ภูเขาซึ่งขวางกั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภูเขาซึ่งขวางกั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน


    การพัฒนาที่หนุนนำด้วยความโลภ ความหลง และความรุนแรง  จะมีความยั่งยืนน้อย ส่วนการพัฒนาที่หนุนนำด้วย ความดี ความจริงและความงาม ย่อมจะมีความยั่งยืนมาก และ การพัฒนาแบบหลังนี้ คือการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไร
            การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) คือ การพัฒนาที่สามารถดำเนินไปได้อย่างมั่นคง ราบรื่น โดยไม่เกิดสภาพที่ไม่พึงปรารถนาอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนานั้นเอง
            การพัฒนาที่ไปตัดไม้ทำลายป่า ทำลายดิน ทำลายน้ำ ส่งก๊าซบางชนิดสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ผืนป่าเหลือน้อย ดินเสื่อม น้ำเสีย ชั้นบรรยากาศเปลี่ยนแปลงนำสู่ภาวะ “โลกร้อน” ซึ่งจะทำให้นำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นจนท่วมพื้นดินจำนวนมาก สภาพเหล่านี้คือการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เพราะยิ่งดำเนินไปก็ยิ่งเกิดความเสียหายต่อโลก ต่อมนุษย์ ต่อสัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
การพัฒนาที่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือความระส่ำระสายทางการเมือง เกิดความแตกแยกระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่มคน หรือระหว่างประเทศ เกิดการใช้ความรุนแรงถึงขั้นประหัตประหารกันด้วยอาวุธ เช่นนี้ก็เรียกว่าการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
การพัฒนาที่ทำให้สังคมไม่สงบสุข เกิดอาชญากรรม มีความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการเสพสิ่งเสพติดมอมเมากันมาก มีการพนันเป็นวิถีชีวิต ครอบครัวแตกแยก มีการประพฤติปฏิบัติผิดศีลธรรมจรรยา รวมถึงการทุจริตคอรัปชันกันมาก สังคมเช่นนี้เป็นผลของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
การพัฒนาที่ทำให้ชีวิตคนขาดความสุข คนมีความเครียดสูง มีสภาพจิตใจไม่มั่นคง มีผู้ฆ่าตัวตายหรือคิดฆ่าตัวตายในอัตราส่วนสูง คนจำนวนมากมีอารมณ์ซึมเศร้า เป็นทุกข์ วิตก กังวล บางส่วนถึงขั้นวิกลจริต บางส่วนแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงต่อผู้อื่น สภาพดังกล่าวนี้ก็เป็นผลพวงของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

จากสภาพที่บรรยายมาข้างต้น สรุปได้ว่าการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน แสดงตัวได้หลายแบบ รวมถึง  (1) ความไม่ยั่งยืนเชิงกายภาพ (2) ความไม่ยั่งยืนเชิงการเมือง (3) ความไม่ยั่งยืนเชิงสังคม และ (4) ความไม่ยั่งยืนเชิงจิตใจ

การพัฒนาในปัจจุบันเป็นอย่างไร
            การพัฒนาในปัจจุบัน ทั้งในประเทศไทยและในโลกโดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่า ยังอยู่ในสภาพของการพัฒนาที่มีความยั่งยืนน้อย
            ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากสภาพทางกายภาพ ทางการเมือง ทางสังคมและทางจิตใจ และเทียบเคียงกับลักษณะดังบรรยายไว้ข้างต้น
ขณะนี้ สภาวะทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึง ดิน น้ำ ป่า ถูกทำลาย และสภาวะ “โลกร้อน” กำลังเกิดขึ้นจริงและถึงขั้นน่าเป็นห่วงสำหรับประชากรโลกโดยรวม
ความไม่มั่นคงและความขัดแย้งทางการเมือง เป็นปัญหาที่กระจายตัวอยู่มากในโลก รวมถึงประเทศไทย หลายกรณีมีการใช้อาวุธทำร้ายซึ่งกันและกันอย่างรุนแรง รวมถึงในประเทศไทยอีกเช่นกัน
ความไม่สงบสุขในสังคม  และการขาดความสุขในชีวิตของผู้คน  ที่ปรากฏในลักษณะต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและในโลกโดยทั่วไป ทั้งในประเทศที่ถูกเรียกว่ากำลังพัฒนาและประเทศที่ถูกเรียกว่าพัฒนาแล้ว ยังเป็นเรื่องปกติที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงได้อย่างน่าพึงพอใจ
จึงต้องสรุปว่า ทั้งในประเทศไทยและในโลก สภาพการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่มีความยั่งยืนมากยังไม่บังเกิดขึ้น หรือยังไม่บังเกิดขึ้นถึงระดับที่น่าพอใจ แต่ก็ถือเป็นข้อท้าทายที่สำคัญสำหรับการพัฒนาในศตวรรษนี้

