“สันติวิธี” กับทางออกจากวิกฤตทางสังคมไทย
(10 มี.ค. 49) ได้เขียนบทความหัวข้อ “‘สันติวิธี’ กับทางออกจากวิกฤตสังคมไทย” ส่งให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับพร้อมกันในวันที่ 9 มี.ค.ซึ่งบางฉบับได้นำไปออกในรูปแบบ “On – line” ในวันที่ 9 มี.ค.นั้นเลย ได้แก่ นสพ.“คม ชัด ลึก” “ผู้จัดการ” และ “ข่าวสด”
มาวันนี้ (10 มี.ค.) ได้มีหนังสือพิมพ์เท่าที่เห็น 2 ฉบับ ลงบทความแบบไม่ตัดทอน คือ นสพ.ไทยโพสต์ (หน้า 1 และ 4) และนสพ.กรุงเทพธุรกิจ (หน้า 15)
จากบทความที่ลงทั้งแบบ “On – line” และแบบสิ่งพิมพ์ ทำให้สถานีวิทยุ 2 แห่ง และโทรทัศน์ 1 แห่ง ขอสัมภาษณ์และให้ไปออกรายการในประเด็นการใช้ “สันติวิธี” เพื่อแก้ไขภาวะวิกฤตของประเทศไทย
ข้อความในบทความปรากฎดังนี้
“สันติวิธี” กับทางออกจากวิกฤตสังคมไทย
โดย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
“สันติวิธี” กับวิกฤตสังคมไทย
หลายฝ่ายได้ออกมาเรียกร้องหรือเสนอแนะให้ใช้ “สันติวิธี” ในการคลี่คลายภาวะ “วิกฤต” ของสังคมไทยในขณะนี้
รวมทั้งผมเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบุคคลที่ขอเรียกตัวเองว่า “นักสันติวิธี”
มี รศ.ดร.โคทม อารียา (ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล) รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ (ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในสังกัดรัฐสภา) เป็นต้น
ส่วนผมเองเป็นประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ในสังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
“ศูนย์คุณธรรม” มีพันธกิจในการส่งเสริม “ขบวนการคุณธรรม” ซึ่งย่อมรวมถึง “ขบวนการสันติวิธี” ไปด้วยโดยปริยาย เพราะ “สันติวิธี” ก็คือ “คุณธรรม” อย่างหนึ่งนั่นเอง
ประเทศไทยของเรากำลังประสบภาวะวิกฤต ทั้งทางการเมืองและทางสังคม ซึ่งถ้าคลี่คลายไม่ได้จะนำไปสู่ภาวะวิกฤตทางจิตใจ เศรษฐกิจ และอื่น ๆ
รวมถึงอาจเกิดการปะทะรุนแรง ถึงขั้น บาดเจ็บ ล้มตาย ทรัพย์สินเสียหาย ฯลฯ
กลายเป็น “โศกนาฏกรรม” ที่สร้างรอยร้าวและบาดแผลในดวงจิตของคนไทยและสังคมไทยอย่างน่าเศร้าเสียใจอีกครั้งหนึ่ง
“”“”“”
“สันติวิธี” เป็นสะพานสู่ทางออกจากวิกฤต
“สันติวิธี” จึงน่าจะเป็น “สะพานสู่ทางออก” จาก “วิกฤตสังคมไทย” ในปัจจุบัน
“สันติวิธี” มีได้ 2 แบบ คือ “แบบชั้นเดียว” และ “แบบสองชั้น”
“สันติวิธีแบบชั้นเดียว” คือ การเคลื่อนไหวโดยไม่ใช้ “ความรุนแรง” แต่มุ่งให้ได้ “ชัยชนะ” ของฝ่ายตน แบบนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อหิงสา” (Non-violence)
ส่วน “สันติวิธีแบบสองชั้น” ได้แก่การใช้วิธีการอันเป็นสันติ รวมถึงการพูดจาต่อรอง (Negotiation) เพื่อให้ได้ “ข้อตกลงร่วมกัน” ซึ่งเป็นที่พอใจหรือยอมรับได้ร่วมกันทุกฝ่าย แบบนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การสร้างสันติ” (Peace Building)
ถ้าประยุกต์หลักการและความหมายข้างต้นเข้ากับสถานการณ์ของสังคมไทยในขณะนี้ จะเห็นว่ามี “คู่ขัดแย้ง” อยู่ 3 ฝ่าย ได้แก่ (1) ฝ่ายรัฐบาลรักษาการ (2) ฝ่ายอดีตพรรคฝ่ายค้าน (3) ฝ่ายชุมนุมเรียกร้อง (ให้นายกฯทักษิณ ลาออกและเว้นวรรคทางการเมือง)
