ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม 1 ปีผมขอทำแค่ 4 เรื่อง “ถ้าทำความดีมากๆ ทุจริตก็หมดไป”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม 1 ปีผมขอทำแค่ 4 เรื่อง “ถ้าทำความดีมากๆ ทุจริตก็หมดไป”


(บทสัมภาษณ์ ลงใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2549)

                “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ประธานศูนย์คุณธรรม ได้รับการทาบทามจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้เข้ามานั่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวกันว่า ถ้าเป็นกระทรวงอื่นเขาอาจไม่รับตำแหน่ง เพราะครึ่งชีวิตของ “ไพบูลย์” ทำงานด้านสังคมมาตลอด ตั้งแต่กองทุนเพื่อสังคม เคยนั่งเป็นประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หลายคนพูดตรงกันว่า อาจารย์ไพบูลย์คือหัวหน้าเอ็นจีโอสายกลาง ผู้มีเครือข่ายเชื่อมโยง ทั่วประเทศ 

                “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ถึงแนวทางในการบริหารช่วงเวลา 1 ปีเศษนับจากนี้ 

                นโยบายเร่งด่วนภายในเวลา 1 ปี 

                ผมวางภารกิจหลักไว้ 4 เรื่อง คือ 1.แก้ปัญหาอุทกภัย 2.ปัญหาชายแดนภาคใต้ 3.ปัญหาความแตกแยกในสังคม และ 4.ปัญหาความด้อยคุณธรรมจริยธรรม เป็น 4 เรื่องที่รัฐบาลพยายามดูแล โดยกระทรวงจะเข้าไปช่วยเสริม

                เรื่องอุทกภัยเรามีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์แก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยมีบุคลากรดำเนินการอยู่ที่จังหวัดต่างๆ ร่วมกับทางราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนกลาง ตลอดจนองค์กรสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการในเรื่องการฟื้นฟูและการพัฒนาหลังภัยพิบัติโดยเน้นบทบาทของภาคประชาชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                เรื่องชายแดนภาคใต้กระทรวงจะสนับสนุนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบความเสียหายจากความรุนแรง และมีโครงการที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น โดยวิธีการทำแผนแม่บทชุมชน หรือโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งทำอยู่ 20 ชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้- 4 เรื่องใหญ่ใน 1 ปี ล้วนเป็นเรื่องยากเพราะปัญหาหมักหมมมานาน 

                คิดว่ารัฐบาลชุดนี้ รวมถึงทางกองทัพที่ดูแลอยู่ จับทิศทางได้ถูกในเรื่องท่าทีและทัศนคติแบบสมานฉันท์ ไม่ใช่เป็นปฏิปักษ์หรือเผชิญหน้ากัน เชื่อว่าทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายมั่นคงมีวิธีการที่ดี ทางกระทรวงจะรับผิดชอบเรื่องการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น และการจัดที่อยู่อาศัย แต่เราไม่ได้ทำทั้งหมด เหมือนเรารักษาโรค รักษาผิดท่าก็จะยิ่งแย่ลง แต่พอถูกท่าจะรู้สึกสบายขึ้นและค่อยๆ ดีขึ้น 

                ปัญหาความแตกแยกทางสังคมก็เช่นกัน เชื่อว่าท่าทีท่านนายกฯ และรัฐบาลเป็นไปในทางสมานฉันท์ ทางเราก็จะสนับสนุนในเรื่องการปฏิบัติการเชิงสมานฉันท์ โดยจะประสานความร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้าและหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำเรื่องสันติวิธีโดยการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีและเทคนิควิธีการ เช่น ความยุติธรรมสมานฉันท์ การประชุมร่วมเพื่อระดมความเห็นร่วมกัน จะทำให้สังคมเห็นว่าเราอยู่ร่วมกันได้ ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างได้ 

                ด้านคุณธรรมจริยธรรม จะร่วมมือกับศูนย์คุณธรรมและหน่วยงานอื่นที่ขับเคลื่อนเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรม ก็มีเทคนิคและวิธีการในการปฏิบัติ เช่น การทำแผนที่ความดีเพื่อให้เกิดการค้นหาและชื่นชมความดี แล้วใช้ความดีที่มีอยู่เป็นพื้นฐานเพื่อจะสร้างความดีให้มากขึ้น ถ้าความดีมากขึ้น คุณธรรมมากขึ้น สิ่งที่ไม่ดีก็หมด ความสุจริต ความถูกต้องเหมาะสมต่างๆ มากขึ้น ความไม่ถูกต้อง การทุจริตก็จะค่อยๆ ลดลง

                จะดึงองค์กรภาคธุรกิจมาร่วมได้อย่างไร 

                ที่ผ่านมาเราได้ประสานและเกี่ยวข้องกันบ้างอยู่แล้ว ธุรกิจที่ดีก็ต้องเป็นธุรกิจที่แคร์ต่อสังคม ฉะนั้นเราก็ส่งเสริมธุรกิจในท้องถิ่นต่างๆ ขณะเดียวกันธุรกิจใหญ่ในกรุงเทพฯที่มีเยอะ เขาก็ทำอยู่แล้ว เราชวนให้เขามาทำมากขึ้น ทำดีมากขึ้น

                1 ปีในการวางรากฐานสังคม ไม่ใช่เรื่องง่าย 

                เรามาในสถานการณ์พิเศษ ก็ทำเท่าที่ทำได้ สังคมต้องพัฒนาการไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราทำก็อาจจะดีบ้างไม่ดีบ้าง เราก็หวังว่าเราจะทำดีได้เยอะ และสิ่งที่ดีนั้นก็จะเป็นเชื้อให้กับความดีต่อๆ ไป

                แต่เรื่องคุณธรรม จริยธรรมฝังรากลึก ต้องใช้เวลารื้อเป็นชั่วอายุคน 

                ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่ดีมีอยู่เยอะ เราช่วยหนุนสิ่งที่ดีให้ปรากฏตัวมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดผลต่อเนื่องไปมาก พอเราไม่อยู่แล้วคนมาใหม่ก็รับช่วงต่อไป

                จะต้องปรับตัวโครงสร้างกระทรวงหรือไม่ อย่างไร 

                เบื้องต้นก็ได้พูดคุยกันกับผู้บริหารและหน่วยงานต่างๆ ก็คิดว่ามีสิ่งที่จะทำได้ คือ การพัฒนาองค์กร คือ พัฒนาองค์กรโดยรวมให้เป็นองค์กรที่มีคุณธรรมและคุณภาพ มีความปีติสุขและมีประสิทธิภาพ คุณธรรมเป็นฐานที่สำคัญ คุณภาพก็สำคัญเพราะว่าถ้าไม่มีคุณภาพก็ไม่น่าพอใจ ประสิทธิภาพก็จะช่วยให้เราสบายใจว่าเราใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และทำได้มาก ได้ดี ได้เร็ว แล้วก็ทำให้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องมีความสุขตามสมควร ถึงจะไปกันได้ด้วยดี

                ต่อมาคือ การพัฒนาในแนวทางของความสุจริตโปร่งใสอย่างจริงจัง ที่เป็นไปได้คือ มีคณะทำงานจากหลายฝ่ายเข้ามาสำรวจศึกษากันเลยว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดความใสสะอาดหรือไม่ใสสะอาดมีอะไรบ้าง 

                4-5 ปีประชาชนเสพย์ติดประชานิยมจนเคยตัว จะแก้ไขอย่างไร

               ผมพูดเสมอว่า ความเป็นจริงจะไม่เป็นแบบเดียว ประชานิยมที่ประชาชนเป็นฝ่ายรับคงเป็นจริงส่วนหนึ่ง แต่ที่ประชาชนเขาเชื่อถือและปฏิบัติไปในเชิงพอเพียงก็มีเยอะ ที่เห็นชัดคือเมื่อวันอังคาร (24 ตุลาคม) มีตัวแทนผู้นำชุมชนนำเสนอท่านนายกฯ โดยไม่มีสักคนที่พูดไปในแนวแบมือขอหรือต้องการให้รัฐบาลมาช่วย แต่สิ่งที่เขานำเสนอคือ ประชาชนต้องเป็นตัวของตัวเอง เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา แล้วรัฐบาลก็ไปสนับสนุนไม่ได้ให้อย่างเดียว เขาพูดด้วยซ้ำไปว่า ที่มีปัญหาแล้วยังแก้ไม่ตกเพราะนโยบายที่แล้วมาของรัฐบาลไม่ถูกต้อง เขาไม่ได้ยึดว่าต้องอยู่เฉยๆ แล้วให้รัฐบาลไปช่วยอยู่เรื่อย ผู้นำชุมชนที่ก้าวหน้าซึ่งมีอยู่เยอะไม่ได้คิดเช่นนั้น

                ผู้นำที่มาจาก 3 จังหวัดภาคใต้ก็บอกว่า วิธีนี้ถึงจะถูกต้อง ดังนั้นผมคิดว่าแนวทางที่ประชาชนก้าวหน้ากับแนวคิดรัฐบาลนี้ไปด้วยกันได้

                ปัญหาหนี้สินภาคประชาชนจะบริหารจัดการอย่างไร

                คนที่เขารู้จักใช้ชีวิตแบบพอประมาณก็เยอะ คนส่วนใหญ่ก็น่าจะดูแลตัวเองได้ แต่มีคนจำนวนหนึ่งที่ถลำเข้าไปใช้ชีวิตเกินพอดี หรืออาจเกิดจากโชคไม่ดี เช่น เกิดโรคภัย ถูกโกง แต่คนจำนวนหนึ่งก็สามารถถอนตัวออกมาได้ บางคนก็ตกอยู่ในบ่วงนานหน่อย อย่างสมัยอยู่ธนาคารออมสินก็ได้อยู่ในโครงการพัฒนาครูร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ แล้วก็ให้ครูนั่นแหละมาเป็นคนแก้ปัญหา คือเน้นหลักการว่า ปัญหาใครคนนั้นต้องแก้ แต่มีคนอื่นมาช่วยด้วย แต่เจ้าของปัญหาต้องเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหา

                ยุคนี้น่าจะเป็นยุคทองขององค์กรพัฒนาเอกชนกับภาคประชาชน

                น่าจะเป็นโอกาส เพราะผมอยู่ในภาคประชาสังคมมาเยอะ เมื่อมาเป็นรัฐมนตรีก็ประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย เมื่อมาอยู่ในนโยบายอาจจะทำได้ดีขึ้น อย่างน้อยก็ไม่เป็นปัญหา ทุกฝ่ายก็อยากจะทำงานร่วมกันอยู่แล้ว 

                จะมีโอกาสเห็นเรื่องภาษีทรัพย์สิน เรื่องภาษีมรดกหรือภาษีกำไรในตลาดหุ้นหรือไม่

                ยังเป็นประเด็นอยู่ ซึ่งมีข้อถกเถียงกันเยอะ ผมยังไม่แน่ใจว่าเมื่อหยิบยกขึ้นมาจะมีคนเห็นชอบร่วมกันมากแค่ไหน แต่หลายเรื่องน่าจะเป็นไปได้ที่ไม่ได้เป็นข้อขัดแย้งทางความคิดมากนัก บางอย่างที่ยังหาความลงตัวไม่ได้ก็คงรอเวลาไปอีก แต่ผมเชื่อว่ามีหลายอย่างที่ทำได้

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

31 ต.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/56597 

<<< กลับ

ด่วน…ถึงรัฐมนตรีด้านสังคม

ด่วน…ถึงรัฐมนตรีด้านสังคม


     (บทความของ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะทำงานด้านเด็ก ลงใน นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม 2549)

                ขณะที่คณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มีประเด็นจุดเน้นร่วมกันที่ชัดเจนในเชิงนโยบายคือ “ระบบเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ต้องหยั่งลึกลงให้ได้ในสังคมไทย เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อคนส่วนใหญ่ในประเทศสามารถก้าวไปสู่การ “พึ่งพาตนเอง” ได้ในอนาคต

                เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่ต้องถามไถ่ไปยังคณะรัฐมนตรีด้านสังคมก็คือ จะมีจุดเน้นร่วมกันในเรื่องอะไรถึงจะนำพาสังคมโดยรวมไปสู่ทิศทางที่ดีงามได้ ซึ่งคำตอบคงไม่ง่ายนักเพราะมีเวลาเพียงหนึ่งปีสำหรับการทำงาน อีกทั้งงานสังคมนั้นมักจะเห็นผลได้ในระยะยาว กระนั้นก็ตามการช่วยวางรากฐานบางเรื่องร่วมกัน น่าจะยังประโยชน์สำหรับรัฐบาลชุดต่อไปได้มากเช่นกัน

                ดังนั้น จึงมีข้อเสนอในสองประการเบื้องต้น ดังนี้

             หนึ่งขอให้มีการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีด้านสังคมเพื่อหาจุดเน้นของงานร่วมกันให้ได้ โดยข้อเสนอนั้นอาจจะเป็นการพลิกฟื้นระบบคุณค่าทางจริยธรรมให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หรือเน้นสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและครอบครัวก็ได้

                สองการทำงานร่วมกันในเรื่องเฉพาะหน้าที่สำคัญเร่งด่วน โดยเฉพาะการต่อสู้กับสิ่งที่ได้สร้างปัญหาให้แก่สังคมมาโดยตลอด นั่นคือ “อบายมุข” ทั้งหลายที่กำลังครองเมือง ซึ่งขณะนี้กระทรวงยุติธรรมได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในกรณี “หวยบนดิน” คือเลิกรางวัลแจ๊คพ็อตและเพิ่มโทษยึดทรัพย์เจ้ามือหวยใต้ดิน และกระทรวงสาธารณสุขได้ลุกขึ้นรณรงค์จัดการเรื่อง “เหล้า” โดยเน้นบังคับใช้กฎหมายห้ามโฆษณาเหล้ายี่สิบสี่ชั่วโมง ห้ามจำหน่ายเหล้าแก่คนอายุต่ำกว่า 25 ปีและเตรียมเสนอขึ้นภาษีเหล้าเพื่อให้มีราคาแพงขึ้นและนำรายได้จากภาษีนั้นไปใช้รณรงค์ให้คนไม่ดื่มเหล้า

                เมื่อบางกระทรวงได้ริเริ่มไปในแนวทางที่น่าชื่นชมเช่นนี้แล้ว มีข้อเสนอให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงได้นำไปพิจารณา ดังนี้

                                1.รัฐมนตรีที่ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอได้เร่งเอาจริงกับ “สถานบริการ” ที่กระทำผิดกฎหมายทั้งหลาย ตั้งแต่เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่อนุญาตให้มีสถานบริการเปิดขึ้นในที่ห้ามเปิด (เปิดใกล้สถานศึกษา ใกล้ศานสถาน ใกล้บ้านเรือนผู้คน) จัดการปิดสถานบริการที่เปิดอย่างผิดกฎหมาย จัดการตามกฎหมายกับสถานบริการที่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปใช้บริการ บังคับใช้ระบบโซนนิ่งอย่างจริงจัง รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายให้สามารถยึดและทำลายแท่นพิมพ์ที่ใช้พิมพ์สื่อลามกออกเผยแพร่

                                2.รัฐมนตรีที่ดูแลสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ขอได้เร่งดำเนินการจับกุมและปราบปรามยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งประสานงานกับทุกภาคส่วนของสังคมในการรณรงค์ป้องกันให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันปัญหายาเสพติด

                                3.รัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงไอซีที ให้เร่งตรวจตราและปิดเว็บไซต์ลามกอนาจาร ที่เปิดเผยแพร่อย่างมากมายกว่าแสนเว็บในปัจจุบัน รวมทั้งดูแลบริษัทที่เปิดให้มีการตั้งกระทู้ในกระดานข่าวทั้งหลายได้รับผิดชอบและรับโทษ หากกระทู้ได้มีการกล่าวร้าย ใส่ความผู้อื่นในทางเสียหาย อีกทั้งขอได้ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติสืบจับผู้เผยแพร่เว็บลามกอย่างตรงไปตรงมา

                                4.รัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องเร่งส่งเสริมการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนอย่างกว้างขวางลี้จริงจัง ทั้งกิจกรรมในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เพราะการทำกิจกรรมจะนำพาให้พวกเขาห่างไกลออกจากอบายมุขไปสู่การพัฒนาจิตใจสาธารณะเพื่อสังคมส่วนร่วมเพิ่มขึ้น รวมทั้งประสานไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นการด่วน เพื่อขอให้ยึดมั่นและตรวจตราไม่ให้มีการนำเหล้าเข้าไปในวันดหรือไปดื่มเหล้าในวัด ห้ามมีการนำฟลอร์โชว์นุ่งน้อยห่มน้อยไปเต้น (เต้นจ้ำบ๊ะ) ในงานบวชภายในวัด

                                5.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จะต้องเป็นหลักในการติดตามภาวะสังคมอย่างใกล้ชิด ว่ากำลังมีสิ่งใดที่ส่อไปในทางนำพาสังคมและเด็กเยาวชนไปในทางที่เสียหาย เช่น การโฆษณาที่ผิดจริยธรรม การให้โหลดภาพโป๊เปลือยในมือถือ การเผยแพร่ การแสดง การนำเสนอที่ผ่านสื่อโทรทัศน์ในทางเสื่อมเสีย จะต้องส่งสัญญาณเตือนให้รู้และให้เลิกเสีย

                การวางรากฐานในเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง แม้จะดำเนินการได้เพียงหนึ่งปี ผมก็เชื่อว่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีสืบไปในสังคมได้…หากลงมือทำแล้ว ผมเชื่อว่าอีกว่าทุกภาคส่วนของสังคมจะก้าวเข้าร่วมด้วยความเต็มใจและเป็นคลื่นพลังที่นำพาสังคมไปสู่ความผาสุก สงบได้โดยเร็ว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

31 ต.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/56587

<<< กลับ

ภารกิจ “ไพบูลย์” ฟื้นรากแก้ว – สมานแผลสังคม

ภารกิจ “ไพบูลย์” ฟื้นรากแก้ว – สมานแผลสังคม


(บทสัมภาษณ์พิเศษโดย อิทธิกร  เถกิงมหาโชค ลงใน นสพ.โพสทูเดย์ ฉบับวันที่ 23 ตุลคม 2549)

การเปลี่ยนแปลงนโยบายบริหารประเทศไทยครั้งสำคัญในรัฐบาล ‘สุรยุทธ์ 1’ ก็คือ ความพยายามที่จะพัฒนาประเทศโดยยึดเอาความผาสุกของประชาชนมากกว่าการยึดเอาตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแปลความหมายได้ว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี อยากปรับเป้าหมายเศรษฐกิจจากเดิมคือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวม” หรือ Gross Domestic Product เปลี่ยนเป็น “Gross Domestic Happiness” หรือ GDH ซึ่งหมายถึง “ความสุขมวลรวม” นั่นเอง

แน่นอนที่สุดว่า ความต้องการความสงบสุขของสังคมนั้น ควรอยู่ใต้หลักการของ “สังคมศาสตร์” ไม่ใช่หลักเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าในหลักเศรษฐศาสตร์จะได้ให้ความสำคัญถึงการดำรงชีวิต (Life Style) เอาไว้ก็ตาม ภารกิจที่ว่านี้จึงตกมาอยู่บนบ่าของเจ้ากระทรวงกรุงเกษมคนใหม่ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อย่างไม่ต้องสงสัย ในฐานะ “แม่ทัพใหญ่” ที่ต้องบุกตะลุยแก้ไขปัญหาสังคมทั้งหลายแหล่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม สร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับชีวิตในรูปแบบที่สัมผัสได้

ไม่ใช่เป็นเพียงแค่นามธรรมเท่านั้น !!