ภูเขาซึ่งขวางกั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน
            ทั้ง ๆที่คนทั้งหลายปรารถนาการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ไฉนโลกจึงไม่บรรลุความสำเร็จในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน?
            อะไรคืออุปสรรคสำคัญ หรือ “ภูเขา” ซึ่งขวางกั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน?
            ในความเห็นของผม การพัฒนาทั้งในประเทศไทยและในโลก ยังมีความยั่งยืนน้อย เพราะมีอุปสรรคสำคัญหรือ “ภูเขา” 3 ลูกขวางกั้นอยู่ ได้แก่
ภูเขาลูกที่หนึ่ง “ความโลภ” คือความอยากรวย อยากบริโภค อยากมีทรัพย์สินเงินทอง อยากมีอำนาจ ตำแหน่ง ฐานะ บารมี และความโลภในลักษณะต่างๆ นี้ มักมีแบบอย่างไม่รู้จักพอในหมู่คนจำนวนมาก นำไปสู่การแก่งแย่งแข่งขันและการทำลายธรรมชาติ ทำลายสังคม วัฒนธรรม ศีลธรรมฯลฯ ไม่มีที่สิ้นสุด
ภูเขาลูกที่สอง “ความหลง” คือความหลงผิดติดยึดในตัวตน เอาตัวเองเป็นใหญ่ ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตัวเองเป็นแรงผลักดัน ทำให้เน้นการมีอำนาจ มีตำแหน่ง มีบทบาทชี้นำความเป็นไปของผู้อื่น ของกลุ่มคน ของสังคม ของประเทศและของโลก ให้ไปในแนวทางที่ตนเองติดยึดอยู่ ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมและในโลก จึงเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง อันมีเหตุปัจจัย จาก “ความหลง” โดยเฉพาะของผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางสังคม
ภูเขาลูกที่สาม “ความรุนแรง” ซึ่งเป็นลักษณะที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน แต่โดยทั่วไปจะถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นหรือตนเอง ต่อเมื่อความโลภและความหลงเกิดขัดข้องไม่เป็นไปดังปรารถนา สัญชาตญาณความรุนแรงก็มักแสดงตัวในรูปของความก้าวร้าว การดูหมิ่นเหยียดหยาม การยั่วยุท้าทาย การกดดันบีบคั้น ตลอดถึงการทำร้ายและทำลายด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งทางกาย ทางกฏหมาย ทางสังคม และทางจิตใจ
การพัฒนาที่ยั่งยืนควรเป็นการพัฒนาแบบใด
            ผมเห็นว่า  หลักการและแนวทางของ “เศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency Economy) ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  น่าจะเป็นรูปแบบของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”
(Sustainable Development) ได้เป็นอย่างดี
            “เศรษฐกิจพอเพียง” มีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ (1) หลักความพอประมาณ (2) หลักความมีเหตุผล (3) หลักการมีภูมิคุ้มกันที่ดี (4) หลักการใช้ความรู้ และ (5) หลักการมีคุณธรรม
กล่าวอีกนัยหนึ่ง “เศรษฐกิจพอเพียง” คือ เศรษฐกิจแบบไม่โลภมาก แบบรู้จักพอ เน้นความพอประมาณ ความพอดี ความสมดุลย์ ความมั่นคง พร้อมกับใช้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ค้นหาความจริงให้ถ่องแท้ พิจารณาความเหมาะสมด้วยเหตุด้วยผล มีความรอบคอบระมัดระวัง และมีคุณธรรมจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความมานะพากเพียร ความอดทนอดกลั้น เป็นบรรทัดฐานและเป็นหลักยึดในการประพฤติปฏิบัติ
หรืออาจสรุปเป็นสาระสำคัญว่า “เศรษฐกิจพอเพียง คือ เศรษฐกิจรู้จักพอ ที่มุ่งให้เกิดความเพียงพอ อย่างพอประมาณและพอดี”
            ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงน่าจะเป็นการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเป็นแนวทางพัฒนาที่จะห่างไกลจาก “ความโลภ ความหลง และความรุนแรง” ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน หรือเป็นแนวทางการพัฒนาที่มีความดี ความจริง และความงาม เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญ
แนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
