จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 28 (10 ก.ย. 50) ต่อ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 28 (10 ก.ย. 50) ต่อ


    มาตรา ๑๒  ให้ที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(๑)ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างสภาองค์กรชุมชนเพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

(๒) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขและการพัฒนาจังหวัดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อนำไป ประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด

(๓) เสนอแนะต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนในเรื่อง การจัดทำบริการสาธารณะ และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ของหน่วยงานของรัฐในระดับจังหวัด  หรือขององค์การบริหารส่วนจังหวัด

(๔) เสนอข้อคิดเห็นในเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดปรึกษา

(๕)แต่งตั้งผู้แทนที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน เพื่อไปร่วมประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน

มาตรา ๑๓ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตามเห็นสมควร

                                                                                                หมวด ๓

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน

………………………….

มาตรา ๑๔ ในปีหนึ่งให้มีการจัดประชุม ในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ

                มาตรา ๑๕ ในการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมมีสิทธิเข้าร่วมประชุม แสดงความคิดเห็น และลงมติ

(๑) ผู้แทนของที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตามที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๒

(๒) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้แทนของที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตาม (๑) เสนอให้เชิญมาร่วมประชุมมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของผู้แทนตาม (๑)

หลักเกณฑ์การเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๒) ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมของผู้แทนตาม (๑)

มาตรา ๑๖ ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชน ในระดับให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการพิจารณา

(๒) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ การกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย  รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ ของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม

(๓) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ

(๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา ๑๗ ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปตามควรแก่กรณี และจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดประชุมของสภาองค์กรชุมชนและการประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนด้วยก็ได้

หมวด ๔

การส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชน

………………………….

                มาตรา ๑๘  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๓ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งและพัฒนากิจการของสภาองค์กรชุมชน  และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ประสานและดำเนินการให้มีการจัดตั้งและดำเนินการของสภาองค์กรชุมชน รวมทั้งเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กิจการเกี่ยวกับสภาองค์กรชุมชน และผลการประชุมของการประชุมระดับจังหวัดและระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน

(๒) รวบรวมข้อมูล ศึกษา วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับงานของสภาองค์กรชุมชน

(๓) ประสานและร่วมมือกับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคม ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

(๔) จัดทำทะเบียนกลางเกี่ยวกับสภาองค์กรชุมชน

(๕) จัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติจัดตั้งและดำเนินการของสภาองค์กรชุมชนและผลการประชุมในทุกระดับแล้วเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ และรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติหรือรัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้   นายกรัฐมนตรีโดยการเสนอแนะของที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนอาจออกระเบียบว่าด้วยการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชน และอาจจัดให้มีคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

……………………………………..

นายกรัฐมนตรี

(ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ….. ฉบับปรุงปรุงเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๐)

ต่อมา เมื่อวันอังคารที่ 4 ก.ย. 50 ท่านรองนายกฯขอให้ผมนำเรื่องร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน เข้าหารือในช่วงประชุม ครม. “นอกรอบ” (ก่อนประชุมตามวาระปกติ และไม่มีข้าราชการร่วมประชุมด้วย)

ในการนี้ กะทรวง พม. ได้ทำ “ถาม-ตอบ สาระสำคัญของ ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน” เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ดังนี้ครับ

                                                            ถาม – ตอบ

                                                สาระสำคัญของสภาองค์กรชุมชน

  1. สภาองค์กรชุมชนคืออะไร ?

                สภาองค์กรชุมชน หมายถึง เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยคนในชุมชนท้องถิ่น และเพื่อคนในชุมชนท้องถิ่น เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าวประกอบด้วย ตัวแทนของสถาบันในชุมชนท้องถิ่น เช่น วัด โรงเรียน สถานีอนามัย เป็นต้น ตัวแทนของกลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มโรงสี กลุ่มอนุรักษ์ป่า และกลุ่มกิจกรรมพัฒนาอื่นๆ ที่มีอยู่ในแต่ละชุมชน โดยมีผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการ เช่น ผู้รู้ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน  และผู้นำทางการได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในชุมชนท้องถิ่น เข้ามาร่วมใช้เวทีพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน เป็นระบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่อดีตแล้ว ตัวอย่างของจัดการตนเองในรูปแบบของสภาองค์กรชุมชน เช่น สภาผู้นำตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช สภาผู้นำของตำบลเสียว กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ สภาซูรอของชุมชนมุสลิม เป็นต้น

  1. หลักการสำคัญของสภาองค์กรชุมชนคืออะไร

                ( 1) จุดมุ่งหมายของ สภาองค์กรชุมชนเป็นกระบวนการเสริมสร้างองค์กรชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งที่ให้องค์กรชุมชนมีสถานภาพที่ชัดเจนในการดำเนินงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ร่วมกับ สถาบันต่าง ๆ ในท้องถิ่น

                (2) การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ให้เป็นไปตามความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น ตามธรรมชาติสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชุมชน และความเห็นพ้องต้องกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง

                (3) ภารกิจหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชน เน้นการดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่ด้านการพัฒนาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ และ ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย

                (4) กระบวนการทำงานสำคัญของสภาองค์กรชุมชน เน้นการสร้างประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือและการเมืองสมานฉันท์ที่สร้างการมีส่วนร่วม ความร่วมมือผนึกกำลัง และการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกองค์กรชุม กับ สถาบันต่าง ๆ ในท้องถิ่น เช่น บ้าน วัด โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

                (5) ให้ความสำคัญกับสภาองค์กรชุมชนในระดับพื้นที่ และส่งเสริมการเชื่อมโยงสภาองค์กรชุมชน ในระดับจังหวัดและระดับชาติ

  1. มี พรบ. สภาองค์กรชุมชน แล้วเกิดประโยชน์อย่างไร

                (1) ทำให้ชุมชนท้องถิ่น มีเวทีกลางของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ  คนที่มีความตั้งใจทำสิ่งดี ๆ เพื่อชุมชน หรือคนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อหาทางแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อชุมชนท้องถิ่น ร่วมกัน

                (2) ทำให้เกิดความร่วมมือ และลดปัญหาความขัดแย้ง การแบ่งฝ่ายในชุมชน เพราะสภาองค์กรชุมชนเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือของทุกฝ่ายร่วมกัน ไม่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป รวมทั้งการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมป์ ของผู้อิทธิพลเนื่องจากกระบวนการตัดสินใจใช้มาจากข้อมูล และความเห็นพ้องต้องกันของคนส่วนใหญ่

                (3) ทำให้ชุมชนเกิดการจัดการความรู้เกี่ยวกับการจัดการตนเองของชุมชนที่เกิดจากการปฏิบัติจริง และเกิดการขยายผลออกไปสู่วงกว้างอย่างเป็นกระบวนการ นั่นหมายถึงรูปแบบ ทิศทาง การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจะเปลี่ยนจากการรอคอยให้คนอื่นทำให้ มาเป็นคนในชุมชนท้องถิ่นเป็นคนคิดริเริ่ม และดำเนินการกันเองเป็นหลัก เป็นรูปแบบการพัฒนาที่ยึดเอาชุมชนเป็นแกนกลาง ชุมชนชาวบ้านมีบทบาทสำคัญแต่ยังคงร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

