จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 8 (19 ก.พ. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 8 (19 ก.พ. 50)


ปัญหาการบริหารเวลาของรัฐมนตรี

การเป็นรัฐมนตรีย่อมมีปัญหาในการบริหารเวลาอย่างที่ผมกำลังประสบอยู่

คือ มีเรื่องที่คิดว่าต้องทำหรือควรทำหรือยากทำเป็นอันมาก พร้อมกับมีเรื่องที่คนอื่นมาขอให้ทำ หรือแนะนำให้ทำก็มากด้วย ในขณะที่มีเวลาอยู่จำกัด

นับแต่เข้ารับหน้าที่เป็นรัฐมนตรี ผมได้ยึดหลักว่า รัฐมนตรีควรเน้นบทบาทในการบริหารนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ และควรใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์เหล่านั้น

เอาเข้าจริง ผมต้องยอมรับว่า เรื่องต่างๆที่เข้ามาให้ทำมีมากและหลากหลายที่เดียว ซึ่งจำนวนมากอาจไม่ถึงขั้นเป็นเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ แต่ก็รู้สึกว่าต้องทำหรือควรทำ หรือพออนุโลมว่าเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับนโยบายและยุทธศาสตร์ได้

ในขณะที่งานประจำ งานพิธี งานเฉพาะกิจ ตลอดจนงานเฉพาะหน้าต่างๆก็ต้องมีด้วยตามสมควร

เพื่อเป็นแบบฝึกหัดการบริหารเวลา ผมจึงลองสำรวจดูว่าในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ทำอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นเรื่องระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ หรือเกี่ยวพันกับนโยบายและยุทธศาสตร์ปรากฏดังนี้ครับ

5 ก.พ. (จันทร์)

– บันทึกเทปโทรทัศน์ เรื่อง “ยุทธศาสตร์สังคม”

– ร่วมงาน “มหกรรมการจัดสวัสดิการชุมชน” ซึ่งนายกรัฐมนตรีไปเป็น ประธานพิธีปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี (ซึ่งกำหนดประชุมเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง)

– ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานของศูนย์คุณธรรม

6 ก.พ. (อังคาร)

– ประชุมเรื่อง “วาระเพื่อเด็กและเยาวชน ประจำปี 2550” โดยมีรัฐมนตรี 5 กระทรวง และรมต. ประจำสำนักนายกฯ 3 ท่านเข้าประชุม

– ประชุมคณะรัฐมนตรี

– ประชุมผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. (เป็นประจำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ยกเว้นสัปดาห์ต้นเดือนซึ่งเป็นการประชุมกับผู้บริหาร ระดับ 8 ขึ้นไปที่อยู่ในส่วนกลาง)

7 ก.พ. (พุธ)

– ร่วมอภิปรายที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่อง ความเข้มแข็งของชุมชนกับรัฐประศาสนศาสตร์

– เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม

8 ก.พ. (พฤหัสบดี)

– เป็นประธานเปิดโครงการ “ชุมชนน่าอยู่และปลอดภัย” (Campus Safety Zone) ของมหาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานสักขีพยานการลงนามบันทึกความร่วมมือหลายฝ่าย และกล่าวปาฐกถา

– พบสนทนากับผู้จัดการโครงการ “Cities Alliance” ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลก (ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พามา)

– ร่วมประชุมพิจารณา ร่าง “พรบ.ส่งเสริมธรรมาภิบาล” ซึ่ง รมต. ประจำ สน. นรม. (คุณหญิงทิพาวดี) เป็นประธาน

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี

9 ก.พ. (ศุกร์)

– เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ

– ไปรับฟังผลการสัมมนาโดยใช้กระบวนการ “จัดการความรู้” เกี่ยวกับการดำเนินงานภายใต้โครงการ “หน่วยงานสุจริตใสสะอาด” ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. และกล่าวปิดการสัมมนา (ที่ จ.นครนายก)

– ร่วมสนทนาหลังอาหารค่ำกับคณะที่จะร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ในวันรุ่งขึ้น (ที่โรงแรมสวนสามพราน)

10 ก.พ. (เสาร์)

– ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. (ระดับ 10 หรือเทียบเท่า ขึ้นไป) เพื่อทบทวนกลยุทธ์ (ยุทธศาสตร์) ของกระทรวงและนำไปเป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2551 ต่อไป (ประชุมทั้งวันที่โรงแรมสวนสามพราน)

11 ก.พ. (อาทิตย์)

– ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับรายการวิทยุ เรื่อง แผนปฏิบัติการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อชีวิตมั่นคง

12 ก.พ. (จันทร์)

– กล่าวเปิดการประชุมเครือข่ายหน่วยงานที่ดำเนินงาน “สายด่วน” เพื่อการรับแจ้งเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นปัญหาสังคมในรูปแบบต่างๆ

– เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก

– เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับการจดทะเบียนคนพิการ

– ประธานมูลนิธิสันติภาพสากลมาพบหารือเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมสันติภาพในประเทศไทยและอาเซียน

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี

– เป็นประธานในงานครบรอบ 34 ปี การเคหะแห่งชาติ และกล่าวสุนทรพจน์ (ภาคค่ำ)

13 ก.พ. (อังคาร)

– ประชุมคณะรัฐมนตรี

– ประชุมผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง

– ประชุมหารือ เรื่อง ยุทธศาสตร์กระทรวง พม. เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณ ปี 2551 (พิจารณาต่อเนื่องจากการประชุมที่ โรงแรมสวนสามพราน)

– อัดเทปสัมภาษณ์ เรื่อง “จิตตปัญญาศึกษา” ของมหาวิทยาลัยมหิดล

– ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพื่อนำไปเขียนบทความเกี่ยวกับนโยบายและแนวการทำงานของรัฐมนตรี พม.

14 ก.พ. (พุธ)

– ร่วมงานเปิดศูนย์รับเรื่องราว “1111” 4 ช่องทาง (โทรศัพท์ อีเมล์ จดหมาย มาที่จุดบริการ) ของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี

– พบหารือกับคณะกรรมการของ Social Venture Network (SVN) เกี่ยวกับการส่งเสริมบทบาทของธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งรวมถึง CSR (Corporate Social Responsibility) ด้วย

– พบหารือกับคณะกรรมการการตรวจสอบประเมินผลของกระทรวง พม.

– เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการสรรหา “ผู้สูงอายุตัวอย่างแห่งชาติ”

– หารือกับคณะจากธนาคารออมสินเรื่องโครงการสินเชื่อเพื่อคนพิการ

– เยี่ยมชุมชนล็อค 1-2-3 คลองเตย ที่ถูกไฟไหม้และหารือเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือฟื้นฟู

15 ก.พ. (พฤหัสบดี)

– เป็นประธานสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงการให้สินเชื่อเพื่อโครงการบ้านมั่นคง ระหว่างธนาคารอาคารสงเคราะห์กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

– เป็นประธานการประชุมหารือ เรื่องสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมีผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน การเคหะแห่งชาติ และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมหารือ

– บรรยายพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาสังคมเพื่อความมั่นคงของคนรากหญ้าโดยรัฐบาลปัจจุบัน” จัดโดย สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– ประชุมกับคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กำหนดเดือนละ 1 ครั้ง)

16 ก.พ. (ศุกร์)

– ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย” จัดโดยการเคหะแห่งชาติ ร่วมกับภาคีพันธมิตร โดยมีรองนายกฯ มรว.ปรีดียาธร เทวกุล เป็นประธานกล่าวเปิด

– เป็นประธานแถลงข่าวเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติ

– อัดเทปสัมภาษณ์ เรื่อง เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิการสังคม สำหรับออกรายการโทรทัศน์ช่อง 9

– เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการประสานสนับสนุนการแก้ปัญหาสังคม”

– ร่วมประชุมรับฟังและหารือเกี่ยวกับการดำเนินการสืบเนื่องจาก “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม ครั้งที่ 2”

 

18 ก.พ. (อาทิตย์)

– ประชุมหารือกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับการใช้กระบวนการ “ประชาเสวนา” (Citizens Dialogue) และอื่นๆเพื่อเสริมสร้างสังคมสันติสมานฉันท์และเพื่อการพัฒนาสังคม

ที่บันทึกไว้ทั้งหมดข้างต้นนั้น ยังไม่นับรวมถึง การดูแฟ้มเสนองาน การมอบหมายและปรึกษางานทั่วไปทั้งโดยพบหน้าและทางโทรศัพท์ การสนทนาทางโทรศัพท์กับบุคคลต่างๆรวมถึงผู้สื่อข่าว การต้อนรับผู้มาพบทั่วไป (ซึ่งมีไม่มาก) และอื่นๆ

รวมแล้วทำให้พอมองเห็นภาพการทำงานของผมได้พอสมควรในแง่ลักษณะเนื้อหาของงานและการจัดสรรเวลา โดยพิจารณาจากการทำงานจริงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

จากการมองตัวเองแล้วพยายามไตร่ตรองอย่างพินิจพิเคราะห์ ผมคิดว่าผมน่าจะยังมีทางปรับปรุงพัฒนาการทำงาน ให้เน้นนโยบายและยุทธศาสตร์ได้มากยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้น

โดยเฉพาะให้มีความเข้มมากขึ้นไปอีก ให้เป็นเชิงรุกมากขึ้นไปอีก และให้บูรณการกับงานของหน่วยงานอื่นๆได้ดียิ่งขึ้นไปอีก

คงไม่ง่ายนัก แต่ผมจะพยายาม

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/79459

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 9 (26 ก.พ. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 9 (26 ก.พ. 50)


สัปดาห์ที่มีกิจกรรมหลากหลาย

ผมคิดว่าจะบันทึกกิจกรรมเชิงการบริหารเวลาต่อไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้ครบประมาณ 1 เดือน (จาก 5 ก.พ. 50)

   19 ก.พ. (จันทร์)

– บันทึกเทปคำปราศรัยวันสตรีสากล

– พบหารือกับคณะจากธนาคารออมสิน เรื่องสินเชื่อเพื่อการพัฒนาสำหรับคนพิการ

– เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานสนับสนุนการแก้ไขปัญญหาชุมชนแออัด

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี

            20 ก.พ. (อังคาร)

– (7.30 น.) ประชุมรัฐมนตรี 5 กระทรวง + 3 รมต.ประจำสำนักนายกฯ เรื่อง วาระเพื่อเด็กและเยาวชน ปี 2550 ซึ่งกระทรวง พม. เป็นเจ้าภาพหลัก

– ประชุมคณะรัฐมนตรี

– หารือเจ้าหน้าที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ เรื่องการรายงานผลงานของกระทรวง

– ประชุมผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม.

