ออกแบบประเทศไทย 2562 เพื่ออนาคตหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : ประเด็นสังคมและชุมชน

ออกแบบประเทศไทย 2562 เพื่ออนาคตหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : ประเด็นสังคมและชุมชน


(บทสัมภาษณ์  นำลงในเอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง  “ออกแบบประเทศไทย  2562  :  หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก”  วันที่  28 ก.พ. – 1  มี.ค.  2552  ณ  โรงแรมโรสการ์เด้น  ริเวอร์ไซค์  สวนสามพราน  จ.นครปฐม)

สถานการณ์ปัจจุบัน

                สถานการณ์ปัจจุบันน่าจะเรียกได้ว่าเป็นทวิวิกฤตกล่าวคือ การเมืองมีความสับสนวุ่นวาย ไม่มั่นคง และมีการเผชิญหน้าระหว่างกัน การปกครองแม้จะมีความพยายามกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นแต่ยังคงบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่มีความไม่สมดุลโดยพื้นฐานจึงถือว่าอยู่ในสภาวะวิกฤต  ในขณะที่ความสัมพันธ์ของประชาชนในสังคมถูกแบ่งข้างทางความคิดกระทบต่อสุขภาพทั้งทางจิตใจและทางร่างกาย  การศึกษาและการเรียนรู้ไม่สามารถแสดงบทบาทในการเกื้อหนุนสังคมได้  วัฒนธรรมและจิตสำนึกที่สั่งสมมาตามกระแสทุนนิยมของสังคมโลกทำให้ประชาชนมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นหรือเข้าลักษณะบริโภคนิยม โดยรวมสังคมไทยยังคงมีปัญหาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลกปัจจุบัน ซึ่งการจัดการสังคมที่ดีนั้นควรเป็นการจัดการแบบองค์รวม เชิงระบบ อย่างมีพลวัต และอย่างเป็นขบวนการ โดยมีเป้าหมายให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และมีกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและธุรกิจ สังคมและสุขภาพการศึกษาและการเรียนรู้ วัฒนธรรมและจิตสำนึก

อนาคตและการรับมือ

                การพัฒนาด้านการเมืองการปกครองสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการระบบทางสังคม  โดยกลุ่มผู้มีบทบาทในการผลักดันและขับเคลื่อนที่สำคัญคือ นักการเมือง (ทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น) ข้าราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการ นักจริยธรรม ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนองค์กร และประชาสังคม ซึ่งมาตรการนำทางในระยะ 10 ปีข้างหน้าที่จะนำสังคมไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันคือ

  1. ปฏิรูปคุณภาพและปฏิบัติการทางการเมือง ให้เป็นการเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน  และมุ่งพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยแบบสันติ อารยะ สามัคคี
  2. กระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นและ “ชุมชนท้องถิ่น” ให้ได้อย่างแท้จริง   พร้อมกับเพิ่มศักยภาพของท้องถิ่นและ “ชุมชนท้องถิ่น” ในการพัฒนาตนเองให้มีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างบูรณาการและมั่นคงยั่งยืน
  3. พัฒนา “ชุมชนองค์กร”และ “ภาคประชาสังคม”ให้มีความเข้มแข็งและอยู่เย็นเป็นสุข  พร้อมกับเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมที่เข้มแข็งและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน 
  4. พัฒนาภาคธุรกิจและภาควิชาการให้มีขีดความสามารถในการสร้างความเจริญแบบพอเพียง สมดุลย์ และมั่นคงยั่งยืน  
  5. ปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ ให้เป็นการพัฒนาชีวิตและสังคมอย่างบูรณาการ  พร้อมทั้งมีวิธีการบริหารจัดการที่ดีในระบบการจัดการศึกษาเรียนรู้ทุกระดับ
  6. ขับเคลื่อนขบวนการทางสังคมเพื่อพัฒนาสุขภาวะ วัฒนธรรมและจิตสำนึก ที่มุ่งสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/244925

<<< กลับ

ศิลปะการรวมพลังสร้างอนาคต

ศิลปะการรวมพลังสร้างอนาคต


 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/248256

<<< กลับ

สามเสาหลักแห่งความเจริญมั่นคงของสังคมกับบทบาทของศูนย์คุณธรรม

สามเสาหลักแห่งความเจริญมั่นคงของสังคมกับบทบาทของศูนย์คุณธรรม


สามเสาหลักแห่งความเจริญมั่นคงของสังคม

กับบทบาทของศูนย์คุณธรรม

            ในชีวิตและในสังคม สิ่งที่เป็นเสาหลักแห่งความเจริญมั่นคงของสังคม มี 3 ส่วนคือ  ความดี ความสามารถ และความสุข

                 ความดี คือ คุณธรรม จริยธรรม การคิด การพูด การกระทำอย่างถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ และมีคุณค่า

                ความสามารถ คือ ความสามารถในการคิด การพูด การกระทำ การบริหาร การใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อให้เกิดความสำเร็จของภารกิจ

                ความสุข คือ ความสุขทางกาย ความสุขทางใจ ความสุขทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ และความสุขทางสังคมคือการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

                 สามเสาหลักนี้ เป็นสิ่งที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีปฎิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เรื่องคุณธรรมจริยธรรม ความดี เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในการพัฒนาชีวิต พัฒนาสังคม

             สังคมไทยเรามีความพยายามที่จะรักษาไว้และพัฒนาความมีคุณธรรมจริยธรรมมาโดยตลอด ทั้งโดยธรรมชาติ โดยความตั้งใจ โดยนโยบาย และโดยหน่วยงานต่างๆ ที่รัฐหรือประชาชนตั้งขึ้น

                ศูนย์คุณธรรม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม การขับเคลื่อนคุณธรรมในสังคม ให้เป็นขบวนการทางสังคมที่แผ่ขยายอย่างกว้างขวาง ตลอดสามปีที่ผ่านมา ถือว่าได้เริ่มต้น จุดประกาย กระตุ้น เสริมหนุน กิจกรรมและกระบวนการต่างๆ ที่เอื้อต่อการเกิดขบวนการคุณธรรมในสังคม โดยเฉพาะที่จัดทำในรูปของสมัชชาคุณธรรมที่มีทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติต่อเนื่องกันมา 3 ปี และมีแผนที่จะดำเนินการเป็นประจำต่อไป

                ถือได้ว่าการขับเคลื่อนคุณธรรมจริยธรรมความดีในสังคม ซึ่งเป็นภารกิจหลักของศูนย์คุณธรรม ที่ได้เริ่มต้นทำมาแล้ว โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนจากหลายภาคส่วน และหลายระดับในสังคม ตั้งแต่ชุมชนท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ ได้ผลในระดับหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสมผลลัพธ์และศักยภาพ ในการสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้ดียิ่งขึ้นและมากยิ่งขึ้น

                  เชื่อว่าการขับเคลื่อนขบวนการคุณธรรมจริยธรรม ได้มีเชื้อก่อขึ้นแล้วอย่างกว้างขวาง และประชาชนหลายภาคส่วนที่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง น่าจะมีความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และความพยายามที่จะเชื่อมประสานพลังสร้างสรรค์   เพื่อดำเนินการเรื่องคุณธรรมจริยธรรมต่อไปด้วยพลังของตนเอง ผสมผสานกับพลังของกลไกอื่นๆ ในสังคม ซึ่งรวมถึงศูนย์คุณธรรมที่เป็นหน่วยงานเล็กๆ แต่ช่วยจุดประกายและเชื่อมร้อยกลุ่มต่างๆ ให้ขับเคลื่อนเป็นขบวนการใหญ่

                 ในปีที่ผ่านมาและปีที่จะถึง ประเทศไทยและโลกอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยยังมีวิกฤติด้านการเมืองและสังคมผสมเข้าไปด้วย หากวิเคราะห์ลงลึกเชิงระบบจะเห็นว่า สามเสาหลักของสังคมคือ ความดี ความสามารถ และความสุข เกิดความไม่สมดุล เกิดความพร่อง โดยเฉพาะความพร่องด้านความดี เป็นผลให้เกิดความพร่องด้านความสามารถและความสุขไปด้วย

                  จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสังคมไทยและสังคมโลก จะต้องเร่งฟื้นฟู เสาหลักด้านความดี ซึ่งรวมถึงคุณธรรมจริยธรรม และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่รู้จบ จึงจะช่วยให้ทั้งสังคมไทยและสังคมโลก ฟื้นคืนและพัฒนาสู่ความเจริญแบบมั่นคงและยั่งยืนได้ ซึ่งสอดรับกับภารกิจหลักของศูนย์คุณธรรม

                     ขออำนวยพร ให้ศูนย์คุณธรรมมีความเป็นองค์กรที่เข้มแข็งและสามารถ บนฐานความดีและคุณธรรมจริยธรรมในตนเอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพลังสร้างสรรค์ ให้สังคมไทยดำเนินไปสู่ความเจริญแบบมั่นคงและยั่งยืน สมตามเจตนารมณ์และปณิธานขององค์กรต่อไป

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/248829

<<< กลับ

เทคนิคการรวมพลังสร้างอนาคต (AIC)

เทคนิคการรวมพลังสร้างอนาคต (AIC)


การประชุมระดมความคิด แบบมีส่วนร่วมสูง ( Highly Participative ) ของผู้เกี่ยวข้องทุก ฝ่าย โดยใช้กระบวนการ เทคนิคการรวมพลังสร้างอนาคต ( AIC : Appreciation , Influence , Control ) ผสมผสานร่วมกับ เทคนิคการรวบรวมความคิดเชิงสร้างสรรค์
( TCT : Total Creative Thinking )

 

 

———————————————————

ไพบูลย์     วัฒนศิริธรรม

วิเชียร   ศรีลูกหว้า

มีนาคม ๒๕๕๒

 

การที่จะส่งเสริมให้คนมีความร่วมมือกัน รักกัน และ มีการเรียนรู้ร่วมกันได้นั้น ได้มีคนพยายามค้นคว้าวิธีการโดยการพัฒนา และ วิจัยมาแล้วมากกว่า ๕๐ ปี จนกลายเป็นเครื่องมือที่เรียกว่า A – I – C   ( โดย William E. Smith และ Turid Sato แห่งสถาบัน ODII สหรัฐอเมริกา ) ซึ่งได้ผ่านการวิจัย   และทดลองใช้รวมทั้งได้มีการพัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ ผู้เขียนเองเป็นผู้หนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการทดลอง และนำมาประยุกต์ใช้กับงานพัฒนาแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยได้ปรับประยุกต์กระบวนการ ขั้นตอน ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม วัฒนธรรมแบบไทย ๆ อย่างได้ผล

 

                A – I – C   เป็นกระบวนการ และ เทคนิคในการนำคนที่ต้องการทำงานร่วมกันทั้งหมดในระบบใดระบบหนึ่ง หรือ เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เข้ามา ประชุมเชิงปฏิบัติการ ( Workshop ) ร่วมกัน ซึ่งมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการนำมาใช้ในการ จัดทำแผนพัฒนาองค์กร ชุมชน และ สังคม เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวจะช่วยก่อให้เกิด พลังแห่งความร่วมมือ ได้อย่างดียิ่ง โดยมีขั้นตอน / กระบวนการดำเนินการตามลำดับ รวม ๓ ขั้น ดังนี้

 

ขั้นที่ ๑ A : APPRECIATION   ( การสร้างพลังเมตตา )

 

คือ กระบวนการที่ทำให้ทุกคนให้การยอมรับและชื่นชม ( APPRECIATION ) คนอื่น โดยที่ไม่รู้สึกที่ไม่ดี หรือ แสดงการต่อต้าน หรือ วิพากษ์วิจารณ์

 

กระบวนการในชั้นนี้ ทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมจะมีโอกาสในการแสดงออกได้อย่างทัดเทียมกัน ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้ทั้ง ข้อเท็จจริง เหตุผล และ ความรู้สึกของตน ตลอดจนการแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง เมื่อทุกคนได้แสดงออกโดยได้รับการยอมรับจากคนอื่นๆ จะทำให้ทุกคนมีความรู้สึกที่ดี มีความสุข มีความอบอุ่น และ จะเกิด พลังร่วม ขึ้นในระหว่างคนที่มาประชุมร่วมกัน