                (4) ทำให้เกิดประชาธิปไตยชุมชนที่เข้มแข็ง เพราะสภาองค์กรชุมชนมีกระบวนการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือทำให้คน กลุ่มคน เข้ามาร่วมกันทำโดยผ่านระบบตัวแทนน้อยที่สุด

  1. ภารกิจหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชนคืออะไร ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือไม่

                (1) สภาองค์กรชุมชนมีภารกิจที่สำคัญ คือ การสร้างความเข้มแข็งของสมาชิกและองค์กรชุมชนในตำบลให้สามารถพึ่งพาตนเองได้  มีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลอนุรักษ์ วัฒนธรรมภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ข้อคิดเห็น กับโครงการต่างที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาระหน้าที่ที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาองค์กรชุมชนมีหน้าที่ให้ข้อมูล การเสนอปัญหา ความต้องการ ตลอดจนแนวทางการพัฒนา แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปพิจารณา  โดยไม่มีอำนาจที่จะไปดำเนินการใด ๆ ที่ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอีกด้านหนึ่งเท่ากับสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกที่เกื้อหนุนต่อการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น

5 สภาองค์กรชุมชนเป็นหน่วยงานราชการหรือไม่ และถ้ามี พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน จะทำให้ชุมชนเสียความเป็นอิสระตามธรรมชาติได้หรือไม่ 

สภาองค์กรชุมชนไม่เป็นหน่วยราชการเพราะกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมีสภาองค์กรชุมชน และไม่ได้กำหนดรายละเอียดของสภาองค์กรชุมชนว่าจะต้องเป็นอย่างไร  เพียงแต่ส่งเสริมการมี และให้สถานภาพกับองค์กรชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนในท้องถิ่นด้วยจิตอาสา ด้วยความเคารพนับถือกัน ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการให้คุณให้โทษ มารวมกันตามกำหนดนัดเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็แยกย้ายกันไป การจัดประชุมสภาองค์กรชุมชนอาจใช้สถานที่ของวัด โรงเรียน หรือที่ที่เหมาะสมตามสภาพของแต่ละชุมชนท้องถิ่น จึงไม่มีสำนักงาน ไม่มีสายบังคับบัญชาเชิงอำนาจเหมือนระบบราชการ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสภาองค์กรชุมชนไม่ใช่การตั้งหน่วยราชการใหม่เพื่อลงไปดำเนินงานในพื้นที่ แต่เป็นการรวมกัน และวางระบบการบริหารจัดการกันเองของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยมีหน่วยงานราชการและหน่วยงานภายนอกเข้าไปหนุนเสริมมากกว่า  

                ดังนั้นการมีสภาองค์ชุมชนจึงไม่ไปทำให้ชุมชนต้องสูญเสียความเป็นธรรมชาติและความเป็นอิสระแต่อย่างไร ซึ่งถ้าหากชุมชนท้องถิ่นใดที่มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสภาองค์กรชุมชนอยู่แล้ว ก็สามารถจะดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ต้องตั้งสภาองค์กรชุมชนขึ้นมาใหม่

  1. สภาองค์กรชุมชนจะก่อให้เกิดความขัดแข้งแตกแยกขึ้นในพื้นที่หรือไม่ 

                สภาองค์กรชุมชน มีบทบาทและหน้าที่หนุนเสริมกลไกการทำงานที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์มากขึ้น จึงไม่มีความซ้ำซ้อน ไม่มีการแย่งชิงบทบาทหน้าที่ แต่มีกระบวนการทำงานที่เน้นความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มิได้ทำงานแบบแยกส่วนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาฯ เป็นกลไกแห่งความร่วมมือและการใช้ปัญญามิใช่กลไกแห่งอำนาจและผลประโยชน์ เป็นการทำงานแบบจิตอาสา ตรงกันข้ามจะมีส่วนช่วยทำให้ความขัดแย้งแตกแยกในชุมชน (ที่เกิดจากการเลือกตั้งแบบการแข่งขัน และสาเหตุอื่น ๆ ) ลดลงเสียด้วยซ้ำ

  1. ถ้าไม่มีสภาองค์กรชุมชน ชุมชนจะยังคงสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นได้หรือไม่

การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ได้กำหนดเป็นเป้าหมายการทำงานร่วมกัน และ มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่มี พรบ. สภาองค์กรชุมชน ก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามสภาพ แต่อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร จะมีแนวโน้มของการพัฒนาที่คนภายนอกมีความสำคัญมากกว่าคนภายใน และปัญหาต่าง ๆ ของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจะยังคงอยู่ รวมถึงปัญหาความอ่อนแอของชุมชน การจัดงบประมาณซ้ำซ้อนสิ้นเปลือง การเกิดความขัดแย้งแตกแยกในชุมชน การเกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน การประพฤติมิชอบทุจริตคอรัปชั่น และอื่นๆ

แต่ถ้าหากมี พรบ. สภาองค์กรชุมชน จะทำให้องค์กรชุมชนมีสถานภาพที่ชัดเจนและมีบทบาท เป็นแกนหลัก เกิดการปรับเปลี่ยนบทบาทในการทำงานพัฒนาใหม่ โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องที่แท้จริงจำนวนมากขึ้น การแก้ไขปัญหาจึงมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามสภาพของแต่ละชุมชนท้องถิ่น และจะทำให้เกิดการเรียนรู้ขององค์กรชุมชนอย่างกว้างขวาง อันนำไปสู่การขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพบนฐานของความรู้เกิดจากปฏิบัติการจริง ซึ่งในปัจจุบันมีกรณีตัวอย่างรูปธรรมความร่วมมือกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่เกิดผลดีอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง (ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนามายาวนาน)  การมีกฎหมายจะช่วยให้เกิดการขยายไปสู่พื้นที่ที่กำลังเริ่มทำมีความมั่นใจและขยายได้เร็วขึ้น ทันต่อกระแสภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ให้การร่วมกันพัฒนาจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นขยายกว้างขวางขึ้น

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/126815

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 28 (10 ก.ย. 50) ต่อ 2

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 28 (10 ก.ย. 50) ต่อ 2


        ที่ประชุม “นอกรอบ” ของ ครม. ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านร่าง พรบ. นี้ (ฝ่ายคัดค้าน คือ “เจ้าเก่า” นั่นเอง) และไม่สามารถหาข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันได้

                ในที่สุด ท่านนายกฯเลยตัดสินว่า ขอให้ออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และดำเนินการไปก่อน ในอนาคตหากผลการดำเนินการออกมาดีจริงและมีเหตุผลเหมาะสมในขณะนั้นก็จะสามารถพิจารณาออกเป็นพระราชบัญญัติได้ (ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาหลังจากรัฐบาลนี้)

                เมื่อท่านนายกฯตัดสินเช่นนี้ ดูว่าที่ประชุมยอมรับ โดยผมเองคิดว่าเป็นแนวทางที่ “พอรับได้” แม้ไม่ดีเท่าที่คาดหวังและได้ใช้ความพยายามทำให้เกิดขึ้น

                ตอนที่ 1 ของฉากที่ 2 นี้ จึงจบลงด้วยการที่ กระทรวง พม. จะไปดำเนินการยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน (หรือชื่ออะไรทำนองนี้) แล้วนำมาเสนอ ครม. ภายในเร็ววัน (คงภายใน 2-3 สัปดาห์)

                ในจดหมายฉบับหน้า ผมจะได้เล่าถึงตอนที่ 2 ของฉากที่ 2 ที่มี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นตัวละครสำคัญ