นายไพบูลย์ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “โพสต์ทูเดย์” ถึงทิศทางการทำงานว่า แม้จะเพิ่งเข้ามานั่งเก้าอี้ได้เพียง 1 สัปดาห์ก็ตาม แต่วาระเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการนั้นมีอยู่ 4 เรื่องหลักใหญ่ ประกอบด้วย 1. การเตรียมฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ให้ผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด 2. การเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 3. การสร้างความสมานฉันท์ในสังคม และ 4. การเร่งกู้คุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งเหมือนรากแก้วที่เสื่อมโทรมของประชาชนให้กลับมีบทบาทในการพัฒนาสังคมได้อีกครั้ง

บทสะท้อนของแนวคิดนี้มองดูแล้วไม่ต่างจากอุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 –54) ที่กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยไว้ว่า ต้องมุ่งพัฒนาสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ซึ่งต่อยอดมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545–49) ก็ได้สานต่อแนวคิดข้างต้น และน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และความอยู่ดีมีสุขของคนไทย บนพื้นฐานของการอนุรักษ์วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายปัญหาในสังคมไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น เรื่องความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน ปัญหาชุมชน หรือแม้แต่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ นายไพบูลย์ เรียกว่า “ความทุกข์ยากแบบพิเศษ” ซึ่งล้วนแต่อยู่ในขอบข่ายการดูแลของ พม. ทั้งสิ้น ซึ่งเขาไม่ปฏิเสธในความพยายามที่จะคลี่คลายเงื่อนปมเหล่านั้นตลอดมาตั้งแต่สมัยลุยงานด้านเอ็นจีโออยู่ แต่ดูเหมือนแต่ละปัญหาจะมีความซับซ้อนอยู่ในตัว และทำให้ต้องมีการบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยทาง พม. เป็นผู้กำกับด้านนโนบายเป็นสำคัญ แต่ในเรื่องกระบวนการดำเนินงานนั้นต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งตรงเป้าหมายในการแก้ไขมากกว่า

“ต้องเข้าใจด้วยว่า สังคมไทยชอบที่จะ “รวมศูนย์” ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีมีแค่ 26 คน แต่จะรู้ปัญหาหมดทุกเรื่องของประเทศเป็นไปไม่ได้ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างหากที่ใกล้ชิดกับปัญหามากที่สุด และรู้ทางออกดี เช่น เรื่องที่อยู่อาศัย การเคหะฯ ต้องดูแล เรื่องน้ำท่วมถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ทาง กทม.ต้องเข้าไปจัดการ เพราะมีนโยบายหรือมาตรการกันอยู่แล้ว ส่วน พม.จะคอยดูแลเรื่องนโยบายและเป็นตัวเชื่อมให้แต่ละหน่วยงานขับเคลื่อนได้อย่างมีศักยภาพ เป็นไปไม่ได้ที่คนนอกพื้นที่จะรู้ดีไปกว่าคนพื้นที่

ทั้งนี้ พม. เป็นกระทรวงที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นกระทรวงภาคสังคมในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัวและชุมชน   โดยรวมส่วนราชการด้านนโยบายและการปฏิบัติ และถือเป็นกระทรวง “น้องใหม่” ที่แบกภาระรับผิดชอบไว้หนักอึ้งทีเดียว

นายไพบูลย์ ผู้คร่ำหวอดอยู่กับงานพัฒนาองค์กรชุมชนนานกว่า 10 ปี ยอมรับว่า ได้รับโทรศัพท์ทาบทามจาก พล.อ.สรุยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้มาดูแลงานด้านสังคม ซึ่งค่อนข้างยากที่จะปฏิเสธหน้าที่นี้ในภาวะที่มีสถานการณ์พิเศษ จึงยอมตอบรับเข้ามาทำงาน อย่างไรก็ตาม ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมาเป็นรัฐมนตรี เพราะส่วนตัวไม่ชอบงานด้านการเมือง และถนัดในงานพัฒนาสังคมที่ทำอยู่มากกว่า และไม่อยากให้ประชาชนคิดว่าเป็นรัฐมนตรี แต่อยากจะเรียกว่าเป็น “ผู้บริหาร” งานเพื่อพัฒนาสังคมจะเหมาะสมกว่า

หลายฝ่ายมองว่าอายุของรัฐบาลชุดนี้สั้นเพียงแค่ 1 ปี 5 เดือนเท่านั้น ซึ่งการขับเคลื่อนในด้านต่างๆ จึงอาจยังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจนนัก แต่ นายไพบูลย์ กลับมองสวนอย่างอย่างสิ้นเชิง โดยให้ทรรศนะว่า ยิ่งมีทำงานสั้นจะยิ่งช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะแก้ไขปรับปรุงงานกันอย่างไร ซึ่งกลายเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย พร้อมกับตั้งใจด้วยว่าจะต้องสะสางปัญหาต่างให้ดีที่สุด

“ยุทธศาสตร์สำคัญของ พม. ก็คือการเสริมสร้างกลไกการคุ้มครองทางสังคม เพื่อจัดการกับระบบที่ส่งผลต่อความเป็นธรรม โดยเฉพาะการกระจายทรัพยากรให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ และกลุ่มด้อยโอกาส แน่นอนที่สุดว่าต้องเร่งสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ซึ่งจะส่งผลให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง เมื่อชุมชนเข้มแข็งจะส่งผลกระทบที่ยั่งยืนต่อสภาพแวดล้อม ครอบครัว และคน” นายไพบูลย์ กล่าว

กรณีที่สร้างความเจ็บปวดให้กับประเทศไทย เช่น ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็เกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปแก้ไขโดยยึดหลัก “นิติศาสตร์” มากกว่า “รัฐศาสตร์” เพราะหน่วยงานที่ดูแลเป็นเป็นอยู่ของประชาชนไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของอยู่ภายใต้การปกครอง ปัญหาจึงบานปลายตลอด

ในส่วนของ พม. เองในรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ต่างกัน เพราะไม่เข้าใจความรู้สึกและความจริงของปัญหา นายไพบูลย์ กล่าวย้ำด้วยว่า ทุกปัญหาต้องหาคำตอบร่วมกัน ไม่ควรให้รัฐมนตรีหรือกระทรวงมาตัดสินใจ ต้องปรึกษาหารือกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย และดูว่าทำอย่างไรดีที่สุด การทำสิ่งที่ดีที่สุดจะมีเงื่อนไขประกอบหลายอย่าง ฉะนั้น ข้อสรุปหรือข้อคิดเห็นจะมีหลายข้อที่จะทำให้การดำเนินการบรรลุผลด้วยดี

ขณะเดียวกันในฐานะที่ นายไพบูลย์ เคยทำงานด้านองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ มาก่อน ก็ย่อมได้เปรียบ เพราะเคยได้สัมผัสปัญหาอย่างแท้จริงมาแล้ว ย่อมรู้ซึ้งและเข้าใจแนวทางการผ่อนคลายวิกฤตของแต่ละปัญหาได้เป็นอย่างดี ประเด็นนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะเขากล่าวว่า จะใช้ พม. เป็นเครื่องมือเร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วยิ่งขึ้น โดยการรวมเครือข่าย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ภาคประชาชน ซึ่งหมายรวมถึงบุคคล ครอบครัว ชุมชน และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาประสานแรงงกับ องค์กรสนับสนุนภาคประชาชน ที่มีอยู่มากมายทั้งในประเทศและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เอ็นจีโอด้านชุมชน องค์กรประชาสังคม สถาบันวิชาการ

รวมทั้งองค์กรภาคธุรกิจต่างๆ ที่หันมามีบทบาทด้านสังคม รวมทั้ง กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข   (สธ.)กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ ทั้งนี้ พม. จะเป็นตัวเชื่อมในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมทั้งระบบ และยึด “ประชาชน” เป็นศูนย์กลาง เพื่อส่งเสริมการทำงานภาคประชาชนเพื่อประชาชน จะมีศักยภาพและพลังในการปรับเปลี่ยนสภาพสังคมให้ดีขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่

นอกเหนือจากแนวทางในการก้าวไปข้างหน้าแล้ว นายไพบูลย์ ก็ไม่ลืมที่จะสะสางปัญหาในระบบบริหารงานของ พม. ให้ชัดเจนขึ้นด้วย ประเด็นที่สังคมจับตา พม. ขณะนี้ก็คงหนีไม่พ้นการทุจริตใน “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ที่ถูกทิ้งให้เป็น “มรดกบาป” จากรัฐบาลชุดก่อน กำลังอยู่ในกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งสาวเข้าไปพบถึงความไม่ชอบมาพากลของผู้บริหารโครงการบางคน พัวพันไปถึงนักการเมืองใหญ่อีกหลายราย และพร้อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของระบบบริหาร พม. แต่เดิมนั้น นายไพบูลย์ ก็ไม่ปฏิเสธที่จะเลือกใช้ใน “ข้อดี” นำมาส่งเสริมทิศทางการก้าวครั้งใหม่พ่วงไปด้วย เขากล่าวว่า โครงการหน่วยงานใสสะอาด ซึ่งริเริ่มโดยความคิดของคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตเลขาธิการ ก.พ. เป็นเรื่องดีที่สมควรนำมาใช้ช่วยให้ประเทศไทยใสสะอาดยิ่งขึ้น ส่วนการขับเคลื่อนนั้น พม.จะตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสข้าราชการ พม.โดยตรง เพื่อศึกษาจุดอ่อนของระบบบริหารแบบเดิมๆ ที่เอื้อให้มีการทุจริตได้ง่าย พร้อมกับปรับเปลี่ยนทัศนคติและวัฒนธรรมการทำงานเสียใหม่เร่งปลูกฝังความสุจริต

“พม.ยุคใหม่จะเน้นกระบวนการจัดการความรู้ สร้างความตื่นตัว และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติจะต้องปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ปูพื้นฐานการทำงานสุจริต เพื่อการทำงานอย่างโปร่งใส ถูกต้อง และยึดคุณธรรมเป็นหลัก แต่ถ้าเรื่องไหนร้ายแรงถึงขึ้นจะต้องโยกย้ายก็ต้องทำ” รัฐมนตรี พม. คนใหม่ กล่าวทิ้งท้ายถึงความท้าทายที่พร้อมจะเผชิญโดยไม่หวั่นใจ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

