กองทุนเพื่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็ง(1)
(เรียบเรียงโดย ศรินทร์ทิพย์ จานศิลา sarintiptan@yahoo.com 0-4674-2772 ลงใน จดหมายข่าว “ป่ากับชุมชน” ฉบับ เมษายน – มิถุนายน 2549 ซึ่งจัดทำโดย “แผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย” (www.ThaiCF.org) ของ “ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC))
“กองทุน” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น
“กองทุน” เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย ควรทำเพื่อความสำเร็จของชุมชนเป็นหลัก
“ชุมชนเข้มแข็ง” คือ…….. ชุมชนที่มีความสามารถในการจัดการ
การจัดการทรัพยากรท้องถิ่นต้องอาศัยกองทุนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ต้องจัดการ “กองทุน” และ “ทรัพยากรท้องถิ่น” ภายใต้การจัดการชุมชนโดยรวม
จากคำกล่าวข้างต้นเป็นเสมือนบทสรุปในการบรรยายพิเศษของคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ในหัวข้อ “กองทุนเพื่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็ง” ในการประชุมสรุปบทเรียน เรื่อง “ป่าชุมชน…สู่ความเข้มแข็งและการพึ่งตนเองบนฐานการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น” ซึ่งมีตัวแทนจากชุมชนในพื้นที่โครงการ 8 พื้นที่ ตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรภาคีความร่วมมือเข้าร่วม เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549 จัดโดยแผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC)
หลักใหญ่ใจความสำคัญ | ได้บรรยายและชี้ให้เห็นความสำคัญของ 3 ประเด็นหลัก คือ
จัดการอะไร ? จัดการอย่างไร ? จึงจะเกิดการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนเข้มแข็งได้ จัดการให้เกิดอะไร ? ทำไมต้องจัดการ ? |
“ชุมชนเข้มแข็ง” คือ.ชุมชนที่มีความสามารถในการจัดการ ซึ่งมีทั้งการจัดการในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชน สิ่งที่ชุมชนควรรู้และต้องจัดการใน 9 เรื่อง มีรายละเอียดดังนี้
จัดการข้อมูล
จัดการอะไร
สำหรับรายละเอียดของข้อมูลจะต่างกันตรงที่มีการทำมากหรือทำน้อย ทำเป็นระยะเวลาสั้นหรือยาว ทำเป็นระบบหรือทำแบบฉาบฉวย เก็บข้อมูลอย่างหยาบหรือละเอียด ทำเป็นครั้งคราวหรือต่อเนื่อง มีการจดบันทึกหรือจัดทำเป็นเอกสารอย่างเป็นระบบ ฯลฯ
การจัดการข้อมูลถือได้ว่าเป็นเรื่องพื้นฐาน หากชุมชนสามารถจัดการข้อมูลได้ดี เก็บข้อมูลได้ละเอียดมาก เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ ก็ถือได้ว่ามีพื้นฐานที่ดีด้วย และได้ยกตัวอย่างการทำแผนชุมชนที่ถูกจุดประกายมาจากคุณประยงค์ รณรงค์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกัน มีการเก็บข้อมูลครัวเรือน ค่าใช้จ่าย และรายได้ภายในครัวเรือน เป็นต้น
จัดการความรู้
พยายามรวบรวม ชักจูงให้นำความรู้เหล่านั้นออกมาจากผู้รู้ ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์คุณธรรมฯ ได้ส่งเสริมเรื่องการจัดการความรู้ในเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ โดยการค้นหาว่าใครเก่งเรื่องอะไร ใครรู้ ใครทำเรื่องอะไรได้ ใครมีความดีอะไร แล้วนำมาติดป้ายไว้ที่ศูนย์กลางของหมู่บ้าน ฯลฯ นอกจากนั้นการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันก็ทำให้เกิดการจัดการความรู้ ข้อดีของการจัดการความรู้ คือ เป็นการสื่อสัมพันธไมตรี เกิดปัญญา อีกทั้งยังได้แนวทางการดำเนินชีวิตและแนวทางในการทำมาหากินอีกด้วย
จัดการคน
คนเรามีความแตกต่างกัน เช่น บางคนเป็นคนดีบางคนก่อกวนและสร้างปัญหา ดังนั้น ในการจัดการคนจึงต้องมีความเหมาะสม ยกตัวอย่างหมู่บ้านสามขา จังหวัดลำปางที่มีกิจกรรมมากมาย สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่นั่นใช้หลัก 10% นั่นคือ ในคน 10 คน อย่างน้อยน่าจะมีคนเก่ง รู้เรื่องราวต่างๆ และเป็นคนดี อย่างน้อย 1 คน จากนั้นรวบรวมคนเหล่านั้นแล้วจัดตั้งเป็นสภาหมู่บ้าน นัดพบปะกันเป็นประจำ และที่สำคัญ ”คน” เป็นต้นเหตุของความดี ความไม่ดี ความสำเร็จ และความไม่สำเร็จ
จัดการความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์ดีมาก คือ การมีความสามัคคี ไว้ใจได้ รักใคร่ กลมเกลียว ร่วมกันทำงาน (การจัดการความสัมพันธ์ อาจใช้คำว่า การจัดการทางสังคมหรือเชิงสังคม ) และเป็นที่มาของการจัดตั้งวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.) ซึ่งมีหลักสูตรเกี่ยวกับการจัดการความสัมพันธ์และสังคม
จัดการกิจกรรม
ยกตัวอย่างเช่น การรวมตัวกันทำวิสาหกิจชุมชน การรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในชุมชน ฯลฯ
จัดการเงิน
ยกตัวอย่างเช่น การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย สามารถตรวจสอบได้ โปร่งใส มีเงินหมุนเวียนพอใช้
จัดการกองทุน
มีการเก็บเงินออม มีสมาชิก มีการชำระหนี้ มีการนำผลกำไรมาใช้ประโยชน์ต่างๆ
จัดการองค์กร
มีการจัดตั้งองค์กรทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถทำสัญญา และเสียภาษีได้ เช่น สหกรณ์ กลุ่มอนุรักษ์ป่า กลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น สำหรับการจัดการองค์กรนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน งบประมาณเท่าไหร่ การดำเนินงานเป็นอย่างไร เป็นต้น
จัดการชุมชน
เป็นการจัดการทุกเรื่องในชุมชน เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ จัดการทั้งหมดเป็นองค์รวมและบูรณาการ
การที่ชุมชนจะเข้มแข็งได้นั้น ชุมชนต้องสามารถจัดการเรื่องต่างๆ ทั้ง 9 เรื่องข้างต้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการจัดการที่ชุมชนทำอยู่แล้ว เพียงแต่มากน้อยต่างกัน
จัดการอย่างไร
“วงจรการจัดการ”
วงจรการจัดการ เป็นวัฏจักร หมุนวนกันไปเรื่อยๆ มี 5 ขั้นตอนหลัก ประกอบด้วย 1) การเรียนรู้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นฐาน ที่มาจากประสบการณ์ และการแลกเปลี่ยน 2) การใช้ความคิด มาจากการพูดคุยกัน และจากการเรียนรู้ 3) การวางแผน มาจากความตั้งใจในการจะดำเนินการอะไร ซึ่งหากมีการจดบันทึกจะเป็นการดี 4) การทำ และสุดท้าย คือ 5) การวัดผล
จัดการให้เกิดอะไร
นิยามของคำว่า “ทุน” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงทุนที่เป็น “เงิน” แต่ทุนโดยแท้จริงแล้วมีหลายประเภท ได้แก่ สิ่งแรกที่ต้องพยายามให้เกิดคือ ความดี ถ้าไม่มีจะสั่นคลอน ในขณะเดียวกันความดีต้องควบคู่ไปกับความถูกต้อง ดีงาม มีศีลธรรม จริยธรรม และความสุจริต ซึ่งเป็นพื้นฐานในการนำไปสู่ความสำเร็จ นอกจากนั้นการจัดการยังมีเป้าหมายเพื่อให้กิดความสามารถ ความสามัคคี และความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จที่ดี มั่นคง และยั่งยืนนั้นจะต้องมาจากทั้ง 3 ส่วนรวมกันคือ ความดี ความสามารถ และความสามัคคี
ทุนธรรมชาติ เช่น ป่า ต้นไม้ น้ำ เป็นต้น
ทุนมนุษย์ เช่น คนที่มีความรู้ ความดี ความสามารถ เป็นต้น
ทุนเงิน เช่น เงินทองที่นำมาจับจ่ายใช้สอย เงินที่ยืมมา ได้รับการจัดสรรมา เป็นต้น
ทุนทางสังคม เช่น ความสัมพันธ์ที่ดีของคนในสังคม รักใคร่ สามัคคี ทำงานร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง มีพลัง เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป “การจัดการคน จัดการเงิน จัดการทรัพยากรท้องถิ่น และอื่นๆ ควรทำภายใต้แนวคิดของการจัดการชุมชนให้ดี หากชุมชนใดมีกองทุนอยู่แล้ว มีกลุ่มออมทรัพย์อยู่แล้ว ก็สามารถกันเงินออกมาส่วนหนึ่ง เพื่อทำเรื่องทรัพยากรได้ อาจเป็นกองทุนใหญ่หรือเล็ก หรือตั้งขึ้นมาใหม่ก็ได้ ยกตัวอย่างการจัดการที่น่าสนใจและเกิดขึ้นแล้วของชุมชนคลองเปี๊ยะ จังหวัดสงขลา มีโครงการพ่อแม่ปลูกต้นไม้ให้ลูก หรือการจัดการกองทุนสวัสดิการที่จังหวัดสงขลา (ครูชบ ยอดแก้ว) และรวมทั้งกองทุนสวัสดิการวันละบาทที่จังหวัดลำปาง
กองทุนทรัพยากรอาจอยู่ในกองทุนใหญ่ก็ได้ ซึ่งต้องเป็นกองทุนที่มีความตั้งใจ มีวัตถุประสงค์ มีกิจกรรม และมีคนดูแลชัดเจน หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร จะเอาเงินจากไหน ก็ขอให้เริ่มต้นที่ตัวเราเอง
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
2 ก.ค. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/42205