– ประชุมหารือเรื่อง ปัญหาบ้านเอื้ออาทรกับนโยบายและทิศทางของการเคหะแห่งชาติในอนาคต (กับประธานคณะกรรมการ ประธานคณะกรรมการประเมินผล ผู้ว่าการ และกรรมการ กับกรรมการประเมินผลอีกจำนวนหนึ่ง)

            21 ก.พ. 50 (พุธ)

– (07.30 น.) ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองงานเสนอคณะรัฐมนตรีมนตรี (คณะที่ 3) เป็นการประชุมนัดแรกหลังได้รับการแต่งตั้งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เรื่องที่พิจารณา คือ ร่าง พรบ. พัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ….. ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวง พม.

– ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ในฐานะรองประธาน

– เป็นประธานเปิดงาน “วิชาการพิพัฒน์ พิชญฯวัฒน์ สู่สากล บนรากฐานไทย” ของโรงเรียนพิชญศึกษา อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ชมผลงานวิจัย ผลงานกิจกรรมการ เรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ต่างๆในบริเวณโรงเรียน

– ให้สัมภาษณ์นิตยสาร “G-Mag” (Governance Magazine) ในประเด็นเกี่ยวกับด้านการพัฒนาสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการสร้างสังคมสมดุล

– พบสนทนากับคณะกรรมการชมรมอาสาสมัครป้องกันยาเสพติด กรุงเทพมหานคร

– ประชุมหารือเรื่อง “วิทยุโทรทัศน์สาธารณะ” และ “ร่าง พรบ. องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ พ.ศ. …” ที่ห้องประชุมมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

            22 ก.พ. (พฤหัสบดี)

– (7.30 น.) ประชุมหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาสังคม รวมถึงการส่งเสริมการจัดการสวัสดิการสังคม (ตาม พรบ. ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546)

– เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรีพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หารือเรื่องวิธีใช้เงิน 200,000 บาทต่อจังหวัดที่ “กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม” ได้อนุมัติให้นำไปใช้สนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมในแต่ละจังหวัด

– ประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ประจำเดือน)

– ประชุม “คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข” ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ครั้งนี้รองนายกฯ (โฆษิต) ทำหน้าที่ประธานการประชุม และเป็นการประชุมนัดแรกหลังจากได้รับการแต่งตั้งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว

            23 ก.พ. (ศุกร์)

– ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ 1 ฉบับ เรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานของกระทรวง

– เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ

– เดินทางไป จ.เชียงราย

– บรรยายพิเศษ “ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม” ในการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ณ หอประชุมสมเด็จย่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย และร่วมลงนาม (เป็นพยาน) ใน “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่สังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ระหว่าง สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

            24 ก.พ. (เสาร์)

– (เช้า) เปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ ในการประชุม (ครั้งแรก) ของ “คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม จังหวัดเชียงราย” ณ โรงแรมทีคการ์เด้น สปา แอนด์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย อยู่ร่วมประชุมและให้ข้อสังเกตก่อนพักรับประทานอาหารกลางวัน

– (บ่าย) เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมวัฒนธรรมชาวลีซูเพื่อเทิดพระเกียรติ” ณ บ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ร่วมกิจกรรมวัฒนธรรมกับชาวลีซู (จาก 3 จังหวัด และมีชาวลาหู่ จำนวนหนึ่งด้วย)

– เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

– (ค่ำ) เป็นประธานเปิดงาน “คอยริยะฮ์สัมพันธ์” และบรรยายพิเศษ เรื่อง “สังคมอยู่ดีมีสุข” ณ มัสยิดคอยริยะฮ์ (เกาะใหญ่) ต.พระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ชมนิทรรศการ และฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ “กองทุนซะกาต” เพื่อสวัสดิการชุมชน ฯลฯ

25 ก.พ. (อาทิตย์)

– อยู่บ้าน อ่านหนังสือพิมพ์ บันทึกความคิด อ่านเอกสารงาน แก้ไขร่างบทนำเสนอ (เป็นภาษาอังกฤษ) สำหรับการประชุม ณ ต่างประเทศในสัปดาห์หน้า ฯลฯ

– เขียน “จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 9 (26 ก.พ. 50)

นับเป็นสัปดาห์ที่ผมได้มีกิจกรรมอันหลากหลายทีเดียว รวมถึงได้เห็น “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นทั้งความงดงามและความมีคุณค่าในสังคมพร้อมกันไป

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/80743

<<< กลับ

 

“หน่ายความมืดมนการเมืองเวทีใหญ่ เสาะหาความหวังใหม่จากชุมชน”

“หน่ายความมืดมนการเมืองเวทีใหญ่ เสาะหาความหวังใหม่จากชุมชน”


(บทความ โดย ภาสกร จำลองราช จากการสัมภาษณ์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ลงในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน 25 ก.พ. 50 หน้า 9)

            สถานการณ์สับสนบ้านเมืองยามนี้ หลายคนรู้สึกเบื่อหน่าย หลายคนรู้สึกพลังในตัวถูกบั่นทอนลงทุกวัน จนแทบไร้ความหวังกับอนาคตของประเทศไทย ยิ่งเห็นบรรดานักการเมืองสารพัดก๊วนขยับตัวกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะพวกหัวหน้าก๊วนสอพลอ (ส.+พ.) ที่ทำท่าจับขั้วมุ่งหน้าแสวงหาอำนาจเพื่อวันข้างหน้า ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านี้เพิ่งร่วมกันกัดกินประเทศจนผุกร่อน แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจ คนพวกนี้ก็ยังกระโดดหาขั้วใหม่อย่างหน้าชื่นตาบาน

            ภาพอนาคตของประเทศไทยเริ่มแจ่มแจ๋วว่าถึงอย่างไรก็คงหนีไม่พ้นนักการเมืองพวกนี้อีกตามเคย ต่อให้ปฏิวัติหรือปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญอีกกี่ครั้ง นักการเมืองเหล่านี้ก็ไม่มีวันตาย

            แล้วประเทศชาติจะสิ้นหวังอย่างนั้นเชียวหรือ???

            นานนับสิบๆ ปีมาแล้ว ผู้อาวุโสซึ่งเป็นที่นับถือของคนในแผ่นดินจำนวนหนึ่ง อาทิ นพ.ประเวศ วะสี ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ศ.เสน่ห์ จามริก ศ.ระพี สาคริก อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ฯลฯ ได้ลงไปเพาะกล้าในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง เพราะต่างเชื่อว่าทางออกของประเทศไม่ได้อยู่ที่นักการเมืองหรือนักบริหารประเทศเพียงไม่กี่คน แต่เป็นเรื่องของชาวบ้านและชุมชนซึ่งเป็นฐานรากที่แท้จริงของแผ่นดิน แม้ประชาชนในเมืองอาจยังมองไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนี้นัก แต่ในกลุ่มคนที่คลุกคลีงานภาคประชาสังคมต่างเห็นถึงความงดงามที่เจริญเติบโต

            “ผมทำงานด้านนี้มานานประมาณ 20 ปี ผมเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ในฐานะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอต้องเข้าไปทำงานที่จังหวัด เมื่อก่อนนายอำเภอจะไม่พอใจ เขาถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ แม้กระทั่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การทำงานของเอ็นจีโออาจจะมองราชการไม่ดีนัก ส่วนราชการก็มองเอ็นจีโอไม่ดีเช่นกัน มองเป็นปฏิปักษ์กัน แต่ตอนนี้การมองแบบไม่เป็นมิตรลดไปเยอะมาก หลายแห่งที่พวกเขาร่วมมือกันดีมาก” อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม หัวเรือใหญ่ของคนทำงานภาคประชาสังคม สะท้อนสถานการณ์ของท้องถิ่น แม้วันนี้ อ.ไพบูลย์จะนั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อีกเก้าอี้หนึ่ง แต่งานที่มุ่งสู่การสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นยังคงเดินหน้าต่อไป

            “หลายจังหวัดส่งเสริมการจัดการความรู้ให้ชาวบ้าน ตั้งแต่หมู่บ้านทำแผนชุมชน รวมกันเป็นแผนตำบลและแผนอำเภอจนกลายเป็นแผนจังหวัด หลายจังหวัดที่ได้ลงพื้นที่ เทศบาลก้าวหน้าขึ้นเยอะมาก”

            แผนชุมชนที่ อ.ไพบูลย์พูดถึง เริ่มขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีก่อน โดยประชาคมในหมู่บ้านต่างร่วมกันคิดร่วมกันวางเป้าหมายด้านต่างๆ ของชุมชนตัวเอง ซึ่งแรกทีเดียวงานด้านนี้เป็นงานใหม่ ทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ แต่เมื่อมีการเรียนรู้ร่วมกัน และได้เห็นประโยชน์ ทำให้ตอนนี้มีการทำแผนชุมชนไปแล้วมากกว่า 2,000 ตำบล

            “คุณหมอประเวศเรียกว่าการปฏิวัติเงียบ ที่ชุมชนท้องถิ่นจัดการกันเองและร่วมกันทำแผนชุมชน ทั้ง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน ไม่ได้กันใครออก แต่ใช้หลักร่วมกันทั้งหมด ซึ่งแนวทางเช่นนี้เกิดมากขึ้น ผมเคยให้เขาไปนำเสนอกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผลออกมาดีมาก” อ.ไพบูลย์พอใจในความตื่นตัวของชุมชน ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมาต่างมีแผนที่จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่ทุกอย่างก็เป็นเพียงแค่แผน เพราะพอเอาเข้าจริงๆ กลับอ้างนู่นอ้างนี่ ผลสุดท้ายอำนาจต่างๆ ยังคงกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลาง

            “ที่เริ่มใช้คำว่ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นอำนาจสำคัญมากอย่างหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว เพียงแต่เรานำเสนอเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ และต้องให้ท้องถิ่นจัดการกันเอง ท้องถิ่นต้องหมายถึง 1.ประชาชน 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขาเป็นกลไกลที่ใกล้ตัวประชาชนที่สุด และเป็นของประชาชนและควบคุมโดยประชาชน ถ้าไม่ดีประชาชนต้องรับผลกรรมเพราะเขาเป็นคนเลือกเองว่าใครไม่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลกลางไปบั่นทอนท้องถิ่นถือว่าเป็นการทำให้เขาอ่อนแอ หรือไปมีอคติกับท้องถิ่น ไม่เชื่อเขาก็เลยไม่สนับสนุน ทำให้เขาอ่อนแอ ผมเชื่อว่าในสามัญสำนึกเขาต้องการทำให้ดี”

            ปัจจุบันมีชุมชนท้องถิ่นหลายแห่ง สามารถเลือกคนที่ตัวเองไว้ใจเข้าไปบริหารงานในองค์กรปกครองที่ใกล้ตัวชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น อบต.หรือเทศบาล เมื่อชาวบ้านมีตัวแทนที่แท้จริงเข้าไปบริหารเชื่อมต่อกับอำนาจรัฐ ทำให้เกิดความคล่องตัวเป็นอย่างมาก เพราะสามารถสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของชุมชนได้

            “ประชาชนท้องถิ่นเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาที่จะให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขเพราะเขาจะดูแลตัวเขาเอง ถ้ามีปัญหาอะไรก็รีบจัดการโดยเร็ว แต่ถ้าคนจัดการอยู่ข้างนอก กว่าจะรู้เรื่องมันนานเกินไป แม้กระทั่งอยู่ที่จังหวัด หรืออยู่ที่กรุงเทพฯ”