30 ต.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/56470

<<< กลับ

ไพบูลย์เสนอ “4เสาหลัก” สมานฉันท์สังคมไทย

ไพบูลย์เสนอ “4เสาหลัก” สมานฉันท์สังคมไทย


(บทสัมภาษณ์ ลงในนสพ.มติชนรายวัน วันที่ 7 ตุลาคม 2549)

                นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม และประธานคณะที่ปรึกษาด้านการเสริมสร้างสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคม คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้ความเห็นถึงแนวทางการสร้างสมานฉันท์ หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน เป็นต้นมา

สถานการณ์สังคมปัจจุบันแนวทางสมานฉันท์ควรเป็นอย่างไร

สมานฉันท์เป็นสิ่งใครๆ ก็อยากได้ แต่ในสังคมไทยเรามีแต่ความไม่สมานฉันท์ อย่างน้อยในสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.ความเกี่ยวเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย และเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน 3.ความขัดแย้งที่เกี่ยวกับนโยบายและโครงการสาธารณต่างๆ รวมถึงที่โยงกับทรัพยากรธรรมชาติ

สมานฉันท์หมายถึงความเห็นพ้องต้องกันหรือความพอใจร่วมกัน ความไม่สมานฉันท์หมายถึงความไม่พอใจ ความไม่ตกลง ขัดแย้ง เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แต่จะว่าไปสังคมย่อมมีความขัดแย้ง ทั้งความขัดแย้งที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาและความขัดแย้งที่รุนแรงมากเกินกว่าความเป็นปกติธรรมดา บางครั้งนำไปสู่การสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หรือความรู้สึกบาดหมาง กดดัน เป็นทุกข์ ไม่เป็นสุข ถ้าถึงขั้นดังกล่าวนี้ไม่น่าจะเป็นสภาพอันพึงปรารถนา ต้องหาทางทำให้คลี่คลาย เกิดเป็นความสมานฉันท์หรืออย่างน้อยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติพอสมควร หากมีความขัดแย้งก็เป็นเพียงตามธรรมดาตามธรรมชาติ อย่างนั้นน่าจะถือว่าเป็นสภาพที่พึงปรารถนา

ขณะนี้ของไทยเรามีความขัดแย้งที่เกินกว่าสภาพปกติใน 3 กรณี ที่กล่าวมาแล้ว เรื่องแต่ละเรื่องมีที่มาแตกต่างกัน เรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้มีที่มาค่อนข้างซับซ้อน สืบทอดมายาวนาน

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. แสดงบทวิเคราะห์ไว้ดีมากที่แยกปัจจัยความขัดแย้งไว้ 3 ระดับ คือ ระดับบุคลที่เห็นได้ง่าย ระดับโครงสร้างที่สำคัญ เห็นยากขึ้นแต่ยังพอเห็นได้ ในระดับที่สามเรียกว่าระดับวัฒนธรรมมองเห็นได้ยาก แต่มีอยู่และลึก ฉะนั้น การที่จะแก้ไขจึงทำได้ยากเพราะเหตุของความขัดแย้งที่มีความซับซ้อนมีเงื่อนงำ ลึกซึ้งกว้างขวาง

ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะวิเคราะห์เหตุได้ง่ายกว่าในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือคนกลุ่มหนึ่งหรือฝ่ายหนึ่ง มีอำนาจ มีอิทธิพล และใช้อำนาจใช้อิทธิพล ใช้กลวิธีต่างๆ ซึ่งทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง เริ่มจะไม่เห็นด้วย สงสัยข้องใจยกระดับไปจนถึงการต่อต้านรุนแรง แม้กระทั่งนำสู่ความรู้สึกเกลียดชังซึ่งไม่ดีในสังคม ในสังคมอาจจะเห็นต่าง โต้แย้ง ขัดแย้ง เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าถึงขั้นเกลียดชังกัน ถือว่าไม่ดี ที่ผ่านมาได้เกิดความตึงเครียดเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้ง ขยายวงมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องทีไม่น่าพึงปรารถนา

ความขัดแย้งที่เกี่ยวกับโครงการสาธารณะและทรัพยากรธรรมชาตินั้น ในแง่หนึ่งก็ไม่ถึงกับผิดปกติมาก ที่ไม่ดีคือได้นำไปสู่ความเป็นปฏิปักษ์ถึงขั้นเสียชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรนิ่งนอนใจ ควรต้องหาทางแก้ไขสิ่งที่เกิดแล้วและป้องกันไม่ให้เกิดใหม่

ความขัดแย้งหรือความไม่สมานฉันท์ทั้งสามประเภทมีความเกี่ยวพันกันอยู่ สิ่งที่เป็นปัจจัยร่วมคืออำนาจรัฐ เรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับอำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐ ความขัดแย้งทางการเมืองก็เกี่ยวกับอำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐ ความขัดแย้งอันเนื่องจากนโยบายสาธารณะ หรือโครงการสาธารณะและทรัพยากรธรรมชาติ ก็เช่นเดียวกัน คือเกี่ยวกับอำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐ เป็นปัจจัยร่วม

การใช้อำนาจรัฐจึงเป็นเรื่องสำคัญ การใช้อำนาจรัฐหรือการบริหารจัดการบ้านเมืองโยงไปถึงการใช้กฎหมาย การใช้เครื่องมือต่างๆ ในการปฏิบัติตามกฎหมายและใช้นโยบาย ทัศนคติ ท่าที วิธีการ ของผู้ใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นระดับสูง ระดับนโยบาย หรือระดับปฏิบัติ ย่อมมีความสำคัญต่อการมีความขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์ หรือการมีความสมานฉันท์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

การแก้ไขปัญหาในปัจจุบันควรไปควบคู่กันหรือไปเฉพาะหน้า หรือเลือกแก้ปัญหาใดก่อน

ถ้าพูดถึงความเร่งด่วน เรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะเร่งด่วนมากเพราะสะสมมานานโดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาหลังการยึดอำนาจโดยกองทัพ ข้ออ้างข้อหนึ่งคือ เพราะมีความขัดแย้งรุนแรง ฉะนั้น จึงมีภารกิจต้องทำให้ความขัดแย้งรุนแรงนี้คลี่คลายลง ทั้งในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้และกรณีความขัดแย้งทางการเมือง สำหรับกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเร่งด่วน เพราะจะเป็นสัญญาณสำคัญว่ารัฐบาลใหม่นี้สามารถทำได้ดีกว่ารัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจไปหรือไม่ ส่วนเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองในแง่หนึ่งการยึดอำนาจทำให้เกิดการคลายตัวไป แต่ก็มีการตึงเครียดแบบอื่นเข้ามาแทน

เดิมผู้ที่เป็นเป้าหมายหรือเป็นแกนของความขัดแย้งคือรัฐบาลเดิม ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีรัฐบาลเดิมแล้ว ทำให้ความขัดแย้งตึงเครียดคลายลงไป เพราะว่าคนที่เป็นแกนของความขัดแย้งไม่อยู่แล้ว แต่ความรู้สึกที่สนับสนุนส่วนหนึ่ง คัดค้านส่วนหนึ่ง ย่อมยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นเชื้อของการเป็นคนละฝ่ายหรือความคิดเห็นตรงกันข้ามยังไม่ได้หมดไปทีเดียว แต่สถานการณ์ถือว่าคลายตัว เนื่องจากว่าคนที่เป็นแกนในการเป็นปฏิปักษ์นี้ไม่อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าหมดสิ้นไปนะ เพราะระบบกลไกหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องยังอยู่เยอะ แต่ขณะเดียวกันที่คณะทหารยึดอำนาจ ก็กลายเป็นแกนของการที่จะสนับสนุนหรือคัดค้าน กลายเป็นแกนใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังบอกไห้ชัดไม่ได้ว่า สนับสนุนเท่าไร คัดค้านเท่าไร ถึงแม้โดยทั่วไปจะรู้สึกว่าสนับสนุนมาก คัดค้านน้อย แต่ก็ต้องถือว่ามีส่วนเป็นแกนของความขัดแย้ง แต่ทั้งแกนเก่าหรือแกนใหม่พอมองเห็นได้ เทียบกับเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งบุคคลที่กระทำการต่างๆ อยู่ไม่ปรากฏตัวให้เห็น ใครอยู่เบื้องหลังอย่างไรก็ยากที่จะค้นหา

ฉะนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะอยู่ในวิสัยที่ดูแลจัดการได้ ไม่ยากเกินไปถ้าเทียบกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องนี้เราหวังว่านายกและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะสามารถดำเนินการได้ถูกวิธีในทั้งสองกรณี คือ จังหวัดชายแดนภาคใต้และความขัดแย้งทางการเมือง เพราะทั้งสองคณะนี้ดูมีบุคลิกและท่าทีตลอดจนทัศนคติน่าจะเอื้อต่อการคลี่คลายความขัดแย้งและเสริมสร้างความสมานฉันท์ ทัศนคตินั้นเป็นทั้งของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

ทางออกของสังคมความขัดแย้งทั้ง 3 อย่างคืออะไร

หลักใหญ่ๆ ที่ช่วยได้น่าจะประกอบด้วย ข้อ 1.หลักความจริง คือจะจัดการทั้งหลายทั้งปวงต้องมีฐานจากความจริง ต้องรู้ความจริง ต้องทำให้ความจริงปรากฏว่าอะไรเป็นอะไร จะแก้ปัญหาได้ต้องรู้ความจริงและอยู่บนฐานความจริง หรือจะหาข้อตกลงหาความสมานฉันท์ได้ก็ต้องอยู่บนฐานความจริง จะไปอยู่บนฐานความไม่จริงหรือการสมมุติหรือการเข้าใจที่ไม่ถูกต้องย่อมไม่ได้ เช่น ถ้าสงสัยว่าทุจริตหรือเปล่าต้องค้นหาให้ได้ว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ไม่ใช่สมมุติหรือกล่าวหากัน