 

ขั้นที่ ๒ I : INFLUENCE ( การสร้างพลังปัญญา )

 

คือ การใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่แต่ละคนมีอยู่ มาช่วยกันกำหนด วิธีการสำคัญ หรือ         ยุทธศาสตร์ ( STRATEGY ) ที่จะทำให้บรรลุ วิสัยทัศน์ร่วม ( SHARED VISION ) หรือ อุดมการณ์ร่วม   ( SHARED IDEAL ) ของกลุ่มที่มาประชุมร่วมกันได้อย่างดีที่สุด

 

กระบวนการในชั้นนี้ ทุกคนยังมีโอกาสทัดเทียมกัน ให้เกียรติ ให้โอกาส ซึ่งกันและกัน รับฟังข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน โต้เถียงกันด้วยเหตุและผล ยอมรับกัน จะทำให้เกิด พลังร่วมของสติปัญญา        ที่แต่ละคนมี และ นำออกมาร่วมกันกำหนด วิธีการสำคัญที่จะทำให้บรรลุ วิสัยทัศน์ร่วม หรือ อุดมการณ์ร่วม ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะมี ปฏิสัมพันธ์ ( INFLUENCE หรือ INTERACTION) ซึ่งกันและกันสูงมาก เพื่อให้ได้ วิธีการสำคัญ ที่กลุ่มเห็นว่าดีที่สุดนั่นเอง

 

ขั้นที่ ๓ C : CONTROL   ( การสร้างพลังพัฒนา )

 

คือ การนำเอา วิธีการสำคัญ มากำหนดเป็น แผนปฏิบัติการ ( ACTION PLAN ) อย่างละเอียดว่า จะทำอะไร อย่างไร มีหลักการและเหตุผลอย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ใครจะต้องให้ความร่วมมือ จะต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายเท่าไร จะได้จากแหล่งใดบ้าง กลุ่ม / องค์กร / หน่วยงาน ฯลฯ ของตนเอง มีงบประมาณ และ ทรัพยากรอะไรสนับสนุนบ้าง เหล่านี้เป็นต้น

 

กระบวนการในชั้นนี้ สมาชิกของกลุ่มแต่ละคนจะตัดสินใจเลือกเองด้วยความสมัครใจว่า    แต่ละคนจะรับอาสาที่จะรับผิดชอบในเรื่องใด หรือ จะให้ความร่วมมือในเรื่องใด หรือ จะเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องใด เป็นการกำหนด ข้อผูกพัน ( COMMITMENT ) ให้กับตนเอง เพื่อ ควบคุม ( CONTROL ) ให้เกิดการกระทำอันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย หรือ อุดมการณ์ร่วมกัน ในที่สุด ซึ่งก็ คือ การก่อเกิด พลังร่วมของการพัฒนา นั่นเอง

สรุป A – I – C   คือ กระบวนการรวมพลังสร้างอนาคต เป็นการสร้างพลังร่วมในการทำงานร่วมกันของคนหลายฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะเกิดประสิทธิผลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกระบวนการ ที่ช่วยในการดึงพลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้วในกลุ่ม / องค์กร / หน่วยงาน / ตัวบุคคล ฯลฯ ซึ่งต้องการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันด้วยการยึดหลักของ ความเมตตา ซึ่งถือว่าเป็น ธรรมะอย่างสูง เพราะคนที่จะมี หรือ ให้ความรักความเมตตาคนอื่น ได้นั้น ต้องรับฟังคนอื่นด้วยความอดทน ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกับตน เพราะฉะนั้น ตัว A ( เอ ) จะทำให้เกิดพลังแห่งความดี ถ้าใครมีมาก หรือฝึกได้ถึงขั้นจะถือได้ว่าเป็นผู้ที่บรรลุ การพัฒนาทางจิตวิญญาณ ( SPIRITUAL DEVELOPMENT ) และคน ๆ นั้นจะมีความสุขมาก ซึ่งเมื่อคนที่เข้ามาร่วมกันทำกิจกรรมโดยมีความรักความเมตตาต่อกันแล้ว ก็จะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากการทำงานด้วยกัน ซึ่งก็ คือ ตัว I ( ไอ ) จะทำให้เกิดพลังร่วมของสติปัญญา เพราะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง ( INTERACTIVE LEARNING THROUGH ACTION ) ซึ่งกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนได้นั้น ต้องการการเรียนรู้ร่วมกันของคนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้ทุกคนตระหนักในความรับผิดชอบ และ ควบคุมตนเอง  ซึ่งก็ คือ ตัว C ( ซี ) ไปสู่การกระทำที่เป็นความต้องการร่วมกัน นั่นเอง

 

อาจสรุปได้ว่าเทคนิค AIC จะช่วยก่อให้เกิด พลังของความร่วมมือ แบบไทย ๆ ว่า…………

 

                A คือ   รู้ รัก สามัคคี          I คือ   ร่วมกันคิด       C คือ ร่วมกันทำ

 

การรวมความคิดเชิงสร้างสรรค์ ( TCT : Total Creative Thinking ) เป็นเทคนิคอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการจัดประชุมระดมความคิด เพื่อการพัฒนาองค์กร โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมใช้ ความคิดเชิงบวก มากกว่า ความคิดเชิงลบ กล่าวคือ

 

  • ความคิดเชิงบวก ( positive thinking ) คือ การมองอะไรในทัศนะของความเป็นไปได้ เป็นการคิดเพื่อมองหาช่องทางของความสำเร็จ และ มีความเชื่อว่าทุกอย่างทำสำเร็จได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือ ไม่ช้าก็เร็ว
  • ความคิดเชิงลบ ( negative thinking ) คือ การมองอะไรในทัศนะของความเป็นไปไม่ได้ เป็นการคิดแบบปิดกั้นความคิดตัวเอง ไม่พยายามมองหาช่องทางของความสำเร็จ และ มักจะมีความเชื่อว่าทำไปก็ไม่สำเร็จ หรือ ทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากนี้ ยังพยายามฉุดรั้งความคิดของคนอื่นอีกต่างหาก ( คุณเคยพูด หรือ เคยได้ยินคำพูดอย่างนี้บ้างไหม เช่น “เรื่องนี้ไม่มีทางทำได้สำเร็จหรอก” “อย่าไปเสียเวลาคิดเลย คนมีอำนาจเขาคงไม่เห็นด้วย” ถ้าเคยพูด หรือ เคยได้ยินมาบ้าง ก็ให้รับรู้ไว้ด้วยว่า ตัวคุณ หรือ คนที่พูด นั้น เป็นคนประเภทนี้แหละ )

 

ขั้นตอนและกระบวนการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการโดยผสมผสานเทคนิค AIC + TCT

 

ขั้นที่ ๑ ตัวเอง ( SELF )

 

  • ผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคน คิดคนเดียวตามลำพัง โดยการนำสิ่งที่ตนเองรับรู้หรือ ประสบการณ์ตรงของตนเองที่ได้มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องผสมกับความคิดของตนเองที่มีอยู่ โดยการจดบันทึกไว้ในกระดาษสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น

 

ขั้นที่ ๒ คนอื่น ( OTHERS )

 

  • นำข้อสรุปความคิดเห็นของตนเอง ( แต่ละคน) มาเสนอ และ แลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ในกลุ่มย่อย โดยทุกคนที่เสนอ หรือ แสดงความคิดเห็นอยู่บนพื้นฐานของ หลักการ Appreciation คือ การนำ พลังเมตตา ที่มีอยู่ในตัวเองออกมาใช้ โดยการชื่นชมยินดีต่อความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม รับรู้ด้วยความเข้าใจ เห็นใจ และ มองเห็นคุณค่าต่อสิ่งที่แต่ละคนนำเสนอ
  • รวบรวมความคิดเห็นของแต่ละคนเป็น ความคิดเห็นรวบยอดของกลุ่ม โดยการรวมประเด็นที่เหมือนๆ กันเข้าด้วยกัน และ แยกแยะประเด็นที่แตกต่างกันออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ หาข้อ สรุปร่วมกันเป็นประเด็นใหม่ ที่สมาชิกในกลุ่มมีความพอใจและเห็นชอบร่วมกัน โดยสมาชิกทุกคนร่วมกันเสนอหรือแสดงความคิดเห็นอยู่บนพื้นฐานของ หลักการ Influence คือ การนำ พลังปัญญา ที่มีอยู่ในตัวเองออกมาใช้ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกันแบบมีปฏิสัมพันธ์ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกและช่วยกันหล่อหลอมความคิดของทุกคนเข้าด้วยกันให้เป็นความคิดและข้อสรุปของกลุ่มโดยไม่มีการขัดแย้ง

 

ขั้นที่ ๓ องค์รวม ( THE WHOLE )

 

  • นำข้อสรุปของกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มตามขั้นตอนที่ ๒ มาเสนอในที่ประชุมกลุ่มใหญ่ (รวมทุกกลุ่ม)
  • สมาชิกในที่ประชุมกลุ่มใหญ่ ร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เสนอแนะเพิ่มเติมความสมบูรณ์ โดยสมาชิกทุกคนยังคงร่วมกันเสนอ หรือ แสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของ หลักการ A และ I
  • สรุปรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็น ความคิดรวบยอดองค์รวม ของที่ประชุม
    โดยสมาชิกทุกคนตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของ หลักการ TCT คือ การรวบรวมความคิดเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้น ข้อเสนอหรือความคิดใดๆที่เป็น เชิงลบ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ในที่ประชุม ผู้เสนอจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือ ไม่ควรนำเสนอ
  • เมื่อได้ความคิดรวบยอดองค์รวม ที่ตกผลึก ตามความต้องการร่วมกันแล้ว จึงนำมากำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ หรือ แผนกลยุทธ์ เพื่อดำเนินการให้บรรลุผลตามเป้าหมาย และ ความต้องการร่วมกัน โดยสมาชิกทุกคนแสดงตนในการเข้าร่วมบนพื้นฐานของ หลักการ Control คือ การนำพลังพัฒนามาควบคุมตนเองสู่การ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/260442

<<< กลับ

 

การพัฒนาประเทศสู่การเป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

การพัฒนาประเทศสู่การเป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน


โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจอาสา

อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 แนวคิดการพัฒนา: ยึดพื้นที่เป็นหลัก โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง       

ในการพัฒนาประเทศนั้น ต้องเน้นที่การพัฒนาในประเทศก่อน เพราะการพัฒนาต้องมุ่งหวังให้คนอยู่เย็นเป็นสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน นี่เป็นเป้าหมายที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10

การที่จะทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันแปลว่าต้องทำหลายอย่างที่ไปด้วยกันและบูรณาการ ไม่ใช่เลือกทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจ เพราะถ้าทำแต่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เรื่องของสังคม เรื่องของการเมือง เรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ได้ไปด้วยกัน เศรษฐกิจก็พัฒนาไม่ได้ ฉะนั้นการพัฒนาที่ดี ต้องเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการ คือ ต้องผสมผสานหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน เหมือนชีวิตคนเราที่ไม่ได้แยกทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องทำไปพร้อมๆกัน ทั้งกิน ทั้งทำงาน ทั้งพักผ่อน ดูแลสุขภาพ อยู่กับครอบครัว รวมทั้งเรื่องจิตใจด้วย สังคมและประชาชนก็เช่นเดียวกัน

หลักการพัฒนาที่ดีคือ การพัฒนาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนต้องเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย กำหนดวิธีการ และลงมือปฏิบัติ นอกจากนั้น ประชาชนต้องเรียนรู้ผลของการปฏิบัติ โดยนำมาปรับปรุง และพัฒนา นี่คือบทบาทของประชาชนสำคัญที่สุด ซึ่งก็สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ที่ระบุให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีมาก เพราะหลักการพัฒนาที่ดีนอกจากประชาชนเป็นศูนย์กลางแล้ว ก็ต้องมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ พื้นที่อาจเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น หมู่บ้าน ตำบล พื้นที่ขนาดกลาง ได้แก่ อำเภอ จังหวัด พื้นที่ระดับใหญ่ คือ กลุ่มจังหวัด และพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุด คือทั้งประเทศ การแบ่งเป็นจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่ลืมว่าจังหวัดและกลุ่มจังหวัดประกอบด้วยพื้นที่เล็กลงกว่านั้น คือ อำเภอ  ตำบล หมู่บ้าน หรือตามเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบไปด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งบริหารระดับจังหวัด เทศบาลดูแลในเมือง และองค์การบริหารส่วนตำบลดูแลชนบท

การเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งแบบนี้จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มามองสถานการณ์ร่วมกัน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ แล้วก็วางแผนร่วมกันหลายๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ประชาสังคม วิชาการ ศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนภาคเอกชน และภาคธุรกิจ โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มาศึกษาสถานการณ์และวางแผนร่วมกัน และปฏิบัติร่วมกันตามบทบาทที่เหมาะสมของแต่ละฝ่าย จากนั้นก็ติดตามผล วัดผล เรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้น และนำมาเป็นข้อคิดในการพัฒนาปรับปรุงต่อไป

เป้าหมายการพัฒนา จะเน้นเป้าหมายสูงสุดว่า ประชาชนหรือสังคมต้องอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เมื่อมีการตั้งเป้าหมายชัดเจนแล้วก็จะสามารถกำหนดแผนงาน กำหนดนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์ แยกออกมาเป็นโครงการต่างๆ แล้วลงมือทำได้ ขณะเดียวกันถ้าจะให้การบริหารการพัฒนาเหล่านี้มีประสิทธิภาพ ได้ประสิทธิผล วิธีหนึ่งที่ดีมากๆ คือ การกำหนดตัวชี้วัด ซึ่งก็ควรจะมีตัวชี้วัดวัดผลของการพัฒนา นั่นคือ ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน อาจเรียกว่า ตัวชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”  การอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันควรให้ประชาชนหลายๆฝ่ายที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ร่วมกันกำหนดตัวชี้วัด ตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุด คือ หมู่บ้าน ตำบล เทศบาล จังหวัด รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องจากฝ่ายต่างๆ ด้วย ได้แก่ ประชาชน ประชาสังคม ธุรกิจ หน่วยงานราชการในส่วนท้องถิ่น ตลอดจนในส่วนภูมิภาค โดยในแต่ละพื้นที่ ตัวชี้วัดไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่แนวโน้มออกมาคล้ายๆ กัน หัวข้อใหญ่ๆ หมวดใหญ่ๆ จะคล้ายกัน แต่หมวดย่อยอาจจะต่างกันที่น้ำหนัก เช่น พื้นที่นี้อาจจะให้น้ำหนักเรื่องสุขภาพ พื้นที่นี้อาจจะให้น้ำหนักเรื่องความปลอดภัย พื้นที่นี้อาจจะให้น้ำหนักเรื่องรายได้ พื้นที่นี้อาจจะให้น้ำหนักเรื่องอิสระเสรีภาพ เป็นต้น แต่จริงๆ แล้ว ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันต้องประกอบด้วยหลายๆอย่างที่ผสมกลมกลืนกัน แล้วนำมาซึ่งความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวชี้วัด มีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน มีส่วนร่วมในการปฏิบัติในขอบเขตที่เหมาะสม มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และพัฒนาต่อเนื่อง ถ้าทำได้ดังนี้เราสามารถทำให้ทุกพื้นที่ที่สามารถจะพัฒนาในลักษณะที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน แล้วนำมาซึ่งความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของคนในพื้นที่ นี่คือผลของการพัฒนาและไม่จำเป็นต้องเน้นว่าการพัฒนาในประเทศหรือนอกประเทศ เพราะว่าเมื่อเราให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง พื้นที่เป็นตัวตั้ง กำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน วิธีการออกมาแล้ว ยุทธศาสตร์และแผนงานจะเป็นตัวกำหนดว่า อะไรเป็นอะไร เช่น สมมติว่าเราพัฒนาเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เพราะว่าดีต่อผลผลิต ดีต่อการบริโภค ดีต่อผู้ผลิต และยังสามารถส่งออกได้อีก ฉะนั้นอาจเป็นไปได้ว่า เรื่องในประเทศและเรื่องต่างประเทศมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระและสถานการณ์

ขณะนี้มีวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติการเงิน แต่เมืองไทยเรามีวิกฤตทางการเมืองและสังคมเพิ่มมาด้วย วิกฤตเหล่านี้เกี่ยวพันกันหมด เมื่อดูสถานการณ์แล้ว ควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน วิธีการ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ต้องเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง พัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่อยู่กับที่ การดำเนินงานเช่นนี้จะช่วยให้เราสามารถดำเนินการพัฒนาที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีพื้นที่เป็นตัวตั้ง มียุทธศาสตร์ แผนงาน วิธีการสอดคล้องกับสถานการณ์ ปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง พัฒนาไป เรียนรู้ ปรับปรุงไปเรื่อยๆ

บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดในการพัฒนาประเทศสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข

การบริหารจัดการประเทศในขณะนี้ มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาชน ซึ่งก็แยกเป็นชุมชน ประชาสังคม ธุรกิจและอื่นๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตัวแทนของราชการส่วนกลางที่ไปอยู่ภูมิภาค ช่วยส่งเสริม สนับสนุน ประสานกับราชการส่วนท้องถิ่น กับภาคประชาชน กับภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ ฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับฐานราก หรือฐานล่าง ซึ่งก็คือประชาชน ชุมชน องค์กรภาคประชาชน ราชการส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ ต้องประสานเชื่อมโยงกับราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนกลาง ตลอดจน หน่วยงานหรือองค์กรที่ไปจากส่วนกลางด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดควรเป็นแกนประสานที่ดี เป็นจุดกลางระหว่างราชการส่วนท้องถิ่น และราชการส่วนกลาง เป็นผู้ประสานระหว่างหลายภาคส่วนในพื้นที่ ฉะนั้นบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดจึงถือเป็นบทบาทที่สำคัญ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมีบทบาทที่ดี และเหมาะสมมากขึ้นเป็นลำดับ บุคคลที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีคุณสมบัติ มีวิธีการ มีนโยบายที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังๆ นี้ เมื่อเราไปพบผู้ว่าราชการจังหวัด ไปเห็นการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด จะเห็นว่ามีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ มีการประสานเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น และทำดีขึ้น ฉะนั้น ก็หวังว่าผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่งจะเล่นบทในฐานะผู้ประสานกลางที่จะส่งเสริม สนับสนุนเพื่ออำนวยให้ทุกฝ่ายในพื้นที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแล ร่วมมือกัน นำไปสู่การมียุทธศาสตร์ มีแผนงาน มีวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้พื้นที่และประชาชนในพื้นที่บรรลุผลสำเร็จ ท้ายสุดก็คือความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันนั่นเอง

โดยสรุป ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นกลไกสำคัญในการที่จะทำให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและสมบูรณืยั่งยืน แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประสานให้ทุกๆ ฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่ได้มาร่วมมือกัน โดยมีประชาชนเป็นผู้รับผลสุดท้ายของการพัฒนาซึ่งก็คือ ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/260975

<<< กลับ

อาจารย์ไพบูลย์กับการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดชุมชนที่หนองพันจันทร์

อาจารย์ไพบูลย์กับการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดชุมชนที่หนองพันจันทร์


(บันทึกของ ประยงค์ อุปเสน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.))

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาส ที่สำคัญที่สุดในชีวิตการทำงานอีกครั้งหนึ่ง คือได้จัดเวทีการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาระดับตำบล ร่วมกับชาวบ้านตำบลหนองพันจันทร์ อ.บ้านคา จังหวัดราชบุรี โดยมีอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตประธานกรรมการสถาบันฯ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นที่เคารพรักยิ่ง ท่านได้กรุณาไปร่วมในเวทีการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาระดับตำบล ท่านได้ร่วมคิด ร่วมจัดทำ และถ่ายทอดแนวคิดให้กับชาวชุมชน พร้อมกับลงนามไว้ในกระดาษฟลิปชาร์ตที่ท่านใช้เขียนประกอบการบรรยายให้ชาวตำบลหนองพันจันทร์ได้เก็บรักษาเป็นที่ระลึกอีกด้วย

ที่ผมคิดว่างานครั้งนี้สำคัญกับผมในชีวิตการทำงานครั้งหนึ่งนั้น เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อในแนวทางที่อาจารย์ไพบูลย์เคยถ่ายทอดให้ฟังในหลายครั้งท่านได้เน้นว่า การพัฒนาในหลายๆประเทศ ที่เขาไปได้ดีนั้น เพราะเขามีการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาทุกระดับ เป็นการจัดทำโดยที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดทำ ลงมือและติดตามผล ครั้งหนึ่งท่านเคยพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ในปลายปี 2550 ในเรื่องนี้ และฝากให้ส่วนงานนี้ได้ปฏิบัติการดู ท่านเองอาจไม่คิดคาดหวังอะไรมากมายจากสิ่งที่ท่านพูดก็ได้ แต่สำหรับพวกเราชาวสำนักพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ที่นำโดยคุณสุเทพ ไชยขันธุ์เป็นหัวหน้าทีม กลับรู้สึกว่าสิ่งที่เราควรจะทำได้ในเวลานั้นก็คือ การลงไปในพื้นที่เพื่อสร้างรูปธรรมขึ้นมา ให้เป็นจริงและพิสูจน์สิ่งที่เชื่อมานั้นว่าจะเป็นจริงได้หรือไม่อย่างไร จากนั้นมาคุณสุเทพ และผมก็ได้ลงพื้นที่ที่ชาวบ้านสนใจจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดการพัฒนา คือที่ตำบลบ้านเลือกและที่ตำบลหนองพันจันทร์ การลงไปในพื้นที่เพื่อสร้างรูปธรรมขึ้นมา ให้เป็นจริงและพิสูจน์สิ่งจังหวัดราชบุรี มาอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่เราได้ทดลองปฏิบัติการนั้นก็คือ เรามีแนวคิดว่าสภาองค์กรชุมชน จะเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างให้ภาคส่วนต่างๆ ในท้องถิ่นได้เข้ามาร่วมมือกันในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ของตนเอง โดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายซึ่งในกระบวนการทำงานของเรานั้น มี 8 ขั้นตอนหลัก ที่สำคัญคือ

                ขั้นตอนที่ 1. เราได้เริ่มจากการประสานงานผ่านสภาองค์กรชุมชน เพื่อให้เกิดการจัดเวทีพูดคุยกันระหว่างสมาชิกสภาองค์กรชุมชนในส่วนของชาวบ้านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในส่วนของปกครองท้องที่ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตัวแทนส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นสามเส้าใหญ่ในระดับตำบล นอกจากนั้นก็ได้เรียนเชิญพระสงฆ์ปราชญ์ชาวบ้านครูอนามัยตำบลตำรวจ และหน่วยงานที่มาทำงานในท้องถิ่นนั้น เข้าร่วมสร้างความเข้าใจในบทบาทภารกิจของกันและกัน ทั้งในด้านกฎหมาย ข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ และความคาดหวังของชุมชนเวทีแรกได้สร้างให้ทุกฝ่ายเห็นว่า ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในท้องถิ่นมีใครบ้างใครทำอะไรอยู่และที่สำคัญคนอื่นๆได้เข้าใจบทบาท ภารกิจของสภาองค์กรชุมชนยิ่งขึ้น จากความไม่เข้าใจเป็นความเข้าใจดี จากที่ไม่รู้หน้าที่ก็ได้รู้หน้าที่ของกันและกัน บนพื้นฐานของความหวังดีที่มีต่อชุมชนเช่นกัน