ทั้ง 3 ฝ่ายกำลังใช้ “สันติวิธีแบบชั้นเดียว” คือ ไม่ใช้ความรุนแรงทางร่างกายหรือทางอาวุธ แต่มีการใช้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีตลอดจนกลอุบายต่างๆที่กล่าวหาหรือกดดัน หรือสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้เพื่อให้ฝ่ายตนได้รับ “ชัยชนะ”
ควรใช้ “สันติวิธีแบบสองชั้น”
ยังไม่มีฝ่ายใดพยายามใช้ “สันติวิธีแบบสองชั้น” คือ หาทางพูดจาต่อรองเพื่อให้ได้ “ข้อตกลงร่วมกัน” โดยอาจจะมีหรือไม่มี “คนกลาง” ช่วยด้วยก็ได้
“คนกลาง” ในกระบวนการสันติวิธีนี้ ยังมีได้ 2 แบบหลักๆ คือ (1) แบบช่วย “เอื้ออำนวย” (Facilitating) คือช่วยประสานเชื่อมต่อ (เช่น พูดกับฝ่ายนั้นทีฝ่ายนี้ที เพื่อนำเข้าสู่การพูดจาต่อรองอย่างพร้อมหน้าเมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อม) ช่วยจัดกระบวนการ ช่วยดำเนินการประชุม ฯลฯ
คนกลางแบบที่ (2) คือ ช่วยเป็น “ร่มบารมี” ให้คู่กรณีได้มาพูดจากันในบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการปรองดองกันได้ง่ายขึ้น คนกลางแบบนี้มักเป็น “ผู้ใหญ่” หรือ “ผู้อาวุโส” หรือ “ผู้มีตำแหน่งฐานะ” ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของทุกฝ่ายที่เป็นคู่กรณีหรือคู่ขัดแย้ง
กรณีความขัดแย้งทั่วไป อาจใช้คนกลางแบบใดแบบหนึ่งก็เพียงพอ แต่ในบางกรณีที่มีความยากและซับซ้อนหรือละเอียดอ่อนมากๆ อาจอาศัยคนกลางทั้ง 2 แบบ ร่วมกันก็ได้
สมมุติว่า ทั้ง 3 ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้ ยอมหันหน้ามาพูดจากัน และสมมุติด้วยว่า สามารถตกลงหาบุคคล ซึ่งเห็นชอบหรือยอมรับร่วมกันมาช่วยทำหน้าที่ “คนกลาง” ให้
คำถามต่อไปคือ “จะมีทางตกลงกันได้หรือ?” ในเมื่อคู่ขัดแย้งมี “จุดยืน” ที่สวนทางกันอย่างชัดเจน
เป็นหน้าที่ของ “คนกลาง” ที่จะพยายามชวนให้ทุกฝ่ายละวาง “จุดยืน” ของตนแล้วมุ่งหา “จุดประสงค์” ร่วมกัน
เช่น จุดประสงค์ร่วมกัน อาจได้แก่ “การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความเจริญสุขร่วมกัน” หรืออาจตั้งจุดประสงค์ร่วมกันว่าเพื่อสนองต่อพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
ทั้งนี้ “สันติวิธี” จะไม่พยายามค้นหา ว่าใครถูกใครผิด หรือใครดีใครไม่ดี แต่จะพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งสู่ข้อตกลงร่วมกันเป็นหลัก
เมื่อได้จุดประสงค์ร่วมกันแล้ว ขั้นต่อไปคือพยายามหา “วิธีการ” สู่การบรรลุจุดประสงค์ร่วมกัน
การพูดจาต่อรองในเรื่องที่ยากและซับซ้อนเช่นวิกฤตการเมืองและสังคมไทยครั้งนี้ คงต้องใช้เวลาให้มากพอ แต่ถ้าตกลงจุดประสงค์ร่วมกันได้แล้ว การค้นหาวิธีการมักจะเป็นไปได้ในที่สุด
“ชุดวิธีการ” ที่จะช่วยให้ออกจากวิกฤต
ซึ่ง “วิธีการ” ที่ว่านั้น คงจะเป็น “ชุดวิธีการ” คือมีหลาย ๆ อย่างที่ตกลงกันว่าจะทำพร้อมกันไป
ผมจะลองใช้จินตนาการว่า อาจบรรลุข้อตกลงเป็น “ชุดวิธีการ” เช่น ทำนองนี้
1. ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549
2. ให้ กกต. และกลไกต่าง ๆ พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
3. ให้มีการหาเสียงหรือรณรงค์อย่างเปิดเผยเป็น 2 ฝ่ายหลัก คือ ฝ่ายขอให้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย (หรือพรรคอื่นที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง) และฝ่ายขอให้งดเว้นการออกเสียง (เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาหรือไม่เห็นชอบต่อ พตท. ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี)
4. พตท.ทักษิณ ชินวัตร ตกลงและประกาศ จะไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่อาจจะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยอาจยังคงเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หรือเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค
5. รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 จะเป็นรัฐบาลและสภาฯชั่วคราว มีหน้าที่หลักคือ (1) การดูแลให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามปกติ (2) การดูแลและดำเนินการเกี่ยวกับการเฉลิมฉลอง 60 ปี ครองราชย์ (3) การดำเนินการให้มีการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ เฉพาะในส่วนที่จะทำให้สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ภายในประมาณสิ้นปี 2549 โดยเป็นที่เห็นชอบร่วมกันของทุกฝ่าย
6. การแก้ไขปรับปรุงส่วนอื่นๆของรัฐธรรมนูญ ให้ทำภายหลังมีการเลือกตั้งครั้งใหม่(ประมาณปลายปี 2549) แล้ว โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของส่วนต่างๆของสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งมากกว่า 3 ฝ่าย ที่เป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่
7. ให้ทั้ง 3 ฝ่าย ละเว้น จากการบริภาษ ยั่วยุ เสียดสี หรือการให้ร้ายอย่างไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายอื่นๆ
8. ให้ฝ่ายชุมนุมเรียกร้องยุติการชุมนุม ฝ่ายรัฐบาลรักษาการสนับสนุนให้สื่อทุกประเภทมีอิสระในการดำเนินงาน และฝ่ายอดีตพรรคฝ่ายค้านประกาศจะเข้าเสนอตัวในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายหลังการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญแล้ว
ที่ผมลองจินตนาการดูข้างต้นนั้น เป็นตัวอย่าง หรือ“ตุ๊กตา” ให้เห็นว่า น่าจะมีทางบรรลุข้อตกลงได้ ถ้าได้พูดจาต่อรองกันโดยมีคนกลางช่วยเอื้ออำนวย และมีจุดประสงค์ที่ได้พิจารณาเห็นชอบร่วมกันเป็นตัวตั้ง
“” 1. 2. 3. 4. 5. 6 7. 8.
สู่การปฏิรูประบบคุณธรรม สังคม และการเมือง
ส่วนคำว่า “ส่วนต่างๆของสังคม” ที่ควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญนั้น ควรจะรวมถึง (1) ภาคชุมชนฐานราก (ประชาชน ชาวบ้าน ทั้งในชนบทและในเมือง) (2) ภาคธุรกิจ (3) ภาควิชาการ
ทั้งนี้ โดยถือว่า (4) “ภาคประชาสังคม” (Civil Society) (5) ภาคการเมือง ฝ่ายรัฐบาล (6) ภาคการเมืองฝ่ายค้าน นั้น รวมอยู่ในคู่ขัดแย้ง 3 ฝ่าย ซึ่งต้องร่วมในกระบวนการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
รวมแล้วจึงเป็น 6 ฝ่ายหรือ 6 ภาคส่วนของสังคม ที่ควรมีบทบาทร่วมกันในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ
นอกจากแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ แล้ว ผมยังเห็นว่าทั้ง 6 ฝ่าย น่าจะร่วมกันศึกษาพิจารณา ประเด็นที่ใหญ่กว่า และสำคัญยิ่งขึ้นไปอีกด้วย
นั่นคือ ประเด็นว่าด้วย “การปฏิรูประบบคุณธรรม สังคม และการเมืองไทย”
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
10 มี.ค. 49
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/18465
<<< กลับ