            อ.ไพบูลย์บอกว่า เดี๋ยวนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากได้เข้ามาร่วมมือกับภาคสังคมมากขึ้น เพราะเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน เขาทำแล้วได้คะแนนด้วย ยกตัวอย่างเทศบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่ร่วมมือกับภาคประชาสังคม ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการจัดสวัสดิการชุมชน 

            “เทศบาลขอนแก่นก็ก้าวหน้า เขาเปิดโอกาสให้ประชาชนรวมตัวกัน มีสิ่งที่เรียกว่าสภาเมือง เช่นเดียวกับอีกหลายตำบลก็มีสภาประชาชน บางแห่งก็มีสภาหมู่บ้าน พอประชาชนได้ร่วมคิดร่วมทำได้เปิดกว้างออกไป ความคิดดีๆ การกระทำดีๆ เกิดขึ้น เขาเรียกว่าการเมืองสมานฉันท์”

            เมื่อได้มาดูแลกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อ.ไพบูลย์พยายามเชื่อมต่อระหว่างงานท้องถิ่นและกลไกลของกระทรวง โดยประกาศยุทธศาสตร์ 3 ประการคือ 1.สังคมไม่ทอดทิ้งกัน คือช่วยเหลือเกื้อกูลเอื้ออาทรกัน 2.สังคมเข้มแข็งแปลว่าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง 3.สังคมคุณธรรม 

            “ถ้า 3 อย่างนี้ เราส่งเสริมให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น จะช่วยแก้ปัญหาได้มาก กระทรวงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล แต่เราสนับสนุนทุกฝ่ายให้ทำงานร่วมกัน ที่สำคัญต้องให้ประชาชนเป็นคนจัดการ และมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ”

            หลายคนที่กำลังสิ้นหวังและเหม็นเบื่อการเมืองในเวทีใหญ่ ลองเปลี่ยนมุมมองไปหาชุมชนหลายแห่งที่กำลังเจริญงอกงามโดยฝีมือชาวบ้าน เผื่อจะเป็นความหวังและมีแรงใจที่จะช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมือง ซึ่ง “คติชน” จะนำเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเหล่านี้มานำเสนอต่อไป

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

27 ก.พ. 50

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/80945

<<< กลับ

 

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 10 (6 มี.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 10 (6 มี.ค. 50)


สัปดาห์แห่ง “ความสั่นสะเทือน”

            ผมไม่ได้คาดคิดเลยว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเกิด “ความสั่นสะเทือน” ขึ้นนั้นคือ การลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ของ มรว.ปรีดียาธร เทวกุล ส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาล ต่อสถานการณ์ในประเทศ และนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรีอย่างมีนัยสำคัญเป็นครั้งแรกของรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ภายหลังการเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ยังไม่ถึง 5 เดือน

            ผมขอบันทึกกิจกรรมประจำวันต่ออีก 1 สัปดาห์ตามที่ได้ตั้งใจไว้ ดังนี้ครับ

            26 ก.พ. 50 (จันทร์)

                  – เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                  – ร่วมแถลงข่าวเรื่องร่าง พรบ.สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นและรับมอบบันทึกข้อเสนอจากตัวแทนผู้นำชุมชน

                  – ปาฐกถานำด้วยหัวข้อ “สังคมสร้างสรรค์สุข” ในการสัมมนาวิชาการ โครงการ “ปฏิวัติจิตสำนึก ปฏิรูปศีลธรรม สมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” จัดโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี

                  – อัดเทปสัมภาษณ์ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับรายการโทรทัศน์ “แผ่นดินพอเพียง”

                  – ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี

                  – ประชุมพิจารณาเอกสาร (เป็นภาษาอังกฤษ) เพื่อการนำเสนอในการประชุมต่างประเทศใน อีก 3 วันข้างหน้า

                  – ประชุมหารือเรื่องการบูรณาการโครงการสำคัญๆเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและสังคม

            27 ก.พ. 50 (อังคาร)

                  – ประชุมคณะรัฐมนตรี

                  – แถลงข่าวกิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชา

                  – ประชุมผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ

                  – ต้อนรับผู้มาพบเพื่อขอบคุณ

                  – พบหารือกับคณะของยุวพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย

                  – (ค่ำ) ร่วมออกรายการโทรทัศน์ สนทนาเรื่องการจัดสวัสดิการของเกษตรกร

            28 ก.พ. 50 (พุธ)

                  – ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 

                  – ประชุม (ในฐานะรองประธาน คนที่ 1) คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ท่านรองนายกฯ มรว.ปรีดียาธร เทวกุล ทำหน้าที่เป็นประธานอยู่จนเวลาประมาณ 11.00 น. ก็ได้ขอออกจากห้องประชุมไปโดยการประชุมได้ดำเนินต่อไปจนเสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.)

                  – เวลาประมาณ 11.30 น. มรว.ปรีดียาธร เทวกุล แถลงต่อสื่อมวลชนว่าได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.

                  – ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ท้องถิ่นเข้มแข็งด้วยคุณธรรม” และเป็นประธานมอบรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น จัดโดยนิตยสาร “เส้นทางธุรกิจ”

                  – เดินทางไปกรุงฮานอย ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเข้าประชุมระดับนานาชาติในวันรุ่งขึ้น

                  – (ค่ำ) ประชุมหารือกับคณะจากประเทศไทยที่มาร่วมประชุมด้วย เรื่องเอกสารสำหรับการนำเสนอในวันรุ่งขึ้น

            1 มี.ค. 50 (พฤหัสบดี)

                  – ร่วมประชุมสัมมนาว่าด้วย “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (East and South East Asia MDG Forum) จัดโดย UN ESCAP ร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

                  – เป็นผู้อภิปรายหัวข้อ “Thailand Perspectives on the MDG’s” 

                  – ในระหว่างการประชุมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ 1 ฉบับจากประเทศไทย

                  – ร่วมงานเลี้ยงรับรองตอนค่ำ หลังเสร็จสิ้นการประชุมวันแรก

                  – ร่วมรับประทานอาหารค่ำในร้านอาหารเวียดนาม กับข้าราชการสถานทูตไทยและคณะผู้ร่วมประชุมจากประเทศไทย และนั่งรถชมเมืองยามค่ำ

            2 มี.ค. 50 (ศุกร์)

                  – เดินทางกลับประเทศไทย

                  – ประชุมหารือเรื่องการดำเนินโครงการส่งเสริมสวัสดิการชุมชนและสวัสดิการสังคม

                  – (ค่ำ) รับประทานอาหารพร้อมปรึกษาหารือเรื่องการร่วมมือระหว่างกระทรวงในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัดกับผู้ทรงคุณวุฒิอาวุโส 1 ท่าน รัฐมนตรีอีก 3ท่าน เลขานุการรัฐมนตรี 2คน และข้าราชการอาวุโส 2 คน

            3 มี.ค. 50 (เสาร์)

                  – เป็นประธานเปิดตัวโครงการ “ครอบครัวคุณธรรม นำสังคมเข้มแข็งเทิดไท้องค์ราชัน” (พาลูกจูงหลานเข้าวัด/โบสถ์/มัสยิด) ที่วัดอุดมธรรมโปษะกฤษณะวราราม ชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ เขตทวีวัฒนา กทม.

                  – พบท่านนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพิษณุโลก

                  – (เดินทางไป จ.กาญจนบุรี) ร่วมรับฟังและให้ความเห็นในการประชุมสัมมนาเรื่อง “ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล” ที่ จ.กาญจนบุรี จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

            4 มี.ค. 50 (อาทิตย์)

                  – หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวในหน้า 1 เกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี โดยคาดคะเนผู้ที่อาจได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งมีชื่อผมรวมอยู่ด้วย และทำให้เกิด “ความสั่นสะเทือน” ในลักษณะหนึ่ง

                  – นัดหารือกับคณะทำงานรัฐมนตรีเรื่องเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลด้านสังคม

            5 มี.ค. 50 (จันทร์/หยุดราชการ)

                  – นัดหารือกับผู้ทำงานในภาคประชาชนเกี่ยวกับความเป็นไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

                  – อ่านหนังสือพิมพ์ ดูแฟ้ม เขียนบันทึกความคิด เขียน “จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม” ฯลฯ

            การบันทึกกิจกรรมในลักษณะที่สะท้อนการบริหารเวลาของผม คงจะยุติลงหลังจากสัปดาห์นี้เป็นต้นไป คิดว่าพอให้ภาพได้ดีพอสมควรว่าผมใช้เวลาไปในกิจกรรมหรือเรื่องประเภทไหนบ้างและพอเห็นลู่ทางที่จะปรับปรุงการบริหารเวลาของผมให้ดีขึ้น

            สำหรับผลสืบเนื่องจากการลาออกของ มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล คงจะชัดเจนมากขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะในเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี

                                                                                    สวัสดีครับ

                                                                ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/82276

<<< กลับ

สังคมดีงาม อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ไกลเกินจริง

สังคมดีงาม อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ไกลเกินจริง


(บทสัมภาษณ์พิเศษลงในนิตยสารประชาคมท้องถิ่น ฉบับที่ 72 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2550 หน้า 92-95)

            ภาย หลังเข้ามานั่งบริหารงานในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการพัฒนา เชี่ยวชาญและมีความเข้าใจต่อความเป็นไปในบริบททางสังคมไทยด้านต่างๆ ได้ลงมือลุยงานอย่างมืออาชีพ ประสานกับองค์กรท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาสังคม หน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและภูมิภาค นำนโยบายด้านสังคมของรัฐบาลมากำหนดเป้าหมายใหญ่เพื่อนำสังคมไปสู่สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืน

รัฐมนตรีไพบูลย์  เปิดเผยกับ ประชาคมท้องถิ่น ถึงแนวทางการดำเนินงานในการจัดการระบบเชิงรุกที่ปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานพัฒนาสังคมแนวใหม่ รวมทั้งการดำเนินการในโครงการต่างๆตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาว่า พม.ได้สร้างนวัตกรรมในระบบการจัดการเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทและภาพพจน์ใหม่ ภายใต้แนวทางการจัดการ 3 บริบท คือ การจัดการในบริบทพื้นที่ การจัดการในบริบทกลุ่มเป้าหมาย และการจัดการในประเด็นการพัฒนา ซึ่งได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์สังคม 2550 ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงาน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พม.ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจเร่งด่วน 4 เรื่อง ที่เป็นรูปธรรม คือ การช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูพัฒนาอันเนื่องมาจากอุทกครั้งใหญ่ด้วยงบประมาณ 1,347 ล้านบาท การเตรียมการร่วมคลี่คลายปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยงบประมาณ 517 ล้านบาท การสร้างเครือข่ายและจัดตั้งกลไกเพื่อร่วมคลี่คลายปัญหาความแตกแยกและสร้างความสมานฉันท์ในสังคม รวมทั้งการสร้างธรรมาภิบาลในหน่วยงานของกระทรวงฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพม. กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดด้านต่างๆว่า สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกันครอบคลุม 7,416 ตำบล 1,145 เทศบาลทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมาได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ โดยมีเครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาสังคมและหน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเข้าร่วม ซึ่งรวมถึงเครือข่ายสังคมไม่ทอดทิ้งกันใน 76 จังหวัด ที่ได้ร่วมปฏิบัติการค้นหาผู้ยากลำบากในพื้นที่ โดยใช้ตำบลและเทศบาลเป็นตัวตั้ง พร้อมให้การช่วยเหลือเบื้องต้น รวมทั้งการจัดทำขยายข้อมูลที่เป็นระบบ

เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็งพร้อมกันไปเป็นขบวน ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเชิงรุกและเชิงรับ โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคชุมชนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรสนับสนุน และส่วนราชการของกระทรวง จำนวน 45 คน ขณะที่คณะกรรมการระดับจังหวัด 76 คณะ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และส่วนราชการในพื้นที่จำนวนรวมประมาณ 3,000 คน ซึ่ง จากผลการดำเนินงานด้านชุมชนท้องถิ่นเข้มเข้มแข็ง มีกระบวนการประเมินและรับรององค์กรชุมชนเป้าหมายจำนวน 40,000 องค์กร ซึ่งมีองค์กรที่ได้รับรองสถานภาพแล้วจำนวน 27,510 องค์กรและอยู่ระหว่างดำเนินการ 12,490 องค์กร เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการบ้านมั่นคง เมื่อเดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา มีการพัฒนากระบวนการในเมืองใน 75 จังหวัด(ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) 214 เมือง/เขต 96 โครงการ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคใน 64 จังหวัด 158 เมือง/เขต 440 โครงการ 773 ชุมชน 45,496 ครัวเรือน

            “เราเริ่มจากเป้าหมายใหญ่ เนื่องจากงานพัฒนาสังคมมีเป้าหมายสังคมดีงามอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันโดยมียุทธศาสตร์ 3 แนวที่เกาะเกี่ยวกัน ได้แก่สังคมไม่ทอดทิ้งกัน นั่นคือสังคมช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแลซึ่งกันและกัน สังคมเข้มแข็ง  ก็คือ สังคมที่ชุมชนเข้มแข็ง ประชาสังคมเข้มแข็ง และ 3 สังคมคุณธรรม ความดีความถูกต้อง ความเป็นธรรมในสังคม เราดำเนินการนำยุทธศาสตร์รวมกันลงไปในท้องถิ่น โดยเราส่งเสริมให้ท้องถิ่นค้นหาคนที่ยากลำบากเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งระหว่างชาวบ้านด้วยกัน อบต.เทศบาลและกระทรวง ตลอดถึงราชการส่วนภูมิภาคส่วนกลางทั้งหมด”

ขณะที่การดำเนินงานด้านกลุ่มคนเข้มแข็ง ได้มีการส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงชาย โดยมีการจัดสัมมนาวิชาการผู้บริหารภาครัฐด้านการเสริมสร้างบทบาทของหญิงชายเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงชายในระบบราชการและนำความรู้ไปปรับใช้ในหน่วยงานรวมทั้งการเข้าไปตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน(ศพค.) โดยสนับสนุนให้งบประมาณ 75 จังหวัด เพื่อจัดกิจกรรมสำหรับศพค.เดิมจำนวน 2,677 ศูนย์และจัดศพค.ใหม่อีกจำนวน 453 ศูนย์ อีกทั้งการดำเนินโครงการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงภายในประเทศ เรื่องแนวทางการปฏิบัติร่วมกันในการดำเนินการกรณีเด็กและหญิงที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตก

            “การป้องกันลดความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงระดับครอบครัว ระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ ส่วนหนึ่งของการป้องกันความรุนแรง คือการสรางภูมิคุ้มกัน การสร้างทัศนคติวิถีชีวิตความรู้ความชำนาญในการจัดการแก้ไขความรุนแรงด้วยสันติวิธีให้อยู่ในวิถีชีวิต ส่งเสริมการรู้รักสามัคคี การสมานฉันท์ เพื่อคลี่คลายความรุนแรง ความขัดแย้ง นี่คือการทำงานที่เอาประเด็นเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการให้ การช่วยเหลือสังคม การป้องกันลดความรุนแรงการส่งเสริมชีวิตมั่นคง ต่างๆเหล่านี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นกรุยทางที่จะเดินต่อไปในวันข้างหน้า”

เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการเสริมสร้างเด็ก โดยมีการฝึกอบรมทีมสหวิชาชีพระดับจังหวัด(ครู ก)ใน 4 ภาค จำนวน 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมอบรมรวม 800 คน เพื่อส่งเสริมให้ทีมวิชาชีพฯมีหลักการแนวคิด ความรู้ ความสามารถที่เข้มแข็งในพื้นที่ระดับจังหวัด และการยกระดับศูนย์พัฒนาและฝึกอาชีพคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก( APCD)ให้เป็นองค์การมหาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำร่างพระราชกฤษฎีกาฯเสนอคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวง ขณะที่โครงการจัดตั้งศูนย์อเนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อจัดบริการให้เข้าถึงผู้สูงอายุในชุมชน และให้ผู้สูงอายุได้ใช้ทักษะในการมีส่วนร่วมกับชุมชนและพิทักษ์สิทธิของตนเองโดยได้ดำเนินการใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ พัทลุง หนองคาย และตราด

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรมโดยหวังผลในระยะยาว ทางกระทรวงฯได้มีการจัดทำแผนงาน โดยจัดทำโครงการส่งเสริมการทำความดี ซึ่งจะให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดำเนินการค้นหาคนดี-เรื่องดีๆทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 500 กรณีศึกษา โครงการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ โครงการเสวนาเครือข่ายอาสาสมัครทำความดี ซึ่งได้ขับเคลื่อนโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 โดยมีการจัดประชุมสัมมนา เรื่องการให้อาสาสมัครในสังคมไทย การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม การออกระเบียบกระทรวงว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอาสาสมัคร พ.ศ.2549 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการให้และการอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม พร้อมทั้งเตรียมนำเสนอ “แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมและชีวิตมั่นคง พ.ศ.2550-2554” เพื่อการเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

            “โครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมการให้การเอื้อเฟื้อแบ่งปันการช่วยเหลือสังคมการอาสาสมัคร โดยการส่งเสริมให้ข้าราชการนำไปปฏิบัติ อนุญาตให้ข้าราชการไปพัฒนาแบบอาสาสมัครสังคมปีละไม่เกิน 5 วันทำงาน โดยไม่ถือเป็นการลา เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการทำความดี เปิดโลกทัศน์ สร้างจิตสำนึก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสังคมโดยรวมให้มีการให้แบบอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมให้มากยิ่งขึ้น นี่ก็เป็นตัวอย่างที่เราเอาประเด็นเป็นตัวตั้ง เราก็จะมีศูนย์การป้องกันและลดความรุนแรงด้วย”

สำหรับการช่วยให้สังคมท้องถิ่นเข้มแข็งส่วนหนึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่นการส่งเสริมให้ทำแม่บทชุมชน การส่งเสริมเรื่องการทำสวัสดิการ เป็นการช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถแก้ปัญหา สามารถพัฒนา อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันกลไกหนึ่งที่จะช่วยได้มาก คือการมีสภาชุมชนท้องถิ่น เพื่อจะได้มีเวทีและกลไกในการติดตามสถานการณ์ รับรู้ข้อมูล ทำความเข้าใจ ระดมความคิดว่าท้องถิ่นตนควรจะพัฒนาไปอย่างไร ตลอดจนการติดตามดูแลการบริหารจัดการของท้องถิ่น ซึ่งหลายตำบลหลายเทศบาลได้ทำกันอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเป็นการเกิดตามธรรมชาติ ตรงนี้น่าจะมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการมีสภา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้สังคมและประชาชนมาร่วมคิดร่วมพิจารณาก่อนที่จะนำเสนอรัฐบาลต่อไป

            “คิดว่า 3 เดือนเศษ เราได้ทำและวางรากฐาน มีผลงานเบื้องต้นในทั้ง 3 ด้าน ทั้ง 3 เรื่อง เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน การพัฒนาต้องทำกันเป็นเดือนๆเป็นปีๆหรืออาจจะเป็นสิบๆปีต้องทำอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เราวางรากฐานให้ส่วนที่ดีมีมากขึ้น ส่วนที่ไม่ดีถ้าไม่หมดไปก็ให้ลดลง พยายามส่งเสริมส่วนที่ดีให้ได้รับการสานต่อ เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกฝ่ายจะช่วยกันทำให้สังคมดีงาม”

อย่างไรตาม ในส่วนของการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีหรือองค์กรเครือข่าย นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถือเป็นองค์กรหัวใจหลักที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนระดับรากหญ้ามากที่สุด

            “อบต.และเทศบาลเป็นจุดหมายสำคัญและประชาชนชนมีบทบาทสำคัญ ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ซึ่งมีตัวอย่าง ผมไปร่วมสัมมนาที่จังหวัดนครนายกมีตัวแทน 8 จังหวัด เข้าร่วม เราพูดถึงการจัดสวัสดิการชุมชนโดยชุมชนเข้ามาดำเนินการ ปีละ 365 บาท คือออมวันละบาท ชาวบ้านจัดการกันเอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุน บางแห่งก็สนับสนุนงบประมาณ บางแห่งก็สนับสนุนกิจกรรม ฉะนั้นจึงเป็นการทำงานเชิงรุกที่ประชาชนมีส่วนร่วมที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม บอกว่า ที่ผ่านมาการการทำงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีพัฒนาการมาตลอด เช่น การดูแลด้านสังคม อบจ. เทศบาลมักจะทำได้ดี ในเรื่องงบประมาณบุคลากร อบต.ก็เห็นการทำงานที่เป็นรูปธรรมที่ดูแลเรื่องเด็กเยาวชนผู้สูงอายุการพัฒนาแบบสร้างสรรค์ เทศบาลก็ทำในเรื่องการดูแลทำให้คนจนมีที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคง

            “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกของประชาชนเพื่อประชานการดูแลจัดการค่อนข้างสะดวกรวดเร็ว เพียงแต่ว่าหลักการสำคัญคือให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะ อบต.ยิ่งเป็นกลไกของประชาชน เพราะเขาได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนและประชาชนก็เป็นกำลังสำคัญ เป็นเจ้าของเรื่องอย่างแท้จริง การพัฒนาใดๆถ้าให้ประชาชนมีบทบาทจะทำได้ดีแก้ไขปัญหาได้”

            ขณะที่ทุกฝ่ายก็ต้องเข้ามาให้ความร่วมมือ ไม่ใช่แค่ประชาชนกับอบต. ราชการทุกภาคส่วนในภูมิภาคเช่น สถานีอนามัย การเกษตร พัฒนาสังคม  ก็ต้องร่วมด้วยเพื่อเนื้องานจะได้มีประสิทธิภาพ  สังคมก็จะเป็นสุข ฉะนั้น อบต.หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นจะต้องเรียนรู้ในเรื่องการพัฒนาสังคม การแก้ปัญหาสังคม ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางมีบทบาทสำคัญ ทำไปเรียนรู้ไปพร้อมกับการเรียนรู้จากคนอื่น เรียนรู้จากอบต.อื่นในพื้นที่ที่ต่างกัน เพราะการเรียนรู้ร่วมกันจะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล

            “จากการติดตามการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแง่ความก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็นอบต.เทศบาลหรืออบจ.ผู้นำเขาก็มีการพัฒนา ผู้นำอบต.ที่มีคุณวุฒิ มีประสบการณ์มีความคิดอ่านดีๆมีเยอะขึ้น ผมค่อนข้างมีความหวังว่าการบริหารท้องถิ่นจะดีขึ้นตามลำดับ เพียงแต่สังคมและรัฐบาลกลางควรเปิดโอกาสและชื่นชมยินดีกับความก้าวหน้าที่เขาทำได้ อย่าไปเอาแต่เรื่องที่เขาทำไม่ดีที่มันเกิดขึ้นบางแห่ง เอามาพูดและมองไปว่าเหมือนกันทั้งหมด มันก็เสียหายไปหมด บางแห่งมีดีก็ไปมองว่าไม่ดีไปหมด จริงๆแล้วควรจะให้กำลังใจว่า สิ่งที่ดีมีอยู่เยอะ ยกย่องเชิดชูให้กำลังใจนำไปเผยแพร่ให้มีการเรียนรู้จากสิ่งดีๆที่เขาทำ

            ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลส่วนกลางที่ต้องเข้าไปดูแลการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดสื่อมวลชนและสังคม ถ้ามีทัศนคติเชิงบวก ไปค้นหาความเจริญก้าวหน้าที่น่าชื่นชม เอามาเผยแพร่ จะดีกว่าไปค้นหาสิ่งที่ไม่ดีแล้วเอามาโพนทะนา

            นับจากนี้ไป…สังคมดีงาม สังคมแห่งคุณธรรม รวมทั้งการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย อาจจะไม่ใช่เพียงแค่แนวคิดเชิงอุดมคติอีกต่อไป หากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆจากทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้อาจจะเป็นไปได้ เพราะตลอดระยะเวลากว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมา อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้กรุยทางและทำให้เห็นแล้วว่า สังคมอยู่เย็นเป็นสุข อยู่ใกล้แค่เอื้อมนี้เอง

ล้อมกรอบ

กฎหมายที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เตรียมผลักดันเพื่อการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อย่างเป็นระบบจำนวน 20 ฉบับ ดังนี้ (1)กฎหมายในแผนเดิมของ พม.ที่รอเข้าสภานิติบัญญัติ(1 ฉบับ) คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ…… (2 ) กฎหมายในแผนเดิมของ พม.ที่รอเข้าครม.รอบที่ 2 (5 ฉบับ) คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ…../ พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ พ.ศ……/ พ.ร.บ.การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ……….. / พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. …….และ พ.ร.บ.คนขอทาน พ.ศ……. (3) กฎหมายในแผนเดิมของพม.ที่รอเข้าครม.รอบที่ 1 (7 ฉบับ) คือ พ.ร.บ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ……. / พ.ร.บ.พัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ……. / พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ……./ พ.ร.บ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ……./พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ พ.ศ……. /พ.ร.ฎ. จัดตั้งศูนย์พัฒนาและอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (องค์การมหาชน) กฎกระทรวงกำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการของสถานประกอบการเอกชน พ.ศ……(4) กฎหมายใหม่ตามยุทธศาสตร์สังคมที่กำลังเตรียมเสนอครม. รอบที่ 1 (7 ฉบับ) คือ พ.ร.บ.สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ พ.ศ………../ พ.ร.บ.ส่งเสริมประชาคมในการพัฒนา พ.ศ……../ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น พ.ศ…………/พ.ร.บ.การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งชาติ พ.ศ………/ พ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัว พ.ศ………./ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ…………. /พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการพัฒนาสังคม พ.ศ. …………..

ล้อมกรอบ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ซึ่งมีหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เห็นชอบข้อเสนอการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม  ตามมติของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2549 วันที่ 4 ธันวาคม 2549 เรื่อง ข้อเสนอการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม มีดังนี้

  1. กำหนดเรื่องการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคมเป็นวาระแห่งชาติโดยมีเนื้อหาประกอบด้วย การรณรงค์จิตสำนึกการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม การขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ มาตรการด้านการเงินการคลัง มาตรการด้านการศึกษา และมาตรการที่เอื้อให้ประชาชนเอกชน  และข้าราชการเข้าร่วมในงานอาสาสมัคร 2. ประกาศให้ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งตรงกับวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา เป็นปีแห่งการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม 3. มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อวาระแห่งชาติในเรื่องการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคมรวมทั้งปีแห่งการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและส่งเสริมการดำเนินงานดังกล่าว 4. อนุญาตให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานอาสาสมัครโดยไม่ถือเป็นวันลาและให้ถือเป็นวันปฏิบัติราชการได้ไม่เกิน 5 วันทำการต่อปีไม่มีผลทำให้เกิดความเสียหายต่องานราชการ และต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา พร้อมทั้งเชิญชวนภาคเอกชนให้พนักงานลาไปปฏิบัติงานอาสาสมัครโดยไม่ถือเป็นวันลา

ทั้งนี้หน่วยงานที่รับอาสาสมัครไปช่วยปฏิบัติงานองค์กรสาธารณประโยชน์จะต้องระบุเนื้อหางานให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติทราบ รวมทั้งอาสาสมัครจะต้องนำหลักฐานการอนุญาตให้ไปปฏิบัติงานจากหน่วยงานต้นสังกัดแสดงต่อองค์การสวัสดิการสังคม ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติออกตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานและจัดให้มีการประเมินและทบทวนการดำเนินงานเป็นประจำทุกปี

อีกทั้งขอความร่วมมือให้เจ้าของสถานประกอบการอนุญาตให้ลูกจ้างลาไปปฏิบัติงานอาสาสมัครตามแต่จะพิจารณาเห็นสมควร

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

7 มี.ค. 50

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/82470

<<< กลับ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 11 (12 มี.ค.50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 11 (12 มี.ค.50)


เรื่องที่ไม่น่าเกิด ได้เกิดขึ้น (สำหรับผม)

            การได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี คือสิ่งที่ผมไม่เคยคิดถึงหรือคิดประสงค์จะเป็นและไม่เคยคาดคิดแม้แต่น้อยว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม  เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม เวลา 16.30 และผมจะเข้าไปนั่งที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 12 มีนาคม เวลาประมาณ 8.00 น.

             ผมเลือกที่ใช้ห้องทำงานในตึกบัญชาการ (ทำเนียบรัฐบาล) เพียงแห่งเดียว เพื่อให้หมอพลเดช ซึ่งจะขึ้นมาเป็น รมช.การพัฒนาสังคมฯ  ได้ใช้ห้องรัฐมนตรี พม.ที่ผมเคยใช้อยู่ (ห้องทำงานที่กระทรวง พม. สำหรับ รมว.และทีมงานมีค่อนข้างจำกัด) โดยจะให้มีการส่งเอกสารไปมาระหว่างกระทรวง พม. กับผมในฐานะ รมว.พม.(ซึ่งผมยังคงครองตำแหน่งนี้ ควบกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี) เป็นระยะ ๆ ตามความเหมาะสม แทนการที่ผมจะพาตัวเองมาดูเอกสารที่กระทรวง พม. ดังนั้น ผมจึงไม่จำเป็นต้องมีห้องทำงานไว้ให้ตนเองที่กระทรวง พม.

            ผมต้องเร่งจัดทีมงานช่วยผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม ขณะนี้ได้ตัวเลขานุการรองนายกฯ ด้านสังคม (เรียกเป็นทางการว่า “รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี”) (คือ ทพ.กฤษฎา) และประธานคณะทำงาน  หรือประธานคณะที่ปรึกษารองนายกฯ ด้านสังคม (คือ นพ.สุวิทย์) แล้ว และได้ขอให้ที่ปรึกษา รมว.พม.โอนไปช่วยงานรองนายกฯ ด้านสังคมด้วย อีก 2 คน (คือคุณเอนก และคุณจิริกา) ที่เหลือคาดว่าจะทยอยจัดหามาให้ได้ในเร็ววัน

            ตลอดชีวิตการทำงานของผม ผมไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะขวนขวายแสวงหาหรือ “อยากได้” ตำแหน่งงานสำคัญๆให้ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ธนาคารไทยทนุ  มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (การเคหะแห่งชาติ)  ธนาคารออมสิน สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือตำแหน่งรัฐมนตรีและล่าสุดตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

             แต่เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว ก็จะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดครับ

  

                                                                             สวัสดีครับ

                                                          ไพบูลย์   วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/83626

<<< กลับ

การสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม

การสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม


สรุปสาระสำคัญ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ หอประชุมบุรฉัตร  ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่

            เมื่อพูดถึงคำว่า คุณธรรม จริยธรรม หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องนามธรรม  ยากแก่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง แต่จริง ๆ เรื่องนี้มีหลักในการพิจารณาง่ายๆ อยู่ 3 ประการ คือ หนึ่ง  ความดี  สอง  ความถูกต้อง และ สาม คือ  ความเป็นธรรม ทั้งสามสิ่งนี้เป็นเกณฑ์วัดพื้นฐานที่สามารถนำไปเป็นหลักคิดพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง องค์กร และประเทศชาติ ได้    โดยในการนำไปปฏิบัติ ให้ยึดหลักว่า  เรื่องความดี  เป็นเรื่องที่ควรกระทำ    และสังคมควรช่วยกันสร้างค่านิยมในการทำความดี  ส่งเสริมการทำความดีให้แพร่หลาย  เรื่องของความถูกต้อง  เป็นเรื่องที่ต้องกระทำ  และประการสุดท้ายคือ  ความเป็นธรรม เป็นสิ่งที่ควรต้องกระทำ   ฉะนั้นในการประพฤติปฏิบัติก็จะมีด้วยกัน ๓ ระดับ คือ  ควรทำ  ต้องทำ และควรต้องทำ

             สำหรับแนวทางในการกระทำให้ทั้งสามประการเกิดผลที่น่าพึงพอใจ   ต้องเริ่มทำทุกส่วน  ทำในระดับบริหาร  และระดับพนักงาน ควบคู่กันไป โดยในระดับบริหารจะเป็นแนวทางนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสมให้แก่พนักงาน  แล้วถ่ายทอดให้พนักงานได้เห็นแนวทาง  เป็นวิธีง่าย ๆ  ไม่ต้องไปบอกว่าควรจะทำอะไร  ให้เขาไปคิดไปพิจารณาเอง  เป็นการถอดแบบแนวคิด   อาจจะจัดเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ ( workshop)  ที่สำคัญคือทำแล้วก็ต้องมีการติดตามผล  เพื่อเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ  รวมถึงการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “การจัดการความรู้”(Knowledge  Management)

            ในระดับพนักงาน  อาจทำเป็นหน่วยงาน  คือให้โอกาสไปคิด ไปดำเนินการกันเองว่า   ความดี  ความถูกต้อง ความเป็นธรรม  คุณจะทำอย่างไร  ให้พนักงานร่วมกันคิด ร่วมกันวางกติกาว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดสามสิ่งข้างต้น  ไม่จำกัดวงว่าต้องเป็นเรื่องในภาระหน้าที่ที่ปฏิบัติ  อาจเป็นกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม  กิจกรรมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของฐานคุณธรรม

หลักปฏิบัติในเรื่องความดี  ความถูกต้อง  ความเป็นธรรม

            เรื่องของความดี  อาจจะทำหรือไม่ทำก็ไม่มีใครมาว่า  แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ขอใช้คำว่าควรทำอย่างยิ่ง  เช่น การรวมกลุ่มเป็นอาสาสมัครไปช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ  ดูแลสิ่งแวดล้อม  ช่วยสอนช่วยแนะนำชาวบ้านในด้านการทำบัญชี เป็นต้น  ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ผู้บริหารต้องช่วยส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นขบวนการในการทำความดีอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

            ในเรื่องของการทำความถูกต้อง กล่าวอย่างสั้นและตรงที่สุดคือไม่ทุจริต เป็นหลักธรรมาภิบาล ( good governance) พื้นฐาน  เรื่องของความถูกต้องจะเกี่ยวพันกับระเบียบ ข้อบังคับ หลักการที่ยึดโยงให้กลไกต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างสมบูรณ์  เปรียบเป็นศีล ที่ต้องยึดถือและปฏิบัติ ฉะนั้นหลักในการปฏิบัติจึงเข้มข้นเพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งระดับใด  ก็ต้องมีความระมัดระวังรอบคอบในการทำงานให้เกิดความถูกต้องเป็นเบื้องแรก  ถูกต้องในที่นี้ หมายถึงการกระทำที่สุจริตจริงใจ ไม่ผ่อนปรนกับความไม่ถูกต้อง 

            ส่วนเรื่องของความเป็นธรรม  คือเรื่องของความเสมอภาค  การประพฤติปฏิบัติที่เข้าหลักการเสมอภาค  จะส่งผลให้เกิดสิ่งที่เป็นธรรมขึ้น  ซึ่งความเสมอภาคนี้  เป็นเรื่องที่สำคัญของสังคม  การอยู่ร่วมกันในสังคมไม่ว่าจะระดับประเทศ  ระดับหน่วยงาน  หรือแม้แต่ระดับบุคคล  ต้องพึงระวังให้มาก   เพราะมักนำไปสู่สาเหตุของการไม่เข้าใจและความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ดังนั้นเรื่องของความเป็นธรรมจึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย   ด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ  ไม่เลือกที่รัก    มักที่ชัง   ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อลูกค้า เพื่อนร่วมงาน  ผู้บังคับบัญชา  และผู้ใต้บังคับบัญชา   

            การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จึงต้องเริ่มทุกระดับ แล้วประสานความร่วมมือระหว่างกันให้ขยายวงกว้างออกไป ระดับผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมคุณธรรม  ความดี ความถูกต้องและความเป็นธรรม ระดับผู้น้อยก็ต้องร่วมกันสร้างแนวทางการพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้และมีการจัดการความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างถ่องแท้ แล้วนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

            เมื่อทุกคนทำ ทุกคนปฏิบัติบนฐานของคุณธรรม  ความเข้มแข็งของสังคมก็จะตามมา    ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาล   สังคมที่มีคุณธรรมนำการเรียนรู้  ใช้ความดีนำความรู้  จะเดินไปในทิศทางที่ดี  เมื่อคนทำความดี ความดีก็จะก่อให้เกิดความสุข  และในวันที่สังคมไทยมีความเข้มแข็ง  มีฐานของคุณธรรมความดี  เรื่องที่ไม่ดี ไม่งามต่าง ๆ  ก็จะลดน้อยลง  ปัญหาในเรื่องจริยธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  ปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชัน  การทะเลาะเบาะแว้ง การแตกแยกของสังคมก็จะค่อย ๆ ลดลงและคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

4 เม.ย. 50

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/88532

<<< กลับ

ออมสินรับกระแส “สังคมคุณธรรม จริยธรรม”

ออมสินรับกระแส “สังคมคุณธรรม จริยธรรม”


สกู๊ปข่าวลงในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 3 เมษายน 50 โดย คุณกนกวรรณ บุญประเสริฐ

ท่ามกลางการบริหารงานของรัฐบาลขิงแก่ ซึ่งมี การปลุกกระแสเรื่องสังคมคุณธรรมให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อล้างวิธีการทำงานของรัฐบาลเก่า ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ชักนำระบอบทุนนิยมเข้ามาครอบงำ

ครอบจิต ครอบใจ จนทำให้คนให้ความสำคัญที่เรื่องของวัตถุ มากกว่าคุณธรรม จริยธรรม

คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ได้ยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมธรรมาภิบาลภาครัฐ และกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานตามวาระแห่งชาติถึง 7 ยุทธศาสตร์

เริ่มจาก การสร้างกลุ่มผู้นำและรูปแบบองค์การแห่งสุจริตธรรม

การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม ค่านิยม และการพัฒนาข้าราชการ

การให้คำปรึกษา แนะนำ และการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล

การปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลให้เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม

การพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล

การวัดผลและตรวจสอบด้านจริยธรรม

และการวางระบบสนับสนุนและปัจจัยพื้นฐานด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล

ถือเป็นกรอบในการปลุกคนในบ้านเมืองให้ตื่นจาก “กิเลส” หันมาเน้นเรื่อง “คุณธรรมนำชีวิต”

พอปี่กลองเชิดปุ๊บ ธนาคารออมสิน เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่ขานรับนโยบายดังกล่าวแบบฮิตาชิ

แบงก์เด็กงัดโครงการจริยธรรมและจรรยาบรรณดีเด่น เพื่อปลูกฝังให้พนักงานนับตั้งแต่ ระดับผู้บริหาร พนักงาน ไปจนถึงลูกจ้างของธนาคารให้มีทัศนคติที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่องาน และต่อสังคม เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ

ครบครันตามวัตถุประสงค์เปี๊ยบ

พร้อมกับมีการแจกรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจถึง 10 รางวัล แยกเป็น รางวัลระดับผู้บริหาร 1 รางวัล (ระดับผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไป)

รางวัลระดับสายกิจการสาขา 7 รางวัล และรางวัลส่วนกลาง 2 รางวัล มีของรางวัลที่น่าสนใจได้แก่ เข็มกลัดรูปวัชรทองคำฝังเพชร พร้อมสลักชื่อผู้ที่ได้รางวัล มูลค่ารางวัลละ 3 หมื่นบาท

โล่ประกาศเกียรติคุณ และได้รับการบันทึกลงในทะเบียนประวัติพนักงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ ธนาคารได้เปิดให้ลูกจ้าง พนักงาน และ ผู้บริหารที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยกรอกแบบฟอร์มเสนอชื่อตนเองและบุคคลอื่นที่เห็นว่าเหมาะสม เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่แสดงถึงความเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณ

งานนี้หมดเขตสิ้นเดือนธันวาคมปีนี้ และมอบรางวัลในวันที่ 1 เมษายน 2551 โน่น

เรียกว่าเปิดทางให้พนักงานเสนอคนดีเข้าประกวด ขณะเดียวกันก็เป็นการ “เชิดชู” คนดีให้ได้รับ “ผลแห่งการทำความดี” แทนที่มุ่งเน้นที่ “การทำเงิน”

พร้อมกันนี้ ธนาคารออมสิน ได้เชิญ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้ซึ่งเคยวาง รากฐานในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมมาปาฐกถาพิเศษเรื่องการสร้างองค์กรแห่งคุณธรรม จริยธรรม เรียก “ต่อมน้ำย่อย” ของการทำความดีให้พนักงานให้ประจักษ์

“ไพบูลย์” ผู้ซึ่งดำเนินวิถีพออยู่ พอกิน พอดี มีคุณธรรมนำทาง จุดพลุว่า การสร้างองค์กรแห่ง จริยธรรม และคุณธรรม ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่หลายคนพยายามตีความให้เข้าใจได้ยาก

เพราะการสร้างคุณธรรมและจริยธรรม ประกอบด้วย 3 เรื่องคือ

หนึ่ง การทำความดี ซึ่งเราจะรู้เองว่าอะไรดี ไม่ดี อะไรควร ไม่ควร ถ้าเราทำสิ่งที่ดี สิ่งที่ควร อันนี้เรียกว่า การทำความดี

สอง ทำในสิ่งที่เกิดความถูกต้อง เป็นเรื่องที่คล้ายกับศีล มีข้อห้าม ข้อต้องทำ ซึ่งเราต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเราอยู่ในสังคม ซึ่งความถูกต้องในเชิงจรรยาบรรณ เป็นข้อตกลงภายในองค์กร เช่น การทุจริต คดโกง การลักขโมย เป็นสิ่งที่ต้องละเว้น เหมือนกรณีของพนักงานที่ประพฤติมิชอบ ซึ่งมีกันทุกองค์กร ไม่เว้นแม้ธนาคารออมสิน แต่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ เพราะอาจเป็นไปได้ที่เขาอาจเป็นคนดีแต่มีจุดอ่อน หรือมีสถานการณ์ที่บีบคั้นให้ทำ เช่น การรับ ผลประโยชน์จากลูกค้าเงินกู้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้เงินกู้โดยไม่ผ่านกติกานั่นคือ ความไม่ถูกต้อง

สาม สร้างความเป็นธรรม อยู่ระหว่างความดี กับความถูกต้อง ความเป็นธรรมคือความเท่าเทียม

เช่น ธนาคารออมสิน ต้องดูแลลูกค้าอย่างเท่าเทียมเสมอภาค มิใช่ลูกค้ารายใหญ่ต้องดูแลมากหน่อย

ส่วนลูกค้ารายเล็กต้องดูแลน้อย อันนี้เรียกว่าไม่เป็นธรรม

สิ่งสำคัญของการสร้างคุณธรรม จริยธรรม ในสังคม คือการเอาหลักปรัชญาในหนังสือเอามาประยุกต์ให้เกิดเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

และเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ผู้นำองค์กร คือหัวใจสำคัญของการนำพาองค์กรไปในทางใดทางหนึ่ง

อย่าง ธนาคารออมสิน คือ ผู้อำนวยการธนาคาร ซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กร ถ้าระดับประเทศ ต้องยกให้นายกรัฐมนตรี ถ้าระดับจังหวัดต้องยกให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าระดับอำเภอ ต้องเป็นนายอำเภอ เป็นต้น

