จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 18 (4 มิ.ย. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 18 (4 มิ.ย. 50)


การตัดสินคดียุบพรรคการเมืองผ่านพ้นไปแล้ว ถึงเวลามาช่วยกันทำให้เกิด “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร เพื่อสังคมและชีวิตที่ดีกว่า”

วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 เป็นวันประวัติศาสตร์ที่คนไทยและผู้เฝ้ามองประเทศไทย รอคอย เพราะเป็นวันตัดสินคดียุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ 2 พรรคใหญ่ และ 3 พรรคเล็ก

มีการประกาศผลการพิจารณาตัดสินคดีอย่างละเอียด และชัดเจน โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ 9 ท่าน ใช้เวลาอ่านคำพิจารณาและตัดสินรวมประมาณ 10 ชั่วโมง

ผลการตัดสินคดี กระทบต่อบุคคลกลุ่มต่างๆไม่เหมือนกัน และปฏิกิริยาจากบุคคลกลุ่มต่างๆ รวมทั้งจากผู้คนทั้งหลายในสังคม ก็ต่างๆกัน

แต่ผมเองคิดว่า เมื่อการตัดสินคดียุบพรรคการเมืองผ่านพ้นไปแล้ว น่าจะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการหันมาร่วมกันพยายามทำให้เกิด “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร เพื่อสังคมและชีวิตที่ดีกว่า”

นั่นคือ เลิกคิดเป็นศัตรูกัน หรือเป็นฝ่ายตรงกันข้าม

คนไทยทั้งหมด ล้วนเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติ เป็นเพื่อน เสมือนอยู่ในครอบครัวใหญ่เดียวกัน ที่เรียกว่าประเทศไทย มีเป้าหมายสุดท้ายร่วมกันหรือเหมือนกัน ได้แก่ การมีชีวิตและสังคมที่สันติและเป็นสุข

การเมืองเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสังคมไปสู่ความสันติและความเป็นสุข

ใครที่มองการเมืองเป็นเรื่องเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ จึงคิดไม่ถูก ควรคิดเสียใหม่ และถ้ายังไม่เปลี่ยนความคิดให้ถูก ก็ไม่ควรเข้ามาทำงานการเมือง

“การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร” มีอยู่แล้วในประเทศไทย ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ในระดับชาติอาจยังไม่ชัดมาก แต่มีเชื้ออยู่พอสมควร แสดงตัวให้ปรากฏเป็นระยะๆ

ในระดับท้องถิ่น ได้มีหลายตำบลและเขตเทศบาล ที่พยายามพัฒนา “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร” หรือ “การเมืองแบบสมานฉันท์” ขึ้น ใช้การพูดจาหารือระหว่างประชาชนในท้องถิ่นด้วยกัน จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าใครควรจะเป็นผู้บริหารท้องถิ่น แล้วจึงไปเลือกตั้ง เกิดบรรยากาศรู้รักสามัคคี ช่วยกันพัฒนาท้องถิ่น

ในระดับชาติ คงไม่สามารถทำขนาดนั้นได้ (เลือกผู้บริหารโดยการพูดจาหารือกันในหมู่ประชาชน) แต่ที่น่าจะทำได้ และควรพยายามทำให้ได้ คือ การพูดจาหารือกัน ทั้งในหมู่นักการเมืองและในหมู่ประชาชน เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกัน เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ

ขณะนี้ ได้มีประเด็นทางการเมืองที่สำคัญหลายประการ รอการขบคิดหาข้อสรุป เพื่อช่วยให้การเมืองไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างสร้างสรรค์

จึงควรที่ฝ่ายต่างๆซึ่งเกี่ยวข้อง จะเข้ามาพูดจาหารือกันเพื่อหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกัน

                การพูดจาหารือกัน ควรเป็นไปอย่างฉันญาติมิตร ช่วยกันคิดว่า เป้าหมายหรือเป้าประสงค์ร่วมกันคืออะไร แล้วร่วมกันพยายามหาแนวทางและวิธีการ อันจะทำให้บรรลุเป้าหมายหรือเป้าประสงค์นั้นๆ

                ในการนี้ ถ้าต้องการ “คนกลาง” หรือ “ผู้ประสาน” มาช่วยจัดกระบวนการพูดจาหารือกัน ก็สามารถร่วมกันค้นหาและคัดสรร ให้ได้ “คนกลาง” ซึ่งเป็นที่พอใจหรือยอมรับร่วมกัน

                แต่สำหรับผู้อยู่ในวงการเมืองไทยในปัจจุบัน มีบุคคลซึ่งน่าจะเล่นบท “คนกลาง” หรือ “ผู้ประสาน” ได้เป็นอย่างดีอยู่จำนวนไม่น้อย

                นั่นคือ นักการเมืองไทย ควรจะใช้จังหวะที่จบคดียุบพรรคการเมือง หันมาพูดจาหารือกันเกี่ยวกับประเด็นการเมืองที่สำคัญ โดยไม่ต้องมี “คนกลาง” หรือ “ผู้ประสาน” หรือถ้าต้องการบุคคลดังกล่าว ก็เล่นบทกันเอง หรือร่วมกันจัดหามา ซึ่งน่าจะทำได้ไม่ยาก

                ผมเองขอเอาใจช่วยทุกฝ่ายทุกคน ที่จะร่วมกันพยายามทำให้เกิด “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร เพื่อสังคมและชีวิตที่ดีกว่า” และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในส่วนที่ผมสามารถทำให้

                เพราะผมเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่า “การเมืองแบบสร้างสรรค์ฉันมิตร เพื่อสังคมและชีวิตที่ดีกว่า” จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยและสังคมไทย

                                                                                                สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/100549

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *