“กระบวนการสันติ” และการเยี่ยม “พี่น้อง” ที่สนามหลวง
(4 – 5 มี.ค. 49) ไปร่วมงานประชุมหารือกับ คุณจอน อึ๊งภากรณ์ (สมาชิกวุฒิสภาและผู้รับรางวัลแม็กไซไซคนล่าสุดของประเทศไทย) และคนอื่นๆอีกประมาณ 15 คน เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 49 เกี่ยวกับภาวะวิกฤตทางการเมืองและทางสังคม มีข้อสรุปเป็น “จดหมายเปิดผนึก” ของกลุ่มที่ไปร่วมประชุมหารือซึ่งลงใน นสพ.มติชน วันที่ 5 มี.ค. 49 หน้า 2 ดังนี้
จดหมายเปิดผนึกจากส.ว.-นักวิชาการ ถึงประชาชนชาวไทย-วอนใช้”สันติ”
เช้าวันนี้ (4 มีนาคม) บุคคลผู้มีรายนามข้างท้ายนี้ ได้ร่วมกันปรึกษาหารือถึงสถานการณ์ปัจจุบันด้วยความห่วงใยว่าอาจจะเกิดความรุนแรง จึงมีความเห็นร่วมกันว่า
1.การชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย และไม่ใช้กำลัง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย มีความชอบธรรม เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
2.การต่อสู้และความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสันติที่เกิดขึ้น เป็นวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทางการเมืองอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำคัญ และเป็นเวทีการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของพลเมือง
3. ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ และส่วนอื่นๆ พึงตระหนักในบทบาทของการส่งเสริมให้เกิดความสงบ สันติ และเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางการเมือง โดยวางตัวเป็นกลางและไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเคร่งครัด
4.ขอให้ผู้ชุมนุมทุกกลุ่มยึดมั่นในสันติวิธี และหลีกเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงทุกรูปแบบ
5.ขอเรียกร้องต่อประชาชนไทยให้ร่วมกันตรวจสอบสื่อสารมวลชนทุกแขนง และร่วมกันสร้างสรรค์มาตรการเพื่อลงโทษสื่อที่บิดเบือน เลือกปฏิบัติ อาทิ การเชิญชวนให้งดเว้นการดู ฟัง และอ่าน หรืองดเว้นการซื้อสินค้าที่ลงโฆษณาในสื่อนั้น เป็นต้น
4 มีนาคม 2549
เกษม ศิริสัมพันธ์ จอน อึ๊งภากรณ์ นิธิ เอียวศรีวงศ์
นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ทิชา ณ นคร ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
พระไพศาล วิสาโล มาลี พฤกษ์พงศาวลี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
วิรัตน์ วัฒนศิริธรรม ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
อมรา พงศาพิชญ์ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์
ไปเยี่ยม “พี่น้อง” ที่สนามหลวง
ตอนเย็นของวันที่ 5 มี.ค. 49 ได้ไปเยี่ยม “พี่น้อง” ซึ่งชุมนุมกันอยู่ที่ ท้องสนามหลวง โดยอัดสำเนาข้อความดังต่อไปนี้ ไปเผยแพร่ด้วย
“ผมสนับสนุน
กระบวนการชุมนุมของกลุ่มประชาชน เพื่อแสดงความเห็นและเรียกร้อง
อย่างสงบ สันติ อดทน อดกลั้น โดยใช้สติ ปัญญา ความดี ความรู้ เป็นพลังสำคัญ
เพราะนี่คือกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและร่วมไตร่ตรอง ที่มีความชอบธรรมและเหมาะสม
ตามหลักการและเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (มาตรา 76 และอื่นๆ)
รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ถือปฏิบัติกันในประเทศที่ได้รับการพัฒนาทางการเมืองมากกว่าประเทศไทยอีกด้วย
ด้วยความปรารถนาดีต่อส่วนรวม
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม 5 มีนาคม 2549”
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
10 มี.ค. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/18423