            หากเปรียบเทียบว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน มีภูเขาแห่งความโลภ ความหลง และความรุนแรง ขวางกั้นอยู่ เราก็น่าจะนำยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้สามารถเขยื้อนภูเขาที่เป็นอุปสรรค และนำพาสังคมเข้าสู่แนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นผลสำเร็จ
            ยอดบนของสามเหลี่ยม คือ “พลังปัญญา” หรือ พลังความรู้และการจัดการความรู้” ในประเทศไทยและในโลก มีการพัฒนาในระดับต่างๆ ที่พอจะถือได้ว่า เป็นการพัฒนาในแนวของ “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือที่มีลักษณะเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ “การจัดการความรู้” (Knowledge  Management) ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นที่เข้าใจ ได้รับการเรียนรู้และเกิดการขยายผลยกระดับทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณไปได้เรื่อยๆ
พร้อมกันนั้นก็ควรมีการศึกษาวิจัยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาแบบยั่งยืน เพื่อให้มีข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ ความเข้าใจ และภูมิปัญญาสะสม อันจะเป็นประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ การเผยแพร่ ตลอดจนการนำไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ หรือระดับโลก
มุมที่สองของสามเหลี่ยม ซึ่งอยู่ที่ฐานของสามเหลี่ยมด้านหนึ่ง คือ “พลังสังคม” อันได้แก่ การส่งเสริมการรวมตัวกันเป็นองค์กร เป็นเครือข่าย เป็นเครือข่ายของเครือข่าย และเป็นขบวนการ (Movement) ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาแบบยั่งยืน การเชื่อมประสานโยงใยขับเคลื่อนอย่างเป็นขบวนการทางสังคม จะสร้างการเรียนรู้การปฏิบัติ การประสานพลัง และผลสะเทือนในแง่มุมต่างๆ ที่มากขึ้น เข้มแข็งขึ้น กว้างขวางขึ้น เป็นลำดับ
ส่วนที่ฐานของสามเหลี่ยมอีกด้านหนึ่งได้แก่ “พลังนโยบาย” ซึ่งได้แก่การคิดค้น พิจารณา กำหนด และดำเนินนโยบาย โดยฝ่ายการเมืองและหรือหน่วยงานสาธารณะ ทั่งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับนานาชาติ และระดับโลก นโยบายที่ชี้ทิศทางและหรือเอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาแบบยั่งยืน ย่อมช่วยให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนที่มากขึ้นและดีขึ้น ในบริบทที่นโยบายนั้นๆ สามารถส่งผลถึงได้
เมื่อพลังทั้งสามของสามเหลี่ยม อันได้แก่ “พลังปัญญา” “พลังสังคม” และ “พลังนโยบาย” ได้รับการขับเคลื่อนอย่างสอดประสานกันจะเกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ สามารถเขยื้อนภูเขาได้
นั่นคือ เมื่อขับเคลื่อน “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “การพัฒนาแบบยั่งยืน” ด้วย “พลังปัญญา” “พลังสังคม” และ “พลังนโยบาย” อย่างจริงจังและต่อเนื่อง “ภูเขาแห่งความโลภ ความหลง และความรุนแรง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน จะค่อยๆ ถูกเขยื้อนออกไป มี “ความดี ความจริง และความงาม” อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานอยู่ใน “เศรษฐกิจพอเพียง” เข้ามาแทนที่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ทั้งในประเทศไทยและในโลก  จึงมีความเป็นไปได้ด้วยประการฉะนี้.

หมายเหตุ  เป็นบทความนำเสนอหลังการปราฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมทางวิชาการ ของ “สมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (สออ.) ประจำประเทศไทย” ครั้งที่ 16 (The 16th Inter-University Conference on “Education for Sustainable Development”) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2549 ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.กันทรชัย จ.มหาสารคาม (ศ.นพ.อดุลย์ วิริยเวชกุล เป็นอธิการบดี และเป็นประธานสมาคมฯ (สออ.ประเทศไทย) ด้วย)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
5 เมษายน 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/22726

<<< กลับ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *