การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
(สรุปคำอภิปราย หัวข้อ “การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “ประเทศไทยกับความมั่นคงของมนุษย์: จุดยืนและก้าวต่อไป” 8-9 พฤษภาคม 2549 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
ความมั่นคงของมนุษย์ สามารถเป็นผลลัพธ์สุดท้ายของการพัฒนา ในการพัฒนาอาจ มุ่งเน้นด้านใดด้านหนึ่งหรือหลาย ๆ ด้าน แต่ท้ายที่สุดมนุษย์ทุกคนย่อมต้องการชีวิตที่มั่นคงและมีความสุข อย่างเช่น ประเทศภูฏาน ได้ริเริ่มการใช้ตัวชี้วัดการพัฒนาที่เรียกว่า ตัวชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Happiness (GNH) ความสุขของแต่ละคนอาจมีความหมายที่ต่างกันไป อาจเป็นความสุขที่ฉาบฉวยหรือโลดโผน แต่ความสุขที่ลึกซึ้งหมายถึง การมีชีวิตที่ปกติสุข ที่ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น สงบ เรียบร้อย และอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์อย่างสันติสุข หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นความมั่นคงของมนุษย์ที่ไม่ถูกกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เป็นทุกข์หรือเดือดร้อน เป็นลักษณะเดียวกันกับการพัฒนาแบบยั่งยืน ตามแบบการพัฒนาเพื่อชีวิตที่เป็นสุขของประเทศภูฏาน หรือตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ การใช้ความรู้อย่างรอบคอบ และการมีคุณธรรมความดี ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มุ่งหมายไปที่การพัฒนาที่พึงปรารถนา คือการมีชีวิตที่เป็นสุข สงบ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ยั่งยืน
เมื่อเรานิยามความมั่นคงของมนุษย์ในความหมายนี้ก็จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ ได้ทุกเรื่อง และในกรณีสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะเป็นกรณีที่ชัดที่สุดของประเทศที่จะประยุกต์แนวคิดและหลักการของความมั่นคงของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี หรืออีกนัยหนึ่ง สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นโจทย์ที่แท้จริงและท้าทายของรัฐบาลไทยและของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
หากมองว่าปัญหานี้มีความสำคัญ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ น่าจะประยุกต์ใช้ตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกระทรวงฯได้พัฒนาขึ้นมาและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยตัวชี้วัด 10 หมวด ได้แก่ (1) ที่อยู่อาศัย (2) สุขภาพอนามัย (3) การศึกษา (4) การมีงานทำและรายได้ (5) ความมั่นคงส่วนบุคคล (6) ครอบครัว (7) การสนับสนุนทางสังคม (8) สังคมและวัฒนธรรม (9) สิทธิและความเป็นธรรม และ (10) การเมืองและธรรมาภิบาล
ถ้าหากใช้ตัวชี้วัดทั้ง 10 หมวดนี้นำไปวัดความมั่นคงของมนุษย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้รู้ถึงระดับความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่นี้ได้ และหากทำอย่างต่อเนื่องทุกปีก็จะเห็นความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงในแต่ละด้าน หรือแม้แต่จะนำไปเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นก็สามารถทำได้
การประยุกต์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักอริยสัจจ์ 4
- สถานการณ์และปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ทุกข์) เป็นที่รับรู้กันอยู่เพียงพอแล้ว
- · การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สมุทัย) ควรใช้แนวที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้วิเคราะห์ไว้ โดยแบ่งสาเหตุเป็น 3 ชั้น คือ 1) ชั้นบุคคล 2) ชั้นโครงสร้าง และ 3) ชั้นวัฒนธรรม
- · การกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นิโรธ) ควรถือว่า ความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเป้าหมายสุดท้ายโดยใช้ตัวชี้วัด 10 หมวดของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ได้แก่ ที่อยู่อาศัย สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทำและรายได้ ความมั่นคงส่วนบุคคล ครอบครัว การสนับสนุนทางสังคม สังคมและวัฒนธรรม สิทธิและความเป็นธรรม และการเมืองและธรรมาภิบาล
- · แนวทางสู่เป้าหมายในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (มรรค) ควรประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ประการ ดังนี้ 1) การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่น รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) การเชื่อมประสานพลังสร้างสรรค์ของฝ่ายต่าง ๆ สู่เป้าหมายร่วมกัน 3) บทบาทเอื้ออำนวยของฝ่ายรัฐรวมถึงการมีกฎหมาย ข้อบังคับ โครงสร้างและกลไกที่เหมาะสม 4) การใช้หลักการและกระบวนการแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (หรือการสร้างสันติ-Peace Building) 5) การจัดการความรู้และพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โดยมี ชุดตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ เป็น ยุทธศาสตร์ของยุทธศาสตร์ พร้อมกับเป็น แกนหลัก และ เป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน ของยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการ ดังแสดงด้วยผังต่อไปนี้
ยุทธศาสตร์แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
9 ส.ค. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/43764