ข้อ 2.คือหลักความเป็นธรรม รวมถึงความยุติธรรมและความชอบธรรม

ข้อที่ 3. คือ หลักความรัก รวมถึงความเป็นมิตร ความเมตตา ความปรารถนาดี เป็นเรื่องของมนุษย์ที่อยู่ด้วยกัน มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่เห็นคนอื่นเป็นเพื่อนมนุษย์ เป็นญาติ เป็นมิตร มีความรักความเอื้ออาทร ความเกื้อกูล ความประสงค์ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและอย่างเป็นสุข นี่คือเรื่องของความรัก อย่างเช่นที่มหาตมคานธีพูดว่า ชนทั้งผองเป็นพี่น้องกัน

ความคิดทำนองนี้เป็นเรื่องความรัก คือมองว่าคนทั้งหมดในประเทศล้วนเป็นพี่น้องกัน ถ้าเราเป็นพี่น้องกันเป็นครอบครัวเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะขับไล่ใครออกจากครอบครัว หรือไปตราหน้าว่าไม่ใช่พี่น้องเรา

ส่วนหลักข้อที่ 4. คือ หลักความดี รวมถึง ความมีคุณธรรม มีจริยธรรม ความอดทน ความอดกลั้น การให้อภัย การทำประโยชน์ให้ การช่วยเหลือเกื้อกูล การเสียสละ นี่แหละคือความดี

รวมแล้ว หลักความจริง หลักความเป็นธรรม หลักความรัก หลักความดี ผมคิดว่าเป็น 4 เสาหลักของความสมานฉันท์ และเพื่อให้บรรลุผล ดีที่สุดต้องการเชือกเส้นหนึ่งมาร้อยหลักทั้ง 4 ให้เข้มแข็งมั่นคง และเป็นฐานที่ดีแก่ความสมานฉันท์

เชือกเส้นนั้นเรียกว่า “กระบวนการที่ดี” ซึ่งเป็นเทคนิค เป็นวิธีการ เป็นศิลปะในการดำเนินการ ในการจัดการที่เรื่องขัดแย้งกินหรือปฏิปักษ์ต่อกัน ให้คลี่คลายไปสู่ความสมานฉันท์ ความตกลงกันได้ความเห็นพ้องต้องกันได้ การอยู่ด้วยกันได้ การยอมรับกันได้ เชือกที่เรียกว่ากระบวนการนี้สำคัญ เป็นเทคนิคเป็นศิลปะที่ต้องมีการเรียนรู้ มีการปฏิบัติฝึกฝน สะสมความชำนาญ

เช่น ที่เขาจัดให้คนที่มีความขัดแย้งมาคุยกัน แต่อาจต้องมีกระบวนการหลายชั้นหลายขั้นตอน โดยเฉพาะถ้าความขัดแย้งนั้นซับซ้อนสะสมมานาน หรือความขัดแย้งนั้นรุนแรงถึงขั้นต่อสู้กันด้วยอาวุธ การจัดกระบวนการให้ผู้เกี่ยวข้อง ค่อยๆ เข้ามาหากัน พูดจากัน หาข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ เป็นเทคนิคที่ไม่ง่าย แต่ว่าทำได้ฝึกฝนได้ สะสมความชำนาญได้

หลักที่ผมว่ากับกระบวนการที่ดีจะช่วยได้ ให้คนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคนที่มีอำนาจ ขณะนี้เราต้องถือว่ากลุ่มคนที่มีอำนาจเปลี่ยนไป จากรัฐบาลชุดก่อนมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ฉะนั้น ความคิด หลักการ การกระทำ ของผู้มีอำนาจจึงสำคัญ ขณะนี้ภาระตกอยู่ที่รัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ที่จะต้องสำรวจความคิด หลักการและวิธีการ ว่าควรจะเป็นอย่างไรถึงจะดี ผมได้กล่าวไปแล้วว่ามีความหวังค่อนข้างสูงกับนายกรัฐมนตรีและประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ว่ามีความคิดมีหลักการและมีวิธีการที่น่าจะเอื้อต่อการคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ โดยสามารถใช้หลักการทั้ง 4 และกระบวนการที่ผมกล่าวถึงได้

คณะที่ปรึกษาด้านการเสริมสร้างสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคมมีบทบาทอย่างไร  

คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ คมช. ผมเห็นว่าคณะที่ปรึกษาเป็นกลไกเสริม ไม่ใช่กลไกหลัก กลไกหลักคือตัวรัฐบาลกับตัว คมช. ซึ่งผมเชื่อว่าเขามีแนวทางหรือวิธีการอยู่แล้ว คณะที่ปรึกษาน่าจะเป็นกลไกเสริมเป็นเพื่อนเพิ่มเข้ามา เป็นเพื่อนที่ไปหาข้อมูล และระดมความคิดเห็น นำมาเพิ่มให้

เราคิดว่าเรื่องที่สำคัญ 2 เรื่อง แรกน่าจะเป็นเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับเรื่องการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ในชาติ โดยในเรื่องหลังนี้เราเห็นว่า การเสริมสร้างสมานฉันท์มีหลายแง่หลายมุมมาก ยิ่งเติมว่าความเป็นธรรมเข้าไปอีก ก็ยิ่งมีหลายมิติ หลายองค์ประกอบ แต่เราเห็นว่าที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือเรื่องการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารจากรัฐบาล จากผู้มีอำนาจ ไปสู่สาธารณะ การสื่อสารระหว่างกัน การสื่อสารผ่านสื่อ บทบาทของสื่อเหล่านี้เป็นต้น ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการเพิ่มความขัดแย้งหรือเพิ่มความสมานฉันท์ คณะที่ปรึกษาจึงจะพิจารณา 2 ประเด็นนี้ เป็นอันดับแรก

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

24  ต.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/55561

<<< กลับ

เติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยรากฐานแบบพอเพียง

เติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยรากฐานแบบพอเพียง


(จากคอลัมน์ “เลาะสูท” ในนิตยสาร “พอเพียง” ฉบับ  เมษายน 2549  เขียนเรื่องโดย “รัก อักษร”) บทสัมภาษณ์ คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม

พูดถึงคำว่า “พอเพียง” หลายคนนึกถึงภาพชีวิตหรือชุมชนในชนบทที่เรียบง่าย มีข้าว ผัก ปลา และอาหาร เลี้ยงปากเลี้ยงท้องอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถอยู่รอดได้ด้วยการพึ่งตนเอง แต่ความจริงแล้วการใช้ชีวิตแบบพอเพียงหาได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ชาวบ้านหรือคนที่แยกตัวออกจากเมืองไปเลือกเส้นทางชีวิตแบบเรียบง่ายในชนบท หรือท่ามกลางขุนเขาที่ห่างไกลความเจริญเท่านั้น ทว่าชีวิตแบบพอเพียงก็สามารถหาได้ในหมู่ปัญญาชน ผู้บริหาร แม้แต่นักธุรกิจหรือเศรษฐีพันล้านที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุง ท่ามกลางกระแสทุนนิยม บริโภคนิยมอันเชี่ยวกรากแห่งนี้ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นหนึ่งในบุคคลตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน   วิถีที่เลือกเดิน

แม้จะเติบโตมาจากการเป็นเด็กบ้านนอก ก้าวเข้าสู่เมืองกรุงเพื่อศึกษาต่อในระดับมัธยมเหมือนกับเด็กต่างจังหวัดที่มุ่งหน้าเข้าสู่แดนศิวิไลส์ทั่วไป กระทั่งกลายเป็นนักเรียนนอก ได้รับทุนการศึกษาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไปร่ำเรียนในเมืองผู้ดีอย่างประเทศอังกฤษเป็นเวลาถึง 6 ปีครึ่ง จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ และกลับมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานจากการเป็นพนักงานธนาคารชาติถึง 16 ปี โดยรับผิดชอบงานหลายด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจการเงิน การบริหารบุคคล การฝึกอบรม กระทั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานภาค และก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวม 2 ปี เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) อยู่ 5 ปีครึ่ง จึงตัดสินใจลาออกมาทำงานพัฒนาสังคม โดยรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย อยู่ 9 ปี โดยระหว่างเป็นผู้อำนนวยการมูลนิธิก็ได้ไปช่วยการเคหะแห่งชาติ ก่อตั้งสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง ซึ่งเป็นโครงการพิเศษให้ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนแออัดในเมืองด้วย หลังจากนั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินทำอยู่ได้ 3 ปี จึงลาออกมาเป็นประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กระทั่งในปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 (กลุ่มแผนบูรณาการสุขภาวะ) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมกับเป็นประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) และยังเป็นประธานที่ปรึกษาให้กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) รวมทั้งเป็นประธานหรือกรรมการของมูลนิธิและองค์กรอื่นๆอีกหลายแห่ง แต่ประสบการณ์ชีวิต พร้อมตำแหน่งประดับท้ายชื่อมากมายนี้ก็มิได้ทำให้อาจารย์ไพบูลย์กลายเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือย หรูหรา หลงในวัตถุ ทรัพย์สินเงินทอง หรือลาภยศต่างๆตามค่านิยมของคนในกระแสยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันแต่อย่างใด