ขั้นตอนที่ 2. เป็นขั้นตอนการพูดคุยที่ต่อมาจากขั้นตอนแรก ที่เมื่อทุกฝ่ายเรียนรู้กันมากขึ้นแล้ว เปิดใจยอมรับกันบ้างแล้ว ก็จะชักชวนกันมาวิเคราะห์ตนเองและวิเคราะห์ชุมชน ค้นหาปัญหา  ค้นหาข้อเด่นหรือความภาคภูมิใจ
ค้นหาอัตตลักษณ์ ความเป็นตัวตน สิ่งที่ดีงามของชุมชนและของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ ร่วมกัน และร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งเป้าหมายที่ได้มานั้น จะนำไปสู่ความเข้าใจตรงกันคือ เป้าหมายของคนตำบลนั้นๆ หรือท้องถิ่นนั้นๆ และเป้าหมายยังสะท้อนได้ด้วยว่า ใครบ้างที่รับผิดชอบดำเนินการเรื่องนี้ ในท้องถิ่น ตำบลของตนเองการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นนี้ ได้ช่วยให้ทุกฝ่ายเห็นตรงว่า สภาองค์กรชุมชนจะต้องรับผิดชอบในเป้าหมายใดและใครจะเป็นหลักเป็นรองในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะการพัฒนากลุ่มองค์กรในตำบลให้เข้มแข็ง การฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นของตนเอง การรับรู้เป้าหมาย และรู้ว่าใครกำลังจะทำอะไร ภายใต้เป้าหมายนั้น ทำให้คนในตำบลไม่คิดว่าใครจะเข้ามาทำงานเพื่อแข่งขันกับใคร หรือจะเข้ามาเป็นคู่แข่งใคร ในทางการเมือง ซึ่งทุกฝ่ายจะสบายใจในการทำงาน

ขั้นตอนที่ 3. เป็นเวทีที่ชาวชุมชนในท้องถิ่น ตำบลนั้นๆ ได้นัดหมายหารือกันต่อที่จะต้องทำให้เป้าหมาย แต่ละด้านนั้นได้เกิดแผนงานที่จะให้เป็นจริง ดังนั้น เวทีนี้ก็จะต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องในตำบล โดยเฉพาะคนเข้าร่วมในขั้นตอนแรกและขั้นตอนที่สอง เข้ามาประชุมหารือเพื่อกำหนดลงรายละเอียดของแต่ละเป้าหมาย โดยบุคคลหรือกลุ่มองค์กรชุมชนใดที่ทำงานอยู่ภายใต้เป้าหมายใด เป็นหลัก ก็จะต้องเข้าร่วมกันหารือเป็นกลุ่มย่อย ในเป้าหมายนั้นๆ มากน้อยขึ้นอยู่กับการกำหนดในเวทีที่ผ่านมา ในขั้นนี้ที่ประชุมจะต้องร่วมกันคิดและสรุปว่า จากเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น เราจะดูความสำเร็จจากรูปธรรมอะไร (ตัวชี้วัด) จะดำเนินการร่วมกันอย่างไรที่จะให้บรรลุผลได้จริง (วิธีการสำคัญ) และใครจะเข้ามารับผิดชอบทำ (กลไกหรือองค์กรที่เป็นหลักดำเนินการ) ซึ่งการกำหนดลงรายละเอียดในขั้นนี้ ทำให้ทุกคนเรียนรู้กันและกัน และรู้แนวทางที่จะปรับการทำงานเข้าหากัน เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายร่วมของคนในตำบล โดยไม่มองเฉพาะส่วนที่ตนเองหรือกลุ่มของตนรับผิดชอบเท่านั้น

ที่ตำบลหนองพันจันทร์ ชาวบ้านที่นั่นได้ผ่านขั้นตอนที่ 1 และ 2 มาก่อนแล้ว ในขั้นตอนที่ 3 นี้ ถือเป็นความโชคดีที่ท่านอาจารย์ไพบูลย์ให้ความสนใจ มีใจอาสาสมัครไปร่วมคิดและทำตัวชี้วัดร่วมกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง และยังถ่ายทอดวิธีการจัดการแบบมีศิลปะให้กับชาวชุมชน ได้รู้ว่าการทำอะไรต้องมีเป้าหมายที่สำคัญ ต้องกำหนดวิธีการสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป็นจริง ไม่ต้องมาก แต่สอดคล้องกับสภาพชุมชนท้องถิ่นและที่สำคัญต้องกำหนดตัวชี้วัด ที่ชัดเจน ง่ายๆ ไม่ต้องมาก แต่ดูความสำเร็จได้ ซึ่งทั้งหมดนั้น ต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ด้วยหลักอิทธิบาท ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ มีความสนใจหรือความเชื่อ (ฉันทะ) พยายาม (วิริยะ) เอาใจใส่ (จิตตะ) ใคร่ครวญสรุปไตร่ตรองร่วมกัน (วิมังสา)

จากนั้น ท่านอาจารย์ก็ได้ยกกรณีการตั้งเป้าหมายของชาวตำบลหนองพันจันทร์ซึ่งเป็นกลุ่มย่อย 1 ใน 8 กลุ่ม ตามเป้าหมายการพัฒนาของชุมชน 8 เรื่อง โดยได้ยกเอาเป้าหมายที่มุ่งหวังเป็นตำบลปลอดหนี้   มาให้เห็นเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ ซึ่งอาจารย์ได้กล่าวว่าการตั้งเป้าหมาย การที่จะทำให้ปลอดหนี้ทั้งชุมชนเลยนั้น นับว่าเป็นเรื่องยาก และการเป็นหนี้ ถ้าทำให้เป็นสุข ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ที่เป็นหนี้แล้วก่อให้เกิดทุกข์ นั่นต่างหากที่เป็นเรื่องต้องจัดการ สำหรับคำแนะนำนั้น ภายหลังจากอาจารย์ได้ฟังสิ่งที่ชาวบ้านร่วมกันคิดในกลุ่มย่อยแล้ว  อาจารย์ได้สรุปให้เห็นเป็นวิธีการจัดการงานพัฒนาให้สำเร็จนั้น จะต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ อย่างน้อยต้องคำนึงถึง 3 อย่างคือ การตั้งเป้าหมาย  การกำหนดวิธีการที่สำคัญ และการกำหนดตัวชี้วัด  ดังนี้

  1. การตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ ; ชาวชุมชนเราต้องมีเป้าหมายสำคัญร่วมกัน เช่น ต้องมีความมุ่งหวังทำให้เป็น “ชุมชนปลอดหนี้ที่สร้างทุกข์”
  2. การกำหนดวิธีการที่สำคัญ ; ต้องมีวิธีการที่สำคัญ ไม่มากจนเกินไป ซึ่งจากการประชุมกลุ่มย่อยอาจสรุปวิธีการสำคัญของชาวตำบลหนองพันจันทร์ได้ ดังนี้

2.1 การส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือน

2.2 การลดรายจ่าย ขึ้นอยู่กับรายจ่ายของแต่ละครัวเรือน

2.3 การเพิ่มรายได้

2.4 การเพิ่มเงินออม

2.5 การ ดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

  1. การกำหนดตัวชี้วัด ;มีตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อาจจะมีเพียง 2 ข้อก็น่าจะพอไม่ต้องมีมากเช่น ครัวเรือนที่เป็นหนี้ก่อทุกข์ในตำบล/หมู่บ้านมีจำนวนลดลงและจำนวนเงินออมสุทธิของหมู่บ้านหรือตำบล เมื่อเทียบกับหนี้สินแล้วต้องเพิ่มขึ้น

การจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาที่ตำบลหนองพันจันทร์ ที่ผ่านมา จึงนับเป็นเวทีที่มีค่า ไม่แต่เฉพาะกับพวกเราชาว พอช.เท่านั้น สำหรับชาวบ้านแล้ว สิ่งที่ได้รับและสัมผัสการลงพื้นที่ของอาจารย์ ในระดับฐานรากจริงๆ นับเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง อาจเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้สัมผัสกับคนที่ริเริ่มก่อการ เรื่องการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขหรือการพัฒนา ตัวจริงเสียงจริง

                ขั้นตอนที่ 4. เป็นเวทีสื่อสารสาธารณะ ที่ทีมงานหรือองค์กรที่รับผิดชอบทั้งในส่วนของท้องถิ่น   ท้องที่และสมาชิกสภาองค์กรชุมชน ต่างก็นำเอาผลสรุปที่ได้กลับลงไปเผยแพร่สร้างความรู้ในระดับฐานกลุ่มองค์กร และระดับหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนตระหนักรู้และสร้างการยอมรับในเป้าหมาย ตัวชี้วัดการพัฒนาท้องถิ่นระดับตำบลร่วมกันรวมทั้งเป็นการรับฟังข้อเสนอเพื่อจัดทำและปรับปรุงแก้ไข แผนงาน กิจกรรมหรือโครงการต่างๆที่จะดำเนินการ

                ขั้นตอนที่ 5. เป็นเวทีสร้างการรับรองเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการบูรณาการแผนงานกิจกรรมร่วมกันในระดับท้องถิ่น ตำบลโดยมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอก ให้เข้ามาร่วมรับฟังเป้าหมาย แนวทางสำคัญ ตัวชี้วัดการพัฒนา และแผนงานสำคัญ ของคนในตำบลพร้อมกับรับฟังข้อเสนอจากภาคส่วนที่เข้ามาร่วม ซึ่งในขั้นตอนนี้ เป็นการประกาศวาระของคนในตำบลร่วมกันโดยมีหน่วยงานเข้ามาร่วมรับฟัง และประสานแผนในอนาคตสร้างให้สภาองค์กรชุมชนเป็นที่ยอมรับและเป็นกลไกในการติดตาม ประสานงาน และรายงานผลต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจตาม ม. 21 ของ พรบ.สภาองค์กรชุมชน ปี 2551 อย่างชัดเจน

ขั้นตอนที่ 6. ปฏิบัติการ ตามแผนงาน ตามความรับผิดชอบของแต่ละทีมงาน

                ขั้นตอนที่ 7. ติดตามผล และประเมินความก้าวหน้า ของแต่ละเป้าหมายโดยใช้เวทีร่วมสภาองค์กรชุมชน กับท้องถิ่นและท้องที่รวมทั้งภาคีการพัฒนา เป็นที่ประชุมเพื่อการติดตามความก้าวหน้าของการทำงาน ตามเป้าหมายและ ตัวชี้วัดร่วมกัน

ขั้นตอนที่ 8. จัดทำรายงาน เอกสาร เผยแพร่ เพื่อสื่อสารสู่ชุมชนท้องถิ่น และภายนอกร่วมกัน  ทั้งเสนอกันเองในระดับตำบล และรายงานต่อหน่วยงานที่สนับสนุน

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/277094

<<< กลับ

หลักการและวิธีการสร้างตัวชี้วัดความสำเร็จของชุมชน

หลักการและวิธีการสร้างตัวชี้วัดความสำเร็จของชุมชน


(คำกล่าวในการประชุมปฏิบัติการ  เรื่อง  “การจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาระดับตำบล  กรณีศึกษา  ตำบลหนองพันจันทร์  อำเภอบ้านคา  จังหวัดราชบุรี”  เมื่อวันที่  22  มิถุนายน  2552  จัดโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (องค์การมหาชน)  โดยสำนักงานปฏิบัติการภาคกลางตอนบนและตะวันตก ส่วนพัฒนากระบวนการเรียนรู้  ได้ร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรชุมชนตำบลหนองพันจันทร์  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดราชบุรี  ร่วมกันจัดทำเวทีการพัฒนาตัวชี้วัดการพัฒนาระดับตำบลขึ้น  ณ  ศาลาประชาคมหมู่ที่  5  ตำบลหนองพันจันทร์  โดยใช้กรณีศึกษาตำบลหนองพันจันทร์เป็นพื้นที่เรียนรู้)

                “ขอสวัสดีญาติมิตรทุกท่าน ในที่นี้คงพอรู้จักผม ว่าเป็นใครและทำอะไรอยู่ ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผมเริ่มทำงานตั้งแต่ การพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน จนมาเป็นผู้จัดการสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.)  และเป็นประธานกรรมการ พอช. ซึ่งทำงานทั่วประเทศ ผมเองชอบทำงานกับชุมชนมาก ๆ เพราะมีความเชื่อว่า สังคมจะดีได้ ฐานรากต้องดี ซึ่งฐานรากที่แท้จริง คือ บุคคล ครอบครัว และชุมชนที่เป็นฐานรากย่อยของสังคมนั่นเอง

