จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคมฉบับที่ 15 (8 พ.ค.50)
ขยายความ “เวลาหยุดพักคือเวลาทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)”
ที่ผมกล่าวว่า “เวลาหยุดพักคือเวลาทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)” นั้น ขยายความได้ดังนี้ครับ
โดยปกติ เวลาที่เรากำลังทำอะไรอยู่ เช่น ประชุมพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่อง ปรึกษาหารือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดูแฟ้มเสนองานและพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในแฟ้ม ไปทำหรือร่วมกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ แถลงข่าว หรือแม้แต่เดินทางไปยังจุดหมายใดจุดหมายหนึ่งเพื่อกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
ในสภาวะการณ์เหล่านี้ ความคิด จิตใจ สมอง อารมณ์ และแม้แต่ร่างกายของเรา จะผูกพันอยู่กับเรื่องที่เป็นประเด็นให้คิดพิจารณา หรือเป็นจุดสนใจ หรือเป็นจุดตั้งใจ
เรื่องอื่นๆจะถูกกันไว้ก่อน ในระบบความคิด ในสมอง และแม้แต่ในอารมณ์ความรู้สึกของเรา ซึ่งเรื่องอื่นๆนี้ย่อมมีอยู่มากมาย ทั้งที่สะสมพอกพูนไว้ และที่ยังเกิดใหม่อยู่เรื่อยๆ
ดังนั้น เมื่อใดที่เราว่างจากกิจกรรมเฉพาะเจาะจง หรือในช่วงเวลาที่เราหยุดพักจาก “งาน” อย่างใดอย่างหนึ่งนั่นเอง สมอง ความคิด อารมณ์ และแม้แต่ร่างกายของเรา จะมีโอกาสได้จัดการ ดำเนินการ หรือเกี่ยวพันกับเรื่องต่าง ๆ ที่ได้สะสมพอกพูนหรือรับรู้ไว้
ตัวอย่างเช่น เวลานอนหลับแล้วตื่นขึ้นมา เรามักพบว่าเกิดความคิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่เป็นประเด็นค้างอยู่ในใจของเรา ผมเองมีประสบการณ์เช่นนี้อยู่บ่อยๆ และมักจะเป็นความคิดดีๆเสียด้วย
หรือเวลาที่เป็นช่วง “หยุดพัก” อื่นๆ ได้แก่ ระหว่างออกกำลังกาย ระหว่างใช้ห้องน้ำ ระหว่างทานอาหาร ระหว่างนั่งรถเดินทาง ฯลฯ ผมก็มักได้ความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นประเด็นสะสมในสมองอยู่เสมอๆ
นั่นคือ ระหว่างการ “หยุดพัก” สมองเรามิได้หยุด ยังทำงานอยู่ รวมถึงการทำงาน ในลักษณะ “เก็บตก” เรื่องที่ยังไม่ได้จัดการให้เรียบร้อย และการทำงานเกี่ยวกับเรื่องในอนาคต ซึ่งสมองก็ต้องคิดพิจารณาเพื่อจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นธรรมชาติปกติอยู่แล้ว
ส่วนในช่วงเวลาของการ “หยุดพักยาวหน่อย” เช่น ในวันหยุดที่ไม่มีภารกิจการงานอันเจาะจง ย่อมเป็นโอกาสให้นำ “งาน” ที่ยังค้างสะสมอยู่มาดำเนินการ รวมถึงการเคลียร์แฟ้มที่ยังไม่ได้ดู เคลียร์เอกสารที่ยังไม่ได้อ่านหรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ติดต่อสื่อสารกับบุคคลตามที่ตั้งใจไว้แต่ยังไม่ได้ทำ ฯลฯ
เวลา “หยุดพักยาวหน่อย” ยังเป็นโอกาสให้ได้อ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม สิ่งพิมพ์อื่น ดู internet หรือ website ตลอดจนทำภารกิจอื่นๆที่ประสงค์จะทำหรือเห็นว่าควรทำ
ซึ่งก็เป็น “การทำงานอีกแบบหนึ่ง” นั่นเอง
และบ่อยครั้งจะพบว่าการ “ทำงาน” ในช่วงเวลา “หยุดพักยาวหน่อย” เช่นนี้ สมอง อารมณ์ ความคิด จะปลอดโปร่ง ผ่อนคลาย ช่วยให้คิดอะไรๆได้ดี ได้ลึก ได้กว้าง ได้ไกล มากกว่าในยามที่ต้องคร่ำเคร่งกับภารกิจเจาะจงในงานของแต่ละวัน
ดังนั้น การ “ทำงาน (อีกแบบหนึ่ง)” ในช่วงเวลาของการ “หยุดพัก” จึงสามารถเป็นการ “ทำงาน” ที่มีทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพไปด้วยในตัว ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากความปลอดโปร่งผ่อนคลายของสมอง อารมณ์ และความคิด ดังได้กล่าวแล้ว
เรื่องสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องสำคัญๆที่ผมเกี่ยวข้อง ได้แก่
- เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการกองทุนหมุนเวียนเพื่อการให้กู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน” (“กองทุน กชก.”) ซึ่งมีมติแก้ไขปรับปรุงระเบียบเพื่อให้กองทุนนี้สามารถเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เทียบเคียงได้กับ “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” (กฟก.) ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร
- ร่วมสนทนา ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างท่านนายกรัฐมนตรีกับรองนายกฯทั้งสอง 2 ครั้ง (ในวันจันทร์ที่ 30 เม.ย. และวันศุกร์ที่ 4 พ.ค.)