เมื่อถามถึงหลักในการดำเนินชีวิต อาจารย์กล่าวว่า “ด้วยความที่เติบโตมาจากชนบททำให้คุ้นเคยกับชีวิตเรียบง่ายความเป็นอยู่พอเพียงมานานแล้ว และก็ทำให้ทัศนคติการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเกิดขึ้นจนปัจจุบัน” อาจารย์เล่าความทรงจำในวัยเด็กให้ฟังว่า “ตอนนั้นอยู่ที่อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นส่วนที่ห่างไกลความเจริญมาก ในช่วงน้ำหลากต้องพายเรือไปโรงเรียน ช่วงน้ำแห้งก็เดินไปเรียน จำได้ว่ารองเท้าไม่ได้ใส่ แต่ก็เป็นความสุข ความประทับใจอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะที่ที่อยู่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เก็บดอกโสน ผักบุ้ง ผักกระเฉด สายบัว มาทำกับข้าวกินกันได้อย่างพอเพียง คืออยู่แบบมีกินมีใช้ไปตามควรแก่อัตภาพไม่ได้อยากได้อยากมีอะไรมากไปกว่านี้ แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้จักแนวคิดเรื่องพอเพียงเลยก็ตาม” อาจกล่าวได้ว่าวิถีชีวิตในวัยเด็กนี้เป็นเสมือนรากฐานสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ชีวิตเติบโต และสามารถยืนหยัดอยู่ในเมืองกรุงมาได้เป็นเวลากว่า 40 ปี โดยที่ไม่มีอะไรมาทำให้พื้นฐานการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายพอเพียงเปลี่ยนแปลงไป “ตอนนี้เราก็ทำหน้าที่ของเรา ฐานะพออยู่ได้ เพราะงานที่ทำมาไม่ได้มีค่าตอบแทนสูงอะไร ยิ่งทำงานภาคสังคมก็เหมือนเป็นงานกึ่งอาสาสมัครอยู่แล้ว ชีวิตจึงเป็นชีวิตที่เรียบง่าย และพอเพียงมาโดยตลอด คือมีกิน มีใช้ ไม่เป็นหนี้ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหรา มีบ้านอยู่ตามสมควร และไม่ได้คิดว่าจะต้องมีบ้านพักตากอากาศที่ต่างจังหวัด ต้องมีรถหลายคัน หรือมีเรือยอร์ทไว้ขับเล่น” อาจารย์ไพบูลย์กล่าว

นอกจากนี้ อาจารย์ยังกล่าวให้ฟังอีกว่า สิ่งหนึ่งที่ช่วยหล่อหลอม กำหนดวิถีชีวิต ให้เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่แบบเรียบง่าย ไม่ทะเยอทะยาน หลงในวัตถุยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆก็คือ ธรรมะ “ตอนที่ได้รับทุนไปเรียนที่อังกฤษ มีคนให้หนังสือที่เป็นคำบรรยายของท่านพุทธทาส ซึ่งปัจจุบันได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ใช้ชื่อว่า “คู่มือมนุษย์” เป็นเนื้อแท้และหัวใจของพุทธศาสนา ซึ่งพอได้อ่าน ได้คิด และปฏิบัติตามคำบรรยายโดยปฏิบัติแบบธรรมชาติ ไม่ได้นั่งสมาธิวิปัสสนาอะไร พอทำแล้วเห็นประโยชน์จริง เกิดผลทางจิตใจ จึงเกิดความซาบซึ้ง ทำให้สามารถลดละการติดยึดในตัวตนได้ เกิดความสงบเย็น ปลอดโปร่ง ซึ่งเป็นพลังไปในทางที่ดี เพราะพอเราไม่ได้ติดยึดในตัวตน ความคิดและการกระทำจะเป็นไปในทางที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม มากกว่าจะมีความโลภ ทำให้เราไม่ทะเยอทะยานที่จะมีทรัพย์สมบัติเยอะๆ หรือที่จะมีตำแหน่ง มีชื่อเสียงมากมาย แต่มีความมุ่งมั่นที่จะทำภารกิจอันเป็นประโยชน์มากกว่า                 คือธรรมะทำให้เรานึกถึงหน้าที่ ที่จะทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ให้กับองค์กร ให้กับส่วนรวม โดยไม่ได้มุ่งหวังว่าจะได้เงิน ได้เกียรติยศชื่อเสียงอะไร ถ้าจะได้ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ”

ด้วยความคิดพื้นฐานที่เป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เมื่ออาจารย์ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานให้กับมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นมีอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นผู้นำอยู่ และมีโอกาสได้ไปพบเห็นสภาพชนบทว่าชาวบ้านยังมีความยากลำบากกันอยู่มาก จึงเกิดแรงบันดาลใจให้อยากออกจากงานภาคธุรกิจ และหันมุ่งทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง อาจารย์เล่าให้ฟังว่า “พอไปเห็นสภาพชนบทก็รู้สึกว่างานด้านพัฒนายังเป็นงานที่สำคัญ และคนที่ทำงานด้านนี้มีอยู่น้อย โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ความสามารถและมีความสมัครใจเข้ามาทำจริงๆ ยิ่งน้อยใหญ่ จึงคิดว่าตัวเองน่าจะออกมาช่วยเสริมกำลังด้านนี้ เพราะถ้าจะให้พูดตามตรงแล้วที่ทำงานภาคธุรกิจให้กับธนาคารพาณิชย์ตอนนั้นก็เพียงเพราะอยากหาประสบการณ์เท่านั้น ไม่ได้เป็นจุดหมายในชีวิต ซึ่งผมคิดว่าเมื่อมีชีวิตอยู่พึงทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

เบื้องหลังการทำตามอุดมการณ์ของตนเอง สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมไม่น้อยคือการตัดสินใจที่จะก้าวออกจากภาคธุรกิจมาสู่ภาคสังคม ซึ่งได้รายได้น้อยกว่าเดิมนั้น อาจารย์ก็ไม่ได้ทำด้วยการคำนึงถึงความชอบของตนเองเป็นหลักอย่างเดียว ทว่าอาจารย์ยังได้ปรึกษาและคิดตรึกตรองร่วมกับครอบครัวด้วย “ผมคิดว่าคนเราเมื่อมีครอบครัวก็มีหน้าที่ต้องดูแลครอบครัวให้ดี ดังนั้นคงเป็นความโชคดีที่ภรรยาทำงานด้วย เมื่อคำนวณถึงรายรับและรายจ่ายในครอบครัวรวมกันแล้ว แม้ผมจะมีค่าตอบแทนน้อยลงค่อนข้างมาก แต่พอนำมารวมกันก็น่าจะพอเลี้ยงครอบครัวได้ จึงตัดสินใจลาออกจากงานในภาคธุรกิจ โดยได้ปรึกษาภรรยาและภรรยาเห็นชอบด้วย”

ตราบกระทั่งปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าอาจารย์ไพบูลย์ได้ทำงานในภาคสังคมมาเกือบ 20 ปีแล้ว แม้ว่าตอนที่เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินซึ่งถือเป็นธนาคารของภาครัฐ แต่ท่านก็เข้าไปด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาให้ธนาคารนี้ทำหน้าที่เพื่อสังคมอย่างกว้างขวางและสอดรับกับยุคสมัยมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการทำงานด้านพัฒนาสังคมนั่นเอง และหน้าที่หลักๆในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ คุณธรรมและชุมชนก็ล้วนป็นงานภาคสังคมที่มีความเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม การหันเหตัวเองเข้าสู่งานภาคสังคมอย่างเต็มตัวนั้น ไม่ได้หมายความว่าการทำงานอยู่ในภาครัฐ หรือภาคธุรกิจจะไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมเลย อาจารย์ไพบูลย์กล่าวว่า “ความจริงอยู่ภาครัฐก็ทำประโยชน์ได้ แต่การบริหารก็ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับหรือระบบงบประมาณต่างๆด้วย ทำให้เราต้องใช้สมองไปคิดเรื่องเหล่านั้นมากหน่อย หรืออยู่ในภาคธุรกิจก็ทำประโยชน์ได้แม้จะต้องเน้นเรื่องค้าขายเน้นเรื่องผลกำไรเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่เวลาและพลังงานที่เราจะอุทิศให้กับสังคมคงทำได้ไม่เต็มที่เท่านั้น ในขณะที่การทำอยู่ในภาคสังคมโดยตรง เราจะมีความอิสระมีความยืดหยุ่นที่จะทำเรื่องที่เห็นว่าสมควรและเกิดประโยชน์ต่อสังคมหรือต่อส่วนรวมได้มากกว่า และค่อนข้างเต็มที่”   เมื่อถามถึงจุดหมายในชีวิต

อาจารย์ไพบูลย์กล่าวว่า “ผมไม่วางแผนอะไรไว้นัก ไม่ได้หวังจะได้ จะมี จะเป็นอะไรเป็นพิเศษ แต่อยากจะทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ คิดว่าการเป็นประธาน หรือเป็นกรรมการ หรือเป็นที่ปรึกษา คอยให้ความคิด แนะทิศทาง เสนอนโยบาย อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ โดยให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้บริหารแทน ก็เหมาะอยู่แล้ว ส่วนเรื่องชีวิตถ้าเลือกได้คงอยากอยู่ที่ที่ใกล้ธรรมชาติหน่อย แต่ถ้ามองในด้านกิจกรรม บทบาทหน้าที่ที่จะทำปะโยชน์ การอยู่ในเมืองจะทำประโยชน์ได้มากและสะดวก ถ้าปลีกตัวไปอยู่ที่ที่น่าอยู่ที่ร่มรื่นแต่ห่างไกล การทำหน้าที่เพื่อสังคมคงไม่สะดวกนัก ซึ่งการใช้ชีวิตในเมืองก็ไม่ลำบากอะไร ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ถ้าเราไม่ติดยึดอะไร เราก็จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ไม่ยาก เช่นอยู่ในเมืองรถติด แออัด เราก็ปรับตัวไป”   อยู่ในเมืองก็พอเพียง

เมื่อถามถึงนิยามคำว่า “พอเพียง” อาจารย์ไพบูลย์กล่าวว่า “พอเพียง คือรู้จักพออย่างพอประมาณและพอดี ไม่ได้มุ่งเอาให้ได้มากที่สุด หรือมุ่งกำไร มุ่งเติบโต มุ่งแต่ประโยชน์สูงสุด เราต้องรู้จักพอ ไม่โลภ ไม่ยิ่งมีมากก็ยิ่งอยากได้มาก ความจริงนิสัยคนย่อมมีความโลภอยู่เป็นธรรมดา ผมจึงมักพูดบ่อยๆว่าจงมีความโลภเถิดแต่ให้โลภน้อยๆหน่อย โลภแต่พอเหมาะพอควร และคนเรานั้นอยู่ที่ไหนก็มีความพอเพียงได้ ขึ้นอยู่กับตนเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม”