                                                                                สวัสดีครับ

                                                                        ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/126817

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 29 (17 ก.ย. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 29 (17 ก.ย. 50)


“ละคร” กฎหมายสภาองค์กรชุมชน (ฉากที่ 2 ตอนที่ 2)

                เรื่องร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ….. เมื่อท่านนายกฯตัดสินว่าให้ปรับเป็นออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแทนการเสนอ ร่าง พรบ. สู่ สนช. ทางกระทรวง พม. และ พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) จึงกลับไปพิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะใช้ชื่อว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน

                ผมได้แนะว่าให้ยังคงใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ โดยเฉพาะให้มีผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชน ผู้แทนสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย นักวิชาการ และผู้แทนกระทรวง พม./พอช. มาร่วมหารือกัน

                ในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจากที่สมาชิก 60 คน ได้นำเสนอร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ….. เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 50 และรัฐบาลได้ขอรับมาพิจารณาภายใน 30 วัน ก่อนรับหลักการแล้ว ก็ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 50 มีผู้ไปร่วมประชุมประมาณ 200 คน หลายคนคือผู้ที่ไปร่วมประชุมเมื่อกระทรวง พม. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 50 ด้วย

                ความเห็นของผู้ไปร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ สนช. จัด ส่วนใหญ่สนับสนุนร่าง พรบ. ที่กลุ่มสมาชิก สนช. เสนอ ส่วนผู้คัดค้านหรือไม่เห็นด้วย ก็ยังคงเป็นผู้แทนสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และกระทรวงมหาดไทย

                ต่อมาเมื่อวันอังคารที่ 11 ก.ย. ครม. ต้องพิจารณาว่าจะตอบ สนช. อย่างไร เกี่ยวกับร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. …. เพราะจะครบ 30 วัน ในวันที่ 13 ก.ย. 50 ซึ่ง ครม. ได้ลงมติให้ตอบไปว่ารัฐบาลเห็นว่า การรวมตัวขององค์กรชุมชนเป็นสภาองค์กรชุมชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและควรได้รับการสนับสนุน แต่การตราเป็นกฎหมายในช่วงเวลานี้ ซึ่งยังมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่ น่าจะยังไม่สมควร ในชั้นนี้รัฐบาลจึงเห็นควรออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรองรับการดำเนินการไปพลางก่อน ในอนาคตเมื่อได้มีพัฒนาการและความเห็นที่สอดคล้องกันอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะสามารถพิจารณาออกเป็น พรบ. ได้ ซึ่งคำตอบนี้ของรัฐบาลน่าจะไปถึง สนช. ในวันที่ 12 หรือ 13 ก.ย. 50

                และเป็นที่คาดหมายว่า ในต้นสัปดาห์เริ่มวันที่ 17 ก.ย. นี้ คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปนช. หรือ “วิปรัฐบาล”) และคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภา (นิติบัญญัติแห่งชาติ) (หรือ “วิปสภา”) น่าจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับ ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. …. ว่าจะเห็นควรดำเนินการอย่างไร

                เช่น อาจเห็นควรให้ผู้เสนอร่าง พรบ. นี้ขอถอนร่างไปก่อน หรือปล่อยให้ดำเนินการตามกระบวนการต่อไป นั่นคือนำเข้าสู่การพิจารณา วาระที่ 1 (ขั้นรับหลักการ) หรือให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาพิจารณาเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ (ภายในเวลา 30 วัน)

                อะไรจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง และถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากทีเดียว

                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                        ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/128970

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 30 (1 ต.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 30 (1 ต.ค. 50)


ช่วงเวลาที่มีความเข้มข้นมากอีกครั้งหนึ่งในชีวิต

                แล้วผมก็ได้พบกับช่วงเวลาที่มีความเข้มข้นมากอีกครั้งหนึ่งในชีวิต !

                นั่นคือ ช่วงเวลาที่ท่านนายกฯไม่อยู่ในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 21 ถึง 29 กันยายน และท่านรองนายกฯโฆษิต ก็ไม่อยู่ด้วยตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 29 กันยายน เป็นการไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และปฏิบัติภารกิจอื่นๆ

                ผมจึงต้องรักษาราชการแทนทั้งท่านนายกฯและท่านรองนายกฯโฆษิต ในช่วงเวลาดังกล่าว

                รวมถึงการเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 25 กันยายน 

                ครั้งนี้ การประชุม ครม. ดูเป็นไปด้วยดี ราบรื่น และเรียบร้อยไม่มีเรื่องที่เป็นข้อขัดข้อง

                แต่ก็มีเรื่องใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ท่านนายกฯไม่อยู่ในประเทศ

                นั่นคือประเด็นการมีหุ้นเกินร้อยละ 5 ของรัฐมนตรี 3 คน ได้แก่ รมต.สิทธิชัย โภไคยอุดม รมต.อารีย์ วงศ์อารยะ และรมช.อรนุช โอสถานนท์

                เป็นผลให้ รมต.สิทธิชัย ประกาศลาออก เมื่อ 21 กันยายน รมช.อรนุช ประกาศลาออกเมื่อ 23 กันยายน และรมต.อารีย์ ประกาศลาออกเมื่อ 26 กันยายน

                วันที่ 27 กันยายน มีการสร้างกระแสกดดันให้นายกฯลาออก รวมทั้งมีการสร้างข่าวลือว่านายกฯลาออก

                ทีมงานของนายกฯ และทีมงานของผมได้หารือกันแล้ว เห็นควรให้ผมพูดกับผู้สื่อข่าวเพื่อสยบข่าวลือนั้น ซึ่งผมได้ดำเนินการในค่ำวันนั้นและปรากฏว่าได้ผลดี

                หลังจากพูดกับผู้สื่อข่าวแล้วผมได้ติดต่อพูดทางโทรศัพท์กับท่านนายกรัฐมนตรี รายงานให้ท่านทราบสถานการณ์และรายงานว่าได้ทำอะไรไป รวมทั้งขอคำแนะนำจากท่านด้วย

                วันรุ่งขึ้น 28 กันยายน ผมพูดกับผู้สื่อข่าวและถูกผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติม ในประเด็นเรื่องการปรับ ครม. รวมถึงการพิจารณาผู้จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย และอื่นๆ

                วันที่ 29 กันยายน (วันเสาร์) ผมไปรับท่านนายกฯ ซึ่งเดินทางกลับจากการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติพร้อมท่านรองฯโฆษิต และคนอื่นๆ

                ได้สนทนากับท่านนายกฯในประเด็นการปรับคณะรัฐมนตรีและเรื่องอื่นๆก่อนที่ท่านนายกฯจะไปเข้าห้องแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่มารออยู่

                ในวันที่ 29 กันยายนนี้ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจลงข่าวว่า ยังมีรัฐมนตรีอีก 4 คน ที่มีหุ้นเกินร้อยละ 5 ได้แก่ รมต.เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมต.มงคล ณ สงขลา รมช.สวนิต คงสิริ และรมช.สมหมาย ภาษี

                เรื่องจึงยุ่งขึ้นไปอีก

                ผมใช้เวลา วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน ส่วนใหญ่พูดโทรศัพท์กับหลายคนเกี่ยวกับ เรื่องการถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ของรัฐมนตรี รวมถึงการทำความเข้าใจในเรื่องทั้งหมด ในแง่กฎหมายและอื่นๆ ตลอดจนการหารือถึงทางเลือกที่จะดำเนินการ

                ทั้งนี้ เพื่อใช้ประกอบการประชุมหารือกับท่านนายกฯในเช้าวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม (โดยจะมีท่านรองฯโฆษิต และรมต.ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือด้วย) และเพื่อใช้ประโยชน์ในการพิจารณาและดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้

                สรุปแล้ว ช่วง 9 วันที่ท่านนายกฯไม่อยู่ในประเทศและผมต้องรักษาราชการแทนนั้น เป็นช่วงเวลาที่มีความเข้มข้น คร่ำเคร่ง และเคร่งเครียด มากทีเดียว

                ผมจึงรู้สึกผ่อนคลายอย่างชัดเจน เมื่อท่านนายกฯกลับมาแล้ว !

