ความเป็นอิสระกับการพัฒนาสหกรณ์ไทย (2)
พลังที่สาม คือ พลังของโครงสร้าง พลังที่หนึ่ง อันได้แก่พลังของความรู้ เป็นเสมือนซอฟท์แวร์ พลังที่สอง พลังของขบวนการ เป็นเสมือนแรงไฟฟ้า ส่วนพลังที่สาม พลังของโครงสร้าง จะเป็นเสมือน ฮาร์ดแวร์ ทั้งหมดไปด้วยกัน โครงสร้างหมายถึงโครงสร้างในรูปของ กลไกต่างๆ เรามีโครงสร้างภายในสหกรณ์ ตรงนี้ไม่เป็นประเด็นเท่าไหร่นะครับ เพราะจัดไว้ค่อนข้างดี แต่โครงสร้างของขบวนการ ทั้งในประเทศ และในโลก ถ้าระดับโลก เขามีกลไกประเภทสมาคมระหว่างประเทศ ชุมนุมระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าดี แต่ภายในประเทศ เรามีโครงสร้าง ได้แก่ ระบบสหกรณ์ ซึ่งมีชุมนุมสหกรณ์ มีสันนิบาตสหกรณ์ฯ เรามีระบบส่งเสริม และกำกับดูแลโดยรัฐ ที่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นนายทะเบียน มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้ส่งเสริม และพัฒนามีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นผู้คอยดูว่า ระบบบัญชี ระบบข้อมูลเรียบร้อย นี่เป็นโครงสร้างครับ คำถามคือว่าโครงสร้างนี้ ควรจะปรับปรุงอย่างไรหรือไม่ ? ซึ่งได้มีผู้ให้ความคิดความเห็นกันมา ตลอด สิบ ยี่สิบปีที่ผ่านมา ว่าน่าจะปรับปรุงโครงสร้างนี้ และครั้งล่าสุด ด้วยแรงผลักดันจากรัฐธรรมนูญว่าให้มีการส่งเสริมพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเป็นอิสระ ซึ่งชี้ไปในเรื่องของโครงสร้างด้วย ผสมกับการเคลื่อนไหวที่มีมาตลอด สิบ ยี่สิบปี ที่เห็นว่าควรจัดโครงสร้างในการกำกับดูแล โดยที่ให้กลไกในการกำกับดูแล ไม่เป็นระบบราชการ แต่ให้เป็นองค์การอิสระ หรือองค์การมหาชน
ตัวอย่างที่นำมาศึกษาประกอบการพิจารณาได้ คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ “กลต.” ซึ่งเดิมมีสำนักงานนี้อยู่ในกระทรวงการคลัง เขาก็กำหนดใหม่ให้ออกจากระทรวงการคลังไปเป็นองค์การมหาชน ที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้ง แต่รัฐมนตรียังเป็นประธานอยู่ ซึ่งในประเด็นนี้หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐมนตรีไม่น่าจะเป็นประธาน คือไม่น่าจะให้ประธานเป็นฝ่ายการเมือง น่าจะให้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานจะดีกว่า นี่เป็นประเด็นย่อย แต่ที่สำคัญ คือ เป็นองค์การที่ไม่ใช่ราชการแต่เป็นของรัฐ และมีหน้าที่กำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คนทำงานก็เป็นพนักงานของรัฐ ซึ่งจะต้องมีระบบการคัดเลือก การแต่งตั้ง การกำกับดูแลที่เหมือนกับองค์การมหาชนที่พระราชบัญญัติจัดตั้งทั้งหลาย
ล่าสุดได้มีการพิจารณาให้กรมการประกันภัย จากกระทรวงพาณิชย์ออกไปเป็นองค์การมหาชนที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้ง ชื่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ “คปภ.” คือเจริญรอยตาม กลต. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยได้มีพระราชบัญญัติกำหนดให้ออกไปแล้วนะครับ ดังนั้นกรมการประกันภัยจึงไม่ได้อยู่ในกระทรวงพาณิชย์แล้ว ออกไปเป็นองค์การมหาชนที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งแล้ว ก็เลยมาเร่งความคิดว่าน่าจะจัดให้มีสำนักงานที่ดูแลในเรื่องสหกรณ์ ให้เป็นองค์การของรัฐแต่อยู่นอกระบบราชการ ซึ่งหมายถึงการโอนกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ออกไปนั่นเอง แต่การโอนออกไปก็มีกรรมวิธีนะครับ คือไปตั้งใหม่และเปิดโอกาสให้ข้าราชการโอนไปได้ตามความสมัครใจ ไม่ไปก็ได้ นั่นเป็นเรื่องรายละเอียด แต่เหตุผลเบื้องหลังคือ ต้องการโครงสร้างแบบนี้เพื่อจะให้กลไกที่มาดูแลระบบสหกรณ์มีความเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ใช่อิสระ 100% หรอกครับ ยังต้องอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาล รัฐบาลยังต้องกำกับดูแลเชิงนโยบายอยู่ครับ
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ การประกันภัย หรือกรณีอื่นๆ ที่ว่ามีความเป็นอิสระ ไม่ใช่แปลว่าจะอิสระจากรัฐบาลหรอกนะครับ รัฐบาลยังต้องดูแลในเชิงนโยบาย แต่ว่ามีความคล่องตัวในการบริหาร และมีความใกล้ชิดกับขบวนการและประชาชนมากขึ้น คือมีความเป็นราชการน้อยลง ความเป็นของประชาชนมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นเครื่องประกันนะครับว่า การจัดโครงสร้างอย่างนั้นแล้วผลจะเป็นอย่างที่ตั้งใจเสมอไป อย่างที่ผมอธิบายให้ฟังเรื่องกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร อาจจะถูกแทรกแซงด้วยพลังต่างๆได้นะครับ ไม่มีอะไรที่จะแน่ใจ 100%
อย่างไรก็ตาม แนวความคิดเรื่องความเป็นอิสระของกลไกที่ดูแลสหกรณ์ ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ล่าสุดคือการใส่หลักการเข้าไปในรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีตัวอย่างของกรมการประกันภัย จึงทำให้ความคิดที่จะมีสำนักงานดูแลสหกรณ์ ที่ยังเป็นของรัฐบาลแต่อยู่นอกระบบราชการ มีความเข้มมากขึ้น และล่าสุดในแผนพัฒนาสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอ ก็ได้บรรจุข้อความว่าให้มีการไปศึกษารูปแบบ กลไกการกำกับดูแลสหกรณ์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะศึกษาความเหมาะสมที่จะมีสำนักงานทำนองกรมการประกันภัยที่ได้แปรรูปไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
นี่คือ พลังที่สาม พลังของโครงสร้าง คือโครงสร้างในระดับประเทศนะครับ โครงสร้างจะไปมีผลต่อหลักการและวิธีการดำเนินงาน ถ้าผมจะเปรียบเทียบกับขบวนการสหกรณ์ที่ไม่เป็นทางการก็คือขบวนการองค์กรชุมชนนะครับ ขบวนการองค์กรชุมชนเป็นระบบสหกรณ์ที่ไม่เป็นทางการ รัฐบาลส่งเสริมด้วยการมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นองค์การมหาชน ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐบาล แต่เป็นองค์การมหาชน มีคณะกรรมการของตัวเอง มีประธานของตัวเอง มีผู้อำนวยการบริหารสำนักงานแต่ไม่มีอธิบดีซึ่งเป็นข้าราชการ พนักงานที่ทำงานก็เป็นพนักงานของรัฐ กรรมการก็จะมีตัวแทนจากภาคประชาชน หนึ่งในสาม ตัวแทนของรัฐ หนึ่งในสาม และมีผู้ทรงคุณวุฒิ หนึ่งในสาม รวมกันเป็นคณะกรรมการ คงพอจะเทียบเคียงกันได้นะครับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลไกเช่นนั้นเป็นประโยชน์ แต่ที่เป็นประโยชน์ได้อาจจะไม่ใช่เพราะกลไกอย่างเดียวแต่เป็นผลมาจากประเด็นอย่างอื่นด้วย อย่างที่ผมบอกไปแล้วนะครับว่า การที่จะเกิดผลอะไรมักไม่ได้มาจากประเด็นเดียวแต่มาจากหลายประเด็น หลายปัจจัยนะครับ นี่คือพลังที่สามครับ คือ พลังของโครงสร้าง