อย่างไรก็ตาม ความพอเพียงก็ขึ้นอยู่กับสถานะของแต่ละคนด้วย อาจารย์กล่าวว่า “พอเพียง ไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่แบบกระเหม็ดกระแหม่ อยู่แบบติดดินอย่างเดียว เศรษฐีก็อยู่อย่างพอเพียงได้ คือไม่ใช้ชีวิตหรูหราเกินไป ถ้าจะมีบ้านที่สะดวกพอควร มีรถขับ มีเครื่องใช้ไม้สอยอำนวยความสะดวกให้ครอบครัวบ้างไม่ได้ถือว่ามากเกินไป เพราะเป็นธรรมดาที่เมื่อคนเราขยับฐานะก็ต้องเกิดการรักษาสถานภาพทางสังคมเอาไว้บ้าง เพียงแต่เราต้องรู้จักความพอดีเท่านั้น เหลือก็รู้จักเก็บออมไว้บ้างเพื่อเป็นทุนไว้ใช้ยามจำเป็น เช่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเรามีเงินออมพอจะได้ไม่ต้องไปรบกวนคนอื่น ถือเป็นความรอบคอบอย่างหนึ่ง คนที่รวยมากก็แบ่งเงินทองทรัพย์สินไปทำประโยชน์ให้กับสังคมบ้าง ไม่ใช่มุ่งปรนเปรอความสุขของตัวเองและครอบครัวอย่างเดียว ซึ่งการรู้จักแบ่งปัน รู้จักให้เพื่อสังคม ก็เป็นบุญเป็นกุศล ทั้งผู้ให้และผู้รับต่างมีความสุขใจอิ่มใจ ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยสร้างให้สังคมโดยรวมน่าอยู่ขึ้นด้วย”

ในขณะเดียวกันในความพอเพียง สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ไพบูลย์เน้นย้ำให้เข้าใจคือ “พอเพียงต้องเพียงพอไม่อัตคัดด้วย คือไม่สุดโต่งไปในทางที่มีมากเกินไป และไม่สุดโต่งไปในทางที่มีน้อยเกินไป การอดมื้อ กินมื้อ หรือมีข้าวกินแต่กับข้าวน้อยเกินก็ไม่เรียกว่าพอเพียง ดังนั้นคนที่ไม่ค่อยมีสตางค์นัก ก็ใช้น้อยให้เหมาะกับฐานะตนเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรักษาความจนไว้ตลอดกาล ทุกคนมีสิทธิที่จะสร้างรายได้ สร้างชีวิตให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนตามที่ควรจะเป็นไปได้”   นักธุรกิจก็พอเพียงได้

นอกจากคนเราจะดำเนินวิถีชีวิตของตนเองแบบพอเพียงแล้ว เราก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจแบบพอเพียงได้เช่นกัน อาจารย์ไพบูลย์อธิบายให้ฟังว่า “การทำธุรกิจแบบพอเพียง ก็คือ ทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยไม่ใช่มุ่งผลกำไรอย่างยิ่งยวด หรือมุ่งให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วเกินไป แต่ก็ยังคงพยายามทำให้ได้ประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นตามสมควร มีประโยชน์ตอบแทนให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างสมเหตุผล ทำประโยชน์ให้กับลูกค้าเท่าที่พึงจะทำได้ ในขณะเดียวกันก็ดูแลประโยชน์ของชุมชน ของสังคมรอบข้างด้วย ซึ่งก็อยู่บนพื้นฐานของหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่าด้วยเรื่องความพอประมาณ คือรู้จักพอ รู้จักใช้เหตุใช้ผล เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงย่อมเกี่ยวข้อง มีผลกระทบซึ่งกันและกัน ถ้าเราคิดแบบมีเหตุมีผล เราจะรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ในขณะเดียวกันก็ใช้ปัญญา ความรู้ ความสามารถในการคิดวางแผนอย่างมีหลักการ มีความรอบคอบ รู้จักสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ประมาท เพื่อที่จะได้ไม่เสี่ยงเกินไป ไม่เกิดความพลั้งพลาดที่ไม่ควรเกิด ที่สำคัญคือต้องมีคุณธรรม ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการทำกิจการทั้งหลาย ให้เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น แต่สร้างความดี ความงาม ความเหมาะสม ความมีคุณค่า ให้เกิดขึ้น ซึ่งหลักของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ทั้งในชีวิต ในชุมชน ในองค์กร และในสังคม”   ประเทศพอเพียง

เมื่อถามถึงแนวทางการพัฒนาประเทศ อาจารย์ไพบูลย์เห็นว่า “แนวทางพอเพียงเป็นแนวทางที่ดีในการพัฒนาประเทศ คือต้องเพียงพอต่อความต้องการ ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข มีกินมีใช้ แบบมั่นคง และยั่งยืน ดังที่อาจารย์ป๋วยได้เคยกล่าวถึงสังคมที่พึงปรารถนาว่าต้องเป็นสังคมที่มีสมรรถภาพ มีเสรีภาพ มีความยุติธรรม และมีความเมตตากรุณา ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราจะต้องไม่ทันสมัย แต่ให้ทันสมัยอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ โดยมีทั้งเสรีภาพ ความยุติธรรม และความเมตตากรุณา ซึ่งจะทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ถ้าเราใช้หลักพอเพียง ก็หมายความว่า คนทั้งหมดต้องพอเพียง ในสังคมที่ดี คนไม่น่าจะแตกต่างกันมากนักในฐานะทางเศรษฐกิจ แต่ควรมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน อยู่ร่วมกันแบบพี่น้อง มากกว่าจะต้องมีรายได้ประชาชาติสูงเท่านั้นเท่านี้ คนมีรายได้แค่พอควรในการดำรงชีวิตก็พอแล้ว ส่วนคนที่มีมากหน่อยก็ควรรู้จักแบ่งทรัพย์สินทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมบ้าง การทำธุรกิจถ้าเจริญรุ่งเรืองก็สามารถทำให้คนร่ำรวยขึ้นมาได้ แต่ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านี้จะต้องใช้ทรัพย์สินไปเพื่อตนเองอย่างเดียวจนเกินไป อย่างนี้ไม่เรียกว่าพอเพียง ถ้าพอเพียงคือใช้แค่ระดับหนึ่ง เหลือก็แบ่งปันให้สังคมตามสมควร ที่สำคัญความพอเพียงจะช่วยให้เรามีความสุขครบถ้วนอย่างแท้จริง ทั้งความสุขทางกาย ความสุขทางใจ ความสุขทางสังคมและความสุขทางจิตวิญญาณหรือทางปัญญา ถ้าคนเราไม่รู้จักพอ อยากร่ำรวยให้มากที่สุด ก็มักเกิดการกดขี่ข่มเหง แก่งแย่ง เอาเปรียบกัน ทำให้ความสุขของสังคมลดลง คนทำแม้จะมีเงินทองมากมายก็อาจขาดความสุข เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความพอเพียง ในขณะเดียวกันความพอเพียงก็มาช่วยสร้างสุขภาพ หรือคุณธรรมช่วยสร้างความพอเพียง และความพอเพียงก็ช่วยให้เกิดคุณธรรม ดังนั้น ความพอเพียงจึงเกี่ยวข้องและเกื้อหนุนกับทุกเรื่อง” ส่วนวิธีที่จะทำให้สังคมดีดังวาดหวังได้นั้น อาจารย์บอกว่า “เราต้องช่วยกันสร้างคุณธรรม จริยธรรม การให้คุณค่าต่างๆ โดยเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ครอบครัว ชุมชน ต้องค่อยๆเปลี่ยนทั้งระบบการศึกษา และระบบการทำงาน”

ฟังแล้วดูเหมือนว่าเป็นสังคมอุดมคติที่ไม่มีอยู่ในโลกแห่งความจริงนี้ แต่อาจารย์ไพบูลย์กล่าวทิ้งท้ายว่า “สังคมซับซ้อน มีทั้งสิ่งที่ดีงาม และสภาพที่เป็นปัญหา แต่ถ้าเราทำสิ่งที่ควรทำไปเรื่อยๆ สถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้นและสภาพที่เป็นปัญหาลดลง”

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

2 ก.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/42201

<<< กลับ

ธุรกิจ กับความรับผิดชอบต่อสังคม และ “เศรษฐกิจพอเพียง”

ธุรกิจ กับความรับผิดชอบต่อสังคม และ “เศรษฐกิจพอเพียง”


( “บทนำ” ในวารสาร “ธุรกิจกับสังคม” ฉบับ 9 กรกฎาคม 2549)

ธุรกิจสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะสร้างคุณค่าให้แก่สังคมแล้ว ยังจะเพิ่มคุณภาพที่พึงประสงค์ให้กับธุรกิจเองด้วย

ธุรกิจ คือ “พลเมือง” ของสังคม พลเมืองที่ดีย่อมต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมฉันใด ธุรกิจที่ดีก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมฉันนั้น

ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ หรือ “CSR” (Corporate Social Responsibility) อาจสรุปได้ดังนี้ คือ (1) ไม่ทำสิ่งที่เป็นผลเสียต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม (2) ทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม (3) พัฒนาตัวเองให้มีคุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ อย่างดีที่สุด

“เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำ และได้รับการสดุดีโดยองค์การสหประชาชาติ ว่าเหมาะสมที่จะนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาของโลกในอนาคตนั้นเป็นหลักการที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกระดับและในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งในภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจด้วย

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักการว่าด้วย (1) ความพอประมาณ (2) ความมีเหตุผล (3) ความมีภูมิคุ้มกัน  (4) การใช้ความรู้ และ (5) การมีคุณธรรม

เป็นหลักการที่เน้นความพอดี ความสมดุลย์ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคง ความยั่งยืน และเป็นหลักการที่รวมถึงความรอบคอบระมัดระวัง ความไม่สุ่มเสี่ยง ความไม่สุดโต่ง และความไม่โลภอย่างมาก

หลักการดังกล่าวข้างต้น จึงน่าจะเหมาะสม ที่จะประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจทุกประเภทและทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่

ธุรกิจที่ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมมีแนวโน้มสูงที่จะอยู่รอดอย่างมั่นคง แม้ในสถานการณ์ยากลำบาก ทั้งเป็นธุรกิจที่ ย่อมให้ความสำคัญต่อคุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ ไปพร้อมกัน