                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                       ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 31 (8 ต.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 31 (8 ต.ค. 50)


“ละคร” กฎหมายสภาองค์กรชุมชน (ฉากที่ 2 ตอนที่ 2 (ต่อ) และสัปดาห์ที่ไม่มีวันหยุด (ต่อ))

                เรื่องร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน ที่เปรียบเสมือน “ละครเรื่องยาว” และมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมากนั้น ปรากฎว่าได้ดำเนินมาดีกว่าที่ผมคาดคิด 

                นั่นคือ แม้ว่า “วิปรัฐบาล”  จะยืนตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ การแจ้ง สนช. ว่ารัฐบาลคงจะไม่เสนอร่าง พรบ. ประกบโดยจะออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมารองรับการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนไปพลางก่อน แต่ “วิปสภา” กลับเห็นควรรับร่าง พรบ. ที่สมาชิกสภาฯ (ครูมุกดาและคณะ) เสนอ ! 

                เข้าใจว่าเป็นผลจากความพยายามของ “ครูหยุย”  (วัลลภ ตังคณานุรักษ์) และครูมุกดา (อินต๊ะสาร) เป็นหลัก ที่พยายามอธิบายสร้างความเข้าใจและขอรับการสนับสนุนจากสมาชิก สนช. จำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่เป็นกรรมาธิการใน “วิปสภา” 

                ต่อมาเมื่อ ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เมื่อ 27 ก.ย. 50 ปรากฎว่ามีผู้อภิปรายสนับสนุน 10 กว่าคน และผู้อภิปรายคัดค้านเพียง 1 คน

                ผลการลงคะแนน คือ รับหลักการ 61 คน ไม่รับหลักการ 32 คน งดออกเสียง 5 คน

                สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 22 คน เสนอโดยสภาฯ 18 คน เสนอโดยรัฐบาล (โดยกระทรวง พม.) 4 คน (ซึ่งกระทรวง พม. ได้ให้ ก.มหาดไทยเสนอมา 2 คน และกระทรวง พม. เสนอเอง 2 คน) และให้สมาชิกแปรญัตติใน 7 วัน 

                ถือเป็นความก้าวหน้าอย่างสำคัญ ที่ สนช. รับหลักการของร่าง พรบ. ฉบับนี้ และเป็นจุดพลิกผันที่ผมเองไม่กล้าที่จะคาดหวังไว้แต่ได้กลายเป็นจริงขึ้นมาแล้ว

                ได้ทราบด้วยว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.สภาองค์กรชุมชน ได้ประชุมนัดแรกแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 5 ต.ค.50 ได้เลือกครูหยุยเป็นประธานและครูมุกดาเป็นเลขานุการ โดยมีคุณสมสุข บุญญะบัญชา เป็นรองเลขานุการ และจะประชุมต่อไปทุกวันศุกร์จนกว่าจะพิจารณาเสร็จ

            เป็น “ละครเรื่องยาว” ที่น่าติดตามดูตอนต่อๆ ไปใช่ไหมครับ ! ?

                สัปดาห์ที่ผ่านมาของผม เป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่ผมไม่ได้ “หยุด” (ทำงาน) ทั้งในวันเสาร์และวัน      อาทิตย์ รวมถึงเป็นสัปดาห์ที่ยังคงมีเรื่องประเภท “เข้มข้น” อยู่พอสมควรทีเดียว

                 เริ่มต้นสัปดาห์ วันที่ 1 ต.ค. ท่านนายกฯ เชิญหารือพร้อมรองนายกฯโฆษิต และ รมต. 4 คน ที่มีประเด็นการถือหุ้นเกินร้อยละ 5 กับอีก 1 รมต. ที่มีประเด็นการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเอกชน

                ผลการหารือ ท่านนายกฯ เห็นว่า รมต. ทั้ง 5ท่าน ไม่จำเป็นต้องลาออกโดยมีเหตุผลชัดเจนว่าไม่มีความผิดหรือความด่างพร้อยใดๆ เนื่องจากไม่มีผู้ใดมีเจตนาและไม่มีผู้ใดรับทราบว่ามีกฎหมายห้ามเนื่องจากมีการเลิกใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และในรัฐธรรมนูญ ปี 2549 ไม่มีการระบุเรื่องการถือหุ้นของรัฐมนตรี ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 มีข้อยกเว้นให้กับคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันซึ่งเข้ามาในลักษณะพิเศษโดยจะทำหน้าที่ระยะสั้นเพียงชั่วคราว

                อย่างไรก็ดี รมต. 2 ท่าน คือ คุณเกษม  (สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) และคุณสวนิต (คงสิริ) ได้ยืนยันขอลาออกเพื่อจะสบายใจกว่า ส่วนรมต. อีก 3 ท่าน (คุณหมอมงคล ณ สงขลา คุณสมหมาย ภาษี และท่านอาจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน) ยอมคงอยู่ในตำแหน่งตามที่ท่านนายกฯร้องขอ ซึ่งกรณีของทั้ง 3 ท่านนี้ สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าไม่มีข้อขัดข้องทั้งทางกฎหมายและทางจริยธรรม

                เป็นอันว่ารัฐบาลต้องสูญเสีย รมต. ไป 5 คน อย่างไม่คาดคิด ด้วยเหตุซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุเลย !

                แต่จะทำอย่างไรได้ล่ะครับ ในเมื่อมันได้เป็นไปอย่างนั้นแล้ว

                ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีเรื่อง “ยุ่ง” และ “วุ่น” สำหรับกระทรวง พม. และ สำหรับผม นั่นคือการมีหนังสือ         ร้องเรียนและกล่าวหาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวง พม. ว่ามีพฤติกรรมทุจริตและชู้สาว โดยส่งหนังสือมาถึงผมและส่งให้สมาชิก สนช. กับสื่อมวลชนหลายแห่ง เป็นผลให้สื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับนำไปลง เป็นข่าวสำคัญในวันพฤหัสบดีที่ 4 ต.ค. 

                ผมปรึกษาหมอพลเดช (รมช.พม.) และทีมงานแล้ว เห็นร่วมกันว่าควรตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อพิทักษ์ชื่อเสียงของกระทรวง พม. กับข้าราชการ พม. โดยรวม โดยให้ได้มาซึ่งความจริงอันจะช่วยให้สามารถพิจารณาได้ว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไปจึงจะเป็นธรรมและเหมาะสม

                เย็นวันศุกร์ที่ 5 ต.ค. ผมกับหมอพลเดชและทีมงาน สรุปความเห็นร่วมกันได้ว่าควรเชิญผู้ใดเป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งผมได้ทาบทามท่าน และท่านได้ตอบรับแล้ว ดังนั้นคงจะออกคำสั่งแต่งตั้ง  คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ในวันจันทร์ที่ 8 ต.ค. 

