 20 มกราคม 2550 ไปเปิดป้ายชุมชนแสดงการเสร็จสิ้นของโครงการ “บ้านมั่นคง” (ในเมือง) ที่ชุมชนคลองลำนุ่น เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร เมื่อ 25 มกราคม 2550 และไปเปิดโครงการ “บ้านมั่นคงชนบท” ที่บ้านหัวคู ตำบลพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ 29 มกราคม 2550
สังเกตว่าทุกโครงการที่กล่าวข้างต้น ได้ใช้หลักการสำคัญ 3 ข้อที่ผมย้ำอยู่บ่อยๆ ได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ คือ (1) พื้นที่เป็นตัวตั้ง (2) ประชาชน (ชุมชน) มีบทบาทสำคัญ และ(3) ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ ในทุกโครงการจะเห็นว่าชาวบ้านที่เกี่ยวข้องเป็นตัวตั้งตัวตีที่สำคัญ เป็นผู้คิด ผู้วางแผน ผู้ตัดสินใจ และผู้กำหนดภาระผูกพันของตนเอง ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งอบต. อบจ. และกทม. (ในกรณีบ้านมั่นคงชุมชนคลองลำนุ่น) ได้ให้การสนับสนุนอย่างดีในฐานะองค์กรที่ดูแลในเรื่องสวัสดิการสังคมและการพัฒนาท้องถิ่น พร้อมกันนั้นราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่หน่วยงานของจังหวัด อำเภอ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ศูนย์พัฒนาสังคมจังหวัด (ศพส.) และหน่วยงานภาครัฐจากส่วนกลาง ซึ่งในกรณีโครงการดังกล่าวข้างต้น ได้แก่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ก็ร่วมสนับสนุนอยู่อย่างใกล้ชิด
ในการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “สังคมไม่ทอดทิ้งกันด้วยขบวนการสวัสดิการชุมชน” ของจังหวัดนครนายก ผู้ร่วมลงนามได้แก่ตัวแทนของ (1) จังหวัดนครนายก (2) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก (3) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครนายก (4) ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 17 จังหวัดนครนายก (5) ชมรมนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (6) ขบวนสวัสดิการชุมชนจังหวัดนครนายก (7) ขบวนการสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออก และ(8) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมี (9) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานสักขีพยาน
ในส่วนของการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม โดยมี “กลุ่มเป้าหมาย” เป็นตัวตั้ง คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ “วาระเพื่อเด็กและเยาวชน พ.ศ.2550” เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 ประกอบด้วยมาตรการสำคัญคือ (1) การส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว (2) การส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคมของเด็กและเยาวชน (3) การส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย (อายุ0-6ปี) (4) การส่งเสริม “จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก” และ(5) การส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัว
ข้อสุดท้ายของวาระเพื่อเด็กและเยาวชน มีผลเท่ากับเป็นการขับเคลื่อนงานที่มี “ครอบครัว” เป็นกลุ่มเป้าหมายไปด้วย ส่วนการขับเคลื่อนงานสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ก็มีความก้าวหน้าในลักษณะต่างๆเช่นกัน (เช่นแผนงานที่จะเพิ่มสัดส่วนสตรีในการเป็นสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การค้นหาวิธีพัฒนากองทุนผู้สูงอายุให้สามารถทำประโยชน์ได้ดีและอย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น การพยายามพัฒนาระบบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การเร่งรัดร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ เป็นต้น)
สำหรับการขับเคลื่อนงานในบริบทของ “ประเด็นทางสังคม” มีความก้าวหน้าที่สำคัญ คือ ในเรื่อง “การส่งเสริมสังคมคุณธรรม” ได้มีการจัด “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม ครั้งที่ 2 ” เมื่อวันที่ 26-28 มกราคม 2550 ซึ่งกระทรวงพม. เป็นเจ้าภาพร่วม และรมว.พม. เป็นผู้รับมอบ “ปฏิญญาคุณธรรมว่าด้วยสังคมรู้ รัก สามัคคี” จากที่ประชุมสมัชชาโดยได้เสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี แล้วเมื่อ 30 มกราคม 2550 ก่อนนำปฏิญญาดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกันกับข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมคุณธรรมจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ รวมถึงจากศ.นพ. ประเวศ วะสี ทั้งนี้โดยกระทรวง พม.ได้รับมอบหมายจาก ครม.ให้เป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องการส่งเสริมคุณธรรมดังกล่าว โดยให้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย
การขับเคลื่อนงานเชิงประเด็นทางสังคมที่สำคัญ และมีความก้าวหน้าที่ดี อีกเรื่องหนึ่ง คือ “วาระแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม” ซึ่งนำเสนอโดย “คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.)” และครม.มีมติเห็นชอบเมื่อ 30 มกราคม 2550 ให้ดำเนินการต่อไป
ชุดมาตรการตามวาระแห่งชาตินี้จะประกอบด้วยมาตรการด้านการเงินการคลัง เพื่อสังคมมาตรการด้านการจัดการศึกษาในสถาบันการศึกษาทั้งที่ดูแลโดยกระทรวงศึกษาธิการ และในวิชาการทหารที่ดูแลโดยกระทรวงกลาโหม มาตรการอนุญาตให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติภารกิจอาสาช่วยเหลือสังคม ได้โดยถือเป็นการปฏิบัติราชการและไม่ถือเป็นวันลา ภายในกำหนด 5 วันทำการต่อปี เป็นต้น
จากที่เล่ามานี้ ถ้าจะบอกว่า “เครื่องยนต์พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” กำลังมีอุณหภูมิ สูงขึ้นเป็นลำดับ ก็คงจะได้กระมังครับ
สวัสดีครับ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/76414