คุณธรรม คือ ความดี ความสุจริต เป็นธรรม ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ก่อความเสียหายต่อผู้อื่นหรือต่อส่วนรวม แต่มุ่งสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้อื่น ให้กับส่วนรวม และให้กับสังคม ในฐานะเป็น “พลเมือง” ที่ดีของสังคม

นั่นคือ ธุรกิจที่ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอพียง จะเป็นธุรกิจที่มี “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ “CSR” (Corporate Social Responsibility) ไปด้วยนั่นเอง

                สรุปแล้ว ธุรกิจสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะสร้างคุณค่าให้แก่สังคมแล้ว ยังจะเพิ่มคุณภาพที่พึงประสงค์ให้กับธุรกิจเองด้วย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 มิ.ย. 2549

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/35978

<<< กลับ

บทกลอนจากอีสาน : วันนี้…..ไม่มีเสียง “กะลอ”

บทกลอนจากอีสาน : วันนี้…..ไม่มีเสียง “กะลอ”


   (13 มิ.ย. 49) ไปบรรยาย หัวข้อ “กระบวนการนโยบายสาธารณะของไทยในปัจจุบันและการมีส่วนร่วมของประชาชน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร “นักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 50” จัดโดย “สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” (สำนักงาน กพร.) ร่วมกับ “สถาบันดำรงราชานุภาพ” (กระทรวงมหาดไทย) ที่ “วิทยาลัยมหาดไทย” อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

ผู้เข้าร่วมหลักสูตรคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนายอำเภอ ได้นำบทกลอนหนึ่งมาอ่านในระหว่างการอภิปราย แล้วมอบบทกลอนนี้ให้ผมไว้ ผมเห็นว่าดีมาก จึงขอนำมาลงบันทึกใน blog นี้ เพื่อผู้สนใจอื่นๆจะมีโอกาสได้อ่านด้วย

วันนี้….ไม่มีเสียง “กะลอ”

·       นั่นต่างคน  ต่างมา  ศาลาวัด                   เข้ามาร่วม  กันจัด  ชุมชนใหม่

ออกระเบียบ  เงินล้าน  บ้านห่างไกล                  จากกองทุน  ที่รัฐให้  กู้ทำกิน

·       นั่นเขาทำ  อะไร  ในหมู่บ้าน                  อบต.  ทำโครงการ  ของท้องถิ่น

ซ่อมถนน  ลงลูกลัง  ทั้งถมดิน                           กลบโคนต้น  กระถิน  บ้านกำนัน

·       เขาประชุม  อะไร  ในหมู่บ้าน                เหล่าลูกหลาน  เยาวชน  ช่างคิดฝัน

รวมกลุ่ม  สร้างเครือข่าย  สายสัมพันธ์               กองทุน “ซิฟ”  จัดสรร  มาทันที

·       เขาเข้าแถว  กลุ่มใหญ่  ทำไมหนอ          กกต.  จัดเลือกตั้ง  ครั้งที่สี่

ป้ายศาลา  กลางบ้าน  ในวันนี้                            เป็นป้ายศูนย์ฯ  เทคโนโลยี  เกษตรกร

·       เกิดพหุ  ภาคี  ที่หลายหลาก                    เปลี่ยนยุคจาก  ผู้ใหญ่ลี  หลายปีก่อน

ทางการสั่ง  ให้เลี้ยงเป็ด  และสุกร                     จะประชุม  ราษฎร  ตีกะลอ

·       พ่อกำนัน  พ่อผู้ใหญ่  พาหายหน้า           กลายเป็นสิงห์  ที่เหนื่อยล้า  หรือเปล่าหนอ

คนเก่า  ในยุคใหม่  ไม่ดีพอ                                 เสียงกะลอ   แหบพร่า  มาเนิ่นนาน

·       พอเสร็จสิ้น  หน้านา  ฆ่าโคถึก               พอเสร็จศึก  ก็จะฆ่า  ขุนทหาร

ธุรกิจ  จะรุกฆาต  ราชการ                                 ในหมู่บ้าน  ไม่มีแล้ว …… เสียง“กะลอ”

โดย  นายณรงค์ศักดิ์  พลศักดิ์

                                                            นายอำเภอยางชุมน้อย     จังหวัดศรีสะเกษ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

27 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/35848

<<< กลับ

การประชุม “เครือข่ายสร้างสังคมคุณธรรม ครั้งที่ 1”

การประชุม “เครือข่ายสร้างสังคมคุณธรรม ครั้งที่ 1”


(7 มิ.ย. 49) ร่วมไปกับคณะที่ประสานงานโดย “ศูนย์คุณธรรม” ไปร่วมประชุมกับตัวแทนประชาคมและคนทำงานพัฒนาจากภาคเหนือ ภายใต้หัวข้อ “การประชุมเครือข่ายสร้างสังคมคุณธรรม ครั้งที่ 1” ผู้ที่ไปจากส่วนกลางประกอบด้วยผู้แทนจาก สปรส. พอช. สทพ. (LDI) สสส. และ ศูนย์คุณธรรม ซึ่งเมื่อรวมกับผู้แทนประชาคมและคนทำงานพัฒนาจากพื้นที่ภาคเหนือแล้วเป็นจำนวนผู้เข้าประชุมประมาณ 50 คน

ผู้เข้าร่วมประชุมต่างให้ข้อมูล เล่าเรื่องราว และแสดงความคิดเห็น ที่มีความหลากหลาย น่าสนใจ และมีคุณค่ามากทีเดียว และเรื่องทั้งหมด มาจากฐานการได้ลงมือปฏิบัติจริงในท้องถิ่นต่างๆและในบริบทต่างๆ

ผมมีหน้าที่กล่าวปิดการประชุม ได้ให้ความเห็นว่า การขับเคลื่อนสร้างสังคมคุณธรรม หรือการขับเคลื่อนขบวนการคุณธรรม ควรเป็นเรื่องของประชาชน ของชุมชน ของท้องถิ่น และของกลไกทั้งหลายในท้องถิ่น (ซึ่งถือเป็นเจ้าของเรื่องที่แท้จริง) ในอันที่จะร่วมกันดำเนินการ ซึ่งรวมถึงการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้ และร่วมปรับปรุงพัฒนา โดยบูรณาการเรื่องของคุณธรรมเข้ากับวิถีชีวิต และเรื่องอื่นๆทั้งหมด (การทำมาหากิน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง ฯลฯ) อย่างเป็นธรรมชาติ

ขณะเดียวกัน ก็ควรส่งเสริมเพิ่มพลังให้กับ การจัดการตนเองและการจัดการกันเองหรือการจัดการร่วมกัน (โดยถักทอเป็นเครือข่ายที่เรียนรู้และพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง) รวมถึงการจัดการเชื่อม ประสานกับภายนอก ให้เกิดการผสมกลมกลืนและบูรณาการได้อย่างดีที่สุดโดยมีคุณภาพพร้อมประสิทธิภาพอยู่เสมอ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

26 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/35690

<<< กลับ

“เศรษฐกิจพอเพียง” กับการจัดสวัสดิการสำหรับข้าราชการ

“เศรษฐกิจพอเพียง” กับการจัดสวัสดิการสำหรับข้าราชการ


(30 พ.ค. 49) ไปบรรยาย เรื่อง “การส่งเสริมการจัดสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประชุมสัมมนาเรื่อง “การส่งเสริมการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ” (รายการครึ่งวัน) จัดโดยสำนักงาน ก.พ. สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการในหน่วยงานภาครัฐต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆนำแนวทางไปใช้ประโยชน์ในการจัดกิจกรรมสวัสดิการสำหรับข้าราชการในสังกัดได้อาศัย  Power point ต่อไปนี้ประกอบการบรรยายและอภิปราย

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/34158

<<< กลับ

 

Human security for all ; All for human security

Human security for all ; All for human security


(30 พค. 49) ร่วมอภิปราย (เป็นภาษาอังกฤษ) หัวข้อ “National, Regional and Global Partnership for Advancing Environment Security, in particular from natural  disasters ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “Human Security Network (HSN) International Symposium on Building and Synergizing Partnership for Global Human Security and Development” จัดขึ้นในประเทศไทยโดย Human Security Network (HSN) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกและประเทศสังเกตการณ์ของ HSN ประมาณ 150 คน จาก 14 ประเทศ

ได้อาศัยข้อบทย่อ (Notes) ดังต่อไปนี้ประกอบการอภิปราย

1. Environment insecurity has 2 major causes

(1)  Natural causes

(2)Human causes (over–consumption, over-production, over –population, over-competition, unbalanced development policies, etc.)

2. The goals of human and national aspirations should be : Mutual peace, security and happiness of all people together, of all communities together, of all societies together, and of all nations together. This should be the “New Development Paradigm”.

One “Development Model” that should be considered is the “Sufficiency Economy” model as initiated and recommended to the Thai people by H.M. King Bhumibol of Thailand. His Majesty the King has just recently (on May 26, 2006) been presented with the “United Nations Development Programme’s Inaugural Human Development Lifetime Achievement Award” by UN Security-General Kofi Annan who also made a remark that “The King’s ‘visionary thinking’ helped shape global development dialogue. His Majesty’s ‘Sufficiency Economy’ philosophy – emphasizing moderation, responsible consumption and resilience to external shocks – is of great relevance to communities everywhere during these times of rapid globalization. The philosophy’s ‘middle path’ approach strongly reinforces the United nationsl’ own advocacy of people-centred and sustainable path toward human development”.

3.Effective management for mutual human security should include the following (5 P’s) :

(1)  Planning (to achieve development goals , with stated targets , etc.)

(2)  Prevention (of causes of insecurity, etc.)

(3) Preparedness (for natural as well as human-induced disasters, at community level and beyond, etc.)

(4)  Partnership (among concerned people and parties, etc.)

(5)  Practice (before event, during event, after event, etc.)

4.Two significant practices that should be regularly persued on a continuing basis, within each country as well as among countries :

(1)Networking (of people and organizations working on improving human security and human development)

(2)Knowledge management (among and for those networking people and organizations)

The last point can, and should, be encouraged, supported, and/or facilitated by the “Human Security Network”.

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

16 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/34362

<<< กลับ