รองลงมา ได้แก่ คณะกรรมการ คือ คณะบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากสังคม ผ่านกลไกโดยให้รัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการเข้ามากำกับ

“แต่ที่ผมจะขอเน้นย้ำ และให้น้ำหนักมากที่สุด คือ ผู้อำนวยการ เป็นสำคัญ เพราะต้องทำหน้าที่ดูแลองค์กรตลอด 24 ชั่วโมง แม้ท่านจะเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ยังเขียนหนังสือพนักงานนำมารวมเล่มขายได้เงินอีก” ทำเอาคนในแบงก์เด็กยิ้มแฉ่ง

แต่คณะกรรมการมาประชุมเดือนละครั้ง ถ้า 2 ฝ่ายสามารถทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญ และมุ่งมั่นเรื่องการสร้างคุณธรรมและจริยธรรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากในการดำเนินการโดยสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆที่รับแนวคิดไปทำต่อต้องรู้จักการคิดเองและทำเอง ว่าอะไรคือความดี ความถูกต้องเมื่อให้พนักงานคิดแล้วตกลงกันแล้วทำตามแนวคิดนั้น แล้วสร้างระบบการประเมินผลไปด้วยวิธีการแบบนี้เรียกว่า การเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือ AFTER ACTION REVIEW(ARR)ซึ่งเป็นระบบที่นำมาจากกองทัพอเมริกา ใช้ในการทำสงคราม แล้วภายหลังภาคธุรกิจนำมาปรับใช้กันอย่างแพร่หลายคือ การเรียนรู้จากการกระทำ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจดการความรู้

การนำสิ่งที่มาพินิจพิจารณาแล้วนำเอาสิ่งนั้นมาประมวลผลเป็นความรู้ แล้วเอาไปแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ให้เกิดจริยธรรมในหน่วยงาน

สำหรับโครงการที่เริ่มขึ้นนี้ เชื่อว่าจะทำให้ธนาคารออมสินเป็นองค์กรชั้นนำที่มีผลต่อการขยายหรือสร้างเครือข่ายในอนาคตทั้งภาครัฐ และเชื่อมต่อไปจนถึงภาคเอกชน หากมีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กร

นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการสนับสนุนโครงการลักษณะดังกล่าวร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยบริษัทจดทะเบียน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย เพื่อสร้างสภาธุรกิจเพื่อสังคมคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนเมษายนนี้

“ไพบูลย์” ยังกล่าวอีกว่า อยากให้ธนาคารออมสินสร้างตัวชี้วัดความสุขของพนักงาน แล้วจะเห็นว่าความสุขขององค์กร คือการมีคูณธรรม จริยธรรม และเป็นธุรกิจที่ควรช่วยเหลือสังคม เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกต้องการความช่วยเหลือธุรกิจที่มีการช่วยเหลือสังคม เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญทีทำให้ลูกค้ารู้สึกต้องการความช่วยเหลือธุรกิจที่มีการช่วยเหลือสังคม

ในประเทศไทยมีตัวอย่างให้เห็น เช่น กรณีของบริษัท บางจาก และบริษัท มติชน เพราะบริษัทเหล่านี้ทำประโยชน์เพื่อสังคม และเมื่อบริษัทมีปัญหาจะมีสังคมเข้าไปช่วย และพนักงานที่ทำงานในบริษัทที่ทำความผูกพัน จนทำให้พนักงานยอมอุทิศตนในการทำงาน มีความภูมิใจที่ทำงานในบริษัทเหล่านี้มากกว่าการได้รับเงินเดือนสูงๆ

ความสุขที่เกิดจากการมีคุณธรรม จริยธรรม ถือเป็นความสุขที่อยู่ในใจ

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังสนับสนุนเรื่ององค์กรภาครัฐเป็นองค์การแห่งคุณธรรม จริยธรรม คือการให้พนักงานและข้าราชการ คิดหาแนวทางในการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การสร้างธรรมาภิบาลในภาครัฐต่อไป

กล่อมเสร็จสรรพบรรดาผู้ร่วมงานปราบมือให้ “อดีตผู้อำนวยการ” ลั่น

แม้วิธีคิด วิธีพูด วิธีการนำเสนอของไพบูลย์จะเรียบง่ายตามสไตล์คนเรียบๆ แบบผ้าพื้น แต่หัวจิตหัวใจในการต้องการเห็น “คุณธรรมนำไทย” ของนักปฏิบัติที่ไพบูลย์ยึดถือมาเป็นแสงส่องทางในชีวิตนั้น

เสมือนประหนึ่ง “ไฟฉายเล็กๆ” ที่ทำให้คนในสังคมที่มองเห็นแต่ตัวเงิน วัดผลที่กำรี้กำไร เปลี่ยนมา “มองเห็นแสงสว่างในชีวิต”

ระยะเวลาเกือบปี ยังพอมีเวลาให้คนในองค์กรนี้ได้ปรับตัว ปรับวิธีคิด วิธีการทำงาน

ส่วนจะได้ผลมากแค่ไหนต้องรอลุ้น

เพราะ “นามธรรมที่ยิ่งใหญ่อย่าง คุณธรรม จริยธรรม” นั้น มิใช่ผู้ที่ประพฤติแล้วจะได้รับและบอกกล่าวว่าตัวเองมีจริยธรรม มีคุณธรรม

หากแต่เกิดจากผู้รับ ผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกค้าคนข้างเคียงต่างหากที่จะเป็นกระจกส่องแล้วบอกว่า “ดีเลิศในปฐพี”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

9 เม.ย. 50

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/89288

<<< กลับ

เปิดวิชันรมต.ด้านสังคม“กุญแจแห่งความสำเร็จ อยู่กับผู้ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน”

เปิดวิชันรมต.ด้านสังคม“กุญแจแห่งความสำเร็จ อยู่กับผู้ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน”


บทสัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในคอลัมน์การเมือง เปิดวิชันรมต.ด้านสังคม ‘กุญแจแห่งความสำเร็จ อยู่กับผู้ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน’ ฉบับวันที่ 14 เมษายน 2550 หน้าที่ 3

หลังเข้ามาศึกษางานพบว่า ขณะนี้ได้เกิดปัญหาหลายประเด็นที่ต้องรับผิดชอบยกตัวอย่างเช่น ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จึงมีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพราะนอกจากจะกระทบกับปัญหาด้านสุขภาพและอนามัย ต่อประชาชนเป็นจำนวนมากแล้วนั้น ก็ยังเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปีแล้วปีเล่า อีกทั้งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงถือเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ

ขณะเดียวกันได้มีเรื่องที่หยิบยกขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหา อาทิ ปัญหาเรื่องสื่อ ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นปัญหาที่กระทบต่อความปลอดภัยและความเจริญ มั่นคงของเด็กและเยาวชน อาทิเช่น สื่ออินเตอร์เน็ต คลิปวีดีโอ วีซีดี ดีวีดี หนังสือ นิตยสารต่างๆ ตลอดจนหนังสือพิมพ์ ที่มีลักษณะยั่วยุ มีการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ที่จะนำไปสู่ภัยอันตราย จากสาเหตุการนัดหมาย เพื่อให้บริการทางเพศ และอื่นๆ ที่นำไปสู่อาชญากรรม ถึงขั้นที่เด็กถูกทำร้าย ล่อลวงก็มี ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและแก้ไขแล้ว และจะดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน

อีกกรณีคือ ปัญหาโรคเอดส์ ซึ่งประเทศไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันปัญหาในกรณีดังกล่าว แต่ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมาปัญหาโรคเอดส์เพิ่มมากขึ้น อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง เนื่องจากมาตรการเชิงป้องกันของประเทศไทยน้อยลงหลังจากที่เข้มงวดมาหลายปี จึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา คือ คณะกรรมการเอดส์ชาติซึ่งมีผมเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อคัดสรรค์ผู้ที่เหมาะสมเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจาก การแก้ปัญหา จำเป็นต้องคัดสรรผู้ที่เหมาะสม เพราะกุญแจแห่งความสำเร็จ อยู่กับผู้ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน การตั้งคณะกรรมการหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยนั้นไม่ยาก แต่ที่ยากคือ บุคคลที่มีความสามารถ จริงจังในการขับเคลื่อน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ในใจแล้ว

และเรื่องสุดท้าย คือ ปัญหาเกษตรกร ที่เพิ่งได้รับมอบหมาย ให้เร่งแก้ไขปัญหาเพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก และเป็นปัญหาที่พัวพันไปถึงเรื่องคุณภาพชีวิต ทั้งการเกษตร การทำมาหากิน รวมไปถึงเรื่องการพัฒนาชุมชน การสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ซึ่งการพยายามแก้ไข ต้องคิดในเชิงพื้นฐานในเรื่องการปรับโครงสร้างระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาให้เกิดผลสำเร็จอย่างถาวร ไม่ใช่เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า

ในการนี้ จะมีคณะกรรมการ เพื่อคอยประสานงานให้ครบวงจร และหากพิจารณาและศึกษาก็พบว่า เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการ ทั้งในระดับฟื้นที่และชุมชนซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องดังกล่าว จะมีองค์ประกอบที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย เช่น กองทุนหมู่บ้าน โครงการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งหากนำมาผสมผสานจะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้อย่างบูรณาการครบวงจร

มั่นใจหรือไม่ว่าการแก้ปัญหาในส่วนต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ?

เรื่องสำคัญ หากไม่ทำอะไรก็จะเป็นปัญหาของประชาชน ถ้าแก้ไขปัญหาสำเร็จก็จะเป็นผลดีของประชาชน ของประเทศชาติ ซึ่งจุดมุ่งหมายของรัฐบาล คือต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ ผมรับหน้าที่รับผิดชอบก็ต้องแก้ปัญหาให้สำเร็จให้ได้ เพราะอย่างไรก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตั้งรองนายกฯด้านสังคม รู้สึกอย่างไรบ้าง

ตามโครงสร้างของรัฐบาล จะเห็นว่า มีรองนายกรัฐมนตรี 2 คน ดูแลงานด้านต่างๆ คนหนึ่งดูเศรษฐกิจ อีกคนดูสังคม ซึ่งการดูแลด้านสังคม ไม่ได้เป็นการทำงานแทนกัน เพราะในแต่ละกระทรวงจะมีหน้าที่ออกไป ซึ่งในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งคือ การช่วยประสานงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ที่เป็นเรื่องสำคัญๆ ทางยุทธศาสตร์

หนักใจหรือไม่กับการทำงาน

ตามปรัชญาการทำงานของผม คือ การพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ตระหนักว่าปัญหาแต่ละอย่าง เป็นปัญหาที่หนักและซับซ้อน เมื่อมาเป็นรัฐบาลก็ต้องดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้ดีที่สุด ให้ทำงานอย่างบูรณาการมากขึ้น ผสานกำลังในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น

สถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้รู้สึกอย่างไร

สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยอยู่ในสภาพที่แกว่งตัว มีความผันผวน ยังไม่ปกติ ซึ่งมีเหตุปัจจัยจากหลายๆ อย่าง ในฐานะรัฐบาลต้องดูแลช่วยในการดำเนินการแก้ปัญหา ให้การแกว่งตัวและไม่ปกติทั้งหลายลดน้อยลง เพื่อให้สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นลงตัวมากขึ้น ในการนี้ สิ่งที่เราจะทำได้ทางหนึ่งก็คือ การพยายามแก้ปัญหาที่สำคัญๆ เพื่อคลี่คลายทั้งเศรษฐกิจและสังคม พร้อมๆ กับการสร้างสรรค์ด้านสังคม ควบคู่กัน ทั้งความไม่เข้าใจ ความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน การสร้างสรรค์ การเพิ่มพลัง การสร้างความดี และสร้างความเข้มแข็งต้องทำไปด้วย เมื่อสังคมมีอะไรที่ดีเกิดขึ้น ก็จะทำให้สังคมเกิดความรู้สึกมั่นใจ อุ่นใจ พร้อมกันนั้นเราต้องพยายามลดปัญหาของสังคมไปด้วย เพราะหากสิ่งดีๆ เพิ่มขึ้น สิ่งที่เป็นปัญหาลดลง นั้นคือ สังคมที่ดีขึ้น ผู้คนมีความพอใจ จึงจะถือว่าผลงานของรัฐบาลประสบความสำเร็จ

ระยะเวลาของรัฐบาลอีก 7 เดือน เพียงพอหรือไม่ ในการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและไม่ชัดเจน

สังคมมีชีวิตที่ยาวนาน ไม่ใช่เป็นปี ไม่ใช่ร้อยปี แต่เป็นพันๆ ปี มีเวลา 1วัน ก็ต้องทำให้เสร็จ มีเวลา 7 เดือน ก็ต้องทำให้เสร็จและที่เราจะทำได้ง่ายที่สุด คือ เราต้องทำงานให้มาก เรายินดีที่จะทำงานให้หนัก ทำล่วงเวลา ทำงานอย่างขะมักเขม้น ให้ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากได้ผลแค่ไหน ก็คงแค่นั้น ภายในเวลาที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากทำดีที่สุดแล้วก็น่าจะมีความก้าวหน้ามีการพัฒนา ในที่สุดจะเกิดความพร้อมในการเดินหน้าต่อไป สามารถส่งต่อให้กับรัฐบาลชุดต่อไปได้ทันที

ทั้งนี้โครงการต่างๆ ขณะนี้เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น ชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข มีโครงการส่งเสริมการให้ เพื่อช่วยเหลือสังคม เป็นต้น โดยมีงบประมาณ ซึ่งจะเคลื่อนไหวในปีนี้สมมุติว่า หากเราดำเนินการทางกิจกรรม 1 ปี จะเกิดผลเพียง 1 ปี แต่ถ้าเราปรับโครงสร้าง ปรับกลไกต่างๆ ก็จะมีผลในระยะยาว ไปถึงรัฐบาลชุดที่จะเข้ามาใหม่

ขณะเดียวกันต้องพยายามดูแลและจัดสรรเวลาการทำงานให้ถูกต้อง และเสริมในส่วนที่ต้องเห็นว่าเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงต่างๆ ต้องให้ให้เข้าไปช่วยเหลือเป็นหลัก

สถานการณ์ความไม่สงบทั้งในภาคใต้และกทม.ที่เกิดขึ้นจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไรเพื่อแก้ปัญหา

ความสมานฉันท์เป็นสิ่งที่เราปรารถนา คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งในส่วนที่ผมเกี่ยวข้องและต้องดูแลรับผิดชอบ มี 2 เรื่อง คือ 1.การส่งเสริมกระบวนการเสวนา คือการพูดคุยกันในของผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีเร็วๆ นี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีการจัดให้มีประชาเสวนา ในแต่ละอำเภอ กว่า 900 อำเภอ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งแนวทาง 2.เน้นบทบาทของประชาชน เพื่อรวมพลังในการต่อต้านสิ่งที่ไม่ดี เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีต่อสังคม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สมานฉันท์และเราทุกคนต้องการโดยเฉพาะประชาชน เพื่อที่จะร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งเป็นวิธีที่ดีอีกทางหนึ่ง หากทำได้ จะทำให้ผู้ที่แตกแยกกันมาเข้าร่วม จึงถือเป็นแนวทางสร้างสรรค์ ที่เป็นเชิงบวก ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

มองแนวโน้มสถานการณ์ของรัฐบาลภายหลังช่วงสงกรานต์จะเป็นอย่างไรบ้าง

ที่แน่ๆ คือไม่แน่นอน ซึ่งทุกอย่างย่อมไม่แน่นอน ยิ่งสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบัน ถือว่ายังไม่ตกผลึก ยังมีการแกว่งตัวค่อนข้างมาก ฉะนั้นความไม่แน่นอนจึงมีอยู่สูง ผมก็ตั้งสติไว้ว่า จะต้องพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทั้งในส่วนของตนเอง และส่วนที่ร่วมกับคณะรัฐบาล

ไพบูลย์ วัฒนศริธรรม

18 เม.ย. 50

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/90985

<<< กลับ

ศิลปะสร้างความ “สมานฉันท์” บนเส้นทางแห่ง “ความขัดแย้ง”

ศิลปะสร้างความ “สมานฉันท์” บนเส้นทางแห่ง “ความขัดแย้ง”


บทสัมภาษณ์ ลงในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2550 หน้า 11

ปัญหาความขัดแย้ง ไม่สมานฉันท์ทุกวันนี้ จะแก้กันอย่างไร

สำหรับเรื่องการเมืองที่ดูตึงเครียดขัดข้องอยู่ขณะนี้ คิดว่าต้องพยายามช่วยกันหาทางออก ให้มันคลี่คลาย ทางที่ผมคิดได้ก็คือ การได้พูดได้จากันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง คงต้องเริ่มจากวงเล็กๆ แล้วค่อยขยายออกไป เข้าใจว่ามีการพูดจากันบ้างแล้ว อย่าง อาจารย์ธีรภัทร์ (เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ที่ไปพูดจากับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผมว่าอะไรทำนองนี้ดี เพราะลึกๆ แล้ว เราคนไทยด้วยกัน สังคมเดียวกัน ขัดข้องขัดแย้งกันแล้วมันจะนำไปสู่อะไร การต่อสู้เอาชนะกัน ถ้าชนะแล้วได้อะไร สิ่งที่น่าจะต้องการคืออยู่ร่วมกันได้เหมือนพี่เหมือนน้อง ความขัดข้อง ขัดแย้ง ก็มีได้เป็นธรรมดา แต่เราไม่ต้องการทำให้สังคม ครอบครัวแตกสลาย อาจไม่ต้องรักใคร่กลมเกลียวกันเต็มที่ แต่ต้องอยู่ร่วมกันได้

สถานการณ์ตอนนี้ สายเกินกว่าจะคุยกันหรือไม่

ไม่มีอะไรสายไป ขนาดเขารบกันมาเป็นสิบปี ยังพูดจากันได้ ของเรายังไม่ถึงขนาดรบกัน แค่ตึงเครียด

แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่อยากคุยจะทำอย่างไร

ตรงนี้เป็นศิลปะ ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จ มันต้องหาทางไป เอาเป็นว่าผมเต็มใจและยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่ง แต่การกระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นมันมีความเกี่ยวพัน ทุกอย่างสะเทือนกันไปหมดไม่ว่า รัฐบาล คมช. กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ อีกทั้งมีปัจจัยแทรกซ้อนเกี่ยวพันและสลับซับซ้อนกว่าแต่ก่อน ผมว่าเวลานี้ แรงกระทบกระทั่ง กดดันมากกว่าที่ผ่านๆ มา

กลัวหรือไม่ว่ารัฐบาลจะตกม้าตายไปก่อนที่จะอยู่ครบวาระ

ทัศนคติในการดำเนินชีวิตของผมคือ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด นึกถึงอนาคตด้วย เพื่อป้องกันปัญหาโดยการสร้างระบบ แต่ข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น ผมทำใจ พร้อมรับสถานการณ์ เมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆ ก็ต้องดำเนินการไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่อยากไปคาดคะเนว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็วิเคราะห์ประเมินอยู่

ครม.รู้สึกอกสั่นขวัญหายหรือไม่ กับคำพูดเปิดทางของนายกฯที่พร้อมลาออกหากการเมืองเกิดวิกฤต

ไม่หวั่นไหวหรอก ไม่วิตกกังวลอะไร เพราะผมไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง ผมมีชีวิตอยู่เพื่อทำประโยชน์เท่าที่ทำได้ ผมไม่ต้องการอะไร มาอยู่ในรัฐบาลก็ไม่ได้ขวนขวายที่จะมา แต่สถานการณ์เป็นเหตุให้มา ดังนั้น ไม่ผูกพันติดยึดตำแหน่ง พร้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อะไรจะเกิดก็เกิด และเชื่อว่า ครม.โดยรวมก็คิดทำนองนี้ คือ ไม่ได้หวั่นไหว เราเอาใจช่วยนายกฯ เพราะทราบดีว่าท่านตั้งใจ เราเป็นรัฐมนตรีในคณะของท่าน เราต้องอยู่ร่วมกับท่าน เป็นอะไรก็เป็นด้วยกัน (หัวเราะ)

ปัญหาส่วนหนึ่งเพราะ ครม.ไม่เก๋าเกมการเมือง

ต้องยอมรับว่า ครม.ชุดนี้เกือบหมด ไม่ได้เป็นนักการเมืองโดยพื้นฐาน แม้กระทั่งนายกฯ ส่วนใหญ่เราเป็นนักบริหาร งานก็ขับเคลื่อนไป แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องความอืดของระบบราชการ และความไม่ลงตัวภายนอก ซึ่งมีมานานแล้ว สมัยคุณทักษิณก็เจอ แต่คุณทักษิณสามารถบายพาส คือ เลื่อนระบบราชการไปได้ แต่รัฐบาลนี้ไม่อยู่ในฐานะอย่างนั้น แต่หลังจากมาเป็นรัฐบาลได้สักระยะ คิดว่าหลายคนได้เรียนรู้ความเป็นการเมือง (หัวเราะ)

เราเป็นนักบริหารอยู่ข้างหลังมากกว่าอยู่ข้างหน้า แต่ก็ได้เรียนรู้ว่า การเป็นนักการเมืองต้องอยู่ข้างหน้ามากกว่าอยู่ข้างหลัง น้ำท่วม ชาวบ้านก็อยากเห็นรัฐมนตรีลงไปยืนแช่น้ำมากกว่า การเมืองไทยมันเป็นอย่างนี้ เพราะสังคมมันคาดหวังให้นักการเมืองเล่นบทของตัวเอง ดังนั้น ถ้าประชาชนไม่เห็นหน้าเห็นตา ก็ไม่มีผลงาน แต่ก็สะท้อนความไม่เข้มแข็งของสังคมที่มองแต่ตัวผู้นำมาแก้ปัญหาให้

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

18 เม.ย. 50

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/90986

<<< กลับ