                ถ้ามองให้ดี จะเห็นว่าชุมชนทั้งหลายมีความสัมพันธ์กัน มีเป้าประสงค์ร่วมกัน คือ ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ครอบครัวต้องการ คนต้องการ สังคมต้องการ ซึ่งผมได้ผลักดันเข้าสู่สภาพัฒน์ฯ และได้นำไปกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เพราะฉะนั้น ผมจึงดีใจที่เห็นชุมชนหนองพันจันทร์ต้องการอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ท้องถิ่นของเราจะได้มีความสุขมากขึ้น ทั้งสุขแบบเดี่ยว ๆ และสุขร่วมกันหลายฝ่าย และวันนี้เราก็จะมาหาเครื่องมือเพื่อช่วยในการทำงาน เป็นเครื่องมือทางการบริหาร และสามารถใช้ในการทำงานได้จริง

                ผมดีใจที่มาเห็น และอยากมาเรียนรู้ด้วย ผมเองเกิดในหมู่บ้านของ อ.ผักไห่ จ.อยุธยา เป็นหมู่บ้านซึ่งอยู่สุดเขตแดนของ จ.อยุธยาไม่มีความสมบูรณ์มาก ซึ่งที่หนองพันจันทร์ก็เข้าใจว่าสุดเขตแดนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมจึงมีความเข้าใจในความเป็นชนบทค่อนข้างดี และมีความตั้งใจที่จะมีส่วนช่วยทำให้พี่น้องชนบทปลอดทุกข์ ปลอดหนี้ มีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในการนี้ผมยินดีมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความพยายามของพี่น้องที่จะสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ให้พี่น้องปลอดจากปัญหาความยากลำบาก ขอเอาใจช่วยทุกท่านในการทำงานให้สำเร็จ วันนี้ผมจะใช้เวลาครึ่งวันอยู่ร่วมกับพวกเรา และในอนาคตก็อาจจะมีโอกาสกลับมาอีก สรุปแล้วผมขอเอาใจช่วย ขอเข้าร่วมมือด้วย และขอถือเป็นเพื่อนคนหนึ่งเป็นญาติคนหนึ่งของพวกเรา

                (ก่อนการจบเวทีการพัฒนาตัวชี้วัดระดับตำบลของตำบลหนองพันจันทร์   ได้กล่าวแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมกับผู้นำขบวนองค์กรชุมชนว่า)

                “มีเทคนิคการจัดการอย่างมีศิลปะที่เราสามารถใช้ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ ราชการ พอช. ก็ต้องจัดการ และต้องเรียนรู้กันตลอดเวลาในโลกนี้

                ถ้าเราจะทำให้ง่าย ๆ ประยุกต์ใช้ในชุมชนได้อย่างมีศิลป์ เราต้องทำอย่างฉลาด มียุทธศาสตร์ ออกแรงน้อยแต่ได้ผลมาก อย่างนี้เรียกว่าจัดการอย่างมีศิลป์ โดยการเอาตำบลปลอดหนี้เป็นกรณีศึกษา เพราะการแก้หนี้เราพยายามทำร่วมกันทั่วประเทศ ซึ่งผมเคยทำงานที่ธนาคารออมสิน พบว่า ครูเป็นหนี้ทั่วประเทศ  มีทั้งหนี้สร้างสุข และหนี้สร้างทุกข์ และเราก็จะเห็นการหมุนเวียนหนี้ แต่บางคนก็มีความสุขกับการเป็นหนี้ หมุนหนี้ แต่หารู้ไม่ว่าแม่บ้านของเราเป็นทุกข์

                มีธนาคารคนจนที่ยิ่งใหญ่ คือ กรามีนแบงค์ที่ประเทศบังคลาเทศ เป็นธนาคารคนจนซึ่งคนจนเองเป็นเจ้าของและ 90% เป็นผู้หญิง มีการขยายธุรกิจไปเป็นธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ธุรกิจอื่น ๆ จนกระทั่ง ดร.ยูนูส ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและเป็นกรรมการผู้จัดการ  ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งแปลว่าคนจนสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ดี ชาวบ้านซึ่งเป็นคนจนเป็นเจ้าของธนาคาร สามารถไปกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์มาผสมกับเงินออมของตนเอง  แล้วนำไปสร้างอาชีพ  สร้างรายได้  สร้างสุขให้กับตนเอง

                การจัดการหนี้ของครู ในกรณีที่ทำกับธนาคารออมสิน จากประสบการณ์ที่ผมได้ทำมา อาจจะยังไม่ถึงกับเป็นสุข แต่ก็ทำให้เป็นทุกข์น้อยลง และเริ่มมีความสุข ไม่ต้องหลบหน้าเจ้าหนี้ และไม่กลับไปสู่วงจรเดิม

                วิธีแก้หนี้ 3 ข้อ ที่สามารถทำได้จริง คือ

  1. 1. มีเป้าหมายสำคัญ เช่น ต้องปลอดหนี้ที่สร้างทุกข์ หนี้ไม่ใช่ของเสียหาย แต่ต้องใช้ให้เป็น เพื่อให้สร้างสุข
  2. 2. มีวิธีการที่สำคัญ น้อยข้อไม่มากจนสับสน ต้องบอกให้ได้ว่าอะไรที่สำคัญ ซึ่งในที่นี้ ผมขอนำเสนอวิธีการที่สำคัญ 5 วิธี คือ

                                ( 1) การจัดทำบัญชีครัวเรือน เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญของการปลดหนี้ เช่น พระอาจารย์สุบินฝึกให้เด็กทำบัญชีครัวเรือนกับพ่อแม่ หลานทำกับยาย

                                ( 2) การลดรายจ่าย ซึ่งขึ้นอยู่กับครอบครัวใดครอบครัวนั้นจะค้นหาวิธีเอาเองได้

                                ( 3) การเพิ่มรายได้ เช่น การทำเกษตรแบบพอเพียง ทำให้ไม่ต้องซื้อจึงลดรายจ่าย ซึ่งเท่ากับเพิ่มรายได้นั้นเอง ขณะเดียวกันก็ยังสามารถขายได้ด้วย ปีแรกอาจจะขาดทุน แต่ปีต่อ ๆ มาจะเริ่มมีกำไร และรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

                                ( 4) การเพิ่มเงินออม ถ้าเราตั้งใจจะทำย่อมทำได้ เด็ก ๆ ก็ควรเริ่มนิสัยการออม และทราบว่าเรามีสวัสดิการชุมชนซึ่งมีการออมรวมอยู่ด้วยแล้ว

                                ( 5) การดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือชีวิตพอเพียง คือ ทำอะไรที่พอเหมาะพอควร ไม่เกินตัว ไม่เสี่ยงมาก อย่าหวังน้ำบ่อหน้าเกินไป ใช้ความรู้อย่างรอบคอบระมัดระวัง พร้อมกันนั้นก็ทำความดี มีคุณธรรม อดทน พากเพียร ขยัน สุจริต เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกัน ซึ่งความดีก็คืออะไรก็ตามที่ไม่เป็นโทษ แต่เป็นคุณทั้งต่อตนเอง และต่อคนอื่นหรือต่อส่วนรวม ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือชีวิตพอเพียง

  1. 3. มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญ ไม่ต้องมีหลายตัวนัก ผมลองเสนอ 2 ตัวชี้วัด คือ

                                ( 1) ครัวเรือนที่เป็นหนี้ก่อทุกข์มีจำนวนลดลง (หนี้ก่อทุกข์ คือ หนี้ที่ไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนดเวลา)

                                ( 2) เงินออมสุทธิของหมู่บ้านและของตำบลเพิ่มขึ้น (เงินออมสุทธิ = เงินออมทั้งหมด – หนี้ทั้งหมด)

นี่คือ วิธีจัดการที่นำจุดสำคัญมาดูร่วมกัน เป็นวิธีที่ทำให้เรามีสติอยู่เสมอ ส่วนการนำไปสู่เรื่องอื่น ๆ เช่น เป็นสถาบันการเงิน ทำวิสาหกิจชุมชน ทำธุรกิจชุมชนอื่น ๆ จะเป็นเรื่องที่ตามมา ที่สำคัญคือ เราต้องทำจริง ทำต่อเนื่อง มาดูร่วมกันอยู่เนือง ๆ หรือตรวจเช็คนั่นเอง และเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ตรงกับหลักอิทธิบาท 4 ของพระพุทธเจ้า คือ ฉันทะ (พอใจที่จะทำ) วิริยะ (พากเพียรพยายาม) จิตตะ (หมั่นเอาใจใส่ดูแล) วิมังสา (ไตร่ตรองพิจารณาหาทางทำให้ดีขึ้น) นั่นเอง

                ที่ผมพูดมานี้ อยากให้พี่น้องได้พิจารณาไตร่ตรองเองให้ดีด้วยนะครับ ไม่จำเป็นต้องทำตามที่ผมพูด  หรือไม่จำเป็นต้องทำตามทั้งหมด ควรนำไปคิดพิจารณา  แล้วประยุกต์ดัดแปลง  หรือคิดเองใหม่ทั้งหมดก็ได้ตามที่พี่น้องเห็นสมควร

                ส่วนตัวของผม ปัจจุบันนี้มีสิ่งที่กำลังพยายามทำอยู่ 3 เรื่อง คือ  (1) ธนาคารความดีหรือเครือข่ายแบ่งปัน เป็นการแบ่งปันสิ่งของ แบ่งปันเป็นเวลาและบริการความสามารถ แบ่งปันความรู้ โดยทุกคนเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ
(2) เรื่องประชาธิปไตยที่ประชาชนและชุมชนมีบทบาทสำคัญ เพราะผมเชื่อว่าประชาชนและชุมชนเป็นฐานรากที่สำคัญของสังคม และ  (3) เรื่องการจัดทำตัวชี้วัดความ
สุขหรือความสำเร็จของชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญเข้มแข็งและมั่นคงยั่งยืน ”

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/277096

<<< กลับ

ชุมชน พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมจากฐานราก

ชุมชน พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมจากฐานราก


(คำกล่าว ปาฐกถาในงาน “ สมัชชาองค์กรชุมชนภาคกลางตอนบนและตะวันตก” ณ สำนักงานพื้นที่การศึกษา เขต 1 สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2552)

ขอสวัสดีเพื่อนพี่น้องชาว จ .สุพรรณบุรี พี่น้องทั้ง 16 จังหวัดของภาคกลางตอนบนและตะวันตกและพี่น้องหน่วยงานภาคีทั้งหลาย ทุกครั้งที่ได้ไปร่วมงานผมจะรู้สึกดีเป็นพิเศษ วันนี้ผมก็รู้สึกเช่นนั้นเช่นกัน สำหรับวันนี้เขาก็ได้จัดให้ผมได้พูดคุยแบบเป็นกันเองกับพวกเรา ถึงแม้จะไกลไปหน่อยก็ไม่เป็นไร

 

จุดอ่อนของผม คือ ผมเป็นคนรักควาย ชอบควายเพราะเด็ก ๆ เคยเลี้ยงควายมา พอเห็นภาพแบ๊คกราวด้านหลังก็รู้สึกดี ใกล้เคียงกับที่บ้านของผมที่อยู่อยุธยา วันนี้เป็นการประชุม เรียกว่า รวมพลังสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง สมัชชาองค์กรชุมชนภาคกลางตอนบนและตะวันตก งานพัฒนาองค์กรชุมชนทำกันมาหลายสิบปี ทั้งจากพัฒนาชุมชน และหน่วยงานอื่น ๆ พอช . เริ่มเมื่อปี 2543 ที่ พอช. สนับสนุนถึงปัจจุบันก็ 9 ปี เกือบ 10 ปี ถ้ามองย้อนหลังจะเห็นความชัดเจนมาก ดังที่ท่านรัฐมนตรีได้พูดชัดเจนมาก ท่านพูดจากความรู้สึกที่ท่านได้เห็น ท่านอาจจะเน้นบ้านมั่นคงมากเป็นพิเศษ และที่นี่ก็มีไม่ไกลจากนี้ก็มีที่ลาดบัวหลวงเป็นบ้านมั่นคง และบ้านมั่นคงชนบท

 