พลังที่สี่ คือ พลังแห่งนโยบาย นโยบายในที่นี้หมายความรวมถึง นโยบายของรัฐตั้งแต่แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บรรจุลงในรัฐธรรมนูญ นั่นคือนโยบายใหญ่เลยนะครับ แต่แค่นั้นยังไม่พอ ต้องมีนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งผมต้องยอมรับว่า รัฐบาลแทบจะทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีรัฐบาลไหน ที่มีนโยบายเรื่องสหกรณ์ชัดๆ และดีๆ รวมถึงรัฐบาลนี้ด้วยนะครับ เพราะว่ารัฐบาลนี้ซึ่งผมร่วมอยู่ด้วย ก็พอจะมีเหตุผลนะครับว่าเราเป็นรัฐบาลชั่วคราว เราเข้ามาในสถานการณ์พิเศษ เราไม่มีฉันทานุมัติจากประชาชนให้มาบริหารประเทศ แต่เนื่องจากสถานการณ์คับขัน ทำให้เราต้องเข้ามาและดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่านนะครับ จะไปทำอะไรเหมือนรัฐบาลที่เขาได้รับการเลือกตั้งมาคงไม่ได้ อันที่จริงเรามีนโยบายที่ได้ประกาศไว้ คือ นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ต่างประเทศ และการเมืองการปกครอง แต่การที่จะเจาะลึกลงไปเฉพาะด้านเช่นเรื่องสหกรณ์นั้นเราไปไม่ถึง เพราะว่าแค่การเกษตรนี่ก็เยอะมากแล้ว บางเรื่องยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน ล่าสุดคือเรื่อง จีเอ็มโอ ยังถกเถียงกันอยู่มาก เรื่องสหกรณ์ก็คงจะถกเถียงกันอยู่บ้าง แต่เรื่องสหกรณ์คงไม่ถกเถียงกันรุนแรงอะไรหรอกครับ เพียงแต่ว่า เทียบกับอีกหลายๆสิบเรื่อง สหกรณ์คงไม่ได้เข้ามาในระดับที่เป็นนโยบายแนวหน้าของรัฐบาลชุดนี้ แต่ผมเองเห็นว่าถ้าเป็นรัฐบาลปกติน่าจะมีนโยบายด้านสหกรณ์ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็น 10 ล้านคนนะครับ ซึ่งนับเฉพาะที่เป็นสมาชิก ถ้านับครอบครัวด้วยมากมายเลยครับ สหกรณ์เป็นขบวนการที่สำคัญ กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนมากมาย และเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ผมจึงอยากเห็นนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ให้ชัดเจน ให้หนักแน่น ให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ โดยขยายความต่อและแปลออกมาในรูปของกฎหมายที่ดี ซึ่งเราก็อยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติสหกรณ์ แต่ผมเรียนท่านอธิบดีไปแล้วนะครับว่าคงไม่ทัน ไม่ทันในรัฐบาลนี้ ไม่ทันในสภาชุด สนช. นี้ เพราะว่าสภาชุด สนช. กำลังถูกกดดันว่าให้เลิกพิจารณากฎหมายได้แล้ว มีคนบอกว่าพอได้แล้ว เมื่อเช้าก็มีบทความจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งบอกว่า พอแล้ว พอได้แล้ว จุดที่จะตัดคือ สัปดาห์หน้าเราจะมีการเลือกตั้งคือวันที่ 23 ธันวาคม ฉะนั้นถ้าจะหยุดในวันที่ 23 ธันวาคม ก็มีเหตุผลนะครับ แต่การหยุดหมายถึงหยุดทำหน้าที่เป็นรัฐสภา ขณะนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เขาทำหน้าที่เป็นรัฐสภาคือเป็นสองสภา หมายถึงเป็นทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องยุบมาเป็นสภาเดียวนั่นคือพอมีสภาผู้แทนราษฎรแล้วเขาจะปรับบทบาทเป็นวุฒิสภา สนช. จะกลายเป็นวุฒิสภาอย่างเดียว จนกระทั่งมีวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญเข้ามาเรียบร้อยแล้ว สนช. ก็หมดบทบาท ขณะนี้จึงเหลือทางเลือกระหว่างว่าจะประชุมไปจนถึง 28 ธันวาคม หรือ 21 ธันวาคม ฉะนั้นกฎหมายที่จะเข้าไปถ้าไม่ได้บรรจุวาระไว้แล้วคงจะไปไม่ทัน ที่บรรจุวาระไว้แล้วอาจจะได้เข้าสู่การพิจารณา อาจจะผ่านวาระที่ 1ไป แต่วาระที่ 2 และ 3 คงจะไม่ทัน ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต่อไปจะมาเลือกดูว่ากฎหมายที่ผ่านวาระที่ 1 แล้ว จะนำฉบับไหนมาขอให้สภาพิจารณาต่อ ถ้าเลือกมาสภาก็พิจารณาต่อ ถ้าไม่เลือกก็ตกไป แต่ตกไปไม่ได้แปลว่าเลิกกันเลยนะครับ อย่างกฎหมายสหกรณ์นี่รัฐบาลต่อไปก็เสนอได้ กระทรวงเกษตรก็เสนอได้ ขบวนการสหกรณ์ก็เสนอได้ เราเป็นประชาชนนี่ครับ เรารวมตัวกันหนึ่งหมื่นคนขึ้นไปก็เสนอกฎหมายได้ แต่ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องจำนวนเท่านั้น ยังสำคัญที่สาระ สำคัญที่วิธีนำเสนอ สำคัญที่การขับเคลื่อนขบวนการในสังคม ฉะนั้นทุกท่านเสนอได้ครับ กฎหมายสหกรณ์ เพียงแต่ว่าก่อนเสนอถ้ามีขบวนการ มีการปรึกษาหารือ มีการระดมความคิดร่วมกันเยอะๆอย่างนี้แหละครับจึงจะดี และถึงแม้รัฐบาลเป็นผู้เสนอ รัฐบาลก็ควรต้องมีการระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวางจากประชาชน ในอนาคตผมหวังว่าจะไม่มีกฎหมายใดใด ที่ออกโดยไม่ได้ผ่านการระดมความคิดเห็นจากประชาชนให้กว้างขวางพอ ซึ่งเป็นหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่แล้วมาเรามีประชาธิปไตยแบบตัวแทน เราเลือก สส. แล้ว สส. ก็ทำหน้าที่แทนเราหมดเลย อย่างนี้ยังไม่ดีพอ ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆที่มีผลต่อสังคม ฉะนั้นจะออกกฎหมายต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ยิ่งกฎหมายสหกรณ์ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมเยอะๆจึงจะดี
ดังนั้นพลังแห่งนโยบายต้องรวมถึงการมีข้อความในรัฐธรรมนูญ มีนโยบายของรัฐบาล มีการออกพระราชบัญญัติ มีระเบียบข้อบังคับที่ดี และก็มีนโยบายในการกำกับดูแล ส่งเสริมพัฒนา มีงบประมาณ มีบุคลากรที่เหมาะสม เหล่านี้รวมอยู่ในคำว่า “นโยบาย” ทั้งสิ้น นี่คือพลังแห่งนโยบาย ซึ่งผมคิดว่าที่แล้วมานโยบายด้านสหกรณ์ไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ซึ่งได้มีผู้วิเคราะห์ว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการจัดกลไกและองค์กรในการกำกับและส่งเสริมซึ่งไปอยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพอพูดถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนจะไม่ได้นึกถึงสหกรณ์เท่าไหร่ แต่จะนึกถึงการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งเรื่องการเกษตรอย่างเดียวก็เป็นเรื่องใหญ่โตกว้างขวางมาก สหกรณ์เป็นเรื่องรอง จะนึกถึงกันทีหลัง เพราะฉะนั้นนโยบายของรัฐบาลเท่าที่ผ่านมาในเรื่องสหกรณ์จึงไม่เข้ม ไม่หนักแน่น และไม่นำสู่การพัฒนาขบวนการสหกรณ์ได้ดีเท่าที่ควร
พลังสุดท้าย พลังที่ห้า คือ พลังของการจัดการ การจัดการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นความสามารถที่จะทำให้บรรลุผล แต่การจัดการเป็นสิ่งที่ในประเทศไทยเรา ยังไม่มีความสามารถมากเท่าที่ควรโดยเฉพาะในการจัดการภาครัฐ และการจัดการทางสังคม ถ้าเป็นการจัดการในภาคธุรกิจคิดว่าเราใช้ได้เมื่อเทียบกับนานาชาติ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเก่งมากและยังจะต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ส่วนการจัดการในภาครัฐและการจัดการทางสังคมเรายังอ่อน ในความเห็นของผม ควรต้องพัฒนาให้มากขึ้น การจัดการภาครัฐต้องรวมถึงการจัดการของหน่วยงาน เช่น กระทรวง และกรม ที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ ซึ่งหากมีการจัดการที่ดี มีคุณภาพ พร้อมทั้งประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จะมีส่วนช่วยการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ได้