- เข้าร่วมในรายการ “นายกพบสื่อมวลชน” ที่ทำเนียบรัฐบาล
- ร่วมงาน “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ” ( TQA หรือ Thailand Quality Award ) ซึ่งท่านนายกฯ ไปเป็นประธานมองรางวัล และผมเคยเป็นกรรมการใน “คณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ” โดยได้ลาออกเมื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล
- เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ” ซึ่งปัญหาหมอกควันเฉพาะหน้าได้หมดไปแล้ว จึงเริ่มพิจารณาแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาในอนาคตเป็นสำคัญ
- ร่วมพิจารณาเรื่อง “การออกสลาก 2 ตัว 3 ตัว” ซึ่ง รมว.การคลัง หยิบยกขึ้นมาหารือกับนายกรัฐมนตรี และมีประเด็นให้พิจารณาค่อนข้างเข้มข้นอยู่
- ร่วมพิจารณา “ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น” และ “ร่าง พรบ. ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ” ในคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 2 (ผมเป็นประธาน) ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้ไปปรึกษากันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ยังเห็นขัดแย้งกันในหลักการอยู่พอสมควร แล้วนำมาเสนอใหม่ภายใน 2 สัปดาห์
- เข้าร่วมประชุม “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” เพื่อชี้แจงรายงานประจำปีของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” และนำเสนอ “ร่าง พรบ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ”
- เข้าเยี่ยมคารวะและขอคำแนะนำจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (คุณมีชัย ฤชุพันธ์) ในเรื่องเกี่ยวกับงานนิติบัญญัติของรัฐบาล
- เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550”
- เป็นประธานการประชุม “คณะอดีตกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” เพื่อหารือเรื่องเกี่ยวกับการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ชุดใหม่ และเรื่องอื่นๆ
- รับมอบหมายจากท่านนายกฯให้พบต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศมาเลเซียเพื่อหารือเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสอง
- เป็นรองประธานการประชุม “คณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันวิสาขบูชา” ซึ่งท่านนายกฯ เป็นประธานการประชุม
- เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการประมวลความเห็นของรัฐมนตรีต่อร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
- ร่วมหารือเรื่อง ยุทธศาสตร์สันติวิธี กับผู้บริหารจากกระทรวงยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
- เข้าเฝ้าในพระราชพิธีฉัตรมงคล และร่วมงานสโมสรสันนิบาต เนื่องในวันฉัตรมงคล ( 5 พ.ค.)
- เป็นประธานในกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ 85 รูป ที่พุทธมณฑลและเข้าร่วมในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา (ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)) เพื่อถวายเป็นพระกุศลและถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุ 7 รอบ (84 พรรษา) 6 พฤษภาคม 2550 ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
วันที่ 7 พ.ค. เป็นวันหยุดชดเชยวันฉัตรมงคล ผมมีโอกาสได้ “หยุดพักยาวหน่อย” โดยไม่มีวาระงานที่เจาะจงจึงได้ใช้โอกาสนี้เคลียร์เอกสารที่ยังไม่ได้ดู อ่านหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะในส่วนที่มีสาระเกี่ยวกับงาน และทำกิจกรรมต่างๆรวมถึงการไปให้เพื่อนที่เป็นแพทย์ช่วยดูสุขภาพทั่วไป และเขียน “จดหมาย” ฉบับนี้ได้ยาวหน่อยด้วย
อ้อ ! ผมได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการวิทยุและโทรทัศน์รวม 4 รายการด้วยครับ
สวัสดีครับ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/95054