ที่พูดในวันนี้ เป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่กว่าบ้านมั่นคง และบ้านมั่นคงชนบท เพราะเราพูดกันถึงเรื่องสมัชชาองค์กรชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมีกฎหมายรองรับที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2550 มาถึงนี้ก็ปีหนึ่งแล้ว สมัชชาองค์กรชุมชน คือ กลไกกลางที่ทำให้องค์กรชุมชนมารวมพลังกัน เพื่อให้ท้องถิ่น คือ ตำบล เขตเทศบาลใหญ่กว่านั้น คือจังหวัดมีความเจริญ มั่นคง มีความสันติสุขและอย่างยั่งยืนด้วย ถ้าเราจะพูดเป็นเป้าหมายร่วมกันของสมัชชาองค์กรชุมชน น่าจะเป็นคำพูดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 10 และน่าจะอยู่ในฉบับที่ 11 คือ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เขตเทศบาลอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ทั้งจังหวัดอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

 

ท่านผู้นำชุมชนได้นำเสนอหลากหลายวิธีการที่จะทำให้เกิดสำเร็จร่วมกัน แต่ผลสุดท้ายของความพยายามต้องควรจะมาจบที่ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ถ้าเราเป็นสมัชชาองค์กรชุมชน ตำบล ก ตำบล ข เรามีเป้าหมายร่วมก็คือ ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน อย่างมั่นคงยั่งยืนต่อเนื่อง ไม่ใช่ประเดี๋ยวประดาว ฉะนั้นผมจึงอยากเสนอว่า ถ้าสมัชชาองค์กรชุมชนจะขับเคลื่อนต่อไปให้สำเร็จยิ่งขึ้น ผมขอเสนอให้เดินขึ้นบันได 4 ขั้น แค่ 4 ขั้น แต่มันยาวและมันยิ่งใหญ่ แต่จะไม่ยากถ้าเรารวมพลังกันให้ได้ แล้วมุ่งสู่ทิศทางเดียวกัน ความสำเร็จร่วมกัน คือ

  1. มีเป้าหมายที่ดีและชัดเจน เป้าหมายร่วมกันของสภาองค์กรชุมชน ในแต่ละพื้นที่ คือ ประชาชน ในพื้นที่นั้นมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และเป็นเป้าหมายที่ดี เช่น ถ้าจะเป็นตำบลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย เราก็ต้องถามตนเองว่า เป้าหมายเราชัดไหม ดีไหม ง่าย ๆ ถ้าเรารวมพลังกันได้เห็นร่วมกันได้ แต่จะยากถ้าเห็นไม่พร้อมกันมันก็จะเป็นปัญหาตั้งแต่ต้น
  2. มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่ดี และชัด หมายถึง เราต้องย้อนกลับไปดูเป้าหมาย กุญแจสำคัญคืออะไร ผมมีกุญแจอยู่ 3 ดอก เพื่อไขไปสู่ความสำเร็จ หรือเสาหลัก 3 ต้น ที่จะค้ำยันให้องค์กรชุมชนมั่นคง หรือกงล้อ 3 กงล้อ ที่จะหมุนไปเรื่อย ๆ หรือ ตัวชี้วัดความสำเร็จนั่นเอง ผมขอเสนอ 3 ตัว คือ

1) ความดี เราจะปราศจากความดี ก็ไม่เกิดความร่มเย็นเป็นสุขร่วมกัน ความดี คือการทำสิ่งที่ดี เป็นคุณไม่เป็นโทษ แล้วสร้างศักยภาพให้กลับมาสู่ตนเองและชุมชน

2) ความสามารถ เราอาจจะดี แต่ถ้าไม่สามารถก็ไม่ดี เราต้องคิดเป็น คิดเก่ง มีความสามารถในการทำ ทำได้ ทำเป็นในทุก ๆ เรื่อง เช่น ทำโต๊ะ เก้าอี้ ทำนาเกษตรอินทรีย์เกษตรผสมผสาน หรือทำการค้า การขาย ทำขนม

3) ต้องมีความสุข สุขในที่นี้ คือ สุขภาวะ หรือภาวะที่เป็นสุขทั้งกาย จิตใจ วิญญาณและสังคม ที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ที่เริ่มจากครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล

 

ดังนั้น ถ้าเราจะสร้างตัวชี้วัด เราต้องสร้างตามหลัก 3 ข้อ นี้เพื่อให้รู้ว่า ถ้าจะให้มีความดีนั้นดูได้จากอะไร มีความสามารถด้านได้บ้าง เช่น ถ้าเรามีออมทรัพย์เรามีการจัดการที่ดี เราก็นำมาเป็นตัวชี้วัดได้ ส่วนความสุข ถ้าเราจะดูความสุขทางกายเราก็อาจจะดูจากการเจ็บป่วย ถ้าจะดูความสุขทางใจอาจจะดูจากคนเป็นจิต ดูความสุขทางสังคมความสุขทางสังคมดูจากความสุขของครอบครัว ซี่งเราต้องเลือกเพียงบางตัวที่เป็นประโยชน์ เพื่อตอบเป้าหมายใหญ่ให้ได้ รวมแล้วประมาณ 10-20 ตัวก็พอ เพราะถ้าทำเรื่องที่หนึ่งเรื่องอื่น ๆ ก็จะตามมา มันจะสะท้อนกันและกัน ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะแตกต่างกันตามพื้นที่ บางพื้นที่อาจะมีคล้าย ๆ กัน แต่จะไม่เหมือนกัน

.gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 250px; } @media(min-width: 260px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 260px; } } @media(min-width: 350px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 336px; height: 280px; } } @media(min-width: 740px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 728px; height: 90px; } }

  1. มีวิธีการที่ดี และเหมาะสม ที่จะบรรลุเป้าหมายให้ได้ผลตามตัวชี้วัด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น วิธีการประชุมหารือกันเพื่อสำรวจดูว่าเรามีที่ดี ๆ ที่ทำอยู่แล้วมีอะไรบ้าง หรือจะศึกษาเพิ่มเติมเรียนรู้จากที่อื่นก็ได้ ที่เขาทำแล้วทั้งทางงานวิจัย หรือทางอินเตอร์เน็ตก็ได้ เราดูว่าเขาพูดกันอย่างไร

ผมเคยยกตัวอย่างธนาคารคนจนที่บังคลาเทศ ประชาชนเป็นเจ้าของส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็นเจ้าของประมาณ 90% สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้จริง ทำมาเกือบ 30 ปีแล้ว ผมเคยไปร่วมประชุมกับเขามา 2 หนก็ประชุมกลางทุ่งนากันเลย ทุกสัปดาห์เขาจะมาประชุมกัน ก่อนประชุมเขาจะมีการกล่าวปณิธาน 16 ข้อ เราจะทำ เราจะไม่ทำอะไรบ้าง นี่คือความดีของเขา ความสามารถของเขา แล้วเขาก็มีความสุข

  1. มีการติดตามผลที่ดี และเหมาะสม คือ ต้องวัดผล เช่น สภาฯ ทำงานมา 3 เดือน หรือ 6 เดือน ผลการทำงานเป็นอย่างไร เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ ระดมความคิด หาทางทำงานให้ดีขึ้น อะไรที่สำเร็จขยายผลต่อ อะไรไม่ดีหาวิธีการแก้ไข การติดตามเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

เท่านี้ครับ ผมเสนอบันได 4 ขั้น ไม่ใช่ว่าเราจะทำอะไรอย่างเดียวนะ แต่เราต้องทำและถามด้วยว่า เราทำเพื่ออะไรด้วย ท่านมีเป้าหมายร่วมกัน มีตัวชี้วัดความสำเร็จร่วมกัน มีวิธีการร่วมกัน และมีการติดตามผลร่วมกัน มันก็จะส่งผลถึงกัน

 

ผมทำงานพัฒนาชุมชนมาหลายปี เป็นผู้จัดการสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง มาเป็นประธาน พอช . มีช่วงหนึ่งที่เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวง พม. อยู่พักหนึ่งแล้วก็ลาออกเพราะความเจ็บป่วย แต่ผมก็ยังมีความสุข เพราะสุขภาพใจของผมยังดีอยู่

 

ผมได้ไปเยี่ยม จ .ราชบุรี ผมได้เห็นความก้าวหน้าที่น่าประทับใจ มีตัวแทนจากราชบุรี ตัวแทนจากสุพรรณบุรีมาร่วมด้วย เขามีความเรื่องตัวชี้วัดคุยเรื่องตัวชี้วัดชุมชนร่วมกัน รวมถึงที่ตำบลหนองพันจันทร์ร่วมด้วย นี่คือ ความก้าวหน้าที่ไกลพอสมควร ที่จริงเรามีตัวชี้วัดที่เรียกว่า จปฐ.ที่ใช้กันมานานแล้ว ที่ทางราชการคิดไว้ให้ เราทำกันมานาน แต่ผมคิดว่า ถ้าเราได้คิดเอง ทำเอง ผมเชื่อว่าพวกเราจะมีความสุขอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และเป็นการบูรณาการที่ครบถ้วน และพบความก้าวหน้า อีกอย่างหนึ่งที่น่าประทับใจที่ราชบุรี อ.โพธาราม บ้านโป่ง ที่บ้านมะกรูด ที่ทำสื่อชุมชน ชื่อว่า มะกรูดดอทคอม (www.magrood.com) เป็นเรื่องที่แปลกใหม่มาก นั่นแปลว่ากระบวนการพัฒนาองค์กรชุมชน เรามีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ เป็นความน่าพอใจ แต่ก็ยังคิดว่าไม่พอเพราะยังมีองค์กรชุมชน หรือสภาองค์กรชุมชนอีกเยอะแยะที่ยังไม่ก้าวหน้า ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นภารกิจของพวกเราทุกคนที่มาร่วมงานในวันนี้ ที่จะกลับไปทำให้องค์กรชุมชนที่มีอยู่ก้าวหน้าขึ้น และขยายผลงานออกไปเรื่อย ๆ นี่คือ ความดีที่พวกเราทำร่วมกัน แม้ว่าจะเป็นความดีง่าย ๆ เช่น เราร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลบ้านเรือน นี่ก็เป็นความดีแล้ว

 

ที่สังคม หรือประเทศของเราเดินมาแล้วสะดุดแล้วสะดุดอีกอยู่อย่างนี้ เพราะความดีเราไม่มากพอ หรือโลกที่กำลังมีปัญหาวิกฤติอยู่นี้ก็เพราะความดีไม่พอ เรามองว่าการอยากให้โลกดี เราก็สร้างภาพลวงตาแต่มันก็เหมือนกับปราสาททรายที่เราคิดว่าสมบูรณ์แต่มันก็ล้มครืนเมื่อเจออะไรรุนแรง ถามว่าอะไรเป็นเหตุ ก็คือความดีของเรานั่นเอง คนที่แนะนำเรื่องนี้ คือ คนที่ได้รับรางวัลโนเบลของโลกด้วย

เพราะฉะนั้น ชุมชนเราก็เหมือนกัน ถ้าความดีไม่พอ ความสามารถก็ไม่มีไม่เกิด หรือถ้าคนไม่ทำ ชอบดึงเราไม่ให้ทำไปด้วย ความดีเราก็จะหายไปด้วยเพราะฉะนั้น ผมเสนอว่าทำอย่างไรเราจะทำให้สภาองค์กรชุมชนที่มีอยู่ หรือกำลังจะมีนั้น เป็นสภาองค์กรชุมชนที่มีเป้าหมายร่วมกัน มีตัวชี้วัด มีวิธีการ และการติดตามที่ดี และเหมาะสมร่วมกัน ผมเชื่อว่า เราจะสามารถเดินหน้าไปได้ ถึงแม้ว่าเราจะเจออุปสรรคบ้าง แต่เราต้องพยายามทำต่อไป ก็ขออวยพรให้พวกเราทุกคนมีความสุข ทั้งพี่น้องขบวนชุมชน ตลอดจนประเทศเจริญก้าวหน้าต่อไป

ขอสวัสดีครับ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/290220

<<< กลับ

หลักการ กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (1)

หลักการ กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (1)


(เอกสารประกอบการอภิปราย หัวข้อ “ Reshaping Economic Development with Gross National Progress Index ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ An International Conference “Asia : Road to New Economy” จัดโดย The Nation และ Asia News Network ที่โรงแรม Plaza Athenee เมื่อ 21 สิงหาคม 2552)

 

หลักการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

หลักการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มีทั้งหมด 7 หลัก

  1. คิดเอง ทำเอง คือ การสร้างตัวชี้วัดที่ควรเป็นเรื่องของแต่ละชุมชนและแต่ละท้องถิ่น ตัวชี้วัดที่ราชการคิดขึ้นมาเช่น จปฐ. เป็นตัวชี้วัดที่ดี แต่ชาวบ้านไม่ได้คิดเอง การใช้ประโยชน์จึงน้อย กลายเป็นว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เก็บข้อมูลให้ราชการ แต่ถ้าเป็นเรื่องของคนในตำบล (หน่วยที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบขั้นพื้นฐานของท้องถิ่น มี อบต. / สภาองค์กรชุมชน ที่เป็นกลไกของประชาชนในการปกครองตนเอง) ที่สามารถเชื่อมโยงกับกลไกกับระบบราชการกลาง (ราชการส่วนภูมิภาคเชื่อมต่อกับท้องถิ่น) สังคมไทยเราการทำงานส่วนท้องถิ่น + ราชการภูมิภาค ยังไม่เชื่อมโยงการทำงาน เรากำลังเน้นเรื่องการทำงานของท้องถิ่น และภาคประชาชน (อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน) ดังนั้นตัวชี้วัดแต่ละตำบลต้องคิดเอง ทำเอง และสามารถจะเรียนรู้เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆได้ แต่สุดท้ายชุมชนต้องตัดสินใจเอง ในที่สุด อะไรที่ชุมชนคิดเอง ทำเองจะถูกนำมาใช้ประโยชน์
  2. ร่วมมือ รวมพลัง ในท้องถิ่นมีหลายกลุ่ม / องค์กร ขบวนชุมชนท้องถิ่นต้องมีการร่วมมือ รวมพลังกันภายใน จึงจะสามารถได้รับความร่วมมือ กับ อบต. ราชการภูมิภาค สถาบันการศึกษา NGO เอกชน พ่อค้า นักธุรกิจ ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจถ้าจัดการเชื่อมโยงให้ดีสามารถจะมีบทบาทได้มาก เช่นที่จังหวัดโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น ต้นแบบ OTOP เป็นเรื่องที่มีความลึกซึ้งมาก และมีการจัดการที่ดีจนมีชื่อเสียง ในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นกลไกการทำงาน แต่จะต้องมีการเชื่อมโยงปรัชญา แนวคิด เป้าหมาย การเชื่อมโยงกับธุรกิจ จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก หรือแม้กระทั่งนักการเมืองหากมีบทบาทที่เหมาะสมก็จะมีความสำคัญมากเช่นกัน ดังนั้นการให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันได้จึงเป็นการดีที่สุด คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันอย่างเป็นมิตรอย่างสร้างสรรค์ มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ชุมชนเป็นสุข
  3. อะไรก็ได้ เมื่อมาร่วมคิด ร่วมทำตัวชี้วัด ไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว อาจจะศึกษาจากพื้นที่อื่นได้ แต่ไม่ใช่การเลียนแบบ ให้พิจารณาร่วมกันว่าอะไรดี อะไรเหมาะสมและใช้ฉันทามติเป็นตัวตัดสินใจร่วมกัน เช่น เมืองชีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา มีการกำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาที่ประชาชนมาร่วมกันกำหนดแล้วขอให้เทศบาลนำไปดำเนินการพัฒนา ประชาชนจะคอยติดตามผล ตัวอย่างตัวชี้วัด เช่น จำนวนปลาแซลมอนที่อยู่ในแม่น้ำ แสดงถึงคุณภาพของสภาพแวดล้อม หรือในบางพื้นที่ของบ้านเราเช่นที่บ้านจำรุง จังหวัดระยอง ในการดูคุณภาพดินให้ดูจากจำนวนไส้เดือนในดิน และมีการเปรียบเทียบปีต่อปี ดังนั้นเรื่อง เป้าหมายและตัวชี้วัดจึงเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องเลือก จะเป็นอะไรก็ได้ที่คนในชุมชนพอใจร่วมกัน โดยเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาอยู่ที่ความสุข หรือ “อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” อยู่กันสบาย สงบ สันติ ร่มเย็น ตรงข้ามกับอยู่ร้อน นอนทุกข์ และไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ แต่เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ไม่ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน ดิน น้ำ ป่า เป็นความสุขที่ไม่ไปสร้างความทุกข์ให้คนอื่น มีความสุขจากการช่วยเหลือ เกื้อกูลกันอย่างพอเพียง มีการปฏิบัติธรรมทำให้จิตใจดี “ความสุขร่วมกัน” จึงสามารถเป็นเป้าหมายร่วมของคนในตำบลได้ ซึ่งการที่ผู้คน ครอบครัว ชุมชน องค์กร จังหวัด ประเทศตลอดจนสังคมโลก จะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้นั้น จะต้องมีเสาหลักคอยค้ำจุน เป็นเสาหลักของการสร้างความเจริญ มั่นคง แข็งแรง และ“อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ให้กับผู้คน ครอบครัว ชุมชน องค์กร จังหวัด ประเทศ ตลอดจนสังคมโลก โดยเสาหลักนั้นประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ ความดี ความสุข และความสามารถ

 

ความดี ความสามารถทำให้มีความสุขและมีความสามารถจึงทำอะไรให้งานสำเร็จได้ ผลการพัฒนาต้องนำไปสู่ความสุข ความสุขจะอยู่ได้ไม่นานถ้าขาดความดีและความสามารถ ดังนั้นทั้ง 3 เสาหลักจึงพึ่งพา เกื้อกูลซึ่งกันและกัน และควรต้องมีทั้ง 3 เสาหลักให้มากพอและอย่างได้ความสมดุล

เหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นในโลก สิ่งที่ทำให้เกิดคือ ความโลภ การแก่งแย่งแข่งขัน อยากรวย อยากใหญ่โต อยากมีกำไร เกินขอบเขต การสร้างเครื่องมือที่ทำให้คนวางใจว่าจะช่วย แต่ก็เป็นเครื่องมือที่มีความเสี่ยง ธุรกิจในอเมริกาจึงได้ล้มละลายและขยายไปทั่วโลกด้วยสาเหตุว่าความดีบกพร่อง ความดีจึงเป็นเรื่องสำคัญทั้งต่อสังคมและต่อเศรษฐกิจ

  1. คิดจริง ทำจริง ต้องตั้งใจและจริงจังกับความคิด คิดได้แล้วให้ลงมือทำไปเลย ไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะผิดพลาด หรือไม่สมบูรณ์ เพราะในโลกนี้ไม่มีความสมบูรณ์ และความผิดพลาดจะเป็นบทเรียนให้เข้าใจและพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น
  2. เรียนรู้ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่ลงมือทำ อาจเทียบเคียงกับตำบลอื่น ๆด้วย ทบทวนเหตุการณ์เพื่อเรียนรู้และพัฒนาต่อไป แบบที่อาจเรียกว่า “วงจรการพัฒนา” ซึ่งได้แก่( 1) คิดหรือวางแผน (2)ลงมือปฏิบัติ (3) วัดผลหรือประเมินผล และ(4) ปรับปรุงพัฒนา   ทั้ง 4 ข้อนี้ทำให้ เป็นวงจรต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

การเรียนรู้และพัฒนาเป็นวงจรที่ต่อเนื่อง เหมือนกับพระต้องพิจารณาตนเอง เพื่อการปรับปรุงตนเอง การสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดก็เช่นกัน คิดไป ทำไป วัดผลประเมินผลไป และปรับปรุงพัฒนาไป   ก็จะเกิดการปรับปรุงพัฒนาตัวชี้วัดให้ดีขึ้นเรื่อยๆแม้เมื่อตอนเริ่มต้นอาจไม่ดีนัก

  1. ร่วมสร้างขบวนการ เป็นการขยายผลให้ครอบคลุมระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ จึงต้องใช้พลังและความพยายาม บทบาทนักวิชาการจะมีเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ระดับตำบล เพราะมีหน่วยงานหลายหน่วยงาน ในระดับตำบล เช่น อนามัย สาธารณสุข เกษตร การศึกษา บทบาทของหน่วยงานที่มีข้อมูลในระดับตำบลจึงเป็นเรื่องสำคัญ และมีการใช้ระบบสารสนเทศ( IT) เข้ามาช่วยสนับสนุนตัวชี้วัดของชาวบ้านได้ การสร้างขบวนการเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างกว้างขวาง และให้ได้ผล มีหลักสำคัญเพื่อใช้ในการสร้างขบวนการ คือ N K C P M

N = Network                    เครือข่าย การเชื่อมโยง

K = Knowledge               ความรู้ ข้อมูล การศึกษาวิจัย การจัดการความรู้

C = Communication       การสื่อสาร สื่อต่าง ๆ  สื่อท้องถิ่น วิทยุ โทรทัศน์

P = Policy                         นโยบายระดับท้องถิ่น /จังหวัด /ประเทศ กฎหมาย /ข้อบังคับ /การจัดสรรงบประมาณ ที่เอื้ออำนวยหรือไม่เป็นอุปสรรค

M = Management            การบริหารจัดการที่ดี มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

  1. แข็งขัน บันเทิง ต้องคิดและทำอย่างเอาใจใส่ มีความจริงจัง พร้อมกับมีความสุข ไม่ร้อนรนและเร่งรีบ ต้องทำไปแล้วมีความสุขด้วย เช่น รูปธรรมของคุณแหลม ชาวนาที่ยโสธร ทำงานพัฒนาต้องมีความสุขเพราะทำเรื่องดี ๆ

 

 

กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

 

ในการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มีกระบวนการ ขั้นตอนการดำเนินงาน เปรียบเหมือนการเดินขึ้นบันได 5 ขั้น คือ

  1. มีเป้าหมายที่ดีและชัดเจน เป้าหมายร่วมกันของขบวนองค์กรชุมชนในแต่ละพื้นที่ คือประชาชนในพื้นที่นั้นมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และเราต้องร่วมกันสร้างเป้าหมายที่ดีและชัดเจนโดยถามตนเองว่า เป้าหมายเราดีไหม ชัดเจนไหม ที่สำคัญคือเราต้องรวมพลังกันให้ได้ เรื่องที่ทำจะง่าย แต่จะยากถ้าเราเห็นไม่ตรงกันหรือมีความเห็นขัดแย้งกันก็จะเป็นปัญหาตั้งแต่ต้น
  2. มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่ดีและชัด หมายถึง เราต้องย้อนกลับไปดูเป้าหมาย กุญแจสำคัญคืออะไร มีกุญแจอยู่ 3 ดอก เพื่อไขไปสู่ความสำเร็จหรือเสาหลัก 3 ต้น ที่จะค้ำยันให้องค์กรชุมชนมั่นคง หรือกงล้อ 3 กงล้อ ที่จะหมุนไปเรื่อย ๆ ได้แก่

1) ความดี ถ้าเราปราศจากความดี จะไม่เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ความดี คือการทำสิ่งที่เป็นคุณ ไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษ     และสร้างศักยภาพที่จะทำดีในตนเองและชุมชน

2) ความสามารถ เราอาจจะดี แต่ถ้าไม่สามารถก็ไม่ดี เราต้องคิดเป็น คิดเก่ง มีความสามารถในการทำ ทำได้ ทำเป็นในเรื่องต่างๆ เช่น ทำโต๊ะ เก้าอี้ ขนม ทำนา เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ทำการค้า ทำธุรกิจ

3) ความสุข ความสุขในที่นี้ คือ สุขภาวะ หรือภาวะที่เป็นสุข ทั้งทางกาย จิตใจ จิตวิญญาณหรือปัญญา และความสุขทางสังคมหรือการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ที่เริ่มจากในครอบครัว ในหมู่บ้าน ในชุมชน ในตำบล ในองค์กร ไปจนถึงในสังคม

 