                วันเสาร์ที่ 6 ต.ค. ผมไปจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ และศรีสะเกษ เพื่อทำหน้าที่ เนื่องใน “สัปดาห์ที่อยู่อาศัย สร้างถิ่นฐานมั่นคง ด้วยวิถีชุมชนไทย – 80,000 ครอบครัว 800 ชุมชน” โดยไปเยี่ยมและประกอบพิธี ฯลฯ เกี่ยวกับ “โครงการบ้านมั่นคง” ในเขตอำเภอเมืองของทั้ง 3 จังหวัด 

                วันอาทิตย์ที่ 7 ต.ค. ไปจังหวัดพิษณุโลก ประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด (คุณสมบูรณ์  ศรีพัฒนาวัฒน์) และคณะ  เรื่องการบูรณาการแผนงานและงบประมาณในระดับท้องถิ่นและจังหวัด สำหรับปีงบประมาณ 2551 และการตั้งงบประมาณของจังหวัดที่จะต้องเตรียมการในช่วงปี 2551 เพื่อมีผลปฏิบัติในปีงบประมาณ 2552 ประชุมเพียง 1 ชั่วโมง แต่ได้สาระดีและควรจะเป็นประโยชน์มาก ทั้งนี้ เลขาธิการ กพร. และผู้แทน สน.งบประมาณ ได้เดินทางไปร่วมในการประชุมหารือด้วย 

                จากนั้น ผมเดินทางไปเยี่ยมราษฎรซึ่งประสบอุทกภัย ที่ ต.วังทอง (อ.วังทอง) ต.ชมพู (อ.เนินมะปราง) และ ต.ชุมแสงสงคราม (อ.บางระกำ) โดยใช้โอกาสนี้ศึกษาเรื่องระบบการป้องกัน การเตรียมความพร้อม การเผชิญเหตุ การช่วยเหลือ และการฟื้นฟูพัฒนา อันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ด้วย

                ตอนบ่าย ไปร่วมกิจกรรมและประกอบพิธีปิด “สมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม ภาคเหนือ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยไปขึ้นเครื่องบินที่ จ.สุโขทัย 

                เป็นอีกสัปดาห์หนึ่งที่ผมไม่มีวันหยุด แต่ก็ได้งานได้สาระน่าพอใจครับ

                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                            ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/136282

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 32 (17 ต.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 32 (17 ต.ค. 50)


ความพลิกผันในชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

                ความพลิกผันในชีวิตเกิดขึ้นได้เสมอ! โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ!

                เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2550 เวลาประมาณ 12.00 น. ผมนั่งประชุมอยู่ใน ครม. เริ่มรู้สึกแน่นหน่อยๆในหน้าอกส่วนบน อาการแน่นดังกล่าวค่อยๆเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 13.00 น. ใกล้จะเลิกประชุม (เหลือ 2 วาระ) รู้สึกแน่นเกินปกติจนรู้สึกไม่สบายชัดเจน ดูเหมือนจะตาลายหน่อยๆด้วยจึงตัดสินใจลุกขึ้นไปลาท่านนายกฯว่าขอออกไปก่อนเพราะไม่สบายแล้วเดินอ้อมโต๊ะ ครม. ตั้งใจจะไปปรึกษาหมอมงคลว่าควรทำอย่างไรดี โดยคิดในใจว่าจะต้องไปโรงพยาบาล พอดีเดินผ่านหมอพลเดชก่อนเลยบอกหมอพลเดชว่าไม่สบายให้ช่วยดูหน่อย ระหว่างหมอพลเดชพาออกจากห้องประชุม ท่านนายกฯก็ตะโกนว่า “หน้าท่านซีดมากเลย หมอมงคลช่วยไปดูด้วย”

                หมอมงคลและหมอพลเดชจึงพาผมมาที่ห้องรับรองข้างห้องประชุม ครม. เรียกแพทย์ประจำ ครม. มาตรวจอาการพบว่าความดันต่ำกว่าปกติ คือ 90/60 (ระยะหลังๆนี้ความดันโลหิตของผมขึ้นไปค่อนข้างสูง คือประมาณ 140 หรือ 150ในบางวัน สำหรับตัวบน) หมอมงคลจึงแนะนำให้รีบพาตัวส่งโรงพยาบาล (รามาธิบดี) ด้วยรถพยาบาลฉุกเฉิน (ซึ่งทราบว่าเตรียมไว้ระหว่างการประชุม ครม. เสมอแต่ไม่เคยต้องใช้เลยตลอดเวลานับสิบปีหรือกว่าที่ผ่านมา)

                ระหว่างถูกหามด้วยเปลคนไข้ลงบันไดไปขึ้นรถพยาบาล ผมยกศีรษะขึ้นเพื่อยิ้มให้กับผู้สื่อข่าวและกล้องทีวี/กล้องถ่ายรูปจำนวนมาก แล้วลดศีรษะกลับไปราบกับเตียง จากนั้นหลับตาด้วยความรู้สึกอ่อนเพลียผสมความง่วง มาลืมตาอีกครั้งเมื่อรถไปถึงโรงพยาบาลรามาธิบดี มีแพทย์ พยาบาล มาดูแลอย่างขะมักเขม้น ผมเริ่มไม่ค่อยรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ที่พอจำได้คือการโกนเส้นขนบริเวณขาหนีบ การฉีดอะไรเข้าไปในร่างกาย จากนั้นรู้สึกสะลึมสะลือพร่าๆมัวๆ มารู้สึกตัวชัดหน่อยอีกทีเมื่อแพทย์ชี้ให้ดูการเต้นของหัวใจและการทำงานของหลอดเลือดแดงด้านขวาของหัวใจที่มีสภาพอุดตันแล้วได้รับการถ่างขยายด้วยบอลลูน (ตะแกรงขยายหลอดเลือด) ทำให้เห็นชัดเจนว่าเลือดแดงฉีดไปตามเส้นเลือดได้ตามปกติ ขณะเดียวกันก็ชี้ให้ดูด้วยว่ายังมีหลอดเลือดแดงด้านซ้ายที่แยกเป็นสองสายซึ่งมีลักษณะตีบทั้งคู่และจะต้องทำการรักษาด้วยวิธีบอลลูนเช่นกัน (ในภายหลัง)

                ผมยังคงรู้สึกสะลึมสะลือ ดูภาพไม่ค่อยชัดเพราะระดับศีรษะยังราบอยู่ พยายามผงกศีรษะขึ้นดูจึงพอเห็นภาพลางๆ จากนั้นผมไม่ค่อยรู้อะไร มารู้ตัวอีกทีก็อยู่ในห้อง CCU (“ห้องบำบัดผู้ป่วยวิกฤต” หรือ “หออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจและหลอดเลือด” – “ Coronary Care Unit ” – ซึ่งอยู่ชั้น 9 ของอาคารโรงพยาบาล / อาคาร 1) และได้ยินใครต่อใครมาพูดอย่างนั้นอย่างนี้แต่จำไม่ค่อยได้ว่าเป็นใครบ้างและพูดว่าอย่างไรบ้าง

                มาลำดับความภายหลังจึงพอประมวลได้ว่า มี นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน (คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ (ผู้อำนวยการโรงพยาบาล) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (แพทย์เจ้าของไข้ ผู้ทำการ “สวนหัวใจ” หรือ “ทำบอลลูน” ให้) นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร (แพทย์ผู้ร่วมปฏิบัติการสวนหัวใจ) และคนอื่นๆ

                การพาผมจากที่ประชุม ครม. มาโรงพยาบาลรามาธิบดีใช้เวลา 10 นาทีเศษ และการ “สวนหัวใจ” ใช้เวลารวมทั้งสิ้น ประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่เร็วมาก และเร็วพอที่ทำให้หัวใจของผมไม่เกิดสภาพเสียหายอย่างสำคัญ

                ผมจึงรอดตายและรอดจากความพิการรุนแรงมาได้อย่างหวุดหวิด!