การจัดการของขบวนการสหกรณ์เองก็มีความสำคัญมาก การจัดการของชุมนุมสหกรณ์ การจัดการของสันนิบาตสหกรณ์ การจัดการของสหกรณ์แต่ละแห่ง ล้วนมีความสำคัญมากทั้งสิ้น
พลังของการจัดการนั้นมีความสำคัญมาก ผมทราบว่าทางสันนิบาตสหกรณ์ได้มีหลักสูตรพัฒนาเรื่องการจัดการอยู่ ซึ่งดีแล้ว แต่ยังไม่พอ ต้องทำให้การจัดการมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล สูงกว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการของสหกรณ์ การจัดการของชุมนุมสหกรณ์ การจัดการของสันนิบาตสหกรณ์ การจัดการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ และการจัดการของรัฐบาล ซึ่งผมเองได้อยู่ในรัฐบาลมาปีเศษ ผมเห็นประเด็นเรื่องการจัดการเยอะเลย พอดีผมสนใจเรื่องการจัดการ ได้คิดอยู่ว่าเมื่อหมดหน้าที่ในรัฐบาลแล้วผมอาจจะขอพักสัก 3 เดือน และคิดว่าอาจจะเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง เรื่องประสบการณ์ในรัฐบาล และข้อคิดต่างๆ รวมถึงเรื่องการจัดการ ผมเชื่อว่าถ้าเราพัฒนาการจัดการในแต่ละระดับตามที่กล่าวมาแล้วของสหกรณ์ ของเครือข่าย หรือชุมนุมสหกรณ์ ของสันนิบาตสหกรณ์ และการจัดการของกลไกของรัฐทั้งหลาย เชื่อว่าจะเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ ให้เดินไปได้ดียิ่งขึ้น
สรุป รวมความแล้วมี 5 พลังที่ผมคิดว่าจะผสมผสานกันในการพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ คือ ไม่ใช่พลังใดพลังหนึ่งนะครับ แต่ทั้ง 5 พลังผสมผสานกัน ได้แก่
- พลังของความรู้ และการจัดการความรู้
- พลังของความเป็นขบวนการ
- พลังของโครงสร้าง ซึ่งรวมถึงการมีกลไกที่ดีและเหมาะสม
- พลังของนโยบาย รวมถึงนโยบายในระดับต่างๆ และในรูปแบบต่างๆ เช่นในรูปแบบของกฎหมาย ในรูปแบบของยุทธศาสตร์ของรัฐ ในรูปแบบของการมีงบประมาณที่เพียงพอ เหล่านี้รวมอยู่ในคำว่านโยบาย และ
- พลังของการจัดการ ได้แก่ การจัดการในระดับต่างๆ และในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ ตลอดจนกลไกต่างๆ ที่อยู่ในการขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์
ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมพูดมานานกว่าที่คิดไว้ คิดว่าจะครึ่งชั่วโมงแต่กลายเป็นสี่สิบห้าหรือเกือบห้าสิบนาที ขออภัยที่ใช้เวลามากไปหน่อย และขอขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจการบรรยายพิเศษที่ผมได้นำเสนอมา หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ และสามารถนำไปประกอบการพิจารณาของทุกท่านได้ ซึ่งเข้าใจว่าในวันนี้ท่านจะพิจารณากันถึงเรื่องแนวทางการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ ซึ่งอาจจะต้องถึงขั้นปฏิรูป จึงหวังว่าหากท่านได้นำข้อคิดต่างๆที่ผมนำเสนอไปประกอบการพิจารณาแล้ว จะสามารถร่วมกันคิด ร่วมกันพิจารณา จนกระทั่งได้ข้อสรุปที่ดี และนำไปสู่การปฏิบัติที่จะช่วยให้ระบบและขบวนการสหกรณ์ของพวกท่านทั้งหลาย เจริญก้าวหน้า เข้มแข็งมั่นคง เป็นประโยชน์อันเหมาะสมต่อสมาชิกสหกรณ์ ต่อสังคม และต่อประเทศชาติโดยรวม ขอบคุณครับ
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/165588