ดังนั้น ถ้าเราจะสร้างตัวชี้วัด เราต้องสร้างตามหลัก 3 ข้อนี้ ซึ่งเพื่อให้รู้ว่า ถ้าจะให้มีความดีนั้นดูได้จากอะไร มีความสามารถด้านใดบ้าง เช่น ถ้าเรามีกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งมีการจัดการที่ดี เราก็นำมาเป็นตัวชี้วัดความสามารถได้  ส่วนความสุข ถ้าเราจะดูความสุขทางกายเราก็อาจจะดูจากการเจ็บป่วย ถ้าจะดูความสุขทางใจอาจจะดูจากคนที่มีสุขภาพจิตดี   ดูความสุขทางสังคมก็อาจดูจากความสุขของครอบครัว ซึ่งเราต้องเลือกเพียงบางตัวที่เป็นประโยชน์ เพื่อตอบเป้าหมายใหญ่ให้ได้ รวมแล้วประมาณ 10-20 ตัวก็พอ เพราะถ้าทำเรื่องหนึ่งได้ดีจะหมายถึงเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องก็จะดีด้วย มันจะสะท้อนกันและกัน เราจึงไม่ต้องวัดทุกเรื่อง แต่เลือกเพียงบางเรื่องที่เห็นว่าสำคัญและสามารถวัดได้ ถ้าสำคัญแต่วัดไม่ได้หรือวัดได้ยาก ก็ไม่ควรเลือก เช่นเรื่องที่เป็นนามธรรมหลายเรื่องมีความสำคัญแต่วัดได้ยากมาก

การสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัด นี้ แต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน บางพื้นที่อาจจะมีคล้าย ๆ กัน แต่ไม่ต้องเหมือนกันทีเดียว

  1. มีวิธีการที่จะได้ตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถระบุได้ว่าจะมาจากแหล่งใด โดยวิธีการใด ฯลฯ
  2. มีวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่จะบรรลุเป้าหมายให้ได้ผลตามตัวชี้วัด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่นวิธีการประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อสำรวจดูสิ่งที่ดีๆที่เรามีอยู่แล้ว หรือทำได้ดีอยู่แล้ว ว่ามีอะไรบ้าง หรือจะศึกษาเพิ่มเติมเรียนรู้จากที่อื่นก็ได้ ที่เขาทำแล้วได้ผลดี เราสามารถที่จะศึกษาเรียนรู้ได้จากทั้งทางงานวิจัย การศึกษาดูงาน การเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือจากการค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ตก็ได้ และนำมาพิจารณาว่าจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไรหรือมีวิธีการอะไรที่เราจะนำมาปรับปรุงพัฒนากันต่อให้ดียิ่งขึ้นได้

ตัวอย่างธนาคารคนจนที่ชื่อธนาคารกรามีน ( Grameen Bank) ที่บังคลาเทศ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2526 ประชาชนเป็นเจ้าของซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (กว่า 90%) สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้จริง ทุกสัปดาห์เขาจะมาประชุมกัน ก่อนประชุมเขาจะมีการกล่าวปณิธาน16 ข้อ บอกว่าเราจะมุ่งมั่นทำอะไรบ้าง เราจะไม่ทำอะไรบ้าง นั่นคือเขาทำความดี เขาสร้างความสามารถ และเขามีความสุข   ธนาคารแห่งนี้ดำเนินงานมาดีมากจนผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส (Dr.Muhammad Yunus) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อ พ.ศ. 2549

  1. มีการติดตามผลที่ดีและเหมาะสม คือ ต้องวัดผล เช่น สภาองค์กรชุมชนฯ ทำงานมา 3 เดือน หรือ 6 เดือน ผลการทำงานเป็นอย่างไร เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ ระดมความคิด หาทางทำงานให้ดีขึ้น อะไรที่ดีหรือสำเร็จก็ขยายผลต่อ อะไรไม่ดีก็หาวิธีการแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การติดตามผลจึงเป็นการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/291505

<<< กลับ

หลักการ กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (2)

หลักการ กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (2)


สรุปเป้าหมาย ตัวชี้วัด การพัฒนาของขบวนชุมชนท้องถิ่น  ต.บ้านเลือก  อ.โพธาราม  จ.ราชบุรี

(ฉบับปรับปรุงจากเวที วันที่ 29 ก.ค. 52 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง) ดังนี้

       เป้าหมาย ตัวชี้วัด วิธีได้ตัวชี้วัด วิธีบรรลุเป้าหมาย

(ที่สำคัญ)

1. คนในตำบลมีสุขภาพแข็งแรง

 

 

1. จำนวนผู้ป่วยในตำบลลดลง (โรคเบาหวาน ความความดันโลหิตสูง ไข้เลือดออก) สถิติผู้ป่วยรายเดือนจากสถานีอนามัยและโรงพยาบาลโพธาราม 1. รณรงค์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพโดยกลุ่ม อสม.ร่วมกับสถานีอนามัย

2. อสม.ร่วมกับสถานีอนามัยออกหน่วยเคลื่อนที่ให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ครอบครัว และคนในชุมชน มีการตรวจสุขภาพพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง

2. คนในตำบลมีความสามัคคี

 

 

2. จำนวนโครงการ/กิจกรรมของชุมชนที่สำคัญที่สำเร็จด้วยความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ(เช่น จัดขบวนสงกรานต์ (ฟื้นเวียง) กิจกรรมวันแม่ ฯลฯ) จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมสำคัญของชุมชน (เช่น จัดขบวนสงกรานต์ (ฟื้นเวียง) กิจกรรมวันแม่ ฯลฯ) 1. รณรงค์ประชาสัมพันธ์คนในตำบลเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ และยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน

วิธีการ

–  เดินเคาะประตูบ้าน

–  ให้ตรงต่อเวลานัดหมาย

–  เน้นจิตสำนึกการมีส่วนร่วม

3. คนในตำบลมีรายได้และชีวิตที่มั่นคง

 

 

3. การออมในชุมชนเพิ่มขึ้น

4. หนี้ที่เป็นปัญหาลดลง

5. จำนวนครอบครัวที่ตกเกณฑ์ จ.ป.ฐ. ไม่มี/หรือลดลง/ที่เกินเกณฑ์มีเพิ่มมากขึ้น

1. สถิติการเงินจากทุกกลุ่มกองทุนในชุมชนทั้งข้อมูลสมาชิกที่มีการออมเงินในกองทุนชุมชนและจำนวนเงินออมต่อครัวเรือนในกองทุนชุมชน

2. ข้อมูล จปฐ.ของชุมชน

1. สร้างอาชีพเสริมขึ้นในชุมชนโดยกลุ่มกิจกรรมในชุมชน

2. รณรงค์ในเรื่องของการออมโดยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในทุกหมู่บ้านรวมทั้งพัฒนาให้เข้มแข็งมีความน่าเชื่อถือเชื่อมโยงเป็นสถาบันการเงินระดับตำบล

4. คนในตำบลมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านและตำบล

 

6. การมีส่วนร่วมในการประชุมที่สำคัญของขบวนชุมชน จำนวนผู้มีส่วนร่วมในการประชุมที่สำคัญของขบวนชุมชน  ประกอบด้วย

1.  กลุ่ม อสม.

2.  กลุ่มผู้สูงอายุ

3.  กองทุนหมู่บ้าน

4.  กลุ่มสตรี

5.  กลุ่มเยาวชน

6.  ประชาคม

(ข้อมูลจากกลุ่มทั้งตำบลอย่างน้อย 10 กลุ่ม) ประมวลสรุปทุก 6 เดือน

1. รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้คนในตำบลเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มและแก้ไขปัญหา

2. เชิญภาคีที่รับผิดชอบเข้าร่วมการประชุม

5. ตำบลปลอดยาเสพติด

 

 

7. จำนวนคดียาเสพติดลดลง

8. จำนวนผู้ติดยาเสพติดลดลงและหรือไม่มีผู้เสพใหม่

1. สถิติจาก สถานีตำรวจภูธรโพธาราม

2. ข้อมูลจากการสอบถามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุก 3 เดือน

1. สร้างเครือข่ายเยาวชนในตำบล

2. จัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน เช่น กีฬา อาชีพ วาดภาพ ดนตรี ฯลฯ

3. การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อ แม่ เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มผู้ติดยาเสพติด

4. ประสานกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก

5. ตรวจติดตามกลุ่มเสี่ยงยาเสพติด

6. เป็นตำบลที่อนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น(ฟื้นเวียง)

 

 

9. ประเพณีลาวเวียงมีความคงอยู่ มีความดีและมีการปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม จำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรมประเพณีฟื้นเวียงประจำปีของชุมชน 1. ประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกในชุมชนพาเด็กและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญในชุมชน

2. รณรงค์เรื่องการแต่งกาย / ภาษา ในการเข้าร่วมกิจกรรม

3. ใช้ภาษาท้องถิ่นจัดเสียงตามสายในชุมชน

4. ตั้งกลุ่มดนตรีพื้นบ้าน และวัฒนธรรมแต่งกายท้องถิ่น (ลาวเวียง)

7. ผู้นำมีความซื่อสัตย์ โปร่งใส มีคุณธรรม มีความคิดสร้างสรรค์และเสียสละ

 

10. มีผู้นำคนรุ่นใหม่มาร่วมกิจกรรมงานพัฒนาของชุมชนร่วมกับสภาองค์กรชุมชนเพิ่มมากขึ้น

11. ผู้นำมีคุณภาพสูงขึ้นทั้งในมิติความดี ความสามารถ และความสุข

 

 

1. การประเมินตนเองของผู้นำตามแบบประเมินภาวะผู้นำที่สภาองค์กรชุมชนจัดทำขึ้นโดยจัดประเมินตามกลุ่มผู้นำใน4ส่วน (คือ ผู้บริหารท้องถิ่น/ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน/ องค์กรชุมชนและสภาฯ/ คนรุ่นใหม่) ทุก 6 เดือน

2. การสำรวจความพึงพอใจของประชาชนในบทบาทของผู้นำชุมชนท้องถิ่น ของกลุ่มต่างๆ (คือ ผู้บริหารท้องถิ่น/ ท้องที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน/ องค์กรชุมชนและสภาฯ/ คนรุ่นใหม่) ตามแบบสอบถามที่จัดทำขึ้นทุก 6 เดือน

1. จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนระดับหมู่บ้าน (สภาผู้นำ) และมีเวทีปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาผู้นำทั้งภายในและนอกชุมชนต่อเนื่อง

2. จัดประชุมปรึกษาหารือเพื่อติดตามงานสม่ำเสมอ

3. สร้างรูปธรรมความสำเร็จในกิจกรรมงานพัฒนาร่วมกันของผู้นำในชุมชน/ ตำบล

8. คนในตำบลมีสวัสดิการชุมชนที่ดี

 

 

12. คนในตำบลเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม สวัสดิการชุมชนเพิ่มขึ้น

13. กองทุนสวัสดิการชุมชนมีจำนวนเพิ่มขึ้น

14. คนในตำบลทุกเพศทุกวัยได้รับสวัสดิการที่ชุมชนจัดขึ้น

สถิติการดำเนินงานด้านสวัสดิการจากทุกกองทุน กลุ่ม/ องค์กร ในชุมชน จัดประมวลดูความก้าวหน้าทุก 3 เดือน 1. จัดตั้งสถาบันการเงินฯ ระดับตำบลและรณรงค์ขยายจำนวนสมาชิกกองทุนให้ครบทุกครอบครัวในชุมชน

2. รณรงค์ให้มีการจัดสวัสดิการให้ครบทุกประเภทของกลุ่มองค์กรการเงินและกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในตำบล

3. เชื่อมโยงสวัสดิการชุมชนกับกองทุนอื่นๆ ในชุมชน

9. กลุ่ม องค์กรชุมชน ในตำบลบ้านเลือกมีความเข้มแข็ง

 

 

15. มีกลุ่ม องค์กรชุมชนที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้น

16. มีกลุ่ม องค์กรชุมชนที่ต้องฟื้นฟูความเข้มแข็งลดลง

ข้อมูลจากจากเวทีการวิเคราะห์ความเข้มแข็งกลุ่ม องค์กร ต่างๆ ในชุมชนของสภาองค์กรชุมชนตามกรอบเครื่องมือที่สภาองค์กรชุมชนจัดทำขึ้น (จัดเวทีปีละ 2 ครั้ง) 1. กำหนดเกณฑ์มาตรฐานความเข้มแข็งของแต่ละประเภทกลุ่ม กลุ่ม องค์กรชุมชน

2. ประเมินความเข้มแข็งของแต่ละกลุ่ม

3. การประสานหน่วยงานต่างๆมาสนับสนุนการพัฒนาหนุนเสริมกิจกรรมกลุ่ม

4. มีการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชนในระดับตำบล

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/293233

<<< กลับ