                หากมาถึงโรงพยาบาลช้าไปอีก 2-3 ชั่วโมง คงไม่มีโอกาสได้มาเขียนบันทึกนี้ !

                นี่คือความพลิกผันในชีวิตของคนเรา!

                นี่คืออนิจจัง (ไม่เที่ยง)!

                นี่คือสัจธรรม (ความจริงแท้)!

                นี่คือชีวิต!

                เราจึงควรดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ใช้ปัญญา หมั่นทำความดี หมั่นทำคุณประโยชน์ที่เหมาะสมแก่ผู้อื่น ให้แก่หมู่คณะ ให้แก่ส่วนรวม ให้แก่สังคม ให้แก่ประเทศ ให้แก่โลก ให้แก่มนุษยชาติ เท่าที่พึงทำได้อยู่เสมอ

                เมื่อถึงเวลาต้องอำลาชีวิต ก็จะรู้สึกพร้อมเพราะเห็นว่าได้ทำหน้าที่ของคนคนหนึ่งมาอย่างเพียงพอและพอสมควรแล้ว

                การที่ผมถูกหามจากที่ประชุม ครม. ขึ้นรถพยาบาลฉุกเฉินต่อหน้าสื่อมวลชนจำนวนมาก ทำให้ข่าวการเจ็บป่วยของผมได้รับการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง และมีข่าวเกี่ยวข้องต่อเนื่องหลายวันดังตัวอย่างข้อความพาดหัวข่าวใน นสพ. “มติชนรายวัน” ดังนี้

                * ‘ไพบูลย์’ ทรุดกลางวง ครม. หามส่ง รพ.บัลลูนหัวใจด่วน (10 ต.ค. 50 หน้า 1)

                * ‘ในหลวง-ราชินี’ พระราชทานดอกไม้ ‘ไพบูลย์’ (11 ต.ค. 50 หน้า 14)

                * ‘เลื่อนทำบัลลูน ‘ไพบูลย์’ (12 ต.ค. 50 หน้า 15)

                * ทำบัลลูนหัวใจ ‘ไพบูลย์’ อีก 2 เส้น หมอแนะให้พัก-กลับบ้าน 15 ต.ค. (13 ต.ค. 50 หน้า 14)

                * หมอให้ ‘ไพบูลย์’ ทำงานได้แต่อย่าหนัก (14 ต.ค. 50 หน้า 13)

                * ภริยาเตือน ‘ไพบูลย์’ ที่สุดชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ (15 ต.ค. 50 หน้า 14)

                * ‘ไพบูลย์’ อาการดีขึ้นกลับบ้านแล้ว (16 ต.ค. 50 หน้า 13)

                ก็คงจะจบเรื่องราวความเจ็บป่วยของผมในขั้นนี้เพียงเท่านี้ อันที่จริงผมไม่อยากให้เรื่องความเจ็บป่วยของตัวเองกลายเป็นข่าวหรือเป็นเรื่องสาธารณะเลย แต่ด้วยเหตุที่มีตำแหน่งดังที่ผมเป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นกระมังครับ

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                          ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/139402

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 33 (19 ต.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 33 (19 ต.ค. 50)


ความปลาบปลื้มซาบซึ้งและความซาบซึ้งขอบคุณ

            โลกนี้ ชีวิตนี้ มีอะไรดีๆเสมอ!

                ในขณะที่ผมได้ผ่านการเจ็บป่วยแบบหวุดหวิดเสียชีวิตหรือไม่ก็พิการรุนแรงไปเมื่อ วันที่ 9 ตุลาคม 2550 ผมและครอบครัวก็ได้บังเกิดความปลาบปลื้มซาบซึ้งอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแจกันดอกไม้เยี่ยมไข้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยท่านองคมนตรี มรว.เทพกมล เทวกุล เป็นผู้แทนพระองค์อัญเชิญแจกันดอกไม้พระราชทานดังกล่าวมาเยี่ยมผมที่ห้องซีซียู ( CCU) ชั้น 9 อาคาร 1 รพ.รามาธิบดี เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันพุธที่ 10 ตุลาคม 2550 เป็นความปลาบปลื้มซาบซึ้งที่จะอยู่ในจิตใจของผมและครอบครัวไปตลอดชีวิต

                พร้อมกันนี้ผมก็รู้สึกซาบซึ้งขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) คุณหมอมงคล ณ สงขลา และหมอพลเดช ปิ่นประทีป ที่ส่งสัญญาณเตือนภัยและติดต่อแพทย์ในเบื้องต้น รู้สึกซาบซึ้งขอบคุณแพทย์และเจ้าหน้าที่รถพยาบาลฉุกเฉินจาก รพ.วชิรพยาบาล ที่มาประจำการประชุม ครม. และดูแลพาผมส่งโรงพยาบาลรามาธิบดีอย่างเร่งด่วน รู้สึกซาบซึ้งขอบคุณคณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของ รพ.รามาธิบดี ที่ปฏิบัติการ “สวนหัวใจ” และให้การรักษาดูแลผมหลังจากรับเข้าโรงพยาบาล บุคคลเหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญช่วยให้ผมรอดชีวิตและรอดจากความพิการรุนแรงมาได้อย่างหวุดหวิดมากๆ นับเป็นบุญคุณต่อผมอย่างยิ่ง

                อีกทั้งบรรดาผู้ร่วมคณะรัฐมนตรี ผู้ที่ผมเคารพนับถือ สมาชิกครอบครัว ญาติ เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ผู้ร่วมทีมงาน ผู้ร่วมองค์กร ผู้รู้จักมักคุ้น ผู้ร่วมขบวนการ ผู้ร่วมกิจกรรม และบุคคลอื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่ได้ให้ความเมตตา ให้ความกรุณา ให้ความรัก ให้ความห่วงใย ให้ความปรารถนาดี ส่งกำลังใจให้ผมในรูปแบบต่างๆ ทั้งกระเช้าดอกไม้ แจกันดอกไม้ กระเช้าผลไม้ หนังสือ สิ่งของ บันทึกสมุดเยี่ยม บัตรอวยพร จดหมาย อีเมล์ SMS โทรศัพท์ ฝากคำพูด ฝากเยี่ยม ส่งใจ ส่งกระแสจิต ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ช่วยให้ผมมีความสุขใจ มีความอบอุ่นใจ มีขวัญกำลังใจ มีสติ มีความคิดความตระหนักที่ดีนานาประการ และทำให้ผมรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณทุกท่านทุกคนเป็นอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน

                ผมตั้งใจว่าจะพยายามแปรเปลี่ยนความปลาบปลื้มซาบซึ้งและความซาบซึ้งขอบคุณที่ผมรู้สึกนี้ มาเป็นแรงใจในการดำเนินชีวิตที่ยังมีอยู่ให้เกิดประโยชน์อันเหมาะสมต่อผู้อื่น ต่อหมู่คณะ ต่อส่วนรวม ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ ต่อโลก และต่อมนุษยชาติ ให้ดีและมากเท่าที่จะพึงทำได้

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                                      ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/140086

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 34 (29 ต.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 34 (29 ต.ค. 50)


กลับสู่ชีวิตปกติที่ต่างจากเดิม

                หลังจากได้รับการ “สวนหัวใจ” หรือ “ทำบอลลูน” สำหรับหลอดเลือดหัวใจ 1 เส้นที่อุดตัน เมื่อบ่ายวันอังคารที่ 9 ต.ค. 50 แล้ว ผมต้องอยู่ในห้อง ซีซียู (“หออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจและหลอดเลือด”) จนถึงวันศุกร์ที่ 12 ต.ค. 50 เพื่อ “ทำบอลลูน” หลอดเลือดหัวใจอีก 2 เส้นที่ตีบ (ยังไม่ตัน) โดยต้องใช้ “ขดลวด” (Stent) ช่วย “ถ่างขยาย” หลอดเลือด รวม 4 ขดด้วยกัน

                เช้าวันเสาร์ที่ 13 ต.ค. 50 ผมย้ายจากห้อง ซีซียู ไปอยู่ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ และออกจากโรงพยาบาล (รามาธิบดี) กลับบ้านในวันจันทร์ที่ 15 ต.ค. 50

                พักฟื้นอยู่ที่บ้านจนถึงวันอาทิตย์ที่ 21 ต.ค. 50

                วันจันทร์ที่ 22 ต.ค. 50 เริ่มกลับทำงานตามปกติ ซึ่งเป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรีพอดี (เลื่อนจากวันอังคารที่ 23 ต.ค. ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ)

                การประชุม ครม. วันนี้ยาวนานเป็นพิเศษ เริ่ม 9.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวันระหว่าง 12.30 – 13.00 น. แล้วประชุมต่อจน 16.00 น. ได้ให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญๆหลายเรื่อง

                เรื่องสำคัญที่ผมเกี่ยวข้องโดยตรงและ ครม. เห็นชอบ คือ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและประสานงานครอบครัว และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและประสานงานสตรี

                ผมจึงได้กลับเข้าสู่การทำงานและการใช้ชีวิตตามปกติ แต่ก็ต้องมีแบบแผนที่ต่างไปจากเดิมพอสมควร

                การทำงานไม่ให้คร่ำเคร่งเร่งรัด สมบุกสมบัน หรือใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานจนเกินไปหรือจนไม่ได้พักผ่อนให้เพียงพอ

                ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน ฯลฯ ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่มีวินัยไม่มากพอ เป็นมีวินัยให้มากพอและสม่ำเสมอต่อเนื่อง

                ในส่วนของการทำหน้าที่ในฐานะเป็นรัฐบาล เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เป็นการทั่วไป (คือวันที่ 23 ธันวาคม 2550) ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 50 โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 ต.ค. 50 แล้ว รัฐบาลก็จะทำหน้าที่ต่อไปคล้ายๆกับ “รัฐบาลรักษาการ” จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเข้ามารับหน้าที่แทน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลาย ม.ค. – ต้น ก.พ. 2551

                ช่วงเวลานี้ จึงเป็นการดูแลการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติให้เป็นไปด้วยดีเท่าที่สามารถทำได้ และดูแลจัดการเรื่องสำคัญที่ริเริ่มไว้หรือดำเนินการอยู่ให้มีสภาพดีที่สุดสำหรับการส่งมอบต่อรัฐบาลหน้า

                ส่วนการเสนอนโยบายใหม่ กฎหมายใหม่ มาตรการสำคัญที่จะผูกพันรัฐบาลหน้า เหล่านี้จะไม่มี เว้นเสียแต่ว่าเป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากเรื่องที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว

                ชีวิตของผมจึงกลับเข้าสู่สภาพปกติที่ต่างไปจากเดิมพอสมควร ทั้งในชีวิตส่วนตัวและในด้านหน้าที่การงาน

                หมายเหตุ หนังสือพิมพ์ 5-6 ฉบับรายงานการกลับเข้าทำงานของผมดังตัวอย่าง นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 23 ตุลาคม 2550 หน้า 17 รายงานดังนี้ครับ

                “ ‘ไพบูลย์’ หายป่วยร่วมประชุม ครม.

                ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 22 ต.ค. นี้ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกฯและรมว.การพัฒนาสังคมฯ ได้เดินทางมาร่วมประชุม ครม. โดยเป็นการกลับเข้ามาทำงานเป็นวันแรกภายหลังจากที่มีอาการป่วยจนต้องเข้ารับการทำบอลลูนหัวใจเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยนายไพบูลย์ยังมีสีหน้าซีดอิดโรยอยู่เล็กน้อย แต่ยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอย่างอารมณ์ดีว่า โดยทั่วไปขณะนี้สุขภาพดีแล้ว แต่ยังต้องพักผ่อนบ้าง ที่ผ่านมา นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ช่วยดูแลงานในกระทรวงเต็มที่อยู่แล้ว ระยะเวลา 3 เดือนหลังจากนี้น่าจะทำงานได้ตามปกติ แต่ต้องไม่หักโหมมากเกินไป สัปดาห์หนึ่งก็ควรจะหยุดพักบ้าง ต้องขอขอบคุณผู้สื่อข่าวและทุกคนที่ห่วงใยและส่งความปรารถนาดีมาให้ การป่วยครั้งนี้ได้ธรรมะ 3 ข้อคือ 1. ไม่พึงประมาทในเรื่องสุขภาพ 2. หมั่นสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รู้จักออกกำลังกาย กินอาหารและพักผ่อน 3. หมั่นทำความดี เพราะชีวิตอาจไปเมื่อไรก็ได้  

                                                                                                            สวัสดีครับ

                                                                                      ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/142724

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 35 (5 พ.ย.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 35 (5 พ.ย.50)


สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ขึ้นบ้านใหม่ เสริมพลังขบวนชุมชนให้ก้าวต่อไป 

                วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ผมไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารที่ทำการแห่งใหม่ของ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)” หรือ “พอช.” ซึ่งตั้งอยู่ที่ ถนนนวมินทร์ บริเวณคลองจั่น ใกล้ที่ทำการเคหะแห่งชาติ (กคช.) 

                สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เริ่มดำเนินการเมื่อ 26 ตุลาคม 2543 นับถึงวันนี้จึงครบ 7 ปีแล้ว ได้มีบทบาทส่งเสริมสนับสนุน “ขบวนชุมชน” ให้มีการพัฒนา มีการเรียนรู้ มีการสร้างความสามารถ มีความเข้มแข็ง ฯลฯ มากขึ้นและอย่างกว้างขวางขึ้นเป็นลำดับ

                การเปิดที่ทำการแห่งใหม่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จึงควรจะเป็นการกระตุ้นเสริมพลังให้ขบวนชุมชนมีการพัฒนาก้าวหน้าได้มากยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้นต่อไปอีก

                คำกล่าวเปิดที่ทำการแห่งใหม่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ดังปรากฏต่อไปนี้ ควรจะเป็นการสรุปสาระเกี่ยวกับ “สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)” และ “ขบวนชุมชน” เนื่องในโอกาสอันสำคัญนี้ ได้ดีพอสมควร

                                                                                              คำกล่าว ของ

                                                                                นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

                     รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                                   เนื่องในพิธีเปิดอาคารที่ทำการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

                                                              ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

                                                                        วันพฤหัสบดีที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

ท่านคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ผู้แทนหน่วยงาน ผู้แทนองค์กรชุมชน  และผู้มีเกียรติทุกท่าน

                ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับเชิญมาร่วมในพิธีเปิดอาคารที่ทำการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในวันนี้ 

                ถ้าอาคารสำนักงานใหม่ที่โอ่โถง สวยงาม ให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเองนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องชี้วัดความเข้มแข็ง มั่นคง เป็นปึกแผ่นของการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชนทั่วประเทศแล้ว ผมคิดว่า ๗ ปีที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและขบวนพัฒนาของชุมชน สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างเข้มแข็ง กว้างขวาง น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

                บทบาทที่เด่นชัดของ พอช. ที่ดำเนินการตลอด ๗ ปีที่ผ่านมา คือ ความพยายามที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกของการพัฒนา ด้วยการมีแนวทางให้ประชาชนเป็นหลัก เป็นเจ้าของการพัฒนาอย่างแท้จริง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นจุด ๆ ในบางพื้นที่ตามโครงการพัฒนาที่จัดทำขึ้น แต่ได้มีการทำงานที่ใช้พื้นที่เป็นหลักและทำงานครอบคลุมเต็มพื้นที่ คือ เชื่อมโยงชุมชนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานและภาคีอื่น ๆ ให้เห็นภาพรวมและทำงานด้วยกัน โดยชุมชนเป็นแกนหลัก เพื่อนำไปสู่การจัดระบบการทำงานและจัดความสัมพันธ์ใหม่ในท้องถิ่น ตั้งแต่ระบบข้อมูล แผนงาน งบประมาณ การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากเราสามารถดำเนินการตามแนวทางนี้อย่างกว้างขวาง จริงจังแล้ว เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงท้องถิ่น ประเทศ และประชาธิปไตยระบบใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตยของปวงชนอย่างแท้จริง

                ผมจึงขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า งานที่ พอช. พยายามดำเนินการร่วมกับขบวนชุมชนในทุกภาคทุกวันนี้ เป็นงานที่มีความสำคัญมากในแง่ที่เป็นการเสนอทิศทางใหม่ของการพัฒนาของประเทศไทย รวมทั้งเอเชียและของโลกด้วย ผมจึงอยากจะขอเชิญชวนทุกท่านทั้งเครือข่ายชุมชน หน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคีพัฒนาทั้งหลาย ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการพัฒนาอันสำคัญนี้

                ในส่วนของการบริหารงาน พอช.ได้ดำเนินงานมาครบ ๗ ปีในปี ๒๕๕๐ นี้ ซึ่งเป็นเวลาที่นานพอสำหรับหน่วยงานหนึ่ง ที่จะจัดระบบและวาง รากฐานการดำเนินงานได้อย่างเข้มแข็ง มั่นคง พร้อมจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นอกมั่นใจ การก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่ของ พอช. จึงเป็นส่วนหนึ่งของการวางรากฐานความเข้มแข็ง เป็นปึกแผ่นให้แก่การทำงานของขบวนกชุมชน สำนักงาน ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้องที่จะได้ใช้ประโยชน์จากสำนักงานใหม่ร่วมกัน

                สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนสนับสนุนให้การออกแบบก่อสร้าง รวมทั้งตกแต่งอาคารสำนักงานใหม่นี้สำเร็จลงด้วยดี ขอให้อาคารสำนักงานใหม่แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์และเครื่องมือในการทำงานของขบวนชุมชนทั่วประเทศที่เข้มแข็ง และขออวยพรให้ทุกท่านที่ใช้สำนักงานนี้ปฏิบัติงานด้วยความราบรื่น มีความสุข มีความรักและเป็นมิตรต่อกันตลอดไป

                  ขอบคุณครับ

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                          ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/144323

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 36 (3 ธ.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 36 (3 ธ.ค. 50)


ระหว่างอยู่ในรัฐบาล  พยายามไม่ไปต่างประเทศ แต่ก็ต้องไปบ้าง

               ระหว่างผมทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาว่ามีภารกิจต้องทำมาก โดยต้องอยู่ในประเทศ จึงพยายามไม่เดินทางไปต่างประเทศ เพราะการไปต่างประเทศแต่ละครั้ง มักต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง การต้องมีพิธีการต่างๆ กับเรื่องจิปาถะค่อนข้างมาก และสาระที่ได้จากการเดินทางไปต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไปประชุม ก็มักมีน้อยหรือไม่มากนัก ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป

                ฉะนั้น ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลชั่วคราว ผมจึงตัดสินใจไม่เดินทางไปเองในกรณีได้รับเชิญไปประชุมต่างประเทศ โดยจะมอบหมายให้ผู้อื่นไปแทน เช่น ปลัดกระทรวง อธิบดี เป็นต้น

                ต่อมาเมื่อผมได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.). โดยมีหมอพลเดช  ปิ่นประทีป  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ (กระทรวง พม.) ผมก็ยิ่งสะดวกขึ้น เพราะสามารถมอบหมายให้ รมช. ไปต่างประเทศแทน  ซึ่งเป็นผลให้หมอพลเดชต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง

                ที่คงจะทารุณหน่อย   คือระหว่างวันที่ 5 ถึง 15 ธ.ค. นี้ หมอพลเดช ในฐานะ รมช.พม. ต้องเดินทางไปประชุมแทนผมที่ประเทศเวียดนาม (กรุงฮานอย) ระหว่าง 5-7 ธ.ค. กลับมาประเทศไทยแล้วไปประชุมที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 11-12 ธ.ค. จากนั้นบินตรงไปกรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อประชุมในวันที่ 14 ธ.ค. ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย

                ดีแล้วที่ผมไม่ไปเอง  เพราะสภาพร่างกายของผมคงยังไม่เหมาะที่จะสมบุกสมบันขนาดนั้น ! (แต่หมอพลเดชยังหนุ่มกว่ามาก  และบอกว่าสู้ไหว !)

                ที่จริงยังมีรายการประชุมที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 6-7 ธ.ค. ซึ่งผมมอบหมายให้รักษาการปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้าคณะไปแทน

                อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลา 13 เดือนเศษที่ผมอยู่ในรัฐบาล ก็ได้มี 2 ครั้งที่ผมจำเป็นต้องไปต่างประเทศ เพราะได้รับการเชิญและร้องขออย่างเจาะจงตัวให้ไป ซึ่งเป็นการไปกล่าวปาฐกถา  ไม่ใช่ไปประชุมธรรมดา

                ครั้งแรก ไปพูดเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนในการประชุม ซึ่ง ESCAP เป็นผู้จัดที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 1-2 มีนาคม 2550 

                ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ไปพูดเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยากจนในเมือง ในการประชุม ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่ง Cities Alliance เป็นผู้จัด

                สำหรับช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลนี้ เพียง 2-3 เดือนข้างหน้า ผมคิดว่าน่าจะไม่มีเหตุให้ผมต้องเดินทางไปต่างประเทศอีก

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                             ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/151117

<<< กลับ